ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้าง (สมัยอยุธยาตอนปลาย)


(Ancient pulpit in Wat Bang oychang, Nontaburi)

วัดบางอ้อยช้าง 
ตั้งอยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับแยกพระราม 5 ริมแม่น้ำอ้อมชุมชนย่านนี้เป็นบ้านเกิดของคุณยายของผม และทุกๆสงกรานต์ ญาติๆก็จะมาชุมนุมกันทำบุญให้ทวดแต่กว่าผมจะเข้าใจถึงความสำคัญของวัดนี้ได้ก็เป็นโตเป็นผู้ใหญ่แล้ววัดบางอ้อยช้างก็เปลี่ยนไป ลานซีเมนต์มาเยือนเหมือนหลายๆวัดที่เคยอยู่กลางสวน
วัดบ้างอ้อยช้างนี้ เป็นวัดที่น่าสนใจอีกวัดหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีและคงจะสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวคือ เคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยสำคัญที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เล่ากันว่าสมัยนั้น เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้างท่านเป็นคนขยัน ท่านหาไม้มาสร้างวัดจากเมืองเหนือล่องเรือไปถึงนครสวรรค์ และท่านก็ได้พระศรีศาสดามาจากสุโขทัยด้วยเมื่อความทราบถึงเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค)จึงให้อัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดประดู่ฉิมพลี ที่ท่านสร้างขึ้น 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบและมีพระราชดำริว่าพระศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ซึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงให้อัญเชิญม ประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พระศาสดาก็ควรประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารที่เดียวกับพระพุทธชินสีห์ เป็นเสมือนพระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์ แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐาน จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังมุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามไปพลางก่อนเมื่อ พ.ศ. 2396 ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาจวนแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญพระศาสดามาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2407 (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

อีกองค์หนึ่งที่ท่านเจ้าอาวาสได้มาจากเมืองเหนือคือพระพุทธรูปสุโขทัยปางลีลา ปัจจุบัน ประดิษฐานไว้ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรซึ่งถือว่ามีความงดงามเป็นยอด

ระฆังหัวสัตว์ อายุอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลง (ไปในที่ดีขึ้น) ของวัดบางอ้อยช้าง ก็คือ มีการรวบรวมสิ่งของวัตถุโบราณที่อยู่ในวัดมาจัดทำทะเบียนและจัดแสดงอย่างเป็นระบบบนพิพิธภัณฑ์เรือนไม้สัก 3 ชั้น ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาก่อน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ เครื่องไทยธรรมที่รัชกาลที่ 5ถวายแด่วัด ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดแห่งนี้ ได้แก่ ตาลปัตร บาตรและเสื้อครุย รวมทั้งตู้พระไตรปิฎกสมัยรัตนโกสินทร์จำนวนมากส่วนภายในศาลาการเปรียญ ยังเก็บรักษาธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย แม้ว่าจะถูกซ่อมแปลงไปมากมายแต่ก็ยังรักษาทรวดทรงดั้งเดิมเอาไว้ได้ และบนเพดานศาลาการเปรียญยังประดับพระพุทธบาทไว้บนฝ้า ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยไม่เคยปรากฏที่อื่นๆอีก

พนักธรรมาสน์ จะเห็นว่า มีการใช้กระจังรวนบนขาสิงห์ลอย เป็นเอกลัษณ์ของธรรมาสน์อยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องมาจากขาสิงห์ลอยในสมัยพระนารายณ์มหาราช อันปรากฏที่นารายณ์ราชนิเวศด้านใต้ขาสิงห์ จะเห็น "ล่องถุน" เป็นไม้กากบาท คล้ายๆกับ"กระเท่เซร" ซึ่งเป็นชื่อเรียกโครงหลังคาโบราณ ที่ใช้ไม้กากบาทตัดกันรับน้ำหนักหลังคา

แทนไม้ประดุหรือจันทันมาถึง

ธรรมาสน์บ้างนะครับ ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้างถือเป็นทรงที่สวยงาม เข้าตำราธรรมาสน์อยุธยาตอนปลายถ้าดูจากเส้นรอบนอก จะคล้ายๆกับธรรมาสน์วัดสำโรงแต่รายละเอียดลวดลายประดับแตกต่างออกไป โชคดีที่วัดแถบนนทบุรีไม่เคยร้างเหมือนกรุงศรีอยุธยาธรรมาสน์โบราณที่เป็นของละเอียดอ่อนจึงอยู่มาได้เนิ่นนานและเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์อย่างดีก็คงสภาพไว้ แม้กระจกจะถูกเปลี่ยนแต่โครงสร้างของอยุธยาตอนปลายก็ยังฉายออกมาได้อย่างสง่างาม ชนิดที่ว่าทำเลียนแบบอย่างไรก็ไม่เหมือน

ลักษณะธรรมาสน์อยุธยา ปลายสังเกตได้ง่ายครับส่วนมากมักจะ มีเสาเพียง 4 ต้น และไม่ใช่เสาเพิ่มมุม(ธรรมาสน์รัตนโกสินทร์ส่วนมากจะเพิ่มมุม) การเพิ่มมุมที่เสานั้น ส่งผลไปถึงยอดด้วยหลังคาจำเป็นต้นเพิ่มมุมตาม (กลายเป็นซุ้มรังไก่ แบบที่เห็นในมณฑปในวัดพระแก้ว)ส่วนของฐานนั้น อยุธยาตอนปลายนิยมการทำ “ล่องถุน” คือ ใต้ถุนโล่งๆ มีไม้กากบาทตีขวางกันซึ่งเลียนแบบมาจากเรือนไม้จริงๆ ขณะที่รัตนโกสินทร์ จะไม่นิยมล่องถุนแต่จะทำชั้นฐานหนาหนักซ้อนๆกันขึ้นไป บางครั้งก็ทำเป็นฐานที่มีตัวแบก เป็นสิงห์ครุฑ เทวดา ลดหลั่นกันไป

ชุดฐานของธรรมาสน์ ใช้ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนประดับ ลายนี้ไม่ค่อยพบในสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว

ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้างเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธรรมาสน์อยุธยาตอนปลายที่งดงาม และอยู่ในสภาพดี ขนาดกลางๆไม่เล็กไม่ใหญ่มากนักและกลมกลืนไปกับศาลาการเปรียญทรงวินเทจอายุสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ได้เป็นอย่างดีถ้าไปวัดบางอ้อยช้าง ลองขอกุญแจพระท่านดูนะครับ วัดนี้พระท่านใจดียินดีเปิดให้ชมตลอดเวลา


ดาวเพดานใหญ่เต็มฝ้าของธรรมาสน์ ต่างกับสมัยรัตนโกสินทร์ที่มักทำดาวกระจายขนาดเล็กหลายๆดวง ไม่ทำเป็นบัวใหญ่ดวงเดียว






Create Date : 17 มกราคม 2557
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 12:23:16 น.
Counter : 3390 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments