วัดเชิงเลน สามพราน


วัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมเป็นวัดเก่าแก่ที่เขยิบไปสร้างริมแม่น้ำท่าจีน แต่ก่อนมีวัดเก่าสมัยอยุธยาตอนต้นอยู่ด้วยยังเหลือหลักฐานเป็นวิหารเก่าซาก อยู่ริมวัดด้านใน มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง3 ชาวบ้านบอกว่าขุดเจอหลายสิ่งหลายอย่าง รวมทั้งชิ้นส่วนหินชนวนสีดำ มีรอยขีดที่น่าจะเก่าถึงสมัยทวารวดี แต่โดนทุบต่อยเป็นชิ้นๆเพราะขโมยเชื่อว่ามีสิ่งของมีค่าอยู่ข้างใน ของดีของวัดนี้คือ หน้าบันของศาลาตรีมุขแสนสวยที่รัชกาลที่5 เคยทรงออกพระโอษฐ์ชม เป็นมังกรจีนและหงส์ พร้อมดอกไม้แต่ตัวเทพนมนั้นทรงไม่ดีเลย เข้าใจว่าช่างจีนแกะ เลยไม่ถนัดลายไทยตอนนี้เหลือแค่ตรีมุขขวาง ตัวศาลาการเปรียญเหลือครึ่งเดียวเพราะกีดทางสร้างศาลาคอนกรีตและไม่ได้ใช้งาน น่าเสียดายมากๆ
ในวัดยังมีกุฏิทรงไทยตรีมุข ศาลาท่าน้ำตรีมุขประดับกระจกและข้อความเป็นพุทธภาษิต เข้าใจว่าเป็นของเซ็ทเดียวกับศาลาการเปรียญเลยทำให้เข้า

ชุดกัน 


ศาลาตรีมุข ขวางหน้าศาลาการเปรียญ หันหน้าลงแม่น้ำท่าจีน



หน้าบันมังกร ฝีมือช่างจีน สมกับอยู่ท่าจีน


ศาลาการเปรียญเก่าที่รัชกาลที่ 5 เคย

เสด็จประพาสและตรัสชมว่าฝีมืองามดี



ทุกวันนี้หักพังเหลือครึ่งท่อน วัดมีศาลา

ใหม่แล้ว


กุฏิเก่า ตรีมุข ริมแม่น้ำท่าจีน



เศษสังคโลกโบราณจากเตาหลายแห่ง ทั้งจากแม่น้ำน้อย เตาป่ายาง เตาเกาะน้อย และเครื่องถ้วยจีนหลากหลายสมัย

(ล่าง) เศษซากของหัวมกร (สัตว์ในตำนาน) ดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อย? ใช้ตกแต่งสถาปัตยกรรม





Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 11:03:07 น.
Counter : 3380 Pageviews.

3 comment
หอระฆังวัดพุทไธสวรรย์


ภาพถ่ายเก่าหอระฆังวัดพุทไธสวรรย์ (Bell tower of Buddhaisvarn temple, Ayutthaya)

หอระฆังแห่งนี้ ตั้งอยู่ในวัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความพิเศษกว่าหอระฆังอื่นๆคือเป็นยอดปรางค์ที่มีการเปลี่ยนเหลี่ยม คือการหักมุมให้ตัวปรางค์ยอดกับตัวหอระฆังเปลี่ยนทิศกัน(สังเกตจากรูปจะเห็นชัด) โดยปกติลักษณะเช่นนี้ไม่ค่อยพบในศิลปะไทย แต่มีในศิลปะมอญพม่าค่อนข้างมาก ในไทยเองดูเหมือนจะมีไม่กี่แห่ง เช่น กลุ่มเจดีย์ที่วัดจูงนางพิษณุโลก และเจดีย์ในปราสาทพระนารายณ์ พระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาที่ดูเหมือนจะได้อิทธิพลจากศิลปะโมกุลมากกว่าศิลปะมอญ อย่างไรก็ตามหากไม่คิดถึงเรื่องอิทธิพล อาจจะเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างโบราณเองก็ได้


หอระฆังนี้อยู่ติดกับตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเชื่อว่าแต่เดิมน่าจะเป็นหอสวดมนตร์หรือการเปรียญมากกว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยจริงๆเพราะมีการเขียนภาพชาดกและเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพพระพุทธบาท และอื่น ๆรวมทั้งมีร่องรอยของการต่อชานออกไปกว้างขวาง





Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 11:07:43 น.
Counter : 999 Pageviews.

0 comment
วัดเขายี่สารกับวารเวลาที่เปลี่ยนไป
  วัดเขายี่สาร อยู่อำเภอยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ใกล้ๆกับอัมพวา แต่จริงๆเชื่อว่าแต่เดิมเป็นเกาะใหญ่ที่เห็นได้ชัดจากในทะเล วัดแห่งนี้เป็นวัดใหญ่ที่ประกอบด้วย วิหาร การเปรียญและอุโบสถ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของไฮโซอลังการที่หาที่ไหนไม่ได้ เช่น เสาหงส์สมัยอยุธยา เสาธงตะขาบลงรักปิดทอง และพระพุทธรูปหินทรายแดงจำนวนมาก

ทีนี้ผมได้ภาพมาจากอาจารย์พิทยา บุนนาค ที่ถ่ายรูปอุโบสถเก่าเอาไว้ พบว่าลายปูนปั้นดั้งเดิมนั้น เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว ของใหม่ดูเหมือนจะเป็นงานช่างเมืองเพชรเสียมากกว่า (เพราะยี่สารอยู่ใกล้เพชรบุรี เสียยิ่งกว่าสมุทรสงคราม) จึงขอเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกนะครับ เผื่อเปรียบเทียบกัน ลวดลายก็ดูไม่เก่าแก่มาก และเป็นงานพื้นบ้าน ตกแต่งง่ายๆด้วยเครื่องถ้วยเครื่องชาม  แต่ก็ควรจะเก็บไว้เป็นหลักฐานครับ




ภาพถ่ายเก่าของอุโบสถวัดยี่สาร ของอาจารย์พิทยา บุนนาคครับ




โบสถ์เขายี่สารในปัจจุบัน ภาพของคุณผนังเก่า เล่าเรื่องครับ เห็นได้ชัดว่าน่าจะเป็นช่างเมืองเพชร




ภาพถ่ายเก่าวิหารหลวงครับ ไม่ได้เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน ภาพของอาจารย์พิทยา บุนนาค ทั้งสองภาพถ่ายในปี 1975 ครับ



Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 23:42:17 น.
Counter : 1272 Pageviews.

0 comment
วัดบ้านป่า ปูนปั้นค่าควรนคร

(The Ayutthaya stucco at Wat Ban Pa, Angthong)


ในสมัยอยุธยา
อ่างทองถือว่าเป็นปริมณฑลของเมืองหลวง เป็นหนึ่งในอู่ข้าวอู่น้ำใช้หล่อเลี้ยงผู้คนในกรุงนอกจากนี้ยังถือเป็นบ้านเกิดราชนิกุลของเจ้าในราชวงศ์บ้านพลูหลวงอีกด้วยโดยปรากฏว่าพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) ทรงพระผนวชและปลีกพระองค์ออกมาประทับ ณตำหนักโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด แขวงเมืองอ่างทอง นัยว่าพระญาติข้างพระราชมารดาจะมีอยู่มากในท้องทุ่งแถบนี้เป็นบริเวณที่ปลอดภัยของพระองค์

วันนี้จะพาไปดูวัดบ้านป่ากันครับ วัดนี้อยู่ที่ตำบลตรีณรงค์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง อันว่าชื่อบ้านป่านี้แต่ก่อนขึ้นกับตำบลหลักฟ้า ต่อมาพ.ศ.2485 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านป่าและก็ได้ยุบ 3 ตำบล คือ หลักฟ้า ชะไว บ้านป่า เป็นตำบลตรีณรงค์ เหตุที่ชื่อบ้านป่าเพราะพื้นที่ค่อนข้างกันดารตั้งห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาก ไม่มีทางน้ำใดๆไหลผ่านเลยปัจจุบันก็ยังไม่มีรถประจำทาง จะต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเท่านั้น

อุโบสถของวัดบ้านป่า ไม่มีใบเสมาเหลือแล้ว

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้บ้านป่าก็ไม่ได้ไกลปืนเที่ยงขนาดนั้น เป็นชุมชนใหญ่อยู่ ส่วนวัดบ้านป่าเป็นวัดประหลาดที่แม้ว่าจะตั้งอยู่ห่างไกลทางคมนาคมหลักคือลำน้ำเจ้าพระยาแต่ก็ยังปรากฏฝีมือช่างอันเทียบเทียมได้กับช่างหลวงคือลายปูนปั้นก้านขดที่งดงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย ยังฝากอยู่บนหน้าบัน และบนอุดหน้าปีกนกส่วนสภาพของอาคารอุโบสถนั้น แทบจะพังลงมาได้ทุกนาที แม้ว่าตัววัดจะพัฒนาไปมากแล้วก็ตาม ชาวบ้านส่วนหนึ่งเชื่อว่า หลวงพ่อพระประธานท่านศักดิ์สิทธิ์นักถ้าไม่ขอจะถ่ายไม่ติด

เมื่อจอดรถหน้าโบสถ์ใหม่ก็ลองเดินเข้าไปดูข้างหลังวัด ผมก็เพิ่งเคยไปครั้งแรก ปรากฏว่าทางวัดก็ยังรักษาสภาพรกร้างเอาไว้อย่างเต็มที่ สมชื่อวัดบ้านป่าจริงๆต้นมะขามใหญ่ขึ้นเกือบจะคลุมโบสถ์ โรยใบละเอียดเล็กเอาไว้เต็มลานเจดีย์น้อยใหญ่ของสัตบุรุษก็ระดะหักพังไปตามสภาพ แต่สิ่งที่คุ้นตาสุดๆก็คือลายปูนปั้นก้านขดที่แทบจะหาไม่ได้อีกแล้วในเมืองไทยเป็นก้านขดประดับประดาด้วยกระจกสีแม้จะเสื่อมสภาพไปแล้วก็เห็นได้ชัดว่าครั้งหนึ่งเคยแวววามรุ่งโรจน์ เสียดายที่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อีกสักพักคงจะพังลงมากองอยู่ที่พื้นแน่แท้

โครงสร้างหลังคาของวิหารเป็นแบบจันทัน แม้ว่าอาคารจะมีขนาดใหญ่ก็ตาม 

น้าบันซุ้มประตูทางเข้า ตกแต่งอย่างวิจิตร


หน้าบันปีกนกลายก้านขด ลายนูนลอยตัว และเหมือนกับลายรดน้ำ

ดูจากลายปูนปั้นที่งดงามประณีตผิดปกติแบบนี้มีความเป็นไปได้ว่าวัดบ้านป่าอาจจะสร้างขึ้นโดยผู้มีฐานะที่สามารถจ้างช่างที่มีฝีมือดีมาสร้างได้หรืออาจจะเป็นวัดที่เป็นที่ทรงผนวชของเจ้านายบางองค์ที่ปลีกพระองค์ออกจากกรุงศรีอยุธยาอย่างไรก็ตาม เราไม่มีหลักฐานที่สามารถพูดฟันธงได้มากกว่านี้ที่มาที่ไปและประวัติของวัดบ้านป่าจึงยังเป็นปริศนาอยู่ว่าวัดที่สวยงามแห่งนี้มาตั้งอยู่ห่างไกลชุมชน ในพื้นที่กันดารไกลปืนเที่ยงขนาดนี้ได้อย่างไร 





Create Date : 17 มกราคม 2557
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 21:27:49 น.
Counter : 5205 Pageviews.

2 comment
ความงามของวัดปราสาท นนทบุรี
วัดปราสาท นนทบุรี

(The beautiful art of Wat Prasat, Nontaburi)

ลองนึกภาพแม่น้ำรูปตัว U ตะแคงนะครับ วัดปราสาท นนทบุรี ตั้งอยู่ตรงกลางตัวU พอดี และห่างออกมาจากลำน้ำประมาณ 1 กิโลเมตรถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีท่าน้ำอยู่ริมคลองอ้อมนนท์ แต่หากมาจากทางน้ำก็จำเป็นจะต้องเดินไปเป็นระยะทางพอเหนื่อยจึงจะถึงวัดที่ตั้งอยู่กลางสวนแต่ก่อนร่มครึ้มด้วยต้นไม้ และขึ้นชื่อว่าผีดุทีเดียว ปัจจุบันวัดปราสาทพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้นไม้ที่เคยให้ร่มเงาก็ถูกตัดออกเสียมากบางส่วนก็กลายเป็นลานซีเมนต์ บางส่วนก็กำลังกลายเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่

แม่น้ำตัวยูนี้ เป็นแม่น้ำดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกว่าแม่น้ำอ้อม หรือคลองอ้อมนนท์ ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมในเขตจังหวัดนนทบุรี ชาวบ้านเมืองนนทบุรีต่างก็ใช้สัญจรกันมาอย่างยาวนานจนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทรงดำริว่า คลองอ้อมทั้งหลายนั้น กีดการจราจรทำให้เดินทางลำบาก อีกทั้งเรือสำเภาลูกค้าก็เข้ามายังกรุงศรีอยุธยายากเพราะคลองที่คดไปคดมา ย่อมตื้นเขินง่าย จึงโปรดให้ขุดคลองลัดขึ้นที่อำเภอบางใหญ่ตัดที่หัวตัว U มาบรรจบกับหางตัวU ที่หน้าวัดเขมาภิรตาราม และวัดค้างคาว แม่น้ำเจ้าพระยาสายนี้ก็ไหลรื่นเรียบง่ายเพราะไหลเป็นเส้นตรงจากเหนือลงใต้ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายที่เราใช้สัญจรกันในปัจจุบันส่วนสายเดิมน่ะหรือ ก็กลายเป็นคลองเล็กๆยาวคดไปมา ดังที่เราเรียกกันว่า คลองอ้อม นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม คลองอ้อมก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งร้าง ด้วยชาวบ้านจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในสวนผลไม้(ที่ขึ้นชื่อก็คือ ทุเรียน ส้มโอ มังคุด เมืองนนท์ ที่เราหากินกันไม่ได้แล้วทุกวันนี้)เรือเล็กๆใส่ผลไม้ย่อมออกแม่น้ำใหญ่ที่แรงไหลเชี่ยวไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสี่ยงเกินไป และประหยัดแรงในการพายมากกว่า คลองอ้อมจึงถูกใช้งานมาอย่างยาวนานและมีชุมชนกลางสวนที่หนาแน่น ดังปรากฏว่าในระยะทางเพียง 17 กิโลเมตร มีวัดมากกว่า60 แห่ง!!

แต่ถ้าถามผมว่าวัดไหนในบริเวณคลองอ้อมที่ถือว่า

งดงามและเก่าแก่ที่สุด หลายๆวัดแม้จะสร้างมา

ยาวนานแต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ก็ต้องรื้อสร้าง

ปฏิสังขรณ์เพราะอายุของวัสดุในการสร้างวัดไทยมัน

ไม่คงทน เครื่องไม้ก็ต้องเปลี่ยนกระจกหมองแล้ว ทอง

หลุดก็ต้องเปลี่ยนเหลือเพียงไม่กี่วัดที่สร้างอย่าง

ประณีตบรรจงและหลงรอดกาลเวลามาได้อย่างงดงาม

หนึ่งในนั้นคือวัดปราสาท

พระอุโบสถ วัดปราสาท 

หน้าบันรูปพระนารายณ์ทรงครุฑนั้น หายไปแล้วจากการโจรกรรม

เราไม่มีหลักฐานการสร้างใดๆเลยว่าวัดปราสาทสร้าง

เมื่อไร คำว่าปราสาทเองอันหมายถึงอาคารที่มีหลังคา

หลายชั้นและยอดเป็นปลายแหลมก็ดูไม่เข้ากันกับวัดนี้

นักทางวัดจึงถือเอาชื่อของพระเจ้าปราสาททองมาเป็น

นิมิตรว่าน่าจะสร้างในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่างาน

ศิลปกรรมเหล่านั้น จะไม่เข้าขั้นยุคพระเจ้าปราสาทอง

ก็ตาม(สังเกตง่ายๆ เช่นการตกท้องช้างของฐานพระ

อุโบสถนั้นริเริ่มในรัชสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง) ด้วย

หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆเราจึงสรุปได้ว่าวัด

ปราสาทสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่

รัชกาลพระเพทราชาลงมา

แต่เดิม ลานรอบๆวัดเป็นดิน หลังจากบูรณะเมื่อปี 2555 ก็๋กลายเป็นลานปูกระเบื้องใหม่จนหมด กำแพงแก้วสมัยรัตนโกสินทร์ถูกรื้อออก และมีการก่อกำแพงแก้วใหม่ตามแนวเดิมที่สร้างสมัยอยุธยา ในพื้นที่ที่กว้างขวางกว่าเดิม

ชื่อเสียงของวัดนี้มาจากจิตรกรรมฝาผนังที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดในนนทบุรี เป็นจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายสกุลช่างนนทบุรี ที่เขียนไม่ค่อยเหมือนที่อื่นๆ โบสถ์วัดปราสาทเองก็เป็นโบสถ์มหาอุดคือไม่มีหน้าต่างประตูใดๆ นอกจากทางเข้าด้านหน้าสามบาน ดังนั้น การวางตำแหน่งของจิตรกรรมฝาผนังจึงไม่มีช่องหน้าต่างในการแบ่งเรื่องราวแต่ใช้เทวดายืนแท่นพนมมือ แบ่งชาดกทั้งสิบเรื่องออกจากกัน

เทวดายืนแท่นที่ใช้แบ่งคั่นชาดกแต่ละเรื่องออกจากกัน

เนมิราชชาดก พระเนมิโปรดนรกและสวรรค์ ในภาพเป็นดาวดึงษ์ของพระอินทร์ 

เขียนพระเจดีย์ 2 องค์ (บนซ้ายมือ) คือพระจุฬามณี และทุสสเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นพรหม

มโหสถศาลา วางแท่งยาของพระมโหสถ ที่ติดมือมาแต่เกิด


การเวียนลำดับเรื่องของชาดกที่วัดปราสาทก็เหมือนกับที่วัดอื่นๆ คือ เริ่มมาจากพระชาติแรก คือ เตมีย์ชาดก อยู่ผนังด้านแปขวามือของพระประธาน ไล่มาจนถึงมโหสถชาดก ส่วนผนังด้านซ้ายพระประธานก็ไล่ต่อกันไปจนจบพระเวสสันดร

สภาพจิตรกรรมลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว ทั้งๆที่ในสมัยที่อ.ศิลป์ พีระศรีออกสำรวจจิตรกรรมวัดนี้ยังคงสดใสอยู่ คงเป็นเพราะผ่านการปฏิสังขรณ์ไปมากครั้งและผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมานับครั้งไม่ถ้วน ด้วยใกล้แม่น้ำอ้อม และดินชื้นทำให้จิตรกรรมที่มีอายุกว่า 300 ปีกำลังจะดับสูญลงในไม่ช้า

โดยปกติแล้ว เทคนิคการเขียนของช่างไทยที่ใช้สีฝุ่นวาดลงบนรองพื้น หากรองพื้นหลุดลอกออกมา ก็จะทำให้สีลอกออกมาด้วย เทคนิคนี้ไม่แข็งแรงทนทานเท่า เฟรสโก้ของทางตะวันตก อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้วัดปราสาทเปลี่ยนไปมาก ถ้าใครมีโอกาสแวะไปแถบนั้น ควรหาโอกาสชมเสียก่อนที่จะเปลี่ยนไป (ในทางที่แย่ลง) ยิ่งกว่านี้




Create Date : 17 มกราคม 2557
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 21:26:36 น.
Counter : 5996 Pageviews.

1 comment
1  2  3  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments