พุทโธ พุทธานุสติ เพื่อความหลุดพ้น


พุทโธ พุทธานุสติ เพื่อความหลุดพ้น


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง
ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือ พุทธานุสสติ "พุทโธ"

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

(พระพุทธพจน์)


^
^
สุตะมยปัญญา จินตมยปัญญา เป็นปัญญาในโลก ที่เป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ ไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนรู้จากการท่องจำมานั้น เอาตัวรอดจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานได้ เพียงแค่ช่วยตนเองและผู้อื่นที่เรียนรู้มา เอาไว้พอแก้ไขหน้าตัวเองรอดจากกิเลสได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถทำให้อวิชชา ตัณหา อุปาทาน หลุดร่อนออกไป หรือสลัดออกไปจากจิตของตนได้เลย

จากพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วข้างต้น เป็นการสนับสนุนคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติ ที่ท่านสั่งสอนให้เพียรเพ่งภาวนามยปัญญา ด้วยพุทธานุสติปัฏฐาน "พุทโธ"

ใครที่คิดว่าการเพียรเพ่งภาวนา "พุทโธ" เป็นเพียงแค่ "สมถะยานิก" เท่านั้น ไม่เกิดปัญญา ต้องอาศัย "วิปัสสนายานิก" จึงหลุดพ้นได้ คิดผิด ลองพิจารณาใหม่ได้นะ... โดยนำพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว นำมาสมาทาน อย่างจริงจัง ผลที่ได้ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 07 เมษายน 2560
Last Update : 7 เมษายน 2560 12:14:09 น.
Counter : 2523 Pageviews.

ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญา


ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญา


เมื่อพูดถึงเรื่องปัญญาในปัจจุบัน คนที่ได้พบประสบความสำเร็จมีธุรกิจใหญ่โต มีความตั้งใจ มีความขยันได้ปริญญาบัตรต่อท้ายมากมายหลายแบบ พูดจาคล่องแคล่วไพเราะ โต้วาทีเก่งกาจเฉียบขาด ในทางวัฏฏะมักเป็นบุคคลที่ได้การยกย่องยอมรับจากสังคมว่า เป็นผู้มีปัญญาดี มีความสามารถ จดจำอะไรต่างๆ ได้มากมาย มีสัญญาดี สมองดี คิดเป็น เล่งเห็นอนาคต นี่เราเรียกได้ว่ามี "ปัญญาในทางโลก" ส่วนในทางธรรมที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เรียกว่าเป็นผู้มี "สัญญา" ดี

แต่ที่สำคัญเป็นสาระอย่างยิ่งคือ ปัญญาทางโลกหรือสัญญาดังกล่าว ย่อมแตกต่างไปจาก "ปัญญาในทางธรรม" เป็นคนละเรื่องกันเลย

เพราะปัญญาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติยกย่องไว้ว่าเป็นเลิศนั้น เป็นวิราคธรรม เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นของจิต จากอุปกิเลสที่เป็นแขกจรทั้งหลาย เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ออกไปจากจิตของตน หรือที่เรียกว่า "การสลัดคืน" เป็นการสลัดอารมณ์ทั้งหลายกลับคืนสู่โลก เป็นปัญญาเพื่อความพ้นโลก เหนือโลก ฯลฯ ที่เรียกว่า "โลกุตตระธรรม" เป็นปัญญาที่ทำให้สังคมกลับสู่ความสงบสันติ ร่มเย็น ไม่เบียดเบียนกัน

ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาทางโลก (สัญญา) ยิ่งมีมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเกิดความวุ่นวายสับสน เอารัดอาเปรียบกันแบบถูกทำนองคลองธรรมในทางโลก บุคคลดังกล่าวล้วนเก็บงำอารมณ์ได้เก่ง ไม่แสดงออกให้เห็นได้ง่ายๆ ยิ่งต่อหน้าบุคคลอื่นด้วยแล้ว ยิ่งระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ภายในจิตของตนนั้น กลับรุ่มร้อน สับสนวุ่นวาย ซัดส่ายไปทั่ว เป็นการ "เก็บงำอารมณ์" ไว้ ไม่ใช่การ "ปล่อยวางอารมณ์" สลัดออกไป เมื่อเผลอไผลได้ที่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ก็จะมีการระเบิดอารมณ์ออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ขนาดผู้ที่เป็น "ด็อกเตอร์" มีปริญญาพ่วงท้ายหลายใบ แต่ด้วยความโกรธครอบงำ เผลอเอาไม้กอฟล์ตีภรรยาจนตายคาไม้ ยอมรับว่าตีแรงไปหน่อยด้วยความโกรธหลง

อย่าปล่อยให้ "สัญญา (ปัญญาในทางโลก)" มาครอบงำ "ปัญญาในทางธรรม" จนมองไม่เห็นสัจธรรมความจริง ๔ ประการ เพราะตำราที่รจนาขึ้นมาในภายหลังนั้น มักสอนให้ศึกษา จดจำ ให้คิดเป็น เล่งเห็นอนาคตได้ (ฝัน) ความรู้เพียงแค่นี้ก็คิดกันไปเองแล้วว่า จิตของตนเองมีคุณภาพเพียงพอแล้ว

ต่างจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่สอนให้ "หยุดเป็น เย็นได้" สังขารความนึกคิดไม่สามารถปรุงแต่ง ปิดอารมณ์ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตของตนได้ ปล่อยวางอดีต อนาคตเสีย

"ไม่เชื่อถืออารมณ์ ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ รู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ เป็นผู้สิ้นหวัง คลายความหวัง ย่อมเป็นบุรุษอันสูงสุด ดังนี้" (พระพุทธพจน์)

จากพระพุทธพจน์ดังกล่าว จิตไม่เชื่อถืออารมณ์ได้นั้น ต้องเป็นจิตที่ผ่านการอบรมจิต ด้วยภาวนามยปัญญา จนจิตมีสติ สงบตั้งมั่นได้ กิเลสที่เป็นแขกจรคงหลอกจิตของตนให้เชื่อได้ยาก แต่การที่จะไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ และรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้นั้น จิตต้องมีสติ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วย จิตจึงมีกำลังมากพอในการปล่อยวาง ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ หรือรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้ โดยการตรึกธรรมเฉพาะหน้า พิจารณาเห็น "เหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัย" จิตมีกำลังพร้อมละเหตุแห่งธรรมนั้นได้


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 06 เมษายน 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 12:40:33 น.
Counter : 774 Pageviews.

ผู้มีฌานเป็นปรกติ ย่อมมีจิตสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว


ผู้มีฌานเป็นปรกติ ย่อมมีจิตสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว


ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑

ฯลฯ

ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใด ในโลกไหนๆ
เพราะรู้ความสูงต่ำในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควันคือความโกรธ
เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง
เรากล่าวว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว ฯ

(โรหิตัสสวรรคที่ ๕ สมาธิสูตร)


^
^
เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งแล้วว่า พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรับรองเรื่องฌาน "สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘" เป็นสมาธิที่นำไปสู่ "สมถะและวิปัสสนา" องค์ภาวนาทำให้เกิด "มยปัญญา"ได้

สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล เป็นสมาธิที่ย่อมเป็นไปเพื่อ

เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่

เพื่อสติสัมปชัญญะ ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป

เพื่อความสิ้นอาสวะ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ว่า
รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ เป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งรูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณเป็นดังนี้

บุคคลเป็นผู้เพ่งฌาน ผู้มีฌานเป็นปรกติ ย่อมมีจิตสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว "ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใด เรา(ตถาคต)กล่าวว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว ฯ"(พระพุทธพจน์)


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 05 เมษายน 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:23:30 น.
Counter : 992 Pageviews.

จิตไม่เกิดดับ อารมณ์สิเกิด-ดับ


จิตไม่เกิดดับ อารมณ์สิเกิด-ดับ


แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ฯ
แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต ฯ
แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยฆานะ ฯ
แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยชิวหา ฯ
แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วกาย ฯ
แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน
ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้
ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย
จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้
เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้น

(พรรณนาคุณของพระขีณาสพ)


^
^
พระพุทธพจน์ชัดๆ วันหลังจะยกพระสูตรนี้มาอ้างว่าจิตเกิด-ดับ ควรยกในส่วนที่ต่อเนื่องกันมาอ้างด้วย เพราะพระสูตรชี้ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วนะ การที่อ่านพระสูตรไม่เข้าใจเอง จึงตีความตามมติชอบใจของตนที่เรียนมา หรือเชื่อตามๆ กันมาแบบที่ไม่เคยพิจารณาให้รอบคอบถ่องแท้เสียก่อนเลย

ถ้าเป็นพระอรหันต์จริง ท่านย่อมไม่กล่าวขัดแย้งกันเอง หรือขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วนะ จิตที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแล้ว จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ ยังจะให้จิตที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ที่อารมณ์เจือติดไม่ได้นั้น เกิด-ดับอีกหรือ?

ตามความเป็นจริงที่ตริตรองดีแล้ว ควรเป็นอารมณ์ใช่มั้ย? ที่ไม่อาจเจือติดจิตได้ อารมณ์จึงฝ่ายเกิดขึ้น-ดับไป หมุนเวียนเข้ามา เพราะจิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์เจือติดจิตไม่ได้ อารมณ์ครอบงำจิตของภิกษุนั้นไม่ได้ ความเกิดและความดับไป ควรเป็นฝ่ายอารมณ์ต่างๆ นั้นที่เจือติดจิตไม่ได้เหล่านั้นใช่หรือไม่?

จิตของภิกษุนั้น(ไม่ใช่จิตของภิกษุรูปอื่น) ย่อมพิจารณาเห็นอารมณ์ความเกิดขึ้นและความดับไปของจิตนั้นใช่หรือไม่? ทำไมต้องจิตของภิกษุนั้น เพราะเราจะไปรู้จิตของภิกษุอื่นไม่ได้ จิตของใครของมัน ตรงไหนที่พระพุทธองค์ตรัสว่าจิตเกิด-ดับ ของแบบนี้คิดเองเออเองไม่ได้หรอกนะ

อ่านพระสูตรควรพิจารณาด้วยจิตใจที่เป็นธรรมด้วย อย่าเอนเอียงไปตามความเชื่อและอคติ พระสูตรกล่าวถึงอารมณ์ต่างๆ นั้น เช่น รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ ฯลฯ ที่ไม่สามารถครอบงำจิตของภิกษุนั้น หรือเจือติดที่จิตของภิกษุนั้นได้ แต่เวลาเกิด-ดับกลับเมโมกันเอาเองให้จิตเกิด-ดับ เพราะเชื่อตามๆ กันมาตามตำรา ทั้งที่เห็นๆ อยู่ว่าที่เกิด-ดับไปนั้น ล้วนเป็นอารมณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นใช่หรือไม่?


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 04 เมษายน 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:23:23 น.
Counter : 762 Pageviews.

สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา


สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ
ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว
ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร
ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป
ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

สมาธิสูตร
(ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา)


^
^
พระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า
"เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (มีจิตสงบตั้งมั่น)
ภิกษุที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง" (วิปัสสนา=เห็นอย่างวิเศษ)

เห็นอย่างวิเศษอย่างไรเล่า?
ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป
ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนขนาดนี้ ยังคิดจะเอาสาวกภาษิตมาล้มล้างอีกหรือ? เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นดี เห็นอย่างวิเศษหรือรู้เห็นตามความเป็นจริง รู้ชัดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นและดับไปจากจิตใช่หรือไม่? ที่รู้ชัดว่า อะไรที่รู้ชัดว่า? ใช่จิตของตนหรือไม่ที่รู้ชัด? ซึ่งการรู้ชัดนั้นต้องรู้ชัดตลอดเวลาของการเกิดขึ้นและดับไป จึงเรียกว่า "รู้ชัด" ถ้าจิตมีการเกิดๆ ดับๆ ดังตำราอาจารวาทสอนไว้ ก็แสดงว่ารู้บ้าง ไม่รู้บ้าง พระพุทธองค์จะทรงตรัสว่า "รู้ชัดว่า" ได้อย่างไร?


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 03 เมษายน 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:23:16 น.
Counter : 1337 Pageviews.

1  2  3  4  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog