ดูจิตโดยไม่รู้จักจิตที่แท้จริง ย่อมเข้าใจผิดคิดว่าจิตเป็นเหมือนปูเสฉวน
พอพูดถึงเรื่องจิตนี่แปลกนัก เป็นเรื่องที่ต้องนำมาถกกันเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้ทั้งรู้อยู่ว่า คนเรานั้นทุกคนที่มีชีวิตินทรีย์ย่อมมีจิตคนละดวง
ของใครของมันตามความเป็นจริง ส่วนอาการของจิตมีเป็นร้อยดวง

จิตที่อยู่ในร่างกายนี้ เอาร่างกายเป็นที่อาศัย
สำหรับเป็นที่ใช้สอยไปตามอำนาจของจิตเท่านั้น
ถ้าไม่ใช่จิตของเรา(ตน)ที่เข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายนี้แล้ว
จะเป็นจิตของใครอื่นไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องเป็นจิตคนนั้น
มิฉะนั้น จะทำให้เรื่องของกรรมเสียไป ไม่มีการถ่ายทอดกรรมข้ามดวงกัน
"กรรมใดใครก่อ ผู้นั้นต้องรับผลของกรรมที่ก่อไว้นั้น ไม่ช้าก็เร็วแน่นอน"

ใครก็ตามที่กระทำกรรมดีกรรมชั่วๆ ล้วนถูกบันทึกลงที่ไหนหละ?
ถ้าไม่ใช่บันทึกลงที่จิตดวงนี้ (ดวงที่ทำกรรมดี กรรมชั่ว)
แล้วจะไปบันทึกลงที่จิตดวงไหนหละ?
เมื่อทำกรรมดี กรรมชั่วแล้วไปบันทึกลงที่จิตดวงอื่นก็ดีสิ "เรื่องแปลก"
ทำแล้วไม่ต้องชดใช้กรรมที่ตนได้กระทำไว้
การที่คิดแบบนี้ เป็นเรื่องของพวก"โมฆบุรุษ"

ดังมีมาในพระพุทธวจนะดังนี้
ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า
จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้
เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็น อนัตตา(ไม่ใช่ตน)
เมื่อกรรมที่อนัตตา(ไม่ใช่ตน)ทำไว้แล้ว จักถูกตนได้อย่างไร?


ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น
ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้
ไม่รู้ แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่
พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า


การจะกล่าวร้ายใครว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ชื่อว่า สัสสตทิฐิ นั้น ควรหันกลับมาดูตนเองด้วย
ว่า ตนเองเข้าใจเรื่องสภาพธรรมของจิตที่แท้จริง ถูกต้องหรือไม่?

จึงสับสนไปกับคำว่า “จิตเที่ยง”
เพราะเห็นไปว่าอะไรๆก็ไม่เที่ยง ที่เที่ยงก็ไม่มี ที่มีก็ไม่เที่ยงนั่นเอง

ในความหมายคำว่า “จิตเที่ยง” ที่เข้าข่าย สัสสตทิฐิ นั้น หมายถึง
ผู้ที่มีความเชื่อไปว่า ใครที่เคยเกิดมาเป็นอย่างไร
เมื่อตายลงไปแล้ว ก็จะต้องกลับไปเกิดเป็นอย่างนั้นเหมือนเดิมอีกเสมอไป
ไม่ว่าจะเกิด-ตายอีก กี่้ร้อยหนกี่พันครั้ง (กี่ภพ กี่ชาติ) ก็ตาม
ก็จะต้องกลับเกิดมาเป็นอย่างเดิม"ไม่มีเปลี่ยนแปลง"คือ"จิตที่เที่ยงแท้ถาวร"นั้น
โดยที่บาปบุญคุณโทษใดๆก็ตาม ไม่อาจมีผลต่อการเกิดในแต่ละ(ภพ)ครั้ง
ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ

ส่วนพวกที่เข้าใจว่า เมื่อตายลงไปแล้วนั้น
จิตที่บันทึกกรรมครั้งสุดท้ายที่มาประชิดจิต เป็นคติเครื่องไป นำสู่ภพภูมิต่างๆ
ตามกรรมดี กรรมชั่ว ที่ได้บันทึกลงที่จิตในวาระสุดท้ายก่อนตายลงไปนั้น
เป็น"ปฏิสนธิวิญญาณ" จิตที่ไปเกิดใหม่ ก็เป็นจิตของใคร จิตของมัน
เป็นจิตของคนนั้นๆ ที่ได้ทำกรรมดี กรรมชั่วเหล่านั้นลงไป
และเป็นคติเครื่องไปสู่ภพของสัตว์(ผู้ข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย
ความเข้าใจเรื่องเกิด-ตายอย่างนี้ย่อมเป็น "สัมมาทิฐิ"

เหมือนน้ำที่ใสสะอาด แต่ได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งต่างๆที่ไหลผ่านไป
ถ้าน้ำปนเปื้อนสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็ได้อยู่ในที่ๆ หรือภาชนะที่ดี(ประณีต)มารองรับ
ถ้าน้ำปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกโสมม ก็ต้องอยู่ที่ๆหรือภาชนะที่ไม่ดี(ไม่ประณีต)

ส่วนผู้ที่มีความเข้าใจ ที่เชื่อตามๆกันมา จากตำราว่า
การไปเกิด เป็นจิตดวงใหม่ที่ได้รับการสืบต่อกรรมหรือที่เรียกว่า"ถ่ายทอดกรรม"
ที่ทำจากจิตดวงเก่า ถ่ายทอดให้ เพื่อนำให้ไปเกิดใหม่นั้น
เป็นพวกมิจฉาทิฐิ ฝ่ายอุจเฉฐทิฐิ นอกพระพุทธศาสนา

ขอถามว่า การจะสืบต่อกรรม หรือ การถ่ายทอดกรรม แก่กันได้นั้น
เป็นเรื่องขาดเหตุผลที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ
เพราะเรื่องของกรรมเป็นของที่ถ่ายทอดให้กันไม่ได้
ถ้าพิจารณาตามเหตุผล และหลักถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว
จิตดวงเก่าไม่อาจดับไปได้ในทันที เมื่อจิตดวงใหม่ยังไม่เกิด
ต้องรอจิตดวงใหม่ให้มาเกิดก่อน จึงจะ "ส่งต่อกรรม"
หรือ ถ่ายทอดสืบต่อกรรมดี กรรมชั่วให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะดับไปได้ ใช่หรือไม่?

เมื่อเรามาพิจารณาให้รอบคอบด้วยดีแล้ว
จะเห็นว่าเป็นการพูดขัดแย้งกันเองในความเชื่อนั้นๆว่า
“จิตใจอัตภาพร่างกายนี้ เมื่อจิตเกิดแล้วดับลงไป
ก็จะเกิดจิตอีกดวงหนึ่งขึ้นมาในร่างกายใหม่ เป็นคนละดวงกัน
ไม่ใช่ดวงเดิม แต่มันสืบเนื่องถ่ายทอดหรือสืบต่อกรรมต่อๆกันไป”


เมื่อจิตเกิด-ดับไปแล้ว จะเอาช่วงเวลาตรงไหน มาถ่ายทอดสืบต่อ
กรรมดี กรรมชั่วที่ทำอยู่ได้ล่ะ อย่างที่ได้บอกไว้ในตอนต้นพอเป็นที่เข้าใจว่า
จิตดวงเก่ายังดับลงไปไม่ได้ในทันทีหรอกนะ
ต้องเฝ้ารอจิตดวงใหม่ให้เกิดขึ้นมาก่อน
จึงสืบต่อถ่ายทอดกรรมดี กรรมชั่วให้กันและกันได้ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน
เพราะจะมีจิตพร้อมกันที่เดียว ๒ ดวงในเวลาขณะเดียวกันไม่ได้ (ตำราว่าไว้)

อีกเหตุผลหนึ่งที่รองรับว่า จิตมีดวงเดียว เที่ยวไปสู่ทีไกลได้ เป็นของใครของมัน
เพราะอวิชชาที่ครอบงำจิตอยู่นั้น จะเกิดๆ-ดับๆ ไปตามจิตที่ว่ามานั้นไม่ได้เลย
เนื่องจากอวิชชาจะดับได้เพียงสถานเดียวเท่านั้น คือ
ต้องลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา จนกระทั่งจิตเกิดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
รู้เห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น เมื่อวิชชาเกิดขึ้นที่จิต
อวิชชาที่ครอบงำอยู่จึงจะดับไปจากจิต ไม่มีการเกิดๆ-ดับๆอย่างที่เข้าใจกัน

ถ้าจิตเกิดๆ-ดับๆจริง อวิชชาก็ต้องเกิดๆดับๆไปตามจิตด้วยสิ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้น หรือ เป็นไปไม่ได้นั่นเอง
เพราะขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว


ดังมีพุทธวจนะรับรองไว้ว่า จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหน
เป็นพุทธพจน์ที่มีมาในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้ :

“จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา, สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ
ความเวียนว่ายของเรา (จิตของพระพุทธองค์)
เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง”


หมายความว่า จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปเวียนว่าย
จากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่งติดต่อกันไปหลายพระชาติ
เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วน ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้อริยสัจ๔
และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธาน ในการรับกรรมที่ได้เคยกระทำมา
ทุกชาติเช่นกัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม


ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน
พระพุทธองค์ทรงระลึกพระชาติได้ทุกพระชาติ
ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า
จิตดวงเดียวกันนี้ ที่เป็นผู้เวียนว่ายเข้าไปสู่ภพน้อยใหญ่อันยาวนานนับไม่ถ้วน
ถ้าเป็นจิตคนละดวงเสียแล้ว
พระองค์จะทรงระลึกพระชาติ ที่จิตดวงอื่น ที่ดับได้ด้วยหรือ?



อย่างบทความข้างล่างนี้ ก็เป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ
แถมยังกล่าวร้ายพระพุทธพจน์ให้เสียหายว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฐิ

ใครกันแน่ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฐิ

แถมยังเปรียบเทียบเกิด-ตายของจิตเป็นเช่นปูเสฉวน
โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบว่าเป็นไปได้มั้ย?

ในเมื่อปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติต้องอาศัยเปลือกหอย
เป็นที่อาศัยและป้องกันตัวเท่านั้น
เมื่ออาศัยเปลือกนั้นไม่ได้เสียแล้ว
ก็ต้องหาที่อาศัยใหม่(เปลือกใหม่)ที่เหมาะสมกับตัวเองเท่านั้น

ไม่ใช่ว่าปูเสฉวนนั้นตายแล้วกลับมาเกิดเป็นปูเสฉวนอีกเสียเมื่อไหร่หละ?

ความเข้าใจที่ผิดแล้วเปรียบจิตกับปูเสฉวนนี้สิ
จึงจะเป็นมิจฉาทิฐิฝ่ายสัสสตทิฐิ

ส่วนที่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบบางท่านกล่าวเปรียบ"ปูเสฉวน"นั้น
ในความหมายของท่านหมายถึงจิตที่ไม่มีวันตายหายสูญไปไหน
มีแต่การเปลี่ยนแปลงภพชาติไปใหม่ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในภพน้อยใหญ่
เหมือนปูเสฉวนที่เที่ยวเปลี่ยนเปลือกไปใหม่เรื่อยตามเวลาที่เหมาะสม

เช่นเดียวกับคนเราที่มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยบ่อยไป
บางคนเปลี่ยนที่อยู่เป็นว่าเล่น แบบนี้ คนนั้นก็เป็นสัสสตทิฐิด้วยสิ คิดไปได้

นี่แหละผลของการดูจิตที่ติดอยู่แค่อาการของจิต
จึงคิดได้เพียงเท่านี้เองครับ....

ธรรมภูต


-------------------------------------------------------

นี่คือตัวอย่างบทความที่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ
แถมยังกล่าวร้ายพระพุทธพจน์ให้เสียหายว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฐิ

ใครกันแน่ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฐิ

แถมยังเปรียบเทียบเกิด-ตายของจิตเป็นเช่นปูเสฉวน
โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบว่าเป็นไปได้มั้ย???
v
V
...พวกนึงคือจิตเที่ยง ร่างกายตายไปแล้วจิตออกจากร่างหนีไปเกิดใหม่
เนี่ยพวกเราชอบเชื่ออย่างนี้เยอะนะ นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ
เป็นมิจฉาทิฏฐินะ ตายไปแล้วจิตวิญญาณดวงนี้ออกจากร่างไปเกิดใหม่
ใครรู้จักปูเสฉวนมั่ง รู้จักมั้ย มันออกจากหอยใช่มั้ย
ออกจากเปลือกหอยอันนึงไปอยู่เปลือกหอยอีกอันนึง
เราคิดว่ามันปูตัวเดิม จิตของเรานี่ดวงเดิม เหมือนออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างนี้
อันนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธนะ นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่งซึ่งพวกเราเป็นเยอะ
ถ้าไม่ได้ฟังธรรมะแล้วจะคิดว่า นี่แหละ เราเป็นชาวพุทธเชื่อเวียนว่ายตายเกิด
เวียนว่ายตายเกิดของพุทธไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดแบบปูเสฉวนนะ
ถอดจากร่างนี้ไปร่างนั้น มันเกิดดับตลอดเวลา
จิตดวงหนึ่งเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ
จิตใจอัตภาพร่างกายนี้เกิดแล้วดับไป
เกิดจิตอีกดวงนึงในร่างกายใหม่
คนละดวงกัน ไม่ใช่ดวงเดิม แต่มันสืบเนื่องกันไป

------------------------------------------------------




Create Date : 22 กันยายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:32:31 น.
Counter : 985 Pageviews.

ดูจิตโดยไม่ผ่านสติสมาธิ ย่อมไม่เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง
"ดูจิต" โดยไม่มีพื้นฐานสำคัญ คือ "สัมมาสมาธิ"
จะทำให้เกิดปัญญา เพื่อความหลุดพ้นได้หรือไม่?


ขอตอบว่า ไม่ได้ครับ เพราะย่อมไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง
ถึงขบวนการที่ดำเนินไปอย่างแท้จริงในอริยสัจ ๔ อย่างแน่นอน


ดังมีพุทธวจนะกล่าวไว้ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


นั่นคือ เมื่อจิตมีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และสามารถสลัด สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้

การดูจิตในสมัยนี้ หรือ นักดูจิตที่มีอย่างทุกวันนี้ ต้องจัดว่าเป็นคนดีในสายตาของสังคม ล้วนแล้วแต่ มีการดูจิตดูใจของตัวเองอยู่เป็นประจำ เพื่อ "สำรวมระมัดระวัง" การแสดงออก หรือที่เรียกว่าระมัดระวัง สำรวมเอาอาการของจิตที่อาจจะแสดงออกมาทางกายวาจาต่อสังคมไว้

ซึ่งบางท่านถึงกับทำได้เข้าตาเนียนมากๆ โดยเฉพาะต่อหน้าธารกำนัน จนเป็นที่เข้าใจผิดของผู้พบเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นมีภูมิรู้ภูมิธรรมสูงยิ่ง

แต่แท้จริงแล้วหาใช่ไม่ ไม่เป็นไปอย่างตาเห็น เป็นเพียงความคุ้นชิน กับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น จึงเก็บงำอาการเอาไว้ได้ เพราะจดจำอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ จนกลายเป็นถิรสัญญาไป

โดยความเป็นจริงแล้ว ทุกครั้งที่มีการกระทบอารมณ์เกิดขึ้น ล้วนทำให้จิตใจของบุคคลดังกล่าว ยังมีอาการการหวั่นไหวไปตามอารมณ์เหล่านั้น แต่ด้วยความคุ้นชิน หรือ กระด้างต่ออารมณ์เหล่านั้นแล้ว จึงทำเหมือนวางเฉย(เฉยโง่) เพราะถิรสัญญาจดจำอารมณ์ได้ จึงเก็บงำเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว

โดยเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด ให้ไปคิดถึงอารมณ์อื่นแทนที่ เพื่อยับยั้งการแสดงอาการออกตามอารมณ์ที่กระทบเหล่านั้น ต้องจัดว่าเป็นสิ่งที่ดีในระดับหนึ่งในทางปฏิบัติธรรม และทางสังคม แต่เป็นการสะสมอารมณ์เหล่านั้นเอาไว้เป็นธรรมารมณ์ โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัวเลย

เมื่อถึงคราวอันสมควรมาประจวบเหมาะเข้าโดยไม่คาดหมาย ก็จะมีการแสดงอาการออกต่ออารมณ์นั้นอย่างรุนแรงกว่าปกติ สืบเนื่องมาจากมีการเก็บงำสะสมหมักดองไว้นาน

เมื่อได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว การ"ดูจิต" ที่แอบอ้างสอนกันอยู่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญญาทางธรรม ที่เกิดจากการสลัด สำรอกปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตได้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนอารมณ์หนึ่งไปสู่อารมณ์หนึ่งเท่านั้น ยังเป็นเพียงปัญญาทางโลก

เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้จดจำอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อกระทบเข้าบ่อยๆ ย่อมจดจำๆได้อย่างแม่นยำเป็น "ถิรสัญญา" และมีเจตนาที่จะสำรวมระมัดระวังในกายวาจาใจที่จะแสดงออกมา เพื่อให้ดูดีในสายตาประชุมชน หรือ คนใกล้ชิดทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นปัญญาทางธรรม ที่เกิดจากการสลัด สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้

ในส่วนนี้ เรากล่าวได้ว่า เป็นเพียงปัญญาในทางโลกที่เกิดจาก "ถิรสัญญา" หรือที่เราท่านเรียกว่า เป็นแสดงมารยาทอันดีงาม จนน่าจดจำในสังคม ไม่ใช่เป็นการสร้างปัญญาทางธรรมให้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาเลย

เพราะการสร้างปัญญาทางธรรมให้เกิดขึ้นในทางพุทธศาสนานั้น เป็นปัญญาความสามารถที่ สลัด สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตนออกไปได้ จากอุปาทานขันธ์ ๕ (อารมณ์) คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่านั้น

เราๆท่านๆต้องยอมรับว่าในวันหนึ่งๆนั้น มีภาระหน้าที่ในเรื่องต้องใช้การนึกคิดพิจารณาเกือบทางวัน บางครั้งบางอารมณ์ที่ไม่ชอบเอามากๆ เราท่านก็พยายามที่จะสลัดออก หรือวางลงอย่างสุดความสามารถ จนกระทั่งเหนื่อยหน่ายและปล่อยวางไปเอง แต่ไม่นานอารมณ์ที่ว่านั้น ก็ย้อนกลับมาให้เอากลับมาคิดอีก จนกว่าจะเหนื่อยหน่ายไปเอง เป็นวัฏฏะวน จนอารมณ์จืดจางไปเองก็มี แล้วอารมณ์นั้น พร้อมที่จะย้อนกลับมาใหม่ได้ทุกเวลา

เมื่อเรามารู้จักพุทธศาสนา ที่เป็นหลักธรรมอันแท้จริง และเป็นรากฐานสำคัญแล้ว อันพระบรมศาสดาได้ทรงสั่งสอนให้รู้จักวิธีปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพื่อให้สามารถที่จะสลัด สำรอก ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายให้ออกไปจากจิตของตน โดยการเพ่งฌานในสัมมาสมาธิ

ดังมีกล่าวไว้มากมายหลายในพระสูตร เช่น ในอาเนญชสัปปายสูตร

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ


อีกพระสูตรชื่อว่า มหาจัตตารีสกสูตร กล่าวไว้อย่างชัดเจนเลยว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแก่เธอทั้งหลาย

พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ (ปัญญา)
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (ศีล)
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นสมาธิ) เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ



เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (อริยสัจ ๔)
ดังกล่าวในพระพุทธวจนะข้างต้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?


เมื่อจิตของเราท่านยังไม่สงบตั้งมั่น มีความฟุ้งกระจายเป็นธรรมดา เมื่อกระทบอารมณ์เข้าแล้ว ไม่ยึดเป็นไม่มี เมื่อได้ฝึกฝนอบรมจิตให้มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วยสัมมาสมาธิ จนกระทั่งเข้าสู่เจโตวิมุตติ ย่อมเข้าใจได้ดีว่า

จิตที่ส่งออกไปยึดอารมณ์ภายนอก ไม่ทุกข์เป็นไม่มี คือ "ทุกข์"

จิตที่ส่งออกนอกนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ "สมุทัย" นั่นเอง

เมื่อรู้เห็นเช่นนี้ย่อมน้อมจิตของตน ให้รู้อยู่เฉพาะที่ฐานที่ตั้งของสติได้นั้น คือ "มรรค"

จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น คือ "นิโรธ"


เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญาวิมุตติ)
คือ รู้จักอริยสัจ ๔ ตามที่มีพุทธวจนะกล่าวรับรองไว้

พอสรุปได้ว่า ปัญญาทางธรรม ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะการประกอบเท่านั้น
เมื่อไม่ประกอบ (ความเพียรเพ่ง) ย่อมไม่เกิดปัญญาทางธรรม

การประกอบที่ว่านั้น คือการฝึกฝนอบรม "สัมมาสมาธิ" ที่ประกอบควบคู่ไปด้วย สัมมาสติ และ สัมมาวายามะ จนชำนิชำนาญ คล่องแคล่ว เพียงแค่นึกน้อมจิตก็มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ในทันทีเหมือนกัน

สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันตามลำดับ
เพราะเป็นอัญญะมัญญะปัจจัย ซึ่งหมุนเนืองกันเองตลอดเวลา

การมีปัญญาทางธรรม โดยที่ไม่ผ่านการฝึกฝนอบรมสติ สมาธิมานั้น "ย่อมเป็นไปไม่ได้"
นั่นเป็นเพียงปัญญาทางโลกที่เกิดจากถิรสัญญาเท่านั้นเอง.



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 25 กรกฎาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:32:46 น.
Counter : 1118 Pageviews.

การดูจิต ที่รู้เห็นผิดจากความเป็นจริงไป เพราะรู้จักจิตผิดๆ
ในปัจจุบันนี้ มีการสอนเรื่องดูจิต  โดยมีวิธีการสอนที่ขัดกับหลักในพระพุทธพจน์อย่างสิ้นเชิง เช่นสอนว่า "เพราะเราไม่ได้ดูจิตเพื่อดับทุกข์ หากแต่ดูเพื่อให้รู้ความจริงว่า ทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร"

ทุกข์ดับไปจากจิตได้อย่างไร ใช่ดับจิตที่เป็นทุกข์ใช่หรือไม่?

ถ้าการดูจิต หรือ การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา(สัมมาสมาธิ)นั้น ไม่ใช่เพื่อการดับทุกข์ที่เกิดขึ้นที่จิตของตน หรือ จิตที่เป็นทุกข์แล้ว จะมีประโยชน์อะไรกับการอบรมจิตของตน ให้มีกำลังในการปล่อยวางอารมณ์ที่กำลังเป็นทุกข์นั้นออกไปจากจิต 

หากต้องการรู้ความจริงว่าทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น  ใครๆที่เคยมีทุกข์มาก่อน ย่อมรู้ความจริงในข้อนี้ดีว่า ทุกข์ย่อมเกิดจากจิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบจิต จนกระทั่งเกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆแสดงออกมาให้เห็น เป็นการแสดงออกถึงความรัก ชอบ ชัง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กับอารมณ์ที่มากระทบจิตของตนในขณะนั้นๆ ย่อมดับลงเมื่ออารมณ์เหล่านั้นจืดจางไปจากจิตของตน หรือเมื่อมีอารมณ์ใหม่ๆจรเข้ามาแทนที่ อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์เก่า ที่แสดงออกมาให้ประจกษ์ก็ดับตามไปด้วยเช่นกัน 

เช่น คนที่ชอบดื่มสุรา เที่ยวนารี เล่นกีฬาบัตรนั้น ย่อมรู้ดีว่า ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะอะไร และดับไปเพราะอะไร แต่ทำไม ทำไม ทำไม ถึงยังลด ละ เลิก กิเลสเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์เหล่านั้นไม่ได้สักที 

การรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกข์ดับไปได้อย่างไรนั้น จะมีประโยชน์อะไรหละ เมื่อรู้แล้วไม่สามารถ ลด ละ เลิกในสิ่งเหล่านั้นได้ รู้ไปก็ไร้ประโยชน์ ในเมื่อจิตไม่มีกำลังสติสงบมากพอที่จะยับยั้งหรือ ละเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้

ทุกข์ที่เกิดขึ้นที่จิตของตนนั้น เพราะจิตหลงใหลเพลินยิ่งเข้าไปในอารมณ์และยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์กิเลสต่างๆเหล่านั้นเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งถอนตัวเองออกจากอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นได้ยากยิ่งขึ้น และจดจำธรรมารมณ์เหล่านั้นได้แม่นยำ มีความฉลาดในการจัดการกับธรรมารมณ์เหล่านั้น ด้วยการหาอารมณ์อื่นที่ได้กำหนดไว้ มาแทนที่ธรรมารมณ์เหล่านั้น หรือที่เรียกว่า "เปลี่ยนแปลงอารมณ์" ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่ติดข้องอยู่ในโลก

แต่กลับมีผู้สอนว่า "เมื่อจิตรู้ความจริงแล้ว จิตก็ย่อมหาทางพ้นทุกข์ของเขาเอง เรามีหน้าที่รู้เท่านั้น"

จะเป็นไปได้อย่างไรที่พูดว่า เมื่อรู้ความจริงแล้วจะพ้นทุกข์ได้เอง มันจะเป็นอะไรที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ที่พวกดื่มสุรา เที่ยวนารี เล่นกีฬาบัตร ทำให้ตนเองพ้นทุกข์อย่างนั้นหละหรือ?

ผู้ที่จิตของตน มีสติสงบสามารถรู้เห็นตามความเป็นจริงและพ้นทุกข์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ฝึกฝนอบรมจิตของตนมาจนชำนาญแล้ว

เรามองความเป็นไปได้ว่า เมื่อบุคคลที่กล่าวอ้างถึงนั้น รู้ถึงวิธีการพ้นทุกข์ในขณะนั้น เป็นพวกที่ชอบดื่มสุรา(ติด) เที่ยวนารี เล่นกีฬาบัตรนั้น เพราะมีความสุขในการเสพ และหาวิธีทางพ้นทุกข์ได้เองจริงๆ โดยการเสพสมอารมณ์ที่ว่ามาเหล่านั้น เข้าไปจนพอใจ คือสมอยากจากการเสพอารมณ์แล้ว ความทุกข์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น ก็ดับไปเอง(ชั่วคราว) 

เมื่ออยากใหม่ เค้าก็หาวิธีพ้นทุกข์ได้เองโดยวิธีเดิมๆ อย่างที่เคยทำมาจนชาชิน วนเวียนเป็นวัฏฏะวน จนจิตกระด้างและฉลาดในการจัดการต่อธรรมารมณ์ที่ปรากฏนั้น โดยไม่อินังขังขอบต่อสายตาของใครๆ หรือสามารถปกปิดให้พ้นสายตาใครต่อใครได้นั่นเอง

ที่ท่านสอนว่า เรามีหน้าที่รู้เท่านั้นหนะใช่ เพราะจิตเป็นธาตุรู้ และจิตต้องตั้งสติกำหนดรู้ลงไปด้วย แต่จะลด ละ เลิกได้จริงนั้น จิตของตนต้องมีปัญญาอันเกิดแต่สัมมาสมาธิ และจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นได้เท่านั้น

การที่จะทำแบบนั้นได้ คือ จิตมีหน้าที่รู้สักว่ารู้ได้จริงๆ หรือที่เรียกว่ารู้แล้ววาง (รู้อยู่ที่รู้)  ต้องมีพื้นฐานด้านการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนามาอย่างจริงจังไม่ย่อท้อ จนกระทั่งจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบได้อย่างชำนาญเป็นวสีเท่านั้น จึงจะรู้อยู่ที่รู้ได้ โดยไม่ไปรู้อยู่ที่เรื่องราว หรือ อารมณ์กิเลสต่างๆได้ เพราะรู้แล้วละเหตุแห่งทุกข์ได้ คือจิตไม่ส่งออกนั่นเอง 

การพูดด้วยลมปาก ก็ได้แต่ลมปาก และจิตนาการที่เกิดจากความคิดที่ตกผลึกแล้วเท่านั้น การที่ได้พูดออกไปว่าตนเอง "รู้" ใช้ประโยชน์อะไรจริงจังได้ที่ไหน คนส่วนใหญ่ที่พูดว่า "รู้" แล้วยังละไม่ได้ คือการติดดีในดีอย่างเหนียวแน่นทั้งนั้น ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึกของตนเอง แต่ยังปล่อยวางไม่เป็น มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่

สามารถพูดออกมาได้เต็มปากว่า "การสอน "ดูจิต"ในปัจจุบัน ที่จริงจิตไม่เคยว่างจากอารมณ์ แม้อารมณ์หยาบจะดับไป เช่นดูแล้วความโกรธดับไป ความรู้สึกเฉยๆ ไม่มีอะไร ที่บางคนบอกว่า ว่างๆ ที่เข้ามาคั่นก่อนที่อารมณ์หยาบตัวใหม่จะจรมา อันนั้นก็คืออารมณ์อีกตัวหนึ่ง"

การสอนแต่ละครั้งของอัตโนมัติอาจารย์ ไม่เคยนำพาเลยว่าพูดขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วหรือไม่ แต่กับแอบอ้างตลอดเวลาที่ตนเองสอนอยู่ว่า ตนเองเอามาจากพระพุทธพจน์ ทั้งๆที่มีพระพุทธพจน์ที่มาในหัวใจพุทธศาสนากล่าวไว้ชัดเจนว่า "สะจิตตะปริโยทะปะนัง เอตังพุทธานะสาสะนัง การชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ล้วนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

ความที่ผู้สอนนั้น ไม่เคยลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจังมาก่อน จนบรรลุผลที่ควรได้ควรเป็น จึงไม่รู้ว่าการที่ฝึกฝนอบรมจิตจนอยู่ในสภาวะปัจจุบันธรรมที่แท้จริงนั้น  เป็นสภาวะธรรมที่จิตปราศจากอารมณ์เครื่องเศร้าหมองใดๆในขณะนั้น  ซึ่งเป็นธรรมที่เหนือธรรมชาติ เหนือกาลเวลา ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นปัจจุบันธรรมที่แท้จริง

เมื่อผู้สอน "ดูจิต" ไม่เคยรู้จักสภาวะปัจจุบันธรรมที่แท้จริง ว่าปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร จึงสอนไปเรื่อยเปื่อยว่า "ขึ้นชื่อว่าจิตแล้วไม่เคยว่างจากอารมณ์"

แถมยังสอนต่ออีกว่า "สติจะเกิดได้นั้น เพราะมีเหตุใกล้ทำให้เกิด คือจิตรู้รับอารมณ์เข้าแล้ว"

หากสติที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องผูกอยู่กับอารมณ์ที่เป็นเหตุใกล้ ำให้เกิด ถ้าเป็นอย่างงั้น เมื่อจิตรู้แต่ไม่รับอารมณ์ คือรู้แล้วละ ก็แสดงว่าสติเกิดขึ้นไม่ได้สิ เพราะไม่มีเหตุใกล้ทำให้เกิด พูดไปได้ โดยไม่อายความจริงที่ว่า พระอรหันต์นั้น จิตท่านบริสุทธิ์ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ(เหตุ)แล้ว แบบนี้พระอรหันต์ท่านก็ต้องไม่มีสติสิ เพราะไม่มีเหตุใกล้ทำให้เกิด เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะพระอรหันต์นั้น ท่านมีสติตื่นอยู่เสมอ(ชาคโร) 

จะเห็นได้ว่าวิธีการสอนดูจิตดังกล่าวข้างต้นนั้น ขัดกับหลักในพระพุทธพจน์อย่างสิ้นเชิง 

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 25 มิถุนายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:33:11 น.
Counter : 784 Pageviews.


ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์