ดูจิตด้วยฌานในสัมมาสมาธิ ไม่ติดในฌานสมาบัติ ๘
เมื่อพูดถึงฌาน มักเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขว้าง เนื่องจากในตำรา(ปิฎก) กล่าวไว้ปะปนกัน ระหว่างฌานในอริยมรรค กับฌานนอกอริยมรรค ในหลายแห่ง จนกระทั่งแยกออกให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้นั้น ยากอย่างยิ่ง

เราต้องอาศัยหลักการที่มีมาในพระพุทธพจน์นั่นเอง เป็นตัวเทียบเคียงให้เห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้ไม่สับสน แต่อาจจะไม่ถูกใจ ถูกคอ นักปริยัติที่เกาะตำราและตัวหนังสือเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยไม่เอาหลักเหตุผลที่มีมาในพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวไว้ดีแล้วสำหรับเทียบเคียง อาทิเรื่อง สัมมาสติเป็นไฉน? สัมมาสมาธิเป็นไฉน? ในมหาสติปัฏฐาน ๔

ต้องเริ่มจากการที่พระพุทธองค์ทรงออกผนวชเป็นภิกษุในครั้งกระนั้น โดยมีท่านพระอาจารย์ปัญจวัคคีย์คอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลอยู่ พระองค์ได้ทรงออกหาโมกขธรรมตามสำนักอาจารย์ต่างๆเช่นกัน

ในสมัยนั้นมีฌานในศาสนาพราหมณ์อยู่ก่อน ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขว้าง และเข้าใจผิดๆไปกันเองว่า นั้นคือสภาวะของพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันสูงสุด

เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงออกแสวงหาอยู่นั้น ก็ได้เข้าศึกษากับท่านอาจารย์ทั้งสอง คือท่านอาจารย์อุทกดาบส และท่านอาจารย์อาฬารดาบส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้น ว่าเป็นผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรมและความชำนาญ ในอรูปฌาน ๗-๘ ซึ่งจัดว่าเป็นฌานชั้นสูงในสมัยนั้น(อรูปพรหม)

ขณะทรงศึกษาอยู่นั้น ด้วยปัญญาบารมีที่พระพุทธองค์ทรงได้สั่งสมมาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน หลายอสงขัยกัปป์ พระองค์จึงเป็นผู้ที่มีทัศนะที่แหลมคม และมีโยนิโสนมสิการที่ละเอียดอย่างยิ่ง ว่าสิ่งที่ทรงศึกษานั้นไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์


ตรงนี้ขอให้ทุกท่านที่อ่านโปรดพิจารณาด้วยจิตใจที่เป็นธรรมว่า ขนาดพระมหาบุรุษรัตน์ของพวกเราชาวพุทธ เป็นผู้มีปัญญาอันเลิศได้ ยังต้องสร้าง ยังต้องสั่งสมปัญญาบารมี มาอย่างมากมายยาวนานนับไม่ถ้วน

ถ้ายังจะมีใครที่ชอบอ้างว่ามีปัญญาบารมีมามาก ยิ่งกว่าพระพุทธองค์ โดยเฉพาะการได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว ก็บรรลุธรรมอันยิ่งได้ โดยไม่เคยผ่านการสร้าง สั่งสม สติ สมาธิ ปัญญาบารมีมาแต่เก่าก่อนเลยนั้น ... เป็นไปได้ล่ะหรือ ?... ย่อมไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย


ในครั้งกระนั้น ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ได้เคยปรารภถึงท่านอาจารย์ทั้งสอง ว่าเป็นบุคคลจำพวกแรกที่ควรแก่การสั่งสอนอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ที่มีบารมีสั่งสมมาแต่เก่าก่อนแล้ว เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบางอย่างยิ่ง เพียงแค่ฟังธรรมจากพระองค์ก็จะบรรลุได้โดยง่าย ทรงอุทานว่า น่าเสียดายที่ท่านอาจารย์ทั้งสองฉิ..หาย(ล่วง) ไปแล้วจากอมตะธรรม...

ในครั้งที่ทรงศึกษาอรูปฌานกับท่านอาจารย์ทั้งสองนั้น ทรงเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วมาก จนท่านอาจารย์ทั้งสองถึงกับออกปากชมเชย ว่าพระองค์มีภูมิรู้ภูมิธรรมเทียบเท่าอาจารย์ทั้งสอง ไม่ยิ่งหย่อนกว่าท่านอาจารย์เลย ท่านทั้งสองถึงกับออกปากชักชวนให้พระองค์ทรงอยู่ด้วย เพื่อช่วยกันอบรมสั่งสอนเหล่าสานุศิษย์และรับช่วงต่อจากอาจารย์

ด้วยพระปรีชาญาณ พระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า อรูปฌานที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ยังเป็นเพียงโลกียฌาน ทำให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น จิตยังเกาะเกี่ยวอารมณ์ฌานอันละเอียดที่ภาวนาอยู่ อย่างเหนียวแน่นเป็นสุขอยู่ แต่ปล่อยวางอารมณ์ฌานอันละเอียดไม่เป็น เนื่องจากไม่มีการฝึกฝนอบรมจิตให้ปล่อยวางอารมณ์นั้นแต่ต้น จิตต้องคอยระวังรักษาอารมณ์ฌานอยู่ตลอดเวลา กลัวอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไป ซึ่งยังไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ที่แท้จริง เพราะจิตยังติดสุขในอารมณ์ฌาน(ยังต้องยึดอารมณ์) เหล่านั้นอยู่


ในครั้งก่อนพุทธกาลนั้น ฌานสมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน และอรูปฌาน ช่วยทำให้กิเลสเบาบางลงได้จริง จึงมีผู้คนนิยมนับถือปฏิบัติกันมาก แต่ไม่รู้ว่า จิตหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ได้ เพราะจิตยังติดสุขในอารมณืฌานอันละเอียดอยู่ อะไรหละที่ทำให้เป็นเช่นนั้น?

หากใช้โยนิโสนมสิการให้รอบคอบ ก็จะเห็นได้ว่า รูปฌานและอรูปฌานนั้น ล้วนเป็นการนำเอาอารมณ์ทั้งที่เป็นรูปและเป็นนาม มาเป็นอารมณ์ในองค์ภาวนา เพื่อให้เข้าถึงฌาน ซึ่งเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น ทำให้ไม่เห็นอาการแห่งพระไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นให้เห็นนั่นเอง

จิตจดจำเอาอารมณ์เหล่านั้น จนเป็นอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตด้วยความชำนาญ จัดเป็นถิรสัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งจิตยึดอารมณ์(สัญญา) อย่างเหนียวแน่น ไม่ทำให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญาในการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆออกไปจากจิต

และต้องคอยระวังรักษาอารมณ์ที่ทำให้เกิดฌานเหล่านั้นไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นสุข ไม่ยอมปล่อยวางลง เพราะเกรงว่าอารมณ์เหล่านั้นจะจืดจางไปจากความทรงจำของตน

ฌานสมาบัติ ๘ นั้นมีองค์ฌานคล้ายคลึงกับองค์ฌานในสัมมาสมาธิเป็นอย่างมากทีเดียว จนเป็นที่เข้าใจสับสนกันไปโดยมาก เพราะไม่รู้ว่าฌานทั้งสองแตกต่างกันตรงไหน เป็นสำคัญ

เมื่อทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ โดยการปฏิบัติสัมมาสมาธิ ตามหลักอริยมรรค ๘ ทรงปฏิเสธรูปฌานและอรูปฌานไว้ในปฐมพุทธอุทานว่า

"ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จักตนเข้าด้วยปัญญาอันเกิดจาก(จิต)สงบ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้"


อะไรหละที่ทำให้แตกต่างกัน?

ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้น เพราะว่า ฌานสมาบัติ ๘ นั้น จิตยึดอารมณ์ไว้อย่างเหนียวแน่นในการเข้าถึงฌาน ส่วนฌานในสัมมาสมาธินั้น จิตปล่อยวางอารมณ์ออกไปเป็นลำดับชั้น จากฌาน ๑ จนจิตสงบถึงขีดสุดที่ฌาน ๔ เพราะอารมณ์ที่นำมาใช้เป็นอารมณ์ในการภาวนา (เพียรเพ่ง) แตกต่างกันนั่นเอง

อารมณ์ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง และนำมาสั่งสอนไว้นั้น ล้วนเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ณ ภายในกาย เป็นไปเพื่อความปล่อยวางอาการของจิตทั้งสิ้น นั่นคือ อารมณ์ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งพระองค์ได้พิจารณาโดยแยบคายแล้วว่า ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ โดยการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

เพราะองค์ธรรมเหล่านี้ ล้วนทำให้จิตเห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดเจนยิ่งในขณะปฏิบัติภาวนา ทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ เมื่อจิตเบื่อหน่าย ก็ย่อมคลายกำหนัด เมื่อจิตคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น(ปล่อยวาง) ในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้


ทำไมจิตจึงไม่เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านั้นล่ะ?

เพราะอารมณ์ในสติปัฏฐานที่นำมาใช้ผูกจิตไว้ที่ฐานกายนั้น เป็นอารมณ์ที่ปราศจากกาม จิตจะเห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์กรรมฐานได้ง่ายและชัดเจนในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐาน

เมื่อจิตรู้เห็นตามความเป็นจริงจากการปฏิบัติภาวนาว่า กายที่เราอาศัยอยู่นี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จิตก็จะปล่อยวางอารมณ์กรรมฐานเหล่านั้นลงได้เอง เพราะจิตจะเห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นที่ระลึกรู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยเท่านั้น จิตก็จะสงบตั้งมั่นด้วยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น


ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระองค์ทรงให้เริ่มต้นที่
พิจารณากายในกายอยู่อย่างไรเล่า?
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ...



ใครหรืออะไรล่ะ? เป็นผู้รู้ระลึกและรู้ชัดว่า

การพิจารณากายสังขาร(ลมหายใจ) อยู่นั้น จิตก็จะเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ของกายสังขารที่ปรากฏให้เห็นในขณะปฏิบัติอย่างชัดๆ มียาว มีสั้น มีหยาบ มีละเอียด ถึงขั้นหยุดไปเลยจากความรู้สึกก็มี เป็นการแสดงอาการพระไตรลักษณ์ให้ปรากฏชัดๆต่อหน้าต่อตา เมื่อพิจารณานานไปๆ อาการเวทนาก็จะปรากฏให้เห็นตามมา เป็นปรกติของผู้ที่ปฏิบัติภาวนา ที่จะได้พบเจอทุกท่าน


แล้วใครเป็นผู้รู้ผู้เห็นล่ะ? ถ้าไม่ใช่เรา จิตผู้ปฏิบัติ

เราจะเห็นจิตที่หวั่นไหวเป็นทุกข์ไปกับอาการเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติภาวนาอยู่นั้น ว่าเวทนานั้นยังเป็นของเรา เพราะความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางยังไม่เป็น(ต้องฝึก) เมื่อสามารถประคองจิตให้สงบตั้งมั่นในองค์กรรมฐานภาวนาและประคองเอาไว้ได้แล้ว จิตก็จะปล่อยวางอาการเหล่านั้นออกไปเอง เป็นขั้นเป็นตอนของการปฏิบัติธรรมที่ละเอียดขึ้น เวทนาในเวทนานั้นก็กลายเป็นของกาย ที่จิตเพียงแต่เป็นผู้อาศัยอยู่เท่านั้น จิตก็สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่เป็นทุกข์ไปกับอาการเหล่านั้นด้วยเลย...ฯลฯ


ดังนั้นเมื่อพิจารณากายในกายเป็นภายในได้สำเร็จชัดเจนดีแล้ว จนเข้าถึงนามกาย อันไม่แตกทำลาย ณ ภายใน เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมาแล้ว ที่เหลือ คือ เวทนา จิต ธรรม ก็ต่อเนืองติดตามกันมาให้พิจารณาได้เอง....

ดั่งที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปูแหวน ท่านกล่าวไว้ว่า
"สติปัฏฐานสี่ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการ แต่ทั้งสี่มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กาย แล้วนอกนั้น คือ เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน"


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 01 ตุลาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:15:05 น.
Counter : 1171 Pageviews.

การดูจิตต้องผ่านธรรมข้อหนึ่งคือกายคตาสติมาได้ก่อน จึงจะรู้จักจิตที่แท้จริง
ในปัจจุบันนี้ มีการสอนที่ไม่อิงหลักคำสอนของพระบรมครูจอมศาสดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงวางหลักธรรมหรือหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติไว้อย่างดีแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อเพียรเพ่งเผากิเลสให้เร่าร้อน (มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก) เสียได้

มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนในมหาสติปัฏฐานสูตร ทรงวางหลักการเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมว่า

อานาปานสติ (หรือที่เรียกว่ากายในกาย) เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ นี้ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่าทำโพชฌงค์เจ็ด ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์เจ็ดนี้ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น


หรือก็คือทรงให้ปฏิบัติกายคตาสติ (ระลึกรู้เข้าไปที่กาย) หรือพิจารณากายในกายนั่นเอง ลมหายใจนั้นก็เป็นกายสังขาร การระลึกเข้าไปในกายนั้น เป็นการปฏิบัติสัมมาสมาธิในองค์มรรค เพื่อฝึกอบรมกาย ฝึกอบรมจิต ให้จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว จิตไม่กวัดแกว่ง จิตไม่แล่นไปตามอตีตารมณ์ และจิตไม่แล่นไปในอนาคตารมณ์ด้วย จิตรู้อยู่ที่กายคตาสติหรือกายในกาย ซึ่งเป็นปัจจุบันขณะ จิตย่อมรู้อยู่เห็นอยู่ ถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของตน

การเห็นกายสังขารที่ปรากฏพระไตรลักษณ์ขึ้นเฉพาะหน้านั้น ทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด ปล่อยวางกามารมณ์ และอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าสู่ปฐมฌาน เมื่อละวิตก วิจารณ์ได้แล้ว นามกายหรือจิตก็ปรากฏ ซึ่งเป็นธรรมอันเอกนั่นเอง เมื่อจิตรู้จักกายในกายได้ดี ย่อมต้องสัมผัสได้ถึงเวทนาในเวทนาด้วยเช่นกัน และเข้าใจเรื่องจิตในจิตได้ถูกต้อง และย่อมรู้ย่อมเห็นธรรมในธรรม ซึ่งเป็นอมตะธรรมผุดขึ้นที่จิต

เมื่อมีใครมาสอนว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้น ให้เริ่มลงมือปฏิบัติธรรมในหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เลยนั้น เป็นการสอนที่เกินไปกว่าที่พระบรมครูได้ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว

พระองค์ทรงสอนการปฏิบัติธรรมเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อความพอดี เพื่อการเข้าถึงธรรมอันลึกซึ้งของพระพระองค์ได้ ด้วยการเริ่มต้นที่อานาปานสติหรือที่เรียกว่ากายในกาย กายคตาสติ หรือสัมมาสมาธินั่นเอง จึงจะยังสติปัฏฐาน๔ให้บริบูรณ์ได้ ไม่มีทางอื่นนอกไปจากนี้อีกแล้ว ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย(จิตผู้ติดข้องในอารมณ์)

การสอนให้ดูจิตหรือที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยไม่มีพื้นฐานในการปฏิบัติกายในกายมาก่อนแล้ว ย่อมทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาได้โดยง่าย เนื่องจากผู้ปฏิบัติใหม่ยังไม่เคยรู้จักกายในกายหรือกายคตาสติหรือสัมมาสมาธิมาก่อนเลย และยังไม่เคยสัมผัสถึงเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมที่ถูกต้องแท้จริง ย่อมรู้เห็นไปตามตำรา(หรืออัตโนมัติอาจารย์)ที่สอนมา หรือจากความคิดที่ตกผลึกแล้วของตนเองเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติจิตตานุปัสสนาที่สอนกันอยู่นั้น ก็เป็นเพียงการสอนให้รู้จักอาการของจิตที่เกิดขึ้นมา จากการที่จิตผัสสะกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาทางอายตนะ แต่กลับเข้าใจผิดไปเองว่านั่นแหละคือจิตที่แท้จริง ทำให้หลงเข้าใจผิดไปต่างๆ นานาว่า จิตบังคับไม่ให้คิดไม่ได้บ้างหละ สติตัวจริงต้องเกิดขึ้นมาเองจึงจะใช่บ้างหละ

ซึ่งเป็นการรู้การเห็นเพียงด้านเดียว เป็นเพียงปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายเกิดเท่านั้น ส่วนปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายดับนั้น จะรู้เห็นได้ด้วยการลงมือปฏิบัติกายในกายหรือกายคตาสติหรือสัมมาสมาธิเท่านั้น จึงจะรู้ยิ่งเห็นจริงได้ ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ
ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ


เมื่อเรามาพิจารณาพระพุทธพจน์แต่ละพระสูตรโดยโยนิโสนมสิการแล้ว ย่อมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทรงตรัสสอนเชื่อมโยงกันหมด

โดยในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ทรงให้ลงมือปฏิบัติ กายในกาย(กายคตาสติ)เป็นอย่างไร? ก็เริ่มโดยให้นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติพิจารณาลมหายใจ(ภาวนา)

ต่อมาก็ทรงชี้ชัดลงไปให้เห็นว่า การปฏิบัติภาวนา(อานาปานสติ)นั้น จะยังให้สติปัฏฐานสี่ โพชฌงค์เจ็ด ทำวิชชาจิตวิมุตติหลุดพ้น ให้บริบูรณ์

และเพื่อเป็นการย้ำเตือนเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาว่ามีความสำคัญอย่างมากในพระพุทธศาสนา ทรงตรัสสอนว่า

ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ

(วิตกวิจารณ์จะสงบลงได้นั้น เมื่อจิตเข้าทุดิยฌานเท่านั้น)
ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์
ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ


พระพุทธองค์ทรงสอนธรรมที่งามในเบื้องต้น คือศีล ธรรมที่งามในท่ามกลาง คือสมาธิ ธรรมที่งามในที่สุด คือปัญญา พระองค์ไม่เคยทรงสอนอะไรโดยข้ามขั้นตอนตามลำดับเหล่านั้นมาก่อนเลย

ทรงให้สำรวม กาย วาจา ใจ โดยการสำรวมสังวรอินทรีย์อยู่ในกรอบแห่งความดีงาม คือศีล การปฏิบัติสัมมาสมาธิ เพื่อพิจารณากายคตาสติ หรือกายในกาย(อานาปานสติ) เพื่อให้จิตเกิดพละ๕(ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) คือ สมาธิ เมื่อจิตมีกำลัง(พละ๕) จิตย่อมมีกำลังที่จะสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น

ส่วนที่มีการสอนว่า มีธรรมที่ปฏิบัติได้โดยง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่ต้อง ไม่ตั้งนั้น ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ปลงให้เป็นอย่างเดียวก็พอ เป็นการสอนที่เกินกว่าพุทธปัญญาเสียแล้วครับ ย่อมเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ ดังที่กล่าวไว้ว่า "บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว"

ในเสขปฏิปทาสูตร ได้กล่าวถึงความเพียร(เดินจงกรมและนั่งสมาธิ)

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
เวลากลางวัน...ในปฐมยามชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง
ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า
มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น เวลากลางคืน
ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง
ดูกรมหานาม อย่างนี้แลอริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 31 สิงหาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:15:23 น.
Counter : 766 Pageviews.

การดูจิตในสัมมาสมาธิ(อธิจิตสิกขา)นั้น ต้องเพียรเพ่งพิจารณาจิตอย่างต่อเนื่อง
ดังที่ได้กล่าวเน้นย้ำมาตลอดเวลาเมื่อมีโอกาสว่า จิตนั้นเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้คือ "อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ การทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์"

พระบาลีอันเป็นพระพุทธพจน์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ล้วนสอนเรื่องการทำจิต หรือการฝึกฝนอบรมจิต ให้มีธรรมอันยิ่ง

คงมีผู้สงสัยว่า อะไรหละ คือ ธรรมอันยิ่ง
ธรรมอันยิ่ง คือธรรมที่เหนือธรรมดา เป็นธรรมที่ไม่ตาย หรือที่เรียกว่า อมตธรรม หรือ โลกุตตรธรรม นั่นเอง เป็นธรรมที่พ้นโลก เป็นธรรมที่เหนือโลก เป็นธรรมที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ตายอีกแล้ว

ทำไม ต้องทำจิต หรือฝึกฝนอบรมจิตให้มีธรรมอันยิ่งหละ
เพราะจิตที่ยังติดข้องอยู่ในโลก(โลกียจิต) หรือ ที่เรียกว่าสัตว์โลก แบบที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้นั้น เป็นจิตที่ยังหลงไป เผลอไป หลงเกิด หลงตาย ตามรูป และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาครอบงำจิตของตนให้เศร้าหมองเสียคุณภาพไปในขณะนั้นๆ

ดังที่มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"

จากพระบาลีที่เป็นพระพุทธพจน์กล่าวว่า จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แสดงให้เห็นว่า โดยปรกติแล้วจิตมีสภาพประภัสสรผ่องใสอยู่ก่อน แต่เพราะมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่ จิตจึงตกอยู่ในอำนาจของอวิชชา ซึ่งกดดันทำให้เกิด กิเลส กรรม วิบากขึ้นที่จิต

ในขณะที่อวิชชายังไม่แสดงอำนาจออกมา จิตก็ยังมีสภาพประภัสสรผ่องใส ต่อเมื่อขาดสติหลงไป เผลอไป จิตที่มีอวิชชาครอบงำอยู่นั้น ย่อมชอบที่จะแส่ส่ายออกไปเชื้อเชิญกิเลส (รูปและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย) เข้ามาเป็น "แขก" ของตนเอง และที่จิตเศร้าหมองไป ก็เพราะมีกิเลสทั้งหลายที่เป็นแขกจรเข้ามา

เราต้องมารู้จักคำว่า "แขก"
เราจะเรียกอะไรก็ตามว่าเป็นแขกของเราได้นั้น เราต้องมีการเชื้อเชิญสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเราเองมาก่อนแล้ว สิ่งเหล่านั้นจึงจะได้ชื่อว่าเป็นแขกของเราได้ ถ้าเราไม่ได้เชื้อเชิญมาก่อน สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่แขกของเราสิ แต่อาจจะเป็นแขกของใครก็ได้ที่เชื้อเชิญสิ่งเหล่านั้น

แสดงว่าเราต้องเคยเชื้อเชิญสิ่งเหล่านั้นไว้ให้เป็นแขกตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งเหล่านั้นที่เป็นแขกอยู่ก่อน จึงได้จรเข้ามา ทำให้จิตเราเศร้าหมองเสียคุณภาพไปในภายหลัง ทำให้จิตที่เคยประภัสสรอยู่ก่อน เศร้าหมองและเสียคุณภาพไป หลงไป เผลอไป ตามกิเลสที่จรเข้ามาเหล่านั้น

เมื่อพูดถึงเรื่อง "จิต" แล้ว ล้วนเป็นเรื่องของการปฏิบัติ หรือ การพัฒนาจิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อ่อน ควรแก่การงานทั้งสิ้น ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องจิตเสียแล้ว ก็แสดงว่าเราไม่สนใจที่จะอบรม พัฒนาจิตของตนให้ดียิ่งๆขึ้น

การปล่อยให้จิตเป็นไป ไหลไป ตามยถากรรม หรือ เป็นไปตาม กิเลส กรรม วิบาก ที่กดดันอยู่ ที่เรียกว่า ปล่อยให้เป็นไป ไหลไป ตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของจิต ที่มักรัก ชอบ ชัง และเฉยๆที่เรียกว่าเฉยโง่ ฯลฯ และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามรูป และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา โดยไม่มีการควบคุม และวางกรอบความคิด ให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงามเลย จิตก็จะมีแต่ไหลลงไปสู่ความตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดาของโลก

ฉะนั้น เราต้องมีการตั้งจิตเจตนา หรือ ตั้งใจ จงใจ ลงไปว่า จะต้องควบคุมฝึกฝนอบรมบังคับจิตของตน หรือที่เราเรียก "ดูจิต" นั้น ให้จิตมีสติตั้งตนอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงามให้ได้

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆนั้น ก็จะกระทำได้ยากสักหน่อย เพราะจิตที่อยู่ในโลกนั้น มักมีสภาพธรรมที่กลอกกลิ้ง เจ้าเล่ห์ ดิ้นรนกวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายาก ฯลฯ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติใหม่ทุกคน จึงต้องมีความตั้งใจ มีความจงใจ (ตามรู้อย่างต่อเนื่อง) มีความแน่วแน่ มีสติ และมีความเพียรเพ่ง (เพ่งคือการรู้อย่างต่อเนือง) ในการเริ่มต้นปฏิบัติการดูจิตให้ได้ผลที่ดีขึ้น

ยิ่งเวลาที่เราทำการงานตามปกติในโลกแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะอะไร เพราะจิตไม่มีรูปร่าง และที่อาศัยอย่างชัดเจน ให้เราจับต้องได้ หรือระลึกรู้ได้นี่เอง เมื่อเราเริ่มดูจิต ก็จะพบเห็นแต่อาการของจิตให้รู้เท่านั้น เป็นสิ่งที่จิตแสดงออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่จิตในขณะนั้นๆ

ผู้ปฏิบัติใหม่ มักเข้าใจว่าสิ่งที่รู้ ที่เห็นอยู่นั้น คือสภาพธรรมของจิตที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ใช่เลย เป็นเพียงสภาพธรรมของจิตที่ได้เกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่จิตของตนเข้าไปแล้ว เรียกว่า "อาการของจิต" หรือ "เงาของจิต" นั่นเอง

เมื่อรู้สึกตัวหรือสัญเจตนาที่เคยตั้งใจไว้เกิดขึ้น (ยังไม่ใช่สติที่แท้จริง) ก็พยายามควบคุมจิต ดึงจิตที่หลงไป เผลอไป ให้กลับเข้ามาคิดอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงามที่ตั้งใจเอาไว้เท่านั้น ยังไม่สามารถ สละ สำรอก หรือ ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ออกจากจิตของตนได้อย่างเด็ดขาด

เพราะยังไม่เคยรับการฝึกฝนอบรมจิตโดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิ มีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้ง มีสติสงบตั้งมั่นระลึกรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่ ก็คือ การฝึกฝนอบรมสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้นที่จิตของตน หรือก็คือ การฝึกฝนอบรมจิตให้เข้าถึงอธิจิต (จิตที่มีธรรมอันยิ่ง) อย่างแท้จริงนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ดังนี้ว่า
อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไป
มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา


เมื่อเรามาพิจารณาพระพุทธพจน์นี้ให้ดีๆแล้ว เราจะเห็นได้ว่า การศึกษาอธิจิตตสิกขา ก็คือการปฏิบัติสัมมาสมาธิดีๆ นี่เอง แสดงว่าจิตที่ได้รับการอบรมปฏิบัติสัมมาสมาธินั้น เป็นการอบรมจิตให้มีธรรมอันยิ่ง (อธิจิต)

เมื่อจิตมีธรรมอันยิ่ง จิตย่อมเป็นสัมมาทิฐิ คือจิตก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่จิตเป็นทุกข์ เหตุเพราะจิตชอบแส่ส่ายดิ้นรนส่งออกไป (สมุทัย) รับอุปกิเลสที่เป็น "แขก" จรเข้ามา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของๆตน ผลจึงเป็นทุกข์

เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ย่อมต้องละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย คือ สละ สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากจิต อาการแส่ส่ายที่ชอบส่งออกไปของจิตก็จะดับลงไป (นิโรธ) ด้วยเช่นกัน

ซึ่งมีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (มรรค) จิตจึงจะมีสติกำลังมากพอในการสละ สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นใน รูปและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด (รูป-นาม) ทั้งหลายลงได้ตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ)


เจริญในธรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 29 กรกฎาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:15:41 น.
Counter : 1466 Pageviews.

การดูจิตโดยปฏิบัติสัมมาสมาธิ ย่อมไม่คิดไปเองว่าจิตเป็นอนัตตา
การปฏิบัติสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนานั้น ทำให้เรารู้จักเรื่องจิตได้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะว่าเรื่องจิตนั้นเป็นหัวใจหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาของเรา พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ล้วนทรงสอนแต่เรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น

จิตกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่จิตของตน ในระหว่างการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เช่น กุศลจิต อกุศลจิต สุขใจ ทุกข์ใจ ดีใจ เสียใจ รัก ชอบ ชัง ธรรมารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับจิตของผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น เพราะจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ต้องรับรู้สภาวธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นที่จิตของผู้ปฏิบัติ และดับไปจากจิตของผู้ปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ล้วนต้องระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาของการปฏิบัติธรรมว่า อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอะไรบ้างได้เกิดขึ้นที่จิตของตนและดับไปจากจิตขอตน เพื่อประคองจิตให้มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายแหล่เหล่านั้น คำว่าจิตและใจนั้นใช้แทนกันได้ โดยเฉพาะใจเป็นอายตนะหนึ่งในหกของอายตนะภายใน ที่จิตของผู้ปฏิบัติธรรมใช้สำหรับติดต่อกับอารมณ์หรือธรรมารมณ์ทั้งหลาย

ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งปวง(ทั้งภายนอกและภายใน)หรือธรรมารมณ์ที่กล่าวมานั้น ล้วนเกิดขึ้นที่จิตของตนและดับไปจากจิตของตน ในขณะใด ที่จิตของตนขาดสติ จิตของตนก็จะแสดงอาการของจิตออกมาเพื่อสนองตอบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นตลอดเวลาที่เรายังดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้


การที่เราผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาจะรู้จักจิตที่แท้จริงได้ หรือ ที่เรียกว่าการเข้าถึงอธิจิต(จิตอันยิ่ง)ได้นั้น เราต้องเดินตามรอยพระบาทขององค์ศาสดา โดยเริ่มต้นจากการปฏิบัติธรรมคือ "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรคมีองค์แปด เพราะอะไร?


มีผู้สงสัยกันมากมายว่า เพราะอะไรจึงต้องเริ่มต้นจากการนั่งสมาธิก่อนหละ เนื่องจากมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการนั่งปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพราะความเคยชิน(กิเลสในกมลสันดาน) ที่ติดกับความง่ายๆ สะดวกสบาย และลัดสั้น การชอบปล่อยความคิดของตนเองให้ล่องลอยไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ตน รัก ชอบ ชังทั้งหลายที่เข้ามาครอบงำจิตของตน

เมื่อต้องหันกลับมาควบคุมฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้อยู่ในกรอบแห่งความคิด(ความคิดที่เป็นกุศลที่ปราศจากกาม)เสียแล้ว จิตก็จะแสดงอาการ ดิ้นรน กวัดแกว่ง กระสับกระส่าย เพื่อจะออกจากกรอบอันดีงามนั้น เนื่องจากความเคยชินของตน กับการปล่อยความคิดให้ล่องลอยเตลิดออกไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด รัก ชอบ ชังเหล่านั้นเป็นประจำ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

ฉะนั้น การฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรม "สัมมาสมาธิ"(จิตตั้งมั่นชอบ) จึงเป็นสิ่งที่เราชาวพุทธควรต้องปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มีจิตที่สงบตั้งมั่นชอบ(สัมมาสมาธิ) หรือเรียกว่า "อธิจิต" นั่นเอง เป็นจิตที่สงบมีสติสัมปชัญญะคอยกำกับอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน เป็นจิตที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ และเราก็จะพบตนที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริงได้นั่นเอง เพราะรู้จักอนัตตาธรรมเป็นอย่างดี

ส่วนพวกที่คิดว่าจิตเป็นอนัตตาธรรม เพราะห้ามมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้นั้น ถ้าห้ามมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้จริงแล้ว คงค้นหาคนที่มีจิตใจดีงามไม่ได้อีกเลยใช่หรือไม่? สืบเนื่องมาจากการที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยเข้าถึงจิตที่แท้จริง(อธิจิต) และไม่รู้จักอนัตตาธรรมที่ถูกต้องตรงตามพระพุทธวจนะของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

พระองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ในอนัตตลักขณสูตร(สูตรที่ว่าด้วยเรื่องอนัตตาโดยเฉพาะ) ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา

ถ้ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้จักได้เป็นอัตตา(ที่พึ่ง)แล้ว
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ
และบุคคลพึงได้ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ก็เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา(พึ่งพาอาศัยไม่ได้)
ฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า
รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตน(ที่พึ่ง)ของเรา?
ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า

เธอทั้งหลายพึงเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ของเรา
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เป็นเรา
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ตน(ที่พึ่ง)ของเรา



เมื่อปฏิบัติธรรมและนำมาเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ เราย่อมสรุปความได้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์ พึ่งพาอาศัยไม่ได้ เพราะ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นพึ่งพาอาศัยไม่ได้(เป็นอนัตตา) ไม่ใช่ตน

แต่จิตที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่ผ่านการฝึกฝนอบรมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนามาอย่างดีแล้วนั้น จิตของตนย่อมสามารถถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายเหล่านั้นลงได้ และเป็นที่พึ่งให้กับคนๆนั้นได้

เป็นจิตที่สงบมีสติปัญญาคอยกำกับดูแลตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่?
ใช่
เป็นจิตที่มีคุณภาพอ่อนควรแก่การงานใช่หรือไม่?
ใช่ มีคุณภาพอ่อนควรแก่การงานอย่างยิ่ง
เป็นจิตที่พึ่งพาอาศัยได้ใช่หรือไม่?
ย่อมต้องพึ่งพาได้อย่างแน่นอน
เป็นจิตที่หลุดพ้นจากอุปทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายใช่หรือไม่?
ใช่แน่นอน...(มีพระพุทธพจน์รับรองไว้)

อย่างนี้แล้ว ยังจะให้จิตเป็นอนัตตาธรรม ที่พึ่งพาไม่ได้อีกหรือ?

ถ้าจิตเป็นอนัตตาธรรมจริง ยังจะสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิตได้รึ?
เมื่อจิตของตนไม่เทื่ยง เป็นทุกข์อย่างที่เชื่อๆกันอยู่ ย่อมสร้างสติให้เกิดขึ้นไม่ได้

จิตของตนที่ได้อบรมฝึกฝนมาแล้ว เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้จริงรึ?
ถ้าจิตของตนพึ่งพาอาศัยไม่ได้ จะเสียเวลาไปอบรมฝึกฝนจิตของตนไปทำไม
ในเมื่อเราสามารถสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิตของตนได้ จิตของตนย่อมต้องพึ่งพาอาศัยได้สิ

ห้ามมันไม่ได้อีกรึ?
ก็ถ้าห้ามมันไม่ได้ ก็ฝึกฝนอบรมมันให้มีสติไม่ได้เช่นกันสิ
จิตที่มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดีแล้ว ย่อมต้องห้ามจิตของตนไม่ให้ประกอบอกุศลกรรมทำชั่วได้

สั่งมันไม่ได้รึ?
แบบนี้ถ้าจิตคิดจะทำร้ายใคร ก็ต้องปล่อยให้จิตมันสั่งร่างกายให้ออกไปเที่ยวทำร้ายคนอื่นๆสิ

คนที่จิตมีสติปัญญาสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดีแล้ว สติกำกับอยู่ที่จิต จะปล่อยให้เป็นแบบนั้นหรือ?
ไม่มีทางเป็นไปได้ ดั่งพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “จิตที่ปฏิบัติ(สัมมาสมาธิ)ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้”


ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า จิตที่ปฏิบัติ"สัมมาสมาธิ"มาดีแล้ว ย่อมพึ่งพาอาศัยได้(นำสุขมาให้) ห้ามได้ สั่งได้ดั่งใจหวัง ดังนี้....


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 12 มิถุนายน 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:15:56 น.
Counter : 808 Pageviews.

การดูจิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น เป็นอย่างไร?
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เรื่องการรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตามไปด้วยตลอดแนวนั้น ก็เป็นที่เด่นชัดแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่นั้น ยังรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง

เป็นการรู้จักจิตแบบจำจากตำรับตำราและอัตโนมัติอาจ่รย์ ที่มีผู้เขียนขึ้นมาอย่างมากมายหลายเวอร์ชั่น เพื่อให้ศึกษา โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่เคยเข้าถึงสภาวะจิตที่แท้จริงมาก่อนเลยเช่นกัน หรืออาจได้ยินได้ฟังมาจากอัตโนมัติอาจารย์ ที่มีท่าทางดี พูดจาไพเราะ มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ จึงเชื่อไปโดยไม่เคยนำกลับมาพิจารณาว่าเป็นไปได้แค่ไหน

อัตโนมัติอาจารย์บางท่าน ตัวท่านเอง ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสภาวะจิตที่แท้จริงดีพอ ท่านเองก็รู้จักจิตมาจากการจดจำตำรับตำรา หรือปฏิบัติมาเองบ้างเพียงเล็กๆน้อยๆ แล้วนำมาขบคิดพิจารณาต่อจนตกผลึกทางความคิดที่ตนเองเห็นว่าอย่างนั้น จึงนำเอามาสอนโดยแอบอ้างว่า ความรู้ที่นำมาสอนเหล่านั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากผลแห่งการปฏิบัติของตนเอง โดยไม่เคยสนใจ ที่จะนำมาตรวจสอบ เปรียบเทียบ เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ หรือพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา “พุทโธ”ก่อนเลย

และที่มีการสอนอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นการสอนแบบนำเอาความรู้สึกนึกคิดในทางโลก มาเป็นแนวทางในการสอน เพื่อชี้นำให้คล้อยตาม เมื่อผู้ฟังมีความเชื่อถือในผู้สอนอยู่ก่อนแล้ว ย่อมคล้อยตามไปได้ง่ายๆ โดยที่ไม่เคยนำกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังว่า คำสอนเหล่านั้นมีเหตุมีผลน่าเชื่อถือหรือไม่ ในส่วนที่ตนเองฟังไม่เข้าใจ หรือ รู้สึกกำกวม ก็พาลคิดเองเออเองไปว่า เพราะภูมิธรรมของตนยังมีไม่ถึง

ซึ่งความจริงแล้ว ผู้พูดเองก็พูดวกไปเวียนมาเหมือนน้ำในอ่าง มีข้อให้สงสัยเกิดขึ้นมาตลอดเวลาในคำสอนเหล่านั้นเช่นกัน เมื่อฟังๆไปเราจะรู้สึกได้ว่า คำสอนเหล่านั้นมีการขัดแย้งกันเองในตัว ประเดี๋ยวมี ประเดี๋ยวไม่มี ประเดี๋ยวใช่ ประเดี๋ยวไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี ที่มีก็ไม่ใช่

เมื่อถูกซักถามด้วยความสงสัย ก็จะได้รับคำตอบว่าสงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย คือเป็นการบอกเป็นนัยๆว่าหยุดถามได้แล้ว เอาเวลาไปดูกายดูใจตนเองเถอะ เพื่อจะได้รู้สภาวะตามที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในทางโลก ซึ่งเป็นเรื่องของโลกล้วนๆ

การรู้เห็นสภาวะที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นเครื่องตัดสินความถูกผิด เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่รู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงในหลักธรรมอริยสัจ ๔ เลย

แถมยังมีการย้ำนักย้ำหนาว่า อย่าไปดัดแปลงจิต มันจะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป เพียงแต่ให้ตามรู้ไปเรื่อยๆก็พอ ซึ่งสิ่งที่พูดมานั้น เป็นความคิดเห็นของผู้สอนที่เข้าใจผิดไปเองว่า จิตเป็นตัวทุกข์ จึงไม่ให้เข้าไปดัดแปลงจิตที่เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงจากการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาเลย

เป็นการปล่อยให้จิตไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย นั่นเป็นการดัดแปลงจิตหรือปล่อยให้จิตเสียคุณภาพไป เป็นทุกข์ อึดอัด ขัดข้องไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น คนที่มีนิสัย มักโลภ มักโกรธ มักหลง ฯลฯ เราควรต้องมีการพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตของตนให้รู้จักวิธีขจัดขัดเกลา สละ สำรอกปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นออกไปจากจิตใช่มั้ย?

ควรหรือที่จะปล่อยให้จิตมักโลภ มักโกรธ มักหลง ฯลฯ เป็นอยู่อย่างนั้น โดยไม่ต้องไปดัดแปลงจิต ตามที่ผู้สอนท่านนั้นสอนไว้ โดยไม่ต้องมีการพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีภูมิธรรมสูงขึ้น แต่กลับปล่อยให้จิตเป็นไปของมันเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องดีเลย

สิ่งที่ไม่ควรเข้าไปดัดแปลงเป็นอย่างยิ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นคือ ตัวทุกข์ต่างหาก เป็นสิ่งที่เราไม่ควรเสียเวลาเข้าไปดัดแปลงทุกข์ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่ดัดแปลงไม่ได้เลย ทุกข์เป็นของคู่โลกแต่ก่อนนานมาแล้ว

เราต้องปฏิบัติพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักวิธีละเหตุแห่งทุกข์ให้ได้ เมื่อละเหตุแห่งทุกข์ได้ จิตก็จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิตของตน จิตก็อยู่ส่วนจิต ทุกข์ก็อยู่ส่วนทุกข์ ดัดแปลงไม่ได้

จิตที่ได้รับการปฏิบัติฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ย่อมไม่เป็นทุกข์ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้น นี้จึงจะเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงในหลักธรรมอริยสัจ ๔


ทุกข์ควรกำหนดรู้
สมุทัยควรละ
นิโรธควรกระทำให้แจ้ง
มรรคควรเจริญให้เข้าถึงพร้อม


ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิตหรือเป็นทางเดินของจิตทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนอบรมจิตให้หลุดพ้นจากอวิชชาสวะที่เข้ามาครอบงำจิตอยู่

ดังที่ได้เคยบอกไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ เรื่องการดูจิตให้เข้าถึง "อธิจิตสิกขา" ว่า การดูกายดูใจตนเองในเวลาปรกตินั้น เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้รู้จักสำรวมระมัดระวัง กาย วาจา ใจ หรือที่เรียกว่าอินทรีย์สังวร ยังอยู่ในขั้นตอนปฏิบัติ "อธิศีลสิกขา" เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการรู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงในขั้นของ "อธิจิตสิกขา" เลย

เป็นการฝึกสร้างสัญญาเจตนา หรือที่เรียกว่าให้คอยระมัดระวัง กาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงามเท่านั้น เป็นการรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วกับตนเองตามที่เป็นจริง

แม้บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ตนเองก็ยังไม่ยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาวธรรมที่เป็นจริงเหล่านั้นเลย จิตก็ยังมีความสับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยที่ตนเองไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป เพียงแต่มาระลึกรู้ได้ในภายหลังจากที่จิตเสวยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเข้าไปแล้ว

แบบอย่างที่มีสอนกันมาดังกล่าวนี้ เราไม่เรียกว่าเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง ตามหลักธรรมอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้หรอก

การรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดตามที่เป็นจริงนั้น จิตยังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยเลย เพราะขณะที่เรารู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริงอยู่นั้น จิตใจของตนเองยัง สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น โดยที่ตนเองก็รู้ทันบ้างไม่ทันบ้างตามกำลังสติ สมาธิ ปัญญาของตน

หรือในบางครั้งถึงกับไม่รู้สึกตัวเอาเสียเลยด้วยซ้ำไป ได้มีการสนองตอบตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น นี่หรือ ที่สอนกันว่า รู้เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ทั้งๆที่ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตและอาการของจิตให้สงบระงับลงได้ เมื่อกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดี ยินร้าย เมื่อยังไม่สามารถควบคุมจิตและอาการของจิตที่ สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้ายได้ เราไม่เรียกว่า รู้เห็นตามความเป็นจริง หรอกนะ


การที่จะ "รู้เห็นตามความเป็นจริง" ได้นั้น ต้องสามารถควบคุมจิตและอาการของจิต ไม่ให้สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้าย ทำจิตให้สงบราบคาบลงได้ในทันที ที่จิตกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้าย

หรืออย่างน้อยๆต้องเห็นอาการของจิต ที่สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวได้อย่างชัดเจนทุกครั้ง ที่จิตกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้าย และทำจิตให้สงบราบคาบลงได้ ในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว จิตสงบตั้งมั่นขึ้นไปเป็นลำดับ ตามกำลังสติ สมาธิ ปัญญาที่ได้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมมาแล้ว



พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมุ่งสั่งสอนสังคม และพระสาวกให้ปฏิบัติสมาธิตลอดเวลา ดังพุทธพจน์ที่มีมาว่า "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจนบรรลุฌาน ๔ แล้ว จิตย่อมสงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อ่อน ควรแก่การงาน ย่อมรู้เห็นชัดด้วยตนเองว่า

อารมณ์และนิมิตหมายของอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้ซัดส่ายวุ่นวาย กระสับกระส่าย รวมทั้งรูปร่างกายและลมหายใจนั้น ได้ถูกละ วาง สำรอก ออกจากความยึดถือหมดแล้ว คงเหลือแต่ "ธาตุรู้" ทรงตัวรู้อย่างแจ่มใสอยู่เท่านั้น ไม่มีความรู้สึกเสียดแทงจิตใจใดๆ หลงเหลืออยู่

สภาวะดังกล่าวนี้ จะยังคงดำรงตัวอยู่ตลอดไป ตราบที่ผู้ปฏิบัติยังมีเจตนาปฏิบัติสมาธิอยู่ และย่อมเกิด สัมมาทิฐิ รู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้

๑.เห็นสภาพกระสับกระส่ายวุ่นวายของจิต เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบแต่ละครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นทุกข์

๒.เห็นสภาพเดิมอันสงบประณีตที่เกิดขึ้นที่จิตของตนเอง เมื่อได้สลัดปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตต่างๆออกไปได้อย่างสิ้นเชิงแล้วว่า ไม่ทุกข์ คือไม่ใช่ตัวทุกข์

๓.ถ้าปล่อยให้จิตแลบออกไปจากฐานที่ตั้งสติเมื่อใด สภาพวุ่นวายกระสับกระส่าย หรือทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที จิตเมื่อแลบออกไปจากฐานนี้แล้ว ที่จะไม่ทุกข์นั้น,ไม่มีเลย ดังนั้น การแลบของจิต จึงเป็นสมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์เสีย

๔.ถ้าพรากจิตออกจากอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายให้กลับมาตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างคล่องแคล่ว และแนบแน่นได้สำเร็จเมื่อใด ความวุ่นวายกระสับกระส่ายหรือทุกข์ย่อมดับไปเมื่อนั้นทันที ดังนั้น การพรากจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดกลับมาตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ จึงเป็นทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์

ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นชัดด้วยตนเองว่า การพรากจิต หรือการดึงจิตออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดให้กลับมาตั้งไว้ ณ ฐานที่ตั้งสติเพียงประการเดียวเท่านั้น จิตก็จะสงบราบเรียบ และทุกข์ก็จะดับไปหมดสิ้น นี้จึงจะเรียกว่ารู้เห็นตามความเป็นจริงในพระพุทธศาสนา


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:16:15 น.
Counter : 782 Pageviews.

1  2  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์