4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
วัดสามวิหาร







วัดสามวิหาร เป็นวัดเก่าวัดหนึ่งในพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา นอกกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนละฝั่งลำน้ำลพบุรี


วัดสามวิหารมีชื่อเรียกในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า วัดสามพิหาร แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ได้กล่าวถึง ที่มีชื่อปรากฏในพงศาวดารก็เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา โดยเฉพาะในเหตุการณ์สงครามซึ่งฝ่ายข้าศึกมักจะเข้ามาใช้เป็นที่ตั้งค่ายบ้าง ใช้เป็นที่บัญชาการทหารเข้าตีพระนครบ้าง ทั้งนี้เพราะที่ตั้งวัดสามวิหารตั้งอยู่นอกเมืองแต่ไม่ไกลกำแพงเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้ง ดังที่บันทึกไว้ในพงศาวดารตามลำดับ ดังนี้

ครั้งที่ 1 ในเหตุการณ์สงครามกับพม่าคราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111) เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๖ เดือน ก็ได้ข่าวพม่ายกทัพเข้ามา จึงโปรดให้แต่งกองทัพไปตั้งขัตตาทัพที่สุพรรณบุรี แต่ทานกำลังข้าศึกไม่ไหว ต้องถอยหนีกลับพระนคร ทัพพม่ายกตามเข้ามาถึงชานพระนครทางทุ่งลุมพลี ด้านเหนือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกพลออกไปตรวจดูกำลังข้าศึก โดยมีพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระสุริโยทัย และพระราชโอรส 2 พระองค์ตามเสด็จออกไปด้วย กองทัพของทั้งสองฝายได้ปะทะกัน สมเด็จพระสุริโยทัยถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง๑ หลังจากนั้นทัพพม่าก็ยกเข้ามาถึงพระนคร พงศาวดารเล่าว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีเสด็จยืนช้างบัญชาการรบอยู่ที่วัดสามวิหาร ความว่า …”สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีเสด็จพระที่นั่งกระโจมทอง ยกพลกองหลวง ออกจากค่าย ข้ามโพธิ์สามต้นมาตามทุ่งเพนียด เสด็จยืนช้างอยู่ ณ วัดสามพิหาร ตรัสให้พระมหาอุปราชต้อนพลเข้าหักพระนคร…”แต่กองทัพไทยระดมยิงปืนใหญ่จนต้องยกทัพกลับค่าย และเมื่อตั้งค่ายอยู่นานขาดเสบียงอาหาร จึงล่าทัพกลับไปทางเหนือ

ครั้งที่ 2 ในเหตุการณ์สงครามกับเขมร สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2112 - 2133) พระยาละแวกยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชา ให้จัดพลทหารประจำการป้องกันพระนคร พระยาละแวกยกทัพเข้ามาปล้นพระนคร ดังที่กล่าวถึงในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ..“พระยาละแวกยกพลเข้ามายืนช้างในวัดสามพิหาร และพลข้าศึกรายกันมาถึงวัดโรงฆ้องและวัดกุฎีทอง..สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปยืนพระราชยาน และให้พลทหารขึ้นรบพุ่ง ข้าศึกก็พ่ายออกไปจึงตรัสให้ยิงปืนจ่ารงเอาช้างข้าศึกซึ่งยืนอยู่ในวัดสามพิหาร นั้นต้องพระจำปาธิราช ซึ่งเป็นกองหน้าตายกับคอช้าง..” ทัพพระยาละแวกยกเข้าปล้นถึงสามครั้งแต่ไม่สำเร็จจึงล่าทัพกลับ

ครั้งที่ 3 ในเหตุการณ์สงครามกับพม่า พระเจ้าอลองพญายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๐๒ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ. 2301 - 2310) ฝ่ายไทยส่งทัพจีนไปรบแต่ถูกตีแตกพ่าย “..พม่าก็ยกกองทัพตามเข้ามาตั้งค่าย ณ เพนียดและวัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร ให้ทำบันไดไว้เป็นอันมากสำหรับจะพาดกำแพงปล้นเอาเมือง..” จากนั้นไทยก็ไมได้ยกกองทัพออกไปรบอีก เป็นแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นไว้ ฝ่ายพม่าได้นำปืนใหญ่มาตั้งในวัดต่างๆ ที่อยู่ริมคูเมืองทิศตะวันตก และทิศเหนือ ยิงเข้าไปในพระนคร กระสุนปืนใหญ่ถูกยอดปราสาทพระที่นั่งสุริยามรินทร์ทำลายลง แต่พระเจ้าอลองพญาประชวร เนื่องจากปืนใหญ่แตกต้องพระกาย พม่าจึงต้องเลิกทัพกลับไป และพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

ครั้งที่ 4 คราวสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ในช่วงปลาย ๆ สงคราม เนเมียวแม่ทัพพม่าค่ายโพธิ์สามต้นยกทัพเข้ามาตีค่ายไทยที่ออกไปตั้งป้องกันพระนครอยู่ทางด้านเหนือแตกกลับเข้ากรุงหมดทุกค่าย แล้วยกมาตั้งค่ายประชิดพระนครข้างด้านเหนือ ที่วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมณฑป วัดกระโจม วัดนางชี วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ ให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นยิงเข้ามาในกรุงทุกๆ ค่าย ต่อมาเมื่อเห็นว่าไทยอ่อนกำลังลงมากก็ให้นายทัพนายกองค่ายวัดสามพิหาร วัดพระเจดีย์แดง วัดมณฑป เกณฑ์ทัพพลทหารยกเข้ามาทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำที่หัวรอริมป้อมมหาชัย.. ครั้นทำสะพานเชือกเสร์จก็ให้ขุดอุโมงค์เข้ามาจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองจนกำแพงเมืองทรุดลง พม่าก็เข้าพระนครได้

ปัจจุบันวัดนี้มีชื่อว่า วัดสามวิหาร ยังคงสภาพเป็นวัดที่มีภิกษุสงฆ์จำพรรษา จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ รวมทั้งรื้อของเก่าสร้างใหม่ แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งก่อสร้างสมัยอยุธยาเหลืออยู่ แม้จะอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาบ้าง เปลี่ยนสภาพไปจากเดิมเนื่องจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ หรือดัดแปลงในสมัยหลังบ้างดังนี้

1. พระอุโบสถ พระอุโบสถที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นของสร้างขึ้นใหม่ทับลงในพื้นที่เดิม ใบเสมาโดยรอบเป็นใบเสมาเก่าด้วยหินชนวนเนื้อละเอียดสีเทา มีขนาดใหญ่ สลักลายแต่เพียงเส้นนูนเป็นสันตรงกลางตามแนวตั้ง โดยมีลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเกลี้ยงๆ คั่นอยู่ ลักษณะของใบเสมาดังกล่าวเชื่อกันว่าน่าจะมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น

2. วิหาร ถัดจากพระอุโบสถไปทางทิศเหนือมีวิหารโถง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ๆ หลายองค์ อาจเป็นพระพุทธรูปเก่า แต่ได้รับการปฏิสังขรณ์เสียใหม่จนกลายเป็นของใหม่ วิหารก็เช่นกันคงจะดัดแปลงมาจากวิหารของเดิมซึ่งชำรุดผุพังไป โดยรื้อผนังออกกลายเป็นวิหารโถง

3. วิหารพระนอน ถัดจากวิหารโถงออกไปเป็นวิหารพระนอน อาคารทั้งหมดคือพระอุโบสถ วิหารโถง และวิหารพระนอน ตั้งเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ภายในวิหารหลังนี้มีพระนอนหรือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ทั้งวิหารและองค์พระนอนได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ อาจจะมีการปฏิสังขรณ์กันมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา จนไม่เหลือร่องรอยเดิมไว้เป็นหลักฐานพอจะกำหนดได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เป็นที่น่าสังเกตว่า เสาภายในวิหารทุกต้นมีการเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมในระดับสูง ประมาณระดับเดียวกับฐานพระนอนเนื่องจากบริเวณนี้เคยมีน้ำท่วมเสมอ ๆ ในหน้าน้ำ จึงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นรูสำหรับสอดไม้แปรองรับพื้นไม้ ซึ่งอาจจะเสริมขึ้นให้พ้นน้ำในช่วงน้ำท่วมก็เป็นได้

4. เจดีย์หน้าวิหารพระนอน เป็นเจดีย์ทรงเครื่องขนาดย่อมฐานสูงย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณย่อมุมไม้สิบสอง มีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณด้านทิศใต้ ฐานเจดีย์ประกอบด้วยฐานสิงห์ 3 ชั้นตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานเตี้ย ๆ 3 ชั้น เหนือฐานสิงห์ขึ้นไปเป็นบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆังทรงกลม หรือทรงระฆังรูปร่างสูงเพรียว องค์ระฆังประดับปูนปั้นเป็นลายพวงอุบะโดยรอบ ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มซ้อนกันขึ้นไป ยังเหลืออยู่ 3 ชั้น จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมดังกล่าว และรายละเอียดของลวดลายประดับฐานเจดีย์ซึ่งประกอบด้วยแข้งสิงห์รูปร่างเรียวยาว ทำให้กำหนดอายุได้ว่าเจดีย์องค์นี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

5. เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ตรงกันกับวิหารหลังกลางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นเจดีย์
ทรงกลมหรือทรงระฆังขนาดใหญ่บนฐานสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นฐานประทักษิณเช่นเดียวกับเจดีย์วัดแม่นางปลื้ม ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ไม่มีสิงห์ตั้งประดับอยู่บนฐานประทักษิณเช่นที่วัดแม่นางปลื้ม องค์ระฆังมีลวดลายปูนปั้นประดับยังเหลือให้เห็นอยู่บางส่วน ที่ยังเหลือพอที่จะเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ลวดลายกลีบบัวที่ส่วนล่างขององค์ระฆัง ที่เรียกกันว่า บัวปากระฆัง

เมื่อพิจารณารูปแบบสถูปเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจำแนกไว้เป็นยุคต่าง ๆ รวม 4 ยุค ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับและยึดถือกันอยู่จะเห็นได้ว่าเจดีย์องค์นี้มีลักษณะตรงกับรูปแบบของเจดีย์ในยุคที่ 2 ได้แก่ ช่วงเวลาจากสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ด้วยเหตุที่วัดสามวิหาร เป็นวัดที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางเอกสารซึ่งมีกล่าวถึงในพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ประธาน พอจะสรุปได้ว่าคงจะสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณสมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง และคงจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดจนก่อสร้างเพิ่มเติมต่อๆ กันมา ดังปรากฏหลัฐานให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ จัดเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทั้งในด้านศิลปะประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2486 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 59 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2535
........


ที่มา : //watsamwiharn.igetweb.com/








Create Date : 21 กรกฎาคม 2557
Last Update : 22 กันยายน 2560 16:20:39 น. 0 comments
Counter : 1489 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.