จิตเป็นต้นนั้น ล้วนเป็นจิตสังขารทั้งสิ้น
ในปัจจุบันนี้ การศึกษาเรื่องจิตของตน ที่เราเรียกกันว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ฯลฯ จิตเป็นต้นนั้น ล้วนเป็นจิตสังขารทั้งสิ้น ไม่ใช่สภาพเดิมของจิตที่เป็นเพียง "ธาตุรู้" หรือแม่ธาตุ

จิตสังขาร ก็คือ จิตที่ได้ผสมปรุงแต่ง(ยึดเอา) อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่จิตมาเป็นของๆตน เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมาปรุงแต่ง(เป็นของๆตน) จิตย่อมแสดงอาการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นๆ จนเป็นที่เข้าใจผิดๆ ไปว่าจิตของตนที่ไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเกิด-ดับ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกที่จิตไปยึดเข้ามา เกิดขึ้นและดับไปจากจิตของตนเท่านั้น


เปรียบ "จิต" เป็นต้นนั้น เหมือน"น้ำ" เป็นต้นนั้น เมื่อพูดถึงอาหารที่เป็น "น้ำๆ" เราก็จะนึกถึง แกงส้ม ต้มมะระ แกงเขียวหวาน ต้มยำ ฯลฯ ที่ยกมานั้น ล้วนเป็น "น้ำ" ทั้งนั้น แต่เป็น "น้ำ" ที่ถูกผสมปรุงแต่งจนหารูปเดิมไม่พบเลย เช่นเดียวกับจิต ที่ผสมปรุงแต่งกับอารมณ์จนหารูปเดิมไม่เจอ จนกลายเป็น มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ฯลฯ เช่นกัน

จิตนั้นสามารถฝึกฝนอบรมชำระ จนบริสุทธิ์หมดจดหลุดพ้นจากเครื่องหมองได้ ฉันใด น้ำก็เช่นกันสามารถกลั่นกรอง จนบริสุทธิ์หมดจดจากสิ่งปลอมปนได้ ฉันนั้น



ยุวชนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นนักตำรานิยมผสมกลมกลืนด้วยวิปัสสนึกคิดเอาเอง มักเชื่อตามๆ กันไว้ก่อน จากตำรา(ปิฎก) ที่มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลัง บ้างก็ถูกบังคับให้ต้องเชื่อตามๆกันบ้าง ทำให้เกิดมีความเข้าใจผิดๆ กันไปอย่างมากมายถึงขั้นสับสนต่อการปฏิบัติ

เนื่องจากตำรา(ปิฎก) ที่รจนาเพิ่มเติ่มเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลัง มักกล่าวถึง เรื่อง "จิตหรือธาตุรู้" ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญในทางปฏิบัติธรรมว่า "จิตหรือธาตุรู้" เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ไม่สามารถอบรมฝึกฝนบังคับบัญชาให้เป็นไปดั่งใจหวังได้ เพราะเป็นอนัตตาธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ (อนัตตา) แถมยังเหมารวมเอาพระนิพพานเป็นอนัตตาธรรมไปด้วย (ทั้งที่พระนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรม)

และมีการสอนจนผู้ศึกษาธรรมเข้าใจผิดไปว่า เมื่อฝึกฝนอบรมจิตด้วยความพากเพียร เหนื่อยยากลำบาก จนได้รับผลแห่งความสำเร็จ กระทั่งเกิดนิพพิทาญาณขึ้นที่จิตของตน จิตหลุดพ้น หรือจิตพ้นวิเศษจากอุปธิทั้งหลายได้ จิตจำเป็นอย่างยิ่งต้องหลุดพ้น หรือ พ้นวิเศษคือ "หายวับไปกับตา" ไม่เหลืออะไรเลย (มีตำราว่าไว้เช่นนั้น) คงเหลือไว้แต่คุณลักษณะที่พิเศษจำเพาะ (พระนิพพาน) คือความหลุดพ้น พ้นวิเศษ หรือความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ ไว้เท่านั้น

และยังเข้าใจว่า "ผู้" ที่ปฏิบัติธรรมจนจิตหลุดพ้น พ้นวิเศษ หรือ สิ้นไปจากกามสวะ ภาวาสวะ อวิชชาสวะ นั้น "ผู้" ที่หลุดพ้นไม่มี คงมีแต่การหลุดพ้น พ้นวิเศษ หรือ การสิ้นไปแห่งกามาสวะ ภาวาสวะ อวิชชาสวะเท่านั้น "ที่ตั้งอยู่ลอยๆ" หาผู้รับผลไม่ได้

ซึ่งขัดแย้งกับหลักเหุตผล ที่จะตริตรองตามความเป็นจริงได้ เพื่อให้เกิดการรู้ยิ่งเห็นจริงอย่างยิ่ง


ตัวอย่างอื่นๆ ที่มีปรากฏ เช่น อริยมรรค ๘ เป็นทางเดินของจิต แต่ผู้เดินตามหนทางนั้นไม่มี ซึ่งทำให้ไม่เข้าใจว่า แล้วเราจะมาเสียเวลาอบรมฝึกฝนพัฒนา (ปฏิบัติ) จิตของเราไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ในเมื่อเห็นว่าจิตเป็นของเหลวไหล ไร้สาระ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์...

เมื่อมีอริยมรรค ๘ (ทางไปสู่ความเป็นอริยะบุคคล) ทางเดินของจิต ย่อมต้องมีผู้เดินตามหนทางนั้น หากไม่มีผู้เดินตามหนทางนั้นแล้วไซร้ พระพุทธองค์จะตรัสได้อย่างไรว่า "นี้คือหนทางเดินที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นของสัตว์ (จิตผู้ติดข้องในอารมณ์) จากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองหมักดองทั้งหลายได้"

และพระพุทธพจน์ยังกล่าวรับรองว่า "ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์" ก็กลับกลายเป็นว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ผิดสิ ที่ยัง "มีผู้ปฏิบัติ" อยู่


เมื่อกล่าวถึงอริยมรรค ๘ แล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ดีว่า อริยมรรค ๘ เป็นเลิศในฝ่ายสังขตธรรม เป็นหนทางเดินที่จะนำจิตไปสู่ความหลุดพ้น หรือก็คือ หนทางที่จะนำจิตไปสู่การสิ้นการปรุงแต่ง หรือวิสังขารอย่างสื้นเชิง

แต่มักมีการเข้าใจผิดๆไปว่า ตัวอริยมรรค ๘ นั้นเอง คือตัวปัจจัยปรุงแต่งเพราะเป็นสังขตธรรม แท้ที่จริงแล้วอริยมรรค ๘ นั้นเป็นหนทางเดินอันเอกของจิตเพื่อความหลุดพ้นของจิต จิตนำอริยมรรคมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นที่จิต เพื่อนำไปสู่ความสิ้นไปแห่งการปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นวิราคธรรม


มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด
(คำว่าอสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใดนั้น แสดงว่าอสังขตธรรมมีมากกว่าหนึ่งแน่นอน)

วิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความกระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ


*

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยค(สัมมาสมาธิ)อยู่
จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า
ไฉนหนอขอให้จิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้
ก็จริงอยู่ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร
เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔
เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔
เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔
เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕
เพราะไม่อบรมพละ ๕
เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗
เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยค (สัมมาสมาธิ) อยู่
ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า
ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้
ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น(เป็นวิราคะธรรม)
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร
เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔
เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔
เพราะอบรมอิทธิบาท ๔
เพราะอบรมอินทรีย์ ๕
เพราะอบรมพละ ๕
เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗
เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘


*

จากพระพุทธพจน์ดังกล่าวมานี้ ล้วนกล่าวถึงการฝึกฝนอบรมจิตของตน เป็นหนทางเดินของจิต เพื่อนำจิตของตนเข้าสู่ความพระอริยะ หรือที่เรียกว่าอริยมรรค ๘ นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อยังมีผู้ฝึกฝนอบรมจิตด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ โลกจึงไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์ แน่นอน เพราะจิตของเราพึงพ้นแล้วด้วยดีจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น (เป็นวิราคธรรม)


ทุกท่านทุกองค์ล้วนผ่านการขัดเกลาจิตใจของตนกันมาแล้วก่อนหน้า ด้วยความเพียรเพ่งในฌาน และดำเนินตามรอยบาท คือ เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ ดังปรากฏใน มหาโคสิงคสาลสูตร ที่ ๒ ว่า

ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า
จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
(เป็นวิราคธรรม) เพียงใด
เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้


เป็นที่ชัดเจนตามพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว การประกอบภาวนานุโยค หรือก็คือ การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายของจิต (เป็นวิราคธรรม)


ดังนั้น จึงขอกล่าวว่า อย่าเพิ่งรีบกลัวการติดสมาธิไปเลย เพียงแค่เริ่มต้นทำให้จิตสงบนิ่งรวมลงเป็นสมาธิยังทำกันไม่ได้ ทำกันไม่เป็น ยังจะรีบกลัวไปทำไม การติดการสงบนิ่งเป็นสมาธิ (กิเลสละเอียด) นั้น ก็ยังดีกว่าพวกที่ทำให้จิตของตนสงบนิ่งไม่เป็นเลยด้วยซ้ำไป

การติดสมาธิจนจิตสงบนิ่งนั้น ยังพอที่จะให้ครูบาอาจารย์แนะนำให้รู้จักวิธีหลุดพ้นออกมาได้ (วิปัสสนา) ส่วนพวกที่ทำให้จิตสงบนิ่ง แม้ชั่วขณะช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นยังทำไม่ได้เลย จะพูดไปใยถึงเรื่องความหลุดพ้นให้เสียเวลา



ยิ่งในทุกวันนี้ ยุวชนคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ไม่คิดที่จะศึกษาสนใจธรรมะจาก พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแต่เก่าก่อนเลยว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ต้องใช้ความเพียรเพ่งในการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีสติ สมาธิ ปัญญา โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) อย่างจริงจังกันมากขนาดไหน...


สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา การให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐาน อย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย โดยการลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ)อย่างจริงจัง จนกระทั่งจิตเป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย จิตมีสติสงบตั้งมั่นคงที่ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามากระทบจิตของตน เหมือนศิลาแท่งทึบคงที่ไม่หวั่นไหวต่อลมพายุที่พัดมาทั่วทุกทิศทุกทางนั่นเอง

*

ในพระสูตรที่เป็นพระพุทธวจนะนั้น พระองค์ทรงตอบคำถามของท่านพระอาจารย์มหากัสสปที่ทูลถามต่อพระองค์ ถึงเรื่องความเสื่อมไปของพระสัทธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร พระพุทธองค์ทรงตอบว่า

[๕๓๓] ดูกรกัสสป
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมา ก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป


[๕๓๔] ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้
ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑
ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑
ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑



เราท่านทั้งหลาย เห็นหรือยังว่า แม้แต่ในครั้งพระพุทธกาลก็ยังมีการกล่าวถึง "เหตุแห่งพระสัทธรรมปฏิรูป" เพราะอะไร มีถึง ๕ ข้อ

ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นั้น ทุกคนย่อมให้ความเคารพอยู่แล้วถ้าเป็นชาวพุทธ ส่วนข้อ ๔ และข้อ ๕ นั้น ในปัจจุบันนี้ พุทธบุตรที่ขานนาคเข้ามา เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ได้พยายามที่จะมองข้ามกันโดยไม่ใยดี

ในข้อ ๔ นั้น กล่าวถึงสิกขา ซึ่งก็คือ สิกขา ๓ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออริยมรรค ๘ นั่นเอง ส่วนข้อ ๕ เป็นการกล่าวถึง สมาธิ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในสิกขา ๓ เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญลงไป

พระพุทธองค์ ทรงย่นย่อธรรมะที่ทรงตรัสสั่งสอนไว้ลงเหลือเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา ทรงแสดงไว้ว่า
ศีล เป็นความงามในเบื้องต้น
สมาธิ เป็นความงามในท่ามกลาง

ขอเน้นย้ำนะครับว่า สมาธิเป็นความงามในท่ามกลางนะครับ
ปัญญา เป็นความงามในบั้นปลาย

พระพุทธองค์ทรงกล่าวกับภิกษุที่พระองค์ทรงบวชให้เองในครั้งกระนั้น ๖๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้ออกไปเผยแผ่พระศาสนา ให้ไปทิศละรูป อย่าไปในทิศเดียวกันสองรูป เรื่องที่พระองค์ทรงให้เผยแผ่ ก็คือ เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ (ทางเดินของจิตเพื่อความเป็นพระอริยะ) นั่นเอง

*

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเครื่องรองรับจิต
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล
คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นเครื่องรองรับจิต


*

ดูกรภิกษุ คำว่า
ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งนิพพานธาตุ
เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ


ดูกรภิกษุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า อมตะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
นี้แลเรียกว่าทางที่จะให้ถึงอมตะ

*

สรุป

อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางเดินของจิตให้ถึงอมตะ หรือ พระนิพพาน เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ และโมหะ จิตหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย เป็นอมตธาตุ อมตธรรม หรือ วิราคธรรม ไม่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ความนึกคิด เป็นจิตสังขาร หรือจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง หรือ จิตเป็นต้นนั้นอีกต่อไป

ซึ่งต้องประกอบภาวนานุโยค หรือก็คือ การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย (เป็นวิราคธรรม) เพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต




Create Date : 06 มิถุนายน 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:05:46 น.
Counter : 471 Pageviews.

2 comments
  
อนุโมทนาสาธุครับ
โดย: shadee829 วันที่: 6 มิถุนายน 2554 เวลา:10:55:24 น.
  
สวัสดีครับ แวะมาทักทาย ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ หนังสือพิมพ์
โดย: bbandp วันที่: 6 มิถุนายน 2554 เวลา:11:06:56 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์