All Blog
อ่าน สมัคร แจง เรื่องทุจริต ระดับเพลิง กทม
ตั้งแต่มีการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองล้มล้างรัฐบาลทำการรัฐประหาร และมีการตั้ง คตส. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อให้เกิดมรรคผล ตามที่คณะผู้ยึดอำนาจได้อ้างไว้ในเหตุผลข้อหนึ่งใน 4 ข้อว่าเพราะมีการบริหารที่ทำให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่นกันอย่างมากมายในรัฐบาลชุดที่แล้ว

คตส. ก็ไล่ตรวจไล่ยึด มีข้อหามากมายกับรัฐบาลชุดก่อน โดยที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาถึงแม้จะมีโอกาสเข้าไปชึ้แจงแต่ข่าวคราวที่ออกมาดูเหมือนว่า เรื่องทุกเรื่องที่ คตส. เข้าตรวจสอบนั้นผู้มีหน้าที่จะผิดทุกเรื่อง และผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีใครออกมาชี้แจงกับสาธารณชน

ความน่าเชื่อถือของ คตส. นั้น คงต้องยอมรับว่า มีผู้คนส่วนหนึ่งมองเห็นว่าไม่มีความเป็นกลาง เพราะเป็นผู้ที่ไม่ชอบใจต่อการบริหารของรัฐบาลชุดเก่า ถึงขนาดขึ้นเวทีและเขียนหนังสือด่าว่ารัฐบาลชุดเก่าอย่างรุนแรง แต่มาร่วมกันเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลชุดเก่า

นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้หนึ่งที่ถูก คตส. เข้าตรวจสอบ กรณีซื้อรถดับเพลิง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าซื้อราคาแพง สมัยเป็นผู้ว่า กทม. ซึ่งคาบเกี่ยวกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คตส. เรียกนายอภิรักษ์ เข้าไปสอบถามแต่ไม่เรียกนายสมัคร ผลสรุปว่า นายสมัครผิดนายอภิรักษ์ ไม่ผิดทั้งๆที่เป็นผู้เปิด L/C ทำให้ต้องมีการซื้อรถดับเพลิง ทั้งๆ ที่นายอภิรักษ์ จะไม่เปิด L/C ก็ได้

เรื่องนี้ นายสมัคร สุนทรเวช ได้เขียนอธิบายตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้


การจัดซื้อรถและเรื่อดับเพลิง กทม.

ความจริงที่มีหลักฐาน และความเห็นของคนที่ถูก คตส. กล่าวหา


เมื่อเกิดมีข่าวว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อดับเพลิง และเรือดับเพลิงของ กทม. ออกมาสู่สาธารณชน ก็เป็นเวลาที่มีการยึดอำนาจกันในบ้านเมืองแล้ว และมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่บอกว่ามีสิทธิในการใช้อำนาจแทนหน่วยงานทั้ง 3 คือ ป.ป.ช. ปปง. และดีเอสไอ โดยตั้งแต่หน่วยงานที่ว่า ขอรับเอาสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอไปพิจารณาแล้วก็มีการออกข่าวกล่าวหาแต่เพียงผู้เดียว จนเมื่อมีการออกประกาศกล่าวหาให้บุคคลทั้ง 5 คือ รมต.ว่าการหนึ่ง รมต.ช่วยว่าการหนึ่ง เลขาฯ รมช.หนึ่ง ผู้อำนวยการสำนักของ กทม.หนึ่ง และผม คือ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกหนึ่ง คนที่ถูกกล่าวหาอย่างผมก็ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงแสดงความคิดเห็นและเรื่องราวความเป็นมาให้ผู้คนในบ้านเมืองที่ได้รับฟังข่าวอยู่ด้านเดียว ได้ฟังความ (ที่ผมต้องยืนยันว่าเป็นความที่เป็นมาและเป็นไปจริงๆ) แต่อย่างใดเลย

ถึงวันนี้ ผมเห็นว่าเป็นเวลาพอสมควรที่ผมจะลำดับความเป็นมาเป็นไปให้ท่านที่ได้ฟังความที่มาจากทางซีกเดียวได้ฟังความจากผม ที่จะเขียนลำดับความเป็นมาให้อ่านกันเป็นข้อๆ เพื่อที่หากจะมีการหยิบยกเอามาโต้เถียงกันในวันข้างหน้าจะได้อ้างอิงเป็นข้อๆ ได้ และในตอนท้ายจะเป็นข้อสังเกตที่เป็นความเห็นของผม เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาดูว่า

"คนที่ตัดสินใจเดินหน้าไปจนไกลแล้วตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อ โดยไม่คิดถึงและไม่คิดรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้พิจารณามาก่อนหน้าแล้ว ที่ต้องเห็นว่าเป็นความถูกต้อง จึงตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อไป แต่ครั้นมาเจอเรื่องเจอประเด็นที่ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย แต่เพราะความที่ไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอจึงไปเลือกหนทางที่กลายเป็นการก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ ผู้ขาย จนกลายเป็นความเสียหายระดับชาติ และแน่นอนของบ้านเมืองที่ตัวเองมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารอยู่ด้วย"

เรื่องทั้งหมดมีความเป็นมาที่ผมจะลำดับไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

1.เมื่อก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 กิจการดับเพลิงทั่วทั้งประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) เป็นงานในหน้าที่ของหน่วยงานบริหารกิจการท้องถิ่น คือ เทศบาลทุกเทศบาลทั่วประเทศ

2.การจัดซื้อจัดหารถดับเพลิงที่ทำกันแบบเหมาโหลถูกกว่า ก็คือ ให้กระทรวงมหาดไทย โดยหน่วยงานหนึ่งที่เป็นผู้จัดซื้อจัดหาให้ ถ้าใครเคยผ่านหน้าลานพระบรมรูปจะได้เห็นรถดับเพลิงจอดเต็มลานเป็นร้อยๆ คัน เพื่อให้แต่ละเทศบาลมาขับของตัวไปเมื่อมีการแจกจ่ายภายหลังการจัดซื้อรวมกันทีละเยอะๆ แล้ว

3.ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา การดับเพลิงในกรุงเทพมหานครอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานตำรวจ ที่คนกรุงเทพฯ เรียกกันติดปากว่า ตำรวจดับเพลิง

4.เมื่อก่อนหน้า พ.ศ.2518 กรุงเทพฯ มีเขตเทศบาล ที่เรียกว่า เทศบาลนครกรุงเทพ มีพื้นที่รับผิดชอบเพียง 240 ตารางกิโลเมตร สถานีดับเพลิงส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาล แม้ภายหลัง พ.ศ.2518 ขยายเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1,568 ตารางกิโลเมตร แต่ก็ยังคงมีสถานีดับเพลิงอยู่เพียง 30 กว่าสถานี โดยตำรวจก็ยังทำหน้าที่เป็นฝ่ายดับเพลิงอยู่เหมือนเดิม จน พ.ศ.2526 ตำรวจให้จุฬาฯ ทำสำรวจว่า กทม. ควรจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างไร การสำรวจออกมาว่า กทม. ควรมีสถานีดับเพลิงเพิ่มขึ้น เป็น 70 สถานี

5.รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 กำหนดให้ท้องถิ่นต้องทำอะไรเองหลายอย่าง พ.ศ.2542 มีกฎหมายออก กำหนดให้งานดับเพลิงต้องให้ท้องถิ่นทำ กฎหมายออกแล้วบางอย่างดำเนินการไม่ได้ เช่น การศึกษา หรือเรื่องดับเพลิงก็ยังเดินหน้าตามกฎหมายไม่ได้ เพราะตำรวจ 1,400 อัตราที่ทำหน้าที่อยู่ไม่ต้องการโอนมาสังกัด กทม.

6.พ.ศ.2546 ครม. โดยรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อเวลาผ่านมายังจัดการโอนไม่ได้ จึงขอให้ ครม. มีมติให้ใครที่ตกลงใจจะโอนให้โอนไป ใครที่ไม่ตกลงต้องอยู่ช่วยงาน กทม. (ในการดับเพลิง) ต่อไปเป็นเวลา 2 ปี ให้โอนกลับตำรวจได้ภายใน 2 ปี กทม. ต้องหาคนมาทำหน้าที่ให้ครบ มตินี้ออกมา มีคนยอมโอน 164 คน (รวมทั้งท่านผู้การฯ อธิลักษณ์ ด้วย)

7.ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อปี พ.ศ.2535 กองบัญชาการทหารสูงสุด ซื้ออาวุธและรถยนต์ชนิดต่างๆ ที่ใช้ทางการทหาร จากบริษัท สไตเออร์ ประเทศออสเตรีย โดยระบบวิธีผ่อนชำระมีการเซ็น AOU และสัญญาซื้อขายในเวลาต่อๆ มารวม 4 ครั้ง

8.เมื่อ พ.ศ.2538 รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการซื้อรถดับเพลิงยี่ห้อ สไตเออร์ (อย่างเดียวกันกับที่ซื้อขายอยู่ขณะนี้) เป็นล็อตใหญ่ในวงเงิน 2,300 ล้านบาท โดยรถที่ซื้อเมื่อ 12 ปีก่อนก็ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อมีการซื้อรถดับเพลิงเพิ่มเติมทางกรมตำรวจก็ซื้อได้ยี่ห้อนี้และใช้กันต่อๆ มา

9.เดือนมีนาคม พ.ศ.2546 ทูตออสเตรียติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเสนอขายรถดับเพลิงล็อตใหญ่แบบจีทูจี โดยมีข้อเสนอแบบให้ความอนุเคราะห์ ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนชำระนานหลายปี และมีข้อแม้ในการซื้อสินค้าเกษตรตอบแทนในอัตราราคาเท่าๆ กัน กระทรวงต่างประเทศแจ้ง ครม. แล้วแนะให้ทูตว่าต้องเสนอโครงการนี้ผ่านทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์

ทูตออสเตรียขอนัดพบท่าน มท.1 (รมต.วันนอร์) แต่ยังไม่ทันได้พบ รมต.วันนอร์ ให้รับการปรับไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี (สั่งราชการกระทรวงมหาดไทย) และให้ ดร.โภคิน พลกุล มาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย

การขอเข้าพบของทูต รมว.มท. (โภคิน พลกุล) ให้ทูตพบ รมช.ประชา มาลีนนท์ ผู้ทำหน้าที่ดูงาน กทม. (เพราะผู้ขายต้องการเสนอขายให้ กทม. ใช้)

10.ในการนัดทูตพบ มหาดไทยแจ้งทาง กทม. ให้ส่งผู้แทนไปร่วมฟังการประชุม โดย กทม. ส่ง ผอ.เกรียงพล พัฒนรัฐ ไปเป็นผู้แทนในการเข้าพบ ทูตเสนอขายรถดับเพลิงทั้งแพ็กเกจมูลค่า 150 ล้านยูโร (เท่ากับเงินไทย 8,000 ล้านบาท) ที่รวมทั้ง

รถดับเพลิง

เรือดับเพลิง

เครื่องอะไหล่

โรงเรียนฝึกอบรมเพื่อการฝึกอบรมพนักงานและผู้อื่น

โดยมีข้อแม้ในการ เสนอ คือ

ออสเตรียจะซื้อสินค้าทางการเกษตรของไทยในมูลค่าเท่าเทียมกัน 100%

เป็นการขายแบบผ่อนชำระในเวลา 6 ปี

มีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี

เมื่อเสร็จการประชุมแล้ว มหาดไทยมีหนังสือแจ้งเรื่องนี้ให้ทาง กทม. ทราบ รวมทั้งเรื่องที่ออสเตรียจะนำดนตรีมาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทาง กทม. ให้ความอนุเคราะห์เรื่องการจัดการแสดงดนตรีด้วย

11.เมื่อได้รับหนังสือบอกความแล้ว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ผู้ว่าราชการ กทม. คือ นายสมัคร สุนทรเวช แทงหนังสือบอกทาง มท. ไปว่า

ยินดีรับข้อเสนอที่ทางมหาดไทยแจ้งมา

แต่การดำเนินการดังกล่าวยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่ได้โอนและยังไม่ได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อการนี้

และยินดีให้ความอนุเคราะห์เรื่องการจัดดนตรี ถ้าจะมาแสดงเมื่อไร

12.ผู้การฯ อธิลักษณ์โอนมา กทม. และมาจัดตั้งหน่วยงานบรรเทาและป้องกันฯ เสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2546

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ผู้การฯ อธิลักษณ์ เสนอโครงการปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลการดับเพลิง โดยเสนอโครงการที่เป็นข้อเสนอของบริษัทที่ท่านทูตนำไปเสนอขายแบบจีทูจีที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2546 โดยเสนอเป็นรูปโครงการที่มีรายละเอียด รวมเป็นเงินเกือบ 8 พันล้านบาท มาขอรับความเห็นชอบ เพื่อจะได้ส่งไปขอรับความอนุเคราะห์โครงการนี้ในอัตรา กทม. ออก 30% รัฐบาลออกให้ 70%

เมื่อได้รับข้อเสนอจากหน่วยงาน ผ่านขึ้นมาตามขั้นตอน คือ จากผู้อำนวยการกองการป้องกันฯ ถึงรองปลัด กทม. รองปลัดเสนอปลัด ปลัดเสนอผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็เห็นชอบตามที่เสนอขึ้นมา

13.ตามขบวนการ เรื่องนี้จะต้องส่งไปขอรับความเห็นชอบจากมหาดไทยเพื่อพิจารณาส่งไปขอรับความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งเมื่อถึง ครม. แล้วก็จะส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการพิจารณาเรื่องก่อนส่งเข้า ครม. โดยมีรองนายกฯ คนหนึ่งเป็นประธาน ในกรณีนี้ผู้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาก็คือ ท่านรองนายกฯ วันนอร์ ซึ่งท่านรองนายกฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่กรองงานส่งเรื่องคือโครงการที่ขอไปนี้ ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบ เช่น

1.สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ

2.กระทรวงการคลัง

3.สำนักงบประมาณ

4.กระทรวงพาณิชย์

5.กองบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภายในของสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้ทุกหน่วยงานให้ความเห็นชอบ

โดยในการพิจารณาก็จะมีผู้แทนของทุกหน่วยงานที่ถูกถามความเห็นไปเข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ครม. ที่เป็นเจ้าของเรื่อง

ประชุมกันได้ผล มีมติเป็นอย่างไรจึงจะนำเสนอ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นครั้งสุดท้าย

14.วันที่ 22 มิถุนายน 2547 ครม. มีมติให้ความเห็นชอบโดย

1.เห็นด้วยกับข้อเสนอของมหาดไทยที่ให้ตัดโครงการที่จะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและโรงเรียนการดับเพลิง มูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาท ออกให้เหลือเพียงสิ่งที่จะจัดซื้อ 15 รายการ 133 ล้านยูโร เป็นเงินไทยประมาณ 6,770 ล้านบาท เพราะมหาดไทยมีศูนย์ฝึกทั้งเล็กทั้งใหญ่อยู่แล้ว ให้ กทม. ไปใช้ฝึกร่วมกันได้

2.เห็นด้วยกับข้อเสนอของมหาดไทยที่ให้อนุเคราะห์ 40:60 นอกจากนั้นให้ดำเนินการตามที่ตั้งโครงการขอรับความเห็นชอบมา

15.มหาดไทยแจ้งผลการอนุมัติโครงการของ ครม. ให้ กทม. ทราบ กทม. มีหนังสือบอกมหาดไทยว่า

เมื่อโครงการเป็นแบบการเสนอขายรัฐต่อรัฐ โดยมีข้อแม้เป็นการให้ความอนุเคราะห์ในหลายประการหลายประเด็น และเป็นการที่จะซื้อสินค้าต่างตอบแทนในมูลค่า 100% เท่ากัน จึงไม่อาจจัดซื้อจัดจ้างแบบการเข้าประมูลทั่วไปได้ ต้องดำเนินการโดยวิธีพิเศษ โดยให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการโดยวิธีพิเศษได้ โดยมีการเสนอตั้งคณะกรรมการ 3 ชุดขึ้นมาทำหน้าที่ ตั้งแต่เรื่องข้อมูลจำเพาะ เรื่องการจัดซื้อจัดหา และให้กรรมการชุดจัดซื้อจัดหาเป็นกรรมการในการตรวจสอบคุณสมบัติในการตรวจรับของด้วย

16.ก่อนดำเนินการต่อไป ผู้ว่าฯ กทม. ได้ส่งเรื่องที่ได้ดำเนินการทั้งหมดตามข้อ 15 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจทบทวนอีกครั้งหนึ่งก่อน

เมื่อได้ตรวจสอบอีกครั้งตามที่ กทม. เสนอแล้ว จึงได้เริ่มดำเนินการต่อไป

17.วันที่ 30 กรกฎาคม 2547 มีการนัดหมายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและท่านเอกอัครราชทูตออสเตรียลงนามใน AOU อันเป็นกรอบข้อตกลงในการที่จะมีการดำเนินการซื้อขาย และให้ความอนุเคราะห์ และการที่จะมีการซื้อสินค้าเกษตรต่างตอบแทนกัน ในมูลค่า 100% ทั้งสองฝ่าย โดยมีผู้ว่าฯ กทม. ไปร่วมในพิธีลงนามวันนั้นด้วย

18.เมื่อมีการลงนามใน AOU กันแล้ว ก็มีการกำหนดเวลากันว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายในตอนปลายเดือน ผู้ว่าฯ กทม. (นายสมัคร สุนทรเวช) ซึ่งทำหน้าที่ผู้ว่าฯ เนื่องจากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง ให้มีหนังสือถามสำนักงานกฤษฎีกาว่า ถ้าจะมีการลงนามจะเป็นผู้ลงนามได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าปัจจุบันนั้นไม่มีการรักษาการ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ ไปจนกว่าคนใหม่จะเข้ามารับหน้าที่

19.มีการกำหนดวันเวลาลงนามกันในวันที่ 27 สิงหาคม 2547 (ที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าวันนั้นได้มีการออกหนังสือที่ลงนามโดยปลัด กทม. ไปขอถอนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ กทม. ได้ส่งไปให้อัยการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นฉบับเดียว สำนวนเดียวกันกับที่ทางราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดทำกับบริษัท สไตเออร์ ผู้ขายมาแล้ว 4 ครั้ง ถ้าหากเป็นสัญญาอย่างเดียวกัน แบบเดียวกัน ก็ใช้ได้ โดยไม่ต้องให้อัยการตรวจสอบอีก ซึ่งอัยการก็คืนให้ในวันต่อมา แต่การที่ทาง กทม. ยื่นขอคืนไปในวันที่ 27 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการลงนามในสัญญา ก็เพื่อให้มีการลงนามได้ โดยไม่ต้องไปเลื่อนหรือนัดหมายกันใหม่อีก)

20.สาระสำคัญที่มีการลงนามในวันที่ 27 สิงหาคม 2547 มีอยู่ว่า

ให้มีการเปิด L/C (แบบเพิกถอนไม่ได้) ที่ทางฝ่ายผู้ขายได้ยืนยันรับทราบการเปิด L/C แล้วภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา

และในสัญญาซื้อขายข้อ 9.1 (ที่เป็นเสมือนเงื่อนไขบังคับก่อน) กำหนดเอาไว้ว่า เมื่อมีการทำ L/C (แบบเพิกถอนไม่ได้) โดยที่ทางฝ่ายผู้ขายให้ยืนยันรับทราบการเปิด L/C มาแล้ว สัญญาดังกล่าวนี้ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ

21.เมื่อได้ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 แล้วผู้ว่าฯ กทม. (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองป้องกันฯ กทม. ไปยื่นขอเปิด L/C กับธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547)

22.วันที่ 6 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดย นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการคนก่อนพ้นจากหน้าที่ในวันนั้น

23.ก่อนวันที่ 26 กันยายน 2547 ผู้อำนวยการสำนักป้องกันฯ กทม. แจ้งให้ผู้ว่าฯ (อภิรักษ์) ทราบว่าวันที่ 26 กันยายน จะครบ 30 วันตามข้อแม้ในสัญญาที่จะต้องเปิด L/C

แต่นายอภิรักษ์ มีหนังสือแจ้งขอเลื่อนการเปิด L/C ออกไปก่อนและต่อจากนั้นก็มีหนังสือแจ้งธนาคารกรุงไทย ขอยกเลิกการเปิด L/C ที่ผู้ว่าฯ คนเก่าได้ให้ดำเนินการไว้ โดยที่มีการขอระงับการเปิด และในขณะนั้นทางผู้ขายก็ยังมิได้มีการ Confirm L/C กลับมาแต่อย่างใด

24.วันที่ 24 ตุลาคม 2547 รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์มีหนังสือ (หัวกระดาษพรรคประชาธิปัตย์) แจ้งให้ผู้ว่าฯ กทม. (ที่มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค) ดำเนินการยกเลิกการเปิด L/C และให้ยกเลิกโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง โครงการที่ว่านี้เสีย เพราะเป็นโครงการที่มีราคาแพงกว่าข้อเสนออย่างเดียวกันโดยบริษัทจากประเทศสเปน เป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะก่อนหน้านั้น คือวันที่ 1 ตุลาคม 2547 กทม. โดยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ได้มีหนังสือขอให้ทางธนาคารกรุงไทยเปิด L/C ไปใหม่แล้ว

25.ไม่มีข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ได้ตอบหนังสือจากรองโฆษกพรรคไปว่าอย่างไร แต่ได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการที่มีรองผู้ว่าฯ (นายสามารถ ราชพลสิทธิ์) เป็นประธาน ได้มีการประชุมคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดหารถและเรือดับเพลิง โดยได้มีการประชุมกัน 7 ครั้ง และครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 มกราคม 2547 คณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินโครงการจัดซื้อจัดหารถและเรือดับเพลิงที่ว่านี้ต่อไป โดยได้มีการลงนามกันในวันที่ 10 มกราคม 2547 และมีข้อบกพร่อง จึงมีการลงนามเพื่อให้ไปเปิด L/C ในวันที่ 20 มกราคม 2547

26.จากนั้นก็มีการดำเนินการติดต่อเจรจาความในการตรวจสอบการยืนยันการต่อรองกันในประการต่างๆ รวมถึงการส่งคณะกรรมการไปตรวจรถต้นแบบ ตรวจตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2549 ทางบริษัทผู้ขายจึงได้จัดส่งสินค้าครึ่งหนึ่งของที่สั่งซื้อมาตามข้อตกลง โดยทาง กทม. เมื่อได้ทราบว่า

ถ้าหากการซื้อขายนี้เป็นระหว่างทหารและหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ซื้อ ไม่ต้องจ่ายค่าภาษี เพราะถือว่าเป็นยุทธปัจจัย

แต่ถ้าเป็น กทม. เป็นผู้ชำระเงิน จะจัดจ่ายเงินค่าภาษีรวมทั้ง 2 ภาคเป็นเงินพันล้านบาทเศษๆ ซึ่งเมื่อได้ความแล้ว กทม. ก็ทำหนังสือถึงรัฐบาลขณะนั้น เพื่อให้ได้มีการยกเว้นภาษี เช่นเดียวกับตำรวจทหารซื้อ หรือถ้าไม่ได้ก็ต้องขอให้รัฐบาลช่วยจัดการออกค่าภาษีให้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้เท่าที่ทราบรัฐบาลยินดีจ่ายภาษีให้ เพราะการที่ต้องเสียภาษีเพื่อการนี้ ก็เป็นเหมือนอัฐยายซื้อขนมยาย เพราะเป็นภาษีที่รัฐออกให้ก็จะกลับไปหารัฐเหมือนเดิม

27.แต่เรื่องนี้เกิดกลายเป็นเรื่องขึ้นมา ก็เพราะเป็นเรื่องที่คนในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านที่ต่อสู้กันทางการเมืองแบบไม่ลืมหูลืมตา เห็นว่าฝั่งหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับของตอนที่ของมา ซึ่งจะได้ใช้งานอยู่แล้ว เมื่อทราบว่าจะต้องมีการจ่ายภาษี ก็หยิบยกเอาราคาที่รวมกับภาษีมาตั้งเป็นข้อกล่าวหากันว่า ฝ่ายที่กำลังทำหน้าที่อยู่เป็นผู้ที่จัดซื้อจัดหาด้วยราคาที่แพงกว่าที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ให้อีกถึง 1 พันล้านบาท (คือค่าภาษี)

ฝ่ายที่กำลังทำหน้าที่และถูกตำหนิ ก็โดดออกมากล่าวหาทางฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้ริเริ่มดำเนินโครงการว่า เป็นโครงการที่มีการทุจริตกันอย่างใหญ่โตมโหฬาร กลายเป็นข่าวเอิกเกริกใหญ่โต ถึงขนาดที่ต้องมีหน่วยงานคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้ามาดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง

28.ในการที่มีการว่ากล่าวกันจนมีการดำเนินคดีนี้ เลยกลายเป็นเรื่องที่สินค้าที่สั่งมาเพื่อได้ใช้ทันตามกำหนดระยะเวลา ก็มีการปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้ากันเป็นเวลานานกว่าเดือน

ในการนี้ทางบริษัทผู้ขายก็จัดเดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้ว มีการออกหนังสือต่อว่าต่อขานคนเป็นผู้ว่าฯ คนปัจจุบันว่า

"ถ้าหากคุณไม่เป็นผู้สั่งการให้มีการเปิด L/C เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 ตอนนั้นสัญญาซื้อขายก็จะไม่เกิด และจะยังไม่มีใครที่จะเป็นผู้เสียหายเพราะเรื่องนี้แต่อย่างใดเลย"

แต่เรื่องนี้คนที่เป็นคนถูกฝรั่งคู่ค้าขายว่ากล่าวเอาอย่างนั้น มิได้แสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา โดยถือเสมือนว่า เมื่อมีการว่ากล่าวอะไรเป็นอย่างที่ว่า ก็แสดงท่าทีของตัวออกมาว่าไม่ต้องการรับสินค้าที่ส่งมาครึ่งแรก

29.เรื่องเลยมาอีกหน่อยเดียวก็เกิดมีการยึดอำนาจในประเทศเรา และมีการต้องการตรวจสอบโครงการที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยมีการตั้งหน่วยงานชื่อย่อว่า คตส. ขึ้นมา แล้วก็มีคำสั่งขอให้ดีเอสไอนำเอาสำนวนการสอบสวนในกรณีที่เกี่ยวข้องกันอยู่ไปให้ คตส. พิจารณา

30.มีข้อที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับกรณีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ที่มีการถูกฝ่ายกล่าวหาว่ามีการทุจริต จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการมากมายหลายคณะขึ้นมาตรวจสอบ แบบฟังความข้างเดียวกันตลอด 10 เดือนนี้

ในตอนที่ คตส. ขอสำนวนการสอบสวนเรื่องทุจริตซื้อรถดับเพลิงไปทางดีเอสไอนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของดีเอสไอได้ส่งสำนวนการสอบสวนการทุจริตเรื่องรถดับเพลิงมา 2 สำนวน

สำนวนหนึ่งคือ ที่ กทม. เป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อมูลค่า 6,770 ล้านบาท กับอีกสำนวนหนึ่งคือ ที่หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดซื้อ มูลค่า 2,600 ล้านบาท ที่เกิดปัญหาว่า ปั๊มน้ำที่ในสเป็กต์รับรองว่าเป็นของที่ผลิตจากประเทศเยอรมนีนั้น ใช้งานแล้วแตกเสียหาย มีการตรวจสอบแล้วปรากฏว่าเป็นปั๊มน้ำที่หล่อที่แถวบางบอนนี่เอง

ทางดีเอสไอส่งให้ คตส. ทั้ง 2 สำนวน

แต่ทาง คตส. บอกว่า เอารายของ กทม. เพียงสำนวนเดียว อีกสำนวนหนึ่งมูลค่า 2,600 ล้านบาทนั้นให้ดีเอสไอส่งไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการดำเนินการอะไรแต่อย่างใด

เหมือนกับสำนวนการสอบสวนคดีฮั้วประมูลงาน กทม. มูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่ทางดีเอสไอดำเนินการสอบสวนแล้ว มีคนถูกออกจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ป.ป.ช. ทั้งที่มีมูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่เป็นเรื่องที่มีการกล่าวหาคณะผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบันนี้

31.จนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 ที่เป็นวันครบกำหนดที่ทางรัฐบาลและ กทม. จะต้องจ่ายเงินค่าผ่อนชำระงวดแรก หลังจากที่พ้นเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ตามข้อตกลง

ปรากฏว่า รมว.มหาดไทย ได้นำเรื่องนี้เข้าขอรับการพิจารณาจากรัฐบาลชุดคณะปฏิรูปฯ นี้ และทาง ครม. ก็อนุมัติการจ่ายเป็นค่าผ่อนชำระงวดแรก เพื่อเป็นการสมทบกับการที่ กทม. จะต้องจ่ายส่วนของ กทม. 40%

32.ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2550 ทางผู้ขายได้ส่งสินค้าที่ตกลงกันไว้อีกครึ่งหนึ่งมาให้ทาง กทม. ผู้ซื้อ แต่ผู้ว่าราชการคนปัจจุบันก็ยังปฏิเสธไม่ยอมตรวจรับสินค้าทั้งหมดที่ได้ตกลงกันไว้

33.เรื่องนี้ในเวลาต่อมาปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2550 ได้มีการแถลงข่าวที่เป็นมติของคณะอนุกรรมการที่ดำเนินการตรวจสอบคดีนี้ โดย นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. และนายประเสริฐ บุญศรี ประธานอนุกรรมการ ได้แถลงว่า จากการสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการ มีบุคคล 5 คนถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้กระทำความผิดในกรณีจัดซื้อรถดับเพลิงมูลค่า 6,770 ล้านบาทนี้ (โดยที่ผมเองที่เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทั้งที่ไม่เคยได้รับเชิญไปให้ปากคำกับคณะอนุกรรมการที่มีการตั้งขึ้นเพื่อการนี้แต่อย่างใด) มี

1.นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย

2.นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย

3.นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย

4.นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

5.พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.

34.เมื่อมีข่าวกล่าวหากระผมดังเช่นที่ว่าในข้อ 33 ที่ปรากฏต่อสื่อสารมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และ โทรทัศน์ สิ่งที่บุคคลที่ คตส. ได้เอ่ยกล่าวหาผมต่อสาธารณชนดังกล่าวแล้ว ผมจึงได้

(1) แจ้งความดำเนินคดีกับ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. และนายประเสริฐ บุญศรี ประธานอนุกรรมการ คตส. ต่อเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังหิน กทม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 โดยอ้างกฎหมายอาญามาตรา 82,83,84,86 และ 157

(2) นำความไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อบุคคลทั้งสองในข้อ (1) ต่อศาลแพ่ง (รัชดา) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 เรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นเงิน 150 ล้านบาท และค่าเสียหายต่อการดำเนินอาชีพที่พึงได้อีกปีละ 3 ล้านบาท รวมเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงินอีก 15 ล้านบาท

ซึ่งในกรณีข้อ (1) พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความและได้นำกรณีนี้เสนอต่อ ป.ป.ช. ในวันที่ 28 ตุลาคม 2550

35.หลังจากที่ผมได้แจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสองต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลวังหิน กทม. แล้ว

นายนาม ยิ้มแย้ม และนายประเสริฐ บุญศรี ได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังหิน กล่าวหากระผมแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีกับผม

* * * * * * * * * * * * * * *

เรื่องทั้งหมดที่ผมได้ลำดับความให้ได้อ่านกันมาตั้งแต่ต้นโดยเขียนเป็นข้อๆ ให้อ่านเข้าใจง่ายๆ 35 ข้อ ดังกล่าวมานี้ ผมมีข้อสังเกตที่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมดังนี้คือ

1.คตส. กล่าวหาผมด้วยข้อหารุนแรงโดยไม่เคยเรียกผมไปสอบถาม หรือฟังข้อเท็จจริงจากทางฝ่ายผมแม้แต่สักครั้งเดียว

2.คตส. โดยอนุกรรมการเห็นว่า AOU นั้น เป็นข้อตกลงสำคัญ ลงนามแล้วไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ (ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นกรอบข้อเสนอกว้างๆ ว่าจะดำเนินการกันอย่างไรในการเสนอขายสินค้า แบบให้ความอนุเคราะห์เป็นแบบรัฐต่อรัฐ และจะมีการซื้อสินค้าเกษตรแบบต่างตอบแทน 100%)

จึงวินิจฉัยว่า ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ไม่มีทางเลือก ต้องปฏิบัติ คือทำไปตามที่ให้มีข้อตกลงกันไว้ เพราะถ้าไม่ทำจะต้องถูก รมว.มหาดไทย ปลดออกจากตำแหน่ง

ที่แปลกก็คือ ทำไมผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ได้รับความเห็นเพื่อจะได้อนุเคราะห์ไม่ต้องเอาผิด แต่ผู้ว่าฯ สมัคร ซึ่งอยู่ในสถานะเดียวกันจึงไม่ได้รับการอนุเคราะห์ให้ไม่ต้องรับผิด

3.ทำไมเรื่องนี้ตรวจสอบอะไรกันได้ ทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบราคาสินค้าว่า

ซื้อสินค้าอะไร?

สินค้าที่ว่าแพงนี้มันแพงจริงหรือไม่?

ทำไมไม่เริ่มต้นด้วยการลากเอาคนที่ขายให้มาแสดงข้อเท็จจริงให้ดูว่า ไอ้สินค้ารถดับเพลิง เรือดับเพลิง ที่ซื้อกันนี้

มันมีคุณภาพเหมือนกับที่กระทรวงมหาดไทยซื้ออยู่หรือไม่?

คนเป็นกรรมการเคยคิดบ้างไหมว่าไอ้ โตโยต้า แคมรี 2,400 ซีซี มันก็รถ (ราคาแค่ล้านกว่าๆ ) มันก็รถยนต์

แต่ไอ้ เมอเซเดส แรงม้าใกล้เคียงกัน มันก็รถ แต่ทำไมมันถึงคันละ 4-5 ล้านบาท

ไอ้ บีเอ็มดับบลิว แรงม้าใกล้เคียงกัน มันก็รถ แต่ทำไมมันถึงราคา 5-6 ล้านบาท

ไอ้ นาฬิกาข้อมือ ไซโก้ หน้าตาสวยงาม เรือนละหมื่นกว่าบาท
นาฬิกาซิติเซ่น หน้าตาสวยงาม เรือนละหมื่นกว่าบาท

แต่ไอ้ นาฬิกาโรเล็กซ์ หน้าตาพอใช้ได้ ราคามันเรือนละหลายแสนบาท

คนซื้อไซโก้ ซื้อซิติเซ่น มาใส่กันก็มี

แต่คนที่เขาอยากใช้ของดี เขาก็ซื้อโรเล็กซ์มาผูกกัน ราคาแพงกว่า 10 เท่า 20 เท่าตัว ก็เห็นใส่กันเกร่อ

ไอ้รถดับเพลิงที่มหาดไทยซื้อให้เทศบาลทั่วประเทศใช้กันอยู่ ราคาคันละล้านสองล้านบาท ใช้ได้ไม่นานก็มีความบกพร่องเสียหายจนเป็นคดีความ อย่างล่าสุด 2,600 ล้าน ที่ไม่ทราบว่าคนของพรรคการเมืองพรรคไหนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดหา จัดขาย ทำไมอยู่ได้ แต่รถดับเพลิงยี่ห้อที่กำลังจะเอาให้ตายกันอยู่นี่ ในกรุงเทพฯ ทุกสถานีดับเพลิงก็มีใช้กันอยู่ ใช้กันมา 10 กว่าปีแล้ว ทำไมรถดับเพลิงราคาถูกขายให้มหาดไทยซื้อไปให้เทศบาลทั่วประเทศได้

ทำไมรถที่ว่ามันถึงขายให้กรมตำรวจที่ดับเพลิงกรุงเทพฯ มานานแสนนานไม่ได้

และทำไมไอ้ยี่ห้อที่เขาซื้อเขาใช้กันมาจนทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ คนเป็นกรรมการสอบสวนกรณีนี้ไม่เคยนึกเคยคิดกันบ้างเลยหรือว่า

ทำไมคนพวกหนึ่งเขาใช้นาฬิกาข้อมือ ไซโก้ ซิติเซ่น แต่คนพอมีพอหาได้ในกรุงเขาซื้อโรเล็กซ์ราคาแพงกว่า 10 เท่าเอามาผูกใช้กัน

4.ท่านผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ตั้งกรรมการสอบสวนโครงการนี้อยู่ 3 เดือน แล้วกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ตกลงเดินหน้าโครงการต่อไปโดยไม่เคยพูดเคยปริปากถึงความแพง ความเลว ความปลอม การย้อมแมวอะไรกันสักแอะ

นี่ถ้าหากไม่บ้าการเมือง ไม่กล่าวหาแบบหลับหูหลับตา และถ้าหากคนที่เห็นอยู่แล้วว่า มันดี มันถูกต้อง จึงได้ดำเนินการต่อ จะรู้จักต่อสู้ความไม่ชอบมาพากลในการกล่าวหาว่ากล่าวกัน โดยยืนยันว่าที่ทำมานั้นถูกต้องแล้ว เพราะผมและคณะตรวจแล้ว

แล้วก็ให้มีการตรวจกันจริงๆ

เรื่องมันจะบ้าบอคอแตกกันถึงขนาดนี้หรือ?

ถามหน่อยเถอะครับ ถ้าไอ้เมอเซเดส ไอ้บีเอ็ม ไอ้โรเล็กซ์ มันเป็นของเลวนั้น ทำไมจึงยังโง่ซื้อของแพง (เพราะเห็นว่ามันดี) เอามาใช้กันอยู่ได้?

----------------------


ที่มา นิตยสารประชาทรรศน์ ฉบับที่ 27 วันที่ 6-12 สิงหาคม 2550

//www.hi-thaksin.net/contentdetail.php?ParamID=72284

อ่านแล้วก็พิจารณากันด้วยวิจารณญาณของตนเองก็แล้วกัน เพราะนี่เป็นเพียงข้อมูลอีกด้านที่นายสมัคร สุนทรเวช คนที่ถูกกล่าวหาออกมาชี้แจงให้สาธารณชนได้รับรู้เท่านั้น



Create Date : 07 สิงหาคม 2550
Last Update : 7 สิงหาคม 2550 17:52:02 น.
Counter : 772 Pageviews.

2 comments
  
ที่ไหนบ้างไม่มีการทุจริต

เพิ่งเจอเรื่องนี้มากับตัว

ทุกคนเขาเอาหมด มีจขบ.คนเดียวที่ไม่ทำ แต่ว่าเรากับถูกมองว่าเป็นแกะดำ ทำไมไม่เอา เรายึดถือคำว่า "เงินซื้อความดีไม่ได้ ความดีต้องทำเท่านั้นถึงจะได้มา "

แต่เรารู้สึกไม่ดีที่ทุกคนเขาไม่อยากจะพูดกับเรา เพราะเราเป็นคนแบบนี้ไง
โดย: maxpal วันที่: 7 สิงหาคม 2550 เวลา:18:31:56 น.
  
อยากรู้จัง ทำไมต้องรีบเซ็นต์อนุมัติโครงการ เพื่อสร้างพันธะผูกพัน ตอนนั้นอภิรักษ์กำลังจะทำพิธีเข้ารับตำแหน่งอยู่แล้วนี่ โครงการนี้ไม่ใช่สองสามล้านบาท ตัวเองก็จะหมดวาระแล้ว จะรีบเซ็นต์ไปทำไมละจ๊ะ

แค่คำว่า "มารยาทการทำงาน" ก็ดูเหมือนจะไม่เข้าใจแล้ว
โดย: ริมยมนา วันที่: 7 สิงหาคม 2550 เวลา:19:42:20 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

50youngnum
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



  •  Bloggang.com