ดูจิตให้ดูที่สมถะและวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
ดูจิตให้ดูที่สมถะและวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น

เมื่อพูดถึงการ "ดูจิต" นักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน คนรุ่นใหม่มักเข้าใจไปว่า คือการระวัง "กายใจ" หรือที่เรียกว่า "สังวรอินทรีย์" นั้น นั่นเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนากรรมฐาน (ปัญญา) แล้ว และพากันเข้าใจไปว่า นี้เป็นทางที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น เหมาะสำหรับบุคคลที่มีปัญญา ไม่มีเวลา "ภาวนามยปัญญา"

การ "ดูจิต" ที่ขาดพื้นฐานสำคัญคือ การ "ภาวนา" ที่เรียกว่า "สมถะกรรมฐาน" นั้น นั่นเป็นเพียงการดูจิตที่ติดอยู่กับความคิดเองเออเองของตน ไม่ใช่การ "ดูจิต" ที่เกิดจากพิจารณา "จิตในจิต" ซึ่งเป็นการ "ดูจิต" ในมหาสติปัฏฐาน ที่รู้จักจิตและอาการของจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตามความเป็นจริง

แต่การ "ดูจิต" ที่ติดความคิดเองเออเองของตน เป็นความคิดปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อหลอกตนเองว่า "รู้สึกเฉยๆ" (อัญญาณุเบกขา) ความ "รู้สึกเฉยๆ" ที่เป็นเพียงความ "รู้สึก" ที่ปรุงแต่งขึ้นเอง ไม่ใช่ "เฉย" ที่เป็นอุเบกขาธรรม อันเกิดจากปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาสำเร็จ จนปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้

โดยมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน ได้สั่งสอนตามมติของตน จนเกิดความสับสน ทำให้มองข้ามความสำคัญของ "สมถะกรรมฐานภาวนา" อันมี "สัมมาสติ" ในอริยมรรคเป็นพื้นฐานของกรรมฐาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นของจิต

กลับมีการแอบอ้างว่า "การเจริญสมถะกรรมฐานภาวนา" ที่ว่านั้น เป็นเพียงแค่รูปแบบบ้างล่ะ เป็นเพียงหินทับหญ้าบ้างล่ะ เป็นการหลีกหนีปัญหาบ้างล่ะ ฯลฯ แถมยังลบหลู่พุทธปัญญา โดยกล่าวหาว่าการเพียรเพ่งภาวนาที่ว่านั้น เป็นการทำให้การปฏิบัติธรรมของตนเนิ่นช้าลง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ยืนอยู่บนหลักเหตุผล มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า "สมถะกรรมฐานภาวนา" หรือที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" นั้น เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณในขั้นปรมัตถ์ธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลายได้

หากกล่าวถึงเรื่อง "สมถะกรรมฐานภาวนา" หรือที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" ได้มีนักฉกฉวยโอกาสบางพวก กลับไปอ้างเอา "สมถะภาวนากรรมฐานของพวกพราหมณ์" ซึ่งเป็น "สมถะ" ที่เกิดมีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นเสียอีก ว่าเป็นการ "ภาวนา" ในพระพุทธศาสนา

"สมถะภาวนากรรมฐานแบบพราหมณ์" นั้น ทำให้เกิดปัญญาได้เช่นกัน แต่เป็นปัญญาในทางโลก (โลกียปัญญา) ไม่อาจที่จะนำจิตของตนไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ยังจัดว่าอยู่ใน "เฉยโง่" เป็นอุเบกขาที่ประกอบไปด้วยอามีส (เครื่องล่อ)

เป็นการปฏิบัติธรรมทางจิตของพวกพราหมณ์ เพื่อให้จิตของตนเองสงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ฌานอันละเอียดอย่างแนบแน่น เป็นสุขอยู่กับอารมณ์รูปฌาน และอรูปฌาน เป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อละวางอารมณ์หยาบ นำไปสู่การติดอยู่ในอารมณ์อันละเอียด ที่เป็นสุขกว่าอารมณ์หยาบอย่างมากมาย แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้

ฉะนั้น "สมถะกรรมฐานภาวนาของพวกพราหมณ์" ที่กล่าวถึงนี้ ย่อมทำให้จิตสงบตั้งมั่นได้จริง แต่ "จิตของตน" ก็ยังมีความหวั่นไหวไปกับอารมณ์ รูปฌานและอรูปฌาน อันละเอียดที่เป็นสุขอยู่นั้น ตลอดเวลาเช่นกัน

จิตของตนยังเจือปนไปด้วยทุกข์อยู่ เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ฌานอันละเอียดที่ตนยึดไว้เป็นสุขอยู่นั้น จะจืดจางลงไป ยังต้องอาศัยสัญญาจดจำอารมณ์กรรมฐานนั้น จิตจึงยึดมั่นในอารมณ์ฌานอันละเอียดเหล่านั้นไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อยวางลงไปสักที เพราะจิตปล่อยวางอารมณ์ออกไปไม่เป็นนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ถึงผู้ที่ได้อารมณ์ฌานอันละเอียดเหล่านั้นว่า "เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อย"

แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อไปถึงขั้นวิปัสสนาญาณ(รู้เห็นตามความเป็นจริง) เพื่อให้เกิดปัญญา นำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้เลย เพราะยังมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น(ทิฐิ)อยู่ กับฌานอันละเอียดเป็นสุข ที่เกิดจาก "ถิรสัญญา" นั่นเอง


สรุปได้ว่า "สมถะกรรมฐานภาวนา" ที่เป็นฌานซึ่งมีมาก่อนพระพุทธองค์จะอุบัติขึ้นมานั้น เป็น "สมถะกรรมฐานภาวนา" ที่มีพวกนักฉวยโอกาสมักชอบนำมาแอบอ้าง เพื่อให้นักปฏิบัติธรรมที่เป็นอนุชนคนรุ่นใหม่ หลงเข้าใจผิด จนเกิดการกลัวต่อการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน "สมถะภาวนา" ที่เป็น "ภาวนามยปัญญา" หรือที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิของพระอริยะ"

โดยสอนให้ข้าม "สมถะภาวนา" ตามแบบพระพุทธองค์ มุ่งหน้าสู่การ "ดูจิต" อันเป็น "วิปัสสนากรรมฐาน" เพียงอย่างเดียวก็พอ เป็นการปฏิบัติธรรมด้วยวิธีที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น เหมาะกับคนมีปัญญาและไม่มีเวลา (ไม่มีเวลาแม้กระทั่งหายใจ อย่างนั้นล่ะหรือ?)

โดยไม่ต้องพากเพียรพยายาม ด้วยความลำบากยากเย็น กับการต้อง "เพียรเพ่งภาวนา" อะไรเลย แถมยังขู่สำทับว่า "ความพากเพียรเพ่งภาวนา" ข้างต้นนั้น จัดเป็นพวก "อัตกิลมถานุโยค" ไปแบบหน้าตาเฉย(โง่)

ส่วนการปฏิบัติธรรม "ดูจิต" แบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ที่มีในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง เพียงแค่คอยระวังกาย วาจา ใจของตน หรือที่เรียกว่า "สังวรอินทรีย์" และคอยตามระลึกรู้อยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นเหตุใกล้ เพื่อให้ "สติ" เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพียงแค่นี้ ก็กล่าวว่าเป็นการเดินสู่วิปัสสนาญาณ (รู้เห็นตามความเป็นจริง) แล้ว

ตามที่ "อัตโนมัติอาจารย์" บางท่าน กล่าวสอนมานั้น ในความเป็นจริงแล้ว วิธีดังกล่าวเป็นเพียง "ถิรสัญญา" ไม่ใช่ "สติปัญญา" ที่เกิดจากการประกอบ "ภาวนานุโยค" (มีพระพุทธพจน์รองรับ)

เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถ "ดูจิต" ได้ โดยข้ามผ่านขั้นตอนของ "สมถะกรรมฐานภาวนา" ไป เพราะการ "ปฏิบัติธรรมสมถะกรรมฐาน" นั้น ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ "ภาวนามยปัญญา" ทำให้รู้จักจิต และอาการของจิต ที่เป็นสุข-ทุกข์ หวั่นไหว ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด

เมื่อยังไม่รู้จัก "จิต" ก็ควรปฏิบัติธรรมตามพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว คือ ให้หมั่นฝึกฝนอบรมจิตด้วยการ "ประกอบภาวนานุโยค" ทุกข์ควรกำหนดรู้ เมื่อระลึกรู้แล้ว ไม่ต้องจดจำเพราะระลึกรู้ได้แล้ว ควรละเหตุแห่งทุกข์

ไม่ใช่แบบที่สอนให้เข้าใจแบบ "ผิดๆ" ว่า เมื่อรู้แล้ว กลับให้จดจำอารมณ์นั้นเอาไว้อย่างแม่นยำจนขึ้นใจ กลายเป็น"ถิรสัญญา" ไป เป็น "รู้" ที่เกิดจาก "สัญญา" ย่อมจืดจางลงได้ตามกาลเวลา เพราะเป็น "สัญญาอารมณ์" ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ส่วน "รู้" ที่เกิดจาก "ภาวนามยปัญญา" อันมีพื้นฐานมาจากสัมมาสติในอริยมรรค ๘ ที่มีองค์ภาวนาอยู่ในกายสังขารของตน จิตของผู้ภาวนาอยู่นั้น เมื่อระลึกรู้ได้แล้ว (สัมมาสติ=ระลึกชอบ) ย่อมเกิดสติปัญญา แลเห็น (รู้เห็นตามความเป็นจริง) ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูป-นามขันธ์ ๕ ที่จิตของตนเคยหลงผิดยึดมั่นเอาไว้ ว่าเป็นของๆตนได้อย่างชัดเจน ที่เรียกว่า "รู้ชัดว่า"

ดังพระพุทธพจน์ทรงตรัสไว้ว่า "จิตตันติ" หรือ "รู้ชัดว่า" เมื่อจิต "รู้ชัดว่า" อะไรเป็นอะไร (รู้เห็นตามความเป็นจริง) ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตจึงบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

*

จากบทความนี้ ได้มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้อย่างมากมายในหลายพระสูตร แต่ละพระสูตรนั้น ล้วนเชื่อมโยงถึงกันหมด โดยเฉพาะพระพุทธพจน์ในสมาธิสูตรต่างๆ พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


(สมาธิสูตร)

*

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลสามเบื้องต่ำที่กำหนดไว้เท่าใด ที่บุคคลพึงบรรลุด้วยญาณของพระเสขะ ด้วยวิชชาของพระเสขะ ผลนั้นทั้งหมดข้าพระองค์บรรลุแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่ยิ่งขึ้นไปแก่ข้าพระองค์เถิด

ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเจริญธรรมทั้งสอง คือ สมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกรวัจฉะ ธรรมทั้งสอง คือสมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดธาตุหลายประการ"


(มหาวัจฉโคตตสูตร)

*

บทส่งท้าย การศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ควรยืนอยู่บนหลักเหตุผล ที่ตริตรองตามความเป็นจริงได้ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผลขึ้นจริงๆ แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า สอนให้มีความเชื่อไว้ก่อนโดยขาดการพิสูจน์ หรือตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง ว่าลงกันได้กับ "พระธรรมและพระวินัย" หรือไม่

ทั้งๆ ที่ความรู้ ความเชื่อ ที่ได้เรียนรู้มานั้น เป็นความรู้ที่ขาดเหตุผล อันจะตริตรองตามความเป็นจริงได้ เป็นเพียง "ตรรกะ" อาศัยปัญญาทางโลก(สัญญา) แต่ก็ยังจะเลือกในทางที่จะเชื่อไว้ก่อน เพราะเป็นความเชื่อที่สอนตามๆ กันมา และชอบตรงที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น

และความเชื่อที่ว่านั้น ยังสร้างความขัดแย้งในวงการปฏิบัติธรรม ทำให้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติ ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งอยู่ทางฝ่ายอรัญญวาสี ที่เน้นหนักในเรื่องการ "ภาวนามยปัญญา" หรือที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" หมดความน่าเชื่อถือลงไป เท่ากับเป็นการจ้องทำลายล้างฝ่าย "สมถกรรมฐานภาวนา" อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ให้หมดสิ้นไปจากพระพุทธศาสนา ดีๆนี่เอง


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 18 กรกฎาคม 2556
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:53:56 น.
Counter : 1138 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์