All Blog
กระจกสีในโบสถ์ ความรุ่งโรจน์ของแสงสว่าง



ในปฐมกาลพระเจ้าตรัสว่า “จงมีแสงสว่างเถิด” แล้วก็มีแสงสว่างพระเจ้าทรงเห็นว่าแสงสว่างนั้นดี” (ปฐก 1 : 3-4)


ถ้าเดินเข้าไปในวัดคริสต์เก่าๆหน่อยเรามักจะเห็นกระจกสี แสดงภาพรูปคริสตประวัติบ้าง นักบุญบ้าง แม่พระบ้างบุคคลสำคัญบ้าง บางวัดก็มีติดเต็มไปหมดจนเกือบจะทดแทนผนังปูนไปเลย ถือว่าเป็นการอวดฝีมือช่างว่าทำยังไงไม่ให้หลังคามันพังลงมาเพราะผนังมันเปราะเป็นเปลือกกระจกบางๆ ขนาดนั้น คนโบราณในยุคกลางเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไบเบิ้ลก็แพงเพราะเครื่องพิมพ์ยังไม่เกิดไม่มีตังค์ซื้อ ก็เลยมาหาความรู้เอาที่กระจกสี เป็นพระคัมภีร์ของคนยาก ก็ทำนองเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังบ้านเรานั่นเอง


แม้ว่าจะมีการหุงกระจกกันมานานแล้วแต่ไม่สะดวกจะติดตั้งเพราะความขัดข้องทางเทคนิค ยุคโรมันเนสก์สถาปนิกยังเจาะหน้าต่างกว้างๆ ไม่ได้ โบสถ์ใหญ่โตเทอะทะเหมือนโรงนา แต่เจาะหน้าต่างได้นิดเดียวเพราะถ้าเจาะกว้างโบสถ์ก็จะพัง ชาวยุโรปจึงใช้กระจกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ติดเป็นโมเสกเสียเลยดังนั้นถ้าเราเข้าไปในโบสถ์โรมันเนสก์ จะเห็นว่าภายนอกเหมือนโรงยิมทึม ๆ แต่ข้างในสุกใสสกาวด้วยกระจกและโมเสกทองจึงถูกเปรียบเปรยว่า เหมือนจิตวิญญาณอันงดงามนิรันดร ถูกซ่อนไว้ในร่างกายสสารอันรู้ตายโมเสกอยู่คู่กับวิหารมืดทึบไปอีกหลายร้อยปีในยุคกลางตอนต้น ๆ


ต่อมาเทคนิคการก่อสร้างค้ำยันพัฒนาขึ้นทีละนิดๆ ชาวยุโรปคงอึดอัดกับโบสถ์ทึบ ๆ มืด ๆ มานาน จึงพยายามสร้างโบสถ์ที่เปิดรับแสงสว่างให้ได้มากๆ ทีนี้ก็มีนักบวชผู้หนึ่งชื่อ ซูแยร์ (Abbot Suger) เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงแซงต์เดนีส์(St.Denis) แห่งปารีสในศตวรรษที่ 12 ซึ่งคลั่งไคล้ในระบบสัญลักษณ์ของการ“ส่องสว่างภายในอย่างลึกลับ” อันเป็นความคิดที่พัฒนามาจากไดโอนีซุสเทียมแห่งแอโรพาไกต์ (Psuedo-Dyonisus of Aeropagite) ไดโอนีซุสผู้นี้ไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นนามแฝงของนักบวชชาวซีเรียนผู้หนึ่งในศตวรรษที่ 5-6 ผู้อ้างว่าเป็นไดโอนีซุสลูกศิษย์ชาวกรีกของนักบุญเปาโล ผู้กลับใจนับถือศาสนาคริสต์ หลังจากที่เปาโลไปเทศนาในเอเธนส์ อันปรากฏใน (กจ 17 : 34) และต่อมาไดโอนีซุสผู้นี้ ได้เป็นสังฆราชแห่งเอเธนส์เดินทางสั่งสอนชาวกรีกไปทั่ว (เมาท์กันว่าไปเป็นสังฆราชที่ไซปรัสและมิลานด้วย)

งานของไดโอนีซุสเทียมนั้นแพร่หลายอยู่ในคริสตจักรตะวันออกที่กรุงคอนแสตนติโนเปิล และเข้ามาในพระศาสนจักรตะวันตกเมื่อนักบุญเกรโกรรีมหาสมณะไปทำธุระกับไบเซนทีน ท่านไปได้งานเขียนของไดโอนีซุสฉบับก๊อปปี้มาชุดนึง เกรโกรีเอามาอ่านแล้วอินมากโดยเฉพาะเรื่องการพิศเพ่งและรหัสยธรรมลึกลับแบบกรีก เลยแปลออกมาเป็นฉบับอ่านชิวลำลองเพราะภาษากรีกท่านไม่ค่อยแข็งเท่าไร งานเลยไม่ค่อยฮิต

ต่อมา จักรพรรดิมิกาเอลที่2 แห่งโรมันตะวันออก พระราชทานหนังสือชุดงานเขียนของไดโอนีซุสเทียม 1 ก๊อปปี้ ให้พระเจ้าหลุยส์เดอะปิอุสแห่งราชวงศ์คาร์โลลิงเจียน พระองค์จึงพระราชทานต่อไว้ที่วัดแซงต์เดนีส์ แล้วอีทีนี้คำว่า เดนีส์ มันเป็นสำเนียงฝรั่งเศสของคำกรีกไดโอนีซุส คนยุคกลางชอบแต่งโยงตำนานไปๆมาๆจึงกลายเป็นว่า ไดโอนีซุสเทียมกลายเป็นคน ๆ เดียวกันไปกับ แซงต์เดนีส์สังฆราชคนแรกแห่งปารีส ในศตวรรษที่ 2 ที่โดนพวกโรมันตัดหัวแล้วลุกขึ้นมาเดินหิ้วหัวตัวเอง เดินไปได้อีก 2 ไมล์ จนมาตายลงตรงที่จะสร้างวัดคนปารีสอินเรื่องนี้มาก จึงผูกตำนานว่า ไดโอนีซุสจากเอเธนส์มาเผยแพร่ศาสนาที่ปารีสแล้วโดนตัดหัวเป็นมรณสักขี ดังนั้น 2ไดโอนีซุสนี้จึงกลายเป็นคนเดียวกันไปโดยปริยาย

ส่วนท่านอธิการซูแยร์ เป็นลูกชายของอัศวินชั้นผู้น้อยพ่อแม่เอามาถวายวัด ท่านเรียนเก่งมากจนเติบโตขึ้นได้เป็นสมภารเขามีความคิดจะซ่อมแซมวิหารเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 นี้มานานแล้วเพราะผนังมันผุพังจนกระทั่งอำนาจของพระราชวงศ์ฝรั่งเศสเริ่มเติบโตขึ้นทีละเล็กทีละน้อยปารีสไม่ใช่เมืองน้อยอีกต่อไป พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ทรงออกไปรบในครูเสดก็เพิ่มฐานอำนาจของฝรั่งเศสให้กว้างไกลขึ้นซูแยร์ในฐานะสมภารวัดหลวงก็มีอำนาจในทางโลกและทางธรรมมากพอที่จะสร้างวิหารใหม่แห่งนี้ให้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเผยแพร่ความเกรียงไกรและร่ำรวยของฝรั่งเศส ผ่านทางวัดแซงต์เดนีส์ซึ่งนักบุญประจำวัดผู้นี้เป็นผู้อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย (การเอาปรัชญาไดโอนีซุสมาใช้ที่นี่จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ)



               (รูปกระจกสีของอธิการซูแยร์ ในวัดแซงต์เดนีส์)


        ซูแยร์มีความทะเยอทะยานมากท่านรักเพชรพลอยและความร่ำรวยหวังจะปรับปรุงให้แซงต์เดนีส์กลายเป็นสวรรค์ในโลกมนุษย์โดยใช้วัสดุก่อสร้างราคาแพง ท่านเรียกบรรดาพ่อค้าเพชรพลอยอัญมณีจากต่างชาติต่างเมืองเข้ามาเพื่อซื้อหาไข่มุกซัฟไฟร์ มรกต ทับทิม เพื่อประดับพระแท่นบูชาถวาย “พระกายของพระเป็นเจ้า”ท่านประดับทองคำ 24 แห่งบนพระแท่น “ใช้ไข่มุกมากกว่าที่เราคิดไว้เสียอีกเราจะได้เห็นบรรดาเจ้านายกษัตริย์ทั้งหลายกระทำแบบเราโดยถอดแหวนทองแหวนมุกออกจากพระหัตถ์ แล้วรับสั่งให้ประดับมันลงไปบนพระแท่นมีพ่อค้าอัญมณีต่างชาติมากมายมาเสนอสินค้าให้เราเราก็จ่ายเงินซื้อสิ่งของเหล่านั้น”

เมื่อเรื่องการประดับประดาอย่างหรูหราฟุ้งเฟ้อนี้กระทบหูนักบุญแบร์นาร์ดฤาษีผู้รักความสันโดษและเกลียดการตกแต่งวัดมาก (วัดของท่านไม่มีแม้แต่ลวดลาย) ท่านก็ออกปากประณามอย่างแรงว่า“จะเอาทองคำไปทำอะไรในวัด”

แต่ซูแยร์ไม่ฟังเสียง ท่านจัดการเดินหน้าปรุบปรุงวิหารหลวงต่อไป เพื่อเพิ่มความยิ่งใหญ่เกรียงไกรให้ฝรั่งเศส สิ่งแรกที่ซูแยร์กระทำกับโบสถ์แซงต์เดนีส์ก็คือปรับปรุง Choir (ผนังรอบพระแท่น) ใหม่ จนแล้วเสร็จในปี1140 ในพิธีเสกมีพระอัครสังฆราช 5 องค์ พระสังฆราช 13องค์เข้ามาชมสิ่งน่าอัศจรรย์ใจชิ้นใหม่ของโลก นั่นคือกำแพงที่โปร่งแสงแสงแดดทะลุเข้ามาเป็นสีสันแดงฟ้าเขียว สดใสไบร์ทลี่เหมือนอัญมณี แขกเหรื่อทุกคนตื่นตนตื่นใจกับสถาปัตยกรรมแบบใหม่นี้ทันที และรีบเร่งกลับไปปรับปรุงมหาวิหารตามบ้านเกิดของตนตามสไตล์ใหม่ รสนิยมใหม่แพร่ไปเหมือนไฟลามทุ่งสถาปัตยกรรมแบบโกธิคได้เกิดขึ้นแล้ว เป็น Moderna Architectura (สถาปัตยกรรมสมัยใหม่คำๆนี้เคยใช้เรียกโกธิคมาก่อน ก่อนที่จะถูกเรียกอย่างเย้ยหยันดูแคลนในสมัยเรอเนสซองว่า“สิ่งก่อสร้างของพวกกอธป่าเถื่อน”.



(ภาพกระจกสีในบริเวณ Choir ของวิหารแซงต์เดนีส์ ที่ซูแยร์ปรับปรุงขึ้นใหม่)


หลังจากทำ Choir ใหม่ท่านสมภารซูแยร์ก็เขียนบันทึกการซ่อมแซมวัดอย่างละเอียด ไว้ในบันทึกชื่อ De administrations พร้อมทั้งแทรกความคิดทางเทววิทยาลงไปด้วยอย่างแนบเนียนหลาย ๆ แห่งก็แต่งกลอนประดับไว้ด้วย และที่ไหนที่เป็นรูปภาพ ก็มักจะแทรกภาพของตัวท่านเองไว้อย่างเช่นที่ประตูบานกลางทำจากสำริดแกะสลักราคาแพง ท่านเขียนว่า

“ท่านผู้แสวงหาเกียรติภูมิของประตูนี้เกียรตินั้นมิได้อยู่ที่ทองคำ หรือราคาของมัน หากแต่เป็นฝีมือช่างความงามทางศิลปะคือความสว่างเรืองรอง งานศิลปะสามารถส่องสว่างจิตใจช่วยให้ผู้ชมเดินทางท่องไปทางการส่องสว่างนั้น ไปสู่แสงสว่างเที่ยงแท้ที่ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงเป็นประตูแท้ ประตูทองเป็นเพียงสิ่งจำกัดความอุปมาถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึงในอนาคต จิตใจที่มืดบอดจะตื่นขึ้นมาในความจริงผ่านทางสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้า จิตนั้นจะตื่นขึ้นจากสภาพความตกต่ำเมื่อได้เห็นแสงสว่างนั้น”


(ภาพประตูสำริดของซูแยร์ แสดงเหตุการณ์พระมหาทรมานของพระคริสต์ มีรูปตัวเขาเองในช่องที่สองบานขวา ในเหตุการณ์ที่เอ็มมาอุส)

การกล่าวเรื่องแสงสว่างเที่ยงแท้การส่องสว่างจิตใจอันตกต่ำ (Fall) อันเป็นผลมาจากอดัมเอวากินผลไม้ในสวนเอเดนเป็นอุปมาที่พบอย่างชัดเจนในงานของไดโอนิซุสซูแยร์สั่งให้แกะสลักประตูทองสำริดเป็นภาพพระมหาทรมาน การกลับคืนชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระคริสต์และมีอีกซีนหนึ่งที่ปะปนเข้ามา คือ ฉากการเดินทางไปยังเอ็มมาอุส พระเยซูที่เพิ่งคืนพระชนม์ปรากฏกายต่อหน้าศิษย์สองคนที่กำลังเดินทางไปตำบลเอ็มมาอุสแต่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้ จนกระทั่งทรงบิขนมปังแจก จึงจำพระองค์ได้ ฉากคริสตประวัตินี้ไม่ค่อยฮิตมากนักที่สำคัญคือซูแยร์ใส่ตัวเองลงไปในฉากนี้ด้วย ซูแยร์พยายามเสนอไอเดียว่ามีเพียงการไถ่กู้ของพระคริสต์เท่านี้ ที่จะทำให้สิ่งสร้างในโลกสสาร(หมายถึงเนื้อหนังของพระคริสต์) ถูกเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นตะเกียงเที่ยงแท้นำไปสู่แสงสว่างอันแท้จริง

นักบุญเกรโกรีมหาสมณะอธิบายการเดินทางไปเอ็มมาอุสว่า“เป็นเหตุการณ์ของการมองเห็นทางภายภาพ แต่มิได้มองลึกลงไปภายใน เข้าถึงความจริงเที่ยงแท้ที่อยู่ข้างใน(องค์พระคริสต์) พวกศิษย์แลเห็นผู้ร่วมทางด้วยตาเนื้อ แต่จดจำพระองค์มิได้จนกระทั่งทรงเผยพระองค์เองในการบิปัง” ความคิดนี้เข้ากันดีกับ Divine Theology ของ Hugh of Saint Victorหากไม่มีพระมหาทรมานและการไถ่กู้ เอ็มมาอุสก็ไร้ความหมาย หากไม่มีการเปิดเผยจากองค์พระผู้เป็นเจ้าแม้เราจะเห็นพระองค์ด้วยตาเนื้อต่อหน้า เราก็จำพระองค์มิได้

ท่านอธิการซูแยร์ ได้ทำส่วนหน้าFaçade ด้านตะวันตกของโบสถ์ใหม่ โดยรื้อผนังเดิมที่ท่านเมาท์ว่าสร้างสมัยชาร์ลมาญออกเพิ่มประตูและหอคอยสองหอ เมื่อส่วนหน้ากับส่วนหลังเสร็จเรียบร้อยเปิดพื้นที่โล่งสำหรับใส่กระจกสีบานมหึมา โบสถ์ทั้งโบสถ์ก็สว่างเรืองรองด้วย New light ที่ไม่เคยมีมาก่อนในศิลปะโบราณท่านซูแยร์ก็ไม่พลาดที่จะบันทึกรายละเอียดเอาไว้ด้วย


“เมื่อส่วนหน้าและส่วนหลังที่ต่อเติมใหม่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โบสถ์ทั้งโบสถ์ก็สว่างเรืองรองรุ่งโรจน์ไปทั่วทั้งบริเวณโถงกลาง แสงสว่างอันรุ่งเรืองคืองานอันทรงเกียรติ ที่ถูกเพิ่มเติมขยายในยุคของเราข้าพเจ้า ซูแยร์ เป็นผู้นำในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ”



( Facde ของวัดแซงต์เดนีส์ ที่สร้างใหม่สมัยของซูแยร์)


ก็เป็นอันว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของท่านอธิการในการทำให้โถงในวัดสุกสว่างด้วยแสงจากธรรมชาติ กระจกสีนั้นโปร่งแสง แต่ไม่โปร่งใสเพราะมันย้อมด้วยเขียว แดง น้ำเงิน เข้าไปจนฉูดฉาดสดใส เมื่อต้องแสงแดดยามเช้าแสงก็ลอดผ่านกระจกออกมาได้ แต่เมื่อลอดเข้าไปในโบสถ์แล้ว แสงนั้นก็ไม่ใช่แสงเดิมอีกต่อไปแล้วมันกลายเป็นแสงใหม่หรือ Lux nova ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนในยุคโรมันเนสก์ก่อนหน้าโกธิค แม้จะมีการทำกระจกสีแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีใครหาญกล้า “ย้อม”พื้นที่ภายในโบสถ์ด้วยแสงอันเรืองรองเช่นที่พระอธิการซูแยร์กล้าย้อมโบสถ์แซงต์เดนีส์แห่งปารีสแสงที่มองเห็นได้เป็นแสงธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นแสงทิพย์ (Divine light) ความหมายลึกซึ้งของกระจกสีถูกขยายความต่อไปและเปรียบเปรยกับการอวตารของพระเป็นเจ้า ผู้เป็นแสงที่มองไม่เห็น อวตารสู่แสงที่สามารถมองเห็นได้


คุณสมบัติพิเศษของกระจกสีที่ย้อมแสงได้จึงถูกอุปมาว่ามีสองธรรมชาติอยู่รวมกัน คือ มีความใส (Clarity) และความทึบ (Opacity) แสงธรรมชาตินั้นโปร่งใสดังเช่นพระผู้สร้างแต่ก็มีสีสันทำให้สามารถแลเห็นได้อันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายและไม่สมบูรณ์ของสิ่งสร้าง เหมือนพระคริสต์พระเจ้าผู้รับเอาเนื้อหนังที่มีทั้งธรรมชาติพระเป็นเจ้าผู้สมบูรณ์ (แสง) และธรรมชาติมนุษย์ผู้รู้ตาย(สีจากกระจก) อยู่รวมกัน และโดยธรรมประเพณีแล้ว พรหมจารีของแม่พระมักจะถูกเปรียบเปรยกับแก้วใสสะอาดที่มองเห็นได้ทั่วตลอดทั้งใบ กระจกสีก็เช่นกันมันยอมให้แสงสว่างส่องทะลุผ่านเข้ามาได้ โดยที่ตัวมันเองไม่แตกทำลายดังเช่นแม่พระที่ทรงครรภ์พระเยซูคริสต์โดยที่พรหมจรรย์ของพระนางไม่เสื่อมสลายไปนี่คือชัยชนะของสิ่งที่มองไม่เห็นที่มีต่อสสาร

Hugh of Saint Victor นักปราชญ์ผู้มีอิทธิพลต่อซูแยร์กล่าวว่า “กระจกสีอุปมาเหมือนพระคัมภีร์ตั้งแต่ที่มันยอมให้แสงสว่างแห่งความจริงผ่านเข้ามาในโบสถ์ มันก็ทำให้จิตใจของฆราวาสด้านในส่องสว่างขึ้นด้วยปัญญา”ส่วน William Durandus กล่าวไว้คล้ายคลึงกันว่า “กระจกนั้นป้องกันลมฝนและลมหนาวที่ทำร้ายผู้คนไว้ด้านนอกแต่ยอมให้แสงแห่งดวงอาทิตย์เที่ยงแท้ คือพระเป็นเจ้า เข้ามาในหัวใจของผู้ศรัทธา”


กระจกจึงเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างความหมายอันลึกซึ้งให้กับโบสถ์ศิลปะโกธิคได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 12 ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของโบสถ์เริ่มถูกสร้างความหมายทางเทววิทยาเช่นเดียวกับกระจกเข้าไปสัมพันธ์อย่างลงตัวกับทฤษฎีเรื่ององคาพยพศักดิ์สิทธิ์ หรือ Divine Body ที่นักบุญเปาโลสั่งสอน เมื่อกระจกทำหน้าที่อุปมาการรวมพระธรรมชาติของพระเจ้าไว้ด้วยกันได้อย่างแนบเนียนน่าทึ่งแล้วก็ไม่ยากที่หลังคา ประตู เสา ฐานจะมีความหมายขึ้นมาในฐานะส่วนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์ ซึ่งว่างๆจะคุยกันเรื่องนี้ต่อไป




Create Date : 03 กรกฎาคม 2560
Last Update : 3 กรกฎาคม 2560 14:10:25 น.
Counter : 4505 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments