4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 

จาก "เพิร์ลฮาร์เบอร์" ถึง "ฮิโรชิมา-นางาซากิ"

ระเบิดปรมาณูนิวเคลียร์ ถล่มเมืองฮิโรชิมากับนางาซากิ

เรื่องราวของการใช้อาวุธทำลายล้างมวลชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป้าหมายคือจักรวรรดิญี่ปุ่น วันที่ 6สิงหาคม ค.ศ. 1945 ระเบิดที่ไม่เหมือนลูกไหน ๆ ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้าเหนือเมืองฮิโรชิมา  ระเบิดลูกนี้ได้รับการออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลกและการนำมันมา ใช้คือการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลก  เรื่องราวของลูกเรือบนเครื่องบินที่ปฏิบัติภารกิจลับในการทิ้งระเบิดที่ทำ ให้เมืองฮิโรชิมาทั้งเมืองต้องพังพินาศภายในไม่กี่วินาที  ระเบิดลูกนั้นช่วยยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 ที่ศูนย์วิจัยลับสุดยอดในลอส-อลามอส รัฐนิวเม็กซิโก ระเบิดชนิดใหม่ถูกนำไปใส่ในรถบรรทุกติดอาวุธเต็มอัตราศึก นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางซึ่งจะไปสิ้นสุดลงที่ฮิโรชิมา ระเบิดลูกนี้เป็นผลผลิตจากการวิจัยเป็นเวลาสามปี และใช้เงินในการพัฒนาไปถึงสองพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่เคยมีการทดสอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว

16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 ที่อลามากอร์โด รัฐนิวเม็กซิโก การทดสอบก็มาถึง กลางทะเลทรายของรัฐนิวเม็กซิโก บรรดานักวิทยาศาสตร์และทหารในโครงการแมนฮัตตันได้มารวมตัวกันเพื่อทดสอบการ ระเบิดของระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรก การระเบิดครั้งนี้ทำให้หอคอยสเตนเลสสตีลที่รองรับลูกระเบิดถึงกับระเหยกลาย เป็นไอ ความร้อนอันแรงกล้าทำให้ทรายในทะเลทรายหลอมละลาย กลายเป็นแก้วปกคลุมไปทั่วบริเวณ แรงระเบิดประมาณได้ว่ารุนแรงเท่าระเบิดไดนาไมต์ 67 ล้านแท่ง เดิมทีอเมริกาตั้งใจจะใช้ระเบิดนี้กับนาซีเยอรมัน แต่เวลานี้ผู้ทำระเบิดมีเป้าหมายอื่นอยู่ในใจ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงแล้ว นาซีเยอรมันพ่ายแพ้ไปแล้ว แต่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก สงครามกับญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด หลังจากการโจมตีแบบไม่ทันให้ตั้งตัวของญี่ปุ่นที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ กองกำลังอเมริกาก็ได้ต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อชิงดินแดนในแถบแปซิฟิกคืนทีละเกาะๆ แต่ทัพหลักของญี่ปุ่นยังคงไม่บุบสลายและไม่เคยแพ้ อเมริกาเคยลองใช้ระเบิดเพลิงเพื่อทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ เมืองแล้วเมืองเล่ากลายเป็นซากปรักหักพัง แต่ฝ่ายญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมจำนน

ดังนั้น เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีแนวโน้มที่จะต้องบุกอย่างเต็มอัตรา โดยที่บางคนประมาณการว่าอาจต้องเผชิญกับความสูญเสียมากมาย ทหารอาจบาดเจ็บล้มตายถึงหนึ่งล้านนาย และฝ่ายญี่ปุ่นก็ต้องสูญเสียมากกว่านั้นเยอะ ญี่ปุ่นสมัยนั้น จักรพรรดิคือประมุขของประเทศ และยังเป็นเทพที่มีชีวิต แต่อำนาจอยู่ที่คณะที่ปรึกษาพิเศษซึ่งกำกับกิจการสงคราม นายกรัฐมนตรีซูซูกิและรัฐมนตรีต่างประเทศโทโกกำลังพิจารณาว่าจะยุติสงคราม ตามที่มีการเจรจาต่อรอง แต่รัฐมนตรีกองทัพ นายพลโคเรชิกะ อานามิ ยังมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อไป แผนของอานามิคือการสู้รบขั้นแตกหักเต็มอัตราศึก อเมริกาได้ถอดรหัสลับของญี่ปุ่น จึงทราบดีว่า การเรียกร้องให้ยอมจำนนอย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีเงื่อนไขจะถูกฝ่ายญี่ปุ่นมอง ว่าเป็นการคุกคามองค์จักรพรรดิ ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และเสนอทางออกแก่ฝ่ายญี่ปุ่น

วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 คำขาดที่ผ่านการแก้ไขแล้วได้ถูกส่งไปยังญี่ปุ่นทางคลื่นวิทยุ แต่ดูเหมือนเงื่อนไขการยอมจำนนที่อ่อนลงนี้จะก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม นายกรัฐมนตรีซูซูกิประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะไม่สนใจแถลงการพ็อทสแดม เขาใช้คำว่า “โมกุซัทสึ” ซึ่งแปลว่า   การฆ่าโดยไม่แยแส และนับจากวินาทีนั้น การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ระเบิดเดินทางจากซานฟรานซิสโก  โดยเรือยูเอสเอส อินเดียนาโปลิส ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลาสิบวัน จนไปถึงเกาะทิเนียน จากจุดนั้นจะใช้เวลาบินไปถึงญี่ปุ่นเพียงหกชั่วโมงเท่านั้น เกาะทิเนียน คือฐานทัพอากาศใหญ่ที่สุดในโลก มีรันเวย์ขนาดใหญ่ 4 รันเวย์ เป็นที่เก็บเครื่องบิน บี-29 ซูเปอร์ฟอร์ทเตรส กว่า 500 ลำ และยังเป็นที่มั่นของหน่วยผสมที่ 509 กลุ่มคนที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น หัวหน้าหน่วยแห่งนี้คือ นาวาเอกพอล ทิบเบ็ตส์ ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในการทิ้งระเบิดต่อสู้กับเยอรมัน เขามีลูกเรือคนสำคัญสองคนคือพลเล็งเป้า ทอม เฟอเรอบี และต้นหน ดัทช์ ฟาน เคิร์ค

เย็นวันที่ 4 สิงหาคม 1945 พอล ทิบเบ็ตส์เรียกคนของเขามาประชุมกัน ภารกิจการทิ้งระเบิดถูกกำหนดไว้สำหรับคืนต่อไป วันที่เมฆเหนือประเทศญี่ปุ่นมีทีท่าว่าจะปลอดโปร่ง แต่เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นบรรดาลูกเรือบนเกาะทิเนียนต้องตื่นขึ้นมาเพราะ เสียงดังสนั่น เครื่องบินบี-29 ตกที่รันเวย์อีกครั้ง เครื่องบินตกครั้งนี้ทำให้ พอล ทิบเบ็ตส์ ในฐานะผู้บัญชาการ ตัดสินใจที่จะขับเครื่องบินโจมตีลำนี้เอง และเขาเลือกชื่อของเครื่องบินตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา คืนนั้นในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนออกเดินทาง มีการสรุปภารกิจให้ลูกเรือทุกคนที่กำลังจะมุ่งหน้าไป ฮิโรชิมาฟังเป็นครั้ง สุดท้าย ภารกิจนี้เป็นความลับมาก ทิบเบ็ตส์ได้รับยาเม็ดฆ่าตัวตายไว้ใช้ในกรณีที่พวกเขาถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับได้ เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ได้รับคำสั่งให้บันทึกภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งนี้





ระเบิดลูกนี้หนักกว่าสี่ตัน ทำให้การทะยานขึ้นมีอันตรายมากกว่าปกติ หลังจากทะยานขึ้นไป15 นาที ขณะที่เครื่องบินยังอยู่ในระดับต่ำ พาร์สันส์ก็พร้อมแล้วที่จะประกอบระเบิด พวกเขารู้ว่าความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ภารกิจทั้งหมดล้มเหลวได้ สองชั่วโมงต่อมา เครื่องบิน อีโนล่า เกย์ สมทบกับเครื่องบินบันทึกภาพและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เวลานี้เครื่องบินทั้งหมดอยู่ห่างจากฮิโรชิมาราวสามชั่วโมง 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เมืองฮิโรชิมา เครื่องบินบี 29 อีกลำหนึ่งได้บินอยู่เหนือเมืองฮิโรชิมาเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนตื่นกลัวและหลบอยู่ในที่กำบัง เครื่องบินตรวจสอบสภาพอากาศรายงานผลไปยัง อีโนล่า เกย์ และเมื่อเครื่องบินตรวจสอบอากาศบินเลยไปโดยไม่มีการโจมตี ช่วงนั้นดูเหมือนภัยคุกคามจะผ่านไปแล้ว

แต่ต่อมาไม่นานเครื่องบิน อีโนล่า เกย์ ก็บินอยู่เหนือน่านฟ้าฮิโรชิมา ระเบิดลูกประวัติศาสตร์ถูกปล่อยออกมา หลังจากหล่นลงมา 43 วินาที กลไกที่ทำงานตามเวลาและแรงดันอากาศก็เริ่มกระบวนการจุดระเบิด กระสุนยูเรเนียมถูกยิงไปตามลำกล้องเข้าใส่ยูเรเนียมที่เป็นเป้าหมาย ยูเรเนียมทั้งสองเริ่มทำปฏิกิริยาลูกโซ่ อณูของแข็งเริ่มแตกตัวและปล่อยพลังงานออกมาในปริมาณมหาศาล



ระเบิด ปล่อยอานุภาพทำลายล้างออกมาทีละขั้น ประกายไฟที่ออกมาจากลูกไฟยักษ์ที่กว้างถึง 300 เมตร ทำให้อุณหภูมิที่อยู่ด้านล่างลูกไฟนั้นสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส รังสีความร้อนหลอมละลายทุกอย่างที่อยู่ในที่โล่งถ้าไม่ระเหยกลายเป็นไอ ก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปในทันที ปฏิบัติการของทหารอเมริกันครั้งนั้นคร่าชีวิตคนไปกว่า 200,000 คน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น กำลังตื่นตระหนกต่ออำนาจของระเบิดนิวเคลียร์ ประธานาธิบดี ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้ยืนคำขาดอีกครั้งเพื่อให้ญี่ปุ่นยอมจำนนแต่โดยดี แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิกเฉย ในที่สุด ทรูแมน จึงได้สั่งให้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่นเป็นลูกที่ 2 และระเบิดลูกนี้ มีชื่อว่า "แฟทแมน" เพราะว่าขนาดอ้วนและใหญ่โตกว่าลูกแรก เป้าหมายของระเบิดลูกที่ 2 นี้ ก็คือ เมืองนางาซากิ




และแล้ว ในวันที่ 9 สิงหาคม ปี ค.ศ.1945 คืออีก 3 วันถัดมาโศกนาฎกรรมของมนุษยชาติ อีกฉากหนึ่งก็ได้อุบัติขึ้น เมืองนางาซากิ พินาศย่อยยับในพริบตาด้วยอำนาจของเจ้าคนอ้วน หรือ แฟทแมน





ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้ เพราะไม่แน่ว่าอาจจะมีระเบิดลูกที่ 3 ตามมาอีก ส่วนพิธีลงนามอย่างเป็นทางการนั้น ได้จัดขึ้นในปลายเดือนนั้น




สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว ผลของระเบิดนิวเคลียร์ทำให้เมืองฮิโรชิมา มีผู้เสียชีวิตทันทีจากการระเบิด ประมาณ 70,000 คน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตภายหลังในปีเดียวกันอีกราว 70,000 คน และผู้ที่เสียชีวิตภายหลังนี้ต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสก่อนเสียชีวิตจากแผลไฟลวก และผลจากกัมมันตภาพรังสี และประมาณอีก 60,000 คนเสียชีวิตในอีก 6 ปี ถัดมา ส่วนใหญ่เป็นผลจากกัมมันตภาพรังสี รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน



ส่วนที่นางาซากินั้น มีชะตากรรมไม่แพ้กัน ผู้เสียชีวิตในทันที 70,000 คน บาดเจ็บอีกราว 80,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ผลของกัมมันตภาพรังสี ยังทำให้ผู้ที่ได้รับรังสีกลายเป็นมะเร็งในภายหลังได้อีกด้วย ในส่วนนี้ไม่สามารถประเมินได้แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด ยังไม่รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม อันเป็นผลจากกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้างอีกด้วย







ขอบคุณที่มา: //kwanlikehistory.blogspot.com/2013/09/blog-post1002.html













 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 28 กรกฎาคม 2557 16:55:53 น.
Counter : 1446 Pageviews.  

การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์





การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เป็นการโจมตีฉับพลันของจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อฝ่ายกองทัพอเมริกา โดยการโจมตีเกิดขึ้นที่ อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐฮาวาย ในสหรัฐอเมริกา 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝูงบินรบ "กามิกาเซ่" (kamikaze) ของกองทัพอากาศญี่ปุ่นลอบโจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ซึ่งเป็นฐานทัพที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในภาคพื้นแปซิฟิก ตั้งอยู่ในหมู่เกาะฮาวาย ทำให้กองเรือรบและฝูงบินได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันให้อเมริกาประกาศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้ทหารเสียชีวิต 2,335 นาย ทหารอากาศ 55 นาย ทหารเรือดำน้ำ 9 นาย พลเรือน 68 คน ทหารบาดเจ็บ 1,143 นาย พลเรือน 35 คน เรือรบจม 4 ลำ และเสียหายอีก 4 ลำ เครื่องบินถูกทำลาย 29 ลำ และเรือดำน้ำเสียหายอีก 4 ลำ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต 185 คน จากนั้นอีก 44 เดือน กองเรือสหรัฐ ได้จมเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือประจัญบานและเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นในกองกำลังที่โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้ทุกลำ ส่วนนางาซากิซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตตอร์ปิโดชนิดพิเศษ ซึ่งใช้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก็ถูกสหรัฐทิ้งปรมาณูถล่มราบคาบ ญี่ปุ่นจึงยกธงขาวและลงนามในเอกสารยอมแพ้สงคราม

สาเหตุของการโจมตี
ผลสืบเนื่องมาจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 จุดเริ่มต้นของสงครามคือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดครองดินแดนแมนจูเรียหลังเกิดกรณีมุกเดน เพราะเนื่องจากญี่ปุ่นได้เล็งเห็นผลประโยชน์ในดินแดนแมนจูเรียหลายประการ หลังจากยึดครองสำเร็จก็แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดให้อยู่ภายใต้การนำของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยมีจักรพรรดิปูยี (อดีตจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง1) ให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและเป็นจักรพรรดิแห่งแมนจูเรียได้แต่เพียงในนามเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจแก่สาธารณรัฐจีนเป็นอย่างมากจึงได้ไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังสันนิบาตชาติ เวลาต่อมาสันนิบาตชาติดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นสันนิบาตชาติก็ได้ลงความเห็นเห็นว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายผิดและเป็นผู้รุกราน จึงออกแถลงการณ์ลิตตัน เพื่อประณามการกระทำของญี่ปุ่นในการรุกรานแมนจูเรียและออกคำสั่งให้ญี่ปุ่นถอนกองทัพออกจากดินแดนแมนจูเรีย ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจพร้อมประกาศถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติไปโดยสิ้นเชิง

ด้วยการที่สันนิบาตชาติทำอะไรกับญี่ปุ่นไม่ได้ ทำให้จีนผิดหวังและญี่ปุ่นก็เริ่มฮึกเหิมที่คิดจะทำการยึดครองจีนต่อไปโดยไม่มีประเทศใดๆมาขัดขวาง และแล้วจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ได้ส่งกองทัพเข้าไปรุกรานจีนได้อย่างเต็มตัว แม้กองทัพจีนจะพยายามต้านทานอย่างสุดกำลังแต่ก็ไม่อาจต้านทานกองกำลังแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ทำให้จีนต้องสูญเสียดินแดนให้กับญี่ปุ่น เช่น ปักกิ่ง เป่ยผิง เทียนจิน เป็นต้น ในขณะเดียวกันเมืองนานกิงเองก็ได้ถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองและทำการสังหารหมู่ชาวจีนไปเป็นจำนวนมาก สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก ในช่วงที่กองทัพจีนได้พ่ายแพ้กองทัพญี่ปุ่นมาติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และแล้วความหวังก็ได้ปรากฏขึ้น เนื่องจากจีนได้เล็งเห็นประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นชาติมหาอำนาจหนึ่งที่สามารถถ่วงดุลอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ ดังนั้นจีนจึงส่งขอความช่วยเหลือไปยังสหรัฐฯทันที แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามทำตัวเป็นกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามก็ตามแต่ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือกับจีนอย่างเต็มที่
สหรัฐฯภายใต้การนำโดยประธานาธิปดีรูสเวลท์ก็ได้ประกาศยุติการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น เช่น น้ำมัน เหล็ก เป็นต้น ทำให้ญี่ปุ่นขาดปัจจัยในการบำรุงกองทัพโดยเฉพาะน้ำมัน ทำให้การบุกเข้ายึดจีนต่อไปต้องหยุดชะงักลง จักรวรรดิญี่ปุ่นญี่ปุ่นจึงได้ส่งทูตไปเจรจากับสหรัฐฯเพื่อขอให้ส่งน้ำมันต่อ แต่ว่าการเจรจาก็ล้มเหลวหมดเพราะสหรัฐฯได้ยื่นคำขาดว่าให้ญี่ปุ่นยุติการยึดครองจีน และถอนกำลังออกจากอินโดจีนไป ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจโจมตีที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ที่อยู่บริเวณของหมู่เกาะฮาวายที่เป็นฐานทัพเรือสหรัฐฯประจำภาคพื้นทะเลแปซิพิกด้วยการเป็นอย่างลับๆ เพื่อเปิดเส้นทางการขยายอำนาจในภาคพื้นทะเลแปซิพิกแก่จักรวรรดิญี่ปุ่น


การโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ (World War II: The Attack on Pearl Harbor)
การโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์โดยกองทัพญี่ปุ่นนั้น เป็นผลมาจากความไม่ลงรอยกันระหว่างสองประเทศ ที่กินเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ ความพยายามขยายอาณาเขตของฝ่ายญี่ปุ่น ทำให้เกิดความตึงเครียดกับเหล่าประเทศฝั่งตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษมากขึ้นไปอีก การเข้าโจมตีประเทศจีนของฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1937 ได้ถูกประเทศในองค์การสันนิบาติชาติ (The League of Nations) วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และยังแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพและความพร้อมที่จะลงมือของประเทศจากเอเชียแห่งนี้ด้วย




หลังสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ความพยายามยับยั้งญี่ปุ่นยิ่งไร้ผล และเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 ญี่ปุ่นก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาสามฝ่าย (Tripartite Pact) เพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ พร้อมกับนาซีเยอรมนี และฟาสซิสต์อิตาลี นี่เป็นการคุกคามที่มีผลต่อสหรัฐอเมริกาโดยตรง เนื่องจากสหรัฐฯ จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจถูกโจมตีได้จากทั้งสองฝั่งของมหาสมุทร สหรัฐฯ ได้เตรียมการรับมือสงคราม แต่ยังคงวางตัวเป็นกลางอยู่

ช่วงปี ค.ศ. 1940-1941 ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้ารุกรานดินแดนในแถบอินโดจีน (Indo-China)ต่อไป ขณะที่สหรัฐฯ ก็พยายามขัดขวาง โดยห้ามส่งออกสินค้าสำคัญ อย่างน้ำมันดิบและวัตถุดิบต่างๆไปยังญี่ปุ่น ปิดเส้นทางการเดินเรือสินค้า หรือยุทธวิธีอื่นๆที่คล้ายกัน ญี่ปุ่นจำเป็นต้องได้น้ำมันดิบจากสหรัฐ แต่สหรัฐยื่นคำขาดว่าญี่ปุ่นต้องถอนทัพออกจากประเทศจีนก่อน ประเทศญี่ปุ่นปฏิเสธ และตัดสินใจว่าการลงมือทางการทหารที่รวดเร็วเป็นทางเลือกเดียวที่ทำได้ การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายถูกเลื่อนออกไป จนในที่สุด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1941 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยินยอมให้ประเทศทำสงครามกับสหรัฐฯ อังกฤษ และฮอลแลนด์ อย่างเป็นทางการ การโจมตีของญี่ปุ่นจะเริ่มขึ้นด้วยการทำลายกองกำลังในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ บนเกาะโอวาฮู (O’aho) รัฐฮาวาย (Hawaii) ญี่ปุ่นหวังว่าจะสามารถเข้าควบคุมประเทศในแถมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยไม่มีใครมาขัดขวาง พวกเขาโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์เพื่อจุดประสงค์นี้ ในขณะเดียวกันยังสามารถทำลายขวัญและกำลังใจของชาวอเมริกันได้ และยังลดความสามารถของสหรัฐ เพื่อให้ตนขยายอำนาจไปในพื้นที่อื่น ๆ ได้อีกด้วย การต่อสู้ที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์เริ่มขึ้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศสงครามกับสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ การโจมตีครั้งนี้จึงเกิดขึ้นโดยฝ่ายสหรัฐไม่ทันได้ตั้งตัว และจำต้องป้องกันตัวเองอย่างฉุกละหุก โดยการโจมตีจากญี่ปุ่นมีมาสองระลอก จากทั้งทางอากาศและทางน้ำ การโจมตีระลอกแรก เริ่มขึ้นก่อน 8 นาฬิกาของวันที่ 7 ธันวาคมเพียงเล็กน้อย และระลอกที่สองก็ตามมาอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง



ถึงแม้ว่ารวมแล้วการจู่โจมจะกินเวลาเพียงสองชั่วโมง เมื่อทุกอย่างจบลง เครื่องบินของฝ่ายสหรัฐกลับถูกทำลายเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับยานพาหนะอื่น ๆของกองทัพ เรือรบขนาดใหญ่สองลำ คือ เรือ ยู.เอส.เอส โอกลาโฮมา (USS Oklahoma) และ ยู.เอส.เอส. แอริโซนา (USS Arizona) ถูกทำลายจนย่อยยับ ปัจจุบันนี้ ซากเรือ ยู.เอส.เอส. แอริโซนา ยังคงจมอยู่ใต้น้ำที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์อุทิศให้เหล่าผู้คนที่เสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนั้นจำนวนผู้สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์สูงถึงกว่า 2,300 คน ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกองทัพและประชาชนทั่วไป เพียงหนึ่งวันหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาก็เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความขัดแย้งครั้งประวัติศาสตร์นี้









 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2557 16:35:20 น.
Counter : 2251 Pageviews.  

Seal Team 6 ผู้สังหาร อุซมะห์ บิน ลาเดน




"SEAL Team 6: ซีลทีม 6 ขึ้นชื่อว่า SEAL นั่นยอมหมายถึงยอดหน่วยปฎิบัติการรบพิเศษ ของสหรัฐอเมริกาแน่นอน 
อนึง "SEAL Team 6" เป็นหน่วยปฎิบัติการพิเศษ หน่วยหนึ่งในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา หรือ United States Naval Special Warfare Development Group เรียกกันติดปากว่า "DEVGRU" ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ต.ค.ปี 1980 ซึ่งปฎิบัติงานเป็นทีมในภารกิจในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล

"SEAL" ย่อมาจาก Sea Air Land หมายถึง การปฎิบัติภารกิจการรบ ได้ทั้งในน้ำ อากาศ และบนบก มีภารกิจครอบคลุม ตั้งแต่ การสอดแหนม การรบนอกแบบ
ต่อต้านภัยการก่อการร้าย จนถึงภารกิจลับ ด้านความมั่นคงทั่วโลก SEAL ได้ชื่อว่า เป็นสุดยอดหน่วยรบพิเศษ ในกองทัพสหรัฐ เป็นหน่วยที่ถูกฝึกหนักที่สุด ในบรรดาหน่วยรบพิเศษด้วยกันเองของทุกเหล่าทัพ เหตุผลก็คือ ภารกิจที่หน่วย SEAL ได้รับมักจะอันตรายอย่างที่สุดและ ถูกกดดันทั้งร่างกาย และ จิตใจมากที่สุดเสมอ การฝึกของหน่วย SEAL จะกินเวลานานที่สุดในบรรดาหน่วยรบพิเศษ ทั่ว ๆ ไป คือ ราว ๆ 8 - 11 เดือน ตามแต่เงื่อนไขของการฝึก

หน่วยซีลของสหรัฐอเมริกา เป็นหน่วยงานหนึ่งใน กองทัพเรือสหรัฐ จะแบ่งเป็นทีม คือ ทีม 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 และ 10 รับผิดชอบตามความสามารถในแต่ละภูมิภาคของโลก สำหรับ SEAL Team 6นั้น เป็นทีมที่มีภารกิจ ในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ในการปฎิบัติการ เข้าทำภารกิจ แต่ละครั้ง ต้องเข้าจู่โจมให้
สำเร็จอย่างรวดเร็ว และสูญเสียกำลังพลให้น้อยที่สุด จึงมักจะถูก CIA ยืมไปใช้ ในการปฎิบัติการลับ ในหลายประเทศ ปัจจุบัน หน่วย " SEAL" ถูกใช้งานในทุกสมรภูมิรบที่สหรัฐเข้าร่วม ทั้งอิรัก และ อัฟกานิสถาน ซึ่งหน่วยนี้ได้ฝากผลงานไว้มากมาย แต่ไม่เป็นที่เปิดเผย เพราะ "ทุกภารกิจล้วนเป็นความลับสุดยอดทั้งสิ้น"
กลางดึกคืนวันที่ 2 พ.ค. 2554 เวลา 01.15 น. (เวลาในไทย 02.15น.) บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐมีคำสั่งอนุมัติแผนปฎิบัติการรวบตัว "บิน ลาเดน" โดยแต่งตั้ง ผอ.CIA เป็นผู้ดูแลแผนปฎิบัติการ โดยใช้ชุดปฎิบัติการพิเศษทำภารกิจ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ นำหน่วยรบพิเศษนี้ไปยังเป้าหมาย แทนการใช้เครื่องบินรบไร้คนขับยิงจรวดโจมตีเหมือนครั้งก่อน ๆ

และแม้ว่าจะใด้สังหารบินลาเดนไปแล้ว ก็ไม่ใด้หมายความว่าจะหมดภัยคุกคามจากกลุ่มโจรตะวันออกกลางแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นตอนนี้ หน่วย Seal Team 6 นั้นอาจจะอยู่ปฎิบัติหน้าที่ของตัวเองในที่ไหนสักแห่ง ก็เป็นได้ (รายละเอียดของ Seal แต่ละทีมนั้นไม่ใด้เป็นที่เปิดเผย)


ที่มาบทความ : @มิน Task Force134 25/2/2556








 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 6 สิงหาคม 2557 16:57:38 น.
Counter : 1499 Pageviews.  

สงคราม 6 วัน : ภูมิหลัง ปฐมบท





สงคราม 6 วัน เป็นสงครามระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อคือ สงครามอาหรับ-อิสราเอล ปี 1967 สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 3 สงครามเดือนมิถุนายน ชาติอาหรับ 3 ชาติที่เป็นเพื่อนบ้านของอิสราเอลคื
อ อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย และยังมีชาติอาหรับอื่นๆ อีกที่ร่วมถล่มอิสราเอลในคราวนี้ทั้งที่ส่งทหารมาร่วมและที่สนับสนุนทางการเงินคือ อิรัค ซาอุดิอาระเบียคูเวต และอัลจีเรีย

ก่อนจะถึงเดือนมิถุนายน 1967 อียิปต์ได้ขับไล่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติบริเวณคาบสมุทรซีนาย และชุมนุมพลบริเวณใกล้ชายแดน, ปิดช่องแคบติลาน ซึ่งเป็นช่องทางเดินเรือเข้าสู่อ่าวอกาบาที่ไปสู่เมืองท่าอีลาท เมืองท่าทางด้านใต้ของอิสราเอล ไม่ให้เรืออิสราเอลผ่านได้ และเรียกร้องให้ชาติอาหรับร่วมกันถล่มอิสราเอล ในเดือนมิถุนายน 1967 ฝ่ายอิสราเอลชิงลงมือก่อนโดยส่งกำลังทางอากาศเข้าโจมตีฐานทัพอากาศของอียิปต์ที่กำลังเตรียมการสำหรับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น จอร์แดนเข้าโจมตีเยรูซาเล็มตะวันตกและเนทันย่า เมื่อสงครามสงบอิสราเอลได้ควบคุมเยรูซาเล็มตะวันออก ฉนวนกาซ่า เวสท์แบงก์ หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และที่ราบสูงโกลาน. ผลของสงครามครั้งนี้กระทบต่อภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคมาจนถึงทุกวันนี้

ภูมิหลัง
หลังวิกฤตกาลคลองสุเอซปี 1956 แม้ฝ่ายอีบิปต์จะพ่ายในสงครามแต่ก็ชนะในทางการเมือง ทั้งสองมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างกดดันให้อิสราเอลถอนกำลังออกจากคาบสมุทรซีนาย ส่วนทางอียิปต์เองก็ยินยอมให้กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามาประจำการในซีนายแทน เพื่อให้ซีนายเป็นเขตปลอดทหารและป้องกันกองโจรลักลอบเข้าไปโจมตีอิสราเอล อียิปต์ยังยินยอมเปิดช่องแคบติลานอีกครั้ง เพื่อให้เรือพาณิชย์ของอิสราเอลสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ ซึ่ทำให้สถานการณ์ชายแดนระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์สงบลงชั่วคราว ผลจากสงครามในปี ๑๙๕๖ มิได้ทำให้ปัญหาต่างๆ หมดไป ความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยังตึงเครียด ไม่มีอาหรับชาติใดเลยที่ยอมรับการดำรงอยู่ของอิสราเอล ซีเรียซึ่งเข้าข้างโดยโซเวียต เริ่มเป็นฐานให้ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ลักลอบเข้าไปโจมตีในอิสราเอลในช่วงทศตวรรษที่ ๖๐ เป็นการทำสงครามปลดปล่อยประชาชน ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายของพรรคบ๊าท

โครงการชลประทานแห่งชาติของอิสราเอล
ในปี ๑๙๖๔ อิสราเอลเริ่มผันน้ำจากแม่น้ำจอร์แดน*เพื่อสร้างระบบชลประทาน** ชาติอาหรับตอบโต้โดยการวางแผนสร้างเขื่อนตรงต้นน้ำ ซึ่งจะลดปริมาณน้ำในแม่น้ำจอร์แดนที่ไหลมาสู่ทะเลสาบกาลิลี่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อโครงการชลประทานของอิสราเอลได้ กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอลจึงโจมตีสถานที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าวที่อยู่ในซีเรียในเดือนมีนาคม, พฤษภาคม และสิงหาคม ๑๙๖๕ ทำให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียดตลอดเวลา ถือเป็นจุดหนึ่งที่เป็นตัวจุดชนวนสงครามคราวนี้

*แม่น้ำจอร์แดน ความยาว ๒๕๑ กม. มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำ ๔ สายคือ ฮัสบานิ, บาเนียส, แดน และแม่น้ำอายูน ซึ่งอยู่ในเลบานอน แม่น้ำจอร์แดนถือเป็นเขตพรมแดนธรรมชาติระหว่างอิสราเอล และจอร์แดน ไหลไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบเดดซี

** โครงการชลประทานแห่งชาติของอิสราเอล สร้างขึ้นเพื่อนำน้ำจากทะเลสาบกาลิลี่ ขึ้นมาใช้ในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของอิสราเอลที่แห้งแล้ง ในระบบชลประทานดังกล่าวประกอบด้วยระบบคลองส่งน้ำ, ท่อส่งน้ำ, อุโมงค์ส่งน้ำ, อ่างเก็บน้ำ และสถานีสูบน้ำ ปัจจุบันน้ำที่ใช้ในอิสราเอล ๘๐% มาจากโครงการดังกล่าว

กรณีพิพาทระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดน: วิกฤตกาลที่ซามุ
ซามุ ชื่อเต็มคือ Es Samu เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือที่รู้จักกันดีในนาม เวสท์ แบงค์ (West Bank) หมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรราว ๔ พันคน ทั้งหมดเป็นผู้อพยพปาเลสไตน์ (เรื่องนี้อยากจะย้อนไปถึงเรื่องราวก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจที่ไปที่มามากขึ้นนะครับ) วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๑๙๖๖ รถยนต์ของหน่วยลาดตระเวนตามชายแดนของอิสราเอล (Israel Border Police เป็นเหมือน ตชด.ของบ้านเรา) วิ่งไปเหยียบกับระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ นาย บาดเจ็บอีก ๖ นาย อิสราเอลพุ่งเป้าไปที่ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์กลุ่ม PLO (Palestine Liberation Organization, ก่อตั้งขึ้นมาในปี ๑๙๖๔) ที่ข้ามพรมแดนมาจากหมู่บ้าน เอส ซามุ หลังเที่ยงคืน, กษัตริย์ ฮุสเซน แห่งจอร์แดน ก็ทรงติดต่ออย่างลับๆ กับนาย อับบา อีบัน (Abba Eban) ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี เลวี เอสโคล (Levi Eshkol, นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของอิสราเอล ระหว่างปี ๑๙๖๓-๖๙) และนาง โกลดา แมร์ (Golda Meir) นักการเมืองระดับแกนนำคนหนึ่งของพรรครัฐบาล (อดีตเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการตั้งถิ่นฐาน แต่ลาออกมาเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ต่อมาหลังอสัญกรรมของนาย เลวี เอสโคล นางโกลดา แมร์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๕ ตั้งแต่ปี ๑๙๖๙-๗๔, ได้รับสมญาว่า เป็น 'สตรีเหล็ก') กษัตริย์ ฮุสเซน ต้องการคำรับรองจากฝ่ายอิสราเอลว่า จะไม่กระทำการรุกล้ำดินแดนของจอร์แดน ซึ่งเวลานั้นเป็นที่พักพิงของบรรดาผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ ก่อนหน้านั้น ทางการอิสราเอลเคยประกาศว่า จะทำการตอบโต้การกระทำก่อการร้ายของผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์อย่างรุนแรง

เวลาตี ๕ ครึ่ง กองกำลังของอิสราเอลก็บุกโจมตีหมู่บ้าน เอส ซามุ ที่อิสราเอลอ้างว่า เป็นที่พักพิงของผู้ก่อการร้ายกลุ่ม PLO จากซีเรีย.ถือเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่สุดของอิสราเอลตั้งแต่ปี ๑๙๕๖ ภายใต้ชื่อ ปฎิบัติการ Shredder, ระหว่างทหารอิสราเอลบุกหมู่บ้านแห่งนี้ พร้อมกับหมู่บ้านเล็กๆ อีก ๒ แห่ง ได้เกิดการปะทะกับทหารจอร์แดน ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตาย แต่ที่มากกว่าคือ พลเรือนชาวจอร์แดน ซึ่งตัวเลขความเสียหายตรงนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย (เพื่อความมั่นคงของกษัตริย์ ฮุสเซน)

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว จอร์แดนและกลุ่มชาติอาหรับได้ยื่นประท้วงการกระทำของอิสราเอลต่อสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต แต่ถูกสหรัฐอเมริกา ในฐานะสมาชิกถาวรของสมัชชาความมั่นคง ใช้สิทธิคัดค้าน

ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย
ซีเรีย มีปัญหากับอิสราเอลอย่างมาก โดยเฉพาะซีเรียเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยมีค่ายฝึกการก่อการร้ายอยู่ในดินแดนของซีเรีย ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เมื่อฝึกเสร็จ ก็จะไปซ่อนตัวปะปนอยู่กับผู้อพยพปาเลสไตน์ ที่พักอาศัยหลบภัยอยู่ในจอร์แดน (เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างความปวดหัวกับกษัตริย์ ฮุสเซน แห่งจอร์แดนมาก นอกจากนับวันๆ ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากขึ้นทุกทีแล้ว การข้ามไปก่อการร้ายในเขตอิสราเอล ก็ทำให้จอร์แดนต้องถูกอิสราเอลตอบโต้ ลึกๆ แล้ว กษัตริย์ ฮุสเซน ก็ทรงพระวิตกว่า วันดีคืนดี กลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้อาจร่วมมือกับพวกสังคมนิยม ลุกขึ้นจับอาวุธ ปฏิวัติพระองค์ก็ได้) ซีเรีย เริ่มใช้ปืนใหญ่ยิงข้ามเขตปลอดทหารมายังนิคมของชาวยิว ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี่

ปี ๑๙๖๖ ซีเรีย กับอียิปต์ เซ็นสัญญาร่วมมือกันทางทหารเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกรุกราน อียิปต์เอง ยังเซ็นสัญญาร่วมกันทางทหารกับโซเวียต ทำให้โซเวียตให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศอาหรับทั้งสองอย่างเต็มที่

วันที่ ๑ เมษายน ๑๙๖๗ ปืนใหญ่ของซีเรียยิงถล่มรถแทร๊กเตอร์ในนิคมของชาวยิว จนต้องหยุดทำงาน แต่แล้วในวันที่ ๗ เมษายน ๑๙๖๗ รถแทร๊กเตอร์ที่ติดเกราะกันกระสุนก็กลับมาทำงานต่อ ฝ่ายซีเรียก็เปิดฉากยิงถล่มรถแทร๊กเตอร์ของอิสราเอลเหมือนเคย คราวนี้อิสราเอลส่งเครื่องบินรบ โจมตีฐานปืนของซีเรีย ฝ่ายซีเรียก็ยิ่งยิงถล่มหนักขึ้นกว่าเดิม คราวนี้อิสราเอลจึงส่งเครื่องบินรบโจมตีที่ตั้งทางทหารของซีเรีย บริเวณที่ราบสูงโกลัน ตลอดแนวชายแดนยาว ๗๖ กม. รวมถึงบินไปโจมตีถึงกรุงดามัสกัส ทำให้เครื่องบิน MiG-21 ของซีเรียพังไป ๖ เครื่อง ไม่นับรวมรถถัง, ปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิดของซีเรียอีกจำนวนมากที่ถูกทำลาย สหประชาชาติต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายยุติการปะทะก่อนจะกลายเป็นสงครามใหญ่

เรื่องไม่ยุติลงเท่านี้ เพราะโซเวียตประกาศสนับสนุนกลุ่มชาติอาหรับเต็มที่ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ประธานเสนาธิการร่วมของกองกำลังแห่งชาติอาหรับ ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการกองกำลังฉุกเฉินของสหประชาชาติให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ซึ่งเป็นแนวกันชนระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล กองกำลังนี้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ตามคำสั่งของเลขาธิการสหประชาชาติในเวลานั้นคือ อูถั่น (ชาวพม่า)

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม อียิปต์ ทำการปิดช่องแคบติรานอีกครั้ง ไม่ให้เรือของอิสราเอลผ่านเข้าออก สหรัฐฯ ในฐานะผู้รับประกันว่า ช่องทางเดินเรือดังกล่าวจะต้องเปิดใช้ได้อย่างเสรี ปรึกษาหารือกับชาติพันธมิตร แต่ได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากอังกฤษและเนเทอร์แลนด์

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม, อียิปต์ ลงนามในสนธิสัญญาร่วมมือกันทางทหารกับจอร์แดน เนื้อหาสำคัญคือ ประเทศทั้งสองจะร่วมมือกันทางทหารอย่างใกล้ชิด หากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรุกราน ซึ่งเหมือนกับที่อียิปต์เซ็นสัญญาร่วมกับซีเรียก่อนหน้านั้น

หลังจากนั้นกำลังทหารของจอร์แดนก็ไปขึ้นการบังคับบัญชากับอียิปต์ ถึงตอนนี้ประธานาธิบดีนัสเซอร์ แห่อียิปต์ ก็กล่าวว่า ตอนนี้มีกำลังจากสี่ชาติคือ อียิปต์, ซีเรีย, เลบานอน และจอร์แดน ประจำอยู่ตลอดแนวชายแดนติดต่อกับอิสราเอล และยังมีกองกำลังจากชาติอาหรับอื่นๆ ที่ไม่มีพรมแดนติดกับอิสราเอล ที่พร้อมมาสนับสนุนทั้งอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผยด้วยอย่างเช่น อิรัก,อิหร่าน,โอมา,บาร์เรน,การ์ต้า,แอลจีเรีย, คูเวต, ซูดาน,...อิสราเอลนั้นทราบดีว่า กษัตริย์ ฮุสเซน ไม่เต็มใจจะรบกับอิสราเอลเท่าไหร่ แต่คราวนี้ถ้าพระองค์ไม่ร่วมมือกับชาติอาหรับอื่นๆ มีหวังถูกโค่นจากราชบัลลังก์แน่ เพราะหากไม่ทรงรบกับอิสราเอล ในจอร์แดนคงต้องเกิดสงครามกลางเมือง ตอนนี้กำลังของชาติอาหรับที่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนอยู่ห่างจากชายแดนอิสราเอลทางด้านจอร์แดนเพียง ๑๗ กม. กองกำลังนี้สามารถโจมตีและตัดขาดประเทศอิสราเอลได้ภายใน ๙๐ นาทีเท่านั้น

ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพยายามใช้ทุกวิถีทางในความพยายามยับยั้งการกระทำของกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล เพราะตอนนี้โซเวียตถือหางข้างฝ่ายอาหรับอย่างเต็มที่ ทั้งโดยการสนับสนุนด้านอาวุธยุทธภัณฑ์และด้านการทูต

ก่อนเกิดสงคราม, อียิปต์มีกำลัง ๑๐๐,๐๐๐ ถึง ๑๖๐,๐๐๐ คน อยู่ในคาบสมุทรซีนาย (๔ กองพลทหารราบ, ๒ กองพลยานเกราะ และ ๑ กองพลทหารราบยานยนต์) รถถัง ๙๕๐ คัน, รถลำเลียงพล ๑,๑๐๐ คัน ปืนใหญ่กว่า ๑,๐๐๐ กระบอก ทั้งนี้ไม่นับรวมทหารที่อยู่ทางด้านของเยเมน ซึ่งขณะนั้นกำลังมีสงครามกลางเมืองอยู่
จอร์แดน มีกำลัง ๕๕,๐๐๐ คน บางส่วนประจำการอยู่ในเยเมน ซีเรีย มีทหาร ๗๕,๐๐๐ คน อิสราเอล มีกำลัง ๒๖๔,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้เป็นทหารประจำการ ๕๐,๐๐๐ คน นอกจากนั้นเป็นกองกำลังสำรอง

กองกำลังของชาติอาหรับที่กำลังเผชิญหน้ากับกองกำลังของอิสราเอลตอนนี้ ถูกวิจารณ์ว่า เทียบชั้นกับทหารอิสราเอลไม่ได้ในทุกๆ ด้าน หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต... ทหารชั้นดีของอียิปต์ ๕๐,๐๐๐ คน รวมทั้งกำลังทางอากาศ เวลานี้ประจำการอยู่ในเยเมน ซึ่งกองกำลังฝ่ายอาหรับเข้าไปสนับสนุนทหารรัฐบาลเยเมนในการสู้รบกับกบฎคองโก 










 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 6 สิงหาคม 2557 16:57:06 น.
Counter : 1835 Pageviews.  

สงคราม 6 วัน (การปฏิบัติการปัจฉิมบท)






เย็นวันที่ 1 มิถุนายน นายพล โมเช่ ดายัน รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล เรียก นายพล ยิสฮัค ราบิน ประธานเสนาธิการทหาร (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของอิสราเอล) พร้อมกับนายทหารที่เกี่ยวข้องเข้าพบเพื่อหารือถึง
แผนการรบ

การปฏิบัติการ:
การโจมตีทางอากาศ
อิสราเอลเปิดฉากการรุกก่อน ด้วยการโจมตีกองทัพอากาศอียิปต์ ที่ถือว่าเป็นกองกำลังทางอากาศใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุด ของกลุ่มชาติอาหรับ อียิปต์มีเครื่องบินรบถึง 450 เครื่อง ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตฝ่ายอิสราเอลกังวลกับการที่ฝ่ายอียิปต์อาจจะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางแบบ Tu-16 Badger ซึ่งมีอยู่ 30 เครื่อง สามารถทำความเสียหายอย่างมากให้กับที่ตั้งทางทหารและพลเรือนของอิสราเอลได้

เวลา 07:45 (เวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 5 มิถุนายน เสียงไซเรนดังก้องขึ้นทั่วทุกท้องถิ่นของอิสราเอล กองทัพอากาศอิสราเอล เริ่มเปิดยุทธการ Focus เครื่องบินของกองทัพอิสราเอลเกือบทุกเครื่อง (รวมที่เข้าปฏิบัติการนี้ทั้งหมด 196 เครื่อง) ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า มุ่งทำลายเครื่องบินของชาติอาหรับ คงเหลือเครื่องบินขับไล่อีก 12 เครื่องเท่านั้นที่ไม่ได้ร่วมเข้าโจมตี เพราะต้องทำหน้าที่คุ้มกันน่านฟ้าของอิสราเอล ฝูงบินโจมตีของอิสราเอล ทะยานออกสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ก่อนวกกลับมาอียิปต์ ทั้งนี้เพื่อหลบระบบป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายอียิปต์ ที่มีอาวุธหลักคือ จรวดต่อสู้อากาศยานแบบ SA-2 ของโซเวียต ซึ่งก็ให้ประจวบเหมาะกับวันนั้น ท่านจอมพล อาเมอร์ และพลตรี ซิดกิ มาหมุด เดินทางโดยเครื่องบินไปตรวจเยี่ยมผู้บัญชาการทหารในแนวหน้าที่ประจำการเตรียมพร้อมอยู่ที่ซีนาย หน่วยต่อสู้อากาศยานจึงถูกสั่งให้ปิดระบบป้องกันภัยทางอากาศชั่วคราว เพราะเกรงว่า จะมีใครเกิดกดปุ่มจรวดยิงเครื่องบินของท่านแม่ทัพ

เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย เครื่องบินอิสราเอลก็บินเรี่ยพื้นเพื่อหลบเรดาร์ตรวจการณ์ของฝ่ายอียิปต์ เป้าหมายแรกเป็นฐานทัพอากาศของอียิปต์ 11 แห่ง นักบินอิสราเอลพบว่า เครื่องบินรบของอียิปต์จอดเป็นแถวอยู่บนสนามบิน โดยไม่มีที่กำบังเลย เครื่องบินของอิสราเอลประเคนอาวุธแทบทุกอย่างเข้าใส่เครื่องบินรบอียิปต์ที่จอดเป็นเป้านิ่ง ผลก็คือถูกทำลายไม่เหลือ จากนั้นนักบินอิสราเอลก็รีบนำเครื่องกลับ ใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงและติดอาวุธใหม่เพียง 7 นาที 45 วินาที แล้วก็บินขึ้นมาโจมตีระลอกที่สอง เมื่อเวลา 09:30

เป้าหมายคราวนี้เป็นฐานบินของอียิปต์อีก 14 แห่ง คราวนี้เครื่องบินอิสราเอลมีการสูญเสียบ้าง เพราะฝ่ายอียิปต์รู้ตัวแล้ว เครื่องบินอิสราเอลรีบบินกลับฐาน เติมเชื้อเพลิงและติดอาวุธอย่างรวดเร็ว และบินขึ้นมาโจมตีเที่ยวที่ 3 ต่อเมื่อเวลา ๑๒๑๕ ในคราวนี้กองกำลังฝ่ายอาหรับเริ่มตอบโต้ เครื่องบินรบของจอร์แดน ซีเรีย และอิรัค บินเข้ามาโจมตีอสราเอล ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของพลเรือน ทำให้เครื่องบินส่วนหนึ่งของอิสราเอลต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปโจมตีฐานบินของจอร์แดนและซีเรีย เครื่องบินบางส่วนบินสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นของอิสราเอล ในวันแรกของสงคราม 6 วัน กองทัพอากาศอิสราเอลสามารถครองน่านฟ้าเหนือที่ราบสูงโกลาน คาบสมุทรซีนาย และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนได้อย่างเด็ดขาด เครื่องบินของกองทัพอากาศอียิปต์ถูกทำลายเกือบหมด

ผลการโจมตีที่ดีเยี่ยมของฝ่ายอิสราเอลครั้งนี้ต้องยกให้กับการฝึกอย่างหนัก ทั้งนักบิน, ฝ่ายซ่อมบำรุงและฝ่ายสรรพาวุธของกองทัพอากาศอิสราเอล ที่ทำการฝึกอย่างหนักโดยมีเป้าหมายให้เครื่องบินของอิสราเอลสามารถบินขึ้นโจมตีเป้าหมายได้ถึง 4 เที่ยวต่อวัน ทำให้ปฎิบัติการโจมตีทางอากาศของทหารอากาศอิสราเอล สามารถทำลายเครื่องบินฝ่ายอาหรับได้ 452 เครื่อง อิสราเอลเสียเครื่องบินไป 19 เครื่อง ส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องขัดข้อง

การรบภาคพื้นดิน
ฉนวนกาซ่า และคาบสมุทรซีนาย
ที่ซีนาย มีทหารอียิปต์ประจำการอยู่ 7 กองพล ประกอบด้วย 4 กองพลยานเกราะ 2 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลทหารราบยานยนต์รวม 100,000 นาย รถถังราว 900-950 คัน ยังมีรถหุ้มเกราะลำเลียงพลอีก 1,100 คัน ปืนใหญ่อีก 1,000 กระบอก ทั้งหมดวางกำลังตั้งรับแนวลึก ตามหลักนิยมของโซเวียต ที่ให้ทหารราบคอยปะทะกับข้าศึกเป็นส่วนหน้า หน่วยยานเกราะที่มีอำนาจการยิงสูงและไกลกว่าอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนสนับสนุน

อิสราเอลวางกำลัง 3 กองพล แบ่งเป็น 6 กรมยานเกราะ 1 กรมทหารราบ 1 กรมทหารราบยานยนต์ 3 กรมทหารพลร่ม และรถถังอีก 700 คัน รวมกำลังพลทั้งหมดราว 70,000 คน แผนของอิสราเอลคือ การโจมตีแบบที่ฝ่ายอียิปต์คาดไม่ถึงด้วยการโจมตีฐานบินของอียิปต์ พร้อมกับทางภาคพื้นดินจะโจมตีโดยเปิดแนวรุก 2 แนวคือ ด้านเหนือ และแนวกลาง อย่างที่ฝ่ายอิสราเอลเคยใช้ในสงครามปี 1956 (วิกฤติการณ์คลองสุเอซ) ส่วนกองทัพอากาศจะโจมตีแนวกลางและแนวด้านใต้ ยุทธวิธีการรบจะใช้แบบกองกำลังผสมทำการตีโอบ มากกว่าจะใช้หน่วยรถถังเข้าตีตรงๆ (ยุทธวิธีการรบตามแบบโซเวียตนั้น เป็นการประยุกต์มาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งโซเวียตถูกหน่วยรถถังของเยอรมันบุก รถถังของเยอรมันมีประสิทธิภาพสูงกว่าของโซเวียต ดังนั้นการปะทะกันระหว่างรถถังกับรถถัง โซเวียตจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จึงนำการรบร่วมระหว่างทหารราบกับรถถังมาใช้)

กองพลด้านเหนือ มีกำลัง 3 กรมยานเกราะ บัญชาการโดยพลโท อิสราเอล ทัลหนึ่งในผู้บัญชาการหน่วยยานเกราะที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิสราเอล หน่วยยานเกราะของอิสราเอลรุกคืบหน้าไปอย่างช้า ๆ ผ่านฉนวนกาซ่าและเอล อาริซ โดยมีการต่อต้านไม่มากนัก กองพลด้านกลาง อยู่ภายใต้การบัญชาการของพลโท อัฟราฮัม ย๊อฟเฟ่ และกองพลด้านใต้ ภายใต้การบัญชาการของพลโท แอเรียล ชารอน ที่มีการปะทะอย่างหนักจากทหารอียิปต์ที่ป้องกันพื้นที่อาบู-อกีล่า-คุซไซม่า จนเรียกการรบที่แห่งนี้ว่า การยุทธ์ที่อาบู-อกีล่า (Battle of Abu-Ageila) กำลังของอียิปต์มีทหารราบ 1 กองพล (พล.ร.2) หนึ่งกรมรถถัง (๒ พัน ถ.ธ-34/85) และหนึ่งกองพันปืนโจมตีต่อต้านรถถัง(SU-100, 30 คัน) นายพล ชารอน ต้องใช้ทั้งรถถังทหารราบ และทหารพลร่ม ร่วมกันโจมตีตัดแนวป้องกันของฝ่ายอียิปต์สำเร็จ ใช้เวลา 3 วันครึ่งจึงยึดอาบู-อากีล่าได้สำเร็จ การสูญเสียอาบู-อากีล่า ทำให้ท่านจอมพล อับเดล ฮาคิม อาเมอร์ รัฐมนตรีกลาโหม ค่อนข้างปริวิตก แม้ว่าหน่วยทหารบางหน่วยจะยังคงอยู่ในที่ตั้ง และยังไม่มีการปะทะกับทหารของอิสราเอล แต่ท่านจอมพล ก็สั่งการให้ทหารอียิปต์ทีเหลืออยู่ในซีนายถอนกำลังมาตั้งแนวรับใหม่ ทางฝั่งตะวันตกของคลองสุเอซ กองบัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอลตัดสินใจไม่ไล่ติดตามทหารอียิปต์ที่กำลังถอย แต่จะอ้อมไปดักที่ช่องเขาทางตะวันตกของซีนายที่เป็นทางผ่านสู่คลองสุเอซ

2 วันต่อมา กองพลทั้งสามกองพลของอิสราเอล (กองพลของนายพลชารอนและของนายพล ทัล ได้รับหน่วยยานเกราะเสริมอีก 1 กรม) และเร่งรีบมุ่งไปทางตะวันตกแต่ก็มิสามารถปิดช่องเขาที่เป็นทางผ่านสู่คลองสุเอซได้หมด ทหารอียิปต์ส่วนใหญ่เล็ดลอดข้ามคลองสุเอซไปได้ ใน 4 วันหลังปฏิบัติการ อิสราเอลสามารถเอาชนะกองทหารของอาหรับที่ใหญ่ที่สุด มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากที่สุดได้

วันที่ 8 มิถุนายน, อิสราเอลสามารถยึดคาบสมุทรซีนายได้ทั้งหมด ปัจจัยที่ทำให้อิสราเอลได้รับชัยชนะครั้งนี้น่าจะได้แก่:
1. ความเหนือกว่าของกองทัพอากาศอิสราเอล ทำให้สามารถครองน่านฟ้าได้อย่างสมบูรณ์
2. ความคิดริเริ่มและความสามารถในการประยุกต์แผนการรบให้เหมาะสมกับสถานการณ์
3. ความล่าช้าของทหารอียิปต์ในการประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆ ตรงจุดนี้ทำให้อิสราเอลสามารถใช้เป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจสำหรับแนวรบด้านอื่นได้อย่างดี

ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
เป็นที่ทราบอยู่ว่า จอร์แดนไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมรบในสงครามคราวนี้เท่าใดนัก มีข่าวบางกระแสบอกว่า ประธานาธิบดี นัสเซอร์ บอกกษัตริย์ฮุสเซนว่า เขาได้รับชัยชนะ ภาพที่ปรากฏในจอเรดาร์คือ เครื่องบินอียิปต์ที่บินไปทิ้งระเบิดอิสราเอล (ที่จริงคือ เครื่องบินอิสราเอลกำลังบินกลับมาหลังโจมตีอียิปต์แล้ว) กษัตริย์ ฮุสเซนจึงตัดสินใจสั่งให้กองทัพจอร์แดนที่ประจำการอยู่ที่เวสท์ แบงค์ บุกเข้าไปในพื้นที่เฮบรอน เพื่อพบกับกองทัพอียิปต์ ก่อนสงคราม กำลังของจอร์แดนมี 11 กรม ประกอบด้วยทหาร 55,000 นาย รถถังรุ่นใหม่จากตะวันตก ในจำนวนนี้ 9 กรม (ทหาร 45,000 นาย รถถัง 270 คัน ปืนใหญ่ 200 กระบอก) ประจำการอยู่ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งรวมทั้งกรมยานเกราะที่ 40 และกรมที่ 2 ซึ่งอยู่ในหุบเขาจอร์แดน กองทหาร Arab Legion เป็นทหารอาชีพ มีอาวุธที่ทันสมัย และมีการฝึกที่ดี แต่ก็ยังตามหลังอิสราเอลอยู่ครึ่งก้าว กองทัพอากาศจอร์แดน มีเครื่องบินขับไล่ Hawker Hunter ของอังกฤษ เพียง 24 เครื่อง ซึ่งมีสมรรถนะเทียบเท่ากับเครื่องบินขับไล่ Mirage III ที่ถือว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ดีที่สุดของอิสราเอลในเวลานั้น.

ฝ่ายอิสราเอลมีทหารที่เตรียมรับมือทหารจอร์แดนจากเวสท์ แบงค์ ประมาณ 40,000 นาย รถถัง 200 คัน (8 กรม) สังกัดกองกำลังส่วนกลาง กำลังทหาร 2 กรมประจำการอยู่ใกล้เยรูซาเล็ม ชื่อว่า กรมทหารเยรูซาเล็ม และกรมทหาร ฮาเรล (กรมทหารราบยานยนต์) กรมทหารพลร่มที่ 55 ของนายพล มอร์เดซาย เกอร์ เตรียมพร้อมตรงแนวด้านซีนาย กรมยานเกราะอีก 1 กรมสำรองไว้ที่ Latrun กรมยานเกราะที่ 10 ประจำการอยู่ทางเหนือของเวสท์ แบงค์ กองบัญชาการภาคเหนือของอิสราเอล มีกำลัง 1 กองพล (3 กรม) บัญชาการโดยพลโท อีล๊าด เปเลด ประจำการอยู่ทางเหนือของเวสท์ แบงค์ ใน Jezreel Valley แผนยุทธศาสตร์ของกองทัพอิสราเอลยังคงตั้งรับตลอดแนวรบด้านจอร์แดน, เพื่อรอดูสถานการณ์รบด้านอียิปต์ก่อน อย่างไรก็ตามในเช้าของวันที่ 5 มิถุนายน กำลังของจอร์แดนก็รุกล้ำเข้ามาในเยรูซาเล็ม และเข้ายึดสำนักงานซึ่งตอนนี้ใช้เป็นกองบัญชาการของเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ และฝ่ายจอร์แดนยิงปืนใหญ่มายังกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก กองทัพอากาศจอร์แดนก็ส่งเครื่องบินมาโจมตีสนามบินของอิสราเอล แต่ความเสียหายมีไม่มากเพราะอิสราเอลอยู่ในสภาพพร้อมรบ เครื่องบินอิสราเอลจึงบินไปโจมตีกำลังของจอร์แดนทางฝั่งเวสท์ แบงค์ ตอนบ่ายเครื่องบินอิสราเอลก็ไปถล่มฐานบินของจอร์แดนเรียบร้อย ตกเย็น กรมทหารราบเยรูซาเล็ม ก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ทางใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม ขณะเดียวกัน กรมทหารราบยานยนต์ 'ฮาเรล' และทหารพลร่มของนายพล เกอร์ ก็เคลื่อนกำลังตีโอบมาจากทางเหนือ

วันที่ 6 มิถุนายน กำลังของอิสราเอลเข้าสู่ที่ตั้งตามแผนแล้วก็เข้าโจมตี กรมทหารพลร่มปะทะอย่างดุเดือดกับทหารจอร์แดนที่ Ammunition Hill กรมทหารราบเยรูซาเล็มก็เข้าตีทหารจอร์แดนที่บริเวณป่า แถบ Latrun และยึดพื้นที่ได้ตอนรุ่งเช้า จากนั้นก็รุกต่อไปตามเส้นทางที่เชื่อมระหว่าง Beit Horon ไปยัง Ramallah ทางด้านกรมทหารราบยานยนต์ 'ฮาเรล' ก็เข้าผลักดันกำลังของจอร์แดนที่อยู่ในเขตภูเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม ที่เชื่อมวิทยาเขต Mount Scopus ของมหาวิทยาลัยฮิบรู กับบริเวณตัวเมืองกรุงเยรูซาเล็ม ตกเย็นทหารอิสราเอลก็ถึง Ramallah เครื่องบินกองทัพอากาศอิสราเอลโจมตีกรมที่ 60 ของจอร์แดน ที่กำลังเดินทางมาจาก Jericho เพื่อเสริมกำลังทหารฝ่ายตนในเยรูซาเล็ม ทางด้านเหนือกองพลของนายพล เปเลด ส่งทหาร 1 กองพันไปหาข่าวการป้องกันของฝ่ายจอร์แดนในหุบเขาจอร์แดน (Jordan Valley) กำลังอีกกรมเข้ายึดด้านตะวันตกของเวสท์ แบงค์ไว้ได้ กำลังอีกส่วนยึด Jenin ได้เช่นกัน กรมที่ 3 ที่มีรถถังเบา AMX-13 ปะทะกับรถถังหนัก M48 Patton ของจอร์แดนอยู่ทางด้านตะวันออก

วันที่ 7 มิถุนายน มีการสู้รบอย่างรุนแรง กรมทหารพลร่มของนายพล เกอร์ รุกเข้าสู่เขตเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม มุ่งไปสู่ Lion's Gate เข้ายึดกำแพงตะวันตกและ Temple Mount ได้แต่ก็สูญเสียไปพอสมควร กรมทหารราบเยรูซาเล็มเข้ามาเสริมกำลังและรุกต่อเนื่องไปทางใต้ ยึด Judea, Gush Etzion และ Hebron ได้อีก กรมทหาร 'ฮาเรล' รุกคืบหน้าไปทางด้านตะวันออกจนถึงแม่น้ำจอร์แดน ทางด้านเวสท์ แบงค์ ทหารของนายพล เปเลด ยึด Nablus ได้ และร่วมกับกรมยานเกราะจาก บก.ส่วนกลาง สู้รบกับกำลังของจอร์แดนที่มีอาวุธดีกว่าแต่จำนวนพอ ๆ กัน

ก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่ พระเอกก็ขี่ม้าขาวมาช่วย กองทัพอากาศส่งเครื่องบินมาโจมตีทหารจอร์แดน จนในที่สุดทหารอิสราเอลชนะ แล้วก็ยึดหัวสะพานข้ามแม่น้ำจอร์แดนที่ฝ่ายจอร์แดนสร้างเอาไว้ ก่อนที่ทหารอิสราเอลจะรุกเข้าไปในดินแดนของจอร์แดนมากกว่านี้ สหรัฐอเมริกาก็เข้ามาปราม ๆ ไว้ก่อน

ที่ราบสูงโกลาน
แรงจูงใจที่ทำให้ผู้นำซีเรียตกลงใจทำสงครามครั้งนี้คือ รายงานของอียิปต์ที่กล่าวว่า ได้รับชัยชนะต่อกองทัพอิสราเอลในคาบสมุทรซีนาย และเมื่อเห็นปืนใหญ่ (จอร์แดน) ถล่มกรุงเทลอาวีฟ ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ซีเรียตัดสินใจทำสงคราม ฉากแรกของแนวรบด้านนี้คือ การที่ปืนใหญ่ของซีเรียเริ่มยิงถล่มด้านเหนือของอิสราเอล หลังจากเครื่องบินรบของอิสราเอลจัดการกับอียิปต์เรียบร้อยก็พุ่งเป้าไปจัดการกับกองทัพอากาศซีเรีย ถึงตรงนี้ ซีเรียก็เริ่มรู้ตัวว่า ข่าวที่ได้มาจากอียิปต์ไม่เป็นความจริง เย็นวันที่ 5 มิถุนายน กำลังทางอากาศของซีเรียถึง 2 ใน 3 ถูกเครื่องบินรบของอิสราเอลทำลาย ที่เหลือต้องย้ายไปตั้งหลักยังสนามบินที่ห่างไกลและปลอดภัยกว่า สรุปว่า เครื่องบินของซีเรียไม่มีบทบาทออกมาสนับสนุนกำลังภาคพื้นดินได้เลย กำลังทหารของซีเรียบางส่วนพยายามเข้ายึดแหล่งน้ำที่ Tel Dan ทำให้รถถังซีเรียหลายคันจมลงสู่ก้นแม่น้ำจอร์แดนหลังพยายามข้ามน้ำมาโจมตีอิสราเอล ในที่สุด ผู้บัญชาการของซีเรียก็ล้มเลิกความคิดที่จะบุกเข้าโจมตีอิสราเอล หันมาใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มชุมชนชาวยิวในหุบเขา Hula ดีกว่า 

วันที่ 7 และ 8 มีการหารือกันในระหว่างผู้บัญชาการระดับสูงของอิสราเอลว่า จะจัดการกับที่ราบสูงโกลานอย่างไร กองทัพซีเรีย มีกำลังประมาณ 75,000 นาย แบ่งเป็น 9 กรม สนับสนุนด้วยยานเกราะและปืนใหญ่ ส่วนอิสราเอลมีกำลังทั้งหมด 4 กรม แบ่งกำลัง 2 กรมอยู่ทางด้านเหนือของแนวรบ อีก 2 กรม อยู่ตรงกลาง อิสราเอลได้ข้อมูลเส้นทางที่จะใช้ตีโอบทหารซีเรียจากหน่วยสืบราชการลับ มอสสาด ก่อนเริ่มทำการบุก กองทัพอากาศอิสราเอล ทำการโจมตีฐานปืนใหญ่ของซีเรียถึงสี่วัน นักบินได้รับคำสั่งให้ถล่มทุกอย่าง แต่ปืนใหญ่ของซีเรียที่เจอกับการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลบ่อยๆ จึงมีการทำที่กำบังอย่างดี ปืนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกทำลาย แต่นอกเหนือจากนี้ได้รับความเสียหายมาก จนทำให้แนวป้องกันของซีเรียหมดประสิทธิภาพ

เย็นวันที่ 9 มิถุนายน ทหารอิสราเอลทั้ง 4 กรม ก็เข้าตีแนวรับของทหารซีเรีย (6 กรม จากทั้งหมด 9 กรม) ที่ตั้งมั่นอยู่บริเวณที่ราบสูงแตก ทหารซีเรียพยายามเสริมกำลังแต่เมื่อไม่มีอะไรดีขึ้น ทหารซีเรียก็ถอนกำลังวันต่อมา (10 มิถุนายน) กำลังด้านเหนือและด้านกลางของอิสราเอลรุกมาพบกันบริเวณที่ราบสูง, แต่ตอนนี้ทหารซีเรียถอนกำลังออกไปหมดแล้ว อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลานได้สมบูรณ์

สงครามทางอากาศ
ในระหว่างสงคราม 6 วัน กองทัพอากาศอิสราเอลแสดงให้เห็นความสำคัญของเวหานุภาพต่อวิกฤตกาลยุคใหม่, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมรภูมิทะเลทราย การเปิดฉากด้วยการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศอิสราเอลในช่วงรุ่งสาง ที่อาศัยความได้เปรียบทางทัศนวิสัย โดยมีพระอาทิตย์เป็นฉากหลัง ทำให้ฝ่ายข้าศึกสังเกตเห็นได้ยาก ผลจากการโจมตีกำลังทางอากาศของฝ่ายอาหรับทำให้ กองทัพอากาศอิสราเอลครองน่านฟ้าในทุกแนวรบ  ยุทธศาสตร์ทางอากาศทำให้กองทัพอากาศอิสราเอลสามารถให้การสนับสนุนกำลังรบภาคพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำลายกรมยานเกราะที่ 60 ของจอร์แดน ใกล้ Jericho กำลังเดินทางมาสนับสนุนทหารจอร์แดนที่กำลังสู้รบอยู่ในเยรูซาเล็ม และการโจมตีกรมยานเกราะของอิรัค ที่กำลังเดินทางมาโจมตีอิสราเอลโดยผ่านจอร์แดน หากอิสราเอลไม่สามารถครองอากาศเหนือยุทธบริเวณได้ สถานการณ์ภาคพื้นดินคงหนักหนาสากรรจ์กว่านี้ ในทางตรงข้ามกองกำลังทางอากาศของฝ่ายอาหรับไม่สามารถขยายผลการโจมตีทางอากาศของฝ่ายตนได้ 

ในช่วง 2 วันแรกของการรบ เครื่องบินขับไล่ของจอร์แดนและเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-16 ของอียิปต์ เข้าโจมตีทิ้งระเบิดแนวหลังของอิสราเอล แต่ได้ผลน้อยมาก เครื่องบินทิ้งระเบิดของอียิปต์ถูกยิงตก ส่วนเครื่องบินขับไล่ของจอร์แดนถูกอิสราเอลทำลายขณะจอดอยู่ในฐานบิน ปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆ ที่ส่งผลให้อิสราเอลได้รับชัยชนะทางอากาศคือ ปากคำของนักบินอาหรับเกี่ยวกับปัญหาของเครื่องบิน MiG ของตน ซึ่งอิสราเอลได้นำเครื่องบิน MiG ที่ยึดได้มาทดสอบจนรู้จุดอ่อน และนำข้อมูลเหล่านี้มาฝึกนักบินของตนให้รับมือกับเครื่องบิน MiG ของฝ่ายอาหรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อิสราเอลได้เครื่องบิน MiG-21, 3 เครื่อง จากการที่นักบินอิรัคลักลอบนำเครื่องมาลงอิสราเอล เพื่อลี้ภัยการเมือง ได้เครื่องบิน MiG-17, 7 เครื่อง, 6 เครื่องจากนักบินอัลจีเรียที่ลี้ภัยทางการเมือง และอีก 1 เครื่องจากนักบินซีเรียที่ต้องการขอลี้ภัยเช่นกัน ทั้งหมดขอไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา)

สงครามทางทะเล
สงครามทางทะเลในระหว่างสงคราม 6 วัน ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีการปะทะกันของเรือรบทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์ที่สำคัญคือ อิสราเอลส่งมนุษย์กบ 6 นาย ไปปฏิบัติการในอ่าวเมืองท่าอเล็กซานเดรีย (ทั้งหมดถูกจับ หลังจมเรือกวาดทุ่นระเบิดของอียิปต์ไปหนึ่งลำ) อีกด้านหน่วยปฎิบัติการพิเศษทางเรือของอิสราเอลยึด Sharm el-Sheikh ซึ่งอยู่ใต้สุดของคาบสมุทรซีนายในวันที่ 7 มิถุนายน วันที่ 8 มิถุนายนเรือหาข่าวทางอิเล็กทรอนิกส์ของนาวีสหรัฐฯ (USS Liberty) ถูกกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศของอิสราเอลโจมตี ขณะอยู่นอกฝั่ง Arish ของอียิปต์ ห่างจากฝั่ง 13 ไมล์ เรืออเมริกันได้รับความเสียหายอย่างหนักเกือบจะจม อิสราเอลแถลงว่า เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งยังหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ได้ แต่สหรัฐฯ ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ

วันที่ 10 มิถุนายน การปะทะบนที่ราบสูงโกลานยุติ และมีการเซ็นสัญญาหยุดยิงในอีกวันต่อมา อิสราเอลยึดฉนวนกาซ่า คาบสมุทรซีนาย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (รวมทั้งพื้นที่ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม) และที่ราบสูงโกลาน ของแถมคือ ประชาชนอาหรับอีกราว 1 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในเขตที่อิสราเอลเพิ่งยึดมาได้ อิสราเอลได้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์จากการที่สามารถวางแนวป้องกันทางลึกได้อย่างดี ซึ่งส่งผลต่อสงครามระหว่างอาหรับ-อิสราเอล ในปี 1973 

สงครามครั้งนี้สอนอิสราเอลให้รู้ว่า การใช้ยุทธศาสตร์ที่เริ่มลงมือโจมตีก่อนสามารถเปลี่ยนดุลย์ทางทหารได้ อียิปต์และซีเรียเรียนรู้บทเรียนจากสงครามครั้งนี้เช่นกัน แต่ยังดำเนินยุทธศาสตร์แบบตัวใครตัวมันอยู่ การเปิดสงครามในปี 1973 เป็นความพยายามที่จะชิงพื้นที่ที่สูญเสียไปในการรบครั้งนี้

สรุป:
กำลังรบ
อิสราเอล มีกำลังพลทั้งสิ้น 264,000 นาย (รวมทหารประจำการ 50,000 นาย) เครื่องบินรบ 197 เครื่อง

ฝ่ายอาหรับ มีกำลังพลจากอียิปต์ 150,000 นาย ซีเรีย 75,000 นาย จอร์แดน 55,000 นาย ซาอุดิอารเบีย 20,000 นาย เครื่องบินรบ 812 เครื่อง

การสูญเสีย
อิสราเอล (ตัวเลขทางการ) เสียชีวิต 779 นาย บาดเจ็บ 2,563 นาย ถูกจับ 15 นาย

อาหรับ (ตัวเลขประมาณการ) เสียชีวิต 21,000 นาย บาดเจ็บ 45,000 นาย ถูกจับ 6,000 นาย เครื่องบินกว่า 400 เครื่องถูกทำลาย



ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/warofhistory?ref=ts&fref=ts


หมายเหตุ: ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวโดยย่อของสงคราม 6 วัน แหล่งที่มาของข้อมูลเผื่อมีท่านใดที่สนใจจะหาข้อมูลเพิ่มเติม
Six-Day War - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Six-Day_War
Straits of Tiran - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Straits_of_Tiran
Suez Crisis - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Suez_Crisis
Baath Party - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Ba%27ath_Party
Jordan River - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Jordan_River
National Water Carrier of Israel - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/National_Water_Carrier
Mount Hermon - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Hermon
Golda Meir
//en.wikipedia.org/wiki/Golda_Meir
Israel Border Police
//en.wikipedia.org/wiki/Six-Day_War
Palestine Liberation Organization
//en.wikipedia.org/wiki/PLO
Abba Eban
//en.wikipedia.org/wiki/Abba_Eban
Levi Eshkol
//en.wikipedia.org/wiki/Levi_Eshkol
United Nations Truce Supervision Organization
//en.wikipedia.org/wiki/United_Nations_Truce_Supervision_Organization
Yitzhak Rabin
//en.wikipedia.org/wiki/Yitzhak_Rabin
Operation Focus
//en.wikipedia.org/wiki/Operation_Focus
Second Battle of Abu-Ageila (1967)
//en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Abu-Ageila_%281967%29









 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 24 กรกฎาคม 2557 9:47:42 น.
Counter : 2225 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.