ต้นไม้ ใบหญ้า นาข้าว
Group Blog
 
All blogs
 
เพกา

เพกา : พืชสมุนไพรร่วมยาง ผักพื้นบ้านสารพัดประโยชน์
เรื่อง / ภาพ : วิชิต สุวรรณปรีชา


เสียงอึกทึกเซ็งแซ่ ในบรรยากาศยามเช้าท่ามกลางสายฝนโปรยปรายบางเบา

ฝูงชนย่อมๆรุมล้อมเข่งใหญ่ได้ชั่วครู่จึงกระจายตัวออก พร้อมฝักเพกาขนาดใหญ่ในมือ …
เห็นเพียงเจ้าของที่ยืนนับเงินอยู่เงียบๆหน้าเข่งว่างเปล่า

“ บ้านบางปิด มีของฉันคนเดียว … โลละ 70 ”
“ ปลูกแซมเอาไว้ในสวนยาง ประมาณ 75 ต้น มีเท่าไรไม่พอขาย ... ”
เป็นคำตอบจากปากนาง บุญป้อม รัตนประไพ ภรรยานายจุ้ย แซ่ตัน ผู้เป็นเจ้าของสวนสงเคราะห์ยางพารา ในตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
นั่นนะสิ เพกามีดีอะไร จึงเป็นที่ต้องการของผู้คนเช่นนี้
ลองติดตามเรื่องราวกันดู

สารพัดชื่อของเพกา
เพกามีชื่อเรียกมากมาย แตกต่างไปตามท้องถิ่นกว่า 10 ชื่อ
ทางอีสาน เรียก “ ลิ้นฟ้า ” ทางเหนือเรียก “ มะลิดไม้ ” ภาคกลางและใต้เรียก “ เพกา ”
ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ มะลิ้นไม้ ลิ้นไม้ ลิดไม้ หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นช้าง อึ่งกา กาโด้โด้ง ด๊อกก๊ะ ดอก๊ะ ดุแก เบโก
สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นชื่อสากล คือ Oroxylum indicum ( L . ) Vent. จัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE
มีชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “ Broken bone ” “ Damocles tree ” และ “ Indian trumpet flower ”



ธรรมชาติของเพกา
เพกาเป็นไม้ป่าที่ขึ้นง่าย สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ตั้งแต่ ที่ราบเชิงเขา หุบเขา ริมห้วย ลำธาร หนองบึง ตามท้องทุ่งริมทาง ตลอดจนป่าละเมาะใกล้หมู่บ้าน
จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3 -12 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย จึงดูสูงชะลูด เปลือกเรียบ
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ขนาดใหญ่ ยาว 30 - 200 ซม. เรียงตรงข้ามรวมกันถี่ๆอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อย 5 ใบ รูปไข่ปลายแหลม หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4 – 8 เซนติเมตร ยาว 6 – 12 เซนติเมตร ปลายก้านมีใบเดียว (odd-pinnately compound leave)


ดอก ออกที่ปลายยอด เป็นช่อ แบบช่อกระจะในช่วงต้นฤดูฝน ก้านช่อดอกยาว แทงสูงเหนือยอดใบ 2-3 ฟุต ก้านดอกมีขนสีน้ำตาลไหม้ ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ ลักษณะกลมยาวคล้ายหลอด แต่ส่วนบนแยกเป็นกลีบๆ อย่างชัดเจน กลีบดอกหนาย่น สีนวลแกมเขียว โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง เริ่มทยอยบานช่วงใกล้ค่ำไปตลอดกลางคืน



ผล เป็นฝักแบนขนาดใหญ่ รูปดาบ ปลายฝักแหลม ตรงกลางขอบมีรอยโป่งเล็กน้อย คล้ายฝักหางนกยูงฝรั่ง มักออกห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอด เมื่อฝักแก่ รอบข้างของฝักจะปริแตก ปล่อยเมล็ดที่อยู่ข้างในฝักจำนวนมากมาย ล่องลอยไปตามลม
เมล็ด ลักษณะแบนสีน้ำตาลอ่อน ทั้งสองด้านมีเยื่อบางใส สีขาว โปร่งแสงคล้ายปีก ช่วยให้ล่องลอยไปตามกระแสลมได้ไกลๆ เกิดการแพร่พันธุ์ไปทั่วทุกบริเวณโดยรอบ


ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว
เพกานิยมปลูกด้วยเมล็ดแก่เต็มที่ มีความสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค หรือถูกแมลงกัดกิน
สูตรดินที่ใช้เพาะคือดินร่วน 1 ส่วนผสมกับแกลบดิบ 2 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน
นำเมล็ดที่เตรียมไว้ จิ้มลึกลงไป ประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 1 เดือน ต้นกล้าจะงอกออกมา พร้อมนำไปปลูกได้ หรือใช้เป็นต้นตอเพื่อนำไปทาบกิ่ง เสียบกิ่งกับต้นพันธุ์ดี
นอกจากเมล็ด ต้นอ่อนที่แตกมาจากราก ก็สามารถสกัดรากนำมาปลูกได้
เพียงไม่นานนัก หลังปลูกประมาณปีครึ่ง เพกาจะเริ่มออกดอกติดฝัก เก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์ได้

ปลูกเป็นพืชร่วมยางพารา เสริมรายได้เกือบตลอดปี
เพกาเป็นไม้ป่าที่ขึ้นง่าย ทรงพุ่มแคบ จึงสามารถนำมาปลูกระหว่างแถวยางพาราเป็นพืชร่วม ได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับยางพารา เพียงแต่ต้องวางแผนปลูกยางให้มีระยะระหว่างแถวห่างพอเหมาะเท่านั้น
การปลูกใช้วิธีปลูกกึ่งกลางแถวยาง ระยะ 6 – 7 เมตร สับหว่างต้นยาง ต้นเว้นต้น



นายจุ้ย แซ่ตัน เจ้าของสวนสงเคราะห์ยางพารา ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เล่าให้ฟังว่า “ ได้รับต้นพันธุ์มาจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดตราด เมื่อปี 2547 ตามโครงการปลูกไม้ป่าร่วมยาง สามารถเก็บฝักได้ปีละ 8 เดือน อาทิตย์ละครั้ง ต้นหนึ่งเก็บได้เดือนละ 20 ฝัก ฝักที่ใหญ่หนักถึงฝักละครึ่งกิโล ราคากิโลกรัมละ 70 บาท ขายในหมู่บ้านก็หมด ต่ำสุดฝักละ 7 บาท สูงสุด 20 บาท ”



ยอด ดอก ฝักอ่อน : อาหารพื้นบ้านชั้นดี
เพกากินเป็นผักได้อร่อย ทั้งยอดอ่อน ดอกอ่อน และฝักอ่อน
ยอดและดอกอ่อนสีเหลืองอ่อนเกสรแดงนั้น มีรสขมอ่อนๆ คล้ายใบยอ นำมาลวก ต้ม หรือเคี่ยวหัวกะทิข้นๆ ราดไปบนยอดดอกอ่อน ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาผัดใส่กุ้งก็อร่อย นำมายำใส่กระเทียมเจียวก็มีรสชาติเยี่ยม
คุณค่าทางโภชนาการหาใช่ด้อย ในยอดอ่อน 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน 101 กิโลแคลอรี โปรตีน 6.4 กรัม ไขมัน 2.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.0 กรัม วิตามินบี1 0.18 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.69 มิลลิกรัมและวิตามินบี3 2.4 มิลลิกรัม นอกนั้นเป็นเถ้าและน้ำ
ฝักอ่อน เลือกเอาฝักที่เขียว ๆ อายุไม่เกิน 1 เดือน ขนาดไม่ใหญ่มากนัก สังเกตได้จากฝักอ่อนกำลังน่ากินต้องใช้เล็บมือจิกลงไปได้ จิ้มกินกับน้ำพริก
นิยมนำฝักอ่อนที่ได้มาเผาไฟแรงๆ จนเปลือกพองไหม้ทั่ว ขูดลอกเอาส่วนดำที่ผิวออกให้หมด จะได้ส่วนในที่มีกลิ่นหอม หั่นเป็นชิ้นตามขวางหนาพอประมาณ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นเครื่องเคียงลาบ ก้อย ใช้ทอดกินกับไข่ ใส่แกง คั่ว ยำ ผัดกับหมูต่างผักอื่น หรือทำแกงอ่อมปลาดุกใส่ฝักเพกาแทนใบยอก็อร่อย จนทำให้ลืมอาหารรสเด็ดอื่นที่เคยลิ้มลองได้สนิท
คุณค่าด้านโภชนาการพบว่า ฝักอ่อนเพกา100 กรัม มีวิตามินซีสูงมาก ถึง484 มิลลิกรัม วิตามินเอ 8.3 กรัม มีประโยชน์ช่วยป้องกันมิให้เซลล์ร่างกายแก่เร็วเกินไป ปกป้องอนุมูลอิสระมิให้เกิดขึ้นในร่างกาย อันเป็นผลทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ หากรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินอีสูงๆ เช่น รำข้าวในข้าวกล้อง ช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
ฝักเพกานอกจากเป็นอาหารอิ่มอร่อยแล้ว ยังอุดมคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย
นี่คือความรู้ที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ



เกร็ดความรู้ด้านสมุนไพรไทย
สรรพคุณตามตำรายาไทย พบว่ามีการใช้เพกาตั้งแต่เปลือกต้น ราก ฝัก ใบ และเมล็ด จัดเป็น "เพกาทั้ง 5"ใช้รากเป็นยาบำรุงธาตุ แก้บิด ท้องร่วง เมล็ดเป็นยาระบาย
เปลือกต้น มีรสฝาด เย็น ขมเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ขับลมในลำไส้ แก้โรคบิด ท้องร่วง บำรุงโลหิต ขับน้ำเหลืองเสีย
บางแห่ง ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาเปลือกต้นมาต้มน้ำให้แม่ลูกอ่อนดื่ม ช่วยขับน้ำคาวปลา ให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ดับพิษโลหิต และบำรุงโลหิต
การใช้รักษาฝี – นำเปลือกต้นฝนทารอบๆบริเวณฝี ช่วยลดความปวดฝีได้
การใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ - นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสทาลดอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ
ราก มีรสฝาดขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เรียกน้ำย่อย เจริญอาหาร รักษาโรคท้องร่วง บิด
หากนำมาฝนกับน้ำปูนใสทาแผลที่อักเสบ ฟกช้ำ บวม จะช่วยให้หายไปในระยะเวลาอันสั้น
ฝักอ่อน นิยมรับประทานเป็นผัก ช่วยบำรุงธาตุ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ
ใบ ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ขับลม บรรเทาอาการปวดไข้ และยังช่วยให้เจริญอาหาร
เมล็ด สามารถใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ

เกร็ดความรู้ด้านสมุนไพรจีน
เมล็ดเพกาคนจีนเรียกว่า “ โซยเตียจั้ว ” ใช้เป็นส่วนผสมสำคัญของ “ จับเลี้ยง” เครื่องดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับความร้อนในร่างกาย ที่รู้จักคุ้นเคยกันดี
นอกจากนี้ยังใช้เมล็ดเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ

ตำรายาจาก สารศิลปะยาไทย 61
ยาพอกแก้โรคฝี เอา เปลือกเพกา ฝนกับน้ำสะอาด ผสมกับเมล็ดต้อยติ่ง ทาหรือพอก ดับพิษฝีได้ดีนักแล
แก้โรคงูสวัด ใช้รากต้นหมูหมุน ( พืชตระกูลสาวน้อยปะแป้ง) เปลือกคูณ เปลือกต้นเพกา ฝนใส่น้ำทา หายเร็วดีนัก
ยาพอกแก้โรคฝี เอาเมล็ดต้อยติ่ง ผสมกับน้ำเปลือกเพกา ฝนทา หรือพอกดับพิษฝีได้ดีนักแล
ยาแก้พิษหมาบ้ากัด เอาใบกระทุ้งหมาบ้า ลนไฟปิดปากแผล หรือเอาเปลือกเพกา ตำพอกแผลนั้นก็ได้
ยาแก้ลูกอัณฑะลง ( ไส้เลื่อน) ใช้รากเขยตาย เปลือกเพกา หญ้าตีนนก ทั้งหมดตำให้ละเอียด ละลายน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด ทาลูกอัณฑะ ทาขึ้น ( อย่าทาลง)
ยาแก้เบาหวาน ใช้ใบไข่เน่า เปลือกต้นไข่เน่า ใบเลี่ยน รากหญ้าคา บอระเพ็ด แก่นลั่นทม เปลือกเพกา รวม 7 อย่าง หนักอย่างละ 2 บาท มาต้มรับประทานครั้งละ 1 แก้วกาแฟ ก่อนอาหาร เช้า - เย็น
สรรพคุณทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า สารสกัดฟลาโวนอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นเพกา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ การแพ้ (anti-inflammatory and anti-allergic) ทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูตะเภาในหลอดทดลอง
สารลาพาคอล(lapacol) ที่สกัดได้จากรากเพกา มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์5-ไลพอกซีจีเนส (5-lipoxygenase) ที่ทำให้เกิดการอักเสบ
นอกจากนี้การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนยังสามารถช่วยลดคอเรสเตอรอลในกระแสเลือดได้
ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เมล็ดเพกาเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่กำหนดเพื่อใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำเมล็ดแก่ ประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5-3.0 กรัม) ใส่ในหม้อ เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร ต้มไฟอ่อนๆ พอเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง จนอาการไอดีขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือของดีเพียบพร้อมคุณค่า สารพัดประโยชน์ของเพกา
กินอร่อย อุดมด้วยสารอาหาร และคุณสมบัติทางสมุนไพร
สามารถปลูกแซมในสวนยางพาราเป็นพืชร่วม สร้างรายได้เสริมเกือบตลอดปี
ทั้งยังเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของต้นไม้ในสวนยาง ช่วยดูดซับคาร์บอน เพิ่มความชื้นในบรรยากาศ ลดปัญหาโลกร้อนในสภาวะปัจจุบันอีกทางหนึ่ง






Create Date : 19 เมษายน 2551
Last Update : 14 ธันวาคม 2551 17:41:15 น. 1 comments
Counter : 10281 Pageviews.

 





ข้อมูลดีมากเลยค่ะ


โดย: สุนี IP: 117.47.187.37 วันที่: 3 ธันวาคม 2551 เวลา:17:04:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yanet
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




< [Add yanet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.