ดูจิตกันยังไง จึงเห็นว่าจิตเป็นกองทุกข์ไปได้
ที่ต้องพยายามเน้นนักเน้นหนาเรื่อง "จิต" นั้น เพราะในปัจจุบันผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนารายใหม่ๆ มักเชื่อตามๆ กันมาจาก "ตำราและอาจารย์" โดยไม่เคยพิจารณาว่าสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมานั้น น่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งๆที่สิ่งที่รู้มา อ่านมา หรือได้ยินได้ฟังมานั้น ขาดเหตุผลไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย เพียงเพราะเป็นการเชื่อแบบตามๆกันมาเท่านั้น

ซึ่งผิดไปจากหลักกาลามาสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า อย่าได้เชื่อเพราะว่า สิ่งที่เชื่ออยู่นั้น เป็นการเชื่อที่เกิดขึ้นแบบตามๆกันมา ๑๐ ประการ โดยไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเสียก่อน

พระองค์ยังทรงตรัสไว้ในท้ายกาลามสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อทั้ง ๑๐ ประการ ให้ตั้งใจฟัง ศึกษาให้ดีเสียก่อน แล้วนำสิ่งที่รู้และได้ยินได้ฟังมา เอามาสมาทาน ลงมือปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อลงมือปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงได้แล้ว และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ผู้รู้ไม่ติเตียน ค่อยเชื่อก็ยังไม่สายเกินไปหรอก

แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ชาวพุทธส่วนใหญ่มักเชื่อโดยขาดหลักเหตุผล เพียงเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรืออยู่ในฐานะที่ผู้ฟังคิดเองเออเอง ว่าผู้พูดคงไม่โกหกหรอก โดยไม่เคยนำพามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง กับพระพุทธพจน์ (พระสูตรและพระวินัย) หรือกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในสายภาวนากรรมฐานเลย

อย่างเช่น เชื่อไปได้ว่า "จิตเป็นกองทุกข์" หรือ "จิตเป็นตัวทุกข์" ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียแล้ว จะเป็นการสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ เท่ากับเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ดีๆนั่นเอง โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว ก็จะเสียหายไปด้วย

โอวาทปาฏิโมกข์ ๑ ละชั่ว ๒ ทำดี ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หรือที่เรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

ถ้าเราลองพิจารณาให้ดี ก็จะพบว่าพระองค์ทรงตรัสถึงเรื่อง "จิต" ล้วนๆ ทั้ง ๓ ข้อเลย ข้อ ๑ การละชั่ว ละกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ละกันที่จิต ข้อ ๒ การทำดี ทำกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทำดีกันที่จิตอีกนั่นแหละ ในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นั้นล้วนมีสอนกันอยู่ในทุกๆศาสนา เช่นเดียวกันกับพระพุทธศาสนาของเรา แต่ในข้อที่ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น จะมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับ "อริยมรรค" หรือ "อธิจิตสิกขา"

ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียเองแล้ว คำว่า อธิจิต เราจะแปลว่ายังไงดีหละ คงต้องแปลว่า จิตเป็นกองทุกข์อันยิ่ง ใช่หรือไม่? เรายังจะชำระจิตไปเพื่ออะไร เมื่อชำระจิตได้แล้ว แทนที่จิตจะสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หลุดพ้นไปได้ หรือกลายเป็นอธิจิต ซึ่งอธิจิตจะนำให้เกิด "อธิปัญญา" ตามมาได้ แต่กลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น

สืบเนื่องจากมีความเชื่อกันไปแล้วว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือเป็นตัวทุกข์ ในเมื่อจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์ซะแล้ว มันก็ต้องเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์อยู่อย่างนั้นเองวันยังค่ำ จะดัดแปลงแก้ไขใดๆไม่ได้เลย

เพราะความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง เห็นจิตเป็นวิญญาณขันธ์ จึงเข้าใจผิดว่าจิตเป็นกองทุกข์ เพราะวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ ถูกจัดไว้เป็นกองทุกข์ นั่นเอง

มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดเจน "ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์" ใครที่เป็นผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หละถ้าไม่ใช่ "จิตของตน"

เรื่องราวต่างๆในโลกที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนสืบเนื่องมาจาก การที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เข้ามาเป็นของๆตน(คือจิต) นั่นเอง

เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์(อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด)ทั้งหลาย ที่รัก ที่ชอบ ฯลฯ จิตก็จะเป็นสุขไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่รักที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ชอบใจ ขัดใจ ชิงชัง ฯลฯ จิตก็จะหงุดหงิด เศร้าหมองจนเป็นทุกข์ไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น

เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าจิตไม่ใช่เป็นกองทุกข์แน่นอน เพราะในบางครั้งบางคราว จิตก็เป็นตัวสุข หรือเป็นกองสุขขึ้นมาได้เช่นกัน

ฉะนั้น จิตไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ที่จิตเป็นสุข หรือจิตเป็นทุกข์ขึ้นมานั้น ล้วนเพราะตัวจิตเองเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นของๆตนนั่นเอง

เมื่อได้ลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาด้วยความเพียรจนสำเร็จ จิตจะมีสติอย่างต่อเนื่อง (สันตติ) เป็นจิตที่มีคุณภาพ อ่อน ควรแก่การงาน และจิตเองก็จะปฏิเสธ สุข ทุกข์ โสมนัส หรือโทมนัสทั้งหลายในกาลก่อนไปด้วย เพราะปล่อยวาง(ละ) อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้น และปล่อยวาง(ละ) ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้น ณ.ภายในจิตของตนเอง เข้าถึง "อธิจิต"ได้ ดังมีพระพุทธวจนะรับรองไว้ดังนี้

สัตว์ (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง
เพราะจิตเศร้าหมอง
สัตว์ (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์
เพราะจิตผ่องแผ้ว


เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆว่า
จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน

(คัททูลสูตรที่ ๒)

จิต นี้มีมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหนและจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน แต่นี้อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี

(อวิชชาสูตร)

(อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิตแต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาแต่ครั้งใด รู้ไม่ได้)

"ปภสฺสรมิทํภิกฺขเว จิตฺตํ,ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"


พระพุทธวจนะที่ยกมานี้ พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า จิตจะเศร้าหมองจนเป็นทุกข์ หรือผ่องแผ้วจนเป็นสุขนั้น เกิดจากการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จึงจะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ณ.ภายในของจิตผู้นั้น

ถ้าจิตของผู้นั้นไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรของจิตผู้นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย จิตก็อยู่ส่วนจิตกิเลสก็อยู่ส่วนกิเลส ซึ่งเป็นของคู่โลก

พระพุทธวจนะที่นำมาเสนอนี้ ชัดเจนแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องตีความใดๆทั้งสิ้นเลย


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 09 มิถุนายน 2553
Last Update : 18 ธันวาคม 2559 22:45:55 น.
Counter : 744 Pageviews.

ดูจิตที่รู้ผิดจากความเป็นจริง ย่อมเห็นจิตเป็นกองทุกข์
การดูจิตในปัจจุบันนี้ เกิดจากการใช้ปัญญาทางโลก(สัญญา)
ที่ตกผลึกคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน
มาผนวกเข้ากับความรู้ความจำจากตำราของตนเองที่เรียนรู้มา
แล้วนำมาสั่งสอน โดยชี้ให้เห็นไปว่าเป็นคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว คำสอนที่นำมาสอนนั้น
ผิดแผกแตกต่างจากคำสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ได้เคยสอนไว้อย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะเรื่อง "จิต" ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทุกๆองค์ ทรงตรัสสอนแต่เรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น
ทรงจัดอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นกองทุกข์

ดังมีพุทธวจนะที่ทรงตรัสรับรองไว้ใน ธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า
“สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานขันทา ทุกขา
โดยสรุปแล้ว การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนเป็นทุกข์”



ใครหละที่เป็นผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เหล่านี้? ถ้าไม่ใช่ "จิตผู้รู้"

และในอนัตตลักขณสูตร ก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า
"รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา(อนัตตา)"

ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า "จิตเป็นอนัตตา" ด้วย

ตอนท้ายบทของพระสูตรยังกล่าวอีกว่า
"จิตของท่านพระปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทานที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕"

และยังมีอีกในหลายๆพระสูตรกล่าวไว้ชัดเจนเช่นกันว่า
"จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต"

ในปัจจุบันอัตโนมัติอาจารย์ผู้สอนบางท่านในฝ่ายปริยัติ แต่แอบอ้างตนเองว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติ
กลับสอนว่า จิตก็คือ "วิญญาณขันธ์" และ วิญญาณขันธ์ก็คือ "จิต"

ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดแผกไปจากความเป็นจริงที่ควรเป็น

และยังกล้าหาญที่จะกล่าวหาว่าร้ายพ่อแม่ครูบาอาจารย์
ว่าท่านสอนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง



ซึ่งพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า
จิตที่ส่งออกนอกเป็น สมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค(ทางเดินของจิต)
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ


โศลกธรรมที่ท่านกล่าวมานั้น เป็นธรรมที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์
ท่านกลั่นกรองมาจากผลการปฏิบัติที่ท่านกระทำได้สำเร็จแล้ว

แต่ก็มีผู้ที่ชอบแอบอ้างตนเองว่าเป็นลูกศิษย์ของท่าน
กลับมากล่าวว่า ข้อธรรมนี้ "น่าจะ"คลาดเคลื่อนจากสภาวะธรรมที่หลวงปู่สอน

แถมยังชี้แจงลงไปอีกว่า "จิตคือวิญญาณขันธ์" "จิตคือกองทุกข์"


ซึ่งคำสอนที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่นี้
หลวงปู่ไม่เคยกล่าวไว้ในที่ไหนๆเลยว่า "จิตคือวิญญาณขันธ์"
มีแต่ปฏิเสธว่าจิตไม่ใช่อารมณ์ (ขันธ์ ๕)

แถมหลวงปู่ยังสั่งสอนไว้อีกว่า
"อย่าให้จิตแล่น(ออกจากฐานที่ตั้งของสติ)ไปสู่อารมณ์ภายนอก
ถ้าเผลอ เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงจิตกลับมา(ที่ฐานที่ตั้งของสติ)
อย่าปล่อยให้รู้อารมณ์ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ไม่คล้อยตามและหักหาญ"



สำหรับผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
ตามแบบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในฝ่ายปฏิบัติ "พุทโธ" มานั้น
ย่อมรู้ดีว่า จิตนั้นไม่ใช่ตัวทุกข์
ที่เป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ
กดดันให้เกิดกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนเวียนเป็นวัฏฏะ
ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไหร่ อย่างทุกวันนี้ โดยไม่รู้เลยว่าจะจบลงตรงไหน


ที่เป็นทุกข์เพราะอะไร???
เพราะจิตชอบออกไปรับรู้อารมณ์เหล่านั้น
และยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นมาเป็นของๆตนใช่มั้ย? จิตจึงเป็นทุกข์

ถ้าเราไม่ปล่อยให้จิตแล่นออกไปหาอารมณ์อย่างที่หลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวไว้
จิตจะเป็นทุกข์มั้ย? จิตส่วนจิต อารมณ์ส่วนอารมณ์

ฉะนั้น จิตไม่ใช่ตัวทุกข์ แต่ที่ทุกข์ก็เพราะ
จิตชอบแล่นออกไป ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้น มาเป็นของๆตนนั่นเอง



โชคดีที่พวกเราเกิดมารู้จักพระพุทธศาสนา
ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นสัพพัญญูรู้แจ้งโลก
สอนให้เราชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
พระองค์ท่านไม่เคยสอนให้ชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์เลย

ท่านที่เคยปฏิบัติผ่านมาด้วยความเพียร
จนกระทั่งจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้แล้ว
ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
จิตของเรานั้นสามารถฝึกฝนอบรมให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้จริง
จิตว่างจากอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่งได้จริง



ไม่ใช่ดังมีผู้สอนไว้ว่าจิตจะว่างจากอารมณ์ไม่ได้เลย
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดจากความเป็นจริง

เพราะแม้ขณะปฏิบัติอยู่ ถึงจิตมีสติจะสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นการชั่วคราว(ตทังคะ)ก็จริง
แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อไป ด้วยความเพียรพยายาม จนกระทั่งชำนาญเป็นวสีแล้ว
จิตย่อมมีสติอย่างต่อเนื่อง(ชาคโร)ปล่อยวางว่างจากอารมณ์ต่างๆ ได้เร็วขึ้น


ถ้าจิตเป็นวิญญาณขันธ์จริง พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้อบรมจิตไปเพื่ออะไร?....

สรุปแล้ว จิตไม่ใช่กองทุกข์
ที่จิตเป็นทุกข์ ก็เพราะจิตชอบแล่นออกไปยึดถืออารมณ์มาเป็นของๆตน
จึงเป็นทุกข์ที่จิตของตน



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 26 กันยายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:52:47 น.
Counter : 690 Pageviews.


ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์