Blog เล็กๆแห่งหนึ่ง รวมเกร็ดข่าวสาระประจำวัน กับ เรื่องที่อาจจะไร้สาระ ของ ลูกผู้ชายคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในมหานครใหญ่แห่งหนึ่ง ในที่โลกที่กว้างใหญ่ใบนี้
Group Blog
 
All Blogs
 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ( Warren Buffet ) สบายดีอยู่หรือ ?

ที่มา //www.bangkokbiznews.com

'วอร์เรน บัฟเฟตต์' สบายดีอยู่หรือ!
โดย : วิบูลย์ พึงประเสริฐ



วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมาเกี่ยวกับมุมมองของเขาต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ลองมาดูว่าเขามีความเห็นอย่างไร

ถาม: วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นทำให้คุณเปลี่ยนวิธีการลงทุนหรือไม่
บัฟเฟตต์: มันไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการลงทุนของผมเลยแม้แต่นิดเดียว ผมเรียนรู้การลงทุนจากหนังสือของเบน เกรแฮมตั้งแต่ปี 1949 และไม่เคยเปลี่ยนแนวทางเลยนับจากนั้นมา


ถาม: วิกฤติที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย มีผลกระทบต่อปรัชญาการลงทุนของคุณหรือไม่
บัฟเฟตต์: ไม่เลย เหมือนผมต้องการซื้อฟาร์ม ผมคงไม่เปลี่ยนแนวทางในการซื้อฟาร์มของผม เช่นเดียวกับการซื้อบ้านหรือซื้อธุรกิจ หุ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ถ้าผมต้องการซื้อหุ้นในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในเมืองนี้ ผมคงใช้แนวทางที่เคยใช้เมื่อสองปีที่แล้วและก็เป็นแนวทางที่จะใช้ในอีกสองปีข้างหน้า
ผมจะดูว่าผมจะได้อะไรจากเงินที่ลงทุนไป ผู้บริหารเป็นอย่างไร บริษัทนั้นมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่และฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร ถ้าพูดถึง "ตลาดหุ้น" ขอให้คุณลืมมันไปได้เลย สำหรับหุ้นทุกตัวที่ผมมีผมว่าผมคงถือต่อไปอย่างมีความสุข ถึงแม้ตลาดหุ้นจะปิดไปสักห้าปีนับจากวันนี้ พูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ผมซื้อธุรกิจ ผมไม่ได้ซื้อหุ้น ผมซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจเหมือนผมซื้อฟาร์ม และมันไม่เคยเปลี่ยน พวกข่าวร้ายต่างๆ ในโลกนี้ไม่สามารถเปลี่ยนมันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถซื้อของได้ถูกกว่าวันนี้ มันอาจถูกลง คำถาม ก็คือตอนซื้อนั้นมันคุ้มค่าเงินที่ลงทุนแล้วหรือยัง


ถาม: อะไรเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุดในการลงทุนของคุณ
บัฟเฟตต์: บทเรียนที่สำคัญที่สุดในการลงทุนก็คือการมองหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่สิ่งที่มีราคาขึ้นๆ ลงๆ ไม่ใช่สิ่งที่มีคนแนะนำให้ซื้อ หรือพูดกันถึงเรื่องกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสหน้า แต่เป็นการมองให้เห็นถึงธุรกิจ ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะประเมินธุรกิจนั้นๆ อย่างไร คุณก็ไม่ควรจะซื้อหุ้นบริษัทนั้น แต่ถ้าคุณรู้ว่าจะประเมินธุรกิจนั้นอย่างไรและซื้อมันได้ในราคาถูก คุณก็ไม่ต้องไปกังวลกับมันว่าจะเป็นอย่างไรในอาทิตย์หน้า เดือนหน้าหรือปีหน้า


ถาม: คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณกำลังทำนั้นถูกต้อง
บัฟเฟตต์: ผมว่าไม่มีปัญหาถ้าพูดถึงอนาคตข้างหน้าของเศรษฐกิจในระยะยาว ในระยะสั้นผมคงมองว่ายังไม่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ตลาดหุ้น ตอนนี้ผมเริ่มซื้อหุ้นแล้ว ถ้าคุณบอกผมว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าผมพบสิ่งที่น่าสนใจวันนี้ผมก็จะซื้อมันทันที ผมคงไม่รอและคาดหวังว่าจะซื้อมันได้ถูกลงในอีกหกเดือนข้างหน้า เพราะไม่มีใครรู้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลงต่ำสุดหรือยัง..ไม่มีใครรู้ สิ่งที่คุณต้องรู้ก็คือคุณได้อะไรคุ้มค่าต่อเงินลงทุนของคุณหรือเปล่า


ถาม: หุ้น Berkshire Hathaway ลดลงอย่างมาก และมีผลต่อผู้ถือหุ้นมาก
บัฟเฟตต์: ใช่! ส่วนใหญ่ผู้ถือหุ้นของเราลงทุนระยะยาว ตลาดหุ้นปีที่แล้วลดลงกว่า 50% และเราก็หนีไม่พ้นที่ราคาหุ้นของบริษัทเราจะลดลงตามไปด้วย ตลอดชีวิตของผม ผมเห็นราคาหุ้นเบิร์กไชร์ลดลงมากกว่าครึ่งถึงสามครั้ง ครั้งแรกในปี 1974 ราคาหุ้นลดลงจาก 90 เหรียญเหลือ 40 เหรียญ ตอนนั้นผมรู้สึกไม่ดีหรือเปล่า เปล่าเลยผมกลับชอบซะอีกเพราะผมได้ซื้อหุ้นบริษัทเพิ่ม ดังนั้นผมไม่ได้ตัดสินบริษัทจากราคาหุ้น แต่ผมดูบริษัทจากผลการดำเนินงานของบริษัทว่าเป็นอย่างไรมากกว่า

Books About Warren Buffet







 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2552 7:15:58 น.
Counter : 471 Pageviews.  

เงินเฟ้อติดลบในรอบ9ปี จี้รัฐเร่งฟื้นเชื่อมั่น

ที่มา //www.bangkokbiznews.com



เงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจี้รัฐบาลเร่งฟื้นความเชื่อมั่นการบริโภค-ลงทุน คาดครึ่งปีแรกเงินเฟ้อติดลบ 1-1.8%

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ หลังจากวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน ม.ค.52 ลดลง 0.4% และเป็นอัตราที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยลงลึกและยาวนานกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลัง มีโอกาสที่ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะค่อยๆ ขยับขึ้นเล็กน้อย เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคหลักของโลกเริ่มผ่านพ้นจุดต่ำสุด แต่การฟื้นตัวอย่างแท้จริงอาจจะเกิดขึ้นในปี 53 ซึ่งผลดังกล่าวเมื่อรวมกับผลของฐานเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำในช่วงปลายปี จึงน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอจนถึงช่วงไตรมาสสามของปีนี้ กว่าที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมามีตัวเลขเป็นบวกได้อีกครั้ง โดยคาดว่าในช่วง H1/52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวลงติดลบที่ 1-1.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแนวโน้มทั้งปี 52 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่าง ลดลง 1.0% ถึงเพิ่มขึ้น 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจาก 5.5% ในปี 51 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังคงเป็นตัวเลขบวก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 52 จะอยู่ที่ประมาณ 0-1.0 % ลดลงจาก 2.4% ในปี 51

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อ ม.ค.52 ที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปีนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานของปีก่อนหน้า ที่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งผลของฐานดังกล่าวคงจะหมดไปในช่วงไตรมาสสี่ พร้อมๆ กับราคาน้ำมันอาจจะค่อยๆ เริ่มขยับขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสสี่ มีแนวโน้มที่จะกระโดดกลับขึ้นมาเป็นบวกในระดับที่สูง

"การที่เงินเฟ้อมีอัตราติดลบติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือนย่อมไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะทยอยประกาศออกมาในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าตัวเลขภาคการผลิต การส่งออก หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง พร้อมกับกระแสการเลิกจ้างที่อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของภาคครัวเรือนให้ลดลงตามภาวะรายได้"

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะว่า ทางการไม่ควรปล่อยให้สภาวะเงินเฟ้อติดลบ เพราะจะส่งผลลบในทางจิตวิทยาจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยควรเร่งดำเนินการทั้งมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อลดความกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจในด้านการใช้จ่ายและการลงทุน โดยแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะเอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และลดภาระต้นทุนการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนซึ่งมีแนวโน้มเผชิญปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องจากยอดขายและคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ลดลงอย่างมาก

Financial Freedom





 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2552 7:28:03 น.
Counter : 387 Pageviews.  

โพลล์รอยเตอร์คาดพฤหัสฯนี้ECBคงดบ.ที่2.0%

ที่มา //www.bangkokbiznews.com




ผลสำรวจของรอยเตอร์ชี้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 5 ก.พ.แต่จะปรับลดดอกเบี้ยลงเดือนมี.ค.

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่ ECB จะประกาศมติการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 5 ก.พ.เวลา 19.45 น.ตามเวลาประเทศไทย

นายฌอง-คล็อด ทริเชต์ ประธาน ECB ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างมั่นใจว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า เมื่อเขากล่าวย้ำในการแถลงข่าวที่เมืองดาวอส เมื่อวานนี้ว่า การประชุมครั้งสำคัญของ ECB จะมีขึ้นในเดือนมี.ค. นักเศรษฐศาสตร์ 82 จาก 85 คนที่ได้รับการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค.ระบุว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 2.0% ในการประชุมวันที่ 5 ก.พ.

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ 3 คนคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่การร่วงลงของเงินเฟ้อต่ำกว่าเพดานของ ECB ที่ระดับต่ำกว่า 2% ในเดือนที่ผ่านมา แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความเห็นของผู้กำหนดนโยบายต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ 82 จาก 85 รายเชื่อว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 5 มี.ค.

นักเศรษฐศาสตร์ 2 คนคาดว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.0% และนักเศรษฐศาสตร์ 1 คนคาดว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.พ.แต่จะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหลังจากนั้น

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือนมี.ค.สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.5% และแม้ ECB เตือนว่า อัตราดอกเบี้ยไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงมากเกินไปนั้น แต่ผลสำรวจบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับต่ำสุดที่ 1.0% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบที่เคยมีการคาดไว้ว่าจะแตะระดับต่ำสุดในไตรมาส 3 ในผลสำรวจเมื่อวันที่ 21 ม.ค.

"ความเห็นของนายทริเชต์ในการแถลงข่าวเดือนม.ค.ทำให้มั่นใจว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย" นายเคนเน็ธ บรอกซ์ นักเศรษฐศาสตร์ของลอยด์สกล่าว

"การคงดอกเบี้ยจะเป็นเพียงชั่วคราว และจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่1.50% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ ECB จะต้องปรับตัวตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซา และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงในการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ ECB"

การคาดการณ์นี้ตรงข้ามกับการคาดการณ์ในผลสำรวจอีกฉบับหนึ่งที่คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะลงมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.พ.

ความมีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมาแม้ที่ระดับต่ำมากของตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนี Ifo ของเยอรมนีและดัชนี PMI ของยูโรโซน อาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายของ ECB บางคนเชื่อว่า ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว 2.25% นับตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายบางคนยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลดลงอีกนั้น แต่ก็แทบไม่มีแนวโน้มว่า ECB จะดำเนินการตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ระดับ 0%

นายโลเรนโซ บินิ สมากิ กรรมการบริหาร ECB กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0% จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาในภาคการเงินโดยเห็นได้จากสหรัฐเป็นตัวอย่างผลสำรวจบ่งชี้ว่า มีโอกาส 20% ที่ ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ 0%

อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์เพียงรายเดียวที่คาดว่า ECB จะทำเช่นนั้นการดำเนินการของ ECB จะง่ายขึ้น หากการเปิดเผยข้อมูลในวันนี้บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อร่วงลงสู่ 1.4% ในเดือนม.ค.ตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์
ซึ่งจะเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 1999 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าการขยายตัวของ
เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลง 2% ในปีนี้

นายมาร์คัส มาเทอร์เบาเออร์จากสถาบันวิจัย WIFO ของออสเตรียเป็น 1 ในนักเศรษฐศาสตร์ 3 รายในการสำรวจของรอยเตอร์ที่คาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในวันที่ 5 ก.พ.

"ข้อมูลเศรษฐกิจที่แท้จริงบ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างหนักจนสามารถสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณพิจารณาข้อมูลเงินเฟ้อซึ่งจะต่ำกว่าระดับ 1.0% ในช่วงหลายเดือนแรกของปีนี้" เขากล่าว




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2552 7:38:38 น.
Counter : 405 Pageviews.  

Cash Is King

ที่มา //www.bangkokbiznews.com




ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


Cash Is King
โดย : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คำว่า Cash Is King หรือ "เงินสดคือพระราชา" จะได้รับการกล่าวถึงเสมอ

เพราะในยามวิกฤติ บริษัทธุรกิจและผู้คนในสังคมมักจะ "ขาดเงินสด" กันมากมาย หรือในภาษาทางการเงินเรียกว่า "ขาดสภาพคล่อง" เนื่องจากกำไรมักจะหดหายหรือขาดทุน หนี้ก็มากและการขอกู้เงินใหม่มักถูกปฏิเสธ ผลจากการขาดสภาพคล่อง ทำให้คนต้องขายทรัพย์สิน เพื่อนำเงินสดมาใช้ในการดำเนินงานของกิจการ หรือเพื่อการชำระหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย นั่นทำให้ทรัพย์สินต่างๆ มีราคาลดลงมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ดังนั้น ในยามวิกฤติจึงเป็นโอกาสที่สำคัญของคนที่มีเงินสดอยู่ในมือมากๆ และนั่นคือที่มาของคำว่า "เงินสดคือพระราชาหรือพระเจ้า" มาดูกันว่าเงินสดทำอะไรได้ในยามวิกฤติ

ข้อแรกก็คือ บริษัทที่มีเงินสดมาก มักจะไม่เจ๊งในยามที่ธุรกิจซบเซาอย่างหนัก ในเวลาเดียวกัน คู่แข่งในอุตสาหกรรมหลายรายอาจต้องปิดตัวลง หลายบริษัทอาจต้องลดระดับการผลิตลง นี่ทำให้บริษัทที่มีเงินสดมากสามารถขยายตัว หรือกินส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น และแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ผมยังจำได้ว่า ในช่วงวิกฤติรอบก่อนในปี 2540 บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งได้รับการเพิ่มทุนจากหุ้นส่วนที่มาจากต่างประเทศทำให้มีเงินสดมาก ได้เสนอกลยุทธ์ "สร้างบ้านเสร็จก่อนขาย" ในขณะที่บริษัทจัดสรรส่วนใหญ่ ไม่มีแม้กระทั่งเงินที่จะมาสร้างบ้านที่มีคนจองแล้ว นั่นทำให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์ สามารถขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งจนถึงทุกวันนี้

ข้อสอง การมีเงินสดมากทำให้บริษัทสามารถซื้อของถูก ที่มีคนเสนอขายกันเต็มไปหมด ของถูกที่ว่านั้นอาจรวมไปถึง ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง โรงงาน หรือแม้แต่หุ้นของกิจการต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ทรัพย์สินหรือของนั้น อาจเป็นได้ทั้งทรัพย์สินที่บริษัทต้องใช้ หรือสามารถนำมาใช้ในการดำเนินการ หรือขยายงาน หรือทรัพย์สินที่บริษัทซื้อมาเพื่อการลงทุนเฉยๆ ก็ได้

ผลจากการซื้อนั้น ถ้าทำได้ดี บริษัทก็จะมีความได้เปรียบในระยะต่อไป เพราะต้นทุนที่ได้มานั้น มักจะต่ำกว่าปกติ ทำให้สามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติในอนาคตเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว

ข้อสาม บริษัทที่มีเงินสดเหลือเฟือ สามารถจ่ายปันผลได้ตามปกติ หรือมากกว่าปกติถ้าบริษัทลดการขยายตัว ในขณะที่บริษัทอื่น มักจะต้องลดการจ่ายปันผลลง

ดังนั้น หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีเงินสดดี จะสามารถรักษาระดับราคาหุ้นได้ดีกว่าหุ้นของบริษัทที่มีหนี้มากและมีเงินสดน้อย เพราะในยามวิกฤตินั้น นักลงทุนมักจะมองหาหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลและจ่ายได้ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับราคาหุ้น

ข้อสี่ บริษัทจดทะเบียนที่มีเงินสดมาก สามารถที่จะ "ซื้อหุ้นคืน" เมื่อหุ้นของบริษัทมีราคาลดต่ำลงมากเกินกว่าพื้นฐาน การซื้อหุ้นคืนช่วยพยุงราคาหุ้นไม่ให้ตกต่ำลงรุนแรงเกินไปโดยเฉพาะในยามที่หุ้นของบริษัทไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนเนื่องจากไม่เห็นข่าวดีเลยในช่วงเวลาที่มองไปข้างหน้า

ในอีกด้านหนึ่ง การซื้อหุ้นคืนในยามที่หุ้นมีราคาต่ำมากจะทำให้จำนวนหุ้นของบริษัทน้อยลงไปมาก ซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นในงวดการเงินต่อๆ ไปสูงขึ้นและจะส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทที่จะสูงขึ้นในอนาคต

แต่ก็เหมือนกับอีกหลายสิ่ง เงินนั้น คือพระเจ้าก็ต่อเมื่อมันถูกใช้อย่างชาญฉลาด ถ้าบริษัทมีเงินสดมากแต่ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แต่เก็บรักษาเอาไว้เฉยๆ ในบัญชีเงินฝากหรือหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ สิ่งเดียวที่บริษัทจะได้ก็คือ ความมั่นคงที่บริษัทจะไม่ล้มละลาย ประโยชน์ที่ได้รับก็จะน้อย

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ บริษัทนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือซื้อทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่กลับเป็นภาระซึ่งทำให้เงินสดลดลงจนบริษัทเองก็อาจจะประสบปัญหาได้เหมือนกัน

และนี่ก็ทำให้ผมนึกถึงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในช่วงนี้ที่ผมดูว่า อาจจะเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า ประการหนึ่งก็คือ บริษัทบางแห่ง ไม่ได้มีเงินสดมากมาย อาจจะเนื่องจากธุรกิจเองไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้ดีเพียง แต่ในช่วงเวลาขณะนั้นมีเงินสดเหลืออยู่

ลักษณะแบบนี้ ถ้าในอนาคตธุรกิจย่ำแย่ลง การเงินของบริษัทก็จะมีปัญหา

อีกประการหนึ่งก็คือ หุ้นของบริษัทอาจจะไม่ได้มีราคาถูกจริง แม้ว่าราคาจะตกลงมามาก ผู้บริหารอาจจะลืมคิดไปว่าวิกฤติกำลังจะเกิดขึ้นและพื้นฐานของบริษัทกำลังเปลี่ยนไปและราคาหุ้นที่ตกลงมานั้นเหมาะสมแล้ว

ผมเองคิดว่า บริษัทที่สมควรจะซื้อหุ้นคืน ต้องมีความมั่นใจว่า ธุรกิจของตนมี "ธรรมชาติ" ที่เป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดี เช่น เป็นธุรกิจที่ขายเงินสดแต่จ่ายค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อ หรือเป็นธุรกิจที่มีกำไรต่อยอดขายสูงมาก เป็นต้น นอกจากนั้น จะต้องดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อคืน มีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากจริงๆ โดยคิดรวมปัจจัยเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจเข้าไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ดูเหมือนว่าหุ้นของบริษัทที่มีเงินสดมาก และบริษัทที่มีกระแสเงินสดดี จะสามารถรักษาระดับราคาดีกว่าบริษัทที่มีหนี้สูง หรือบริษัทที่มีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นทั่วโลก และบทเรียนจากตลาดหุ้นไทยในช่วงวิกฤติคราวที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า ในยามวิกฤติ บริษัทที่มีเงินสดและกระแสเงินสดมากมักจะเป็น "ผู้ชนะ"

รวมทั้งบริษัทที่ผู้บริหารสามารถที่จะใช้เงินสดให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด ก็จะยิ่งเป็น "ผู้ชนะที่สมบูรณ์แบบ" พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง เบิร์กไชร์แฮทธาเวย์ บริษัทของ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ วิกฤติรอบนี้ของสหรัฐเกิดขึ้นในช่วงที่เบิร์กไชร์มีเงินสดเต็มกระเป๋า และสิ่งที่เรารู้และยอมรับกัน ก็คือ บัฟเฟตต์ นั้นคือ "สุดยอดฝีมือของการใช้เงินสด"

ดังนั้น เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าหลังจากวิกฤติแล้ว บริษัทและหุ้นเบิร์กไชร์ จะเป็นอย่างไร ในระหว่างนี้ ก็ลองมามองดูว่า บริษัทจดทะเบียนไหนในตลาดหุ้นไทยมีเงินสด และกระแสเงินสดมาก และพวกเขาใช้มันอย่างไร บางทีเราอาจจะได้หุ้นที่ทำเงินในยามที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับความยากลำบากก็ได้





 

Create Date : 28 มกราคม 2552    
Last Update : 28 มกราคม 2552 8:34:20 น.
Counter : 573 Pageviews.  

การบินไทย..ทุบให้จมดิน แล้วจะมีคนรวย!!

ที่มา //www.bangkokbiznews.com



ไอซียู..ใครเห็นงบการเงินการบินไทยจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน!!!

ปัญหาหนี้สินของการบินไทย และการบริหารจัดการที่มีวาระซ่อนเร้น เริ่มทำให้องค์กรแห่งนี้ขาด "สภาพคล่อง" และประสบปัญหา "ขาดทุน" อย่างหนักในปี 2551 ที่คาดว่าตัวเลขอาจสูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะขาดทุนต่อเนื่องในปี 2552 อีกหลัก "พันล้านบาท"

โดยล่าสุด การบินไทยอยู่ระหว่างปรับแผนการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย โดยตั้งเป้าว่าในปี 2552 จะมีรายได้ 1.2 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิม 1.7 แสนล้านบาท หรือลดลง 5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ แผนการขายเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ จะส่งผลให้การบินไทยขาดทุนประมาณ 4.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนในปี 2551 จำนวน 1.96 พันล้านบาท และขาดทุนในปี 2552 จำนวน 2.27 พันล้านบาท

ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ก็คือ แผนการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 8 ลำ มีการจ่ายเงินมัดจำและเงินล่วงหน้าไปแล้วประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ถูกท้วงติงมาตั้งแต่แรก อีกทั้งยังถือเป็นการขัดมติ ครม.ที่ให้ใช้วิธีการ "เช่า" แต่การบินไทยกลับใช้วิธีการ "เช่าซื้อ" นอกจากนี้ ยังมีการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ล่วงหน้าที่ราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถึงเดือนมีนาคม 2552 ขณะที่ราคาปัจจุบันลงมา 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในส่วนนี้การบินไทยต้องขาดทุนอีกไม่น้อย

ในระยะต่อไปการบินไทยยังมีภาระผูกพันในการซื้อเครื่องบินอีก 40,781 ล้านบาท ภาระผูกพันเช่าเครื่องบิน 5,273 ล้านบาท และภาระผูกพันตามสัญญาจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 8 ลำ อีก 25,249 ล้านบาท แค่ 3 รายการนี้ยังต้องใช้เงินอีกกว่า 7.13 หมื่นล้านบาท

ราคาหุ้นการบินไทยในปี 2551 ต่อเนื่องถึงปีนี้ มีการดิ่งลงรุนแรงเป็นการตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในรอบ 17 ปี (เคยทำจุดสูงสุด 80 บาท เมื่อปี 2542 และเคยต่ำสุดรอบที่แล้ว 16.40 บาท เมื่อปี 2544) ราคาปัจจุบันหล่นลงมาต่ำถึง 6.35 บาท ในรอบ 17 ปี สถิติกราฟหุ้น THAI ผันผวนขึ้น-ลงเร็ว โดยมีรอบขึ้นใหญ่นับได้ 8 คลื่น หรือเฉลี่ยทุกๆ 2.1 ปี และมีรอบลงใหญ่ 10 คลื่น หรือเฉลี่ยลงใหญ่ทุกๆ 1.7 ปี

สถิติขึ้นเร็ว-ลงเร็ว บอกว่าหุ้นตัวนี้เป็น "หมูในอวย" ทางการเมือง ช่วงร้ายร้ายสิ้นดี ช่วงดีดีเหลือใจ ทำให้มีคน "รวย" และ "เจ๊ง" ได้เป็นรอบๆ

เหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการบินไทยทำให้รายได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ช่วงไฮซีซัน) ลดลง 20-30% แต่ไม่ใช่ "ต้นตอ" ของปัญหาทางการเงินที่แท้จริง

หากย้อนดูงบการเงินของสายการบินแห่งชาติรายนี้ ผ่านมือรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลไหนอย่างจริงจัง ที่ควรทำ "เพิ่มทุน-ลดหนี้-ผ่าตัดองค์กร" (ให้โปร่งใส) อย่าหวัง ทุกรัฐบาลมองการบินไทยเป็นแหล่งผลประโยชน์ "ก้อนโต" ที่เจ๊งไม่ได้

ณ สิ้นไตรมาส 3/2551 การบินไทยมีสินทรัพย์รวม 259,721 ล้านบาท (สินทรัพย์หมุนเวียน 45,843 ล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินรวม 199,082 ล้านบาท (หนี้สินหมุนเวียน 91,505 ล้านบาท) และส่วนทุนจำนวน 60,371 ล้านบาท คิดคร่าวๆ บริษัทมีทุน 1 บาท แบกเงินกู้ 3 บาท ที่กำลังจะแย่ก็เพราะหนี้ส่วนใหญ่เป็น "หนี้ร้อน" ที่มีกำหนดเวลาชำระภายใน 1 ปี

ข้อสังเกตสำคัญอยู่ตรงที่ "หนี้สินหมุนเวียน" (91,505 ล้านบาท) สูงกว่า "สินทรัพย์หมุนเวียน" (45,843 ล้านบาท) มากถึง 1 เท่าตัว ตรงนี้กำลังบอกว่า สภาพคล่องทางการเงินของการบินไทยเข้าขั้น "ลำบากมาก" ถึง "มากที่สุด" อัตราส่วนนี้หมายถึง หากการบินไทยจำเป็นต้องชำระหนี้สินระยะสั้นทั้งหมด บริษัทจะไม่มีความสามารถแปลงสินทรัพย์หมุนเวียนมาเป็นเงินสดเพื่อจ่ายชำระหนี้คืนได้ ในทางบัญชี คือ "ไอซียู"

การบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ดำเนินงาน 88 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินของบริษัทจำนวน 51 ลำ เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน (เช่าซื้อ) 26 ลำ และเครื่องบินเช่าดำเนินงาน 11 ลำ ในแต่ละปีทำรายได้ให้ 1.6-1.8 แสนล้านบาท ถือว่า "เยอะ" แต่ถ้าปีนี้ รายได้ลดเหลือ 1.2 แสนล้านบาท ฟันธง! ได้เลยหาเงินไม่ทันใช้ (หนี้) ชัวร์ๆ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2551 การบินไทยระดมทุนมาแก้ปัญหาหนี้ระยะสั้น โดยการออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2551 มูลค่า 7,000 ล้านบาท ต้นทุนดอกเบี้ย 4.77-5.5% กู้เงินจากธนาคารออมสิน 4,000 ล้านบาท กู้เงินระยะสั้นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 10,000 ล้านบาท รวมเป็น 21,000 ล้านบาท แต่ก็ "ยังไม่พอ" อยู่ดี

ประเด็นอยู่ตรงที่การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ จึง "เจ๊งไม่ได้" ปัจจุบันมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 51.03% ถือหุ้นทางอ้อมผ่านกองทุนรวม วายุภักษ์ หนึ่ง 17.18% ธนาคารออมสิน 2.73% สำนักงานประกันสังคม 1.30% รวมแล้วภาครัฐถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกัน 72.24% ยังไงก็ต้อง "อุ้ม"

จากการเปิดเผยของ สุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย ในปี 2552 การบินไทยมีความต้องการหาแหล่งเงินกู้รวม 29,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนด โดยมีแผนระดมเงินกู้จากแหล่งทุนในประเทศจากธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีวงเงินกู้ 29,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมการการบินไทยได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 10,000 ล้านบาท และจะพิจารณาเพิ่มเติมอีก 19,000 ล้านบาท

โดยขณะนี้มีความพยายามขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันวงเงินกู้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง และไม่ต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน แต่ทางการเมืองต้องมี "แพะรับบาป" ก่อน รัฐบาลจึงจะไม่ถูกข้อครหา นี่คือเกมที่กำลังจะเปลี่ยน "บอร์ดชุดใหญ่" ในขณะนี้

"เจ๊งไม่ได้" เงื่อนไขผูกมัดสายการบินแห่งชาติมา 48 ปี ทำให้กิจการแห่งนี้มีลักษณะคล้าย "โป๊ะลอยน้ำ" ขึ้นลงตามระดับน้ำแต่ "ไม่เคยจม" และเป็นหุ้น "หมูในอวย" ทางการเมือง ทุบให้ "จมดิน" แล้วจะมีคนรวยเชื่อซิ!!!


แต่งานนี้เจ้าของบ้านขอบอกว่า อาจจะมีคนหัวใจวายก่อนจะเห็น
วันที่เครื่องบินขึ้นอีกครั้งน่ะสิครับ ใครใจแข็งพอลองดูนะครับ









 

Create Date : 27 มกราคม 2552    
Last Update : 27 มกราคม 2552 7:40:40 น.
Counter : 595 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

Rushing Dandy
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีทุกๆท่านครับ ขอต้อนรับเข้าสู่ Bloggang ผมนะครับ
อยาก Comment อะไรเชิญได้เต็มที่ครับ
แล้วก็ยังไง ช่วยกรุณาสนับสนุน Sponsor link ด้านล่างนี้ ด้วยนะครับ




มีผู้เข้าชม Blog แห่งนี้นับตั้งแต่ 14 ธ.ค 51 แล้ว free counters
free counter

Friends' blogs
[Add Rushing Dandy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.