Group Blog
 
All Blogs
 

ชีวิตวุ่นๆ กับ เซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำ

ไม่ได้เขียนบล็อกที่นี่นานมากๆ ครับ ไม่ได้หายไปไหนดอก เพียงแต่วุ่นวายอยู่กับการทดลองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปริญญาเอกของผมเอง ตอนแรกก็ลองทำแล๊ปทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ต้นกำเนิดประสาทและการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ แต่ตอนนี้ผมต้องให้ความสนใจกับเซลล์ต้นกำเนิดประสาทจากน้ำคร่ำเป็นพิเศษ เพราะอาจารย์อยากให้ทำโดยด่วน แล้วผมมานั่งคิดดูแล้วระหว่างทำเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำนี้ซึ่งคนทำกันไม่มาก กับการไปทำเรื่องกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองผู้ใหญ่ซึ่งมีคนทำเยอะมากๆ ทั้งโลกนี้ ผมคิดว่าทำวิจัยเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำน่าจะรุ่งกว่า (อาจจะคิดผิดก็ได้) แต่ไม่ได้ทิ้งเซลล์ต้นกำเนิดประสาทนะครับ เพียงแต่ผ่อนๆ ลงบ้างเท่านั้นเอง

ที่สำคัญคืออาจารย์ผมคือ Dr Paolo De Coppi ซึ่งเป็นคนที่ตีพิมพิ์ใน Nature Biotechnology ปีที่แล้ว ผมก็เลยคิดว่าเรานะโชคดีมากมายที่ได้มาเป็นศิษย์เขา ดังนั้นใส่ใจกับน้ำคร่ำไปก่อนในตอนนี้ หนทางแห่งหารศึกษาวิจัยยังอีกยาวไกล

ตอนนี้ผมกำลังทำหลายอย่างเลยครับ แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ ไปว่าผลการทดลองเป็นยังไงบ้างครับ

1. ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำของหนูให้กับตัวอ่อนน้องไก่น้อยเพื่อดูศักยภาพในการเจริญพัฒนาไปเป็นเซลล์ในระบบประสาท
2. สร้างเซลล์ในระบบประสาท (เซลล์ประสาท และเซลล์เกลีย) จากเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำในหลอดทดลอง (ผมก็จะลองเอาสารเคอร์คิวมินจากขมิ้นชันมาทดสอบดูด้วย)
3. ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดประสาทจากน้ำคร่ำให้กับหนูที่ทำให้เป็นโรคสมองขาดเลือด ischemic stroke
4. ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดประสาทลงในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่เลี้ยงแบบ organotypic slice culture


อย่าเพิ่งงงไปนะครับ วิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าค้นหา โดยเฉพาะเรื่องของเซลล์ต้นกำเนิดแล้ว ผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกท่าน เพราะอีกไม่นานนักเรื่องของการบำบัดโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดอาจจะเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานเปรียบดังกับเรากินยาพาราเซตามอลในทุกวันนี้ครับ

วันนี้เอาภาพการทดลองมาฝากพอหอมปากหอมคอ คราวหน้าคงมีโอกาสได้มาเล่าเรื่องราวในห้องปฏิบัติการในแต่ละหัวข้ออีกครับ



เซลล์ในรูปนี้ก็คือเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำที่ผมพูดถึงข้างต้น ที่เห็นเป็นสีเขียวเนื่องจากเซลล์นี้ถูกทำให้มีโปรตีนเรืองแสงสีเขียว (GFP protein) ส่วนสีแสดนั้นเป็นโปรตีนเนสตินซึ่งอาจใช้ระบุว่าเป็นเซลล์ต้นกำเนิดประสาท แต่ว่าโดยธรรมชาติแล้วโปรตีนชนิดนี้ไม่ได้มีสีแสดดอกครับเพียงแต่ผมทำการย้อมด้วยแอนติบอดีตามวิธี immunocytochemistry ประเดี๋ยวจะมาเล่าในตอนหลังว่าทำได้อย่างไรนะครับ


ภาพด้านบนคือน้องไก่น้อยที่กำลังเป็นตัวอ่อนอยู่ในไข่ ผมก็เอาเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำของหนูขาว (rat) ที่มีสีเขียวปลูกถ่ายเข้าไปที่ส่วนหน้าของตัวอ่อนไก่น้อย

จากนั้นก็ฉีดน้องเซลล์จากน้ำคร่ำเข้าไปที่ส่วนหัวของตัวอ่อนของน้องไก่น้อยดังภาพข้างล่าง


อีกหนึ่งวันต่อมาน้องไก่ก็เปลี่ยนโฉมใหม่ตัวใหญ่กว่าเดิม และเซลล์สีเขียวๆ ที่ผมฉีดไปเมื่อวันก่อนก็ไปอยู่ในบริเวณต่างๆ เช่น สมอง ตา และหัวใจ ดังภาพด้านล่างครับ



หน้าตาของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทจากน้ำคร่ำแบบชัดๆ อีกครั้งครับ ภาพนี้ไม่ได้ย้อมด้วยแอนติบอดีใดๆ น้องเซลล์เขามีสีเขียวตามธรรมชาติ ให้สังเกตว่าบรรดาน้องเซลล์ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันเลยทีเดียว เซลล์ที่ใหญ่ๆกว่าเพื่อนผมเรียกว่า เซลล์ยักษ์ (giant cells) หน้าตาแต่ละเซลล์เป็นอย่างไรครับ หน้าเลี้ยงดูไหม? วันนี้ผมขอปิดการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับน้องเซลล์ต้นกำเนิดจากน้ำคร่ำไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ




 

Create Date : 28 มีนาคม 2551    
Last Update : 28 มีนาคม 2551 2:41:10 น.
Counter : 1180 Pageviews.  


weerapong_rx
Location :
London United Kingdom

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




อยู่เมืองกรุงไกลนาเพื่อตามล่าฝัน
Friends' blogs
[Add weerapong_rx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.