A room to learn and talk
 
 

ไปสอนโยคะเด็กมา



เช้าวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เป็นเช้าที่สดใสมากมาย อากาศเย็น ๆ พัดมากับสายลมทำให้สดชื่นเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น (จริง ๆ น่ะ) เพราะจะได้ไปสอนโยคะเด็ก ในที่นี้แด็กจริง ๆ เพราะหนูน้อยที่มาเรียนจะเริ่มต้นจากอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี เรียกได้ว่า Baby มากมาย ที่รู้สึกตื่นเต้นเพราะเป็นการสอนกลุ่มใหญ่มากมาก มีเด็กรวมทั้งสิ้น 37 คน ซึ่งมีพัฒนาการของเด็กที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะเด็กแค่ในช่วงนี้ แค่อายุต่างกันเดือนเดียว ก็มีพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างมากมาย

ทีมผู้สอนอันประกอบด้วย ครูอ๊อด ครูดล ครูหมู ครูบี ครูกุ้ง ครูกลอย และ ตัวผู้เขียน จึงต้องดำเนินการวางแผนการสอนกันหลากหลายรูปแบบ เพราะเราไม่สามารถคาดได้ว่าหนูน้อยเหล่านี้ในวันที่เข้ารับการฝึกนั้นจะมีความพร้อม หรือ จะให้ความร่วมมือกับทางครูมากน้อยแค่ไหน เพราะ เด็กน้อย ย่อมอิสระทางความคิดและพัฒนาการ อ้อลืมบอกไปว่าเรากำลังจะไปสอนกันที่ ศูนย์บริบาลและพัฒนาเด็กเล็ก ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “ศูนย์ฯ และครอบครัวสัมพันธ์”

แนวทางการสอนของเราจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย




ต้องบอกก่อนว่า แนวทางการสอนของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเด็กและผู้ปกครองในแต่ละกลุ่มย่อมีความต้องการที่จะเรียนรู้แตกต่างกัน ตามการพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วง แต่ทั้งนี้ทางทีมครูมีเป้าหมายหลักที่จะให้ผู้ปกครองเข้าใจในหลักการของโยคะตามแนวทางของทางสถาบันโยคะวิชาการ ซึ่งเป็นโยคะแบบดั้งเดิมอย่างถูกต้อง โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ ก้ม แอ่น บิด เอียง ให้ครบการเคลื่อนไหวรอบด้านของแนวกระดูกสันหลังอย่างถูกวิธี และสามารถนำไปใช้ฝึกได้ในชีวิตประจำวัน

ต้องยอมรับว่าเช้าวันนั้นเป็นเช้าที่เต็มไปด้วยความสดใสและสดชื่นจริง ๆ ในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะไม่ว่าจะสถานที่ อาจารย์ผู้ดูแล พี่เลี้ยงน้อง ๆ คุณพ่อคุณแม่ และ น้อง ๆ เอง มีแต่ความสดใสสดชื่น อย่างมากมาย ดูแล้วทุกคนมีความตื่นเต้นที่จะได้ร่วมฝึกโยคะกับทางสถาบันฯเป็นอย่างมาก อยากจะบอกว่าแม้กระทั่งกลิ่นที่กำจายอยู่ภายในศูนย์ ก็ทำให้รู้สึกได้ถึงความสดชื่นของเด็ก ๆ ที่ยังคงความบริสุทธ์สดใส จนทำให้พวกเราสดชื่นไปถ้วนหน้า

กิจกรรมของเราเริ่มกันเวลา 8.30 น. หลังจากอิ่มอร่อยกับโจ๊กที่ทางศูนย์จัดเลี้ยงกันถ้วนหน้า ครูอ๊อดกล่าวแนะนำสถาบัน และ พูดถึงวิถีโยคะดั้งเดิม คุณประโยชน์ของโยคะที่ผู้ฝึกจะได้รับ ประกอบด้วย คำถามฮิตติดดาว ว่า โยคะ ยากหรือไม่ เจ็บหรือเปล่า และฝึกแล้วได้อะไร ซึ่งเป็นคำตอบที่ผู้ปกครองจะมาตอบตัวเองหลังจากการอบรมในครั้งนี้

นอกจากนั้น พี่อ๊อดยังกล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกโยคะ โดยยกคำพูดของ ดร. เอ็ม แอล กาโรเต้ กล่าวว่า รากฐานของสุขภาพ คือ จิตวิญญาณในจิตที่มีสุขภาพ เปี่ยมด้วยความสุข เกิดความสงบ มีความอิ่มเต็ม สร้างความพึงพอใจ เกิดการพัฒนา รู้จักอุทิศตน แลดำเนินชีวิตอย่างอารยวิถี นอกจากนั้นคุณหมอนักพัฒนา ศ. นพ. ประเวศ วสี ได้กล่าวถึงโยคะว่า กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า โยคะถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดี ทำให้คนมีความสุข ทำให้สามารถเผชิญแรงเสียดทานต่าง ๆได้ มีเมตตากับคนอื่น ทำงานร่วมกันได้ดี

จากคำกล่าวของทั้งสองท่านก็จะเห็นได้ว่า โยคะ มิใช่เพียงแค่การฝึกท่าอาสนะ แต่โยคะคือแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นปรัชญาที่ควรค่าจะฝึกฝนและนำมาประกอบใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใด เราก็สามารถฝึกโยคะในวิถีดั้งเดิมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราและสังคมได้ต่อไป
แล้วโยคะจะช่วยพัฒนาการอะไรบ้างให้กับน้อง พัฒนาการที่จะเกิดขึ้นจากโยคะคือ การพัฒนาการกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อชั้นใน หรือกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งจะช่วยให้น้อง ๆ มีโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรง การยืดหยุ่นดี โครงสร้างกระดูกไม่บิดเบี้ยว ร่วมถึงการเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายตั้งแต่เล็ก ซึ่งจะทำให้มีจิตที่สดชื่น นำมาซึ่งบุคลลิกภาพที่ดี และการฝึกโยคะ จะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดสมาธิที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะสมาธิจะทำให้เกิดปัญญาเพื่อการดำเนินชีวิตต่อไป

พี่อ๊อดยังกล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนั้นโยคะยังจะนำพาศีลมาสู่การดำรงชีวิตของน้อง ๆ ตั้งแต่ เป็นคนที่ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่พูดโกหก ยึดถือในพรหมจรรย์ และ ไม่ถือครองวัตถุมากจนเกินความจำเป็น ซึ่งอันสุดท้าย ก็เป็นไปตามหลักของความพอเพียง

และในทางกลับคืนสู่สังคม ผู้ฝึกโยคะ ยังจะมีวินัยในสังคม ด้วยการตั้งตนอยู่ในความอดทน สันโดษ ชำระกายใจให้บริสุทธ์ หมั่นศึกษาเพิ่มเติม และมีความศรัทธาเป็นที่ตั้ง

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การฝึกโยคะมิใช้การฝึกทางกายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกทางจิตเพื่อให้จิตและกายเป็นหนึ่งเดียว เพื่อประโยชน์แห่งตนและสังคมควบคู่กันไป
นี้แค่เริ่มต้น น่ะเนี้ย ไว้จะมาเล่าต่อว่าแต่ละกลุ่มกิจกรรมมากด้วยความสุขสนุกสนานอย่างไรบ้าง





 

Create Date : 23 ธันวาคม 2553   
Last Update : 23 ธันวาคม 2553 0:28:16 น.   
Counter : 1412 Pageviews.  


โยคะเด็ก กับสถาบันโยคะวิชาการ



กิจกรรมที่ทางสถาบัน ร่วมกับ ศูนย์บริบาลและพัฒนาเด็กเล็ก
ภาควิชาคหกรรมศาสตร์
คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โครงการ "ศูนย์ฯ และครอบครัวสัมพันธ์"

จัดกิจกรรมโยคะเด็กขึ้น เพื่อพัฒนาจิต และ กาย ให้เป็นหนึ่งเดียวกับ ระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลาน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553

เป็นกิจกรรมโยคะสำหรับ เด็กเล็ก เป็นการทำกิจกรรมร่วมกันของเด็กและครอบครัว (เด็ก อายุ 6 เดือน – 3 ปี +พ่อ/แม่)

เด๊วไว้ค่อยมาคุยให้ฟังกันน่ะ




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2553   
Last Update : 21 ธันวาคม 2553 13:57:26 น.   
Counter : 871 Pageviews.  


โครงการอบรมเชิงปฏิบัติ จิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ สำหรับครูโยคะ

ครูโยคะ ในความเป็นจริง คงไม่ได้แค่เชี่ยวชาญในอาสนะเพียงอย่างเดียว แต่ครูโยคะยังเป็นเสมือนนักจิตวิทยาภายในตัว ที่บางครั้งมักจะเป็นที่ปรึกษาในเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของนักเรียน หรือ ผู้คนรอบข้าง

ดังนั้นแล้ว การจะเป็นครูโยคะ และ เข้าใจในเรื่องจิตวิทยา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ทางสถาบันโยคะวิชาการจึงได้เปิดการอบรม


โครงการอบรมเชิงปฏิบัติ จิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ

ที่มาที่ไป
สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้านทำงานเผยแพร่โยคะตามแนวทางตำราดั้งเดิมอันเน้นเรื่องการพัฒนาจิต ภารกิจหลักของสถาบันฯ คือ พัฒนาครูโยคะเพื่อไปทำหน้าที่เผยแพร่ให้ผู้สนใจเข้าใจโยคะอย่างแท้จริง ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาจิต นำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ผลลัพธ์ก็คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต จริยธรรม จนถึงการมีปัญญา
นอกจากหน้าที่ในการสอน ครูที่สอนโยคะตามแนวทางของสถาบันฯ ที่ให้ความสำคัญเรื่องจิต ยังกลายเป็นบุคคลที่นักเรียนมักมาพูดคุย เล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง รวมทั้งขอคำแนะนำในการจัดการปัญหาชีวิต ซึ่งหากครูเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาการปรึกษา ก็จะสามารถให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสม ถูกหลัก ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อนักเรียนและครู รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลเสีย อันเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการของครู

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกพัฒนาจิตตนเองตามหลักจิตวิทยาแนวพุทธ
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เกี่ยวกับการให้การปรึกษาแนวพุทธ

ผู้รับผิดชอบ สถาบันโยคะวิชาการ

วิทยากร ผ.ศ.สาระ มุขดี วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ และ
อาจารย์วิชชุดา ฐิติโชติรักษา
ผู้ดูแลนักเรียน ธนวัชร์ เกตน์วิมุต และ วรรณวิภา มาลัยนวล

กลุ่มเป้าหมาย ครูโยคะในเครือข่ายสถาบันโยคะวิชาการ จำนวน 10 คน

ร่างกำหนดการอบรม ปี 2554
มกราคม (พฤหัสที่ 6) ปฐมนิเทศ อธิบายทำความเข้าใจ วิธีการเรียน ชี้แจงเอกสาร ประกอบการเรียนการสอน 16.00 – 18.00 น. ธนวัชร์ เกตน์วิมุต (ครูดล) วรรณวิภา มาลัยนวล (ครูอ๊อด) เป็นผู้ชี้แจงทำความเข้าใจที่ มศว

กุมภาพันธ์ (อาทิตย์ที่ 13) เรียนครั้งที่ 1 เต็มวัน อธิบาย เวอร์คชอป แลกเปลี่ยนเรียนรู้
9.30 – 16.00 น. ผู้อบรมไปทำการบ้าน ทำเคส บันทึกการทำงาน ส่งอาจารย์ที่วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ดุสิต

มิถุนายน (ยังไม่กำหนดวัน) เรียนครั้งที่ 2 เต็มวัน อธิบาย เวอร์คชอป แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้อบรมไปทำการบ้าน ทำเคส บันทึกการทำงาน ส่งอาจารย์ที่วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ดุสิต

ตุลาคม (ยังไม่กำหนดวัน) เรียนครั้งที่ 3 เต็มวัน อธิบาย เวอร์คชอป แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผู้อบรมไปทำการบ้าน ทำเคส บันทึกการทำงาน ส่งอาจารย์ที่วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ดุสิต

(วันอบรมในเดือน มิ.ย. และ ต.ค. คาดว่าเป็นวันอาทิตย์เช่นกัน เนื่องจากวิทยากรคิวแน่นมาก)

เอกสารประกอบการอบรม ผู้อบรมควรอ่านก่อนเริ่มเรียนครั้งที่ 1
1 จากจิตวิทยาสู่พุทธธรรม รศ.ดร. โสรีช์ โพธืแก้ว
2 จิตวิทยาทั่วไป
3 จิตวิทยาการให้คำปรึกษา counseling
4 ชีทต่างๆ ที่ผู้อบรมควรอ่าน (ถ้ามี) (ขอต้นฉบับเพื่อทำสำเนาให้ผู้เรียน)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1 ผู้อบรมเข้าใจ ตระหนักถึงบทบาทของการให้คำปรึกษาแนวพุทธ ว่าเป็นกระบวนการลดอัตตาของทั้งผู้ขอคำปรึกษาและผู้ให้การปรึกษา
2 ผู้อบรมมีประสบการณ์ตรงในการพัฒนาจิต ผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาแนวพุทธ

การอบรมนี้ รับได้เพียง 10 คน โดยสถาบันฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ไม่มีการเก็บค่าลงทะเบียน
หากมีคนสมัครมากเกินจำนวน สถาบันฯ ขออนุญาตรับผู้ที่มีความพร้อมจะเรียนที่สุดก่อน
สนใจแจ้งชื่อที่ เจี๊ยบ สนง สถาบันฯ 02 732 2016 - 7
หากมีผู้สนใจมาก ก็ตั้งใจจะเปิดอบรมไปเรื่อยๆ

วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ อยู่ที่ถนนขาว หลัง รพ.วชิระ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่ //www.kcn.ac.th/information/place.htm




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2553   
Last Update : 17 ธันวาคม 2553 21:39:48 น.   
Counter : 1508 Pageviews.  


อบรม ครูโยคะระยะสั้น หลักสูตร 10 วัน 100 ชั่วโมง

เห็นหลาย ๆ คนถาม ว่าทางสถาบันจะเปิดอบรมอีกเมื่อไหร่ เลยเอารายละเอียดมาลงให้ดู ยังไงโทรไปสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกันเองน่ะ

สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
จัดอบรม ครูโยคะระยะสั้น หลักสูตร 10 วัน 100 ชั่วโมง
รุ่น 16 ts54a
ณ สวนสันติธรรม ลำลูกกา คลอง11

อบรมโดยทีมวิทยากรจากสถาบันโยคะวิชาการฯ

เนื้อหาภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ
สรีระวิทยา กายวิภาคของเทคนิคโยคะ
เทคนิคการผ่อนคลาย
ปรัชญาอินเดีย – ประวัติศาสตร์โยคะ
ท่าโยคะอาสนะ ขั้นพื้นฐาน 13 ท่า
ตำราโยคะดั้งเดิม ปราณายามะ มุทรา พันธะ กริยา
เทคนิคการสอน การฝึกสอนภาคปฏิบัติ, การฝึกสอนภาคบรรยาย

สมัคร ลงทะเบียน
เริ่มรับสมัคร พฤศจิกายน 53 ถึงเมื่อเต็มจำนวน พร้อมรับตำราไปศึกษาก่อนเริ่มเรียน
ค่ายเปิด ศุกร์ 25 มีนาคม 2554 – อังคาร 29 มีนาคม 2554
ปฏิบัติ ศึกษาด้วยตนเองเม.ย. 4 สัปดาห์
ค่ายปิด สอบจันทร์ 25 เมษายน 2554 - ศุกร์ 29 เมษายน 2554
ประกาศผลสอบ พฤษภาคม และ แจกประกาศนียบัตรสำหรับผู้ที่สอบผ่าน

รับไม่เกิน 28 คน
ติดต่อคุณกลอย โทรศัพท์ 02 -732-2016 - 7 หรือ คุณปุ๋ม 081-4951730
โทรสาร 02-732 - 2811

กำหนดการ ค่ายปิด (25-29 เม.ย. 2554)

วันแรกของค่ายปิด
06.00 - 08.00 ออกรถตรงเวลา (07.00) เพื่อเดินทางไปสวนสันติธรรม (รวบตัวกันที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อนุสาวรีย์ชัยฯ)
09.00 - 11.50 แลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกด้วยตนเอง
12.00 - 13.00 อาหารกลางวัน
13.00 - 14.15 ฝึกบรรยายหน้าชั้น
14.15 - 15.00 ล้อมวงคุย ถาม-ตอบ การฝึกบรรยาย
15.00 - 16.50 ฝึกนำอาสนะ
17.00 - 17.50 แลกเปลี่ยนการฝึกสอน
18.00 - 19.00 อาหารเย็น
19.00 - 21.00 ทัศนคติต่อชีวิตของครูโยคะ
วันที่สองถึงวันที่สี่
06.00 - 07.50 ฝึกสอนอาสนะ และการผ่อนคลาย / ฝึกมุทรา พันธะ กริยา
08.00 - 09.00 อาหารเช้า
09.00 - 09.50 ล้อมวงคุย ถาม-ตอบ การฝึกสอน
10.00 - 10.50 สอบ กายวิภาคสรีระวิทยา ปรัชญาอินเดีย ประวัติศาสตร์โยคะ ตำราดั้งเดิม อาสนะ ปราณายามะ
11.00 - 11.50 เฉลยข้อสอบ
12.00 - 13.00 อาหารกลางวัน
13.00 - 14.15 ฝึกบรรยายหน้าชั้น
14.15 - 15.00 ล้อมวงคุย ถาม-ตอบ การฝึกบรรยาย
15.00 - 16.50 ฝึกนำอาสนะ
17.00 - 17.50 แลกเปลี่ยนการฝึกสอน
18.00 - 19.00 อาหารเย็น
19.00 - 21.00 ทัศนคติต่อชีวิตของครูโยคะ
วันที่ห้า
06.00 - 07.50 ฝึกสอนอาสนะ และการผ่อนคลาย / ฝึกมุทรา พันธะ กริยา
08.00 - 09.00 อาหารเช้า
09.00 - 09.50 ล้อมวงคุย ถาม-ตอบ การฝึกสอน
10.00 - 10.50 สอบ กายวิภาคสรีระวิทยา ปรัชญาอินเดีย ประวัติศาสตร์โยคะ ตำราดั้งเดิม อาสนะ ปราณายามะ
11.00 - 11.50 เฉลยข้อสอบ
12.00 - 13.00 อาหารกลางวัน
13.00 - 14.15 ฝึกบรรยายหน้าชั้น
14.15 - 15.00 ล้อมวงคุย ถาม-ตอบ การฝึกบรรยาย
15.00 - 17.50 สรุปกิจกรรม ปิดการอบรม
18.00 - 19.00 เดินทางกลับ
* ตารางเรียน อาจจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียน *




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2553   
Last Update : 17 ธันวาคม 2553 15:55:51 น.   
Counter : 1352 Pageviews.  


วิปัสสนา เหมือนหรือต่างจาก โยคะสมาธิ

นับจากนี้ ข้อเขียนทั้งหมด จะเกิดขึ้นจากการเริ่มเข้าอบรม ครูโยคะ รุ่น  10 ของทางสถาบันโยคะวิชาการ ทั้งนี้ เราจะได้เรียนรู้จิต และ ความคิด ที่มองโยคะ แตกต่างจากช่วงต้นของผู้เขียนที่เริ่มฝึก ว่ามีความแตกต่างทางด้านความคิด และ มุมมองต่อโยคะ อย่างไร 


ต้นทางเกิดจากไปร่วมอบรม ธรรมะและโยคะ เพื่อผู้ป่วย ของครูดล โดยในช่วงครึ่งเช้าเป็นการอบรมโดย พระอธิการครรชิต อกิณจโน วัดป่าสันติธรรม จ.ชัยภูมิ มาแสดงธรรมและวิธีปฎิบัติการเจริญสติภาวนาตามแนวทางหลวงพ่อเทียน ซึ่งจะใช้การเคลื่อนไหวของแขนมาช่วยในการกำหนดรู้อย่างมีสติ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลวงพ่อเทียนได้ค้นพบ และทุกคนสามารถที่จะฝึกฝนได้ด้วยตนเอง

ซึ่งพระอาจารย์จะนำฝึก และแนะแนวทางในการฝึกห้อย่างถูกต้อง อย่างมีสติ และ ปฏิบัติได้จริง
และขณะที่ฝึก พระอาจารย์ก็ได้อธิบายถึง วิปัสสนา ว่าให้ลองกำมือแล้วคลายออก เพื่อเป็นการรู้ และ ปล่อย นั้นคือวิปัสสนา ทันใดนั้นเอง เราก็คิดไปถึงเกร็งคลาย 8 จุดของโยคะ ว่ามันจะเหมือนกันหรือเปล่าน่ะ

ซึ่งโดยตัวเอง ก็ไม่ใช่คนธรรมะเท่าไหร่ ฝึกนั่งสมาธิวิปัสสนา แบบระดับเทพ ก็ไม่เคยไป ด้วยว่ากลัวตัวเองจะไม่รู้ แล้วจะเข้าใจผิด ก็เลยส่งเมล์ถามเพื่อน ๆ ดีกว่า เพราะเพื่อนครูรุ่นนี้ ออกจะธรรมะกันสุด สุด วิ่งรอกฝึกสมาธิวิปัสสนา ยิ่งกว่าดูหนังดูละครกันอีก

เลยเป็นที่มาของเมล์ ดีดี ที่อยากจะให้ได้อ่านกัน เพราะผู้มาตอบ ล้วนให้ความเข้าใจที่กระจ่างได้อย่างชัดเจน

เมล์ประเด็นคำถามเริ่มต้นจาก ตัวเรา อย่างตรงไปตรงมา
Sent: Sun, November 21, 2010 8:44:41 AM
Subject: [Yoga Teacher 10] คำถาม เนื่องจาก ไม่รู้ และอยากรู้
ถ้าการวิปัสสนา แปลตามตรง คือ การเห็นชัดเจน หรือ เห็นแจ้ง ดังนั้นแล้ว โยคะ ก็คือวิธีการทำ วิปัสสนา อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นเกร็ง 8 จุด ถ้าเราพิจารณาให้ลึกกว่า แค่เราคลายกล้ามเนื้อ เพราะในขณะที่เราเกร็งแล้วคลาย นั้นทำให้เราเห็นกายเรา ใจเราชัดเจนขึ้น ก็คือการวิปัสสนาอย่างหนึ่ง ได้หรือไม่
อยากได้ความเห็นน่ะคับ


เมล์แรกที่ตอบมาเป็นของเพื่อน เปิ้ล ที่มี Mileage ในการนั่งสมาธิวิปัสสนามาอย่างยาวนาน
Sent: Sunday, November 21, 2010 6:27 PM
To: โยคะ 10
Subject: RE: [Yoga Teacher 10] คำถาม เนื่องจาก ไม่รู้ และอยากรู้

ถูกค่ะ พี่หนึ่ง
ภาษานักปฏิบัติ เรียก การกำหนดอริยาบทย่อย
คือ พี่ก็มีสติ ตามดู ตามรู้กายขณะปฏิบัติ
ฝึกดูบ่อยบ่อย จิตก็จะละเอียดขึ้น

คือ ทุกการกระทำ ถ้าทำอย่างมีสติ และพิจารณา ตามดูดตามรู้ ถือเป็นการกำหนดได้ทั้งหมด



เมล์ที่สองจาก ครูกวี มาช่วยไขความกระจ่างเพิ่มมากขึ้น

เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2553, 8:35, เขียนว่า:
ชอบที่พวกเราคุยกันจัง

ขอเสนอความเห็นด้วยนะ

ผมเองก็ยังไม่ได้แม่นหลักการ
เพียงขอแชร์เท่าที่ตนเองสรุปกับตนเอง

โยคะ พุทธ มาจากอินเดีย
มีทั้งที่เหมือน และ ที่ต่างกัน

ที่เหมือน
ทั้งคู่ ให้ความสำคัญเรื่อง ทุกข์ เรื่อง อนิจจัง
ให้ความสำคัญเรื่อง จิต

ที่ต่าง
โยคะเชื่อว่า จิตเป็นต้นเหตุของทุกข์
เราควรบังคับจิตให้นิ่ง จนไม่มีการรับรู้
เมื่อไม่รู้ก็ไม่ทุกข์

เจ้าชายสิทธัตถะ เรียน และฝึกตามนั้น จนสามารถบังคับจิต จนไม่รู้ (ไม่ทุกข์) ได้
แต่ครั้น หยุดบังคับ มันก็ยังกลับมาทุกข์เหมือนเดิม

จึงขวนขวายต่อ พิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ จนเกิดปัญญาหยั่งรู้ว่า
สาเหตุของทุกข์ คือ การยึดมั่นในความเป็นตัวตน (อัตตา) ต่างหาก
การบังคับจิต ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ อย่างถาวร
การ ละความยึดมั่นในตัวตน ต่างหาก จึงจะเป็นการพ้นทุกข์ได้อย่างยั่งยืน
เจ้าชายสิทธัตถะเป็น พระพุทธเจ้า เพราะค้นพบ หลักการนี้ (อริยสัจจ 4)
เจ้าชายสิทธัตถะ ค้นพบสิ่งที่ อาจารย์ พราหมณ์อื่นๆ ยังไม่พบคือ อนัตตา

อ้อ อย่าไปมองว่า อริยสัจ เป็นเรื่องยาก ของสูง เข้าไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง
ท่านบอกชัดเจน ว่า มนุษย์ มีศักยภาพ ที่จะ เข้าใจ เข้าถึง อริยสัจ ได้

แล้วคนๆ นึง จะเข้าใจ อริยสัจ ได้อย่างไร
ท่านแนะนำว่า
ให้เห็นตามความเป็นจริง โดยละเอียด
วิ หมายถึง วิเศษ ละเอียด
ปัสสนา ทัศนะ หมายถึง เห็น
ทีนี้ จะเห็นอย่างละเอียด ต้องอาศัยจิตที่สงบระดับกลางๆ
จิตไม่สงบ มองไม่เห็น
จิตนิ่งเกินไป ก็ไม่เกิดการรับรู้
จิตสงบระดับกลางๆ เอาไว้ใช้ ปฏิบัติวิปัสสนา
จิตสงบระดับกลางๆ นี้ พระพุทธเจ้า ใช้คำว่า สมถะ

สมถะ (ของพุทธ) กับ สมาธิ (ของโยคะ) มีความคล้ายกันในบางประเด็น ต่างกันในบางประเด็น
คล้ายกันคือ
พัฒนาจิตเหมือนกัน ทำไปเรื่อยๆ จิตจะละเอียดลงๆ จิตจะมีกำลังมากขึ้นๆ

ต่างกันคือ
เป้าหมายของสมถะ เพื่อให้จิตนิ่งพอจะเห็นความจริงแท้ของธรรมชาติ
ว่า กายนี้ ไม่ใช่เรา อย่าไปยึด
ว่าจิตนี้ อารมณ์นี้ ไม่ใช่เรา อย่าไปยึด
เป้าหมายของสมาธินั้น
เพื่อให้จิตนิ่ง จนไม่ "รู้" อะไรเลย ไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีอะไรมากระทบได้เลย

ตอบคำถามหนึ่ง
ถ้าเราทำอาสนะ
แล้วรู้สึกถึงร่างกาย รู้สึกได้ถึง อารมณ์จิตใจ
หมายความว่า จิตเรา ไม่ฟุ้งซ่านออกนอก
หมายความว่า จิตเรา มีความตั้งมั่นพอที่จะรู้ ภายใน
เริ่มเป็นสมถะ
เป็นมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่า เรารู้ได้ชัด ละเอียด มั่นคงแค่ไหน

แต่ในวินาทีที่ หนึ่ง กดข่มจิต บังคับจิต ให้มันเป็นไปในความปรารถนาที่ตนเองต้องการ
เช่น รู้สึกดี รู้สึกสงบ มีความสุข และขอจม แช่ อยู่ในความสุขนั้น
วินาทีนั้น หนึ่งกำลังไปเส้นทางโยคะ ไปสู่สมาธิของโยคะ

และถ้าในวินาทีนั้น หนึ่ง กำลัง "แค่รู้"
รู้เฉยๆ รู้โดยไม่แทรกแซง ไม่ปรุงเพิ่ม ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
เช่น รู้ว่า อ้อ นี่กล้ามเนื้อตึงอยู่ นี่คลายอยู่ แค่นั้น
เช่นรู้ว่า อ้อ นี่จิตกำลังรู้อยู่ กำลัง เกิดความชอบ เกิดความไม่ชอบ แค่นั้น
จนเห็นว่า กายนี้ ใจนี้ ล้วนเสื่อม (ทุกข์)
กายนี้ ใจนี้ ล้วนไม่เที่ยงแท้ แน่นอน (อนิจจัง)
กายนี้ ใจนี้ เป็นไปตามเหตุ ผล ทางธรรมชาติ (ไม่ได้เป็นไปตาม ความอยาก ไม่อยากของฉัน)
จนเห็นว่า ทุกอย่าง มันเพียง "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป"
ก็เรียกว่า หนึ่งกำลังทำวิปัสสนา
รูปธรรมที่หนึ่งยกมานั้น ดีนะครับ
ถือว่า เป็นต้นทาง
ฝึกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
คอยรับรู้ผล ประเมินผลไปเรื่อยๆ
ตรวจทานกับ ทฤษฎี คำสอน
ก็จะไปถึงเป้าหมาย

เมล์สุดท้าย จาก พี่อ๊อด เจ้าแม่วิปัสสนา ที่มายกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

Date: Mon, 22 Nov 2010 09:38:19 +0700
Subject: Re: [Yoga Teacher 10] meditation & vipassana

แบ่งปันเรื่องเล่าจากพี่คนหนึ่ง พอดีเพิ่งได้คุยกัน พี่เขาเป็นครูโยคะเหมือนกันแต่ตอนนี้บอกว่าอยู่กับตัวเองมาก ใช้เวลาในการไปปฏิบัติธรรม และถักหมวกถวายให้พระป่า พี่เขาบอกว่าการถักหมวกช่วยให้มีสมาธิแต่เริ่มรู้สึกจมดิ่งลงไปจมแช่ในความสุข บางทีถักไปถึงตี 2 ตี 3 ไม่ง่วงเลย ดื่มด่ำกับความสุข ปีิติที่จะได้ทำของถวายพระ เนื่องจากช่วงอากาศหนาวกำลังมาเยือน และมีพระป่าที่ท่านต้องเดือดร้อนกับการปฏิบัติเนื่องจากอากาศหนาวเหน็บ พอได้นำหมวกไปถวายก็อิ่มใจ กลับมามีแรงถักต่ออีกไปเรื่อย ๆ รู้ว่าตอนนี้จมดิ่งในสุข (เหมือนเข้าฌาน) ไม่อยากพบหน้าใคร ไม่อยากพูดคุยกับใคร เก็บตัวอยู่ในบ้าน แต่ก็รู้และพยายามถอนตัวออกมาสู่ความเป็นจริงของโลก (วิปัสสนา) พี่เขาบอกว่าไม่ง่ายเหมือนกันเพราะมันสุขจนอยากจะดิ่งเข้าไปทุกที

เข้าใจว่าครูโยคะหลายคนมักจะดิ่งเข้าสมาธิได้เร็วและถนัด เป็นเส้นทางที่คุ้นชิน บางคนนั่งได้นานเป็นหลายชั่วโมง ไม่เจ็บไม่ปวดแต่ไม่รู้ตัวเลยก็มี เลยเก็บมาแบ่งปันประสบการณ์ค่ะ


หวังว่าทุกคนอ่านแล้วจะเป็นประโยชน์กับตัวเองน่ะ ถนนมีหลากหลาย แต่ทุกถนนแห่งธรรมะ มุ่งหน้าเพื่อการหลุดพ้น ถ้วนทั่ว





ข้อเขียนนี้ ผู้เขียน ๆ ขึ้นเพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้ในวิถีโยคะแบบดั่งเดิม หากท่านเห็นว่ามีประโยชน์กรุณาช่วยกันแบ่งปันต่อไปทาง ออนไลน์ แต่กรุณาอย่าดัดแปลง หรือ กรุณาอย่านำไปลงในสื่ออื่น ๆ แต่อย่างใด  ขอบคุณครับ




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2553   
Last Update : 17 ธันวาคม 2553 14:41:31 น.   
Counter : 2042 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  

Beautybig
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




สวัสดีครับ ไม่ค่อยได้เข้ามาใน Blog เท่าไหร่ แต่สามารถติดตามกันได้ที่

http://www.krityoga.com

หรือ https://www.facebook.com/ThaiYogaInstituteAlumni/
โยคะสารัตถะ เล่มเดือนมีนาคม มารู้จักโยคะจากผู้เรียนที่ สวนโมก สวนรถไฟ กรุงเทพกัน
New Comments
[Add Beautybig's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com