สัพเพ ธัมมา อนิจจา ทุกขา อนัตตา ถูกต้องจริงล่ะหรือ ???
เมื่อกล่าวถึง สัพเพ ธัมมา มักมีการถกเถียงกัน เป็นวงกว้างมาอย่างยาวนาน ตามมติและความเชื่อของแต่ละคนที่ได้ศึกษามา บ้างติดตังกับตำรา(ปิฎก)ทุกตัวอักษร แบบลิงติดตัง แกะยังไงก็แกะไม่ออก โดยไม่เคยพิจารณาถึงเหตุผลตามความเป็นจริงเลย

ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาลงไปแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่ดีมารองรับได้เลย เป็นเพียงความเชื่อและการจินตนาการไปตามตัวหนังสือในตำรา(ปิฎก) ล้วนๆ หรือได้ยินได้ฟังมาจากผู้ที่น่าเชื่อถือ โดยไม่สามารถพิจารณาตริตรองตามไปได้เลย

ยิ่งในเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ด้วยแล้ว ไปกันคนละทิศคนละทาง โดยมติลงกันไม่ได้เลยก็มี โดยเฉพาะมติของผู้ศึกษาบางกลุ่มที่มีมติอยู่ในใจไม่ยอมฟังใครด้วยแล้วว่า
ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง
ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงล้วนเป็นทุกข์

ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ไม่มีตัวตน)

โดยความเป็นจริงแล้ว อะไรก็ตามที่ได้ชื่อว่าเป็นอนัตตาแล้ว ล้วนเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้เลยทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น คนโบร่ำโบราณแต่เก่าก่อน มักกล่าวสอนบุตรหลานผู้กำลังย่างก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบแล้วว่า "เมื่อไหร่เอ็งจะเป็นตัวเป็นตนเสียที" ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อไหร่เจ้าตัวจะเป็นที่พึ่งพาอาศัยของคนอื่นได้เสียที

หากไม่หยิบยกมาพูดหรือนำมาเป็นประเด็นเพื่อถกหาความจริง จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปในวงกว้างได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ศึกษาใหม่ หรือผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานสมาธิภาวนา จะถูกหลอกลวงให้เชื่อได้โดยบริสุทธิ์ใจอย่างง่ายดายว่า อะไรๆก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น อะไรๆก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น อะไรๆก็ไม่ใช่ตัวตนของเราทั้งนั้น ที่ใช่ก็ไม่มีทั้งนั้น ที่มีก็ไม่ใช่ทั้งนั้น โดยไม่ระมัดระวังมติที่ตนเองเรียนรู้มานั้น ว่าจะเป็นการเดินเข้าใกล้พวก "นัตถิกทิฐิ" ในครั้งพุทธกาล โดยไม่รู้ตัวเลย

มักมีผู้ที่ชอบอ้างเอาพระบาลีมาว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา" "สพฺเพ ธมฺมา ทุกขา" นั้น ขอบอกไว้เลยว่า พระบาลีที่นำมาอ้างนั้น ในพระไตรปิฎกหามีประโยคดังกล่าวนี้ไม่ เพราะเป็นธรรมที่ขัดแย้งกันเองโดยเนื้อธรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยครับ ว่าพระพุทธองค์จะทรงสั่งสอนพระสัทธรรมที่ขัดแย้งกันเอง หากมีใครเคยผ่านตามา เชิญนำเอาหลักฐานมายันด้วยจะเป็นการดี เพื่อจะได้ศึกษากัน

คำที่ถูกต้องนั้นควรเป็น "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา" "สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา" จึงจะถูกต้อง สมเหตุสมผลตามพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เพราะอะไร?

หากมีพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวไว้ว่า ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงที่มีอยู่ล้วนไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงที่มีอยู่ล้วนเป็นทุกข์แล้ว พระพุทธองค์จอมศาสดา จะทรงออกผนวชเพื่อค้นหาอะไรหละ? ทรงสละราชบัลลังก์และราชสมบัติพัสฐาน เพื่อค้นหาอมตะธรรมใช่มั้ยครับ?

ในเมื่ออะไรๆทั้งหมดทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นทุกข์ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้แล้ว จะเสียเวลาเปล่า เพื่อออกค้นหาโมกขธรรมไปเพื่ออะไรมิทราบ ?

หากว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว อมตะธรรม อกุปปธรรม วิราคธรรม โลกุตตรธรรม อริยธรรมฯลฯ ธรรมอันเลิศทั้งหลายเหล่านี้หละ??? เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง ในวันที่ทรงตรัสรู้ชอบ แล้วทรงนำมาสั่งสอนแก่พระอริยสาวกทั้งหลาย จนได้บรรลุธรรมตามพระองค์ไปเป็นจำนวนมากนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร?

ในเมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวง ล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นทุกข์ เป็นที่พึ่งพา เป็นที่อาศัยไม่ได้ แล้วธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงได้ค้นพบด้วยการตรัสรู้เองโดยชอบ เพื่อความหลุดพ้นด้วยดี เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะหละ ต้องถูกจัดรวมเข้าไปใน "สัพเพ ธัมมา อนิจฺจา" "สัพเพ ธัมมา ทุกฺขา" ด้วยหรือ เป็นไปได้อย่างนั้นหรือครับ..พระพุทธองค์จะทรงสั่งสอนธรรมที่ขัดแย้งกันเองชัดๆแบบนี้หรือ?

"สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา" "สพฺเพ ธมฺมา ทุกขา" นั้น ไม่มีในพระพุทธพจน์ครับ ที่ถูกต้องนั้นควรเป็น "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" เท่านั้นจึงจะใช่ เพราะอะไร???

ทุกครั้งที่มีพระบาลีกล่าวถึง "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ในพระสูตรทั้งหลายนั้น ล้วนต้องมีบริบทนำมาก่อนหน้าทุกครั้งเช่นกันว่า "สัพเพ สังขารา อนิจจา" "สัพเพ สังขารา ทุกขา" นำมาก่อนเสมอๆ

พระองค์ทรงจำกัดวงเพื่อเป็นมติให้รู้ไว้ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่ใช่ตัวตนของเรานั้น ล้วนเป็นสังขารธรรม (ขันธ์ ๕ อายตนะทั้งภายใน ๖ และภายนอก ๖) เท่านั้น ที่ถูกปรุงแต่งให้แปรปรวนไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เข้ามาผัสสะทั้งหลาย ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นที่พึ่งพา เป็นที่อาศัยอะไรไม่ได้เลย

จึงไม่รวมไปถึง โลกุตตรธรรม อกุปปธรรม อมตะธรรม วิราคธรรม อริยธรรมฯลฯ ธรรมอันเลิศทั้งหลายเลย ที่ล้วนเป็นธรรมที่อยู่เหนือโลก พ้นโลก ธรรมเป็นที่ดับแห่งอาสวะทั้งหลาย เป็นวิสังขารธรรม สิ้นการปรุงแต่งใดๆ เพราะสิ้นตัณหาแล้ว ไม่แปรปรวนกลับกลายมาติดข้องอยู่กับอารมณ์เรื่องในโลกอีกแล้ว พ้นแล้วซึ่งวัฏฏะสงสาร "เป็นธรรมที่เที่ยงตรงต่อพระนิพพาน เป็นสุข เป็นที่พึ่งพาที่อาศัยได้" ไม่กลับกลายอีกแล้ว

เมื่อมีธรรมที่ไม่เที่ยง ย่อมต้องมีธรรมที่เที่ยงตรงต่อพระนิพพานเป็นคู่เทียบ
เมื่อมีธรรมที่เป็นทุกข์ ย่อมต้องมีธรรมเป็นที่ดับทุกข์(สุข)เป็นคู่เทียบ
เมื่อมีธรรมที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ ย่อมต้องมีธรรมที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้เป็นคู่เทียบเช่นกัน


การศึกษาธรรมนั้น ควรต้องยืนอยู่บนหลักเหตุผลที่ถูกต้องเป็นไปได้ ที่สามารถพิจารณาตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้เท่านั้น จึงควรเชื่อ แต่การจะให้เชื่อโดยไม่อาศัยหลักกาลามสูตร เข้ามาเทียบเคียงเลยนั้น ย่อมทำให้การศึกษาธรรมของผู้ศึกษา ผิดไปตลอดแนวได้เช่นกันครับ....

แต่ก็ยังมีผู้ที่เชื่อถือแบบตามๆ กันมาตามตำรา(ปิฎก)ที่เล่าเรียนมา โดยไม่เคยพิจารณา ที่จะลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง ตามรอยพระบาท เพื่อเข้าถึงสภาวะเป็นธรรมเอกผุดขึ้นมาให้เห็น ด้วยความเพียรเพ่ง(การตามรู้อย่างต่อเนื่อง) จนจิตสงบตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า มีธรรมเป็นที่ดับแห่งอาสวะทั้งหลายด้วย ดังปรากฏในพระสูตร อาทิ

อาสวสูตรที่ ๑....(เหตุเกิดแห่งอาสวะทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ดับแห่งอาสวะทั้งหลาย)

พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น ผู้รู้ทั่ว มีสติ ย่อมรู้ชัดซึ่งอาสวะทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งอาสวะทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ดับแห่งอาสวะทั้งหลาย และมรรคอันให้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ภิกษุหายหิวแล้ว ดับรอบแล้ว เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ฯ

//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=5502&Z=5517&pagebreak=0

*

ดูกรอัคคิเวสสนะ ภิกษุที่รู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้แหละ ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการคือ ความเห็นอันยอดเยี่ยม ๑ ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม ๑ ความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม ๑.

เมื่อมีจิตพ้นกิเลสแล้วอย่างนี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคตว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงฝึกพระองค์แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสงบได้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงข้ามพ้นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อข้ามพ้น
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงดับสนิทแล้วย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความดับสนิท

//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7323&Z=7551

*

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เสด็จไปดีทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยจิตไปตาม ทรงบริสุทธิ์ ไม่ทรงสะดุ้ง ปราศจากความกลัว สงัดทั่ว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ ทรงข้ามได้เอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามได้

//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1044&Z=1477

*

อุปธิวิเวกเป็นไฉน?
กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่า อุปธิ
อมตนิพพานเรียกว่าอุปธิวิเวก ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอกตัณหา เป็นที่ดับตัณหา เป็นที่ออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด
นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก

//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=7639&Z=9093&pagebreak=0


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต




Create Date : 08 ตุลาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:06:07 น.
Counter : 3080 Pageviews.

5 comments
  



ทักทายกันในวันพุธจ้า..

โดย: แอ๊ปเปิ้ลโบราณ วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:11:06:17 น.
  
สวัสดีค่ะ คุณธรรมภูต

มาบอกบุญค่ะ
เชิญร่วมสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ "พระอุโบสถ มหาปรินิิพพาน" ร่วมกันค่ะ

อนุโมทนาล่วงหน้านะคะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:18:43:19 น.
  
อนุโมทนาค่ะ คุณธรรมภูต

ได้รับแล้วนะคะ ขอบคุณที่มาแจ้งค่ะ
กำลังสงสัยว่าใครหนอโอนมา 500 บาท

โดย: พ่อระนาด วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา:22:55:59 น.
  
ลงวิมุตติรัตนมาลี ตอนใหม่แล้วนะคะ
เหลืออีกตอนก็จบแล้วค่ะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 7 พฤศจิกายน 2553 เวลา:13:41:25 น.
  
ผมเห็นว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ติ เป็นจริง ครับ
สิ่งหรือธรรมะทั้งหลาย ไม่ใช่ตัว ตน บุคคล เรา เขา ครับ
โดย: สรรพลี้หวน IP: 101.51.250.82 วันที่: 31 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:49:22 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์