4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
สมบัติใต้ดินบ้านเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ : มรดกทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือมา.






เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรหนักใกล้จะสวรรคตนั้น บรรดาชาวต่างชาติ ที่พระองค์ทรงชุบเลี้ยงไว้พากันขวัญหนีดีฝ่อ และต่างหลบหนีเอาต
ัวรอด ขณะที่กองทหารของพระเพทราชาออกกวาดต้อนจับกุมพวกฝรั่งเศสที่สนับสนุนฝ่ายกบฏ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ เป็นหัวหน้าชาวฝรั่งเศสที่ถูกหมายหัวในลำดับต้นๆ และใกล้หมดบุญเต็มที ก่อนที่เขาจะถูกจับไปประหารชีวิตในชั่วโมงสุดท้ายแห่งอิสรภาพ เขามีเวลาเพียงแค่ซุกซ่อนสมบัติที่มีค่าสุดให้พ้นภัยเท่านั้น มันเป็นของสำคัญที่จะต้องรักษาไว้ให้ได้ สิ่งนั้นคืออะไร?

สมบัติที่ว่านี้เป็นของชาวฝรั่งเศสที่ตกค้างอยู่ในลพบุรี ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑/ค.ศ. ๑๖๕๖-๘๘) ในรัชสมัยนี้เป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ทรงโปรดปรานขุนนางฝรั่งคนหนึ่งชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าฟอลคอน) ถึงกับแต่งตั้งให้เป็นถึงสมุหนายก มีอำนาจหน้าที่ดูแลพระคลังและการต่างประเทศในช่วง ๑๐ ปีสุดท้ายของรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมบัติของฟอลคอนถูกเปิดเผยอยู่ในหนังสืออุโฆษสมัยของโรงเรียนอัสสัมชัญ ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๓๐ หรือ ๒๔๒ ปี ภายหลังที่มันถูกฝังไว้ใต้คฤหาสน์ของเขา และหลังจากมีผู้ขุดมันขึ้นมา แล้วพยายามขายทอดตลาดสมบัติเหล่านั้น ต่อมาของบางส่วนก็ตกมาถึงมือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจนเรื่องแดงขึ้นมา 

อุโฆษสมัยรายงานเรื่องนี้ไว้เมื่อเกือบ ๘๓ ปีมาแล้ว นับถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ แต่ความรู้ก็สูญหายไปอีกพร้อมกับหนังสืออุโฆษสมัยฉบับนั้น ผู้เขียนบทความนั้นเห็นว่าหลักฐานชิ้นนี้ยังเป็นชิ้นส่วนของประวัตินายฟอลคอนที่จะช่วยให้บทบาทของเขาปิดฉากลงได้อย่างยุติธรรม และเป็นเรื่องที่ควรได้รับการเปิดเผย 

การได้รื้อฟื้นเรื่องของฟอลคอน ช่วยให้เราสามารถมองเห็นมิติต่างๆ ของประวัติศาสตร์อยุธยาทั้งด้านมืด และด้านสว่าง ซึ่งจำเป็นต้องดึงความหมายจากข้อมูลของทุกฝ่ายมาประกอบกัน เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องของอดีต ที่อยู่ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างออกไปจากข้อมูลของปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง จะขอกล่าวประวัติของฟอลคอนไว้ย่อๆดังนี้

อาจารย์สมบัติ พลายน้อย นักประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีชื่อเสียงเขียนว่า ฟอลคอน เป็นชาวกรีกโดยกำเนิด รักการผจญภัยจึงบ่ายหน้าออกสู่โลกกว้าง ต่อมาก็ผันตัวมาเป็นพ่อค้าต่างชาติค้าขายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคที่ “เครื่องเทศ” เป็นสินค้าที่ทางยุโรปต้องการมาก สร้างผลกำไรและโอกาสให้นักเดินเรือชาวยุโรปหัวใส ที่รู้จักหาวิธีค้าขายสินค้าประเภทนี้ และเป็นหนทางส่งเสริมให้ฟอลคอนสร้างฐานะอย่างรวดเร็ว

ในช่วงเวลาที่ฟอลคอนรุ่งเรืองถึงขีดสุด อำนาจหน้าที่ของฟอลคอนในเวลานั้น ถ้าเป็นปัจจุบันก็เปรียบได้กับ รมต.ว่าการกระทรวงพาณิชย์ ควบ รมต.ว่าการกระทรวงการคลัง และควบรวมนายกรัฐมนตรี เข้าไปอีกตำแหน่งหนึ่ง และเริ่มจะเป็นที่อิจฉาริษยาของขุนนางไทยทั่วไป แต่ก็ยังไม่มีใครเบียดบังเขาได้เพราะฟอลคอนมีบารมีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคุ้มศีรษะอยู่

เมื่อเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ถึงแก่อสัญกรรม ใน พ.ศ. ๒๒๒๖ ฟอลคอนก็ได้ทำงานในหน้าที่แทน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชดำริจะแต่งตั้งให้ฟอลคอนเป็นเจ้าพระยาจักรี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดชั้นอัครเสนาบดี แต่ฟอลคอนก็ฉลาดพอที่จะปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน เพราะตำแหน่งที่เป็นอยู่ในขณะนั้นก็ได้รับความนับถือจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากพอแล้ว แต่ในอีกเหตุผลหนึ่งฟอลคอนตระหนักดีว่าตำแหน่งอันใหญ่โตนั้น จะสร้างความไม่พอใจให้กับเสนาบดีไทยที่จับตาดูเขาอยู่อย่างไม่ไว้วางใจ

เพียงระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปีเศษ ที่ฟอลคอนได้เข้ามารับราชการในเมืองไทย เขาก็ได้กอบโกยเอาความร่ำรวยและอำนาจวาสนาไว้เสียคนเดียว ความร่ำรวยของฟอลคอนทำให้เขาใช้ชีวิตจนเกินตัว กินอยู่อย่างฟุ่มเฟือย มีคฤหาสน์ที่ใหญ่โตทั้งในอยุธยาและที่ลพบุรี ในเขตจวน ที่พักก็ยังมีโบสถ์คาทอลิกที่ตกแต่งอย่างประณีต ดังเช่น โบสถ์ของเจ้านายตามพระราชวังในประเทศฝรั่งเศส

เขามีทหารรับใช้เป็นชาวฝรั่งเศสถึง ๒๐ นาย คอยติดตามไปในที่ต่างๆ มีเลขานุการเป็นชาวอังกฤษชื่อแบชพูล อาหารที่รับประทานแต่ละมื้อก็ต้องจัดอย่างฝรั่งเตรียมพร้อมไว้พอที่จะเลี้ยงแขกเหรื่อได้ไม่ต่ำกว่า ๔๐ คนทุกวัน และเขามักจะผูกมัดจิตใจของผู้คนด้วยของกำนัล ซึ่งก็มาจากท้องพระคลังนั่นเอง เครื่องบรรณาการที่ฟอลคอนจัดส่งไปถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และบรมวงศานุวงศ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ดีที่สุดสั่งตรงเข้ามาจากฝรั่งเศส

แม้แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงทราบกิตติศัพท์และความฟุ้งเฟ้อของฟอลคอน จึงได้พระราชทานเกียรติยศและของขวัญต่างๆ ที่มีราคาเข้ามาปรนเปรอเขาอยู่เนืองๆ เช่นกัน

แต่เหตุผลทางการเมืองก็ดูจะยิ่งใหญ่กว่า และเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น เมื่อมีกระแสข่าวว่าฟอลคอนคิดจะยกเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของไทยในสมัยนั้นถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยที่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ตอบสนองความคิดนั้นด้วยการจัดส่งกองทหารจากฝรั่งเศสจำนวน ๔๙๓ นาย (แต่ในจำนวนนี้ต้องมาเสียชีวิตกลางทางเสีย ๑๔๓ นาย-ผู้เขียน) เข้ามากับเรือรบที่นำออกพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) ราชทูตไทยกลับมาจากฝรั่งเศสเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ จากภายนอกมันดูเหมือนกับส่งมาช่วยราชการในเมืองไทย แต่กลับเป็นสาเหตุให้ขุนนางไทยระแวง ว่าฝรั่งเศสต้องการใช้กำลังยึดไทยเป็นเมืองขึ้น ความรู้สึกนี้รุนแรงขึ้น เมื่อฟอลคอนเจ้ากี้เจ้าการให้ทหารฝรั่งเศสปกครองแขก และทหารไทยในกองทัพ อันเป็นชนวนให้ขุนนางไทยเริ่มคิดการที่จะล้มล้างราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ฝักใฝ่ฝรั่งเศสจนเกินไป

พงศาวดารไทยวิเคราะห์ว่า ฟอลคอนเป็นตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์ของไทย และฝรั่งเศสเสื่อมทรามลงในสมัยอยุธยา และเป็นเหตุให้ชีวิตของเขาต้องอับจนลงอย่างรวดเร็ว เพราะความมัวเมาในอำนาจ และทรัพย์สมบัติเท่านั้น มิได้มีความจริงใจต่อฝ่ายใดเลย

ปัญหายุ่งยากหลายประการ ที่สะสมมาจนถึงช่วงเวลาทรงพระประชวรหนักจวบจนเสด็จสวรรคต ปัญหาสำคัญทางการเมืองคือ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่สมุหนายก ซึ่งมีกองกำลังทหารฝรั่งเศสในบังคับบัญชาของนายพลเดส์ฟาร์จอยู่ประจำที่เมืองบางกอก ต้องการสนับสนุนหม่อมปีย์ ราชโอรสบุญธรรมให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วนสมเด็จพระเพทราชาคุมกำลังทหารฝ่ายไทย มีพระสงฆ์ ขุนนาง ประชาชนและพวกฮอลันดาหนุนหลังอยู่ในเบื้องแรกก็แสดงออกว่าสนับสนุนพระอนุชา ๒ พระองค์ให้ขึ้นเสวยราชย์ ทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวพริบกัน ท้ายที่สุดเจ้าพระยาวิไชเยนทร์พ่ายแพ้ถูกประหารชีวิต ส่วนผู้ที่ตั้งใจให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของทั้งสองฝ่ายก็ต้องถูกประหารชีวิต และสำเร็จโทษหมด สมเด็จพระเพทราชาจึงขึ้นเสวยราชย์แทนหลังจากที่ปฏิวัติยึดอำนาจสำเร็จใน พ.ศ. ๒๒๓๑ (ค.ศ. ๑๖๘๘) เป็นผลให้เกิดพระราชวงศ์ใหม่คือ บ้านพลูหลวง และเป็นมูลเหตุของความตกต่ำของฟอลคอน

ดังนั้น พระเพทราชาผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาลและมีกำลังพลในสังกัดจำนวนหลายพัน โดยมีหลวงสุรศักดิ์บุตรชายเป็นกำลังสำคัญ จึงก่อการกบฏยึดอำนาจขึ้นในวังหลัง ก็เพราะไม่พอใจในอำนาจ และอิทธิพลของฟอลคอน

ฟอลคอนถูกจับ ถูกทรมานและนำไปประหารชิวต แต่ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย คฤหาสน์อันใหญ่โตของเขาก็ถูกยึด ถูกรื้อค้นทรัพย์สินถูกทำลาย สมบัติเป็นอันมากถูกลักขโมยออกไปอย่างที่ไม่อาจประเมินได้ เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์ในละแวกใกล้เคียงก็ถูกปล้นสะดม และเผาทำลายอย่างโกรธแค้น โดยทหารฝ่ายตรงกันข้าม และพวกมือที่สามที่ขณะนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

แต่ก็ยังมีหลักฐานเพิ่มเติมว่านางฟอลคอน ภรรยาของเขาได้แบ่งทรัพย์สิน และเครื่องเพชรออกเป็น ๓ กล่อง แล้วนำไปฝากไว้กับคณะบาทหลวงเยซูอิต ๒ กล่อง ส่วนอีกกล่องหนึ่งมอบให้นายร้อยทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งไป

ต่อมาบาทหลวงเยซูอิตผู้นั้นเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงฝากกล่องเครื่องเพชร ๒ กล่องกับนายพันโบชองส์ ลงไปเก็บที่ป้อมของฝรั่งเศสที่เมืองบางกอก ส่วนนายร้อยผู้เก็บรักษากล่องที่ ๓ ก็นำลงไปที่บางกอกเอง ทันทีที่ทั้งบาทหลวงและนายพันโบชองส์เดินทางมาถึง นายพลเดส์ฟาร์จผู้บัญชาการกองกำลังฝรั่งเศสก็เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินทั้งหมดไว้ แต่ก็ปรากฏหลักฐานต่อมาว่า เมื่อมีการคืนทรัพย์สินของฟอลคอนให้กับออกญาโกษาธิบดี ผู้แทนของทางการไทยในภายหลังแล้ว “ทรัพย์สินที่คงเหลือมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น” (อ่านจุดจบของสมบัติกล่องที่ ๓ ท้ายบทความนี้ )

หลักฐานใหม่ชี้ว่ายังพอมีสมบัติส่วนน้อยที่ตกค้างอยู่ในลพบุรี และมิได้ถูกนำออกไปนอกประเทศด้วย ต่อมาอีกกว่า ๒๕๐ ปี ของเหล่านี้ก็ถูกขุดขึ้นมาโดยนักล่าสมบัติ แล้วถูกขายต่อให้พวกนายหน้ารับซื้อของเก่าสมบัติเหล่านี้เป็นของร้อน และสำคัญเกินกว่าที่ราษฎรธรรมดาจะเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด

เจษฎาจารย์ ฤ.ฮีแลร์ ครูฝ่ายปกครองประจำโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ. ๑๙๐๑) เป็นนักประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสผู้หลงรักเมืองไทย และปวารณาตัวต่อพระผู้เป็นเจ้าที่จะอุทิศตัวเผยแผ่ธรรมะ และประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่เด็กไทยตราบจนวาระสุดท้ายในชีวิตของท่านบนโลกนี้

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) ท่านได้ออกหนังสือพิมพ์เฉพาะกิจขึ้นฉบับหนึ่งชื่อ “อุโฆษสมัย” หรือ ASSUMTION ECHO ให้เป็นสื่อความรู้ทางวิชากร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระหว่างนักเรียนอัสสัมชัญ ครู และผู้ปกครอง หนังสือพิมพ์ของท่านออกเป็นรายปักษ์ เพียงปีละ ๔ ครั้งเท่านั้น แต่กลับเป็นที่นิยมบอกรับโดยอัสสัมชนิก และคนนอกอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจัดทำโดยองค์กรสงฆ์ที่มิหวังผลกำไร และมีบรรณาธิการเป็นบาทหลวงชาวต่างชาติที่คนรับได้ อันว่าหนังสือพิมพ์สมัยต้นรัชกาลที่ ๖ มักจะมีชาวตะวันตกเป็นบรรณาธิการอยู่ด้วยเสมอ เพราะกระแสของคนทำหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตก มักจะมีความรู้กว้างขวาง หูตากว้างไกล เป็นนักวิเคราะห์เหตุการณ์ กล้าพูด กล้าเขียน กล้าวิจารณ์ และเสนอหลักฐานใหม่ๆ มากกว่าชาวสยามทั่วไป ในยุคนั้น ฟ.ฮีแลร์ ได้รายงานเรื่องสมบัติของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ที่ถูกค้นพบใหม่เป็นที่ฮือฮาไปทั่ว

ถ้าเราระลึกถึงโบราณคดีที่ผ่านมาแล้วราว ๒๕๐ ปีเราคงจำได้ว่า เมื่อตอนใกล้จะสิ้น รัชสมัยแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นหัวต่อแผ่นดินพระเพทราชา ได้เกิดการจลาจลขึ้นกลางเมือง ด้วยพระเพทราชากับหลวงศรศักดิ์ สองคนพ่อลูกร่วมคิดกันเป็นกบฏชิงราชสมบัติ ขณะนั้นที่พระนครศรีอยุธยาและที่เมืองลพบุรี อันเป็นราชธานีทั้งสองพระนคร ก็ได้เกิดปั่นป่วนวุ่นวาย อลหม่านนานหลายเดือน เหตุที่จะเกิดการจลาจลครั้งนั้น ย่อมมีเป็นอเนกปริยาย แต่พวกกบฏ ยกเอาเหตุที่พระนารายณ์ทรงโปรดปรานพวกฝรั่งต่างชาติ มีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (Constance Phaulkon) เป็นต้น ขึ้นเป็นโล่ห์กำบังเล่ห์กลของตน

ขณะนั้นบรรดาชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม นอกจากพวกฮอลันดา ต่างได้ประสบความเผ็ดร้อนไปตามกัน, ท่านสังฆราช บาทหลวงฝรั่งเศส กับสัตบุรุษคฤศตังที่ขึ้นแก่ท่าน ถึงกับถูกจำจองต้องเครื่องพันธนาการห้าประการ,ที่ถูกกดขี่ ตีประจาน ตระเวนไปในเมืองก็มี,ที่ถูกทำงานโยธากวาดถนนหนทางต่างๆ นานาก็มี, แต่ที่หลบลี้หนีเอาตัวรอดได้บ้างก็มี ส่วนวัดวาอาราม โรงร้านบ้านช่อง ศาสนสมบัติของมิสซัง ล้วนถูกรื้อ ยื้อแย่ง แบ่งเผา กระจัดกระจาย วินาศ เสียหายไปหมด

ในจำนวนศาสนสมบัติที่หายไปคราวนี้นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวลพบุรีผู้หนึ่งค้นพบได้มาห้าชิ้น แล้วได้นำมาขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ วรพินิต กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา เพื่อทรงเก็บรักษาไว้เป็นหลักตำนานของประเทศในพิพิธภัณฑสถาน สำหรับพระนตรต่อไป, จึงขอนำข่าวและจำลองภาพแห่งวัตถุ ศาสนสมบัตินั้นลงในอุโฆษสมัย ให้อัสสัมชนิกทั้งหลายดูรู้เห็นบ้าง เข้าใจว่าคงเป็นเหตุนำมาซึ่งความยินดีแก่ท่านผู้อ่านทั่วไปทั้งไทยทั้งเทศ เพราะความสามัคคี อารีอารอบ ระหว่างมิซซังต่างประเทศกับรัฐบาล และพลเมืองสยามได้คืนดีกันมานานหลายชั่วบุคคลแล้ว สมัยนี้ต่างฝ่ายต่างภูมิใจ การที่ได้เห็นศาสนจักรและอาณาจักร ประสานกำลังช่วยกันบำรุงสยามรัฐให้ก้าวหน้า สู่ความเจริญเป็นลำดับ

ศาสนวัตถุที่ขุดพบได้ในเมืองลพบุรีนั้น มีอยู่ห้าชั้น คือ
๑. ถ้วยกาลิศ เงิน กาไหล่ ทอง สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ฝีมืออย่างประณีตบรรจง, ที่ฐานกับขา และตัวถ้วยเป็นลายดุน แสดงภาพพระคฤศตประวัติ ปางทรง ตั้ง ศีลมหาสนิท, ถอดได้ สามชิ้น
๒. ภาชนะเงิน รูปสำเภาจีน สำหรับใส่กำยาน เครื่องสักการะ ใช้เมื่ออวยพร ศีลมหาสนิท, ฝีมืองานวิจิตร์บรรจงดูยังเอี่ยมราวกับพึ่งแรกออกจากร้านช่างทองใหม่ๆ, ถอดได้ สองชิ้น
๓-๔. เชิงเทียน เงิน ๑ คู่ ฝีมือปานกลาง สำหรับปักเทียน สองข้างตู้ศีลศักดิ์สิทธิ์ เมื่อทำมิสซา, ถอดได้ ห้าชิ้น
๕. ฐานทองเหลือง ลายบัวกลีบ ฝีมือไทยครั้งพระนารายณ์ สำหรับรองไม้กางเขน แต่องค์กางเขนหลุดหายไปเสียแล้ว (ที่เห็นในรูป นี้เป็นกางเขนจำลอง ที่ทำขึ้นใหม่ โดยสมมุติ)

สำหรับท่านที่ใคร่จะลองสืบสวน สันนิษฐาน แหล่งที่มาแห่งโบราณวัตถุเหล่านี้ต่อไป จะขอนำคำให้การของท่านผู้ที่ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย กับความสันนิษฐานแห่งสมเด็จฯ นายกราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักดำริดังต่อไปนี้

“ของที่นำมาถวายทั้งชุดนี้ ได้จากผู้นำมาขายให้ ผู้ขายบอกว่าคุ้ยได้ที่ข้างพระเจดีย์ในกำแพงวัดพระธาตุ หลังสถานีรถไปลพบุรี ของนี้อยู่ลึกประมาณ ๑ ศอกเศษ โดยใช้อิฐก่อ ห้อมล้อมไว้ ไม่มีภาชนะอะไรใส่ ฯลฯ” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้ว่าเป็นสมบัติวิไชเยนทร์ฝังไว้....แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านกลับไม่ทรงปักใจเชื่อเรื่องนี้ ทรงให้เหตุผลว่ามันมีความสำคัญมากกว่าทรัพย์สินธรรมดา และน่าจะเป็นของมีค่าที่ผู้เป็นใหญ่เป็นโตเห็นว่าต้องรักษาไว้ต่อไป และมีความหมายเกินกว่าจะลักลอบนำออกไป พระองค์ท่านทรงวินิจฉัยใหม่ว่า มีเหตุผลน่าจะเป็นสมบัติของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ที่ท่านฝังเอาไว้เองรวมกับเครื่องเงิน เครื่องทองและทรัพย์สินอื่นๆ แต่เพชรพลอยเงินทองก็ถูกปอกลอกสูญหายไปเสียก่อน เหลืออยู่ก็แต่เครื่องทองจากฝรั่งเศสชุดนี้เท่านั้น

คำวินิจฉัยนี้ถูกแยกแยะออกเป็นข้อๆ ภายหลังที่ได้ทรงไต่สวนจากนักล่าสมบัติที่ขุดมันขึ้นมา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสงสัยคำให้การนั้น ครั้นเมื่อเดือนมกราคม เสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรีจึงทรงไต่สวนเอง ได้ความว่าผู้ขุดพบของโบราณรายนี้ซ่อนตัวมิให้รู้ว่าใคร เป็นแต่แต่งคนจรคนหนึ่งให้เอาไปขายแลไป บอกอย่างคำให้การ จึงทรงสันนิษฐานว่า

๑. สิ่งของเครื่องบูชาในคฤศตศาสนาเหล่านี้ เดิมคงอยู่ในวิหารคฤศตังที่เมืองลพบุรี คือ วิหารที่บ้านวิชเยนทร หรือมิฉะนั้นก็วิหารที่วัดสันเปาโล แต่ที่วัดสันเปาโล ยังไม่ได้จัดการตรวจรักษา จัดอยู่แต่ที่บ้านวิชเยนทร ของเหล่านี้คงเป็นของที่บ้านวิชเยนทร
๒. คงเอาลงฝังซ่อนเมื่อวิชเยนทร แลฝรั่งเศส ถูกพระเพทราชาจับ ต้องฝังไว้ ณะ ที่ลับเพราะฉะนั้นที่จะขนเอาไปฝังไว้ในวัดมหาธาตุ อันเป็นวัดพระพุทธศาสนา อยู่ริมพระราชวัง แลมีผู้คนอยู่รักษานั้นหาได้ไม่ คงฝังอยู่ไม่ห่างไกลกับบ้านวิชเยนทรนัก
๓. สิ่งของเหล่านี้ฝังไว้ช้านานเกือบ ๓๐๐ ปี แต่ยังดีไม่ชำรุด ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าต้องเอาใส่ตุ่มดินเผาปิดฝาฝังไว้ ถ้าใช้แต่อิฐก่อล้อมคงถูกไอดินเปนสนิมผุ มิมากก็น้อย แลน่าจะสันนิษฐานต่อไปว่า คงเอาเครื่องเงิน ทอง ของสิ่งอื่นอันมีค่าฝังไว้ด้วยกันในตุ่มนั้น
๔. ผู้ที่ขุดพบนั้น เห็นจะเป็นพวกกรรมกรที่ทำการของรัฐบาล หรือมิฉะนั้นก็พวกที่ลักขุด ซึ่งถูกศาลตัดสินลงโทษเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว ได้ของเหล่านี้แล้วปิดบังลอบเอาไปขาย

ตามที่ทรงสันนิษฐานนี้ น่าจะจริงมากกว่าคำให้การในจดหมายของท่านผู้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นแน่ แต่จะอย่างไรก็ตาม ข้อที่ปราศจากความสงสัย ก็คือว่า ศาสนวัตถุโบราณที่ได้มาคราวนี้ คงหาได้ไม่ครบชุดเป็นแน่นอน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ด้วยว่าถ้าได้ครบชุดอาจมีที่สังเกต พอเป็นหลักฐานในทางเรียงตำนานคฤศตังในเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย แต่กระนั้นก็นับว่าประเสริฐดีแล้ว เพราะเท่าที่ได้มานี้ก็เป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นได้ว่า พระศาสนา คฤศตังได้มาตั้งในประเทศสยามเป็นปึกแผ่นมานานหลายร้อยปีแล้ว, เป็นเครื่องเตือนใจสัตบุรุษคฤศตัง ในสมัยเรานี้ให้รู้สึกถึงความศรัทธา เพียรพยายามของบรรพบุรุษ ว่าได้ยอมตนทนความลำบากเพียงไร เพื่อจะเพาะความนิยมแห่งประชาชนชาวสยามให้ตื่นขึ้น รู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้าต่อตน 

ยังไม่จบอยู่แค่นั้น เพราะสมบัติของฟอลคอน ๑ ใน ๓ ส่วนที่นายพลเดส์ฟาร์จนำออกนอกประเทศไปนั้น ได้ตกไปอยู่ในมือของพวกฮอลันดาแถบแหลมกู๊ดโฮป (แอฟริกาใต้) เสียฉิบ เพราะนายพลท่านเกิดเสียชีวิตลงในระหว่างการเดินทางกลับฝรั่งเศส ส่วนกองทหารฝรั่งเศส ที่ติดตามไปก็ถูกพวกฮอลันดาจับกุมเป็นเชลย พร้อมทรัพย์สินในเรือก็ถูกยึดไปด้วย สมบัติในไหฝังดินของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์จึงเป็นหลักฐานเดียวที่เหลืออยู่จนบัดนี้....




ข้อมูล : ไกรฤกษ์ นานา/นักวิชาการประวัติศาสตร์ จากหนังสือ...ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๖ หน้า ๙๔-๑๑๓



Create Date : 20 กันยายน 2557
Last Update : 23 กันยายน 2560 10:30:05 น. 0 comments
Counter : 8615 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.