Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ 6 ออกแบบโครงสร้าง (2)

ในเรื่องเสาเข็มนั้น
ในงานนี้ นู๋เองค่ะ ต้องคำนวณฐานรากอยู่หลายครั้ง
เดิมทีตั้งใจใช้เสาเข็มสั้น เนื่องจากสภาพทางเข้าไม่อำนวยให้ใช้เสาเข็มยาวและปั้นจั่นใหญ่
เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว ก็เกรงว่าช่างจะใช้วิธีขุดดินก่อนแล้วเอาเสาเข็มเสียบลงไป
จึงเปลี่ยนใจเปลี่ยนเป็นใช้เสาเข็มยาวปานกลาง แล้วใช้ปั้นจั่นเล็ก
ก็คำนวณฐานรากใหม่
ครั้นก่อสร้างจริง ก็เปลี่ยนใจใหม่ใช้เป็นเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาถึง 3 ครั้ง ครบเสาเข็มเกือบทุกแบบ

ท่านที่สนใจรายละเอียดเรื่องเสาเข็ม เชิญได้ที่
เอกสารเรื่อง
เสาเข็มและการคำนวณการรับน้ำหนักของเสาเข็ม
ของกรมโยธาธิการและผังเมือง
//www.dpt.go.th/03serv/Paiboon_Web/pole.pdf
นอกจากนี้ท่านที่ต้องการทราบสภาพของชั้นดินในบริเวณที่ก่อสร้าง
อาจดูข้อมูลเบื้องต้นของสภาพชั้นดินพร้อมทั้งข้อมูลการเจาะสำรวจดินทั่วประเทศ ได้ที่
เอกสารเรื่อง
การอ่านรายงานผลการเจาะสำรวจชั้นดิน
//www.dpt.go.th/48_knowledge/soil.pdfข้อมูลการเจาะสำรวจดินทั่วประเทศ
//subweb.dpt.go.th/soil/index.html




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2548    
Last Update : 10 ธันวาคม 2548 5:30:26 น.
Counter : 617 Pageviews.  

ตอนที่ 5 ออกแบบโครงสร้าง (1)

เมื่อออกแบบสถาปัตย์ได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งานแล้ว
ก็มาถึงขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างอาคาร

ข้อกำหนดที่สำคัญในการคำนวณโครงสร้างก็คือจะต้องยึดตามกฎเกณฑ์ซึ่งระบุไว้ใน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) การออกแบบโครงสร้าง
//www.asa.or.th/download/03media/04law/cba/mr27-06.pdf

ที่สำคัญก็คือ การใช้กำลังอัดประลัยของคอนกรีต
กรณีที่ไม่มีใบรับรอง จะใช้กำลังอัดประลัยของคอนกรีตได้ไม่เกิน 65 กก.ต่อตร.ซม.
ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงฝีมือของช่างและวัสดุที่ใช้ในการผสมคอนกรีตด้วย
เช่นในกรณีที่ก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งไม่มั่นใจในคุณภาพวัสดุหรือแรงงาน
ซึ่งหากไม่มั่นใจ อาจพิจารณาใช้กำลังของคอนกรีตต่ำกว่านี้ตามความเหมาะสม
สำหรับน้ำหนักบรรทุกจร ในกฎกระทรวงนี้ก็มีกำหนดไว้คือบ้านพักอาศัยใช้ 150 กก.ต่อตารางเมตร
แต่อาคารคอนกรีตก็ต้องใช้ 200 กก.ต่อตารางเมตร
ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงสภาพการรับน้ำหนักจริงด้วย
หากบ้านพักมีการเก็บวัสดุจำนวนมากก็ต้องคำนวณน้ำหนักที่เกิดขึ้นจริง

ในการคำนวณโครงสร้างอาคารบ้านหลังนี้
นู๋เองค่ะ ใช้โปรแกรมช่วยคำนวณโครงสร้าง
โปรแกรม Microfeap for Windows เวอร์ชั่น Student
//www.microfeap.com/Contents/download.htm

โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมสำหรับคำนวณโครงสร้างอาคารซึ่งมีประวัติการพัฒนามายาวนาน
เชิญอ่านประวัติของอาจารย์ผู้พัฒนาโปรแกรมได้ที่
//www.microfeap.com/Contents/resume.html
รายละเอียดของโปรแกรมเชิญได้ที่
//www.microfeap.com/Contents/about_mfwp1.html

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้โปรแกรมจะต้องมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ
ในพฤติกรรมของโครงสร้างเป็นอย่างดี
มิฉะนั้นก็อาจเกิดความผิดพลาดและเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

จึงมีอาจารย์ท่านหนึ่งได้เคยกล่าวไว้ว่า
หากเกิดความผิดพลาดจากวิศวกรแล้ว อาจมีผู้ได้รับอันตรายมากมายนัก

สำหรับการออกแบบคาน พื้น และฐานราก
ก็ใช้โปรแกรม Excel ช่วยในการคำนวณ




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2548    
Last Update : 10 ธันวาคม 2548 5:26:36 น.
Counter : 1553 Pageviews.  

ตอนที่ 4 ออกแบบสถาปัตยกรรม (3)


สำหรับท่านที่ไม่ได้ให้สถาปนิกออกแบบ
อาจลองดูแบบบ้านเพื่อประชาชน เป็นแนวทางได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้ ก็ได้นะคะ

โครงการแบบบ้านเพื่อประชาชน
//www.dtcp.go.th/04work/house_model/framehome.html

//www.dtcp.go.th/04work/house_model/framehome.html

อย่างไรก็ตาม หากไม่ติดขัดปัญหาเงิน ๆ ทอง ๆ
ขอแนะนำให้ปรึกษาสถาปนิก จะเป็นการดี

ข้อผิดพลาดของนู๋เองค่ะ สำหรับงานนี้ก็คือ ลืมตำแหน่งวางหิ้งพระ
ขนาดของห้องนอนรอง เล็กไปคือ เพียง 3 ม. คูณ 3 ม. ทั้งที่ยังพอมีที่ดินเหลืออยู่
ซึ่งควรจะเป็นขนาด 3 ม. คูณ 4 ม.

อีกเรื่องก็คือห้องครัวอยู่ภายในบ้าน
ซึ่งภายหลังเจ้าของอยากออกมาทำครัวภายนอก ซึ่งไม่ได้เตรียมหลังคาไว้

ด้วยความที่อยากมีลูกเล่น ก่อผนังไว้ภายใน
ทำให้ห้องที่เล็กอยู่แล้วเล็กลงไปอีก 10 ซม.

และความที่รีบเร่งออกแบบ เขียนแบบเพื่อรีบขออนุญาต
ทำให้แบบขาดรายละเอียด ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่ได้เขียนเพิ่มเติมอีก
ทำให้รายละเอียดบางอย่างไม่ได้ดังใจ
และหากเป็นไปได้ ควรทำ Checklist รายการต่าง ๆ ไว้กันลืมในขณะก่อสร้างก็จะดีไม่น้อย




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2548    
Last Update : 10 ธันวาคม 2548 5:19:55 น.
Counter : 439 Pageviews.  

ตอนที่ 3 ออกแบบสถาปัตยกรรม (2)

ค่ะ เมื่อทราบกฎเกณฑ์ระยะร่นจากขอบที่ดินของอาคารแล้ว
คราวนี้เราก็มาออกแบบตัวบ้านกัน

การออกแบบบ้านจะต้องคำนึงทิศทางแดด และลม
ในประเทศไทย ลมจะมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
และแดดในฤดูหนาว จะอ้อมลงมาทางทิศใต้
คุณ ๆ ท่าน ๆ ขา สามารถดูรายละเอียดได้จากหนังสือ
การออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองร้อนในประเทศไทย
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ นะคะ

ก่อนที่เราจะวางแปลนอาคาร เราก็ต้องทราบจำนวนผู้พักอาศัยในบ้านว่ามี กี่คน
เพื่อกำหนดจำนวนห้องนอน
นอกจากนี้ยังต้องทราบพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้อยู่อาศัยด้วยว่ามีกิจกรรม อะไรบ้าง
เช่นชอบอ่านหนังสือ ชอบดูโทรทัศน์ ชอบเล่นอินเทอร์เน็ต ชอบทำสวน ชอบทำครัว ฯลฯ เป็นต้น

Flow Diagram สำหรับบ้านทั่ว ๆ ไปก็คือ
เมื่อเข้าบ้าน หากมีรถ ก็ต้องมีที่จอดรถ
หากไม่มีรถ ก็เดินเข้าบ้าน หน้าบ้านก็น่าจะมี Terrace
หากจ่ายกับข้าวมา อาจจะเดินไปทางข้างบ้านหรือหลังบ้านเพื่อเข้าครัว

เมื่อเข้าบ้านแล้วก็มีห้องโถงหรือห้องรับแขก
จากนั้นก็อาจมีห้องรับประทานอาหาร
หากเป็นบ้านขนาดเล็ก ก็จะรวมห้องโถง ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร
รวม ๆ กันเป็นห้องโถงอเนกประสงค์

ถัดจากนั้นก็เป็นห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ลานซักล้าง/ตากผ้า
ห้องครัวอาจจะอยู่ในบ้าน
หรือแยกต่างหากออกนอกบ้านเป็นครัวไทยตามแต่ความต้องการ
ที่สำคัญอีกเรื่องที่มักจะลืมกันก็คือ ห้องพระ หรือตำแหน่งหิ้งพระ
หรือที่ตั้งหิ้งไหว้บรรพบุรุษ และพระภูมิเจ้าที่สำหรับชาวจีน
หากเป็นบ้านหลายชั้นก็ต้องมีช่องบันได

ขนาดของห้อง บันได ความสูงฝ้า และปริมาณช่องเปิด
สามารถดูรายละเอียดได้ตาม
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544
//www.asa.or.th/download/03media/04law/cba/bb44-03.pdf
ดังที่ได้เคยแนะนำไปแล้ว

บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบบ้าน
เชิญได้ที่
แนวคิดเรื่องวิธีออกแบบบ้าน
โดย คุณเกชา ธีระโกเมน
//se-ed.net/winyou/article05/enghouse.htm
จากเว็บไซต์ของคุณวิญญู
//se-ed.net/winyou/

สำหรับเว็บไซต์ต่างประเทศเชิญได้ที่
The Affordable Housing Design Advisor
//www.designadvisor.org
แล้วพบกันใหม่ นะคะ




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2548 20:37:41 น.
Counter : 661 Pageviews.  

ตอนที่ 2 ออกแบบสถาปัตยกรรม (1)

การออกแบบบ้าน ประกอบด้วยงานหลายระบบ ได้แก่
1. การออกแบบสถาปัตยกรรม
2. การออกแบบโครงสร้าง
3. การออกแบบสุขาภิบาล
4. การออกแบบระบบไฟฟ้า
5. การออกแบบระบบปรับอากาศ
6. การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม
7. การออกแบบตกแต่งภายใน

หลังจากที่นู๋เองค่ะ ได้รับอิสระอย่างมากมายให้ออกแบบอะไรก็ได้ แบบไหนก็ได้
ปัญหาก็อยู่ที่งบประมาณซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด

ขั้นตอนแรก ก็คือดูหลังโฉนด ความกว้างยาวของที่ดิน
ทิศ ที่ตั้งของที่ดิน สภาพอาคารข้างเคียง
ประมาณจำนวนผู้พักอาศัย จำนวนและขนาดของห้องโดยประมาณ
คำนวณพื้นที่อาคารเบื้องต้น เทียบกับตารางประเมินราคาอาคารจาก
ราคาประเมินค่าก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2547
โดย
สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
//www.thaiappraisal.org/Thai/Value/Value1.1.htm

เพื่อให้ทราบว่า อาคารที่จะออกแบบรายละเอียดนั้น
ต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นเท่าใด เกินจากวงเงินที่มีอยู่หรือไม่

และทุกครั้งที่ นู๋เองค่ะ ออกแบบบ้านหรืออาคาร
นู๋เองค่ะ มักจะดูการจัดแบ่งพื้นที่ แผนผังที่สังเขปปลูกสร้างบ้านเรือนและรั้วบ้าน
จากหนังสือบ้านไทยภาคกลาง
โดย ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต
//www.homeandi.com/content/c538.html

พูดง่าย ๆ ก็คือคล้ายกับการดูฮวงจุ้ย เบื้องต้น นั่นเอง
(แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคล นะคะ)
หลังจากแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนเคร่า ๆ แล้ว
ก็ทำการออกแบบแปลนพื้นอาคาร
ประการแรกที่สำคัญก็คือ ระยะร่นของตัวอาคารจากถนน และอาคารข้างเคียง
รายละเอียดของระยะร่นอาคาร ดูได้จาก
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544

//www.asa.or.th/download/03media/04law/cba/bb44-03.pdf

ซึ่งสรุปสั้น ๆ สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปคือ หากบ้านมีหน้าต่าง ประตูหรือช่องเปิด
จะต้องมีระยะร่นห่างจากอาคารข้างเคียง 2.00 ม.
แต่หากไม่มีช่องเปิดก็สามารถก่อสร้างชิดเขตที่ดินได้
สำหรับด้านหน้าชิดถนน จะมีข้อกำหนดพิเศษออกไปอีก เช่น
ถนนด้านหน้าอาคารกว้างไม่ถึง 10 เมตร จะต้องร่นอาคารเข้าไป 6 เมตร เป็นต้น
และอื่น ๆ อีกมากมาย




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2548 20:27:38 น.
Counter : 722 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

นู๋เองค่ะ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add นู๋เองค่ะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.