Group Blog
 
All blogs
 

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 5 .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *



ตอนที่ 5 : หมวดหมู่ของเทพเจ้า

ตามจดหมายเหตุเฮโรโดตุส เรื่องเทพเจ้าของชาวอียิปต์โบราณนั้น พวกนักบวชแบ่งออกไว้เป็น 3 พวก พวกที่ 1 มี 8 องค์ พวกที่ 2 มี 12 องค์ และพวกที่ 3 มี 7 องค์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เทพเจ้าพวกที่ 1 เป็นเทพเจ้าชั้นสูง มีหน้าที่เกี่ยวกับดวงวิญญาณและความตายของมนุษย์ เป็นเทพชั้นสูงกว่าเทพเจ้าพวกอื่น มีเฉพาะนักบวชที่สามารถติดต่อได้ คนธรรมดาถ้าต้องการติดต่อกับเทพเจ้าในกลุ่มนี้ ต้องอาศัยนักบวชเท่านั้น เทพในกลุ่มนี้ประกอบด้วย
1. อัมน์ หรือ อัมมอน (Amm, Ammon) เป็นเจ้าแห่งชีวิต
2. มูต (Mut) เจ้าแม่ธรณี
3. เคม หรือ เคมมิส (Kem, Chemmis) พระสวามีของเจ้าแม่ธรณี
4. นัม หรือ คเนฟ์ ( Num, Kneph) เทพเจ้าผู้มีหน้าที่กำหนดเวลาโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์ (ตามนิยายว่า เป็นผู้สร้างพาหนะถวายแต่มหาเทพโอซิริส และเป็นสถาปนิกด้วย)
5. เซติ หรือ เซต (Setti, Sete)
6. ปตาห์ (Phtah) เทพแห่งศิลปะ
7. เนต หรือ (Net, Neith) เจ้าแม่ประจำเมืองซาอิส
8.รา (Ra) เทพดวงอาทิตย์ เป็นเทพประจำเมืองเฮลิโอโปลิสด้วย

แต่ด้วยเหตุที่เผ่าเฮมิติคอื่น เช่นชาวแอฟริกันส่้่วนลึกในทวีบ เข้าไปรวมกับชาติอียิปเป็นจำนวนมากในระยะหลัง เทพเจ้าตามระเบียบเดิมจึงเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ไปเป็นอันมาก มีนามของเทพเจ้าในกลุ่มอื่นเข้ามารวมอยู่ในกลุ่มนี้อีกหลายองค์

กลุ่มที่ 2 จำนวน 12 องค์ และ กลุ่มที่ 3จำนวน 7 องค์นั้น เป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่่ของมนุษย์ และมักมีภาพอภินิหารมองเห็นได้ด้วยสายตา ไม่ใช่เทพเจ้าที่เกิดจากปัญญา (การคิดเอาเอง) ของนักบวชซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้

เทพเจ้า 2 กลุ่มนี้ มิได้มีการระบุนาม แต่บันทึกเพียงว่าเป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับธาตุทั้ง4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในโลก เป็นธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็โลก เป็นมนุษย์ และ สัตว์ ในสมัยต่อมามีการเพิ่มอากาศธาตุ ขึ้นเป็นอีกธาตุหนึ่ง (หลักธาตุประจำโลกนั้นคล้ายคลึงกับหลักในพุทธศาสนา และ หลักในลัทธิอื่นซึ่งมีความเชื่อคล้ายกัน ว่า โลกเกิดขึ้นด้วยธาตุทั้ง 4)

เมื่อกำหนดตามธาตุทั้ง 4 เป็นหลัก เทพเจ้าในกลุ่มนี้จึงเป็นตัวแทนสภาพอันเกิดจากธรรมชาติที่มีอยู่ในโลก ตั้งแต่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว แผ่นดิน ฝนตกฟ้าร้อง ความมืด ความสว่าง และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติทั้งหมด

เฮโรโดตุสอธิบายว่า ถ้าอียิปต์โบราณจัดระบบเทพเจ้ากลุ่มที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ออกเป็นกลุ่มที่ 2 แล้ว เทพเจ้ากลุ่มที่3 ก็น่าจะได้แก่้หมูเทพซึ่งเป็นลูกหลาน หรือสามี ภรรยา ของเทพเจ้าเหล่านั้น ส่วนเทพเจ้าที่จำพวกสัตว์จัดเข้าไว้ในกลุ่มที่ 3

ดังได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น เทพเจ้าของอียิปต์องค์หนึ่ง อาจจะได้รับความนับถือจากเมืองหนึ่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเมืองอื่นเลย ความยุ่งยากในการจัดระเบียบเทพเจ้านั้ย เกิดจากลักษณะการนับถือเทพเจ้าของชาวอียิปต์นั่นเอง ต่อมาได้ทีการมองเห็นประโยชน์ของศรัทธา ได้จัดระเบียบเทพเจ้าขึ้นใหม่ให้เป็นระบบสาม หรือแบบรัตนตรัย(Tri-ad) ซึงนักศาสนาในยุคหลังๆ ถือเป็นแบบอย่างการจัดระบบทางศานาของตนเกือบทถกศาสนา

เทพเจ้าไตรอัด ที่ชาวอียิปต์โบราณถือว่ามีศักดิ์เป็นยอด 3 องค์นั้น ในแต่ละแห่งก็นับถือไม่เหมือนกัน
อาธิในเมือง เธปส์ มี ไตรอัด คือ อะเมน(Amen) มุต (Mut) และ ชอน(Chonsu) (บ้างก็เรียก อมุนรา, อะธอร์, และ ชอนสุ) ซึ่งสมมติให้เป็น บิดา-มารดาและบุตร

ส่วนเทพไตรอัดประจำเมืองนูเบียก็จะมี เทพ ปตาร์ (Phtah), อมุน-รา (Amun-ra) และ โหรุส (Horus)

บางเมือง ก็นับว่า โอสิริส(Osiris), ไอสิส(Isis), และ โหรุส(Horus) เป็นเทพไตรอัด

เหตุที่เทพเจ้าแต่ละเมืองต่างกันเพราะ ความสำคัญของแต่ละเมืองไม่เท่ากัน และ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีการรบกัน ผู้ชนะก็จะทำลายเทพเจ้าของเมืองนั้น แล้วนำมารวมกับเทพเจ้าที่ตนนับถือ

จึงเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทพเจ้า แต่ถึงอย่างไร คติที่ถือเทพศักดิ์สิทธิ์ 3 องค์ แบบรัตนตรัยก็เนื่องมาจากคติเดียวกันกับศาสนา่อื่นๆที่ ถือว่า 3 รวมเข้ากันเป็น 1 เป็นตรีเอกานุภาพ (ในศาสนาพุทธ พราหมณ์ และ คริสต์ ต่างก็มีคตินิยมนี้เช่นกัน)




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2552    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:33:33 น.
Counter : 1457 Pageviews.  

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 4 .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *



ตอนที่ 4 : นักบวชและพิธีกรรม

เฮโรโดตุส นักปราชญ์ชาวกรีกคนแรก ซึ่งเป็นผู้สำรวจประวัติศาสตร์และการปกครองของชาวอียิปต์ยอมรับว่า ชาวอียิปต์โบราณเห็นจะเป็นชนชาติเดียว ที่มีชีวิตอยู่กับพิธีกรรมและพระเจ้าในศาสนาของตนมากที่สุด ชาวอียิปต์สร้างปฏิทินพิธีกรรมต่อพระเจ้าของตนขึ้นเป็นประจำวันประจำเดือนไม่มีเว้น ซึ่งไม่เพียงเห็นพิธีกรรมสำหรับหมู่คณะและบ้านเมือง ยังมีพิธีกรรมประจำตัวของบุคคลแต่ละคนอีก ที่เป็นดังนี้ เพราะอียิปต์มีศรัทธาแน่นแฟ้นว่า ดวงวิญญาณเป็นของไม่ตาย พิธีกรรมเพื่อดวงวิญญาณ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด

คนชาติกรีก เป็นชาติที่มีพิธีกรรมมากที่สุดชาติหนึ่ง แต่เอาชนะชาติอียิปต์ไม่ได้ เรื่องดวงวิญญาณของชาวกรีกเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ไม่มาก แตจ่ชาวอียิปต์เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์อยู่ตลอดปีตั้งแต่เช้า เมื่อดวงอาทิตย์โคจรขึ้นถึงขอบฟ้า ชาวอียิปต์เริ่มรู้สึกว่าดวงวิญญาณของตนเรืองรองผ่องใสขึ้นมาด้วย ถึงเวลาดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้า ชาวอียิปต์ก็ถือว่าชีวิตกล้าขึ้นมาตามความแรงกล้าของของดวงอาทิตย์ ครั้นดวงอาทิตย์โคจรอ่อนแสงลงจนถึงเวลาอัสดงเหลือแต่ความมืดชาวอียิปต์ก็มาคำนึงถึงชีวิตหรือดวงวิญญาณของตน ที่จะต้องมอดดับลงเช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่ง ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าดวงอาทิตย์หมุนเวียนอยู่ในจักรวาล กลับไปกลับมาแต่ละคืนวัน หาที่สุดมิได้ เป็นเครื่องหมายความถาวร ดวงวิญญาณก็มีความถาวรเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ การนับถือเรื่องโคจรของวิญญาณ ฝังลึกลงไปในความประพฤติประจำวัน

หลักฐานของนักปราชญ์ เฮโรโดตุส อ้างว่า ทุกวันทุกคืน อียิปต์มีพิธีกรรมเกี่ยวกับเทพเจ้าทั้งหมด เมื่อวันเริ่มปีใหม่ มีพิธีกรรมอยู่ 2 พิธี คือ ใน 12 วันแรกของเดือนแรกมีพิธีกรรมเกี่ยวกับดาวสุนัข(Dog’s Star) (เรียกในภาษาดาราศาสตร์ว่า Sothis) ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวอียิปต์เชื่อว่า คอยนำดวงวิญญาณไปสู่ที่พิพากษาโทษต่อหน้ามหาเทพโอสิริส และนำดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ หรือ ทุคติภายหลังคำพิพากษาโทษ อีกพิธีหนึ่ง เป็นพิธีบูชากลุ่มดาวที่สำคัญอื่นๆ เพื่อขอพรให้มาช่วยให้ข้าวกล้าในนางอกงาม และเพื่อการขึ้นลงของกระแสน้ำในแม่น้ำไนล์ด้วย

ต่อไปมีพิธีตามประทีป (Feast of Lamp) เป็นเกียรติยศแก่เทพเจ้าพระองค์หนึ่งนามว่า Neith เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าของการสร้าง, พิธีกรรมเป็นที่ระสึกต่อความตายของเทพโอสิริส ซึ่งถูกประหาร, พิธีกรรมเพื่อเทพีไอสิส(ชายาของโอสิริส) เพื่อปลอบโยนพระทัยของพระนางให้สร่างโศกเพราะการตายของพระสวามี พิธีกรรมเหล่านี้ บางอย่างเป็นเรื่องของความเศร้า บางอย่างเป็นเรื่องความรื่นเริง พิธีกรรมใดเป็นไปเพื่อการรื่นเริงมักทำกันในลำแม่น้ำไนล์ มีคนเข้าขบวนแห่ไปตามลำน้ำถึง 7,000 - 8,000 คนก็มี มีกองทหารนำรูปเทพเจ้าแห่ไปยังวิหาร มีการจุดประทีป มีดนตรีเห่กล่อม เป็นที่สนุกสนาน

พิธีเกี่ยวกับชีวิต บางอย่างเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ เป็นคำสอนของนักบวช ปรากฎคำในจารึกในแผ่นปาปิรุสว่า
วันที่ 12 เดือนโจรัค (Chorak) ห้ามมิให้ใครออกนอกบ้าน เพราะถือว่าวันนั้นดวงวิญญาณของโอสิริสเสด็จเข้าไปสถิตในตัวนก Wennu จะต้องปล่อยให้ดวงวิญญาณเลื่อนลอยไปตามสะดวก
วันที่ 14 เดือน โทบี (Tobi) คนทั้งหลายต้องร้องเพลงโศกเพื่อร่วมเศร้าใจกับพระนางไอสิสผู้ร่ำไห้อาลัยรักถึงพระสวามี
วันที่ 3 เดือนเมคคี่ร์(Mechir) ห้ามมิให้ผู้ใดออกเดินทาง เพราะวันนั้นเป็นวันที่ เซ็ต(Set) เริ่มทำสงครามกับ โฮรุส(Horus) โอรสของพระนางไอสิส ต่อจากนั้นใครจะออกไปทางไหนก็ได้เพราะเทพโฮรุสมีชัยชนะต่อเทพเซตแล้ว และถือกันว่า ถ้าเด็กเกิดในวันที่โฮรุสชนะสงครามเด็กจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อไปในภายหน้า (ณ ขณะที่พิมพ์หนังสือ....ชื่อเดือนของอียิปต์โบราณยังค้นไม่ได้ว่าตรงกับเดือนอะไร)

พิธีกรรมเหล่านี้ต้องอาศัย นักบวชหรือพระเป็นผู้กระทำ คนต้องง้อนักบวช นักบวชอียิปต์จึงมีอำนาจมาก

ประวัติศาสตร์ของชาวอียิปต์โบราณ ขึ้นอยู่กับอำนาจนักบวช นักบวชอียิปต์เป็นบุคคลพวกเดี่ยวที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย นักบวชอียิปต์เป็นผู้เขียนคำจารึกและจดหมายเหตุ ใครจะทำคำจารึกอันใด จะทำพิธีกรรมอย่างไหน เมื่อไร จะทำเองไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อถือ จะต้องขอให้นักบวชทำให้ ใครอยากจะจารึกคุณความดีของตนให้ปรากฏอยู่ ต้องทำใจให้ถูกใจนักบวชและขอให้จารึกเรื่องราวที่ต้องการ ถ้านักบวชจงเกลียดใคร คนนั้นก็เท่ากับตกนรกทั้งเป็น

นักบวชอียิปต์ต้องได้รับการศึกษา และประจำอยู่ตามวิหารเทพเจ้า ไม่มีข้อจำกัดว่าบุคคลประเภทใดจะเป็นนักบวชได้หรือไม่ อย่างไร ครอบครัวใดที่มีญาติพี่น้องเคยเป็นนักบวชมาก็มักจะมีผู้สืบตระกูลเป็นนักบวชสืบต่อกัน นักบวชอาจมาจากตระกูลของทหาร ตระกูลของข้าราชการ ตระกูลของผู้พิพากษา ตระกูลสถาปัตย์ แต่ไม่เคยปรากฏว่านักบวชมาจากตระกูลชาวนา หรือชาวประมงเป็นการแสดงชั้นวรรณะอยู่

นักบวชชาวอียิปต์มีครอบครัวได้ ลูกชายนักบวช ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับลูกทหารได้ คนในตระกูลอื่น ถ้าไม่ใช่ลูกทหารแต่งงานกับลูกทหารไม่ได้ ลูกชายในครอบครัวนักบวช ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวชเสมอไป แยกไปประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ได้ ไม่ห้าม เฮโรโดตุส ยืนยันว่า แต่เดิมอียิปต์มีทั้งนักบวชผู้หญิงและนักบวชผู้ชาย

ในหมู่นักบวชมีการแบ่งชั้นและตำแหน่ง ในวิหารของเทพเจ้าแห่งหนึ่งๆ มีนักบวชหัวหน้าทำหน้าที่ควบคุมผลประโยชน์ของวิหาร นักบวชบางคนมีหน้าที่ทำนาย บางคนมีหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ชำระความให้นักบวชและให้คน นักบวชที่มีหน้าที่ต่ำเห็นจะเป็นพวกอาบยาศพ และพวกภัณฑาคาริก คือพวกรักษาสิ่งของ

เพราะเหตุที่นักบวชมีอำนาจมาก นักบวชจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีให้บ้านเมือง แต่บ้านเมืองต้องคอยจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้ในยามที่นักบวชต้องการ

เมื่อนักบวชได้รับการยกเว้นภาษีอากรของบ้านเมือง นักบวชจึงต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองคือ การปฏิบัติพิธีกรรมให้แก่คนทั้งหลาย เช่นคอยแนะนำคนที่เข้ามาบูชาเทพเจ้าว่าควรใช้อะไรเป็นเครื่องสังเวยในเวลาใด แนะนำพิธีการทำศพและอื่นๆ และพิธีกรรมอื่นๆ นักบวชก็มีหน้าที่เข้าไปเป็นผู้แนะนำสั่งสอนด้วย

มีข้อห้ามไม่ให้นักบวชอียิปต์โบราณทำอยู่หลายอย่าง ที่แปลกคือ กินเนื้อหมูเนื้อปลาไม่ได้ กินหอม กินกระเทียมไม่ได้ ถ้าเป็นถั่วยิ่งร้าย และต้องไม่ได้เลย แต่อนุญาตให้นำอาหารเหล่านี้สังเวยแก่เทพเจ้าได้ (เหตุผลอันนี้รู้ได้ยากเห็นอยู่อย่างเดียว คือต้องสงวนอาหารเหล่านั้นบูชาเทพเจ้า ส่วนเรื่องห้ามกินกระเทียมเหมือนวินัยทางภิกษุณีในพุทธศาสนา ซึ่งห้ามมิให้กินกระเทียมเหมือนกัน) แต่กลับไม่ห้ามเรื่องดื่มสุรา และมี ภรรยา

นักบวชอียิปต์โบราณโกนศีรษะและโกนขนตามร่างกายส่วนอื่นทุกวัน ตามปรกติต้องอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง และ กลางคืนอีก 2 ครั้งทุกคืน มีกำหนดให้มีวันถือคือ ต้องอดอาหารทุกอย่างตั้งแต่ 7 วันถึง 42 วัน (ตามจำนวนของเทพเจ้าผู้นั่งพิพากษาดวงวิญญาณร่วมกับมหาเทพโอสิริส 42 องค์) ในระหว่างนั้นนักบวชต้องทำพิธีชำระ(ร่างกาย) เป็นงานใหญ่ปีละ 1 ครั้ง

นักบวชอียิปต์โบราณครองผ้าขาวธรรมดา ส่วนมากใช้ผ้าลินินสีขาวคลุมลงไปบนผ้าซับในขาวบางอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต้องคลุมไปถึงข้อมือ มีหนังสือเครื่องหมายแห่งอำนาจติดอยู่บนแขนเสื้อ สวมหมวกปักขนนก 1 ขนบ้าง 2 ขนบ้าง ตามตำแหน่งสูงต่ำ

นักบวชอียิปต์มีการงานต้องทำมาก ไม่ได้อยู่สบายอย่างเช่นนักบวชในศาสนาอื่น ต้องประกอบพิธีกรรมทำงานให้แก่ชาวบ้านเนื่องด้วยเรื่องของพระเจ้าตลอดวัน

นักปราชญ์เฮโรโดตุสเขียนไว้ว่า ไม่ค่อยมีใครได้เห็นพระอียิปต์มาเดินเกะกะในที่สาธารณะ ถ้าจะดูพระอียิปต์ต้องเข้าไปดูในพระวิหาร หรือไปดูเวลาที่มีพิธีกรรมที่นักบวชทำให้แก่คนตามหมู่บ้าน

เรื่องอนุญาตให้นักบวชแต่งงานได้ มีกฎว่าก่อนแต่งงานต้องเข้าพิธีสุหนัด (พิธีขลิบปลายอวัยวะเพื่อความสะอาด ซึ่งพวกอิสลามนำมาปฏิบัติในลัทธิของตน) เมื่อแต่งงานแล้วถือเป็นนักบวชผู้ใหญ่ ต้องมีงานมากขึ้น ต้องอุทิศชีวิตของตนให้แก่การศึกษา และทำพิธีกรรมให้แก่คนและเทพเจ้าซึ่งมีอยู่ทุกตำบลมากขึ้น

นักบวชอียิปต์ต้องมีงานสอนหนังสือ สอนศิลปหัตกรรมให้แก่ประชาชน ตามโรงงานหัตถกรรม เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานทำหีบศพ และโรงงานที่สำคัญต้องมีนักบวชเป็นผู้ควบคุมดูแล คนงานและนายงานต้องเป็นลูกศิษย์นักบวช นักบวชจะสั่งให้ทำอะไรคนทั้งกลายจะต้องทำตามทุกอย่าง นักบวชควบคุมกิจการทุกอย่างไปจนกระทั่งการทำมาหากินของคน การทดน้ำ เพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการขนส่ง ต้องอยู่ในความควบคุมของนักบวชทั้งหมด เวลาพระเจ้าแผ่นดินจะออกไปรบทัพจับศึกที่ใด จะต้องเชิญนักบวชไปสวดมนต์อ้อนวอนเทพเจ้ามาอวยชัยให้พร ถ้านักบวชไม่ยอมทำพิธีเหล่านี้ให้ พวกทหารในกองทัพก็ไม่ยอมออกเดินทาง เรื่องจึงกลายเป็นว่า นักบวชมีอำนาจควบคุมไปจนกระทั่งถึงการเมือง การปกครอง

ที่สุด ก็มีเรื่องที่นักบวชกลายเป็นผู้แทนเทพเจ้า และสามารถรู้ใจเทพเจ้าอย่างจริงจังขึ้นมา คือเรื่องกระแสน้ำขึ้นน้ำลงในแม่น้ำไนล์ นักบวชเป็นผู้จดหมายเหตุไว้ว่า วันเดือนปีใด ระดับน้ำเคยขึ้นสูงหรือลดลงเท่าใด กระแสน้ำขึ้นมาได้อย่างไร ลดลงไปเพราะอะไร นักบวชก็ใช้สติปัญญาคำนวณตามเหตุผลที่ใกล้เคียงจนกลายเป็นจดหมายเหตุถาวรยึดถือเป็นตำราได้ นักบวชสามารถบอกกับใครๆได้ว่า น้ำท่วมวันใด เวลาใด และจะลดลงวันใดเดือนใด ปีนี้น้ำจะมากหรือน้อยเท่าใด ก็บอกได้หมด นานๆเข้า นักบวชจึงกลายเป็นผู้วิเศษ กลายเป็นผู้ล่วงรู้ใจของเทพเจ้า(แม่น้ำไนล์) เทพเจ้าก็ไม่ยอมบอกคนอื่น นอกจากผู้แทนของพระองค์คือนักบวชเท่านั้น

นักบวชอียิปต์กลายเป็นสถาบัน มีอำนาจ เป็นที่หวาดหวั่นพรั่นกลัวของประชาชน และบ้านเมือง อำนาจของนักบวชคลอบคลุมทางราชการบ้านเมืองทั้งหมด

จดหมายเหตุของนักปราชญ์เฮโรโดตุส เขียนไว้ว่า ถึงอย่างไรนักบวชอียิปต์ก็เป็นนักบวชที่ดีมาก แม้จะมีอำนาจมากปานใด ก็มักไม่ยอมใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

นักบวชอียิปต์มีนิวาสสถานอยู่ในวิหาร ถ้าแต่งงานแล้วก็พาลูกพาเมียไปอยู่ด้วยกันที่วิหาร

วิหารทุกแห่งที่มีแท่นบูชา บนแท่นบูชามีรูปเทพเจ้าแต่ละองค์ มีลูกประคำ มีดอกไม้ซึ่งโดยมากเป็นดอกบัว แผ่นปาปิรุส ผลองุ่น และผลมะเดื่อ สิ่งของเหล่านี้ใส่กระจาด และมีน้ำมันใส่หม้อดินไว้สำหรับจุดประทีปบูชา บางทีมีเครื่องประดับเพชรนิลจินดาซึ่งนักบวชเตรียมไว้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าด้วย

วิหารบางแห่งของเทพเจาบางองค์ เทพเจ้าคงต้องการเนื้อสัตว์เป็นเครื่องสังเวยบูชา จึงปรากฎว่าบนแท่นบูชามีเนื้อสัตว์ มีเลือด และ สุรายาเมาวางไว้เป็นเครื่องสังเวย โดยวิธีสวดเลือดและเทสุราอาบแท่นบูชาลงไป เพื่อให้เทพเจ้าได้กลิ่นคาวเลือดและกลิ่นสุราด้วย

เวลาล่วงมา ชาวอียิปต์พวกหนึ่งมีปัญญามากขึ้น รู้เท่าทันการทำพิธีของพวกนักบวช คนเหล่านี้คือพวกราชวงศ์และพระเจ้าแผ่นดิน เห็นว่าพวกนักบวชทำพิธีสังเวยเทวดาเพื่อประโยชน์ของตนมากไป ก็พากันทำพิธีเหล่านั้นเสียเอง เป็นเหตุให้นักบวชอียิปต์ต้องเสื่อมอำนาจลงในตอนหลัง

เทพนิยายและคำสอนในศาสนาของชาวอียิปต์โบราณ แยกประเภทออกได้เป็น 2 คือ ประเภทลึกลับซ่อนเร้นอยู่ภายใน บุคคลสามัญไม่สามารถมองเห็นและแตะต้องไม่ได้ นักบวชหรือผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าไปรู้เห็นได้ คำสอนประเภทนี้เท่ากับเป็นฝ่ายอภิธรรม เป็นแบบของเทพ นักบวชรู้เห็นกันระหว่างนักบวชกับเทพเจ้าเท่านั้น มนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย

อีกประเภทหนึ่งเป็นฝ่าย พระสูตร ไม่มีซ่อนเร้น มนุษย์สามัญเกี่ยวข้อง แตะต้องได้ มองเห็นได้ด้วยสายตา เช่นเรื่องเทพเจ้าโอสิริส และ ไอสิส เรื่องคำพิพากษาความผิดถูกของผู้ตาย เรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม เป็นแบบของสามัญชนทุกคนร่วมรู้เห็นได้ด้วยกันทั้งหมด




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:15:31 น.
Counter : 1342 Pageviews.  

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 3(3) .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *


***ตอนที่ 3 นี้เป็นตอนที่ค่อนข้างยาว เนื่องจากมี ตัวอย่างบางตอนจากมรณะคัมภีร์ ที่ ค้นพบจากหลายๆที่มาแสดงไว้ด้วย จึงขอแบ่งบทความตอนนี้ ออกเป็น 3 ตอน***

ตอนที่ 3(3) : ศพอาบยา และ มรณะคัมภีร์

จารึกเหล่านี้ ส่อความว่า กษัตริย์ผู้ครองอียิปต์สมัยโบราณ ต้องทำศึกสงครามออกไปในทวีปอาฟริกาบางส่วน และตีไปถึงตะวันออกกลาง เมื่อจะออกไปทำศึกกับใคร ก็ยกเอามหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ คือ ดวงอาทิตย์ (อเมนรา) ขึ้นมาเป็นสรณะ และยกทัพออกไปปราบคนนอกชาตินอกศาสนา บังคับจับเอามาให้นับถือมหาเทพอเมนรา คือบังคับให้เข้ามาอ่อนน้อม ยอมอยู่ใต้อำนาจของอียิปต์นั่นเอง

ตามหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นใต้แผ่นดินอียิปต์ ซึ่งนักปราชญ์ฝรั่งเศสชื่อชาทโปลิย็อง(champolion) ได้เรื่องใหม่อีกเรื่องว่า คนอียิปต์โบราณมีความเจริญอย่างยิ่งในทางจิตใจ ดังจะเห็นได้จากคำสารภาพบาปในมรณะคัมภีร์ และจากคัมภีร์ต่างๆที่ค้นได้ บอกถึงความเจริญของอียิปต์ในสมัยโบราณทั้งหมด

ชามโปลิย็อง อธิบายไว้ว่า คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของอียิปต์เหล่านี้ ปันออกเป็นภาคคัมภีร์ภาคหนึ่ง ประกอบด้วยบทเพลง สำหรับบรรเลงขับกล่อมต่อพระเจ้าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดว่าคัมภีร์เล่มใด คัมภีร์ภาคต่อมาจารึกเรื่องศีลธรรม เรื่องดาราศาสตร์ อักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พิธีทางศาสนา เรื่องเทพเจ้า เรื่องการศึกษาของนักพรต และตำรายาในสมัยโบราณ คัมภีร์เหล่านี้ยังมีข้อความจารึกอยู่โดยสมบูรณ์ เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองตูรินในอิตาลี

คัมภีร์เหล่านี้ช่วยให้เราได้รู้ศิลปะ ประเพณี และศาสตร์ที่เจริญอยู่ในสมัยโบราณเป็นอันมาก แต่ความสำคัญของคัมภีร์เหล่านั้น ไม่สำคัญเท่ามรณะคัมภีร์ เพราะว่ามรณะคัมภีร์เกี่ยวกับชีวิตและความตาย

ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น เมื่อนำศพผู้ตายไปทำพิธี ณ วิหารเทพเจ้า อันตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำไนล์ทางด้านตะวันตกแล้ว ก็นำศพนั้นไปฝังยังที่ใดที่หนึ่ง อาจเป็นฝังลงดิน ฝังในอุโมงค์ตามเชิงเขา หรือฝังไว้ ร สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เรียกว่า “ปิรามิด” (Pyramid)

ปิรามิด คือ รูปเจดีย์ สามเหลี่ยม เป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมาก แสดงความสามารถและความรู้ทางสถาปัตยกรรมของชาวอียิปต์โบราณ(หรือความสามารถของคนยิว ซึ่งตกเป็นทาสของอียิปต์) เป็นอย่างเลิศ ปิรามิดบางแห่งสูงถึง 144 เมตร ทำด้วยหิน หรือ ศิลาแลง ต่อเติมขึ้นไปเป็นแท่ง ไม่มีการโบกปูนเชื่อมต่อ แต่ติดกันอยู่ได้ด้วยการคำนวณในการต่อวางแผ่นหิน

นักสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เมื่อมองเห็นปิรามิด มักพากันพิศวงว่า คนโบราณมีวิธียกท่อนหินใหญ่ขนาดนั้นขึ้นไปต่อกันได้อย่างไร ซ้ำยังทำเป็นโพรงไว้ข้างใน ทนแดดทนพายุในทะเลทรายมาได้เป็นเวลาหลายพันปี อาจพูดได้ว่าถ้านักค้าสงครามสมัยใหม่ไม่มุ่งทำลายเสีย ปิรามิดจะคงทนอยู่ได้ตราบเท่าที่โลกยังอยู่

ปิรามิด สำเร็จขึ้นเป็นรูปด้วยกำลังปัญญาสามารถอย่างยิ่งยวด ต้องใช้แรงคนแรงงานทรัพย์อย่างมหาศาล นิยมสร้างเป็นที่เก็บศพพระเจ้าแผ่นดิน เพราะไม่มีใครจะเกณฑ์เอากำลังทรัพย์ กำลังคนจากที่ใดได้นอกจากพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสามารถจะเกณฑ์เอาอะไรจากใครเท่าไรก็ได้ แต่ภายหลังครอบครัวที่มีฐานะดีสร้างปิรามิดขึ้นเป็นที่เก็บศพของบรรพบุรุษก็มีอยู่บ้าง ที่มีมากที่สุดสำหรับพวกผู้ดีมีเงิน มักสร้างตามภูเขา และเรียกกันว่า “มัสตาบา” (Mastaba) ไม่ใช่ปิรามิด

ภายในปิรามิด ทำเป็นโพรงหรืออุโมงค์ขุดลงไปใต้ดิน มีห้องสลับซับซ้อนมากมาย บางห้องเป็นที่เก็บสมบัติ แก้วแหวนเงินทองของใช้ของผู้ตาย บางห้องเป็นที่เก็บเครื่องบูชาต่อเทพเจ้า บางตอนทำเป็นอุทยานเล็กๆเป็นที่ดวงวิญญาณมาพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนศพอาบยาที่เรียกว่า “มัมมี่” เอาเก็บไว้ในห้องพิเศษอีกส่วนหนึ่ง มีเครื่องสังเวยดวงวิญญาณตั้งไว้ที่หน้าศพ

การจะนำศพไปเก็บไว้ในปิรามิด นักบวชเป็นผู้ประกอบพิธี เสร็จแล้วปิดประตูตาย ไม่มีเวลาเปิด ไม่มีเวลาหวั่นไหวเคลื่อนที่ และไม่มีใครเปิดเข้าไปขโมยเอาสิ่งของมีค่าในอุโมงค์ภายในปิรามิดได้




 

Create Date : 27 กันยายน 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:16:06 น.
Counter : 583 Pageviews.  

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 3(2) .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *



***ตอนที่ 3 นี้เป็นตอนที่ค่อนข้างยาว เนื่องจากมี ตัวอย่างบางตอนจากมรณะคัมภีร์ ที่ ค้นพบจากหลายๆที่มาแสดงไว้ด้วย จึงขอแบ่งบทความตอนนี้ ออกเป็น 3 ตอน***

ตอนที่ 3(2) : ศพอาบยา และ มรณะคัมภีร์
พรรณนาในมรณะคัมภีร์ มีใจความสำคัญดังนี้
ดวงวิญญาณ เมื่อถูกนำเข้าห้องพิจารณาแล้ว ต้องไปยืนอยู่ต่อหน้าเทพเจ้า (ประจำหัวเมืองต่างๆ) 42 องค์ (42หัวเมือง) เทพเหล่านี้ ถือว่า เป็นเทพผู้ทรงความสัตย์ มีหมาเทพโอสิริสเป็นประธาน ดงวิญญาณประกาศชื่อ ตำบล อายุ และ อื่นๆ ตามธรรมเนียมการสาบานตน ด้วยข้อความว่า

“ เมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่เคยประพฤติความชั่ว ข้าพเจ้าไม่เคยกล่าวคำเท็จ ข้าพเจ้าไม่เคยโกงแรงงานของผู้ใด ข้าพเจ้าไม่ใช่คนเกียจคร้าน ข้าพเจ้าไม่เคยฆ่าสัตว์ ข้าพเจ้าไม่เคยทำลายรูปเคารพ ข้าพเจ้าไม่เคยขโมยผ้าพันศพของผู้ตาย (ถือกันนัก จนแสนจนอย่างไร จะไปขโมยผ้าพันศพของใครมาไม่ได้ ) ข้าพเจ้าไม่เคยผิดประเวณี ลูกเมียของใคร ข้าพเจ้าไม่เคยโกงตาชั่ง ข้าพเจ้าไม่เคย(ทารุณถึงกับ)เอาน้ำนมออกจากปากเด็ก ข้าพเจ้าไม่เคยจับนกที่ศักดิ์สิทธิ์(มาทรมาน)

ต่อจากนั้นประกาศนามของเทพเจ้าแต่ละองค์ (ทั้ง 42 องค์) เป็นการแสดงความเคารพ และ ประกาศกรรมของตน เพื่อรับคำพิพากษาต่อไปใหม่ มีความว่า

“ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นผู้เกียจคร้านข้าพเจ้าไม่เคยโอ้อวด ข้าพเจ้าไม่เคยขโมย ข้าพเจ้าไม่เคยคดโกง ไม่เคยทำร้าสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เคยกล่าวคำหยาบ ไม่เคยปฏิเสธการฟังความจริง ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นเทพเจ้า”
บางตอน ดวงวิญญาณต้องประกาศว่า “ ข้าพเจ้าเป็นผู้ภักดีต่อพระเจ้า เป็นผู้ให้ขนมปังแก่บุคคลที่หิวโหย ให้น้ำแก่บุคคลที่กระหาย ให้เครื่องแต่งตัวแก่ผู้มีกายล่อนจ้อน และให้ที่อยู่อาศัยแก่บุคคลที่ถูกทอดทิ้ง” ในขณะที่ดวงวิญญาณให้การ มหาเทพโอสิริสประทับนั่งเป็นประธาน มีตาชั่งอยู่ข้างหน้า ตาชั่งข้างหนึ่งถ่วงน้ำหนักของความประพฤติที่เคยปฏิบัติมา อีกข้างหนึ่งถ่วงน้ำหนักคำพิพากษา

การขุดค้นหลุมฝังศพ ทางภาคเหนือของอียิปต์ ได้พบมรณะคัมภีร์อีกแบบหนึ่ง จารึกข้อความไม่เหมือนกันกับแบบต้น ขอแปลมาใส่ไว้ เพื่อให้พิจารณาเทียบเคียงว่า คำจารึกในมรณะคัมภีร์ของแต่ละถิ่น แสดงให้เห็นถึงความประพฤติของบุคคลในภูมิประเทศต่างๆกัน

คำจารึก ในมรณะคัมภีร์ทางอียิปต์ภาคเหนือมีข้อความ(ซึ่งเห็นจะเป็นทายาทเขียนแทนผู้ตาย)ว่า “เขาเป็นคนรักบิดา เป็นคนให้เกียรติแก่มารดา รักใคร่ต่อพี่น้อง เขาไม่เคยออกจากบ้านไปด้วยน้ำใจอันไม่ผ่องใส เขาไม่เคยดูถูกคนที่ต่ำกว่า โดยวิธียกย่องคนที่มีฐานะสูงกว่า”

บางแห่งจารึกว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนฉลาด ดวงวิญญาณของข้าพเจ้ามอบไว้แด่พระเจ้า ข้าพเจ้าเคยเป็นพี่น้องของคนดี เคยเป็นบิดา(มารดา)ของลูกที่ดี ข้าพเจ้าไม่เคยทำความผิดอันใด ข้าพเจ้าให้เกียรติยศแก่บิดามารดา เคารพนับถือผู้มีอายุสูงกว่า และกรุณาต่อน้องผู้มีอายุต่ำกว่า พี่น้องของข้าพเจ้าได้รับการนับถือเป็นอันดีจากข้าพเจ้าทุกคน เมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ผู้ใดประพฤติไม่ดี ข้าพเจ้าแนะนำสั่งสอนให้เป็นคนดี เด็กคนใดเป็นคนกำพร้าบิดามารดา ข้าพเจ้ารับเลี้ยงดูเด็กคนนั้นๆ เช่นเดียวกับลูกของข้าพเจ้าเอง”

จารึกอีกแห่งหนึ่ง ค้นได้จากหลุมฝังศพของราชวงศ์ มีข้อความแปลกกว่าข้อความอื่นดังนี้

“สิ่งใดที่ข้าพเจ้ากระทำไปแล้ว ข้าพเจ้าขอสารภาพดังต่อไปนี้ ความดีและความกรุณาปรานีของข้าพเจ้า ซึ่งมีแก่คนทั้งหลาย ได้กระทำไว้อย่างเพียงพอ ข้าพเจ้าไม่เคยกดขี่ข่มเหงต่อคนที่ปราศจากพ่อแม่ ไม่เคยกระทำสิ่งใดให้หญิงหม้ายได้รับความร้อนใจ ชาวประมง(ซึ่งเข้ามาในเขตการปกครองของข้าพเจ้า) ไม่เคยได้รับการรบกวน คนเลี้ยงแกะ และ กรรมกรทั้งกลายไม่เคยได้รับการกดขี่จากข้าพเจ้า”

“ในระหว่างที่ข้าพเจ้าปกครองประชาชนพลเมือง ไม่มีใครได้รับความอดอยาก ไม่มีคนหิวกระหาย มีแต่ความสมบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเอาความยิ่งใหญ่ และอำนาจราชศักดิ์ของตน มาเป็นเครื่องมือข่มเหงราษฎร ข้าพเจ้าได้ให้ความเสมอภาคแก่คนโดยเสมอภาคกัน”


ยังมีจารึกในมรณะคัมภีร์อีกแบบหนึ่ง ขุดได้จากหลุมฝังศพของกษัตริย์แห่งเมืองเธบส์(Thebes) ให้ความรู้ทางศาสนาและราชจริยาวัตรของกษัตริย์อียิปต์ในสมัยโบราณไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้า ครองสมบัติอยู่ด้วยสัจจะ ดวงวิญญาณของข้าพเจ้า ทรงไว้ซึ่ง ความเที่ยงธรรม สิ่งใดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติต่อประชาชนพลเมือง สิ่งนั้นเป็นไปเพื่อความสุขทั้งสิ้น ข้าพเจ้ามีความจงรักภักดีต่อเทพเจ้าและพระองค์ก็ทรงทราบความจริงใจของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าแจกขนมปังเป็นทานแก่คนหิวโหย แจกน้ำแก่บุคคลผู้กระหาย แจกเสื้อผ้าแก่คนที่ปราศจากเครื่องนุ่งห่ม ให้ที่อยู่อาศัยแก่คนเดินทาง ให้เกียรติยศแก่เทพเจ้าด้วยการเสียสละ และให้เกียรติแก่คนตายทุกคนด้วยเครื่องสังเวยดวงวิญญาณ”

ข้อความสารภาพในมรณะคัมภีร์ ส่อความชัดเจนว่า ชีวิตของชาวอียิปต์โบราณเป็นชีวิตที่ประกอบด้วนศีลธรรม เป็นเครื่องหมายของผู้เจริญ ส่วนพระมหากษัตริย์นั้น แม้จะทรงมีพระราชอำนาจสามารถตัดหัวคนได้ ก็ยังมีข้อความแสดงว่าทรงปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม มีเทพเจ้าเป้ฯที่พึ่ง เป็นทางปฏิบัติ และเป็นเจ้าหัวใจในการปกครองพลเมืองอยู่เป็นนิจ

มีจารึกที่น่าอ่านอีกจารึกหนึ่ง เป็นข้อความบูชามหาเทพอเมนรา คือดวงอาทิตย์ ขุดได้ในหลุมศพของจักรพรรดิธอเมสที่3(Thomes III) ราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์เมื่อประมาณ1,600 ปี ก่อนคริสต์ศักราช จารึกไว้เป็นคำกลอน ถอดความเป็นร้อยแก้ว ได้ข้อความดังนี้

“ข้าพเจ้าขอวันทาต่อพระองค์ ในการชิงชัยกับราชวงศ์ซีเรีย ด้วยอำนาจของพระองค์ ข้าพเจ้าได้ปราบคนเหล่านั้นราบคาบลงไปแทบเท้าของพระองค์ตลอดแผ่นดินของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้สั่งสอนราชวงศ์ซีเรียให้หันมาบูชาความรุ่งโรจน์ของพระองค์แล้ว ข้าแต่อเมนรา(ดวงอาทิตย์)”

“ข้าพเจ้าขอวันทาต่อพระองค์ ด้วยอำนาจของพระองค์ การชิงชัยกับพวกอาเซีย ซึ่งมีชาวซีเรียเป็นหัวหน้า ผู้แสดงความโง่ว่าเป็นราชะ ข้าพเจ้าทำให้คนพวกนั้นมีหูตาสว่างขึ้น (ในนานของพระองค์) ผู้ทรงศักดิ์ ผู้ทรงสัตย์ และผู้ทรงราชย์ด้วยความสูงศักดิ์”

“ข้าพเจ้าขอวันทาต่อพระองค์ ด้วยอำนาจของพระองค์ ข้าพเจ้าได้ปราบปรามเผ่าลิบยา(lybia) ราบคาบลงแล้ว ชนเผ่ากรีกทั้งกลายก็ได้ยอมรับนับถือเกียรติยศของพระองค์ทั่วกันแล้ว ข้าพเจ้าได้แสดงความกล้าหาญ เหมือนหนึ่งพญาราชสีห์ ได้ทำให้คนเหล่านั้นพ้นจากความบอด ได้รับความสว่างไสวขึ้นทั่วกัน”

“ข้าพเจ้าขอวันทาต่อพระองค์ ด้วยอำนาจของพระองค์ ข้าพเจ้าได้ปราบราบคาบไปทั่วดินฟ้ามหาสมุทร ข้าพเจ้าได้แสดงความกล้าหาญ เหมือนหนึ่งพญาเหยี่ยวตัวยง ได้ทำให้คนทั้งหลายพ้นจากความมืด ให้ได้รับความสว่างไสว ตั้งแต่นี้ไป ด้วยอำนาจของพระองค์แล้ว จะไม่มีผู้ใดสามารถหลบลี้หนีข้าพเจ้าไปได้อีก”

อีกจารึกหนึ่งเป็นจารึกของกษัตริย์เหมือนกัน มีคำสารภาพต่อหน้ามหาเทพและกล่าวคำบูชาต่ออเมนรา (ดวงอาทิตย์) ว่า “เมื่อข้าพเจ้าครองราชย์อยู่ ไม่เคยได้สร้างวิหารบูชาพระองค์อย่างนั้นหรือ ข้อนี้ก็หาไม่ ข้าพเจ้ามิได้เสียสละบูชาเทพเจ้า(โค) ทั้ง 3,000องค์นั้นดอกหรือ ข้าพเจ้ามิได้ทำสิ่งใดลงไปในนามของพระองค์ดอกหรือ ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าขออ้อนวอนต่อพระองค์ ข้าพเจ้ามีอำนาจอยู่ในหมู่คนป่าเถื่อนหลายเผ่า ขณะนั้นข้าพเจ้าเป็ฯคนฉลาด สามารถ(ปกครองเขาอยู่ได้) ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสงสว่าง พระองค์ผู้วิเศษสุดกว่านักยิงธนูตั้งพัน วิเศษกว่าบุรุษอาชาไนยตั้งหมื่นแสน พระองค์เป็นผู้มีชัยชนะต่อศัตรูหมู่พาลทั้งปวง”

“ข้าแต่พระองค์ เวลาข้าพเจ้าออกรบ ข้าพเจ้าถือเอาพระองค์เป็นสรณะ ข้าแต่อเมนรา ในเวลานั้น ข้าพเจ้าถือเอาพระองค์เป็นกำลังที่แขนซ้ายขวาของข้าพเจ้า ดวงวิญญาณของข้าพเจ้ามุ่งอยู่แต่พระมหาเทพเจ้าพระองค์นั้น ไม่ผันแปร ข้าพเจ้ารบเพื่อชัยชนะต่อข้าศึกในกาลทุกเมื่อ อเมนราเป็นบิดาของข้าพเจ้า พระองค์ได้ทรงนำโลกให้มาอยู่แทบเท้าของข้าทั้งสิ้น”




 

Create Date : 27 กันยายน 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:16:37 น.
Counter : 589 Pageviews.  

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 3(1) .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *



***ตอนที่ 3 นี้เป็นตอนที่ค่อนข้างยาว เนื่องจากมี ตัวอย่างบางตอนจากมรณะคัมภีร์ ที่ ค้นพบจากหลายๆที่มาแสดงไว้ด้วย จึงขอแบ่งบทความตอนนี้ ออกเป็น 3 ตอน***

ตอนที่ 3(1) : ศพอาบยา และ มรณะคัมภีร์


นักปราชญ์กรีก ชื่อ เฮโรโดตุส เล่าถึงวิธีอาบศพของชาวอียิปต์ไว้ว่า

ผู้รับจ้างอาบยาศพ มีผู้ช่วยหลายคน คนหนึ่งมีหน้าที่ล้างมันสมอง คนหนึ่งมีหน้สที่ฉีดยา อีกคนหนึ่งมีหน้าที่คอยเจาะ คอยล้างส่วนต่างๆของรางกายที่จำเป็น ขั้นแรกเอาขอเหล็กชักเข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้าง เพื่อเอามันสมองออก แล้วฉีดยาเข้าไปในหัวกระโหลก ขั้นต่อไปเจาะสีข้าง ดึงไส้ออกมาล้างด้วยเหล้า หรือยาชนิดหนึ่งที่ทำจากต้นปาล์ม(อินทผลัม?) แล้วเอาไส้นั้นมาคลุกกันกับเครื่องยาหรือเครื่องหอมที่ป่นคอยไว้ เอาไส้คลุกกับยายัดกลับลงไปในร่างพร้อมกับเครื่องยาชนิดหนึ่ง เสร็จแล้วเย็บสีข้างให้ติดกันไว้ตามเดิม แล้วเอาร่างแช่ในน้ำยาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรสเค็ม แช่ไว้เป็นเวลานาน 60 วัน แล้วเอาออกตากแดด ร่างนั้นแห้งพร้อมไปกับยา ไม่มีกลิ่น
ครั้นทุกอย่างเสร็จ เอาผ้าแถบเล็กๆ ชุบน้ำยาสมานกระดูกพันศพตามส่วนต่างๆ เป็นข้อต่อและส่วนสำคัญของศพที่เห็นว่าจะหักหรือหลุดได้ง่าย แล้วห่อศพด้วยผ้าเนื้อดี ซึ่งชุบน้ำยาแล้ว อีก 3 ชั้น เสร็จแล้วใช้ผ้าสีแดงอย่างดีทับชั้นหนึ่ง เอาศพนั้นใส่ไว้ในหีบไม้ 2 ชั้น ซึ่งตามปรกติเป็นหีบคล้ายรูปคน คือตอนหัวแกะเป็นรูปคล้ายหน้าของผู้ตาย

ศพที่อาบยาดีแล้ว จะต้องนำไปฝังไว้ที่เชิงภูเขา หรือใน อุโมงค์ ซึ่งก่อเป็นเจดีย์สามเหลี่ยม เรียกว่า ปิรามิด(pyramid) เพื่อความคงอยู่ถาวรของศพ

พิธีการจัดการศพ เป็นไปตามฐานะของผู้ตาย พิธีปกติที่ทำกันคือ เมื่อผู้ใดสิ้นชีพ อาบยาศพแล้ว มีพิธีแสดงความเศร้าโศกที่บ้านผู้ตาย 70 วัน (นับว่านานมาก) หลังจาก 70 วันแล้ว นำศพลงเรื่องซึ่งถือเป็นพาหนะของมหาเทพเจ้าโอสิริส(ตามนิยามมีว่า โอสิริส เมื่อถูกลอบสังหารแล้ว ศัตรูยกหีบศพลงเรือไปถ่วงที่ปากแม่น้ำไนล์) ข้ามไปถึงโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำไนล์ฝั่งตะวันตก สมมติเป็นการนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปให้การต่อหน้ามหาเทพโอสิริส ซึ่งถือเป็นผู้พิพากษาในโลกหน้าอีกครั้ง

ในครั้งโบราณ ชาวอียิปต์เคยใช้วิธีฝังศพลงในแผ่นดินเหมือนคนเผ่าโบราณอื่นๆ แต่เมื่อความนิยมนับถือว่าดวงวิญญาณจะกลับมาอาศัยร่างเดิม ซึ่งไม่เน่าเปื่อย จึงจำเป็นต้องทำที่เก็บศพไม่ให้เป็นอันตราย เลิกวิธีฝังศพลงใต้ดิน เพราะมีคติเพิ่มเติมว่า ถ้าร่างเปื่อยเสียแล้ว ดวงวิญญาณไม่มีร่างเข้าสิง จะต้องล่องลอยไป เข้าสิงร่างสัตว์ร่างใดร่างหนึ่งได้ (ส่วนมากจะเป็นร่างสุนัข) ซึ่งกำหนดเวลาย้ายที่สิงของวิญญาณ ตั้งแต่ผ่านออกจากร่างสัตว์จนกว่าจะมาเข้าร่างมนุษย์ได้ดังเดิม สิ้นเวลาประมาณ 3,000 ปี (ตัวเลขนี้ นัยว่าได้มาจากจักรราศีของดาวสุนัขคือ Dog Star ซึ่งมีกำหนดรอบละ 1,640 ปี)

ชาวอียิปต์นับถือการหมุนเวียนของดวงวิญญาณอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์ อธิบายว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งได้รับสมมติให้เป็นมหาเทพ (รา หรือ เอเมนรา) มีเวลาอุทัยและอัสดงคตโดยลำดับ สัมพันธ์กันไปไม่ขาด การหมุนเวียนเป็นนิรันดรของดวงอาทิตย์มีสภาพฉันใด สภาพของดวงวิญญาณย่อมเป็นไปเช่นเดียวกัน คือมีการคงอยู่ หมุนเวียนอยู่เป็นนิรันดร

ถ้าเจ้าของดวงวิญญาณ เมื่อมีชีวิตอยู่ในภพนี้ ประกอบกรรมทำดีไว้ ดวงวิญญาณจะได้รับคำพิพากษา ให้ไปสู่ที่ดี และไปสู่ที่ชั่วถ้าเคยทำกรรมชั่วไว้ อียิปต์เปรียบเทียบความมืดและความสว่างของดวงวิญญาณไว้ เหมือนกับดวงอาทิตย์อุทัยและอัสดงคต

ด้วยการอธิบายภาพของดวงวิญญาณ ที่ล่องลอยหรือวนเวียนอยู่เช่นนี้เอง ชาวอียิปต์โบราณจึงทำรูปแสดงลักษณะล่องลอยของดวงวิญญาณเป็นรูปพญาเหยี่ยว หน้าเป็นคน มีปีก มีเท้า 2 ข้าง เท้านั้นจิกวงกลม เหมือนวงแหวนไว้ข้างละวง

การที่ทำเป็นรูปพญาเหยี่ยว หมายความว่า ดวงวิญญาณล่องลอยหรือโผผินไปในโลกได้ เช่น พญาเหยี่ยว และติดตามการโคจรดวงอาทิตย์ไปได้ เพราะเหตุนี้กระมัง ภายหลังชาวอียิปต์จึงทำรูปพระอาทิตย์ติดปีกด้วย เพื่อหมายว่าอะไรก็ตาม ต้องมีฤทธิ์เหาะได้เอง เมื่อเหาะได้ ก็ต้องมีปีกสำหรับเหาะ

การทำเป็นรูปวงแหวน 2 วง ที่เท้าพญาเหยี่ยว หมายถึงการเวียน 2 รอบของดวงวิญญาณ คือรอบหนึ่งเวียนกลางวัน และรอบหนึ่งเวียน กลางคืน (เช่น ดวงอาทิตย์) มีอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่าการเวียน 2 รอบของดวงวิญญาณ คือรอบหนึ่งได้แก่ตอนที่สิงอยู่ในร่างสัตว์ และ อีกรอบหนึ่งเป็นตอนที่สิงอยู่ในร่างมนุษย์ การจะทราบว่าดวงวิญญาณในภพอื่น จะได้รับคำพิพากษาการกระทำในกาลก่อนของตนอย่างไร มีหลักฐานจากหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญของชาวอียิปต์ หนังสือเล่มนั้นเรียกว่า “มรณะคัมภีร์” หรือ คัมภีร์บรรพบุรุษ (Book of Dead)

มรณะคัมภีร์ ทำด้วยแผ่นปาปิรุส นักโบราณคดีขุดค้นได้ในหลุมฝังศพ ปรากฏเป็นคำจารึกมีข้อความสารภาพผิด และคำให้การต่างๆ ของดวงวิญญาณต่อหน้า มหาเทพ ข้อความบางอย่าง ค้นพบตามกำแพงหลุมฝังศพก็มี

คัมภีร์เล่มนี้ ตัวเจ้าของวิญญาณ และญาติพี่น้องเตรียมทำไว้ขณะยังไม่ตาย ให้เอาไปฝังไว้รวมกับหีบศพ การสร้างมรณะคัมภีร์ เกิดจากความคิดของผู้อยู่เบื้องหลัง ว่าถึงอย่างไร ผู้ตายไม่สามารถพึ่งพาอาศัยใครต่อไปได้ เมื่อตายไปแล้ว ดวงวิญญาณจะถูกนำเข้าห้องพิพากษาก่อน ผู้อยู่ข้างหลังจึงต้องช่วยกันทำคัมภีร์เล่มที่กล่าว จารึกข้อความตามที่มุ่งหมาย ให้ผู้ตายท่องจำไว้ก่อนสิ้นชีพครั้งหนึ่งก่อน เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว เวลาให้การในยมโลก จะได้กล่าวไม่ผิดพลาด

ข้อความในคัมภีร์มรณะ มีต่างๆกัน ตามฐานะการกระทำ ตามถิ่นประเทศและอาชีพของผู้ตาย มีคำให้การบอกการกระทำของตน มีเรื่องบอกพิธีกรรมต่างๆ มีคำสอนอ้อนวอนต่อมหาเทพ และอื่นๆ จารึกไว้ด้วยความประณีตบรรจง ถ้าผู้ตายเป็นเศรษฐี หรือ กษัตริย์ คำให้การเหล่านี้ มักจารึกไว้บนแผ่นหินตามกำแพงหลุมฝังศพ เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง มีข้อความตรงกันกับข้อความในคัมภีร์

มรณะคัมภีร์ ทำไว้เป็นม้วน ม้วนละเรื่อง เรื่องละบท ม้วนที่ 125 หรือ บทที่ 125 ถือว่าเป็นม้วนที่สำคัญมาก เพราะจารึกเรื่องการกระทำของผู้ตาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่โดยตลอด

คัมภีร์ม้วนนี้ เรียกชื่อบทว่า “ห้องพิพากษาสัจจะ” (Hall of Truth) 2 ประการ คือ สัจจะอันเป็นส่วนตัว และสัจจะที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น




 

Create Date : 27 กันยายน 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:17:18 น.
Counter : 570 Pageviews.  

1  2  

นีออน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add นีออน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.