มีสุข มีทุกข์ อะไรก็จะเขียนไว้ที่นี่

อีกหนึ่งรอยเลือดบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เส้นทางประชาธิปไตยของไทยเต็มไปด้วยรอยเลือดและคราบน้ำตา วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีรอยเลือดสดๆ เปอะเปื้อนลงบนเส้นทางสายนี้ วีรชนคนแล้วคนเล่าต้องเสียสละเลือดเนื้อเพื่อถมทางสายนี้

สมัยเด็กๆ ผมเคยเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เกี่ยวกับ 14 ตุลา เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนพฤษภา จำได้ว่าในตอนสรุปหัวข้อรายงาน ผมสรุปไว้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะผู้มีอำนาจไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ จึงเกิดการต่อต้านขึ้น ทางแก้คือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ แทนการแต่งตั้งเข้ามา การเลือกตั้งจึงเป็นเหมือนยาวิเศษ เป็นเครื่องมือสะท้อนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่ในวันนี้ เหตุการณ์แตกต่างกันไปมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับถูกต่อต้าน ถ้ายุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่รัฐบาลก็จะชนะการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก ทางออกจึงไม่ใช่การเลือกตั้งเหมือนสมัยก่อนโน้น ปัญหานี้ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ได้ด้วยการเลือกตั้งใหม่เพียงอย่างเดียว

กลุ่มผู้ชุมนุมรวมไปถึงคนในกรุงเทพส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้มีคนของพรรคไทยรักไทย กลับเข้ามามีอำนาจทางการเมือง และต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารแทน

ประชาชนต่างจังหวัด ส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลที่มีคนของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อพรรคไปอย่างไร ยุบพรรคไปกี่รอบก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ ยังเลือกพรรคไทยรักไทย คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้คือ พรรคไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองที่ดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของคนในต่างจังหวัดอย่างที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองไทยใดในประวัติศาสตร์เคยทำได้มาก่อน หลายนโยบายเห็นผลเป็นรูปธรรม ชาวไร่ ชาวสวน ชาวนา ประชาชนคนรากหญ้า ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ

ขณะเดียวกันหลายนโยบายกับส่งผลร้ายกับชนชั้นกลาง และหลายกลุ่มธุรกิจ เช่นเรื่อง หวยบนดิน เรื่องปราบยาเสพติด เรื่องปราบเงินกู้นอกระบบ รวมไปถึงการดำเนินกลยุทธ์ทางการเมือง ที่พยายามแทรกแซงหน่วยงานต่างๆ เพื่อความเข้มแข็งของรัฐบาล และรวมไปถึงการที่คนในรัฐบาลได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย ทำให้มีกลุ่มต่อต้านเกิดขึ้น จากการรวมตัวของผู้เสียผลประโยชน์ต่างๆ

สรุปง่ายๆ ว่า กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ก็จะไม่สนใจว่ารัฐบาลจะมีนอกมีในอะไรบ้าง รู้แต่ว่าตนได้รับประโยชน์ จากรัฐบาลนี้และพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาล ส่วนกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ก็พยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลโกงอย่างไร ไม่ดีอย่างไร เพื่อล้มล้างรัฐบาล

ทีนี้มันมีจุดที่รัฐบาลได้เปรียบตรงที่ว่า คนที่สนับสนุนมีจำนวนเยอะกว่า ก็เลยทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ไม่ยาก แต่กลุ่มต่อต้านแม้จะน้อยกว่าแต่ว่ามีเครื่องมือที่ดีกว่า เสียงดังกว่า และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า

แล้วแบบนี้จะจบอย่างไร ?

แบบแรกจบเหมือน เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม คือพึ่งบารมีพระมหากษัตริย์
แบบสองจบด้วยการเจรจา ซึ่งไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้นเลยสักนิด
แบบสามจบด้วยการใช้อำนาจทหาร แบบนี้ต่างประเทศไม่ชอบ ผมก็ไม่ชอบ
แบบสุดท้าย คือปล่อยให้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย ทำอย่างไรนะหรือครับ

จากที่วิเคราะห์มาจะเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ผลประโยชน์ ถ้าเปลี่ยนแนวคิดที่จะทำลายร้างกัน มาเป็นแนวคิดในการแข่งกันทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ใครทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนได้ฝ่ายนั้นก็ชนะ หรือพูดให้เข้าใจง่าย ตรงๆ ก็ใครสามารถทำให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ โดยทั่วๆกันได้ ฝ่ายนั้นชนะ แบบนี้ฝ่ายค้านก็เสียเปรียบนะสิ เพราะไม่ได้บริหารประเทศไม่มีโอกาสแสดงผลงาน อาจจะจริงตามนั้น แต่อย่าลืมว่าฝ่ายค้านมีแนวร่วม ที่มีเครื่องมือที่สามารถช่วยฝ่ายค้าน ให้สามารถแสดงผลงานการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้นี่นา

แล้วให้ประชาชนเป็นคนเลือกว่าจะให้ฝ่ายไหนเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าฝ่ายค้านมีนโยบายที่ดี สร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ฝ่ายค้านก็มีโอกาสชนะได้เหมือนกัน ผมเห็นในต่างประเทศถ้ารัฐบาลทำงานไม่ดี เลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะแพ้และฝ่ายค้านก็จะได้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศบ้าง พลัดกันไปแบบนี้

แล้วกลุ่มผู้ชุมนุมล่ะ ผมอาจโดนด่าเพราะสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ แต่ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ โดนด่าก็ต้องยอม ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนสามารถชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นี่คือหลักการ ซึ่งเป็นสากล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันไม่ใช่เลย ผมว่าเราเกินเลยไปมาก เช่น การปิดถนน ผมว่าไม่ควรทำ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ยิ่งการบุกยึกสถานที่ราชการยิ่งไม่สมควรไปกันใหญ่ ผมมองว่าเราควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับใช้ในการแสดงออกทางการเมือง ที่เป็นที่เป็นทางมากกว่านี้ ที่จริงแล้วในโลกเทคโนโลยีทุกวันนี้ เวทีที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองควรอยู่ในระบบอินเตอร์เนตได้แล้วนะผมว่า

อีกประเด็นที่หลายคนบอกว่าบอบบางแตะไม่ได้คือจำนวนผู้ชุมนุม ถ้าสื่อมวลชนไม่สามารถพึ่งพาได้แล้ว ประชาชนจะพึ่งพาใคร ผมอยากเห็นการรายงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนผู้ชุมนุม เพราะมันเป็นค่าที่สำคัญในการตัดสินใจว่า มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น ๆ จำนวนเท่าไหร่กันแน่ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็พยายามบอกให้เกินความเป็นจริงเข้าไว้ ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็พยายามบอกจำนวนที่น้อยเข้าไว้ เชื่อไม่ได้ทั้งคู่นั่นแหละ



สุดท้ายแล้ว คนไทยต้องเสียเลือดเนื้ออีกสักเท่าไหร่ และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน สังคมประชาธิปไตยของเราจึงจะสงบสุขและเข้มแข็งพร้อมจะพัฒนาไปข้างหน้าเสียที หวังว่าผมจะได้เห็นก่อนที่จะผมตายจากโลกนี้ไปนะ


Create Date : 07 ตุลาคม 2551
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 14:35:32 น. 0 comments
Counter : 791 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

mrpipo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ประชาธิปไตยจงเจริญ
[Add mrpipo's blog to your web]