เรียนดี เรียนสนุก ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองที่นี่จ้า!!!
Group Blog
 
All Blogs
 
หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

สาระการเรียนรู้
1. ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
2. จุดมุ่งหมายและปัจจัยพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ
3. สภาพแวดล้อมและแหล่งข้อมูลทางธุรกิจ
4. กิจกรรมทางธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับบุคคล

จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายความหมายและความสำคัญของธุรกิจได้
2. บอกจุดมุ่งหมายและปัจจัยพื้นฐานของการประกอบธุรกิจได้
3. บอกสภาพแวดล้อมและแหล่งข้อมูลทางธุรกิจได้
4. อธิบายกิจกรรมทางธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับบุคคลได้

ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ

ความหมายของธุรกิจ
ธุรกิจ (Business) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการบริการหรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ที่ทำไปแล้วก่อให้เกิดรายได้มีกำไรเป็นตัวเงิน หรือมีผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เสี่ยงกับการขาดทุนด้วย
- การผลิต (Production) คือ การดำเนินกิจกรรมทางด้านการผลิตสินค้า ซึ่งครอบคลุมถึงการผลิตทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการทำเหมืองแร่
- การจำหน่าย (Distribution) คือ การดำเนินกิจกรรมต่อจากการผลิต โดยนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งหมายความรวมถึงการค้าส่ง และการค้าปลีก
- การบริการ (Service) คือ การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในรูปแบบการให้บริการหรืออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่น การธนาคาร การเสริมสวย การท่องเที่ยว เป็นต้น
สรุปได้ว่า ธุรกิจ หมายถึง "การดำเนินกิจกรรมใด ๆ โดยบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคลก็ตาม ที่กระทำไปแล้วก่อให้เกิดรายได้โดยหวังผลตอบแทนเป็นกำไร" ซึ่งจากความหมายข้างต้น จะเห็นว่าถ้าเป็นกิจกรรมทางธุรกิจแล้วนั้น จะต้องเป็นกิจกรรมที่มุ่งหวังผลกำไรหรือผลตอบแทน กิจกรรมบางอย่างไม่ถือว่าเป็นธุรกิจ เนื่องจากไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นกำไร เช่น การดำเนินงานของรัฐบาล เช่น การสร้างทางด่วน การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือกิจกรรมเพื่อสาธารณะต่าง ๆ ของมูลนิธิ เป็นต้น

บทบาทและความสำคัญของธุรกิจ
การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก มีความสำคัญและส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
- บทบาทในการสร้างงานสร้างอาชีพและยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ประชาชนในประเทศมีงานทำมีรายได้เพื่อใช้ในการเลี้ยงตัวเอง มีอำนาจในการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ที่ตนต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว มีฐานะการเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ธุรกิจเป็นแหล่งรายได้ของรัฐจากการจัดเก็บภาษี เมื่อประชาชนมีงานทำย่อมมีรายได้ รัฐสามารถจัดเก็บภาษีและมีรายได้มากขึ้น ซึ่งรายได้จากภาษีเหล่านี้ รัฐจะนำไปสร้างสาธารณประโยชน์หรือสาธารณูปโภคต่าง ๆ สำหรับประชาชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น
- ธุรกิจช่วยลดปัญหาอาชญากรรม การที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ มีรายได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องก่ออาชญากรรม ไม่ต้องไปปล้นจี้ ทำร้ายผู้อื่น เพื่อชิงทรัพย์สิน หรือประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต รัฐเองก็ลดปัญหาในการจัดงบประมาณสำหรับการปราบปรามโจรผู้ร้าย ประชาชนทั่วไปมีขวัญกำลังใจไม่หวาดกลัวกับโจรผู้ร้ายที่จ้องเอาทรัพย์สิน
- บทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การที่ธุรกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องมีการจ้างงาน ประชาชนมีงานทำ มีการกระจายรายได้สูง ประชาชนกินดีอยู่ดี จะช่วยให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดี สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
- บทบาทในการช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี การแข่งขันกันทางธุรกิจจะทำให้มีความพยายามในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้า รวมทั้งบริการด้านต่าง ๆ เพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน และการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งการศึกษาค้นคว้าพัฒนาคุณภาพและบริการอยู่เสมอ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จุดมุ่งหมายและปัจจัยพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ

จุดมุ่งหมายของการประกอบธุรกิจ

การดำเนินธุรกิจประเทศต่างก็มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินกิจการ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ คือ
- ต้องการกำไร
- ต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคภายใต้เงื่อนไขของราคาและการแข่งขัน
- ต้องการความมั่นคงทางธุรกิจ
- ต้องการความก้าวหน้าเจริญเติบโต
จุดมุ่งหมายของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะความต้องการผลกำไรสูงสุดนั้น ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องกอบโกยผลกำไรให้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด ผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมส่วนรวมด้วย เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมควรมีระบบการกำจัดของเสียที่ดี ไม่ปล่อยของเสียจากโรงงาน จนเกิดเป็นพิษภัยสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตทั้งของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

ปัจจัยพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ
การประกอบธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปด้วยดี บรรลุตามวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย
1. คน (Man)
2. เงินทุน (Money)
3. วัสดุอุปกรณ์ (Materials)
4. เครื่องจักร (Machines)
5. ความรู้ในการบริหารจัดการ (Management)

สภาพแวดล้อมและแหล่งข้อมูลทางธุรกิจ

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หมายถึง ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค หรือเป็นแรงกดดันที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ปัจจัยที่ควบคุมได้ (Controllable Factors)
1.1 ผลิตภัณฑ์ (Product)
1.2 ราคา (Price)
1.3 ช่องทางการขาย (Place)
1.4 การส่งเสริมการขาย (Promotion)

2. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable Factors)
2.1 สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ (Economics Environment)
2.2 สภาวะแวดล้อมทางด้านกฎหมายและการเมือง (Legal and Political Environment)
2.3 สภาวะแวดล้อมทางด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Environment)
2.4 สภาวะแวดล้อมทางการแข่งขัน (Competitor Environment)
2.5 สภาวะแวดล้อมทางเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิชาการ (Technology Environment)
2.6 พฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer Behavior)

แหล่งข้อมูลทางธุรกิจ
ข้อมูลทางธุรกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านการผลิต การจำหน่าย การเงิน และการจัดการ การมีข้อมูลทางธุรกิจที่เพียงพอ จะช่วยในการตัดสินใจ การวางแผน และการกำหนดยุทธวิธีในการประกอบการให้เป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำ เหนือกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งแบ่งออก เป็น 2 ประเภทได้แก่
1. แหล่งข้อมูลภายในกิจการ (Internal Sources) เช่นเอกสารต่าง ๆ ประวัติการซื้อขาย เอกสารทางการบัญชี เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาประกอบการวางแผน บอกแนวโน้ม และกำหนดวิธีการดำเนินงานของธุรกิจในอนาคตได้
2. แหล่งข้อมูลภายนอกกิจการ (External Sources) เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า ซึ่งสามารถหาได้จากหนังสือ นิตยสาร หรือข่าวสารต่าง ๆ ทั้งในหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะผลงานวิจัย งานวิชาการ ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้การตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมทางธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับบุคคล

กิจกรรมทางธุรกิจ
แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. กิจกรรมที่เกี่ยวกับตัวสินค้า (Product Activities) ประกอบด้วย
1.1 การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Planning)
1.2 การซื้อและการขาย (Buying and Selling)
1.3 การจัดลำดับและมาตรฐานสินค้า (Grading and Standardizing)

2. กิจกรรมเกี่ยวกับการจัดจำหน่าย (Distributing Function)
2.1 การขนส่ง (Transportation)
2.2 การเก็บรักษาสินค้า (Storage)

3. กิจกรรมอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (Facilitation Function)
3.1 การเงิน (Finance)
3.2 การเสี่ยงภัย (Risk Taking)
3.3 การหาข้อมูลทางการตลาด (Marketing Information)

ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับบุคคล
ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับบุคคลจะมีความสัมพันธ์กันอยู่ 2 ลักษณะ คือ
- ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเจ้าของกิจการ
- ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลใดจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ หรือบุคคลใดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภค เพราะในขณะที่เป็นผู้ประกอบการนั้น ก็ยังเป็นผู้บริโภคในเวลาเดียวกันด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ มีความต้องการใช้เครื่องจักรสำหรับการผลิต แต่ไม่สามารถผลิตเครื่องจักรนั้นได้เอง จำเป็นต้องไปจัดซื้อมา ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ก็เป็นผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิง //www.tice.ac.th/Online/Online2-2547/nantaporn/N1.htm



Create Date : 11 ตุลาคม 2550
Last Update : 11 ตุลาคม 2550 8:16:56 น. 0 comments
Counter : 2869 Pageviews.

ยอดชายนายตุ้มเม้ง
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สวัสดีพี่ ๆ เพื่อน ๆ ลูกศิษย์ทุกคนที่เข้ามาดูน่ะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ยอดชายนายตุ้มเม้ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.