~ จัดกระเป๋ากันเถอะ ตื่นแต่เช้าดีกว่า แหละออกไปเที่ยวให้ทั่วฟ้าเมืองไทย จะปีนภูเขาลงทะเลเราก็ไป จะใกล้จะไกล เที่ยวเมืองไทยกันดีกว่า... ~

ผู้ชายที่ปลายตะวัน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ผู้ชายที่ปลายตะวัน's blog to your web]
Links
 

 
มาบริจาคเลือดกันเถอะ

... มาบริจาคเลือดกันเถอะ ...

ก็คือเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ยังคงมีความต้องการ “เลือด” อยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจาก อุบัติเหตุต่างๆ , การผ่าตัดและการทดแทนเลือดตามกระบวนการทางการแพทย์ , การรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคธาลัสซิเมีย , โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น โดยตัวผมเองจะขออธิบายเป็นส่วนๆไปนะครับ เพื่อไม่ให้ยาวพรืดหรือรกเกินไป และง่ายต่อการอ่านที่แยกเป็นข้อๆไปครับ


ทำไมประชากรในประเทศมีตั้ง 63 ล้านคนแล้ว เลือดยังไม่พออีก ( จำนวนประชากร พ.ศ.2551 )

ซึ่งในปัจจุบันนั้นมักจะได้ยินสภากาชาดออกมาประกาศว่า “เลือดไม่พอ” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งคำพูดนี้ก็สอดรับความเป็นจริงที่ว่ามีการขอเลือดด่วนกันอยู่รายวันก็ว่าได้ ในส่วนนี้ขอพูดในเชิงตัวเลขและข้อมูลสถิติขั้นต้นก่อนละกันครับว่า ทำไมเลือดถึงยังไม่พอสักทีทั้งๆที่ในประเทศนี้มีประชากรมากถึง 63.3 ล้านคน

คำตอบก็คือนั่นเป็นเพราะว่าด้วยมาตรฐานและกฎของสภากาชาดนั้นมีการคัดกรองเพื่อให้ได้เลือดที่ดีและมีคุณภาพ อาทิเช่น

อายุผู้บริจาคได้ในช่วงปกติคือ 18 ถึง 60 ปี – นั่นหมายความว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และ มากกว่า 60 ปีนั้นจะไม่สามารถบริจาคได้ ซึ่งหากอายุน้อยกว่า 18 ปี จะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองเพื่อบริจาคและมากกว่า 60 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากทางแพทย์ก่อน ทำให้ประชากรกลุ่มที่อายุไม่เข้าเกณฑ์มีมากถึง 18.5 ล้านคน คิดเป็น 29.23% ของประชากรทั้งประเทศ

ผู้บริจาคต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ – นั่นคือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มรักร่วมเพศ , ผู้ที่มีประวัติการสัก เป็นต้นนั้น จะไม่สามารถบริจาคเลือดได้ เพราะว่าการรักร่วมเพศนั้นเป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิส และ การสักนั้นอาจทำให้ติดเชื้อต่างๆจากการสักได้ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้มีประชากรที่เข้าข่ายถึง 3.1 ล้านคน คิดเป็น 4.89 % ของประชากรทั้งประเทศ

ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมบริจาค – นั่นคือผู้ที่มีพฤติกรรมต้องมาสภาพหรือภาวะที่พร้อมบริจาคเลือด โดยต้องไม่เป็นโรคต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ อาทิเช่น โรคอ้วน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคกลุ่มที่ต้องการเลือด โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน ผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งพูดได้ว่าบริจาคได้แต่เลือดนั้นนำไปใช้ต่อไม่ได้ ซึ่งหากนับผู้ที่สุขภาพไม่พร้อมแล้วนั้นจะมีมากถึง 20.1 ล้านคน คิดเป็น 31.75 % ของประชากรทั้งประเทศ

จากที่กล่าวมาเป็นเพียงคุณสมบัติหลักๆใหญ่ๆที่พอตามหาตัวเลขได้ ทำให้สัดส่วนผู้ที่ให้เลือดได้จริงๆจะเหลือเพียง 21.6 ล้านคน คิดเป็น 34.12 % โดยที่ยังไม่ได้หักกลุ่มที่น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ และผู้มีประวัติไม่เข้าเกณฑ์ยิบย่อยบางส่วน


แล้วทำไม 21.6 ล้านคน ก็ยังไม่พองั้นเหรอ
หลายๆท่านที่เคยเดินทางไปผ่านไปผ่านมาบริเวณสภากาชาดไทยถนนอังรีดูนังต์นั้นอาจจะสังเกตเห็นได้ว่าหน้าสภากาชาดจะมีระบุความต้องการเลือดไว้ตรงประตูทางเข้าว่า ในแต่ละเดือนนั้นต้องการเลือดกี่ยูนิต รับบริจาคแล้วกี่ยูนิต และ ต้องการอีกกี่ยูนิต ซึ่งตัวเลขเป็นเพียงหลักหมื่นเท่านั้น โดยประมาณจะราว 4 – 5 หมื่นยูนิต

คำถามที่เกิดคือ ก็แค่ 4 หมื่นยูนิตเองแล้วมันจะขาดได้ไงเมื่อเทียบกับคนที่พร้อม 21.6 ล้านคน ??

คำตอบคือ ก็ใช่ครับ 4 หมื่นยูนิตเอง แต่เป็นความต้องการของสภากาชาดศูนย์อังรีดูนังต์ที่เดียวเท่านั้นไม่ใช่ความต้องการของทั้งประเทศ นั่นคือแน่นอนว่า มันไม่ใช่ละที่จะเอา 21.6 ล้าน มาเทียบกับ 4 หมื่น แล้วจะเทียบยังไงดีให้เห็นภาพที่เหมาะสมกับ 4 หมื่น ลองดูกันครับ

- จากประชากรที่พร้อมบริจาคทั้งประเทศทั่วประเทศ 21.6 ล้านคน หรือ 34.12%
- จำนวนประชากรในพื้นที่กรุงเทพทั้งหมด 5.7 ล้านคน โดยยังไม่ได้ตัดผู้ที่ไม่เข้าข่ายออก
( ข้อมูลตาม สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง //www.dopa.go.th/stat/y_stat.html )
- ปันส่วนประชากรให้เหลือผู้ที่พร้อม = 5.7 ล้านคน x 34.12% คงเหลือประมาณ 1.94 ล้านคน
- แต่พบว่ามีถึง 67% ที่บริจาคเพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยผมขอเฉลี่ยเป็น 1.94 ล้านคน คนละ 2 ครั้งต่อปี จะทำให้มีเลือดทั้งหมด 3.88 ล้านยูนิต ในกรณีที่ ทั้ง 1.94 ล้านคนบริจาคสองครั้งต่อปี
- คงเป็นไปไม่ได้ที่จะบริจาคกันทุกคน 100% โดยจะขอตัดออกตามความรู้สึกกันครับขอให้คงเหลือ 1 ใน 2 ละกันนะครับ
- ฉะนั้นจะคงเหลือเลือดที่บริจาคไป 1,940,000 ยูนิตต่อปี โดยประมาณ
- ขอตัดยอดกรณีเหตุฉุกเฉินคือ เลือดจาง , ไขมันสูง , ปนเปื้อนยา อื่นๆ ทำให้เลือดไม่ผ่านการตรวจออกอีกสัก 10% นะครับ เพราะแน่นอนว่าเลือดที่รับบริจาคมาทุกยูนิตนั้นไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ว่าใช้ได้ทุกยูนิต ทำให้เหลือเลือดประมาณ 1,746,000 ยูนิต
- และสภากาชาดมีความต้องการเลือดเฉลี่ยเดือนละ 42,000 ยูนิต รวมประมาณ 504,000 ยูนิตต่อปี

จากตัวเลข 1,746,000 ยูนิตต่อปีนั้น คงเริ่มเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่าถ้าเทียบกับความต้องการ 504,000 ยูนิตต่อปีแล้ว ก็น่าจะพอใช่ไหมครับ คำตอบสุดท้ายคือยังไม่พอหรอกครับ เพราะผู้บริจาคนั้นไม่ได้บริจาคกับสภากาชาดถนนอังรีดูนังต์เพียงที่เดียว ผู้บริจาคกระจายตัวไปตาม รพ. ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ซึ่งแม้จะกระจายกัน ความต้องการเลือดของแต่ละ รพ. ก็ยังมีอยู่เช่นกันส่งผลให้ความต้องการรวมสูงกว่า 504,000 ยูนิตแน่นอน
ทำให้สรุปได้ว่าแม้ว่าในภาพรวมของกรุงเทพที่เดียวนั้นจะมีเลือดที่บริจาคออกไปมากถึง 1,746,000 ยูนิตต่อปีก็ตาม ก็ยังไม่พอต่อความต้องการของทั้งระบบอยู่ดีนั่นเอง


แล้วทำยังไงเลือดถึงจะพอกับความต้องการหละ
โดยปกติแล้วจากสถิติของสภากาชาดนั้นพบว่าจากผู้บริจาคทั้งหมดนั้นมีถึง 60% ที่บริจาคเพียงปีละ 1 ครั้ง ซึ่งพอเดาได้ว่าไม่บริจาควันพ่อ วันแม่ ก็วันเกิดของแต่ละคน เลยเกิดคำถามโดยสภากาชาดเองว่าควรทำยังไงที่จะเปลี่ยนใจ โน้มน้าวให้เกิดการบริจาค 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ครั้ง ทั้งหมดจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับสภากาชาดว่าจะขวนขวายได้มากแค่ไหน แต่ขึ้นกับว่าคนบริจาคนั้นจะตอบสนองกลับมามากเท่าไหร่มากกว่า

ฉะนั้นถ้าจะให้เลือดพอกับความต้องการแล้ว “ต้องทำการเพิ่มจำนวนครั้งของผู้บริจาค”

ผมมาดูช่วงเวลาอันเหมาะสมแล้ว หากทำให้คนบริจาคได้ 1 ปี 3 ครั้งถือเป็นจังหวะกำลังดี เป็นช่วง 4 เดือนครั้งไปครับ นั่นคือ วันพ่อ วันแม่ และ วันสงกรานต์ ซึ่งวันพ่อวันแม่นั้นเป็นที่รู้กันดีว่า เราทำโดยเสด็จพระราชกุศลแด่ท่าน และ วันสงกรานต์ เราก็ทำเพื่อครอบครัว เป็นบุญกุศลให้กับตัวเองและครอบครัว ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมนะครับ 4 เดือนครั้ง 1 ปีเราบริจาคไปถึง 3 ครั้งแหนะ

แต่อาจเกิดคำถามว่า “วันพ่อวันแม่” นั้นเป็นเดือนที่นิยมบริจาคกัน ยอดบริจาคเป็นหลักแสน แล้วเกิดคำถามย้อนว่า “เลือดก็น่าจะพอแล้ว” คำตอบคือ เลือด 1 ยูนิตนั้นสามารถเก็บได้เพียง 45 วัน เท่านั้น หากเลยช่วงนี้ไปแล้ว เลือดจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้ต้องทิ้งทำลายไป ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกปี นอกช่วงเวลาก็กลับเข้าสู่สภาวะขาดเลือดเช่นเดิมไป


สถานที่รับบริจาคเคลื่อนที่มีที่ไหนบ้างสามารถไปบริจาคเลือดได้ที่ศูนย์ฯทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยเคลื่อนที่ตามรายละเอียดดังนี้ครับ

//www.nbc.in.th/data/location1.htm
จากลิ้งค์คือสาขาบริการโลหิต ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศครับ สามารถตรวจสอบสถานที่ใกล้บ้านได้เลยครับ

//www.nbc.in.th/data/htm
จากลิ้งค์ก็คือสถานที่หลักๆที่ทางศูนย์ฯจะมีการนำรถออกไปรับบริการถึงที่เเป็นประจำนะครับ
นอกเหนือจากนี้จะมีอีกมากมายหลายที่ อาจจะเป็นสถานที่ที่ไปสามเดือนครั้ง ซึ่งมีหลายแห่งมาก สามารถสอบถามไปยังศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้ครับ

สอบถามหน่วยเคลื่อนที่อื่น ๆ หรือ ติดต่อขอทีมงานออกรับบริจาคโลหิต
ในหน่วยงานท่าน ได้ที่ โทรศัพท์ 0-2252-6116 , 0-2252-1637 , 0-2252-4106-9 ต่อ113 , 157


การเตรียมพร้อมก่อนบริจาคเลือด ต้องทำอย่างไรบ้าง
สภากาชาดได้มีคำแนะนำไว้ชัดเจนครับ เรื่องการเตรียมพร้อมก่อนบริจาคเลือด ก็คือ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมากๆก่อนบริจาค
- ทานอาหารครบถ้วน
- ไม่อยู่ในช่วงประจำเดือนมา
- ไม่กินอาหารมัน
- ไม่อยู่ในช่วงทานยา
- อื่นๆอีกพอสมควร

โดยหลักๆแล้ว หากไม่มีภาวะเสี่ยงใดๆ ไม่อยู่ในช่วงกินยา แค่เพียง 4 ข้อแรกก็สามารถบริจาคเลือดได้แล้วครับ ซึ่งหลายๆคนอาจจะมองว่าทำไมยุ่งยากจัง กฏเกณฑ์นั่นนี่เยอะแยะไปหมด ผมได้ตรงนี้ครับว่า
“เขาไม่ได้ทำเพื่อใคร เขาทำเพื่อป้องกันผู้บริจาคเลือดนั่นหละครับ”
เพราะว่าหากผู้บริจาคเลือดไม่มีความพร้อมของร่างกาย นอนน้อย ขาดน้ำ ขาดอาหาร ถามว่าบริจาคเลือดได้ไหม ตอบได้ว่าบริจาคได้ครับ แต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริจาคเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการช๊อคได้เนื่องจากขาดน้ำแล้วยังขาดเลือดอีก อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลียได้เนื่องจากพักผ่อนน้อยอยู่แล้ว นั่นเอง

และสำหรับข้อบังคับอื่นๆนั้นเป็นไปตามาตรฐานสากลของการคัดกรองผู้บริจาคเลือดครับ


การบริจาคเลือดนั้นปลอดภัยแค่ไหน และ มีผลข้างเคียงหรือเปล่า

ความวิตกกังวลและความเชื่อผิดๆของผู้บริจาคมักเข้าหูผมเสมอ เช่น บริจาคแล้วอ้วน , บริจาคแล้วอันตรายไม่ปลอดภัย , ไม่สะดวกที่จะไปบริจาค , กลัวเข็ม กลัวเจ็บ อื่นๆก็ว่ากันไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดขวางความตั้งใจของผู้บริจาคเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆที่มันไม่เป็นความจริงเลย ยกเว้นเรื่องเจ็บที่เจ็บนิดเดียว กับ ไม่สะดวกเพราะไม่ทั่วถึง ขอแยกความกังวลออกเป็นสองส่วนนะครับ

การบริจาคเลือดปลอยภัยแค่ไหน
การบริจาคนั้นโดยมาตรฐานของสภากาชาดไทยนั้นได้มาตรฐานสากลอยู่แล้วครับ ในขั้นตอนบริจาคนั้นไม่มีอะไรมากมายครับ 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 – ตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียน จนท. จะคัดกรองผู้บริจาคจากเอกสารเป็นหลัก
ขั้นตอนที่ 2 – วัดความดันโลหิต และ ถามตอบนิดหน่อย เรื่องนอน ทานน้ำ ทานข้าว ( จะโกหกก็ได้ )
ขั้นตอนที่ 3 – ตรวจเลือดด้วยการใช้เข็มยิงปลายนิ้ว ซึ่งเป็นเข็มใช้แล้วทิ้งครับ จนท จะตรวจความเข้มของเลือดว่าบริจาคได้หรือไม่ และตรวจหมู่เลือดสำหรับผู้บริจาคครั้งแรก
ขั้นตอนที่ 4 – การให้เลือด จนท. จะมีชุดถุงเลือด ซึ่งทั้งหมดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ความปลอดภัยเรื่องใช้เข็มซ้ำซ้อนไม่มีแน่นอนครับ
อาจจะมีคนวิตกว่า เห็นพยาบาลใช้กรรไกรตัดสายยาง มันจะมีเชื้อโรคหรือปนเลือดของคนอื่นๆแล้วไกลกลับเข้าเส้นเลือดเราหรือไม่ ตอบได้ว่าโอกาสที่จะเกิดแบบนั้นน้อยมากๆ ประมาณ 1 ในแสน ในล้านก็ว่าได้ เพราะการใช้กรรไกรตัดนั้น จนท. จะการแช่กรรไกรฆ่าเชื้ออยู่ตลอดเวลา ละถึงแม้หากเป็นกรณีลืมฆ่าเชื้อ ก็ยืนยันได้ครับว่ายากมากๆที่เลือดจะกลับเข้าเส้น เพราะเส้นเลือดเราก็มีแรงดันอยู่เสมอ มีทางที่เลือดในสายยางจะไหลกลับเข้าไปได้ครับ

การบริจาคเลือดมีผลข้างเคียงแค่ไหน
หลายๆคนอาจบอกว่าบริจาคเลือดแล้วเข็ดเพราะเคยบริจาคแล้ว ปวดแขน , ไม่สบาย , เป็นลม , ปวดหัว หรือ เป็นไข้ไปเลยก็มี ทั้งหมดนั้นยืนยัน ณ ตรงนี้ด้วยตัวหนาและขีดเส้นใต้ว่า
”การบริจาคเลือดโดยทั่วไปแล้วมีผลข้างเคียงต่อผู้บริจาคน้อยมากๆ ถ้าร่างกายผู้บริจาคพร้อม”
นั่นหมายความว่าถ้าพักผ่อนเพียงพอ กินน้ำมากพอ กินข้าวปกติ ทุกอย่างพร้อมก่อนบริจาคแล้ว เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด จะไม่เกิดขึ้น.... ยกเว้นปวดแขน ซึ่งอาจเกิดจากการเจาะหรือจากจังหวะการบีบของผู้บริจาคเอง แต่นอกนั้นผมกล้ายืนยันได้ครับว่าถ้าร่างกายพร้อมจริงๆ เรื่องร่างกายทรุดลงจะไม่มีแน่นอนครับ
ฉะนั้นแล้วหากคุณกลัวการบริจาค หรือ ท่านที่เคยบริจาคแล้วทรุดลง ก็ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนนะครับว่า ตอนนั้นคุณพร้อมเต็มที่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าไม่พร้อมแล้วไปบริจาคจนทำให้เป็นอคติไปกับการบริจาคไปเลย แล้วพาลเล่าสู่ให้คนอื่นๆที่พร้อมไม่บริจาคเพราะกลัวกันไป


หลังการบริจาคเลือดควรทำอย่างไร

หลังบริจาคเลือด จนท. จะมีบริการน้ำหวานและอาหารว่างให้ครับ เพื่อชดเชยเลือดที่เสียไปนั่นเอง แนะนำว่า ให้ทานเดี๋ยวนั้นเลยครับ ส่วนอาหารเย็นนั้นถ้าปกติเคยงด ก็ให้ทานด้วยครับ สักน้อยพอให้มีพลังงานทดแทนกันก็พอ แต่ไม่แนะนำว่าให้อดนะครับ กินไปสักวันนึงไม่อ้วนขึ้นหรอกครับ แล้วก็ต้องทานยาเสริมธาตุเหล็กที่ จนท ให้มาด้วยนะครับ เห็น จนท ว่าเสริมวิตามินด้วยหละ
ฉะนั้นแล้วสรุปง่ายๆคือ กินวันที่บริจาคให้พอทดแทนกันได้ก็พอ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตปกติไปครับ


สิทธิ์ที่จะได้รับจากการบริจาคโลหิต

ผู้บริจาคโลหิต ตั้งแต่ 7 ครั้ง ขึ้นไป - สามารถขอใช้สิทธิ์ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ และ ค่าอาหารพิเศษได้ไม่เกินร้อยละ 50
ผู้บริจาคโลหิต ตั้งแต่ 9 ครั้ง ขึ้นไป - สามารถขอใช้สิทธิ์ตรวจวิเคราะห์สารเคมีในโลหิตได้ เช่น ตรวจหาน้ำตาล, ไขมัน, การทำงานของตับ, การทำงานของไต ฯลฯ โดยผู้บริจาคโลหิตสามารถใช้สิทธิ์ได้ ปีละ 1 ครั้ง
ผู้บริจาคโลหิต ตั้งแต่ 16 ครั้ง ขึ้นไป - สามารถขอใช้สิทธิ์ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล + ค่าห้องพิเศษ และ ค่าอาหาร ได้ร้อยละ 50
ผู้บริจาคโลหิต ตั้งแต่ 24 ครั้ง ขึ้นไป - สามารถขอใช้สิทธิ์ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล 100% + ค่าห้องพิเศษ และ ค่าอาหารได้ร้อยละ 50
ผู้บริจาคโลหิต ตั้งแต่ 100 ครั้ง ขึ้นไป - สามารถขอใช้สิทธิ์ “ขอพระราชทานเพลิงศพ” ได้เป็นกรณีพิเศษ

**เพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไป**
- คุณสมบัติผู้บริจาคสามารถดูได้จาก เว็บของสภากาชาดเลยครับ
- หากจะเจาะลึกเรื่องการบริจาคเลือดนั้นทางสภากาชาดก็มีการตั้งเป้าย่อยออกไปในแต่ละหมู่เช่นกันด้วย ตามสัดส่วนของหมู่เลือดมากน้อยลดหลั่นไป ฉะนั้นแล้วภาวะขาดเลือดย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้บอกว่าได้เลือดครบตามเป้า 42,000 ยูนิตแล้วก็ตาม หมู่เลือดย่อยอาจจะไม่ครบก็ได้
- กรณีที่บริจาคแล้วเลือดปกติ ทางสภากาชาดจะส่งไปรษณียบัตร นัดหมายบริจาคครั้งต่อไปมาให้
- กรณีมีปัญหาแต่ยังสามารถบริจาคได้ ทางสภากาชาดจะแนะนำวิธีการปฏิบัติให้พร้อมกับการบริจาคพร้อมนัดหมายวันมาให้
- กรณีมีปัญหาและไม่สามารถรับบริจาคได้อีก ทางสภากาชาดจะส่งหนังสือแจ้งถึงสาเหตุว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องของดรับบริจาคเลือดอีกต่อไป
- เลือดที่บริจาคนั้นทางสภากาชาดจะนำไปผ่านกระบวนการแยกส่วนประกอบออกเป็น 4 ส่วน คือ เลือดเข้มข้น , พลาสม่า , เม็ดเลือดแดง และ เม็ดเลือดขาว ซึ่งทั้งหมดสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาและรักษาต่อไป เช่น ธาลัสซีเมีย , ฮีโมฟีเลีย , โรคเกล็ดเลือดต่ำ , โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว , อุบัติเหตุต่างๆ , กิจกรรมทางการแพทย์



หมดแล้วครับ หวังว่าที่บ่นที่บอกมาทั้งหมด จะสามารถเปลี่ยนใจคนที่ยังลังเลได้อยู่นะครับ

แหล่งอ้างอิง
//www.redcross.or.th
//www.nbc.in.th/
//www.nci.go.th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/2008.pdf
//www.dopa.go.th/stat/y_stat.html
//www.searo.who.int/EN/Section10/Section17/Section58/Section219.htm
อื่นๆยิบย่อยครับ ขออภัยเจ้าของข้อมูลที่ไม่ได้เก็บบันทึกไว้ครับ...



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2552 0:53:35 น. 0 comments
Counter : 1539 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.