ประวัติท่านหญิง อุมมุ ซะละมะฮฺ
ท่านหญิง อุมมุ ซะละมะฮฺ



ท่านทราบไหมว่า อุมมุ ซะละมะฮฺ คือใคร ? บิดาของนางเป็นหัวหน้าเผ่า “บะนีมัคซูม” เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ใจบุญของชาวอาหรับ เป็นที่โจทย์ขานกันว่าเป็น “ซาดุรรอกิบ” หรือเสบียงแห่งกองคาราวาน เพราะเมื่อกองคาราวานใดที่แวะพักที่บ้านของเขา หรือมีเขาร่วมเดินทางไปด้วย ก็จะได้รับการบรรทุกเสบียงจนเต็มเปี่ยม สามีของนางคืออับดุลลอฮฺ บิน อับดิลอะซัด เป็นหนึ่งในจำนวนสิบคนแรกที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ไม่มีผู้ใดรับอิสลามก่อนเขา นอกจากท่านอบูบักร อัศศิดดี๊ก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ และอีกไม่กี่คนซึ่งมีจำนวนน้อยกว่านิ้วมือทั้งสองข้างเสียอีก ชื่อจริงของนางคือ “ฮินดฺ” และมีฉายานามว่า “อุมมุ ซะละมะฮฺ” ต่อมาใคร ๆ ก็เรียกนางว่า “อุมมุ ซะละมะฮฺ” จนติดปาก


อุมมุ ซะละมะฮฺเข้ารับอิสลามพร้อมกับสามี และเป็นผู้หนึ่งในกลุ่มผู้รับนับถือศาสนาอิสลามกลุ่มแรก เมื่อข่าวการรับนับถืออิสลามของ อุมมุ ซะละมะฮฺ และสามีแพร่สะพัดออกไป พวกกุเรชก็เริ่มคัดค้าน กลั่นแกล้ง รังแก ซึ่งหากจะเปรียบเทียบนางเป็นเช่นหินผา ก็คงต้องแตกกระจาย เพราะไม่สามารถจะทนทานได้ ทั้งนี้ก็เพราะชาวกุเรชไม่ต้องการให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น แต่ความเดือนร้อนนั้นก็หาได้ทำให้ทั้งสองสะทกสะท้านไม่


เมื่อพวก “กุเรช” ทวีความรุนแรงหนักข้อยิ่งขึ้นท่านร่อซูล จึงอนุมัติให้เหล่าสาวกอพยพไปยัง “ฮะบะชะฮฺ” หรือเอธิโอเปียในปัจจุบันนี้ และอุมมุ ซะละมะฮฺ กับสามีก็ได้ร่วมอพยพไปด้วย


ทั้งสองต้องอพยพไปอยู่ในดินแดนของคนแปลกหน้า ต้องละทิ้งบ้านเรือนใหญ่โตรโหฐานที่มักกะฮฺ ทิ้งเกียรติยศอันสูงส่ง และตระกูลที่ประเสริฐไว้เบื้องหลัง เพราะต้องการรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ต้องการเป็นที่พอพระทัยของอัลลอฮฺเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้ว่าทั้งสองจะได้รับการคุ้มครองจากท่าน “นะญาชีย์” กษัตริย์แห่งเมืองฮะบะชะฮฺในขณะนั้นก็ตาม (ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานเขาในสรวงสวรรค์ด้วยเทอญ) แต่พวกเขาก็ยังคงคิดถึง “มักกะฮฺ” เป็นแผ่นดินที่อัลลอฮฺทรงประทาน “วะฮีย์” ลงมา และ


เป็นสถานที่ที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ พำนักอยู่ ซึ่งตัวของนางและสามีได้รับแนวทางอันถูกต้องเอาไว้ต่อมาบรรดามุสลิมที่อพยพมาอยู่เมือง “ฮะบะชะฮฺ” ได้รับทราบว่ามีมุสลิมเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นในมักกะฮฺ และแน่นอนเหลือเกินในการเข้ารับอิสลามของท่าน “ฮัมซะฮฺ บินอัลดุลมุฏฏอลิบ” และท่าน “อุมัร อิบนิลค็อฏฏ็อบ” ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา นั้นจะต้องยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้พวกเขา และยังพวก “กุเรช” ให้เลิกรังแกลงได้แน่ ๆ ดังนั้นจึงมีกลุ่มหนึ่งกลับมา “มักกะฮฺ” ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนเป็นที่สุด พวกเขาอยากจะกลับมาอยู่ใกล้ชิดกับท่านร่อซูล และอุมมุ ซะละมะฮฺ และสามีก็ได้เดินทางกลับมาด้วย


ครั้นเมื่อมาถึง “มักกะฮฺ” สิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาทำให้เห็นว่าข้อมูลจากข่าวที่ได้รับนั้นไม่เป็นความจริง เพราะการตื่นตัวของพี่น้องมุสลิม ภายหลังจากที่ท่านฮัมซะฮฺ และท่านอุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา เข้ารับอิสลามนั้น ยิ่งทำให้พวก “กุเรช” กลั่นแกล้งมุสลิมหนักข้อยิ่งขึ้นอีก
พวกมุชริกีนยิ่งก่อเหตุวุ่นวาย ด้วยการจับมุสลิมไปทรมานเขย่าขวัญรังแกทำร้ายต่าง ๆ นานา ชนิดที่พวกเขาไม่เคยประสบมาก่อนเลย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ท่านร่อซูล จึงได้อนุมัติให้บรรดาสาวกของท่านอพยพไป “มะดีนะฮฺ” อุมมุ ซะละมะฮฺ และสามีต่างก็ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า จะต้องอพยพอีกครั้งเพื่อให้พ้นศาสนาดั้งเดิมและเพื่อให้พ้นจากการคุกคามของพวก “กุเรช”


การอพยพของอุมมุ ซะละมะฮฺ และสามีไม่สะดวกง่ายดายอย่างที่คิด แต่มันลำบากยากเย็น ขมขื่น ต้องประสบกับความชั่วร้ายนาๆนับประการ ซึ่งในเรื่องนี้เราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “อุมมุ ซะละมะฮฺ” เป็นผู้เล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนางด้วยตัวเอง เพราะนางมีความรู้สึกอันล้ำลึก และมีมโนภาพที่ละเอียดอ่อนต่อเหตุการณ์ที่ประสบกับนางเอง


นางได้เล่าไว้ว่า “เมื่อบิดาของซะละมะฮฺ คือสามีของนาง มั่นใจว่าจะต้องออกเดินทางไปมะดีนะฮฺ เขาจึงตระเตรียมอูฐตัวหนึ่งไว้สำหรับฉัน เขาส่งฉันกับลูกซะละมะฮฺขึ้นหลังอูฐ และเขาก็ออกเดินจูงอูฐไปเรื่อย ๆ โดยไม่เหลียวหลัง แต่ก่อนที่เราจะออกไปพ้นเขตมักกะฮฺ เรามองเห็นชายฉกรรจ์หลายคนซึ่งมาจากเผ่าของฉันคือ “บนีมัคซูม” พวกเขาขัดขวางเราไว้ และอบูซะละมะฮฺก็พูดขึ้นว่า “แม้ว่าตัวของเจ้าจะชนะเรา แต่มันเป็นกงการอะไรของเจ้ากับหญิงผู้นี้ด้วยเล่า ?” พวกเขาตอบว่า “นางเป็นลูกของเรา เหตุไฉนเราจะปล่อยให้เจ้านำพานางไปจากเรา เพื่อออกเดินทางไปต่างแดน?” และแล้วพวกนั้นก็กระโดดเข้าหาเขา (สามีของอุมมุซะละมะฮฺ) และแย่งชิงฉันไปจากเขา”


ส่วนพรรคพวกสามีของฉัน คือ “บนีอับดิลอะซัด” เมื่อทราบข่าวว่า “บนีมัคซูม” จับตัวฉันและบุตรไปแล้ว พวกเขาก็โกรธมาก และกล่าวสาบานว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ เราจะไม่ปล่อยให้เจ้าเด็กน้อย หมายถึง “ซะละมะฮฺ” อยู่กับมารดาของเขา หมายถึงอุมมุ ซะละมะฮฺ ซึ่งเป็นพวกของเจ้าหลังจากที่พวกเจ้ายื้อแย่งนางไปจากพวกเรา ดังนั้นซะละมะฮฺคือลูกของเรา พวกเรามีสิทธิ์ในตัวเขายิ่งกว่าผู้อื่น” และแล้วพวก “บนีอับดิลอะซัด” ก็ลากเอาลูกของฉันไปกับเขา ในที่สุดพวกเขาก็แกะมือของลูกซะละมะฮฺ ออกจากอ้อมอกของฉัน และพาเอาตัวไปต่อหน้าต่อตา
ขณะนั้นฉันรู้สึกว่าตัวเองถูกฉีกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงผู้เดียว สามีต้องเดินมุ่งหน้าไปสู่มะดีนะฮฺ เขาทิ้งศาสนาดั้งเดิมและละทิ้งคู่ชีวิตของเขาไป ส่วนลูกก็ถูก “บนูอับดิลอะซัด” แย่งเอาไป แล้วสำหรับตัวฉันเองนั้น “บนีมัคซูม” เป็นผู้คุ้มครองดูแลให้อยู่ในความอุปการะของพวกเขา


ณ บัดนั้น ตัวฉัน สามี และลูกจึงต้องพลัดพรากจากกัน และหลังจากที่เหตุการณ์วันนั้นผ่านไป ฉันจะออกไปที่ “อับตอฮฺ” ทุกวันและนั่งอยู่ตรงที่เกิดเหตุร้าย ทบทวนถึงความหลัง ฉัน ลูกและสามีที่จำต้องระหกระเหินกันไปคนละทางสองทาง ฉันจะนั่งร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้นจนพลบค่ำ เป็นอยู่เช่นนั้นเกือบหนึ่งปีเต็ม จนกระทั่งมีชายผู้หนึ่งจากเผ่าของอาของฉันผ่านมาพบเข้า เขาเห็นใจและสงสารฉันมาก เขาจึงบอกแก่เผ่าของฉันว่า “สมควรที่พวกท่านจะปล่อยหญิงที่น่าสงสารผู้นี้เสียเถิด พวกท่านพรากนางจากสามีและลูกของนาง” แล้วเขาได้พูดขอความเห็นใจ ขอความเมตตาสงสาร จนกระทั่งเผ่าของฉันเอ่ยขึ้นกับฉันว่า “ถ้าหากเธอยังต้องการจะติดตามสามีอยู่อีก ก็ไปซิ”
แต่ฉันจะไปพบสามีโดยทอดทิ้งสายโลหิตไว้กับเผ่า “บนี อับดิลอะซัด”
ที่มักกะฮฺได้อย่างไร ? ความทนทุกข์ทรมานจะยุติลงได้ละหรือ ? หยาดน้ำตาจะเหือดแห้งได้อย่างไร ? ฉันจะอพยพติดตามสามีโดยปล่อยลูกน้อยไว้ในมักกะฮฺ โดยไม่ทราบข่าวคราวเลยกระนั้นหรือ ? มีพี่น้องบางคนเห็นว่าสมควรให้ฉันพ้นจากความโศกเศร้าเสียที จิตใจของเขาปวดร้าวเมื่อเห็นสภาพของฉัน พวกเขาจึงเจรจากับ “บนีอับดิลอะซัด” ขอร้องให้สงสารฉันบ้าง ในที่สุดพวกนั้นก็ยอมส่งลูกของฉันกลับคืนมา

ฉันไม่ปรารถนาจะหาใครสักคนที่มักกะฮฺเป็นเพื่อนเดินทางอพยพ เพราะกลัวว่าจะเกิดสิ่งที่คาดคิดไม่ถึง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในเรื่องติดตามสามีได้ ดังนั้นฉันจึงรีบเตรียมอูฐ และนำลูกน้อยไปกับฉันด้วย เสร็จแล้วจึงออกเดินทางมุ่งหน้าไปมะดีนะฮฺ ปรารถนาจะได้พบสามีทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครร่วมเดินทางไปด้วยแม้แต่คนเดียว ครั้นมาถึง “ตะนะอีม” ก็พบ อุสมาน อิบนิ ฎอลฮะฮฺ เขาถามฉันว่า จะไปไหนหรือ ? โอ้



บุตรสาวของ “ซาดิรรอกิบ” ? (อันหมายถึงหัวหน้าเผ่าบนีมัคซูมซึ่งเป็นบิดาของนาง)
ฉันตอบว่า “ต้องการจะไปพบสามีที่มะดีนะฮฺ” เขาถามฉันอีกว่า “ไม่มีใครสักคนหนึ่งร่วมเดินทางไปกับเธอด้วยหรือ ?” ฉันตอบว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ไม่มีใครเลย มีแต่อัลลอฮฺและลูกน้อยของฉันนี้เท่านั้น” เขาจึงพูดขึ้นว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่ปล่อยให้เธอเดินทางไปมะดีนะฮฺโดยลำพังเป็นอันขาด พลางเขาก็จับเชือกอูฐพาฉันออกเดินทางไปโดยเร็ว”


อุมมุ ซะละมะฮฺ เล่าว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ไม่มีเพื่อนชาวอาหรับผู้ใดที่มีเกียรติและประเสริฐยิ่งกว่าเขาอีก จะไม่ให้ฉันพูดเช่นนี้ได้อย่างไร ? เพราะยามใดที่ต้องหยุดพัก เขาจะให้อูฐของฉันคุกเข่าลง และตัวเขาเองจะออกไปอยู่ห่าง ๆ จนกระทั่งฉันลงจากหลังอูฐ เสร็จแล้วเขาก็จะเข้ามาเอาที่พักบนหลังอูฐลง และจูงอูฐไปผูกไว้กับต้นไม้ซึ่งอยู่ห่างฉันออกไป เมื่อได้เวลาต้องออกเดินทาง เขาก็ลุกขึ้นเดินไปหาอูฐของฉันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางต่อไป เขาจูงมันมาหาฉัน และเดินออกไปห่าง ๆ พร้อมบอกกับฉันว่า “ขึ้นอูฐเถิด” เมื่อฉันขึ้นบนอูฐและนั่งบนหลังมันเสร็จเรียบร้อย เขาก็จะเดินทางเข้ามาคว้าเชือกอูฐจูงต่อไป เขาปฏิบัติต่อฉันเช่นนั้นเป็นประจำทุกวัน จนเราได้มาถึง “มะดีนะฮฺ” เมื่อเขาแลเห็นตำบลหนึ่งที่ “กุบาอฺ” ซึ่งเป็นสถานที่ของเผ่า “บนีอัมร อิบนิ เอ๊าฟ” เขาบอกฉันว่า : สามีของเธออยู่ตำบลนี้แหละ จงเข้าไปหาเขาที่นั่นด้วยความสิริมงคลของอัลลอฮฺเถิด แล้วเขาก็ผินหลังกลับมุ่งสู่มักกะฮฺทันที”
ณ บัดนี้ คนที่บ้านแตกสาแหรกขาด อันได้แก่ครอบครัวของ “อุมมุ ซะละมะฮฺ” ก็ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ต้องพลัดพรากจากกันเป็นเวลานาน มารดาของ “ซะละมะฮฺ” มีความปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับสามี และบิดาของซะละมะฮฺ ก็มีความสุขที่ได้พบกับภรรยาและบุตร


แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขผ่านไปยังไม่ทันไร ก็มีเหตุทำให้เขาต้องพลัดพรากจากกันอีก นั่นก็คือสงคราม “บะดัร” ซึ่งอบูซะละมะฮฺได้เข้าร่วมรบด้วย และก็นำชัยชนะอย่างเด็ดขาดกลับมาพร้อมกับพี่น้องมุสลิม

สงครามอุฮุด อบูซะละมะฮฺได้ถูกทดสอบอย่างงดงามและมีเกียรติอีกครั้งหนึ่ง แต่ศึกครั้งนี้เขาได้รับบาดแผลฉกรรจ์ และเขาได้เยียวยารักษาแผลนั้น หากดูเผิน ๆ แล้วก็เหมือนกับว่าเกือบหายแล้ว แต่ความจริงบาดแผลภายในยังเป็นอันตรายอยู่จึงทำให้เขาต้องนอนป่วยอยู่เช่นนั้น ครั้งหนึ่งขณะที่อบูซะละมะฮฺกำลังได้รับการเยียวยารักษาบาดแผลอยู่นั้น เขาได้กล่าวกับภรรยาว่า “อุมมุ ซะละมะฮฺเอ๋ย ฉันได้ยินท่านร่อซูล กล่าวว่าความทุกข์ยากจะไม่เกิดขึ้นกับผู้หนึ่งผู้ใด หากขณะที่เขาประสบนั้นเข

จะกล่าวว่า “แน่นอนเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และ แน่นอนเราต้องกลับไปยังพระองค์” และกล่าวดุอาอฺว่า “โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์คิดว่าความทุกข์ยากนี้มาจากพระองค์ โอ้อัลลอฮฺ โปรดให้ข้าพระองค์มีชีวิตอยู่ต่อไปที่ดีกว่าความทุกข์ยากนี้ด้วยเทอญ” หากใครวิงวอนเช่นนี้ อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ก็จะทรงรับคำวิงวอนของเขา”
“อบูซะละมะฮฺ” ยังคงนอนป่วยอยู่หลายวัน จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งท่านร่อซูล มาเยี่ยมและเมื่อท่านลุกขึ้นกลับไปยังไม่ทันจะพ้นประตูบ้าน อบูซะละมะฮฺก็สิ้นชีวิต ท่านนบี ปิดนัยน์ตาทั้งสองข้างด้วยมือทั้งสองอันประเสริฐของท่านให้แก่อบูซะละมะฮฺ ท่านเหลือบตาสู่เบื้องบนและกล่าวว่า
“ขออัลลอฮฺ ทรงโปรดยกโทษให้แก่ อบีซะละมะฮฺ และขอพระองค์ทรงโปรดให้เขาได้อยู่ในสวนสวรรค์พร้อมกับผู้ใกล้ชิดพระองค์ และขอพระองค์ทรงให้ผู้ที่เขาทอดทิ้งอยู่เบื้องหลังได้มีผู้มาแทนเขา เพื่อดูแลลูกและภรรยา ของเขาเหมือนแต่ก่อนด้วยเถิด โอ้พระเจ้าของโลกทั้งผอง ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้พวกเราและอบูซะละมะฮฺด้วยเถิด ขอให้กุโบรของเขากว้างขวางมีแสงสว่างด้วยเทอญ”
อุมมุ ซะละมะฮฺ นึกทบทวนคำที่สามีได้บอกแก่นาง ซึ่งเป็นคำพูดของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮฺ นับว่าความทุกข์ยากของฉันนี้มาจากพระองค์” แต่นางไม่สามารถทำใจให้กล่าวต่อไปอีกได้ว่า “โอ้อัลลอฮฺ โปรดทดแทนสิ่งที่ดียิ่งกว่าความทุกข์ยากนี้แก่ฉันด้วย” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนางตั้งคำถามเสมอว่า “ยังมีใครอีกหรือที่จะเป็นคนดียิ่งกว่าอะบีซะละมะฮฺ ? แต่นางก็ต้องอ้อมแอ้มกล่าวดุอาอฺต่อไปจนจบ”
บรรดาพี่น้องมุสลิมต่างเศร้าใจต่อเหตุการณ์ที่มาประสบกับอุมมุซะละมะฮฺ เพราะไม่เคยมีความโศกเศร้าเช่นนี้ให้แก่ความทุกข์ยากของใครมาก่อนเลย พวกเขาขนานนามอุมมุซะละมะฮฺว่า “อัยยิมุลอะร่อบีย์” หรือ “สตรีที่พลาดโอกาสในตัวสามี” เพราะนางไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในมะดีนะฮฺเลย นอกจากเด็กน้อยคนเดียวซึ่งมีสภาพคล้ายกับลูกไก่ตัวเล็ก ๆ เท่านั้น


ชาวมุฮาญีรีน และอันศ้อรต่างก็ตระหนักดีถึงสิทธิ์ของอุมมุซะละมะฮฺ ซึ่งจำเป็นที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ และเกือบไม่ทันจะหายจากความเศร้าโศกที่นางต้องสูญเสีย อบีซะละมะฮฺผู้เป็นสามี ท่านอบูบักร อัศศิดี๊ก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็เสนอตัวสู่ขอนางให้กับตนเอง แต่นางก็ไม่ตอบรับความประสงค์ของท่าน หลังจากนั้นท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็มาสู่ขอนางอีก และนางก็ปฏิเสธอีกเช่นกัน
ต่อมาท่านร่อซูล ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เสนอตัวสู่ขอนาง แต่นางได้บอกกับท่านว่า โอ้ท่านร่อซูลของอัลลอฮฺ ฉันยังมีอุปสรรคอยู่สามประการคือ ฉันเป็นหญิงที่มีความหึงหวงมาก เกรงว่าท่านจะพบสิ่งไม่ดีงามอันจะทำให้ท่านโกรธกริ้วและอัลลอฮฺจะทรงเอาโทษฉัน ประการที่สอง ฉันเป็นหญิงที่เคยผ่านการมีชีวิตสมรสมาแล้ว และประการที่สาม ฉันเป็นหญิงมีลูกติด
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า ที่เธอบอกว่าเธอเป็นคนมีความหึงหวงมากนั้น ฉันจะขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้มันหายไปจากเธอ และที่เธอบอกว่าเคยผ่านการมีคู่ครองมาแล้วนั้น ฉันเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับเธอ และที่เธอบอกว่ามีลูกติดนั้น ลูกของเธอก็คือลูกของฉัน
ในที่สุดท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็สมรสกับ “อุมมุ ซะละมะฮฺ” ซึ่งอัลลอฮฺทรงรับดุอาอฺของนาง และให้เธอมีคู่ชีวิตที่ดีกว่า “อบีซะละมะฮฺ” ผู้ที่จากไป
นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา “ฮินดฺ อัลมัคซูมียะฮฺ” ไม่ได้เป็นเพียงมารดาของซะละมะฮฺคนเดียวเท่านั้น หากแต่นางยังเป็นมารดาของมุอฺมิน ทุกคนอีกด้วย


ขออัลลอฮฺโปรดประทานความดีงามให้แก่อุมมุ ซะละมะฮฺ ในสรวงสวรรค์ด้วยเทอญ ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยนางด้วย



Create Date : 09 สิงหาคม 2550
Last Update : 9 สิงหาคม 2550 1:04:32 น.
Counter : 800 Pageviews.

1 comments
  
difficult to comment for me.
//www.myislam.zoomshare.com
โดย: Ahsanraza IP: 116.71.170.27 วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:14:19:15 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นะ(รก)
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]



เพราะเราไม่รู้ว่า ลมหายใจจะหมดลงเมื่อใด
The Doomsday Book
Date Conversion
Gregorian to Hijri Hijri to Gregorian
Day: Month: Year
Website Counter
New Comments