Group Blog
 
All blogs
 

แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine)

เครื่องดื่มสุขภาพนู่นนี่นั่นเขาบอกเราว่าใส่ "แอล-คาร์นิทีน"
แอล-คาร์นิทีนคืออะไร
มีประโยชน์จริงๆ เหรอ
เชื่อได้ไหมเนี่ย
กินเข้าไปแล้วจะมีพิษต่อร่างกายหรือเปล่าล่ะ
ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มีคำถามทำนองนี้อยู่เสมอ
(อุ๊ยตาย...เกริ่นนำอย่างกับเป็นโฆษณาขายตรง!!!)

เข้าเรื่องเลยดีกว่าค่ะ "คาร์นิทีน" เป็นสารชนิดหนึ่งซึ่งสังเคราะห์ได้ภายในร่างกายของมนุษย์เอง โดยสารชนิดนี้สังเคราะห์ขึ้นได้ในตับ ไต และสมอง โดยใช้กรดอะมิโนสองชนิดเป็นสารตั้งต้น นั่นก็คือกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า "ไลซีน" และ "เมทไธโอนีน" รวมทั้งต้องอาศัยวิตามินต่างๆ ในร่างกายเป็นตัวช่วยให้เกิดการสังเคราะห์คาร์นิทีนขึ้น ได้แก่ วิตามินบี6 วิตามินซี ไนอะซิน (วิตามินบี3) และธาตุเหล็ก

ดังนั้น หมายความว่า ถ้าเรากินอาหารที่มีกรดอะมิโนไลซีนและเมทไธโอนีนอย่างเพียงพอ ร่วมกับกินอาหารที่มีวิตามินบี 6 บี3 วิตามินซี และธาตุเหล็ก รวมทั้งเป็นคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคตับหรือโรคไต ร่างกายเราก็จะสามารถสังเคราะห์คาร์นิทีนขึ้นมาเองได้
     หมายเหตุ กรดอะมิโนเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนค่ะ เราจะได้มาจากการกินอาหารพวกโปรตีน โดยอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี ได้แก่ นม และไข่ขาวนะคะ


เอาล่ะ มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สร้างคาร์นิทีนได้นะคะ วัว ปลา ไก่ทั้งหลายก็สร้างได้ ดังนั้นแหล่งของคาร์นิทีนที่เราสามารถพบได้ก็คืออาหารจำพวกสัตว์เหล่านี้นั่นเองค่ะ โดยเฉพาะเนื้อแดงจะเป็นแหล่งที่ดีที่สุดของคาร์นิทีน

นั่นก็หมายความว่า ถ้าเรากินเนื้อแดง เนื้อปลา เนื้อไก่ นม เราก็จะได้คาร์นิทีนเข้าไปด้วย
(อย่ากินเนื้อเยอะเกินไปนะคะ ...การกินโปรตีนมากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนักค่ะ)

บทสรุปข้อแรก คือ คาร์นิทีนสามารถสังเคราะห์ได้ภายในร่างกายของเราเอง (คนที่มีการทำงานของตับ ไตปกติ และได้รับกรดอะมิโน วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย) และได้รับคาร์นิทีนจากการกินอาหารค่ะ

คนที่ขาดคาร์นิทีนมีน้อยมากนะคะ แต่ก็อาจจะพบว่าคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับและไตอาจจะขาดคาร์นิทีนได้ หรืออาจจะเป็นที่กรรมพันธุ์ค่ะ



แล้วทำไมต้องเรียกว่า "แอล-คาร์นิทีน"
คาร์นิทีนที่ออกฤทธิ์มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ในรูป แอล-ฟอร์ม ซึ่งอันนี้เป็นคุณสมบัติทางเคมีค่ะ ...เราจะข้ามตรงนี้ไปนะคะ เอาเป็นว่าต้องเป็น "แอล" ถึงจะมีประโยชน์ก็แล้วกัน

หน้าที่ของคาร์นิทีนในร่างกายของคนเรา
คาร์นิทีน มีบทบาทเกี่ยวกับการสังเคราะห์พลังงานของร่างกายค่ะ โดยเกี่ยวข้องกับการนำไขมันมาใช้ผลิตเป็นพลังงานภายในร่างกาย โดยการเป็นตัวพากรดไขมันสายยาวที่เรากินเข้าไป (อาหารที่มีไขมัน จะถูกย่อยเป็นกรดไขมันก่อนดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกรดไขมันนี้แบ่งเป็นสายสั้น สายกลาง และสายยาวค่ะ แต่กรดไขมันจำเป็นเป็นหนึ่งในกรดไขมันสายยาวนะคะ ไว้เราจะค่อยพูดถึงกันในวันหลังก็แล้วกัน) คาร์นิทีนพากรดไขมันสายยาวไปไหน... ก็ไปในส่วนของไมโทคอนเดรียซึ่งอยู่ในเซลล์ของเรา เพื่อจะเอาไปสร้างพลังงานต่อไปนั่นเอง

นอกจากคาร์นิทีนจะมีผลเกี่ยวกับการสังเคราะห์พลังงานองร่างกายแล้ว คาร์นิทีนยังทำหน้าที่คล้ายสารต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกายได้อีกด้วย

คนที่ขาดคาร์นิทีนอาจจะมีปัญหาน้ำตาในเลือดต่ำอย่างรุนแรง, เฉื่อยชาไม่มีพลังงาน และอาจมัปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจได้ (ย้ำนะคะว่า ปกติคนเราไม่ค่อยขาดคาร์นิทีนค่ะ) แม้แต่เด็กทารกยังได้รับคาร์นิทีนจากน้ำนมแม่ (ดังนั้น คุณแม่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ด้วยนะคะ ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารในน้ำนมที่เพียงพอค่ะ และควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยนะ)

มีการศึกษาพบว่าการเสริมคาร์นิทีนมีประโยชน์ดังนี้ค่ะ
- ประโยชน์ในผู้ที่เป็นนักกีฬที่ออกกำลังกายแบบใช้เวลานาน เช่น วิ่งมาราธอน เพราะคาร์นิทีนจะช่วยให้ร่างกายนำไขมันไปใช้เป็นพลังงานได้ดีขึ้น ทำให้ไกลโคเจนซึ่งเป็นสารพลังงานสำรองที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ในกล้ามเนื้อถูกใช้ไปหมดช้าลง ทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อช้าลง และทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น
- ประโยชน์ในคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พบกว่าการให้รับประทานคาร์นิทีน 2 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 28 วัน จะมีอาการเจ็บหน้าอกลดลง ลดการเกิดหัวใจวาย ลดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ในคนไข้โรคไตที่ต้องรับการฟอกไต อย่างที่กล่าวถึงไปในตอนต้นนะคะว่า คาร์นิทีนถูกสร้างขึ้นที่ไต เมื่อคนไข้เป็นโรคไต การทำงานของไตไม่ดี การสร้างคาร์นิทีนก็จะลดลง ยิ่งคนไข้ต้องฟอกไต ระดับคาร์นิทีนในร่างกายก็จะยิ่งน้อยลงค่ะ ดังนั้นการให้คนไข้กินคาร์นิทีนเข้าไปก็จะมีผลดี โดยมีการศึกษาพบว่าจะทำให้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงลดลง, ทำให้เกิดความดันต่ำน้อยลง, ออกกำลังกายได้ดีขึ้น, มีการทำงานของหัวใจดี และช่วยเรื่องลดการอักเสบได้ การให้คาร์นิทีนเพียง 500 มิลลิกรัมต่อวันเป็นระยะเวลานานๆ ก็จะสามารถช่วยเรื่องหัวใจได้
- ในคนไข้อัลไซเมอร์ การให้รับประทานคาร์นิทีนวันละ 1.5-3 กรัมต่อวัน อย่างน้อย 3 เดือน จะสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้
- คนไข้ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ก็จะมีอาการดีขึ้นเมื่อให้รับประทานคาร์นิทีน
- คนไข้ที่ใช้ยากันชัก "วาลโปรเอท" (Valproate, valproic acid, sodium valproate) คนไข้อาจจะมีระดับคาร์นิทีนที่ต่ำลง ดังนั้นการเสริมคาร์นิทีนในคนไข้กลุ่มนี้อาจจะมีประโยชน์ได้

ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าคาร์นิทีนจะช่วยลดน้ำหนักได้นะคะ ดังนั้น ถ้าจะหวังผลในด้านนั้นก็คงต้องคิดอีกทีค่ะ

ขนาดปกติที่แนะนำว่าใช้แล้วปลอดภัย คือ 1 - 6 กรัมต่อวันของแอล-คาร์นิทีน

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย และอาจทำให้ตัวมีกลิ่นเหม็นค่ะ (เนื่องจากคาร์นิทีนสามารถเปลี่ยนเป็นสารไตรเมธิลเอมีนในร่างกาย ซึ่งสารนี้ทำให้ตัวมีกลิ่นเหม็น เขาบอกว่าจะมีกลิ่นคล้ายกลิ่นปลาค่ะ แต่กลิ่นนี้จะมาเมื่อกินคาร์นิทีนไปในขนาดสูงๆ ค่ะ)



เอาล่ะ กลับมาย้อนดูผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่บอกว่ามี "คาร์นิทีน" กันดีกว่า ...ถ้าคิดจะกินคาร์นิทีนเพื่อสุขภาพ อย่าลืมดูฉลากโภชนาการด้วยนะคะว่าอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ ให้พลังงานเท่าไหร่ เป็นพลังงานจากแหล่งไหนบ้าง มีน้ำตาลผสมอยู่เท่าไหร่ มีโซเดียมอยู่เท่าไหร่ ...เราทุกคนต่างก็ทราบนะคะว่าอาหารที่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง เป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ และจริงๆ หากคนเรารับประทานอาหารที่เหมาะสม เพียงพอก็จะสามารถสังเคราะห์คาร์นิทีนได้ตามความต้องการของร่างกายค่ะ

หมายเหตุอีกครั้ง ย้ำกันบ่อยๆ ว่าปกติร่างกายคนเราไม่ค่อยขาดคาร์นิทีนนะคะ

หมายเหตุที่ 2 ร่างกายของเรามีความสามารถในการรักษาสมดุลของระดับคาร์นิทีนในร่างกาย เมื่อร่างกายมีคาร์นิทีนในปริมาณมากเพียงพอแล้ว ก็จะลดการดูดซึมคาร์นิทีนลงได้ด้วยตัวเองค่ะ ดังนั้นกินไปมากๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์ใช่ไหมล่ะคะ


ด้วยความห่วงใยจากเภสัชกรค่ะ







 

Create Date : 29 สิงหาคม 2555    
Last Update : 29 สิงหาคม 2555 21:44:06 น.
Counter : 4207 Pageviews.  

เริ่มเรียนปริญญาโทจริงจัง ภาค3

ชีวิตคนทำงานที่ต้องกลับมาเป็นนักเรียนมีสีสันมากค่ะ

ตอนทำงาน...ตื่นไม่ต้องเช้ามาก ขับรถไปทำงาน 5 นาทีก็ถึง เดินวันหนึ่งๆ แทบจะนับก้าวได้ ตอนเที่ยงก็ลัลล้าออกไปกินข้าวนอกโรงพยาบาล ตอนเย็นกลับถึงบ้านก็เล่นกับน้องหมา หรือนัดสังสรรค์กันอย่างสบายใจ นอนแต่หัวค่ำ (ยกเว้นช่วงติดซีรีส์) ติดเฟซบุคอย่างหนัก

กลับมาเป็นนักเรียน...ตื่นแต่เช้า เดิน 10 นาทีไปขึ้นรถไฟฟ้า พอถึงสถานีที่ใกล้ที่สุด ก็เดินอีกเกือบ 10 นาทีถึงจะถึงคณะ รวมแล้วต้องออกจากหอก่อนเวลาเรียนประมาณ 40 นาที ...พยายามเลือกกินข้าวแกงใต้คณะเพราะประหยัดที่สุด เรียนเสร็จเข้าห้องสมุดไปหาข้อมุลมาทำงานที่อาจารย์ให้ไว้ กลับถึงหอทำการบ้าน อ่านเปเปอร์ อัพเฟซบุ๊คเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอ จนถึงตีหนึ่งตีสอง

วงจรชีวิตช่างแตกต่าง!!!

แต่การกลับมาเป็นนักเรียนก็ทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้นเยอะเลยค่ะ อย่างน้อยก็รู้สึกว่าสมองที่แทบจะฝ่อไป กลับตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ...ได้ออกมาใช้ชีวิตที่ลำบากบ้าง (เพราะเงินเดือนทีต้นสังกัดให้มา แทบจะไม่พอจ่ายค่าหอ!!!) ทำให้สำนึกได้ (บ้าง) ว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะต้องกลับไปทำงานเก็บเงินอย่างจริงจังสักที (ที่ผ่านมา ทำงานแล้วเที่ยวจนไม่มีเงินเก็บ ...พอมาเรียนก็เลยรู้สึก!!! เงินไม่พอยาไส้ค่ะ ต้องขอท่านพ่อมาจุนเจือตลอด)

เคยคุยกับเพื่อนสนิท เขาเล่าให้ฟังว่าการกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้งทำให้เขาวางอัตตาลงได้มาก ...ดิฉันก็เห็นว่าจริง เพราะก่อนหน้านี้ชีวิตการทำงานทำให้เราค่อนข้างจะมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าเราเก่งในด้านที่เราทำ ดังนั้นเราจะถูกต้องเสมอ ...กลับมาเป็นนักเรียน ต้องพยายามน้อมรับคำตำหนิต่างๆ และอีกอย่าง เป็นสาขาที่เรามีพื้นฐานน้อยมาก ต้องทำตัวเป็นแก้วเปล่าเพื่อจะรับคำสอนของอาจารย์ให้ได้มากที่สุด และในสาขามีเพื่อนเรียนด้วยกันแค่ 4 คน ก็ทำให้เราต้องเปิดใจกว้างให้กันและกันมากขึ้น

สรุปแล้ว ชีวิตการเรียนก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนะ มีสิ่งดีๆ ให้เราเรียนรู้เยอะแยะเลยล่ะค่ะ




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2555    
Last Update : 29 สิงหาคม 2555 17:30:46 น.
Counter : 779 Pageviews.  

เริ่มเรียนปริญญาโทจริงจัง ภาค2

การสมัครเข้าเรียนปริญญาโทคณะเภสัชศาสตร์
ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ก่อนว่า
     1. มหาวิทยาลัยไหนเปิดสอนสาขาวิชาอะไรบ้าง เช่น คลินิก, เภสัชเวทฯ
     2. มหาวิทยาลัยนั้นๆ เปิดรับสมัครในช่วงเวลาใดบ้าง โดยทั่วไปมหาวิทยาลัยอาจเปิดรับสมัครเป็นสองช่วง คือภาคการศึกษาต้น และภาคปลาย ต้องติดตามเว็บไซท์ของมหาวิทยาลัยแบบติดหนึบเพื่อจะสมัครให้ทัน (หมายถึง หาหลักฐานต่างๆ และอาจรวมทั้งสอบวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้ผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด) และบางมหาวิทยาลัยอาจจะเปิดรับสมัครทั้งปี

     ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่รับเป็นช่วง
     1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         //www.grad.chula.ac.th/main.php
     2. มหาวิทยาลัยมหิดล
         //www.grad.mahidol.ac.th/grad/admission/general_th.php
         (หลักสูตรเป็นหลักสูตรนานาชาติ)
     ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่อาจมีการรับสมัครตลอดทั้งปี (ขึ้นกับแต่ละสาขาวิชาว่าจะเปิดรับแบบไหน)
      1. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
          //www.grad.psu.ac.th/th/index.php


  ทั้งนี้แต่ละสาขาวิชาอาจมีการรับสมัครพิเศษแตกต่างกันไป ต้องติดตามขาวกันดีๆ นะคะ บางปีบางสาขาวิชาไม่เปิดรับสมัครเลยก็มี


ร่ายมาอย่างยาวนะคะ สุดท้ายดิฉันก็เลือกสมัครเรียนสาขาวิชาที่เกี่ยวกับอาหาร การสมัครเข้าเรียนที่นี่มีการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ รวมทั้งต้องยื่นคะแนนสอบภาษาอังกฤษก่อนเข้าศึกษาด้วย เพราะได้มีการกำหนดไว้ว่านิสิตที่เข้าเรียนปริญญาโทจะต้องได้คะแนนมากกว่า 450 ...และงานเข้าสิคะ เพราะดิฉันไม่ได้สอบไว้ล่วงหน้า แถมยังถูกอุทกภัยพัดพาการสอบให้เลื่อนไปอีกตั้งสามเดือน กว่าจะได้สอบก็ใกล้ถึงเวลาที่ต้องส่งคะแนนแล้ว จำเป็นที่จะต้องสอบแบบม้วนเดียวจบให้ได้คะแนนเพียงพอที่จะเข้าเรียนได้ ขอบอกว่าช่วงนั้นเหนื่อย....มาก..... และลุ้น.....มาก....ค่ะ แต่สุดท้ายผลการสอบก็ผ่านได้ตามตั้งใจ การทำข้อสอบภาษาอังกฤษเยอะๆ ก่อนวันสอบ ช่วยได้เยอะเลยค่ะ


    การสอบเข้าเรียน วันสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์อยู่ในวันเดียวกัน โดยจัดสอบข้อเขียนในตอนเช้า และสอบสัมภาษณ์ในช่วงบ่ายค่ะ ดังนั้นอาจารย์จะตรวจคะแนนและทราบผลคะแนนสอบข้อเขียนก่อนที่จะมาสัมภาษณ์เรา ถ้าทำคะแนนได้น้อย อาจโดนคำถามที่ว่า "ทำไมทำคะแนนได้น้อยจัง" หรืออะไรทำนองนี้ค่ะ (เราก็อาจจะเหวอๆ ตอนหาคำตอบที่สละสลวย ดูไม่น่าเกลียด ...ยากจริงอะไรจริงค่ะ) ...คำถามที่อาจารย์จะต้องถามแน่ๆ ก็คือ "ทำไมเลือกเรียนสาขานี้" หรือ "เรียนแล้วจะจบไปใช้ทำอะไร" และ "สนใจทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร เพราะอะไร"

     เสื้อผ้าที่ใส่ไปสอบ ควรเป็นชุดสุภาพ ไม่ต้องอลังการมากก็ได้ ไม่ต้องสวยมาก แต่ให้ดูเรียบร้อย ให้เกียรติสถานที่ค่ะ ส่วนใหญ่นิยมใส่เสื้อเชิร์ตกับกระโปรงสีเรียบ มากกว่าใส่ชุดแสค หรือหากเป็นชุดแสคอาจเลือกใช้แสคที่มีปก รองเท้าหุ้มส้นมิดชิดจะเรียบร้อยและดูเหมาะสมมากกว่าค่ะ หลีกเลี่ยงการใช้ผ้ายีน เพราะดูไม่เรียบร้อยค่ะ



ตอนหน้ามาต่อกันนะคะว่าชีวิตนิสิตใหม่เป็นอย่างไร




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2555    
Last Update : 28 สิงหาคม 2555 19:57:16 น.
Counter : 568 Pageviews.  

เริ่มเรียนปริญญาโทจริงจัง

ฤกษ์ดีหลังจากทำงานมาครบ 6 ปี หัวหน้าก็อนุญาตให้ลามาเรียนจนได้
ขั้นตอนที่ยากที่สุดขั้นตอนหนึ่งก่อนจะได้เรียนก็คือ "จะเรียนอะไร?"
นั่นนะสิ ...จะเรียนอะไร???

ต้องเท้าความไปก่อนว่าตอนเรียนปริญญาตรี นักศึกษาเภสัชจะมีสาขาให้เลือกเรียนหลายทางมาก บางคนก็เลือกเรียนทางคลินิก หมายถึงทำงานร่วมกับแพทย์และพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วย เช่น ดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยในเรื่องที่เกี่ยวกับยาและการใช้ยา บางคนก็อาจเลือกเรียนทางเคมี ก็จะเป็นแนวสังเคราะห์ เกี่ยวกับเรื่องของโครงสร้างของยาไป (คนจำพวกนี้จะต้องฉลาดเป็นกรด และเก่งเคมีมากๆ ซึ่งดิฉันไม่ใช่!!!) บางคนก็อาจจะเลือกไปเรียนสายสังคม ประมาณว่าจบออกไปฉันจะเป็นเภสัชกรที่ทำงานบริหาร เปิดร้านยา บริหารนู่นนี่นั่น อะไรทำนองนี้ (ดิฉันไม่ถนัดค่ะ เรียนวิชาพวกนี้ทีไร ได้ต่ำกว่า mean ทุกที) บางคนก็อาจจะไปเรียนทางด้านเภสัชกรรมการผลิต เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตยา เครื่องสำอาง (ซึ่งเป็นอะไรที่สุดยอดมากค่ะ น่าเรียนมาก แต่ดิฉันขอผ่าน) ...สุดท้ายดิฉันก็เลยไปเรียนทางด้านเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ ฟังชื่อก็น่าจะพอเดาได้นะคะ เกี่ยวกับสมุนไพร และวัสดุจากธรรมชาติค่ะ เริ่ดๆ

เรียนจบออกมา ไปทำงานโรงพยาบาล ความรู้ที่ร่ำเรียนกันมาก็แทบจะไม่ได้ใช้ ยกเว้นเมื่อมีคณะพยาบาลมาติดต่อให้ไปช่วยสอนวิชาทางด้านนี้ ...เอาละสิคะ จะไปเรียนปริญญาโทกับเค้าทั้งที ก็ต้องเรียนสาขาที่เกี่ยวกับการทำงานซะหน่อย

ตอนแรกก็แอบนำเสนอหัวหน้าไปค่ะ ว่าจะขอเรียนสาขาเดิมที่เรียนจบมา
หัวหน้าหันมาถามว่าเรียนแล้วจะเอาไปทำอะไร
นั่นสินะ เรียนแล้วจะเอามาใช้ในงานที่ทำก็ไม่ได้

คิดต่อค่ะ จริงๆ แล้วเภสัชกรทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลก็ถูกคาดหวังให้เรียนทางด้านคลินิกกันอยู่แล้ว ...แต่ดิฉันขอสารภาพนะคะ ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้น้อยมากค่ะ ..อ๊ะๆ อย่าเพิ่งก่นด่ากันในใจนะคะ ว่าเอ๊ะ เภสัชกรไม่เก่งทางด้านคลินิกแล้วทำงานโรงพยาบาลได้เหรอ ...เภสัชกรถูกสอนมาให้ทำงานได้ทุกแขนงค่ะ แล้วแต่ว่าใครถนัดด้านไหนเท่านั้นเอง ดิฉันเองก็เชี่ยวชาญในด้านการหาข้อมูล เลยรับหน้าที่ดูแลทางด้านเภสัชสนเทศ ทำงานประหนึ่งหนอนหนังสือตัวโต หาข้อมูลให้เภสัชกร แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่นๆ ตามการร้องขอ และทำงานด้านเตรียมผสมยาเคมีบำบัด และก็ยังคง concept เดิมค่ะ ...ไม่ถนัดทางด้านคลินิกเอาซะเลย

เดือดร้อนถึงเพื่อนๆ ต้องมาช่วยคิดว่าจะเรียนอะไรดี
สุดท้ายเหมือนสวรรค์จะดลใจ ขณะที่ดูข่าวการรับสมัครเข้าเรียนปริญญาโทของมหาวิทยาลัยชื่อดังสองมหาวิทยาลัย ก็ไปสะดุดตากับภาควิชา "อาหารเคมีและโภชนศาสตร์ทางการแพทย์" ...เอาแล้วไง เข้าท่าสุดๆ (ตอนนั้นยังไม่ทราบว่า ว่าสาขาวิชานี้เรียนอะไรกัน) ก็เลยขออนุญาตกับต้นสังกัดว่า "จะเรียนอันนี้แหละค่ะ จะได้จบออกมาพัฒนาโรงพยาบาล" ...เริ่ดไหมละคะ (กรุณากลับไปอ่านประโยคก่อนหน้านี้นิดหนึ่งนะคะ ...ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าสาขานี้เรียนอะไรกัน!!!)


ต่อตอนต่อไปนะคะ




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2555    
Last Update : 28 สิงหาคม 2555 17:16:02 น.
Counter : 2079 Pageviews.  


nifedipine
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add nifedipine's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.