All Blog
ทำไมอิสลามอนุญาตให้มีภรรยามากกว่า 1 คน
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน



คัมภีร์อัลกรุอานเป็นคัมภีร์เล่มเดียวเท่านั้นที่มีข้อความที่กล่าวว่า “ จงแต่งงานกับสตรีเพียงแค่คนเดียว”
ข้อความโดยสมบูรณ์ของโองการที่กล่าวมานี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกรุอานดังต่อไปนี้

“ จงแต่งงานกับสตรีที่ดีๆแก่พวกเจ้าสองคนหรือสามคนหรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ก็จงแต่งงานกับหญิงเดียว”
อัลกรุอาน 4:3

ก่อนที่คัมภีร์อัลกรุอานจะถูกประทานลงมานั้นไม่มีการจำกัดจำนวนภรรยา คือจะแต่งงานกับสตรีกี่คนก็ได้ ดังนั้นชายจำนวนมากจึงมีภรรยาจำนวนมาก บางคนมีภรรยาเป็น ร้อยๆคนก็มี แต่อิสลามมากำหนดและจำกัดจำนวนเพียงแค่ 4 คนอิสลามอนุญาตแต่ไม่ได้บังคับให้แต่งงานกับสตรี สอง สาม หรือ สี่คน เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมในระหว่างภรรยาของเขาได้

ในบทเดียวกันของคัมภีร์อัลกรุอานนั้น คือ บทอันนิซาอ ซึ่งกล่าวว่า
“และพวกเจ้าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมในระหว่างภรรยาได้เลย” อัลกรุอาน 4:129


ดังนั้นการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนจึงไม่ใช่กฎหรือข้อบังคับแต่เป็นข้อยกเว้นเพียงเท่านั้นหลายๆคนยังมีความเข้าใจที่ผิดๆที่ว่ามุสลิมจำเป็นต้องมีภรรยา 3 ,4 มากกว่า 1คน

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ในอิสลามจะมีข้อสั่งห้ามและสั่งใช้ 5 ประเภทด้วยกันคือ
1. ฟัรดู นั้นคือ จำเป็น บังคับให้กระทำ
2. มุสตะฮับ นั้นคือ สนับสนุน แนะนำให้กระทำ
3. มู่บาฮ นั้นคือ อนุญาตให้กระทำได้
4. มักรู่ฮ นั้นคือ ไม่สนับสนุนหรือแนะนำให้กระทำ
5. ฮะราม นั้นคือ ห้ามโดยเด็ดขาด

การมีภรรยามากกว่า 1 คนนั้นตกอยู่ในประเภทที่ 3 นั้นคือ อนุญาตให้กระทำได้ เราไม่อาจกล่าวได้ว่า มุสลิมที่มีภรรยา สอง สาม หรือ สี่คนนั้น จะดีกว่ามุสลิมที่มีภรรยาเพียงคนเดียว


ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือผู้ชายส่วนใหญ่ไปหาความสุขกับเพศตรงข้าม ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก, หรือการไปหาความสุขกับเมียน้อยซึ่งก็มีอัตราสูงรองลงมา จึงปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมว่า ผู้ชายแสวงหาความสุขกับผู้หญิงโดยเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ หรือซื้อบริการทางเพศแทบทุกวัน นี่คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การละเมิดประเวณีถือเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แม้กระทั่งบนรถประจำทางก็มีการประเวณีให้เห็นกันแล้ว และมีโรคเอดส์ตามหลังและปัญหาอื่นๆตามมามากมาย


อิสลามคือศาสนาที่มาเพื่อขจัดความเรื่องเช่นนี้ในแต่ละยุคแต่ละสมัย, อิสลามคือศาสนาที่ให้เกียรติแก่สตรีเพศ
เพราะอิสลามให้ทางออกกับมนุษยชาติทั้งหมด ในเมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการของผู้ชาย (ด้านอารมณ์ทางเพศส่วนใหญ่) มีมากกว่าผู้หญิง เมื่อเป็นเช่นนี้อิสลามก็ให้ทางออกกับชายมุสลิมโดยอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน แต่ต้องไม่เกินสี่คน โดยวางเงื่อนไขว่า หากผู้ชายคนนั้นมีความสามารถเลี้ยงดูภรรยาเหล่านั้นได้, ให้ความยุติธรรมในระหว่างภรรยานั้นได้ หากทำไม่ได้ก็ให้มีเพียงภรรยาคนเดียวเท่านั้น


- ผลในแง่ศีลธรรมด้วยว่า ผู้ชายที่แต่งงานกับภรรยาคนที่ 2, 3, หรือ 4 เป็นการลดการสำส่อนทางเพศเฉกเช่นในปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่ อาทิเช่น ปัจจุบันเวลาร่วมหลับนอนด้วยกันก็ไม่รับผิดชอบ ต่างคนต่างไป หากสตรีผู้นั้นตั้งครรภ์ก็อย่างที่เห็น ไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ จึงมีปัญหา ทิ้งเด็กและทำแท้ง

นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการสำส่องทางเพศที่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือกติกาเฉกเช่นกฎเกณฑ์ของอิสลาม


- ให้เกียรติสตรี เพราะการแต่งงานคนที่ 2, 3, หรือ 4 นั้นต้องจัดพิธีแต่งงานตามหลักการศาสนาโดยให้ผู้อื่นได้รู้ทั่วกันว่าสตรีคนนั้นเป็นภรรยาของเราซึ่งเราต้องเลี้ยงดูนาง โดยมิใช่ว่านางจะต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ
หากรู้ก็จะตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ อาทิเช่นเมียหลวงฆ่าเมียน้อย, เมียหลวงพาพวกไปตบเมียน้อย เป็นต้น


- ไม่ได้เห็นสตรีเป็นเครื่องหมายทางเพศ เพราะบางคนไปเที่ยวผู้หญิง นอนด้วยกันบางครั้งก็นอนด้วยกัน 3 ชั่วโมง, บางครั้งก็ตลอดทั้งคืนโดยตกลงค่าตัวให้แก่นาง พอจ่ายค่าตัวแล้วต่างคนต่างไป แต่ไม่ใช่อิสลาม



อิสลามอนุญาตให้แต่งงานกับสตรีมากกว่าหนึ่งคน จำเป็นที่ผู้ชายต้องเลี้ยงดูนางด้วย, ไม่ใช่จ่ายเป็นครั้งคราว เพราะสตรีไม่ใช่เครื่องหมายทางเพศ นางมีศักดิ์ศรี, นางมีเกียรติ

หากเมื่อสามี นั้นเกิดความลำเอียงและทอดทิ้งไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูนั้น ภรรยาสามารถร้องขอได้ เพราะอยู่ในบทบัญญัติของศาสนา สามีมีหน้านี่เลี้ยงดูภรรยาและภรรยา ต้องดูแลครอบครัว

ในสังคมปัจจุบันนั้นการมีเมียน้อยหรือนางบำเรอเพื่อไว้ระบายความใคร่ตลอดจนการมีคู่ขาหรือคู่นอนจำนวนมาก ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ชายทั่วไป ซึ่งในกรณีเช่นนั้นสตรีก็จะใช้ชีวิตที่ตกต่ำ และไร้เกียรติและไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่แท้จริง


และมุสลิมในปัจจุบันหลายๆครอบครัว มักใช้ชีวิตแค่ภรรยาเพียง 1 คน
เนื่องจาก เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องความยุติธรรมที่บางทีอาจเกิดขึ้นได้


ดังนั้นการมีภรรยาคนเดียวประเสริฐที่สุดค่ะ






ด้วยความเคารพค่ะ








Create Date : 05 มกราคม 2550
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 7:27:53 น.
Counter : 2228 Pageviews.

18 comment
ปฏิทินอิสลามและที่มา
ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านทั้งหลาย

ดาราศาสตร์ หรือ อัลฟาลัก เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่เป็นมรดกของมุสลิม
เป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับมุสลิม เพราะเกี่ยวโยงกับชารีอะฮ์
เช่น การกำหนดเวลาละหมาด การกำหนดปฎิทินฮิจเราะฮ์
การกำหนดทิศกิบลัต และการกำหนดวันสำคัญต่างๆของอิสลาม


ปฏิทินฮิจเราะฮ์เป็นปฏิทินศาสนาอิสลาม
ที่มุสลิมใช้กำหนดวันในรอบปีโดยเฉพาะ วันสำคัญๆทางศาสนาอิสลาม ซึ่งใช้อยู่ใน
สังคมมุสลิมเป็นปกติ เป็นปฏิทินที่ใช้ ดวงจันทร์เป็นหลักจึงเป็นปฏิทินประเภท
จันทรคติ คล้ายกับปฏิทินของศาสนาอื่นๆ
เช่น พุทธ ยิว คริสเตียน จีนเป็นต้น
เพียงแต่ใช้เงื่อนไขของดวงจันทร์แตกต่าง กันปฏิทินฮิจเราะฮ์เรียกตามอิสลามว่าปฏิทิน กอมารียะฮ์(kamariah)

ฮิจเราะฮ์ หมายถึงการอพยพ เป็นปีที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศอลฯ)อพยพ
จากมักกะฮฺไปยังมาดีนะฮ์ ตรงกับ วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 622 มุสลิมเริ่มนับวันอพยพนี้เป็นฮิจเราะฮ์ที่หนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดขึ้นในสมัย อุมัร อัล คอตตอบ
จะสังเกตได้ว่าอิสลามไม่ได้ใช้ข้อมูลของท่าน ศาสดามุฮัมหมัด(ศฮลฯ)เป็นเงื่อนไขการกำหนดปี ฮิจเราะฮ์

ปฏิทินจันทรคติฮิจเราะฮ์ศักราช ในรอบ 1 ปี ประกอบด้วย 12 เดือนกอมารียะฮ์ ดังต่อไปนี้

เดือนที่ 1 ชื่อเดือน มุฮัรรอม(Muharam)
เดือนที่ 2 ชื่อเดือน ซอฟัร(Safar)
เดือนที่ 3 ชื่อเดือน รอบิอุล เอาวัล(Rabiul Awal)
เดือนที่ 4 ชื่อเดือน รอบิอุซ ซานี(ฮาเคร)(Rabiul AKhir)
เดือนที่ 5 ชื่อเดือน ญามาดิล อาวัล(Jamadul Awal)
เดือนที่ 6 ชื่อเดือน ญามาดิซ ซานี(อาเคร)(Jamadul Akhir)
เดือนที่ 7ชื่อเดือน รอญับ(Rajab)
เดือนที่ 8 ชื่อเดือน ชะอ์บาน(Shaban)
เดือนที่ 9 ชื่อเดือน รอมดอน(Ramadan)
เดือนที่ 10 ชื่อเดือน เชาวัล(Shawwal)
เดือนที่ 11 ชื่อเดือน ซุลเกาะอ์ดะฮ์(Zul Qadah)
เดือนที่ 12 ชื่อเดือน ซุลฮิจญะฮ์(Zul Hijjah)

ในปฏิทินฮิจเราะฮ์ วันใหม่เริ่มนับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า วันแรกของสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันเสาร์(ดังนั้นมุสลิม จึงเรียกคืนวันนี้ว่า คืนวันอาทิตย์)สิ้นสุดเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าวันอาทิตย์(มุสลิม เรียก คืนวันจันทร์) วันใหม่ของปีฮิจเราะฮ์เริ่มนับตั้งแต่หัวค่ำ ส่วนปฏิทินกรีกอเรียน(Gregorian)ที่เราใช้ปกตินับขึ้นวันใหม่เวลา 24.00 น. หรือ 0.00 น.
การเลื่อนของวันที่ในปฏิทินฮิจเราะห์เทียบกับปฏิทินกรีกอเรียน จะประมาณ 11 วัน ต่อปี การเลื่อนจะวนมาครบรอบประมาณ 33 ปี คือ 33 x 11 จะใกล้กับค่าประมาณ 365 วัน เพราะ1 ปี ฮิจเราะฮ์จะสั้นกว่า 1 ปี กรีกอเรียน


เวป Convert วันเดือนปี สากล เป็นเดือน อาหรับ หรือ เดือนอาหรับ เป็น เดือนสากล
//www.islamicfinder.org/dateConversion.php






ข้อมูลอ้างอิง
//www.fathoni.com/lesson3/calendar/histial.html




ด้วยความเคารพค่ะ



Create Date : 14 ธันวาคม 2549
Last Update : 14 ธันวาคม 2549 15:14:15 น.
Counter : 2023 Pageviews.

2 comment
เรื่องเวลาละหมาด หรือนมาซ ของอิสลาม

เรื่องเวลาละหมาดหรือ นมาซ ของอิสลาม

ละหมาดที่สำคัญและจำเป็นสำหรับมุสลิมมี 5 เวลา
มักริบ, อีซา ,ซุบฮิ ซุฮฺริ อัศริ

นอกนั้น ที่ส่งเสริมจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ทำก็จะดี เรียกว่าสุนัต เช่นละหมาดตะฮัจญุด ละหมาดดุฮา ฯลฯเป็นต้น

การละหมาดในแต่ละครั้งนั้นจะใช้เวลาไม่มาก 5-15 นาที แล้วแต่ช่วงเวลาของการละหมาดและการวิงวอนขอพรจากพระเจ้า การอ่านซูเราะฮฺในละหมาด ว่าจะใช้ซูเราะฮฺไหนจากในอัลกุรอานเพราะสั้นยาวแตกต่างกันไป

รายละเอียดของการละหมาด //www.fathoni.com/lesson3/solat/a1.htm

เวลาละหมาดทั่วไทย
//www.muslimthai.com/services/falak_ipt/

เวลาของการละหมาดนั้น จะต้องใช้การคำนวณ
การบอกเป็นนาทีนั้น หมายถึงเข้าเวลานั้นแล้ว ก็ให้สามารถละหมาดได้ทั้งช่วงเวลา จนกว่าจะเข้าอีกช่วงเวลาหนึ่ง

การคำนวณเวลาละหมาดทั้ง 5 เวลา ต้องอาศัยดาราศาสตร์ ของดวงอาทิตย์
ณ เวลานั้นๆ เว้นแต่เวลา ซุฮริเท่านั้น ที่ขึ้นกับค่าลองจิจูดของแต่ละตำบล

- มักริบ เริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน

- อีซา เริ่มเมื่อแสงสนธยาสิ้นสุด

- ซุบฮ์ เริ่มเมื่อแสงรุ่งอรุณ สิ้นสุดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

- ซุฮรี เริ่มเมื่อดวงอาทิตย์คล้อยจากเมอริเดียน หรือดวงอาทิตย์คล้อยจากเที่ยงตรง (Zawal)
สิ้นสุดซุฮรีเมื่อเริ่มเข้าเวลาอัศรี

- อัศรี เวลาเริ่มเข้าอัศรีถูกกำหนดด้วยความยาวของเงาวัตถุ เมื่อเงานั้นเริ่มยาวกว่าวัตถุ
หรือ ความยาวของเงาเท่ากับความยาวของวัตถุบวกกับความยาวเงาของวัตถุเมื่อตอนเที่ยง





การคำนวณเวลาละหมาดนั้น เป็นดาราศาสตร์อย่างหนึ่ง

ดาราศาสตร์ หรือ อัลฟาลัก เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่เป็นมรดกของมุสลิม โดยมุสลิมพัฒนาต่อมาจาก กรีก โรมัน และตะวันตกยึดมาเป็นของตนเอง

แต่ ฟาลากียะฮ์ เป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับมุสลิม เพราะเกี่ยวโยงกับชารีอะฮ์
เช่น การกำหนดเวลาละหมาด การกำหนดปฎิทินฮิจเราะฮ์
การกำหนดทิศกิบลัต และการกำหนดวันสำคัญต่างๆของอิสลาม

ด้วยความเคารพค่ะ





Create Date : 13 ธันวาคม 2549
Last Update : 13 ธันวาคม 2549 9:44:59 น.
Counter : 4367 Pageviews.

7 comment
ทำไมมุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจย์ การประกอบพิธีฮัจย์ และประวัติบางส่วนของพิธีฮัจย์
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

การที่มุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจย์นั้น เพราะอยู่ในหลักปฏิบัติของอิสลาม

หลักปฏิบัติของอิสลาม
1.การกล่าวปฏิญาณตน
2.การละหมาด
3.การถือศีลอด
4.การจ่ายซะกาต
5.การประกอบพิธีฮัจย์

การประกอบพิธีฮัจย์ เป็นหลักการหนึ่งของรุก่นอิสลาม อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 97

ความว่า : และสำหรับอัลลอฮฺ(มีบทบัญญัติ) เหนือบรรดามนุษย์ คือการทำฮัจย์ ณ บัยตุลลอฮฺ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้

หมายถึงว่า มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สินและเดือดร้อนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ และเส้นทางที่จะเดินทางไปจะต้องปลอดภัย

ดังนั้น การนำที่ดินและทรัพย์สินไปจำนอง จำนำ หรือขาย เพื่อนำไปประกอบพีธีฮัจย์ โดยกลับมาแล้วไม่มีที่ทำกิน หรือเป็นเหตุที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหลาน จึงเป็นการกระทำที่ผิดศาสนบัญญัติ เช่นเดียวกับคนที่มีความสามารถพร้อมแต่ไม่ยอมไปเพราะเสียดายทรัพย์สินจะพร่องไป

และถ้าหากไม่มีความสามารถด้านทรัพย์ และสุขภาพ ก็ไม่เป็นความผิดอย่างไร เพราะตกอยู่ในเหตุของการด้อยความสามารถ

การทำฮัจญ์เป็นอิบาดะห์หลักต่อ อัลลอฮฺ ซึ่งมีเป้าหมายในการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ต้องใช้ความอุตสาหะ เสียสละทั้งกำลังกาย ทรัพย์ กำลังสติปัญญาและมีความสามารถอดทนต่อความยากลำบาก และมีความสามารถที่จะไปได้ โดยไม่ต้องกู้หนี้ หยิบยืมทรัพย์ของบุคคลอื่น



สถานที่สำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีฮัจย์คือ
ทุ่งอารอฟะห์,ตำบลมุซดะลิฟะห์,ตำบลมีนา,และอัล-กะบะฮฺ (การตอวาฟรอบกะบะห์นี้ ไม่ได้กระทำพร้อมกันในเวลาเดียวกัน)

ลำดับขั้นตอนของพิธีฮัจย์เรียงตามรุก่นและวาญิบฮัจย์
1. เริ่มต้นด้วยการครองอิหฺรอม คือการตั้งเจตนาเข้าสู่พิธีฮัจย์ ( รุก่น ) จากสถานที่ที่กำหนด (วาญิบ)
2. การวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์คล้อยของวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้ง ดวงอาทิตย์ตก ( รุก่น )
3. การค้างแรมที่มุซดะลิฟะฮฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของคืนวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งเวลาซุบฮฺ ( วาญิบ )
4. การขว้างเสาหิน 7 ก้อนที่ญัมรอตุลอะเกาะบะฮฺ ที่มีนา เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งดวงอาทิตย์ตก ( วาญิบ )
5. การโกนศีรษะหรือการตัดผม เมื่อกระทำมาถึงตอนนี้แล้วเรียกว่า ตะฮัลลุลเอาวัล คือการเปลื้องชุดอิหฺรอมครั้งที่ 1 ( รุก่น )
6. การฏอวาฟบัยตุลลอฮฺ 7 รอบ ( รุก่น )
7. การเดินสะแอระหว่างภูเขาซอฟาและมัรวะฮฺ 7 เที่ยว ( รุก่น ) เมื่อฏอวาฟและสะแอแล้วเรียกว่า ตะฮัลลุลซานี คือการเปลื้องอิหฺรอมครั้งที่ 2
8. การค้างแรมที่มีนา ในค่ำคืนของวันตัชรีก ( วาญิบ )
9. การขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้น ในวันที่ 11 12 13 ซุลฮิจญะฮฺ ต้นละ 7 ก้อน ( วาญิบ )
10. การฏอวาฟวิดาอฺ ( ฏอวาฟอำลา คือการเวียนรอบกะบะฮฺเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกจากดินแดนเมืองมักกะฮฺเพื่อจะเดินทางกลับ ) ( วาญิบ )


รุก่นและวาญิบของการประกอบพิธีฮัจย์ มีความแตกต่างกัน คือ

ผู้ใดละทิ้งรุก่นหนึ่งรุก่นใดของการทำฮัจย์ การทำฮัจญ์ของเขาใช้ไม่ได้ และจำเป็นจะต้องไปทำฮัจญ์ใหม่ในปีต่อไป ส่วนผู้ที่ละทิ้งวาญิบ ข้อหนึ่งข้อใด จำเป็นที่เขาจะต้องเสียดัม (เชือดสัตว์พลี)


ข้อห้ามสำหรับผู้ที่ครองอิหฺรอม

ห้ามสวมเสื้อผ้าที่มีรอยเย็บ กางเกง กางเกงชั้นใน ห้ามสวมหมวก (สำหรับผู้ชาย)
ห้ามใส่เครื่องหอมหรือน้ำหอมทุกชนิด
ห้ามตัดเล็บ ตัดผม โกนหนวด
ห้ามพูดจาหยาบคาย ไร้สาระ เกี้ยวพาราสี การนินทา และการทะเลาะวิวาท
ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เล้าโลม กอดจูบ
ห้ามจัดพิธีนิกะฮฺ(แต่งงาน)หรือการหมั้น
ห้ามไล่ล่าสัตว์ในเขตแผ่นดินฮะราม(ห้าม)
ห้ามตัดหรือถอนต้นไม้ในเขตแผ่นดินฮะราม




การประกอบพิธีฮัจญ์มี 3 แบบ

1.ตะมัตตัวะอฺ คือผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺก่อนการทำฮัจย์ ขณะที่เข้าสู่เทศกาลฮัจญ์แล้ว
2. อิฟร้อด คือผู้ครองอิหฺรอม หลังจากการทำการตอวาฟกุดูมแล้ว เขาจะต้องสวมชุดอิหฺรอมจนกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ หลังจากนั้นจึงทำอุมเราะฮฺ
3. กิรอน คือผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺและการทำฮัจย์พร้อมกัน
หลังจากการทำอุมเราะฮฺคือตอวาฟและสะแอแล้ว ไม่ต้องโกนศีรษะหรือตัดผม แต่ให้เขาครอง
อิหฺรอมกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ


ตารางเวลาและเส้นทางการทำฮัจย์
1. ผู้ทำฮัจญ์แบบตะมัตตัวะอฺ ครองอิหฺรอมเพื่อเจตนาทำฮัจย์ ที่บ้านพักในมักกะฮฺเช้าวันที่ 8
2. ออกเดินทางจากมักกะฮฺมุ่งสู่มีนา และพักค้างแรมที่นั่น (วันตัรวียะฮฺ วันที่ 8)
3. ออกเดินทางจากมีนามุ่งสู่อะระฟะฮฺเพื่อทำการวุกูฟ (ออกจากมีนา เช้าวันที่ 9)
4. หยุดอยู่ที่อะรอฟะฮฺเพื่อทำการวุกูฟ ตั้งแต่เวลาบ่ายจนถึงเวลามัฆริบ (วันอะรอฟะฮฺที่ 9)
5. ออกจากอะรอฟะฮฺตั้งแต่เวลามัฆริบมุ่งสู่มุซดะลิฟะฮฺ และพักค้างแรมที่นั่น ( คืนวันที่10 )
6. ออกจากมุซดะลิฟะฮฺ มุ่งสู่มีนา เพื่อขว้างเสาหิน ญัมเราะตุ้ลอะกอบะฮฺ (เช้าวันที่10วันอีด)
7. พักแรมที่มีนา และขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้น เป็นเวลา 3 วัน (วันตัชรีก วันที่ 11 - 12 - 13 )
8. ออกเดินทางจากมีนา มุ่งสู่เมืองมักกะฮฺ (ก่อนดวงอาทิตย์ตก)





ในประวัติศาสตร์ของอิสลาม

นางฮาญัรต้องวิ่งไปมาอยู่ 7 เที่ยว ระหว่างเนินเขาเศาะฟาและมัรวะฮฺ เพื่อหาน้ำให้ลูกของนาง กุรอาน 2:158 และนี่ได้กลายมาเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งสำหรับการทำฮัจย์ในนครมักกะฮฺ และอุมเราะฮฺ มีใน กุรอาน 2:158 และบ่อน้ำดังกล่าว ถูกเรียกว่า “ ซัมซัม”

ต่อมาทั้งอิบรอฮีมและอิสมาอีล ได้ร่วมกันสร้างอาคารกะบะฮฺขึ้น จุดที่ นีบอิบรอมฮีมได้เคยยืนสักการะวิงวอนต่อพระเจ้า ก็ยังคงปรากฏอยู่เรียกว่า “ มะกอมอิบรอมฮีม ”

แผนผัง มัสยิดอัล-ฮารอม




ปัจจุบัน ในขั้นตอนพิธีฮัจย์ ผู้แสวงบุญจะเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะห์ ซึ่งมีระยะทาง ประมาณ 450 เมตร ไปมาจนครบ 7 เที่ยว เรียกว่าการเดิน "สะแอ" การเดินสะแอนี้เป็นการระรึกถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น
สีเหลืองคือ ทางเดินสะแอ ระหว่างเนินเขาศอฟา - มัรวะห์
1. มุมหินดำ
2. มะกอมอิบรอฮีม (ที่ ยืนท่านนบีอิบรอฮีม <รอยเท้า>)
3. ฮิจญ์รฺ อิสมาอีล (ห้องของท่านนบีอิสมาอีล)
4. บ่อน้ำซัมซัม
5. เส้นทางเดินเวียนรอบ (ฏอวาฟ)


การเดินสะแอ





มะกอมอิบรอฮีม






Route เส้นทางการประกอบพิธีฮัจย์







อินชาอัลลอฮฺ อาจจะมีประวัติของท่านนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีลมาลง
แต่ขณะนี้ขอลงไว้บางส่วนเพราะเกี่ยวที่มาของการประกอบพิธีฮัจย์

เรียงลำดับเหตุการณ์คร่าวๆประวัติบางส่วน ของท่านนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีลและนบีอิสฮาก
1. อิบรอมฮีม มีภรรยาสองคนคือ นาง ซาเราะฮฺ และนางฮาญัร
2. ช่วงแรก นาง ซาเราะฮฺ ไม่มีบุตร
3. ต่อมานบีอิบรอฮีมมีบุตรกับพระนางฮาญัร ชื่ออิสมาอีล
4. พระนางฮาญัรกับอิสมาอีล ต้องแยกออกไป เพราะพระเจ้าสั่งใช้
5. เหตุการณ์ที่นางฮาญัรหาน้ำให้ทารกอิสมาอีล บริเวณเมกกะห์ เป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำฮัจญ์
6. อัลลอฮฺทรงทดสอบท่านนบีอิบรอฮีม ด้วยการสั่งให้พลีอิสมาอีล เมื่อโตแล้ว
7. อิสมาอีลให้พ่อทำตามที่อัลลอฮฺทรงบัญชา หากเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ
8. นบีอิบรอฮีมพาอิสมาอีลไปยังสถานที่ที่ที่จะเชือดพลีอิสมาอีล
9. ระหว่างทางชัยฏอนได้มาพยายามชักชวนนบีอิบรอฮีมไม่ให้ปฏิบัติตามที่ท่านฝัน เมื่อท่านนึกถึงอัลลอฮฺขึ้นมาได้ ท่านจึงเอาก้อนหินขว้างมันจนหนีไป และสักครู่ก็กลับมาชักชวนท่านอีก ท่านก็เอาก้อนหินขว้างอีก มันก็หลบหนีไปอีก แต่ไม่นานก็กลับมาเป็นครั้งที่สาม และท่านก็เอาหินขว้างมันอีก หลังจากนั้นมันก็ไม่กลับมาหลอกลวงนบีอิบรอฮีมอีกต่อไป (การขว้างเสาหินทั้ง สามต้น เป็นหนึ่งในการประกอบพิธีฮัจย์)
10.เมื่อมาถึงสถานที่ที่จะเชือด นบีอิบรอฮีมได้ให้อิสมาอีลนอนลง แต่พอลงมือจะเชือด อัลลอฮฺได้กล่าวว่าที่คือการทดสอบเจ้าตต่างหาก และได้ให้ท่านเอาแกะมาเชือดแทน
11.นบีอิบรอฮีม กับนบีอิสมาอีลสร้างวิหารกะบะฮฺ
12.อัลลอฮฺได้แจ้งข่าวดี ผ่านมลาอิกะฮฺที่มาหาท่านนบีอิบรอฮีม(ก่อนเดินทางไปเมืองโซดอมเพื่อหานบีลูฏ)แล้วนางซาเราะฮฺก็มีบุตรชื่อ อิสฮาก
13. นบีอิสมาอีล เป็นต้นตระกูลอาหรับ ทางนบีมูฮำหมัด ซล.
14. นบีอิสฮากเป็นต้นตระกูลของ "อิสรออีล" ลูกหลานของอิสรออีล เรียกว่า "บนีอิสรออีล" และ ถูกกเรียกว่าอิสราเอลในปัจจุบัน






ในปีหนึ่ง ๆ มุสลิมจากทั่วโลกประมาณ 3 ล้านกว่าคนจะเดินทางไปประกอบพีธีฮัจย์พร้อมกัน 1 ครั้ง
พิธีจะทำในเดือน ซุล-ฮิจยะห์ (เดือนที่ 12 ของปีฮิจเราะห์ศักราช) ของแต่ละปี

การกำหนด พิธีฮัจย์นั้น จะใช้การดูเดือน เพื่อกำหนด วันต่างๆ
โดยจะดูเดือนกันในวันที่ 29 เดือน ซุลเกี๊ยะดะห์ เพื่อกำหนด วันที่ 1 เดือนซุลฮิจยะห์
และวันที่ 10เดือนซุลฮิจยะห์ จะเป็นวัน อีดิ้ลอัฎฮา หรือ อีดใหญ่(รายอ)ที่บ้านเรา
ผู้ที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจย์จะทำกรุบาน (เชือดสัตว์ และแบ่งปันเนื้อให้กับผู้ยากไร้ )


ระยะเวลาที่ไปอาจจะไปแค่ประกอบพิธีฮัจย์ แล้วกลับเลย
ส่วนมากจะไปที่ เมืองมะดีนะห์ เพื่อไปละหมาดที่ Masjid Nabawi ก่อน แล้วเข้ามักกะห์

หรือ ไปมักกะห์เพื่อประกอบพิธีฮัจย์แล้วกลับมาที่มะดีนะห์
ใช้เวลาโดยประมาณ 10-40 วัน และมีการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

ตัวอย่าง
ไปอยู่มะดีนะห์ 1 อาทิตย์ อยู่มักกะห์ 2-3 อาทิตย์ รวมการประกอบพิธีฮัจย์

หรือ ไปอยู่มักกะห์ 2 อาทิตย์รวมประกอบพิธีฮัจย์ และมาที่มะดีนะห์อีก 1 อาทิตย์
ถึงจะเดินทางกลับ

สำหรับผู้ที่ต้องการจะไปประกอบพิธีฮัจย์


- เตรียมตัวอย่างไรบ้าง ??

เมื่อตั้งใจจะไปก็ให้ติดต่อ บ.ที่บริการฮัจย์และอุมเราะฮฺ เพื่อเขาจะได้ดำเนินการต่างๆ เช่น การติดต่อสถานทูต เพื่อยื่นขอ VISA HAJJI บาง บ. พาไปทำPassport บางบ.ก็ให้ไปทำเองหากใครสะดวก
และทาง บ. จะดำเนินการจัดฉีดวัคซีน (เป็นข้อตกลงการเข้าเมือง) และติดต่อจองที่พัก +ตั๋วเครื่องบิน จัดหารถมารับส่ง และอาหารการกินทุกวัน วันละ3 มื้อ และนักวิชาการ เพื่อสอนและดูแลเรื่องรายละเอียดการปฏิบัติพิธีฮัจย์ สรุปรวมคือ จัดการทุกอย่างค่ะ แค่จ่ายเงิน และ จัดการเอกสาร ยื่น Passport ก็พอ

หากใครจะไปเอง ก็ต้องจัดการเองทุกอย่าง ( ส่วนมากคนที่ไปเองจะเป็นคนประเทศใกล้ๆ ซาอุค่ะ) จะลำบากเรื่องการเดินทางและที่พักมากๆ ทางที่ดี ต้องสังกัด บ.ที่รับจัด (หรือแซะห์) เพื่อความสะดวกนั่นเองและแต่ละด่านจะมีการตรวจเรื่องหลักฐานการเข้าเมืองละเอียดมาก

ดังนันการมี บ.สังกัด(ที่ได้รับอนุญาตจากทางการ) จะได้รับความสะดวกจากทางการและสะดวกในการเดินทางนั่นเอง


ส่วนผู้ใดประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในปีถัดไป ต้องยื่นเรื่องล่วงหน้า หลังจากหมดพิธีฮัจย์ปีนี้ไปแล้ว 1-4 เดือนก็ยื่นความจำนง ไปตาม ตัวแทน บ. ต่างๆได้ เพราะแต่ละประเทศ/แต่ละ บ.จะ มีโควตาจำกัดค่ะ และทางซาอุดิอาระเบียเอง ก็จำกัดปริมาณผู้คนที่เข้าไปประกอบพิธีฮัจย์เช่นกันค่ะ (เนื่องจาก พื้นที่ จำกัด)
และทางซาอุต้องดำเนินการ ด้านเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาดูแลแต่ละประเทศ และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ อีก เพื่อดูแลที่ พักอาศัยและอาหาร(ช่วงพิธีฮัจย์ อาหรับจะปรุงอาหาร)ให้ ที่ ต.มีนา และทุ่งอารอฟะห์ และมุดตะลีฟะห์
เรื่องสุขภาพสำคัญมาก ออกกำลังกายไว้บ้างก็ดีค่ะ บางทีต้องเดินเท้าไกล อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จะได้ปรับสภาพได้บ้าง

- ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อหัวเท่าไหร ??

อยู่ที่ แต่ละ บ. ค่ะ และจำนวนวันเวลาที่ไปค่ะ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทุกปี ตอนนี้มาตรฐาน ประมาณ คนละ 97,000 120,000 (ตอบ ณ ปี 48- เข้า 49) ปี 50 นี้ ตกคนละ 140,000 ไปน้อยวัน ค่าใช้จ่ายก็ถูกตามจำนวนวัน ไปมาก วันก็จ่ายมาก ตามที่แต่ละ บ.ที่กำหนดไว้ค่ะ และตามระยะทาง ประเทศที่ไกลมาก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทางก็จะแพงตามลำดับ


- มีอุปสรรคอะไรบ้าง

เรื่องสภาพอากาศเมืองหนึ่งร้อน มากๆ เมืองหนึ่งอากาศหนาวมากๆ และจำนวนคน และ นิสัยของมนุษย์ ที่มากันต่างที่ทั่วโลก รวมถึง บางคนที่ไม่เข้าใจหลักการศาสนา จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาค่ะ (หากทุกท่านปฏิบัติศาสนาได้ถูกต้อง จะไม่มีปัญหามากมาย) แต่นั่นคือการทดสอบของพระเจ้า เพราะไม่มีสิ่งใดได้มาอย่างสะดวกง่ายได้ทุกอย่าง จึงต้องอดทนทุกอย่าง รวมทั้งภาษา ที่เจ้าหน้าที่ บางคนไม่พูดอังกฤษ หรือพูดได้ แต่สำเนียง ฟังไม่ออก ^^" ซอบัร(อดทนเข้าไว้)
โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ..... ปัญหามีให้พบเจอและต้องแก้ไขตลอดเวลา

สำหรับสตรีที่ไม่มีมะรอม(ชายผู้ดูแล สตรีมะรอมทางเชื้อสาย เช่นบิดา พี่ชายน้องชาย ลุง อา ,มะรอม ร่วมแม่นมเดียวกัน และ สามี ) คิดสักนิดก่อนที่จะเดินทางนะคะว่าเราทำขั้นตอนนี้ถูกต้องรึไม่... อย่าไปเองโดยไม่มีมะรอม แล้วให้ทางผู้ดูแลจัดการฮัจย์ไปจัดการผิดขั้นผิดตอน ทั้งทางศาสนาและกฎการเข้าประเทศ มีความผิดทางศาสนานะคะถึงจะผ่านด่านต่างๆได้ก็ตาม ถ้าโกหกแม้กระทั่งเรื่องสำคัญ....


แนะนำให้ศึกษาประวัติของแต่ละสถานที่ก่อนไปนะคะจะได้เข้าใจว่า มีที่มาอย่างไรบ้าง เช่น บ่อน้ำซัมซัม(ซัมซัมแปลว่า เอามือป้อง) กะบะฮฺ การขว้างเสาหิน สถานที่กุฎบะฮฺอำลา ฯลฯ


ใครที่ประสงค์คู่มือการประกอบพิธีฮัจย์ (PDF file) ให้แจ้งมาทางอีเมล์หรือฝากข้อความไว้ก็ได้ค่ะ


ด้วยความเคารพค่ะ
วัสสลาม









Create Date : 02 ธันวาคม 2549
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2551 18:42:49 น.
Counter : 10796 Pageviews.

107 comment
ผีในอิสลามเป็นเช่นไร
ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านทั้งหลาย

ตามหลักการอิสลามนั้นไม่มีเรื่องของภูตผีหรือวิญญาณ และเจ้าที่ค่ะ

แต่..อิสลามเชื่อในเรื่องของ ญิน และ ชัยฏอนส่วนมุสลิมจะไม่นิยมเรียกญินหรือชัยฏอนว่าเป็นพวกภูตผีปีศาจ....

ตามหลักการอิสลามนั้นไม่มีเรื่องของภูตผีหรือวิญญาณค่ะ
เมื่อตายแล้ว วิญญาณออกจากร่าง จะถูกเก็บเอาไว้ที่ โลกอะลัมบัรฺซัค คือโลกที่อยู่ระหว่างโลกดุนยา(โลก ปัจจุบัน) กับโลกอาคิเราะฮฺ (โลกแห่งการพิพากษา)
ซึ่งเป็นโลกที่เก็บวิญญาณของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง


ส่วนโลกอะลัมบัรฺซัคนั้นไม่ถูกระบุว่ามีลักษณะอย่างไร? อยู่ที่ไหน?
สภาพภายในโลกอะลัมบัรฺซัคเป็นเช่นไร? นั้นไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะไม่มีหลักฐานจากอัล-กุรฺอาน
หรือหะดีษที่กล่าวถึงสิ่งข้างต้น อัลลอฮุอะลัม (พระเจ้าผู้ทรงรู้ทุกอย่าง)

กล่าวคือเป็นเรื่องสิ่งพ้นญาณวิสัยที่มนุษย์จะจิตนาการขึ้นเองได้
เราจะรู้ได้ต่อเมื่อ อัล-กุรฺอานระบุไว้
หรือท่านรอซูล กล่าวเอาไว้เท่านั้นเองนะ ค่ะ


แต่ที่เห็นเล่านั้น คือมารร้าย ชื่อว่า ญิน และ ชัยฏอน
เป็นผู้ที่ไม่เคารพเชื่อฝั่งคำสั่งของพระเจ้า และต้องการล่อลวง
บรรดาลูกหลานอาดัมให้หลุดจากแนวทางของศาสนา

ไม่ว่าจะเรื่อง ยุยงเรื่องความโกรธ ขาดความอดทน เมื่อโกรธเขาจะมายุให้เราเอาคืนแล้วทะเลาะกัน
กระซิบกระซาบในหัวใจให้ออกห่าง ล่อลวงบรรดาผู้คนที่ศรัทธาอ่อนแอ

แต่สิ่งที่เหล่านี้กลัว คือบรรดามุมินฮฺ บรรดาผู้ศรัทธาและปฎิบัติตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง)นั่นเอง

ญินและชัยฏอนเขามีการคงอยู่ แค่วันสิ้นโลกเท่านั้น

โดย 1 ในวิธีการนั้น คือ ออกมากลั่นแกล้งแปลงร่าง ต่างๆให้คนหวานกลัว จนความศรัทธาสั่นคลอน
แล้วหันไปพึ่งพิงของศักดิ์สิทธิ ที่ไม่มีอยู่ในหลักการอิสลาม
เพื่อที่คนเหล่านั้นจะได้ไปพึ่งสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระเจ้า

ทั้ง 2 นี้ไม่สามารถมีฤทธิ์และอำนาจ ฆ่ามนุษย์ได้ค่ะ
มีที่อยู่อาศัยบริเวณที่รกร้าง ซากปรักหักพัง สถานที่สกปรกต่างๆ บริเวณที่โล่ ตามป่าเขา
รวมถึงห้องน้ำ และสถานที่ ที่มีรูปปั้นทั้งหลาย

ดังนั้นมุสลิมจะมีวิธีป้องกันเหล่ามารร้ายอยู่แล้วด้วยการขอความคุ้มครองต่อพระเจ้า
ให้พ้นจากชัยฏอนมารร้าย ก่อนทุกครั้งไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ

ไม่ว่าจะก่อนนอน ก่อนทานข้าว หรือเข้าไปในสถานที่ต่างๆค่ะก่อนเข้าบ้าน /ปิดบ้าน ฯลฯ

เพิ่มเติม วิธีป้องกัน
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=narok&group=5&month=10-2006&date=29&blog=1





ดังนั้น หากมีคนบอกว่าเจ้าเซ่นเจ้าที่ แล้วคุณไปจ้างใครมาก็ตามนั่งล้อมวง
กล่าวนั้นนี่ ทำพิธี นั่นเป็นอุตริกรรมทางศาสนา
และขอซองนั้น (ทำขึ้นมาเองไม่มีในหลักการศาสนาค่ะ )
เขาหลอกเอาเงินคุณ นั่นเอง และคุณก็หุงข้าวหมก ทำอาหารอิสลามเลี้ยง....-*-

เป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย เพราะพอทำแล้วคุณสบายใจนั่นเอง

และถ้าหากคนที่คุณไปหามา บอกว่าเป็นหมอทางอิสลามนั้น
ผู้นั้นทำกำลังทำ(อวิชา) มียันต์เขียนอะไรต่างๆ เอาน้ำให้กิน

ทางหลักการอิสลามถือว่าผิดและบาปใหญ่ด้วยนั่นเอง



ด้วยความเคารพค่ะ



Create Date : 26 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2549 21:23:31 น.
Counter : 1433 Pageviews.

17 comment
1  2  3  4  5  6  

นะ(รก)
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]



เพราะเราไม่รู้ว่า ลมหายใจจะหมดลงเมื่อใด
The Doomsday Book
Date Conversion
Gregorian to Hijri Hijri to Gregorian
Day: Month: Year
Website Counter
New Comments