ดูจิตตามแบบฉบับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ๔ (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายแต่เก่าก่อนนั้น
ท่านทั้งหลายล้วนเน้นให้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อเข้าถึงหลักชัย
แบบเอาชีวิตเข้าแลกกับการภาวนา โดยไม่กลัวทุกขเวทนาทางกายที่จะปรากฏเลย
เพื่อสร้างสติสัมปชัญญะแบบต่อเนื่อง (ชาคโร)
ให้จิตรู้อยู่ที่กรรมฐาน (ฐานที่ตั้งอันควรแก่การงาน)

การดูจิตของท่านจึงเน้นลงไปที่
เอาจิตผู้รู้ ไปรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ และคำภาวนา "พุทโธ" แบบต่อเนื่อง
จนกระทั่ง จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ทั้งหลาย
สงัดจากกามารมณ์ อกุศลธรรมทั้งหลาย และธรรมารมณ์ ณ.ภายใน
ด้วยองค์ภาวนา "พุทโธ" ให้ได้สำเร็จผลก่อน

ที่เรียกว่า "ภาวนาเป็น รู้เห็นตามความเป็นจริงได้"

ทำให้การดูจิตนั้น มีคุณภาพ ไม่ติดอยู่เพียงแค่ความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น
เปรียบเสมือนน้ำที่สงบนิ่งปราศจากลูกคลื่น และไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ
ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆในน้ำได้ชัดเจนกว่ายามปกติที่น้ำมีลูกคลื่นปรากฏอยู่
ทำให้รู้จัก และรู้เห็นสภาพธรรม ณ ภายในที่แท้จริง เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมา

ซึ่งขบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความเพียรพยายามเป็นอย่างมาก
ในการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตน ด้วยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา "พุทโธ"
จึงจะเกิดขึ้น และเข้าถึงสภาพธรรมที่แท้จริงของจิตได้

และต้องเพียรพยายามให้สภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น
เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนเป็นวสี เรียกว่า เป็นปัจจุบันธรรมได้อย่างแท้จริง

ซึ่งแตกต่างจากการปฏิบัติดูจิตในปัจจุบันนี้อย่างมากมาย

โดยมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน นำเอาธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาตีความ
เพื่อให้เข้ากับจริตนิสัยของตนเอง คือทำแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น
เป็นที่ชื่นชอบของคนเมือง ที่คิดว่าตนเองนั้นฉลาดกว่าคนจำพวกอื่น
เข้าใจว่าตนมีปัญญามาก ทั้งๆที่ความจริงเป็นแค่สัญญา
เหตุเพราะเกียจคร้านที่จะต้องอดทนต่อการนั่งปฏิบัติธรรมภาวนา

ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย การ "ดูจิต" ที่มีสอนดังกล่าวนั้น
เป็นเพียงความตั้งใจที่มีเจตนาสำรวมระวังความรู้สึกนึกคิด
ในการกระทำกิจในชีวิตประจำวันของตนเท่านั้น

เมื่อสำรวมระวังความรู้สึกนึกคิดได้ ทำให้รู้เห็นความคิดของตนได้เร็วขึ้น
แต่ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดออกไปไม่เป็น
เพราะไม่เคยภาวนาจนจิตหยุดคิดนิ่งได้

เมื่อจิตไม่รู้วิธีหยุดคิด(นิ่ง) ย่อมปล่อยให้จิตไหลไปตามอารมณ์
ความรู้สึกนึกคิดทั้งวัน (ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา)
จึงไม่ใช่ "สัมมาสติ" ที่มีสัมปชัญญะกำกับอย่างแท้จริง

เพราะการทำกิจวัตรประจำวันนั้น เรายังต้องนึกคิดติดตามสิ่งต่างๆ
เป็นเรื่องเป็นราว(ปรุงแต่ง) กับสิ่งต่างๆที่เราทำอยู่
โดยบางครั้งบางคราว เราก็เพลินยิ่งเข้าไปสู่อารมณ์ความคิดเหล่านั้น
โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และตัดสินอารมณ์ความคิดเหล่านั้นด้วยความรู้สึก
ที่รัก ชอบ ชัง ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ

แล้วเข้าใจไปเองว่า ตนมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ ซึ่งไม่ใช่เลย
นั่นเป็นการหลอกตนเอง ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง

วิธีที่ถูกตรงคือ ต้องหมั่นอบรมฝึกฝนวิธีการสร้างสัมมาสติให้เกิดขึ้นที่จิต
ของตนให้ได้ก่อน โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา "พุทโธ"
จนกระทั่งจิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เพราะมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่อย่างแท้จริง


เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโรกล่าวไว้ว่า

"ต่อไปนี้จะให้ทำบุญโดยเข้าที่ภาวนา นั่งดูบุญดูกุศลของเรา
จิตใจมันเป็นยังไง ดูให้มันรู้มันเห็นซี่ อย่าสักแต่ว่า สักแต่ว่าทำ
เอาให้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่

เราต้องการความสุขสบาย แล้วมันได้ตามต้องการไหม
เราก็มาฟังดูว่าความสุขความสบายมันอยู่ตรงไหน เราก็นั่งให้สบาย
วางกายของเราให้สบาย วางท่าทางให้สง่าผ่าเผยยิ้มแย้มแจ่มใส

เมื่อกายเราสบายแล้ว เราก็วางใจให้สบาย
รวมตาเข้าไปหาดวงใจ หูก็รวมเข้าไป เมื่อใจสบายแล้ว
นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยะสงฆ์อยู่ในใจ
เราเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว จึงให้นึกคำบริกรรมภาวนา ว่า " พุทฺโธธมฺโม สงฺโฆ" สามหน

แล้วเอาคำเดียว ให้นึกว่า "พุทฺโธ พุทฺโธ" หลับตางับปากเสีย ตาเราก็เพ่งเล็ง
ดูตำแหน่งที่ระลึกพุทโธนั่น มันระลึกตรงไหน
หูเราก็ไปฟังที่ระลึกพุทโธนั่น สติเราก็จ้องดูที่ระลึก พุทโธ พุทโธ
จะดูทำไมเล่า ดูเพื่อให้รู้ว่า ตัวเรานี่เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์
มันดีหรือมันชั่ว จิตของเราอยู่ในกุศล หรือ อกุศลก็ให้รู้จัก

ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มันเป็นยังไง คือ
จิตมีความสงบ มันไม่ส่งหน้า ส่งหลัง ส่งซ้าย ส่งขวา เบื้องบนเบื้องล่าง
ตั้งอยู่จำเพาะท่ามกลางผู้รู้ มันมีใจเยือก ใจเย็น ใจสุขใจสบายจิตเบา
กายมันก็เบา ไม่หนักไม่หน่วงไม่ง่วง ไม่เหงา
หายทุกข์ หายยาก หายความลำบาก รำคาญ สบายอกสบายใจ
นั่นแหละตัวบุญตัวกุศลแท้

นี้จะได้เป็นบุญเป็นบารมีของเรา เป็นนิสัยของเรา ติดตนนำตัวไปทุกภพทุกชาติ
นี่แหละให้เข้าใจไว้ จิตของเราสงบเป็นสมาธิ คือ กุศล อกุศลเป็นยังไง
คือ จิตเราไม่ดี จิตทะเยอทะยาน จิตดิ้นรนพะวักพะวง จิตทุกข์ จิตยาก
จิตไม่มีความสงบ มันเลยเป็นทุกข์ เรียกว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย"



ตลอดเวลาที่ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ฝั้น ดำรงชีวิตอยู่นั้น
คำสั่งสอนของท่านมักเน้นไปที่การภาวนาให้เป็น
จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมาได้
เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ การ "ดูจิต" ก็ไม่ผิดไปจากแบบแผน
ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต้องการให้เป็นไป
คือ ต้องมีพื้นฐานสำคัญ เรื่องการปฏิบัติกรรมฐานภาวนา "พุทโธ"



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 23 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:29:43 น.
Counter : 1352 Pageviews.

4 comments
  
เข้ามาอ่านครับท่าน
โดย: นมสิการ วันที่: 23 พฤศจิกายน 2552 เวลา:8:52:35 น.
  
อนุโมทนาบุญค่ะ
โดย: นาฬิกาสีชมพู วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:0:02:34 น.
  
โดย: พ่อระนาด วันที่: 14 ธันวาคม 2552 เวลา:0:11:05 น.
  
เข้ามาอ่าน สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้เจริญในธรรม
โดย: kongbang IP: 20.33.1.18, 115.31.138.11 วันที่: 2 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:04:28 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์