ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 
"จูหรงจี" แมวดีที่จับหนูเก่ง







จูหรงจี
จูหรงจี ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ


จูหรงจี นายกรัฐมนตรีจีนคนที่ 5 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
1 ในผู้นำจีนรุ่นที่ 3 สมัยประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินเป็นแกนนำ เขาโด่งดังในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี
ผู้มาพร้อมกับความมหัศจรรย์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่
ที่ทั้งชาวจีนและต่างชาติยอมรับในฝีมือ
เขายังเป็นนักการเมืองแห่งประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์
ที่ผู้นำประเทศใหญ่ๆ ในโลกอยากจะพบปะสนทนาด้วย
หรือแม้แต่ข้อกังขาน่าอัศจรรย์ที่ว่า
จูหรงจี สืบสายเลือดมาจากปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง หมิงไท่จู่ จูหยวนจาง !

จูหรงจี เป็นคนตรงไปตรงมา เปิดกว้างและยึดถือความซื่อสัตย์
ยังเป็นนักการเมืองที่แปลกจากผู้นำจีนรุ่นเก่าๆ คือ บ่อยครั้งที่ปราศรัยต่อหน้าฝูงชน
เขามักจะกล่าวสดโดยไม่อาศัยร่าง และที่สำคัญยังเป็นคนมีอารมณ์ขันและเป็นกันเอง
ซึ่งกิตติศัพท์เรื่องนี้เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง
โดยเขามักปล่อยมุกกับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวและการสัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้ง
จึงอาจนับได้ว่าเขาเป็นนักการเมืองระดับผู้นำของจีนคนแรกที่ใกล้ชิดกับสื่อ
โดยเฉพาะสื่อในฮ่องกง ไต้หวันและตะวันตกกล้าเล่นกล้าแซวเขาโดยมีการตั้งฉายาให้ว่า
“จูหน้าเหล็ก” (หมายถึงเป็นผู้อยู่บนความเที่ยงธรรม ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม)
“พระเจ้าซาร์เศรษฐกิจ” หรือแม้แต่ “กอร์บาชอฟแห่งประเทศจีน”

มือดีทางเศรษฐกิจ ทายาทที่ถูกวางตัวโดยเติ้งเสี่ยวผิง

นับตั้งแต่ผู้นำรุ่นที่ 2 ซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ
ได้ริเริ่มแนวคิดเปิดประเทศและผลักดันการปฏิรูปศรษฐกิจขึ้น เมื่อปลายทศวรรษที่ 70 (ศตวรรษที่ 20)
ในช่วงเริ่มต้นที่ล้มลุกคลุกคลานนั้นเป็นเวทีพิสูจน์ความสามารถของคนทำงานทั้งหลาย
จูหรงจีก็เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสเข้าไปร่วมงานในหน่วยงาน
ด้านเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและคณะกรรมการระดับประเทศ และได้แสดงฝีมือให้ผู้ใหญ่ได้เห็นหลายครั้ง
ในสายตาของรัฐบุรุษเติ้งเสี่ยวผิง จูหรงจี คือ “คนเก่งด้านเศรษฐกิจที่มีไม่มากนักในเมืองจีน”
เขาจึงได้รับการวางตัวจากเติ้งเสี่ยวผิงให้มาช่วยงานด้านปฏิรูปเศรษฐกิจในทีมผู้บริหารประเทศรุ่นที่ 3

ปี ค.ศ.1991 จูหรงจี ข้าราชการจากหน่วยงานวางแผนงานด้านเศรษฐกิจแห่งชาติ
ผู้ที่ได้ชื่อว่ารู้เรื่องเศรษฐกิจดีในวัย 63 ปี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในฐานะอดีตนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ในตำแหน่งมา 3 ปี
ผู้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลมาสู่มหานครแห่งนี้ ผู้คนยกย่องว่า เขา คือ
ผู้พลิกศักยภาพของเซี่ยงไฮ้ให้กลับมาเป็นศูนย์กลางการเงินและอุตสาหกรรมการผลิตชั้นแนวหน้าของประเทศสำเร็จ
และยังฝากผลงานเป็นโฉมหน้าใหม่ของเมืองผู่ตงที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการขยายเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม
ตลอดจน การรุกคืบของโครงการก่อสร้างในแถบชานเมืองเซี่ยงไฮ้
ทำให้ชื่อของจูหรงจีเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ
และยังเป็นความหวังในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรง
ทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการเงินในขณะนั้น

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการขานรับแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิงอย่างเป็นรูปธรรม
ของเหล่าผู้นำระดับท้องถิ่น อาทิ การผุดขึ้นของเขตเศรษฐกิจอย่างคึกคัก
การกู้เงินจากธนาคารกลางเพื่อการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงการร่วมทุนกับต่างชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ตลอดจนการฉวยโอกาสจากตำแหน่งหน้าที่กระทำการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บริหารท้องถิ่น
ตลอดจนเอื้อประโยชน์ต่อเครือญาติของบุคคลในพรรคฯ
และอีกหลายประการที่ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไร้ระเบียบและขาดสมดุล

จูหรงจีเข้าเฝ้าในหลวง
ขณะเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯของปวงชนชาวไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2001


รองนายกฯ จูหรงจีผู้นั่งอยู่ในตำแหน่งดูแลรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ได้เสนอ “หลักปฏิบัติ 16ประการ”
เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ ควบคุมการขยายตัวและคลายความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ
ควบคู่กับการปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง
ทั้งนี้....เมื่อหลักการดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน
จูหรงจี ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีบารมีในพรรคฯ ก็สามารถผลักดันหลักปฏิบัติ 16 ประการออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม
และถึงแม้ในระยะแรกจะต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาเรื่องคน และความขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม
แต่จูหรงจีก็ใช้ความโปร่งใสและการเป็นระบบอย่างของข้าราชการที่มีประวัติขาวสะอาดเข้าต่อสู้

ความพยายามของจูส่งผลให้บรรดาเศรษฐีใหม่ทั้งหลายเสียผลประโยชน์ ถึงกับโกรธแค้นจูหรงจี
และหมายมาดว่าจะเอาชีวิตกันเลย แต่จูหรงจีก็ลั่นวาจาว่า
“คราวนี้เรามุ่งปราบเสือ ขอให้เตรียมโลงศพไว้ 100 โลง สำหรับเก็บศพพวกนั้น 99 โลง
และอีกโลงเผื่อตัวผม ผมพร้อมจะดับไปกับพวกนั้นเพื่อความสุขนิรันดร์ของประเทศชาติและประชาชน”

จูหรงจีผู้ซื่อตรง
จูหรงจี ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำงานตรงไปตรงมาอย่างไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม


“พระเจ้าซาร์แห่งเศรษฐกิจ”

ในระหว่างที่นายกฯ จูนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาล (มีนาคม ค.ศ.1998-2003)
ประเทศจีนต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่เหนี่ยวรั้งการก้าวเดินของงานปฏิรูปเศรษฐกิจ
อาทิ วิกฤตการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชีย การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ความขัดแย้งของโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ การว่างงานของเจ้าหน้าที่ในรัฐวิสาหกิจ
และการประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประเทศชาติก็ได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆหลายเรื่อง อาทิ
- การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
- กรุงปักกิ่งได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกในปี 2008
- การฟื้นฟูอธิปไตยแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเหนือเกาะมาเก๊า
พร้อมๆ กับการเริ่มดำเนินการโครงการพัฒนาเขตตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงความเจริญทางวัตถุ
ที่มีให้เห็นตามเมืองใหญ่ๆ อาทิ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นตามท้องถนน ฯลฯ

ขณะที่นายกฯ จูหรงจีบริหารเศรษฐกิจประเทศจีน ในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
การลงทุนจากทั่วโลกลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2000 เขาสามารถกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้สูงขึ้นได้ถึง 10%
และในช่วง 9 เดือนแรกของปี ค.ศ.2002 ประเทศจีนมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)
ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ เท่ากับ 7.9% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธุรกิจเอกชน
โดยกระตุ้นอัตราค่าแรงให้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพในการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ปี 2002 มูลค่าการค้าของจีนก็ทะยานสูงขึ้น 18% โดยมูลค่าการส่งออกสูงกว่าการนำเข้า
และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็ยังเพิ่มสูงขึ้น 22.6% เช่นกัน

ภารกิจนายกฯ
ภารกิจนายกรัฐมนตรี


ภาพที่เกิดขึ้นภายหลังตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาสิ้นวาระลง คือ
สมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ
ต่างปรบมือยอมรับรายงานสรุปผลงานของเขากันอย่าง
พร้อมพรัก

........ “ ตัวเลขเศรษฐกิจประชาชาติของจีนปี ค.ศ.2003 เติบโตเฉลี่ย 7.7% เศรษฐกิจระบบตลาด
บนพื้นฐานการปกครองแบบสังคมนิยมของจีนเริ่มสร้างฐานขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่น
และพร้อมจะเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต” คือบทสรุปที่เป็นทางการที่สุด

ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่เบนเข็มไปสู่แนวทางปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจของจูหรงจี ที่เขายอมรับว่า
“สามารถบรรลุผลสำเร็จในงานใหญ่ที่หลายปีก่อนหน้านี้ไม่คาดคิดว่าจะทำได้สำเร็จ ”........

“งานใหญ่” ที่ประสบผลสำเร็จดังคำสรุปข้างต้นคงหนีไม่พ้น “เรื่องเศรษฐกิจ” ที่เป็นความชำนาญเฉพาะตัวของนายกฯ
ผู้ซึ่งได้รับคำยกย่องจากชาวจีนว่าเป็น “แมวดีที่จับหนูเก่ง” คนนี้

นักวิจารณ์ของจีนเคยกล่าวไว้ว่า ผลงานเรื่องเศรษฐกิจในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี
ยังไม่โดดเด่นเท่าสมัยที่เป็นรองนายกฯ ดังนั้นจึงต่างยกย่องผลงานในช่วงนั้นที่ทำให้เขาได้รับฉายา
“พระเจ้าซาร์เศรษฐกิจ” ผู้รู้ดีว่าเมื่อไหร่จะ ‘จับ’ หรือ ‘ปล่อย’ โอกาส

ในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จูหรงจีโดยการสนับสนุนจาก เติ้งเสี่ยวผิง
และประธานาธิบดี เจียงเจ๋อหมิน สามารถใช้อำนาจ “จอมทัพเศรษฐกิจ” ได้อย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาสำคัญๆ อาทิ

การเสนอทางออกเพื่อสางหนี้ที่เกิดขึ้นในระบบการเงินระหว่างรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่และ
กลางทั่วประเทศที่หมักหมมมานานกว่า 500,000 ล้านหยวน
โดยการอัดฉีดเงินเพื่อพยุงกิจการในเบื้องต้น และกำหนดเส้นตายในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่
เพื่อจับตาขั้นตอนการสางหนี้อย่างใกล้ชิด ถึงแม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถกำจัดไปได้หมดสิ้น
และยังส่งผลมาถึงสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็ตาม
ทว่าหลังดำเนินงานตามแนวทางของจูหรงจีไปได้หนึ่งปี ก็สามารถสางหนี้ได้กว่า 300,000 ล้านหยวน

หรือตัวอย่างการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง การปั่นราคาที่ดิน และตลาดหุ้น
ธนาคารปล่อยกู้มากเกินไปจนเริ่มมีหนี้เสีย จูหรงจีได้เสนอให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น
รวมถึงเสนอ “หลักปฏิบัติ 16 ประการ”
ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมระบบเศรษฐกิจมหภาค (หงกวนเถียวค่ง) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ

ถึงแม้ในเบื้องต้น นายหลี่กุ้ยเซียน ผู้ว่าการธนาคารกลางขณะนั้น
จะไม่เห็นด้วยในแนวคิดและนำหลักการของเขามาปฏิบัติ
แต่ภายหลังเมื่อจูหรงจีได้รับอำนาจจากกรมการเมืองให้เข้าดำรงตำแหน่งแทนหลี่ในปี 1993
เขาก็ได้เข้ามาดำเนินการกู้สถานการณ์หนี้เสียของธนาคารกลาง
สามารถบรรเทาปัญหาหนี้เสีย ปริมาณเงินล้นระบบ และจัดการกับตลาดเงินที่ไร้ระเบียบ
ที่โดยส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรได้สำเร็จ

จูหรงจีและเจียงเจ๋อหมิน
จูหรงจีทำงานในรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนจากแกนนำพรรค นายเจียงเจ๋อหมิน


จากความสำเร็จของจูหรงจีและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในงานปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
ตลอดจนการปฏิรูประบบการเงิน การคลัง การจัดเก็บภาษี การลงทุน และระบบการค้ากับต่างประเทศ
โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจขนาดกลางและย่อม
เพื่อวางรากฐานการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของประเทศจีน
ทำให้ปี ค.ศ.2003 คณะกรรมการสมาพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งทวีปยุโรป
ได้พิจารณามอบรางวัลอันทรงเกียรติที่เคยมอบให้กับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ มาแล้ว
แก่อดีตนายกฯ จูหรงจีของจีน ซึ่งเขาได้บริจาคเงินรางวัลทั้งหมดให้กับมหาวิทยาลัยชิงหัว
สถาบันศึกษาที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่เขาเมื่อวัยหนุ่ม

>> ประวัติส่วนตัว <<

จูหรงจี เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1928 ที่ฉางซา ในมณฑลหูหนัน กำพร้าพ่อและแม่มาตั้งแต่เล็ก
จูหรงจี จึงอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของคุณลุง จูเสียว์ฟาง
เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิงหัว คณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกวิศวกรรมไฟฟ้า เมื่อธันวาคม ค.ศ.1948
ที่นี่จูหรงจีได้ศึกษาเรียนรู้ด้านวิชาการและเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อมาในหน้าที่การงาน
เขาจึงรำลึกในบุญคุณของสถาบันศึกษาแห่งนี้เสมอมาว่า
“ได้หล่อหลอมเขาขึ้นจนเป็นปัญญาชนที่เข้มแข็งของชาติ”
และถึงแม้จะจบการศึกษาไปแล้วจูก็ยังหาโอกาสไปบรรยายประสบการณ์ต่างๆ ในการทำงานเล่าสู่รุ่นน้องอยู่บ่อยๆ

ระหว่างปี ค.ศ.1947-1951 ขณะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยชิงหัว
จูหรงจีได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตเยาวชนลัทธิประชาธิปไตยแผนใหม่
และก่อนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อตุลาคม
ค.ศ.1949 จูหรงจีก็เคยร่วมงานกับพรรคฯ มาบ้าง ปี ค.ศ.1951
เข้าทำงานในส่วนงานด้านการวางแผนการผลิตเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกระทรวงอุตสาหกรรม
ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นสู่หน่วยงานด้านการวางแผนงานระดับประเทศ
และยังเป็นวิศวกรแห่งสำนักงานประมวลเศรษฐกิจแห่งชาติ

ราวปีค.ศ.1955 จูหรงจีได้สมรสกับ นางเหลาอัน
เพื่อนนักศึกษาชาวหูหนันที่จบจากมหาวิทยาลัยชิงหัวคณะเดียวกัน
นางเหลาอัน เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมแห่งชาติจีน
ทั้งคู่มีบุตร 2 คน เป็นหญิงชื่อ จูเอี้ยน และชาย จูเต๋อเหมี่ยว

จูหรงจีและภรรยา
จูหรงจีและนางเหลาอัน


จูหรงจียังเคยทำงานในสำนักงานด้านเศรษฐกิจแห่งบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์
และอยู่ในคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งชาติ รวมถึงในกรมการเมืองแห่งเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ มหานครใหญ่
ซึ่งเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ

จูหรงจีเข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
และเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและการค้าในคณะรัฐมนตรี เมื่อปี ค.ศ.1991
และยังควบตำแหน่งแกนนำสำคัญในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน

ปีค.ศ.1993 รองนายกฯ จูหรงจีควบตำแหน่งสำคัญ คือผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (จงกั๋วเหรินหมินอิ๋นหัง)
ต่อมาในปี 1997 ก็เข้าเป็นกรรมการถาวรของพรรคฯ และกรรมการด้านบริหารในกรรมการกลางพรรคฯ
กระทั่งเดือนมีนาคม ค.ศ.1998 เขาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
กุมบังเหียนงานปฏิรูประบบเศรษฐกิจแห่งชาติเต็มตัว
รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการโครงการก่อสร้างเขื่อนซันเสียของคณะรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติในสมัยนั้นด้วย

นายกรัฐมนตรีจูหรงจี มีบุคลิกการทำงานที่รวดเร็ว เน้นการปฏิบัติงานภาคสนาม
ระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการระดับสูง และแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น
ตลอดจนการเรียนรู้งานจากผู้มีประสบการณ์มาปรับใช้ในงานของตน
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จูหรงจีเข้าถึงปัญหาและสามารถหาทางแก้ไขได้ตรงจุดจนประสบความสำเร็จ

จูหรงจี ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการกลางพรรคฯ จวบถึงปี ค.ศ.2003
โดยอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ 5 ปี (นายเวินเจียเป่าเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนในสมัยต่อมา )
หลังจากนั้นเขาก็วางมือจากวงการการเมือง
และใช้เวลาว่างเพลิดเพลินไปกับอุปรากรปักกิ่งที่เขาชื่นชอบ

อิริยาบถต่างๆ
เขาคือผู้นำจีนคนแรกที่มีความเป็นกันเองกับทุกคน
มีอารมณ์ขันและแสดงออกอย่างเปิดเผย แตกต่างจากผู้นำรุ่นก่อนๆ



"หลักปฏิบัติ 16 ประการ (หงกวนเถียวค่ง)"

ด้านการเงินการธนาคาร
1. ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ และพันธบัตรที่ออกใหม่ของรัฐ
ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.1993 เป็นต้นไป
2. ให้ธนาคารพิเศษเรียกคืนสินเชื่อที่ปล่อยกู้เกินวงเงินตามที่ธนาคารประชาชนจีน
ได้กำหนดเอาไว้กลับคืนมาได้ก่อนวันที่ 25 สิงหาคม 1993
3. ให้ธนาคารพิเศษทำการตรวจสอบกลไกระบบการเงินในการปล่อยสินเชื่อของตน
แล้วเรียกเก็บหนี้สินที่ปล่อยกู้ไปอย่างผิดระเบียบกลับคืนมา
4. ให้ธนาคารพิเศษแยกนโยบายการปล่อยกู้ของตน
กับนโยบายการปล่อยกู้ที่ให้แก่กลุ่มธุรกิจการค้าออกจากกัน
5. เพิ่มความแข็งแกร่งในการปฏิบัติงานให้แก่ธนาคารประชาชนจีน
โดยให้มีภาระหน้าที่สอดคล้องกับบทบาทในฐานะธนาคารกลาง
6. ให้ตลาดหลักทรัพย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ
เกี่ยวกับการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดฯ อย่างเคร่งครัด

ด้านการคลัง

7. ให้ดำเนินการปรับลดงบประมาณลงร้อยละ 20
8. ขอให้พื้นที่ต่างๆทั่วประเทศร่วมมือกันขายพันธบัตรของรัฐให้หมดภายในวันที่ 15 ก.ค.1993

ด้านโครงการลงทุน

9. ให้ทำการไต่สวนใหม่กรณีที่ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ
ในพื้นที่เศรษฐกิจที่ประกาศเปิดด้วยตัวเอง
10. ให้ลดการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ลง
11. ให้เพิ่มการลงทุนทางด้านการคมนาคมและการท่าต่างๆ

ด้านอื่นๆ

12. ดำเนินการปฏิรูประบบอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
13. ให้ยุติการใช้ใบยอมรับสภาพหนี้ หรือ "ไป๋เถียวจื่อ"
แทนการจ่ายเงินในการรับซื้อผลผลิตจากชาวนาโดยเด็ดขาด
14. ให้รัฐบาลท้องถิ่นยุติการใช้อำนาจในการเรียกเก็บภาษีพิเศษต่างๆ
หรือค่าฤชาธรรมเนียม ในการทำกิจกรรมอื่นใดจากผู้ใช้แรงงานในวิสาหกิจต่างๆ
ทั้งทางภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมโดยเด็ดขาด
15. ให้องค์กรตรวจสอบวินัยในท้องถิ่นทำการตรวจสอบวินัย
ทางด้านการเงินการคลังของมณฑลและเขตปกครองตนเอง
16. ดำเนินการปฏิรูประบบราคาสินค้าขึ้นมาใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 1993
เพื่อไม่ให้สินค้าขึ้นราคาโดยขาดการควบคุม

*หมายเหตุ :
- หลักปฏิบัติ 16 ประการ (หงกวนเถียวค่ง) คัดจากหนังสือ "เศรษฐกิจการเมืองจีน"
หน้า 260-261 เขียนโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล

**เรียบเรียงจาก :
- ไชน่าเดลี่ / ยูพีไอ / รอยเตอร์ส / ไวคิพีเดีย / ซินหัวเน็ต
***หนังสืออ้างอิง :
- “อะเมซิ่ง จูหรงจี” โดย สันติ ตั้งรพีพากร
- “บูรพาแดงเปลี่ยนสี” โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล สำนักพิมพ์มติชน และ
- "เศรษฐกิจการเมืองจีน" วรศักดิ์ มหัทธโนยล
จัดพิมพ์โดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

****ขอบคุณ (Thank You) ที่มาข้อมูล ข้อความและภาพประกอบ
- คนจีนเรียกเขา "จูหรงจี พระเจ้าซาร์แห่งเศรษฐกิจ"
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 สิงหาคม 2548








Create Date : 03 มิถุนายน 2550
Last Update : 3 มิถุนายน 2550 22:20:40 น. 2 comments
Counter : 997 Pageviews.

 
บล๊อกยู้นี่ ป้าสุให้ 5 ดาวสำหรับความรู้เรื่องจีนจ้ะ


โดย: ป้าสุ (Munro ) วันที่: 11 มิถุนายน 2550 เวลา:21:33:12 น.  

 
ขอบคุณสำหรับการรวบรวมข้อมูลและภาพประกอบค่ะ ชอบ


โดย: หนูนีล (นางน่อยน้อย ) วันที่: 30 มิถุนายน 2550 เวลา:12:26:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.