Group Blog
 
All Blogs
 

คิริมานนทสูตร อุบายรักษาโรค พิจารณารูป-นาม


คิริมานนทสูตร



เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ตตฺรโข อายสฺมา คิริมานนฺโท อาพาธิโก โหตีติ


บัดนี้ จักแสดงพระสูตรอันหนึ่ง อันโบราณาจารย์เจ้าหากกำหนดไว้ว่า คิริมานนทสูตร อ้างเนื้อความว่า ครั้งปฐมสังคายนา พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ หย่อนโอกาสไว้ให้พระอานนท์องค์หนึ่ง ได้เข้ามาสู่ที่ประชุมพร้อมแล้ว คอยพระอานนท์องค์เดียว กำลังเจริญสมถะวิปัสสนาอยู่ ยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ ครั้นพระอานนทเถรเจ้าได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็เข้าจตุตถฌาณ เอาปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไปปรากฏบนอาสนะท่ามกลางสงฆ์ ให้พระสงฆ์สิ้นความสงสัยในอรหันตคุณที่ถ้ำสัตตบัณณคูหา ปฏิญาณตนในอเสขภูมิด้วยประการฉะนี้แล้ว พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลายมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน จึงได้อาราธนาเชื้อเชิญให้พระอานนท์ขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์ แสดงพระสุตตันตปิฎก ยกคิริมานนทสูตรนี้ ขึ้นเป็นที่ตั้งลำดับไว้อย่างนี้ พระมหากัสสปเถรเจ้า จึงถามพระอานนท์ว่า


อานนฺท ดูกรอานนท์ พระสูตรอันชื่อว่า คิริมานนทสูตร นั้น พระพุทธเจ้าแสดงแก่บุคคลผู้ใด แลตรัสเทศนา ณ ที่ไหน ปรารภอะไรให้เป็นเหตุจึงได้ตรัสเทศนา มีวิตถารพิศดารอย่างไร ขอให้พระอานนท์เจ้าจงแสดงต่อไปในกาลบัดนี้


อถ โข อายสฺมา อานนฺโท ลำดับนั้น พระอานนทเถรเจ้า ผู้นั่งอยู่บนธรรมาสน์ได้โอกาสแต่พระสงฆ์แล้ว จึงวิสัชนาพระสูตรนี้ มีคำปฏิญญาในเบื้องต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้ ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่าอานนท์ หากได้สดับมาแต่พระอบแก้ว กล่าวคือพระโอษฐ์แห่งพระพุทธเจ้า ดำเนินความว่า เอกํ สมยํ สมัยกาลคาบหนึ่ง พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวันวิหารอันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถี ในกาลครั้งนั้น พระผู้เป็นเจ้าชื่อว่า คิริมานนทเถระผู้มีอายุ อาพาธิโก เกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะอดกลั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ให้เชิญข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ เข้าไปยังสำนักแห่งตน แล้วจึงกล่าวว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า คิริมานนท์ นี้ บังเกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะพึงอดกลั้น ไม่สามารถจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ขอนิมนต์ท่านอานนท์นำเอาอาการอาพาธอันร้ายแรงแห่งข้าพเจ้าไปกราบทูลให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เพื่อทรงพระมหากรุณาสงเคราะห์ให้ทุกขเวทนาเจ็บปวดซึ่งเบียดเบียนอยู่ในร่างกายแห่งข้าพเจ้า ผู้มีชื่อว่าคิริมานนท์นี้ระงับอันตรธานหายเถิด ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ รับเถรวาทีแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอาการแห่งอาพาธแลทุกขเวทนาตามคำสั่งของพระคิริมานนท์ให้ทรงทราบทุกประการ


อถ โข ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้ทรงทราบอาการแห่งพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์ดังนี้แล้ว จึงตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ เธอจงกลับไปสู่สำนักของท่านคิริมานนท์โดยเร็ว แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า วิสุทฺธ จิตฺเต อานนฺท เทฺว สญฺญา สุตฺวา โสอาพาโธ ฐานโส ปฏิปสฺสมเภยฺย ดังนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อเธอไปถึงสำนักพระคิริมานนท์แล้ว เธอจงไปบอกสัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา ๑ นามสัญญา ๑ คือว่า รูปร่างกายตัวตนทั้งสิ้นก็ดี คือนามได้แก่จิตเจตสิกทั้งหลายก็ดี ก็ให้ปลงธุระเสีย อย่าถือว่ารูปร่างกายจิตเจตสิกเป็นตัวตน แลอย่าเข้าใจว่าเป็นของของตน ทุกสิ่งทุกอย่างความจริงหากเป็นของภายนอกสิ้นทั้งนั้น.


ดูกรอานนท์ ถ้าหากว่ารูปร่างกายเป็นตัวตนเราแท้ เมื่อเขาแก่เฒ่าชรา ตามัว หูหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง ฟันโยกคลอน เจ็บปวดเหล่านั้น เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่าอย่าเป็นอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างนี้ นี่เราบังคับไม่ได้ตามประสงค์ เขาจะเจ็บจะไข้ จะแก่จะตาย เขาก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา เราหมดอำนาจที่จะบังคับบัญชาได้ เมื่อตาย เราก็จะพาเอาไปสักสิ่งสักอันก็ไม่ได้ ถ้าเป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็คงจะพาเอาไปได้ตามความปรารถนา.


ดูกรอานนท์ ถึงจิตเจตสิกก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน หากว่าจิตเจตสิกเป็นเราหรือเป็นของของเรา ก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่า จิตของเราจงเป็นอย่างนี้ จงเป็นอย่างนั้น จงสุขสำราญทุกเมื่อ อย่าทุกข์อย่าร้อนเลย ดังนี้ ก็จักพึงได้ตามความปรารถนา นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาจะคิดอะไรเขาก็คิดไป เขาจะอยู่จะไปก็ตามเรื่องของเขา เพราะเหตุร่างกายจิตใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน ให้ปลงธุระเสีย อย่าเข้าใจถือเอาว่าเป็นตัวตนแลของของตนเถิด.


ดูกรอานนท์ เธอจงไปบอกซึ่งสัญญาทั้งสองประการ คือ รูปแลนามนี้โดยเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนแลไม่ใช่ของของตน ให้พระคิริมานนท์แจ้งทุกประการ เมื่อพระคิริมานนท์แจ้งแล้ว อาพาธความเจ็บปวดแลทุกขเวทนาก็จักหายจากสรีระร่างกายแห่งพระคิริมานนท์สิ้นเสร็จ หาเศษบ่มิได้ จักหายโดยรวดเร็วด้วย. ภนฺเต อริยกสฺสป ข้าแต่พระอริยกัสสปะผู้เป็นประธานในสงฆ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสแก่ข้าฯ ผู้ชื่อว่าอานนท์ด้วยประการดังนี้แล




 

Create Date : 18 มกราคม 2549    
Last Update : 18 มกราคม 2549 13:41:54 น.
Counter : 979 Pageviews.  

ร่วมอนุโมทนาบุญที่รพ.สงฆ์

โดยไม่รอช้า เหล่าไรเดอร์ ขบวนการพบกันทำดี ก็มารวมตัวกันเวลา ๑๐.๐๐ น. โดยมีไรเดอร์จากเว็บหมากฮอสหลายท่านมาร่วมงานด้วย น่าปลื้มใจยิ่งนัก จนเมื่อพร้อมแล้วจึงเริ่มลงมือช่วยกันจัดของ ชุลมุนชุลเกกันน่าดู เพราะมีพื้นที่น้อย แต่คนเยอะจริง ๆ สับมือกันไปมา ดูปวดหัวดีเหมือนกัน แม้ว่าจะร้อนเพราะไม่สามารถเปิดพัดลมได้ และไม่มีเก้าอี้นั่ง แต่เหล่าผู้กล้าก็หน้าตาสดใสเพราะได้ร่วมกันทำบุญ

จนเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. ก็จัดของเป็นอันเสร็จเรียบร้อย ได้มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมานำสวดถวายสังฆทาน ช่วงนี้ทุกคนก็ยิ่งหน้าตาสดใส จากนั้นก็นำสิ่งของทั้งหมดไปถวายพระสงฆ์ถึงเตียงพอเสร็จก็มารวมตัวกันที่เดิม แล้วจึงไปถวายของที่เป็นกองกลางที่หอไตร และได้กราบพระพุทธรูปแสนงามซึ่งมีอายุเกือบพันปี หลังจากนั้นนำเงินในกล่องรับบริจาคไปบริจาคให้ทางรพ. แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

ในวันงาน อาจมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ติดขัด กำหนดการณ์ที่วางไว้ก็ไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งเป็นเพราะเกิดปัญหาในการประสานงานของผมเอง ผมต้องขออภัยหลาย ๆ ท่านที่อาจไม่ได้รับความสะดวก และจะปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไปครับ (-/|\-)

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก บันดาลให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญ บุญกุศลอันใดที่เกิดจากการร่วมกันทำบุญในครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไป ขอให้เป็นปัจจัยให้ประสบพบนิพพานทุกท่านครับ


เงินบริจาคที่โอนเข้าบัญชี 7700 บาท

เงินบริจาคสมทบ 2100 บาท
รวมทั้งหมด 9800 บาท
(โดยส่วน 9300 บาท นำไปซื้อของเพื่อถวายพระ
และอีก 500 บาท จะนำไปรวมกับปัจจัยที่ได้รับบริจาคหน้ากิจกรรมเพื่อให้เป็นปัจจัยเข้ารพ.สงฆ์)

รายการซื้อของเพื่อจัดชุด โดยใช้เงินบริจาคที่ได้รับ 9300 บาท
กระดาษซิลค์คอตตอน 216 ม้วน 816 บาท
นม UHT ไวตามิลค์เจ 250 มล. 216 กล่อง 1554 บาท
แปรงสีฟันคอลเกตเอ็กซ์ตร้าคลีนพร้อมยาสีฟัน 48 ชุด 656 บาท
ที่โกนหนวดยิลเลตต์ซุปเปอร์ธินทู 48 ชิ้น 580 บาท
แปรงสีฟันแซทเทิร์นพร้อมที่โกนหนวด 156 ชุด 1885 บาท
คอลเกตแคลเซี่ยมรสยอดนิยม และ รสเย็นซ่า
ขนาด 25 กรัม 156 หลอด 728 บาท
สำลีก้าน 204 ห่อ 799 บาท
ถ้วยน้ำพลาสติกมีหู 120 ถ้วย 520 บาท
สบูลักส์บิวตี้ขาว 70 กรัม 152 ก้อน 722 บาท
แชมพูเด็กน่ารักอ่อนใส 50 มล. 108 ขวด 900 บาท
ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว 2 กก. 158 บาท
เมนโทลาทรัม 5 กรัม 425 บาท
รายการของแถม
มาม่าต้มยำกุ้ง 3 ห่อ, แป้งแคร์ 50 กรัม 4 กระปุก และส่วนลด 40.75 บาท
รวมมูลค่า 9702.25 บาท

ดังนั้น ของที่สามารถจัดชุดได้ครบ 200 ชุดมีดังนี้
แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ที่โกนหนวด เท็ดชู่ สำลีก้าน นมถั่วเหลือง
ส่วนของที่เหลือจะใส่สลับคละกันไป

รายการของผู้ที่มาร่วมกิจกรรมนำมา
ผ้าขนหนูพร้อมถุงเท้า 60 ชุด มูลค่าประมาณ 2000 บาท
ถังสังฆทาน
สบู่ลักส์
ไวตามิลค์ 36 กล่อง
กระดาษซิลค์คอตตอน 24 ม้วน
ที่โกนหนวดยิลเล็ต์ 6 ชิ้น
น้ำยาล้างตา 3 ขวด
พลาสเตอร์ปิดแผล 2 กล่อง
ยาแก้ปวด
ยาหม่อง
น้ำยาบ้วนปาก 3 ขวด
ผ้าสังฆาฏิ
ปลากระป๋อง
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ปัจจัยในซองชมพู
ขาดตกบกพร่องรายการไหน ช่วยกรุณาบอกด้วยนะครับ

ปัจจัยที่ได้รับบริจาคหน้ากิจกรรม 2517+500= 3017 บาท

ขออนุโมทนาบุญที่ท่านทำไว้ด้วยจิตที่ดีแล้ว





 

Create Date : 09 มกราคม 2549    
Last Update : 9 มกราคม 2549 15:10:42 น.
Counter : 385 Pageviews.  

<<< ร่วมกันทำบุญ กับพระภิกษุอาพาธ จำนวนกว่า ๒๐๐รูป ที่โรงพยาบาลสงฆ์กันเถอะ >>>

โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฐเหยฺย โส คิลา นํ อุปฏฐเหยฺย
ผู้ใดปราถนาอุปัฏฐากเราตถาคต ... ผู้นั้นพึงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด..

ตามรอยพระอริยะ พระอานนท์พุทธอนุชา
ผู้เป็นเอกทัคคะด้านอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า



ร่วมกันทำบุญกับพระภิกษุอาพาธ จำนวนกว่า ๒๐๐ รูป ที่โรงพยาบาลสงฆ์กันเถอะ

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พ.ย.นี้ เวลา ๑๐.๐๐ น.

ร่วมกันนำของมาช่วยกันทำบุญแก่พระภิกษุอาพาธ
และช่วยกันลงแข็งขัน จัดสิ่งของให้เป็นชุด
ให้ง่ายต่อการถวายแด่ภิกษุ และร่วมกันถวาย
เพื่อให้ท่านได้รับโดยทั่วถึงกันครบทุกรูป ซึ่งมีประมาณ ๒๐๐ รูป

ของที่นำมาจัดชุด ควรเป็นประเภทของใช้ส่วนตัว
เช่น กระดาษทิชชู่ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำปานะ(น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้) ผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้า หรือของใช้ที่เห็นตามสมควร
ซึ่งพระท่านส่วนมากจะเป็นพระมาจากต่างจังหวัด จึงยังขาดของใช้ส่วนตัวและของที่ใช้แล้วหมดไปอยู่มาก

สำหรับท่านที่ต้องการบริจาคปัจจัย สามารถจัดใส่ซองและนำมาร่วมกันถวายพระทีละรูปได้
หรือจะนำปัจจัยไปทำบุญให้กับรพ.สงฆ์เพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทางรพ.ยังมีความต้องการอยู่มาก

ถ้าท่านใดไม่ว่างไม่สามารถมาร่วมได้ จะโอนเงินเพื่อให้ทางทีมงานซื้อของทำบุญก็ได้

ผู้ใดสนใจ กรุณาติดต่อได้ที่ ๐-๓๕๓๒-๓๖๖๓ หรือที่เมล์ luukpamol@hotmail.com target=_blank>luukpamol@hotmail.com

### มาร่วมกันเป็นใบไม้แห่งบุญ ร่วมมือกันช่วยทำบุญแก่พระอาพาธ ร่มเงาจะได้แก่พระทุกรูป ###

จากใบไม้อีกหนึ่งใบ ทีมงาน ต้นธรรม //spaces.msn.com/members/dhammatree/




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2548 10:45:37 น.
Counter : 2252 Pageviews.  

สมเด็จพระญาณสังวร - ความตาย




แทบทุกคนเคยได้รับรู้ความหมายของข้อความข้างต้นกันอยู่แลเว แทบทุกคนเคยพูดออกจากปากคนเองมาแล้ว แม้จะไม่ตรรงเป็นคำ ๆ แต่ก็มีความหมายตรงกันกับจ้อความข้างต้นนี้ ท้งยังเป็นการพูดชนิดที่เรียกว่าติดปากอีกด้วย คือพูดอยู่เสมอ ได้รู้ได้เห็นการคายของผู้ใดทีไรก็มักจะอ



ความตาย


สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร


แสดงทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗



“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต

ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย

ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า”





แทบทุกคนเคยได้รับรู้ความหมายของข้อความข้างต้นกันอยู่แล้ว แทบทุกคนเคยพูดออกจากปากตนเองมาแล้ว แม้จะไม่ตรงเป็นคำ ๆ แต่ก็มีความหมายตรงกันกับข้อความข้างต้นนี้ ทั้งยังเป็นการพูดชนิดที่เรียกว่าติดปากอีกด้วย คือพูดอยู่เสมอ ได้รู้ได้เห็นการตายของผู้ใดทีไรก็มักจะอุทานเป็นการปลงด้วยความหมายดังกล่าวแทบทั้งนั้น นี่เป็นเพราะทุกคนมีความรู้อยู่แก่ใจว่า ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะหนีความตายไปพ้น นับว่าทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่งที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่ แต่แทบทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่ไม่เห็นค่าไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้ จึงมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย จึงรู้เหมือนไม่รู้ สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์จึงเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า


ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นสิ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้นี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามารถทำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ใดอาจเปรียบปรานได้ เพื่อเสริมส่งความรู้นี้ให้บังเกิดคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ท่านจึงสอนให้หัดตายเสียก่อนถึงเวลาตายจริง ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ อย่างน้อยก็ควรวันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ ๕ นาที ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อย


การหัดตายนั้นบางคนบางพวกน่าจะเริ่มต้นด้วยหัดคิดถึงสภาพเมื่อคนกำลังถูกประหัตประหารให้ถึงตาย คิดให้ลึกซึ้งถึงความกลัวตายของตนในขณะนั้น แล้วก็คิดจนถึงเมื่อต้องถูกประหัตประหารถึงตายจนได้ แม้จะกลัวแสนกลัว แม้จะพยายามกระเสือกกระสนช่วยตนเองให้รอดพ้นอย่างไร ก็หารอดพ้นไม่ ต้องตายด้วยความทรมานทั้งกายทั้งใจ


การหัดตายเริ่มตั้งแต่ความกลัวตายแบบทารุณโหดร้ายเช่นนี้ มีคุณเป็นพิเศษแก่จิตใจ จักสามารถอบรมบ่มนิสัย ที่แม้เหี้ยมโหดอำมหิตปราศจากเมตตากรุณาต่อชีวิตร่างกายผู้อื่น ให้เปลี่ยนแปลงได้ ความคิดที่จะประหัตประหารเขาเพื่อผลได้ของตนจักเกิดได้ยาก หรือจักเกิดไม่ได้เลย เพราะการพยายามหัดให้รู้สึกหวาดกลัวการถูกประหัตประหารผลาญชีวิตนั้น เมื่อทำเสมอ ๆ ก็จะเป็นผลเป็นความเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นที่ต้องหวาดกลัวเช่นเดียวกัน ความเมตตาปรานีชีวิตผู้อื่นสัตว์อื่นจะเกิดได้ แม้จะไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งก็เป็นการเมตตาปราณีชีวิตตนเองไปพร้อมกันด้วยอย่างแน่นอน ผู้ประหัตประหารเขา แม้จะได้สิ่งที่มุ่งได้ แต่ผลที่แท้จริงอันจะเกิดจากกรรมคือการประหัตประหารที่ได้ประกอบกระทำลงไปนั้น จักเป็นทุกข์โทษแก่ผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อนัก เหมือนผลของยาพิษร้าย กรรมนั้นเมื่อทำแล้วก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าไปแล้ว จักไม่เกิดผลแก่ชีวิตและร่างกายย่อมไม่มี ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นกรรมดีก็จักให้ผลดี ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จักให้ผลชั่ว เราเป็นพุทธศาสนิก นับถือพระพุทธศาสนา พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจังถูกต้องในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมเถิด จักเป็นศิริมงคล เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง


ยุคสมัยน้น่าจะง่ายพอสมควรสำหรับนึกให้กลัวการถูกประหัตประหารถึงชีวิต เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ไม่ว่างเว้น อาจจะเกิดแก่เราเองวินาทีหนึ่งวินาทีใดก็ได้ หัดคิดไว้ก่อนจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ไม่ปราศจากเหตุผล แต่เป็นการไม่ประมาท ความตายเกิดขึ้นได้แก่ทุกคนทุกหนทุกแห่งทุกเวลา พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า “เมื่อสัตว์จะตายไม่มีผู้ป้องกัน” และ “จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางสมุทร เข้าไปสู่หลืบเขา ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้ ประเทศคือดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่ ไม่มี” เพราะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไรที่ไหนเราไม่รู้ หายใจออกครั้งนี้แล้ว เราอาจไม่ได้หายใจเข้าไปอีก เมื่อถึงเวลาจะต้องตาย ไม่มีผู้ใดจะผัดเพี้ยนได้ ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ เพราะ “เมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน” และ “ความผัดเพี้ยนกับมฤตยูอันมีกองทัพใหญ่นั้นไม่ได้เลย” ทุกก้าวย่างของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่แห่งหนตำบลใด จึงทำไมถึงมือมฤตยูได้ ผู้ร้ายก็เคยตกอยู่ในมือ ทั้งที่ถุงใส่เงินแสนเงินล้านที่ไปปล้นจี้เขายังอยู่ในมือ ไม่ทันได้ใช้ได้เก็บเข้าบัญชี สะสมเพื่อความสมปรารถนาของตน นักการเมืองไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ก็เคยตกอยู่มในมือมฤตยูในขณะกำลังเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ใช้หัวคิดทุ่มเทเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตน ผู้ที่ใช้กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขกับครอบครัว เคี้ยวข้าวอยู่ในปากแท้ ๆ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ผู้เหินฟ้าอยู่บนเครื่องบินใหญ่โตมโหฬารราวกับตึก ก็เคยอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่คาดคิด ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรใหญ่ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูพร้อมกันมากมายหลายสิบชีวิต นักไต่เขาผู้ที่เคยหายสาบสูญในขณะที่กำลังไต่เขาโดยตกเข้าไปอยู่ในมือมฤตยู ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันสัจจะแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกมาแสดงแล้วทั้งสิ้น


ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา คือผู้มีปัญญษท่านจตึงสอนให้แร่งอบรมมรณสตินึกถึงความตายหัดตายก่อนตายจริง จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตายก็คือเพื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อยกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหดตาย สิ่งอันเป็นเหตุให้โลภให้โกรธให้หลงให้เกิดตัณหาอุปาทาน หัดละเสียเสียปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย ซึ่งจะมาถึงเราทุกเข้าจริงได้ทุกวินาที


บางทีจะมีปัญหาว่า มีคุณพิเศษอย่างใดหรือ ที่จะควรละหรือเพียงหีดละความโลภความโกรธความหลงตัณหาอุปาทานตั้งแต่ก่อนตาย หรือจะไม่พูดถึงจุดประเสริฐสูงสุดในพุทธศาสนาคือมรรคผลนิพพาน อันจะเกิดได้เพราะการละกิเลสสำคัญคือสามกองเท่านั้น แต่จะพูดถึงผลได้ผลเสียธรรมดา ๆ ที่แท้พิจารณาเพียงสมควรก็จะเข้าใจ อันความโลภความโกรธความหลงตัณหาอุปาทานนั้น บางครั้งบางคราวก็ทำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลายได้รับวัตถุตอบสนองสมปรารถนา เช่น ผู้มีความโลภอยากได้ข้าวของทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น บางครั้งบางคราวก็อาจขอเขาโกงเขาลักขโมยเขา ได้สิ่งที่โลภอยากได้เป็นของตนสมปรารถนา หรือผู้มีความโกรธ อยากว่าเขาอยากทำร้ายร่างกายเขา บางครั้งบางคราวก็อาจทำได้สำเร็จสมใจ แต่ถ้าตกอยู่ในมือมฤตยูแล้ว เป็นคนตายแล้ว แม้ยังมีความโลภความโกรธความหลงตัณหาอุปาทานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ ผู้ที่ตายแล้วจะไม่สามารถใช้กิเลสกองหนึ่งกองใดให้เกิดผลตอบสนองความปีรารถนาต้องการได้เลย ผู้ตายแล้วที่มีความโลภก็ไม่อาจขอเขาลักขโมยเขาได้ หรือผู้ตายแล้วที่มีความโกรธก็ไม่อาจว่าเขาทำร้ายร่างกายเขาได้ กล่าวได้ว่าแม้ใจของผู้ที่ตายแล้วจะยังมีความโลภความโกรธความหลงตัณหาอุปาทานอยู่มากมายเพียงไร ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีอันเป็นคุณแก่ตนหรือแก่ผู้ใดได้เลย มีแต่ผลร้ายอันเป็นโทษสถานเดียวจริง


ปัญหาสืบเนื่องว่าไฉนเมื่อกิเลสเป็นคุณแก่ผู้ตายแล้วไม่ได้จังเป็นโทษแก่ผู้ตายได้นั้น มีคำตอบดังนี้ เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีกแล้ว สิ่งที่เป็นนามแลไม่เห็นด้วยสายตาเช่นเดียวกับลมหายใจคือจิตก็จะออกจากร่างนั้นด้วย จิตจะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม คือพร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ที่มีอยู่ในจิตขณะยังอยู่ในร่าง คือยังเป็นจิตของคนเป็น ของคนยังไม่ตาย


พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “ผู้ละโลกนี้ไปขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้” กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสเป็นจิตที่เศร้าหมอง กิเลสมากจิตก็เศร้าหมองมาก กิเลสน้อยจิตก็เศร้าหมองน้อย จิตที่มีกิเลสเศร้าหมองเมื่อละจากจ่าง ไปสู่ภพภูมิใด ก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี มากน้อยหนักเบาตายกิเลสตามความเศร้าหมองของจิต


อันคำว่า “จิตเศร้าหมอง” ที่ท่านใช้ในที่นี้มิได้หมายความเพียงว่าเป็นจิตที่หดหู่อยู่ด้วยความเศร้าโศกเสียใจเท่านั้น แต่ “จิตเศร้าหมอง” หมายถึงจิตที่ไม่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว คือเศร้าหมองด้วยกิเลส ดังกล่าวแล้วว่า จิตมีกิเลสมากก็เศร้าหมองมาก จิตที่มีกิเลสน้อยก็เศร้าหมองน้อย


อันกิเลสกองหลังหรือโมหะนั้นเป็นกองใหญ่กองสำคัญ เป็นเหตุแห่งโลภะและโทสะ ความหลงหรือโมหะนั้นคือความรู้สึกที่ไม่ถูกความรู้สึกที่ไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่ควร คนมีโมหะคือคนหลง ผู้มีความรู้สึกไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรทั้งหลายคือคนมีโมหะ คือคนหลง เช่นหลงตน หลงคน หลงอำนาจ เป็นต้น


คนหลงตนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในตนเอง คนหลงตนจะมีความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่มีความดีความสามารถความวิเศษเหนือใครทั้งหลายเกิดความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกในตนเองที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร โลภะและโทสะก็จักเกิดตามมาโดยไม่ยาก เมื่อหลงจนว่าดีวิเศษเหนือคนทั้งหลาย ความโลภเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งอันควรแก่ความดีความวิเศษย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษน้นถูกเปรียบหรือถูกลบล้างย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษนั้นถูกเปรียบหรือถูกลบล้างย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นี้เป็นตัวอย่าง


คนหลงคนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในคนทั้งหลาย คนหลงจะมีความรู้สึกว่าคนนั้นคนนี้ที่ตนหลงมีความสำคัญมีความดีความวิเศษเหนือคนอื่นเกิดความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกในคนนั้น ๆ ที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร เมื่อมีความรู้สึกนี้อันเป็นโมหะ โลภะและโทสะก็จักเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงคนใดคนหนึ่งว่ามีความสำคัญความดีความวิเศษเหนือคนอื่น ความรู้สึกมุ่งหวังเกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งนั้นเป็นโลภะ และเมื่อมีความหวังก็ต้องมีได้ทั้งความสมหวังและความผิดหวังเป็นธรรมดา ความรู้สึกผิดหวังนั้นเป็นโทสะ นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความหลงคือหลงคน


คนหลงอำนาจเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในอำนาจที่ตนมี คนหลงอำนาจจะมีความรู้สึกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่นั้นยิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลายเกิดความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร เมื่อมีความรู้สึกนี้อันเป็นโมหะโลภะและโทสะก็จักเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงอำนาจของตนว่ายิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลาย ย่อมเกิดความเหิมเห่อทะเยอทะยานในการใช้อำนาจนั้นให้เกิดผลเสริมอำนาจของตนยิ่ง ๆ ขึ้น ความรู้สึกนี้จัดเป็นโลภะก็ได้ และแม้ไม่เป็นไปดังความเหิมเห่อทะเยอทะยาน ความผิดหวังนั้นจักเป็นโทสะ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความหลงคือหลงอำนาจ


ผู้มีโมหะมากคือมีความหลงมาก มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรมากในตน ในคน ในอำนาจ ย่อมปฏิบัติผิดได้มาก ก่อทุกข์โทษภัยให้เกิดขึ้นได้มาก ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งแก่ส่วนน้อยและส่วนใหญ่ รวมถึงแก่ประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ พระพุทธดำรัสที่ว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้” นั้น มีตัวอย่างที่จักยกขึ้นประกอบการพิจารณาให้เข้าใจพอสมควร ดังนี้


บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก จิตเศร้าหมองมากจะเป็นผู้ขาดความอ่อนน้อม แม้แต่ต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง บุคคลเหล่านี้เมื่อละโลกนี้ไปขณะที่ยังมิได้ละกิเลสคือโมหะได้น้อย จิตย่อมเศร้าหมอง ย่อมไปสู่ทุคติ ทุคติของผู้หลงตนจนไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง จักเกิดในตระกูลที่ต่ำ ตรงกันข้ามกับผู้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมที่จะไปสู่สุคติ คือจักเกิดในตระกูลที่สูง นี้เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งชัดแจ้งเกี่ยวกับกรรมและการให้ผลของกรรม ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจกได้ชั่ว ทำเช่นใดจักได้เช่นนั้น ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมเป็นกรรมไม่ดี การเกิดในตระกูลที่ต่ำเป็นผลของกรรมไม่ดี เป็นผลที่ตรงตามเหตุแท้จริง เพราะผู้เกิดในตระกูลที่ต่ำปกติย่อมไม่ได้รับความอ่อนน้อมจากคนทั้งหลาย ส่วนผู้เกิดในตระกูลที่สูงปกติย่อมได้รับความอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมที่ผู้เกิดในตระกูลสูงมีปกติได้รับนั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุอันเป็นกรรมดี คือความอ่อนน้อม


ที่กล่าวมาแล้วเป็นการยืนยัน ว่าผู้มีปัญญาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา หัดตายก่อนที่จะตายจริง หัดปล่อยใจจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจพร้อมกบการหัดตายก่อนที่จะถูกความตายมาบังคับให้เป็นไป การหัดตายที่ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาท่านแนะนำคือการหัดอบรมความคิดสมมติว่า ตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ตายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริง ๆ ทั้งหลาย คิดให้เห็นชัดในขณะนั้น ว่าเมื่อตายแล้วตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะหยุดนิ่ง อย่าว่าแต่จะลุกขึ้นไปเก็บรวบรวมเงินทองข้าวของที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วยเลย จะเขยิบให้พ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบก็ทำไม่ได้ หมดลมที่ตรงไหนก็จะเคลื่อนพ้นที่ตรงนั้นไปด้วยตนเองไม่ได้ เมื่อมีผู้มายกไปนำไปยังที่ซึ่งเขากำหนดว่าเหมาะว่าควร ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้ แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหนเขาก็จะไม่ให้อยู่ จะยกไปวัด เคยนอนบนฟูกบนเตียงในห้องกว้าง ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง เขาก็จับใส่ลงไปในโลงศพที่แคบอับทึบ ไม่มีประตูไม่มีหน้าต่าง ตีตะปูปิดสนิทแน่น ไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้อนวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ สามีภรรยามารดาบิดาบุตรธิดาญาติสนิทมิตรทั้งหลายที่เคยรักห่วงใยกันนักหนาก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลข แม้แต่จะนั่งเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืนยังไม่มีใครยอม บ้านใครเรือนใครก็พากันกลับไปหมดทิ้งเราไว้แต่ลำพัง ในวัดที่อ้างว้าง มีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพ มีเชิงตะกอน มีศพที่เผาเป็นเถ้าถ่านแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้าง มากมายหลายศพ ที่นี่เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัว เคยรังเกียจ แต่เมื่อตาย เราก็หนีไม่พ้น เรามีอะไรหรือในขณะนั้น เราไม่มีเลย มือเปล่า เกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว เงินสักบาททองสักเท่าหนวดกุ้งก็ไม่มีติดตัวแท้ ๆ เขาไม่ได้แต่งเครื่องเพชรเครื่องทองของมีค่า หรือมอบกระเป๋าใส่เงินใส่ทองให้เลย ยังดีเราก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่แต่ศพให้ไปเท่านั้น ซึ่งไม่กี่วันก็จะชุ่มเลือดชุ่มน้ำเหลืองที่ไหลจากตัว มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ให้ ทั้ง ๆ ที่ก็สะสมไว้มากมายหลายชุดที่ล้วนเป็นที่ชอบอกชอบใจว่าสวยว่างาม โอกาสที่จะได้ใช้เงินใช้เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องเพชรเครื่องทองเหล่านั้นสิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับลมหายใจ พร้อมกับชีวิตที่สิ้นสุดนั้นเอง ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากแสวงหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่คุ้มกันเลยกับที่ถ้าจะต้องแสดงหามาสะสมโดยไม่ถูกไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ที่เป็นบาทเป็นอกุศล เป็นการเบียดเบียนก่อทุกข์ก่อภัยให้ผู้อื่น


หัดนึกถึงร่างของคนเองที่ตายแล้ว ขึ้นอืดอยู่ในโลง เริ่มปริเริ่มแตกมีน้ำเลือดน้ำหนองไหลออกจากทุกขมขน เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดด้วยหนอง ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก นัยน์ตาถลนเหลือกลาน รูปร่างหน้าตาตนเองขณะนั้น อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้แต่ตัวเองก็จำไม่ได้ อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจสะดุ้งกลัวเลย แม้แต่ตัวเองก็ยากจักห้ามความรู้สึกนั้น ผิวพรรณที่อุตสาหะพยายามถนอมรักษาให้งดงามเจริญตาเจริญใจ ด้วยหยูกยาเครื่องอบเครื่องลูบไล้เครื่องประทินอันมีกลิ่นมีคุณค่าราคาแพงทั้งหลาย มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเขิง เมื่อความตายมาถึง


เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาหวงแหนทะนุบำรุงร่างของตนเองไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่แสดงหาไว้ระหว่างมีชีวิตอยู่ตนเต็มสติปัญญาความสามารถด้วยเหล่ห์ด้วยกลก็ตาม เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงร่างของตน ก็ติดกับร่างไปไม่ได้เลย เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า “ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้” ให้ความสุขความสมบูรณ์ความสะดวกสบายความปกป้องคุ้มกันร่างของคนตายไม่ได้ ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพังเน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม เป็นดินน้ำไฟลมประจำโลกต่อไป ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า “สัตว์ทั้งปวงจักทอดทิ้งร่างไว้ในโลก”


ผู้มีความข้าใจว่าตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้ว จึงไม่มีความหมาย นี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั่นเป็นนี่กันในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สุขรู้ทุกข์ ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีขาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ได้เคยเกิดขึ้นชาติอื่นมาแล้ว และจะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้ แต่ทั้งที่เชื่อเช่นนี้ก็ยังมีเป็นอันมากที่มีโมหะ หลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งดังกล่าวแล้ว ว่าจบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว เราก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาติต่อไป พราะฉะนั้นก็สำคัญที่ต้องแสดงหาความสุขความสมบูรณ์ให้ตนเองให้เต็มที่ในชาตินี้ ผู้ใดมีโมหะหลงคิดผิดเช่นนี้ ผู้นั้นก็จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนทำลายเขาแม้กระทั่งถึงชีวิต ก็ทำได้ เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองอย่างแน่นอน และจะต้องเสวยผลเสวยทุกขเวทนาทั้งในโลกนี้และเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ตามกรรมของตน ต้องตามพุทธภาษิตที่ว่า “กรรมของตนเองย่อมนำไปสู่ทุกคติ”


ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนก พึงมีปัญญาขยายความนี้ให้ดีว่าเพ่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากทุสุดเท่าที่จะมากได้ ชีวิตนี้น้อยนักก็คือชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนานมิอาจประมาณได้ ฉะนั้นแม้รักตนจริงก็ควรรักให้ตลอดไป ถึงชีวิตชาติข้างหน้าด้วย ไม่ใช่คิดเพียงสั้น ๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น หาแต่ความสมบูรณ์พูลสุขให้ชีวิตนี้ในขอบเขตที่ถูกทำนองคลองธรรมเถิด ผลแห่งกรรม ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ต่อ ๆ ไป ที่จะต้องเสวยจะได้ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม


ชีวิตใครใครก็รัก ชีวิตเราเราก็รัก ชีวิตเขาเขาก็รัก ความตายเราก็กลัว ความตายเขาก็กลัว ของของใครใครก็หวง ของเราเราหวง ของเขาเขาก็หวง จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายใครสักคนขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา เราเป็นเขา คือเขาเป็นผู้ที่ลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายเรา เราเป็นผู้จะถูกลักถูกโกงถูกฆ่าถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเราจะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้นจะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้นน่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวผู้แม้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้วแต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่ก็น่าสงสารอย่างที่สุด พบข่าวเหล่านี้เมื่อไรขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย ทุกคนจะต้องตายและจะตายในเวลาไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่ชั่วช้าโหดร้ายเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ตนเองทุกข์เพราะความอยากได้ แล้วก็แผ่ความทุกข์เดือดร้อนไปถึงคนอื่นอย่างน่าเอนจอนาถ ขอแนะนำว่าถ้าทุกข์ถ้าร้อนเพราะความอยากได้ไม่มีสิ้นสุด จะไม่สามารถดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีลักขโมยคดโกงหรือประหัตประหารผู้ใด แต่จะดับทุกข์นั้นได้ด้วยทำกิเลสให้หมดจดเท่านั้น และขออำนวยพร.



คัดลอกจาก หนังสือเรื่อง มรณสติ พุทธวิธีต้อนรับความตาย ด้วยสติและปัญญา หน้า ๑ - ๗


<




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2548    
Last Update : 7 ตุลาคม 2548 10:11:21 น.
Counter : 503 Pageviews.  

๓ เดือนก่อนปรินิพพาน

แล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณฑุคาม และโภคนคร ตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนาอันเป็นไปเพื่อโลกุตตราริยธรรมกล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทรรศนะเป็นต้นว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจ ย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อยปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิคือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบเหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลม แดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลมแดดและฝน กล่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยี และเชือดเฉือนกิเลสอาสวะต่าง ๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ

“อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติ ที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องฟอกจิตให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิ และปัญญาย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะย่อมพบกับปิติปราโมทย์อันใหญ่หลวงรู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ อิ่มอาบซาบซ่านด้วยธรรม ตนของตนเองนั่นแลเป็นผู้รู้ว่า บัดนี้กิเลสานุสัยต่าง ๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด
ย่อมรู้ด้วยตนเองว่าบัดนี้แขนของตนได้ขาดแล้ว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปด ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคะ คือการปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐสุด บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์แปดนี่แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ความเพียรพยายามเธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้นเมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ทางสองสายคือกามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขสายหนึ่ง และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบากเปล่าสายหนึ่ง อันผู้หวังความเจริญในธรรมพึงละเว้นเสีย ควรเดินตามทางสายกลาง คือเดินตาม อริยมรรคมีองค์แปด คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเลี้ยงชีพชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติขอบและการทำสมาธิชอบ

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ความทุกข์เป็นความจริงประการหนึ่งที่ชีวิตทุกชีวิตจะต้องประสบไม่มากก็น้อย ความทุกข์ที่กล่าวนี้มีอะไรบ้าง? ภิกษุทั้งหลาย! ความเกิดเป็นความทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เป็นความทุกข์ ความแห้งใจ หรือความโศก ความพิไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคล หรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรมิได้ดังใจหมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุป การยึดมั่นในขันธ์ห้า ด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเอง เป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตกล่าวว่า ความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรนซึ่งมีลักษณ์เป็นสาม คือ ดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนาเรียกกามตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกภวตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นแล้วเรียกวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งความทุกข์ขั้นมูลฐาน ภิกษุทั้งหลาย! การสลัดทิ้งโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่าง ๆ ดับตัณหาคลายตัณหาโดยสิ้นเชิงนั่นแลเราเรียกว่านิโรธ คือความดับทุกข์ได้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! กามคุณนี้เรากล่าวว่าเป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นกำลังพลแห่งมาร ภิกษุผู้ปรารถนาจะประหารมาร พึงสลัดเหยื่อแห่งมาร ขยี้พวงดอกไม้แห่งมารและทำลายกำลังพลแห่งมารเสีย ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยเยาะเย้ยกามคุณ ณ โพธิมณฑลในวันที่เราตรัสรู้นั้นเองว่า ดูก่อนกาม! เราได้เห็นต้นเค้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดความดำริคำนึงถึงนั้นเอง เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก ด้วยประการฉะนี้ กามเอ๋ย! เจ้าจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามได้ยาก ผู้มีปัญญาพึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน ให้เป็นจิตตรงเหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย! จิตนี้คอยแต่จะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณเหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้วคอยแต่จะดิ้นรนไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาพึงพยายามยกจิตขึ้นจากการอาลัยในกามคุณให้ละบ่วงมารเสีย

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งดิ้นรนกลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอจงเอาสติเป็นขอสำหรับเหนี่ยวรั้งช้าง คือจิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ บุคคลผู้มีอำนาจมากที่สุดและควรแก่การสรรเสริญนั้นคือผู้ที่สามารถเอาตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้ ผู้ชนะตนได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอทั้งหลายจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมคือนินทาสรรเสริญนั้น เป็นจิตใจที่ประเสริฐยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย! ในหมู่มนุษย์นี้ ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ผู้อดทนต่อคำกล่าวล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทนมีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถปิดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวลมีศีลและสมาธิเป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย! เมตตากรุณาเป็นพรอันประเสริฐในตัวมนุษย์

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสน และจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่งชีวิตนี้เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรก เราร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีกหรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อ จะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้นทุกคนแบมือออกเหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่า เขามิได้เอาอะไรไปด้วยเลย

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจนั้นเป็นเรื่องทรมานยิ่งและเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพราก ก็เป็นสิ่งสุดวิสัย ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ความรักเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณและเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้วยิ่งเป็นพิษแก่จิตใจทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้น เหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง เธอทั้งหลายอย่าพอใจในความรักเลย เมื่อหัวใจยึดไว้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่

“กรภิกษุทั้งหลาย! ธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใดภาวะใด การกระทำที่นึกขึ้นภายหลังแล้วต้องเสียใจนั้นควรเว้นเสีย เพราะฉะนั้นแม้จะประสบความทุกข์ยากลำบากสักปานใด ก็ต้องไม่ทิ้งธรรม มนุษย์ที่ยังมีอาสวะอยู่ในใจนั้นย่อมจะมีวันพลั้งเผลอประพฤติผิดธรรมไปบ้างเพราะยังมีสติไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อได้สติภายหลังแล้วก็ต้องตั้งใจประพฤติธรรมสั่งสมความดีกันใหม่ ยิ่งพวกเรานักบวชด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอุดมคติ การตายด้วยอุดมคตินั้นมีค่ากว่าการเป็นอยู่โดยไร้อุดมคติ

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! อายะสัมปทา หรือทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์หก กล่าวคือ ๑. ก่อนให้ ผู้ให้ก็มีใจก็ผ่องใส ชื่นบาน ๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส ๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย ๔. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ ๕. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ ๖. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ประกอบด้วยองค์หกนี้แล เป็นการหายากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณ เหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดได้โดยยาก ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นนี้ เข้าไปหาตถาคตและถามว่าบุคคลควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่าควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใดก็ควรให้แก่บุคคลนั้นในคณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่า ให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่าถ้าต้องการผลมากแล้วละก็ควรจะให้ทานในท่านผู้มีศีล การให้แก่บุคคลผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่ สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา เจตนาและไทยทานของทายก เปรียบเหมือนเมล็ดพืช ถ้าเนื้อนาดีคือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรมและประกอบด้วยเมล็ดพืชคือเจตนาและไทยทานของทายก บริสุทธิ์ทานนั้นย่อมมีผลมาก การหว่านลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝก และหญ้าคา ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อย มีธรรมน้อยก็ฉันนั้น คือย่อมได้บุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลดี มีธรรมงามย่อมจะมีผลมากเป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้ เพราะฉะนั้นบุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผลหยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใดการสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปร้ไปด้วยบาป

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! อริยะมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางอันประเสริฐ สามารถทำให้บุคคลเดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่เป็นทางเดินไปสู่อมตะ

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ถ้าภิกษุหรือใคร ๆ ก็ตาม พึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดเคารพหนักแน่นในพระศาสดาและพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเรื่องเผาบาป เคารพในไตรสิกขาและเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ตราบใดที่พวกเธอยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม เคารพในสิกขาบทบัญญัติ ยำเกรงภิกษุผู้เป็นสังฆเถระสังฆบิดร ไม่ยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่า ปรารถนาให้เพื่อนพรหมจารีย์มาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข ตราบนั้นพวกเธอจะไม่เสื่อมเลย มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ตราบใดที่พวกเธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ตราบนั้นพวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไม่ทำตาม เหมือนดอกไม้ที่มีสีสวย สัณฐานดีแต่หากลิ่นมิได้ แต่วาจาสุภาษิตจะมีประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ทำตามเหมือนดอกไม้ที่มีสีสวยมีสัณฐานงามและมีกลิ่นหอม ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เรากล่าวดีแล้วนั้น ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์ไพศาลแก่ผู้ไม่ทำตามโดยเคารพ แต่จะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาลแก่ผู้ซึ่งกระทำโดยนัยตรงกันข้าม มีการฟังโดยเคารพ เป็นต้น

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า “มาเถิดอานนท์! เราจักไปกุสินารานครด้วยกัน” พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบพร้อมกันแล้วเดินจากสถานที่นั้นมุ่งสู่กุสินารานคร ในระหว่างทางทรงเหน็ดเหนื่อยมากจึงแวะเข้าร่มพฤกษ์ใบหนาต้นหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิทำเป็นสี่ชั้น “อานนท์! เราเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน อาพาธก็มีอาการรุนแรงขึ้น เร็วเข้าเถิดรีบปูลาดสังฆาฏิลง เราจะนอนพักผ่อนและขอให้เธอไปนำน้ำมาดื่มพอแก้กระหาย” “พระเจ้าข้า” พระอานนท์ทูล “เกวียนเป็นจำนวนมากเพิ่งผ่านพ้นลำน้ำไปสักครู่นี้เอง น้ำยังขุ่นอยู่ไม่สมควรที่พระองค์จะดื่ม ขอพระองค์ไปดื่ม ณ แม่น้ำกกุธานทีเถิด มีน้ำใสจืดสนิทเย็นดี” “อย่าเลย อานนท์” พระคถาคต ตรัสเป็นเชิงวิงวอน “อย่าคอยจนไปถึงแม่น้ำกกุธานทีเลย เรากระหายเหลือเกิน ร่างกายร้อนคอแห้งผาก เธอจงรีบไปนำน้ำมาเถิด” พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว ถือบาตรของพระตถาคตเจ้าไป ท่านมีอาการเศร้าซึมและวิตกกังวล เมื่อมาถึงริมแม่น้ำยังมองเห็นน้ำขุ่นอยู่ ท่านมีอาการเหมือนว่าจะเดินกลับ แต่ด้วยความเชื่อและห่วงใยในพระศาสดาจึงเดินลงไปอีก พอท่านทำท่าจะตักน้ำขึ้นมาเท่านั้นน้ำซึ่งมีสีขุ่นขาวเพราะรอยเกวียนและโค ก็ปรากฏเป็นน้ำใสสะอาดเหมือนกระจกเงา ท่านจึงตักน้ำนั้นมา แล้วรีบกลับน้อมบาตรน้ำเข้าไปถวายพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงดื่มด้วยความกระหาย พระอานนท์มองดูด้วยความชื่นชมในพุทธบารมีแล้วทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า อัศจรรย์จริง! สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยปรากฏ ได้มีได้ปรากฏแล้วเป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ เป็นบารมีธรรมสั่งสมแท้” แล้วท่านก็เล่าเรื่องน้ำที่ขุ่นกลับใสสะอาดโดยฉับพลันให้พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับ พระจอมมุนีทรงประทับสงบนิ่งด้วยอาการแห่งผู้เจนจบและเข้าใจในความเป็นไปทั้งปวง

ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย เมื่อพระองค์ผ่านมาทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรแห่งนายช่างทอง นายจุนทะทูลอาราธนาพระพุทธองค์รับภัตตาหาร ณ บ้านแห่งตน แล้วจัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต รุ่งขึ้นได้เวลาแล้วอาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เพื่อเสวย พระพุทธองค์ทอดทัศนาการเห็นสูกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยากจึงรับสั่งให้ถวายแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียวมิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย ดูเถิด! พระมหากรุณาแห่งพระองค์มีถึงปานนี้ สำหรับพระองค์นั้นมิได้ห่วงใยในชีวิตอีกแล้วเพราะถึงอย่างไรก็ต้องนิพพานในคืนวันนี้แน่นอน ทรงเป็นห่วงภิกษุสาวกจะลำบากถ้าฉันอาหารที่ย่อยยากชนิดนั้นประหนึ่งมารดาหรือบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมในบุตรของตนทราบว่าอะไรจะทำให้บุตรธิดาลำบาก ย่อมพร้อมที่จะรับความลำบากอันนั้นเสียเอง สูกรมัทวะให้ผลในทันที อาการประชวรของพระองค์ทรุดหนักลงอย่างน่าวิตก มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังเสด็จด้วยพระบาทเปล่าจากปาวาสู่กุสินารานครดังกล่าวแล้ว

พระองค์ต้องหยุดพักเป็นระยะ ๆ หลายครั้งก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใบหนาแห่งหนึ่ง ขณะที่พระองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่าปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตรเดินทางจากกุสินารา เพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใสจึงน้อมนำผ้าคู่งาม ซึ่งมีสีเหมือนทองสินทบเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระองค์ผืนหนึ่ง แก่พระอานนท์ผืนหนึ่ง พระอานนท์เห็นว่าผ้านั้นไม่สมควรแก่ตนจึงน้อมนำผ้านั้นเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงปราศจากควัน และเปลวพระฉวีของพระองค์เล่าก็ช่างผุดผ่องงดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใดเปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ! บัดนี้พระองค์ทรงมีพระชนม์มายุถึงแปดสิบแล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่าเวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก ร่างกายเป็นผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุใดผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก”


“อานนท์!” พระศาสดาตรัสตอบ “เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ ในคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกคราวหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงามประดุจรัศมีแห่งสุริยาเมื่อแรกรุ่นอรุณและจวนจะอัสดง ดูกรอานนท์! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนา มีดอกเป็นช่อชั้น” ตรัสดังนั้นแล้วจึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงทรงสำราญตามพระพุทธอัธยาศัยแล้วเสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตร ปูลาดสังฆาฏิเป็นสี่ชั้น แล้วบรรทมด้วยสีหะไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียร ซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้นจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์! เมื่อเรานิพพานไปแล้วอาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษจนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่าเพราะเสวยสูกรมัทวะอันตนถวาย พระตถาคตจึงนิพพาน ดูกรอานนท์! บิณฑบาตทานที่อานิสงส์มาก มีผลไพศาลมีอยู่สองคราวด้วยกันคือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่งและอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองแล้วเราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือ ดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวญวดีถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาละวโนทยานคืออุทยานซึ่งสะพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นจำนวนมาก จากสารทิศต่าง ๆ เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาลแผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุการณ์ดังนี้แล้วจึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า “อานนท์! พุทธบริษัททั้ง สี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์ เอ๋ย! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม” พระอานนท์ถอยออกจากที่เฝ้าเพราะความเศร้าสลดสุดที่จะอดกลั้นได้ ท่านไปยืนอยู่ที่สงัดเงียบแห่งหนึ่งน้ำตาไหลพรากจนอาบแก้มแล้วเสียงสะอื้นเบา ๆ ก็ตาม มาบัดนี้ท่านมีอายุอยู่ในวัยชรานับได้แปดสิบแล้วเท่ากับพระชนม์มายุของพระผู้มีพระภาคเจ้า อุปสมบทมานานถึงสี่สิบสี่พรรษา ได้ยินได้ฟังพระธรรมเทศนาอบรมจิตใจอยู่เสมอ ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต้นเป็นโสดาบันบุคคลผู้มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ถ้าไม่มีเรื่องสะเทือนใจอย่างแรงคงจะไม่เศร้าโศกปริเวทนาการถึงเพียงนี้

ท่านสะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งองค์บางคราวจะมองเห็นผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกายสั่นน้อย ๆ ตามแรงสั่นแห่งรูปกาย แน่นอนท่านรู้สึกสะเทือนใจและว้าเหว่อย่างยิ่ง เป็นเวลานานเหลือเกินที่ท่านรับใช้พระศาสดา ได้ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐากและเอื้อเฟื้อต่อกันการจากไปของพระผู้มีพระภาคจึงเป็นเสมือนกระชากดวงใจของท่านให้หลุดลอย

“โอ! พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลกและของข้าพระองค์” เสียงคร่ำครวญออกมากับเสียงสะอื้น “ตั้งแต่บัดนี้ไป
ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดุจห้วงมหรรณพมาด่วนจากข้าพระองค์ ทั้ง ๆ ที่ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่ เหมือนพี่เลี้ยงสอนให้เด็กเดินเมื่อเด็กน้อยพอจะหัดก้าวเท่านั้น พี่เลี้ยงก็มีอันพลัดพรากจากไป ข้าพระองค์เหมือนเด็กน้อยผู้นั้น” พระอานนท์คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

เมื่อพระอานนท์หายไปนานผิดปกติ พระศาสดาจึงตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์หายไปไหน?” “ไปยืนร้องไห้อยู่โคนต้นไม้โน้น พระเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลายทูล “ไปตามอานนท์มานี่เถิด พระศาสดา” ตรัสสั่ง “อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด”

“ข้าแต่ท่านสมณะ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาสามข้อ คือ รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่ สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่?”

“สุภัททะ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์แปดสมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ?”

“มีเท่านี้พระเจ้าข้า” สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่

พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า “สุภัททะ! ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูกรสุภัททะ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูกรสุภัททะ! ถ้าภิกษุหรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ “

สุภัททะฟังพระพุทธดำรัสนี้แล้วเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อนถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ติดถิยปริวาส คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจเป็นเวลาสี่เดือนก่อนแล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้”

สุภัททะทูลว่าเขาพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติภิกษุทั้งหลายสักสี่ปี พระศาสดาทรงเห็นความตั้งใจจริงของสุภัททะดังนั้นจึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วนำสุภัททะไป ณ ที่ส่วนหนึ่ง ปลงผมและหนวดแล้วบอกกรรมฐานให้ ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และศีล สำเร็จเป็นสามเณรบรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระศาสดาพระผู้ทรงมหากรุณาให้อุปสมบทแก่สุภัททะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง

สุภัททะภิกษุใหม่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะพยายามให้บรรลุพระอรหัตตผลในคืนนี้ก่อนที่พระศาสดาจะนิพพาน จึงออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง ในบริเวณอุทยานสาละวโนทยาน บัดนี้ร่างกายของ สุภัททะภิกษุห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เมื่อต้องแสงจันทร์ในราตรีนั้นดูผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่งงามอำไพ มัชฌิมยามแห่งราตรีจวนจะสิ้นอยู่แล้ว ดวงรัชนีกลมโตเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางท้องฟ้าด้านตะวันตก สุภัททะภิกษุตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะบำเพ็ญเพียรคืนนี้ตลอดราตรีเพื่อบูชาพระศาสดาผู้จะนิพพานในปลายปัจฉิมยาม ดังนั้นแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้า เมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนักเมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโฉมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบกับดวงจันทร์

“อา!” ท่านอุทานเบา ๆ “จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสมีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราวจิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง” แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปธรรมทั้งมวลที่ห่อหุ้มดวงจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่ายด้วยศาสตราคือวิปัสสนาชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสอาสวะทั้งมวล บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วลงจากที่จงกรมมาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วนิ่งอยู่ ภายใต้แสงจันทร์สีนวลยองใยนั้น

พระผู้มีพระภาคบรรทมเหยียดพระวรกายในท่าสีหะไสยา แวดล้อมด้วยพุทธบริษัทมากหลายแผ่นเป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา ประดุจดวงจันทร์ที่ถูกแวดล้อมด้วยกลุ่มเมฆก็ปานกัน พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์! เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่าบัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง”

“อานนท์เอ๋ย! พึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าธรรมวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป เธอทั้งหลายจงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่งเถิด อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

เมื่อพระอานนท์มิได้ทูลถามอะไร พระธรรมราชาจึงตรัสต่อไปว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ผู้ใดมีความสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือปฏิปทาใด ๆ ก็จงถามเสียบัดนี้ เธอทั้งหลายจะได้ไม่เสียใจภายหลังว่า มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้ว มิได้ถามข้อสงสัยแห่งตน”

ภิกษุทุกรูปเงียบกริบ บริเวณปรินิพพานมณฑลสงบเงียบไม่มีเสียงใด ๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ทุกคนปรารถนาจะฟังแต่พระพุทธดำรัสเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ พละกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว ประดุจน้ำที่เทราดลงไปในดินที่แตกระแหง ย่อมพลันเหือดแห้งหายไป มิได้ปรากฏแก่สายตา ถึงกระนั้นพระบรมโลกนาถก็ยังประทานปัจฉิมโอวาทเป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่าสิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ย่างเข้าสู่ปัจฉิมสยาม พระจันทร์โคจรไปทางขอบฟ้าทิศตะวันตก แสงโสมสาดส่องผ่านทิวไม้ลงมา ท้องฟ้าเกลี้ยงเกลาปราศจากเมฆหมอกรัชนีแจ่มจรัสดูเหมือนจะจงใจส่องแสงเปล่งปลั่งเป็นพิเศษครั้งสุดท้ายแล้วสลัวลงเล็กน้อย เหมือนจงใจอาลัยในพระศาสดาผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ พระผู้มีพระภาคมีพระกายสงบ หลับพระเนตรสนิท พระอนุรุทธเถระซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้นและได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุได้เข้าฌานตามทราบว่า พระพุทธองค์เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าสู่อรูปสมาบัติคือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ตามลำดับแล้วถอยออกมาจากสัญญาเวทยิตนิโรธ จนถึงปฐมฌานแล้วเข้าสู่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌานอีกเมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังไม่ทันเข้าสู่อากาสานัญจายตนะ พระองค์ก็ปรินิพพานในระหว่างนี้เอง

ในที่สุดแม้พระองค์ก็ต้องประสบอวสาน เหมือนคนทั้งหลาย พระธรรมที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนม์ชีพว่า สัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนั้น เป็นสัจธรรมที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เอง นึกย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบห้าปีก่อนปรินิพพาน พระองค์เป็นผู้โดดเดี่ยว เมื่อปัญจวัคคีย์ทอดทิ้งไปแล้วพระองค์ก็ไม่มีใครอีกเลย ภายใต้โพธิบัลลังก์ครั้งกระนั้น แสงสว่างแห่งการตรัสรู้ได้โชติช่วงขึ้นพร้อมด้วยแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ พระองค์มีเพียงหยาดน้ำค้างบนใบโพธิพฤกษ์เป็นเพื่อน ต้องเสด็จจากโพธิมณฑลไปพาราณสีด้วยพระบาทเปล่าถึงสิบวันเพียงเพื่อหาเพื่อนผู้รับคำแนะนำของพระองค์สักห้าคน แต่มาบัดนี้พระองค์มีภิกษุสงฆ์สาวกเป็นจำนวนแสน จำนวนล้าน มีหมู่ชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศานุทิศ เพียงเพื่อได้เข้าเฝ้าพระองค์ บุคคลทั้งหลายรู้สึกว่าการได้เห็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง เมื่อสี่สิบห้าปีมาแล้ว พระองค์ทรงมีเพียงหญ้าคามัดหนึ่งที่นายโสตถิยะนำมาถวาย และทรงทำเป็นที่รองประทับ มาบัดนี้มีเสนาสนะมากหลายที่สวยงามซึ่งมีผู้ศรัทธาสร้างอุทิศถวายพระองค์เช่น เชตะวัน เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มหาวันปุพพาราม นิโครธาราม โฆสิตาราม ฯลฯ เศรษฐี คหบดี ต่างแย่งชิงกันจองเพื่อให้พระองค์รับภัตตาหารของเขา แน่นอนทีเดียวหากพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คงจะไม่ได้รับความนิยมเลื่อมใสถึงขนาดนี้และไม่ยืนนานถึงปานนี้

เมื่อสี่สิบห้าปีมาแล้ว ภายใต้โพธิพฤกษ์อันร่มเย็นริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ได้บรรลุแล้วซึ่งกิเลสนิพพาน กำจัดกิเลสและความมืดให้หมดไป และบัดนี้ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ และความเย็นเยือกแห่งปัจฉิมยาม พระองค์ก็ดับแล้วด้วยขันธ์นิพพาน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระรูปอันวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะสามสิบสองประการ ประดับด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ มีพระธรรมกายอันสำเร็จแล้วด้วยนานาคุณรัตนะ มีศีลขันธ์อันบริสุทธิ์ ด้วยอาการทั้งปวงเป็นต้น ถึงฝั่งแห่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยยศ ด้วยบุญ ด้วยฤทธิ์ ด้วยกำลังและด้วยปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นยังต้องดับมอดลงแล้วด้วยการตกลงแห่งฝนมรณะ เหมือนกองอัคคีใหญ่ต้องดับมอดลง เพราะฝนห่าใหญ่ตกลงมาฉะนั้น

พระองค์เคยตรัสไว้ว่า “ไม่ว่าพาลหรือบัณฑิต ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร หรือจัณฑาล ในที่สุดก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนภาชนะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในที่สุดก็ต้องแตกสลายเหมือนกันหมด” นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร อันว่าความตายนี้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่นัก ไม่มีใครสามารถต้านทานต่อสู้ด้วยวิธีใด ๆ ได้เลย ก้าวเข้าไปสู่ปราสาทแห่งกษัตริยาธิราชและแม้ในวงชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสง่าผ่าเผยปราศจากความสะทกสะท้านใด ๆ เช่นเดียวกับก้าวเข้าไปสู่กระท่อมน้อยของขอทาน พระยามัจจุราชนี้เป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมยิ่งนัก ไม่เคยลำเอียงหรือกินสินบนของใครเลย ย่อมพิจาณาคดีตามบทพระอัยการและอ่านคำพิพากษาด้วยถ้อยคำอันหนักแน่นเด็ดเดี่ยว ไม่ฟังเสียงคัดค้านและขอร้องของใคร ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญอันระคนด้วยกลิ่นธูปควันเทียนนั้น ท่านได้ยื่นพระหัตถ์ออกกระชากให้ความหวังของทุกคนหลุดลอย และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามพระบัญชาของพระองค์ เมื่อมาถึงจุดนี้ ความยิ่งใหญ่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายก็จะกลายเป็นเพียงนิยายที่ไว้เล่าสู่กันฟังเท่านั้น มงกุฎประดับเพชรก็มีค่าเท่ากับหมวกฟาง พระคทาอันมีลวดลายวิจิตรก็เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า เมื่อความตายมาถึงเข้าพระราชาก็ต้องถอดมงกุฎเพชรลงวาง ทิ้งพระคทาไว้แล้วเดินเคียงคู่ไปกับชาวนาหรือขอทาน ผู้ได้ทิ้งจอบ เสียม หมวกฟาง และคันไถหรือ ภาชนะขอทานไว้ให้ทายาทของตน

พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระกายของพระองค์เหมือนของคนทั้งหลาย ซึ่งจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ความดีและเกียรติคุณของพระองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานเท่าใด ไม่อาจจะกำหนดได้ ความดีนี่เองที่เป็นสาระอันแท้จริงของชีวิต

“โอ! พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณากว้างใหญ่ดุจห้วงมหรรณพ มีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์ดุจน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ ทรงมีพระทัยหนักแน่นดุจมหิดล รับได้ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ ขวนขวายเพื่อความสงบร่มเย็นของปวงชน พระองค์เป็นผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกภายในคือดวงจิตประดุจพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลกภายนอกคือ ท้องฟ้า ปฐพี บัดนี้พระองค์ปรินิพพานเสียแล้วมองไม่เห็นแม้แต่เพียงพระสรีระซึ่งเคยรับใช้พระองค์โปรยปรายธรรมรัตน์ประหนึ่งม้าแก้วแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นพาหนะนำเจ้าของ ตรวจความสงบสุขแห่งประชากร”

“โอ! พระมหามุนีผู้เป็นจอมชน บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นประดุจนกในเวหา ไร้โพธิ์หรือไทร ที่จะจับเกาะ ประดุจเด็กน้อยผู้ขาดมารดา เหมือนเรือที่ลอยคว้างอยู่ในมหาสมุทร อ้างว้างว้าเหว่สุดประมาณ
จะหาใครเล่าผู้เสมอเสมือนพระองค์ แม้พระอานนท์พุทธอนุชาเอง ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้
เป็นเวลายี่สิบห้าปี จำเดิมแต่รับหน้าที่พุทธอุปัฏฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนเงาตามองค์
บัดนี้พระพุทธองค์เสด็จจากไปเสียแล้ว ท่านรู้สึกว้าเหว่และเงียบเหงา ไม่ได้เห็นพระองค์อีกต่อไป”

เวลายี่สิบห้าปีนานพอที่จะก่อความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อมีการพลัดพราก แต่แล้วเรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา” สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด บัดนี้พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์และกิเลสานุสัยทั้งปวง ประดุจกองไฟดับลงแล้วเพราะหมดเชื้อฉะนั้นแล ฯ




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2548 13:05:42 น.
Counter : 445 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.