Group Blog
 
All blogs
 

ปราสาทตาเมือน

ปราสาทตาเมือน กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์



มาต่อกันที่ปราสาทหลังสุดท้ายในกลุ่มปราสาทตาเมือนกันเลยนะคะ ปราสาทตาเมือนนี้ตั้งอยู่ทางขวาของถนน เมื่อเดินทางออกมาจากปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือนโต๊ดค่ะ

โดยปราสาทนี้เป็นสถานที่ที่เรียกว่า “วหนิคฤหะ” หรือ “บ้านมีไฟ/บ้านพร้อมไฟ” โดยเป็นหนึ่งใน 17 แห่ง ที่ถูกระบุไว้ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ในเมืองพระนคร ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดฯให้สร้างไว้ 2 ข้างทางถนนที่ตัดจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย โดยบางทีปราสาทแบบนี้ก็ถูกเรียกว่าที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลาด้วยเหมือนกันค่ะ

คาดว่าปราสาทนี้คงทำหน้าที่เป็นที่พักของนักบวชเพื่อประกอบพิธีกรรมในระหว่างการเดินทาง ซึ่งพิธีกรรมนี้ ศาสตราจารย์ Claude Jacques ได้สันนิษฐานว่า อาจเป็นพิธีกรรมบูชาไฟอันศักดิสิทธิ์ ซึ่งการกระทำกันในสมัยเขมรโบราณ

สภาพทั่วไปของปราสาท

ปราสาทนี้มีลักษณะเป็นไปตามแบบแผน ของปราสาทอื่นๆที่ทำหน้าที่เป็นบ้านมีไฟเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เป็นอาคารหลังเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีตัวครรภคฤหะซึ่งมีมุขยาวยื่นออกไปด้านหน้า โดยผนังทางฝั่งทิศเหนือจะปิดทึบ ส่วนผนังทางด้านทิศใต้จะเจาะเป็นช่องหน้าต่าง



ซึ่งการเจาะช่องหน้าต่างที่ผนังทางด้านทิศใต้ จะมีความเกี่ยวพันกับการที่ทิศใต้เป็นทิศแห่งบรรพบุรุษหรือไม่นั้น ก็ยังไม่สามารถบอกได้ โดยลักษณะผังแบบนี้นั้น พบได้ทั้งในไทยและในกัมพูชา เพียงแต่ที่พบในกัมพูชาดูจะมีฝีมือการสร้างที่ประณีตกว่า


ภาพเฉพาะส่วนผนังทางด้านข้าง จะเห็นช่องหน้าต่างซึ่งก่อด้วยหินทรายเรียงเป็นแถว ในขณะที่ผนังอีกด้านจะเป็นผนังทึบตันค่ะ

ปราสาทนี้ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ยกเว้นแต่ส่วนของกรอบประตูและหน้าต่าง ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก จึงจะใช้หินทรายซึ่งมีความคงทนแข็งแรงกว่า

ทับหลังที่พบที่ปราสาทตาเมือนนี้ เป็นทับหลังแบบบายน เช่น เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งบนหน้ากาล ลักษณะของลายก้านขดและลายใบไม้ม้วน เป็นต้น


ทับหลังที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวที่ปราสาทตาเมือนแห่งนี้ค่ะ


ภาพด้านในปราสาท จะเห็นถึงลักษณะการก่อเรียงศิลาแลงที่สอบเข้าหากัน และก่อเห็นทรงโค้งขึ้นไปเพื่อรองรับน้ำหนักของหลังคา





 

Create Date : 30 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2550 17:48:23 น.
Counter : 1440 Pageviews.  

ปราสาทตาเมือนโต๊ด

ปราสาทตาเมือนโต๊ด กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์



หลังจากพาไปชมปราสาทตาเมือนธมที่อยู่ในละแวกเดียวกันไปแล้ว คราวนี้มาต่อกันที่ปราสาทตาเมือนโต๊ดค่ะ เมื่อเดินทางกลับออกมาจากปราสาทตาเมือนธมไม่ไกล ก็จะพบปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณทางด้านซ้ายของถนน

เชื่อกันว่าปราสาทนี้ทำหน้าที่เป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาล หรือ อโรคยศาลา โดยในไทยได้พบปราสาทแบบนี้แล้วราว 30 แห่ง จากทั้งหมด 102 แห่ง ที่ถูกระบุไว้ในจารึกที่ปราสาทตาพรหมในเมืองพระนคร(หรือเมืองเสียมเรียบในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้เป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาลานั้น ก็เนื่องมาจากว่าลักษณะของแผนผังที่มีแบบแผนเดียวกับปราสาทแห่งอื่นๆ ทั้งในไทยและในกัมพูชา ที่ได้มีการพบจารึกซึ่งระบุว่า ได้มีหน้าที่เป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาลานั่นเองค่ะ

*อโรคยศาลา ก็คือ สถานที่ที่ใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เทียบกับปัจจุบันก็ประมาณโรงพยาบาลนั่นแหละค่ะ โดยอโรคยศาลาแต่ละแห่งนั้น ก็มักจะมีศาสนสถานประจำอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้า และขอพรให้ช่วยรักษาโรคร้ายต่างๆให้


สภาพทั่วไปของปราสาท


ภาพนี้ถ่ายเมื่อตอนไปภาคสนามที่ปราสาทนี้ครั้งที่สองค่ะ จะสังเกตได้ว่าสระน้ำที่เห็นจะมีน้ำขึ้นมาแล้ว ในขณะที่รูปแรก เต็มไปด้วยหญ้าค่ะ
สระน้ำแบบนี้จะพบได้ทั่วไปในปราสาทเขมรเกือบทุกปราสาท เข้าใจว่าเพื่อประโยชน์และความสะดวกในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคค่ะ


ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนา นิหายมหายาน ก่อด้วยศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ โดยได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งปรากฏข้อความในจารึกที่ว่าพระองค์ได้โปรดฯให้สร้าง อโรคยศาลา ที่พักคนเดินทาง และถนนที่ตัดมาจากเมืองพระนคร ขึ้นหลายแห่งในบริเวณที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ รวมถึงการกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะก็สามารถกำหนดได้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับศิลปะของแบบบายนอีกด้วย

ซึ่งลักษณะของผังที่กล่าวว่ามีรูปแบบเดียวกันนั้น ก็คือ ศาสนสถาน 1 แห่งจะประกอบไปด้วย ปราสาทประธาน 1 หลัง ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีบรรณาลัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน


ภาพตัวปราสาทประธาน จะเห็นได้ว่า ส่วนตัวอาคารนั้นก่อด้วยหินทราย ต่อมาที่ส่วนยอดจึงก่อด้วยศิลาแลง แล้วที่ยอดบัวด้านบนซึ่งต้องสลักลายนั้นจึงก่อด้วยหินทรายอีกทีค่ะ


บรรณาลัยของปราสาทตาเมือนโต๊ดค่ะ ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว

ซึ่งทั้งตัวปราสาทประธานและบรรณาลัยนั้น จะมีกำแพงล้อมรอบ(ทางกำแพงด้านทิศตะวันออกจะมีการทำซุ้มประตู หรือที่เรียกว่า "โคปุระ" อยู่ด้วย) และนอกกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ก็จะมีสระน้ำอยู่


ภาพถ่ายโคปุระจากทางด้านหน้าค่ะ จะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็นช่องประตูช่องหน้าต่างนั้น จะก่อด้วยหินทราย เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมากนั่นเองค่ะ

ซึ่งลักษณะร่วมเหล่านี้พบได้ในปราสาททุกแห่งที่ทำหน้าที่เป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาลา ทั้งที่พบในเมืองพระนครและที่พบในประเทศไทย เพียงแต่ว่าปราสาทในเมืองพระนครจะดูมีฝีมือที่ประณีตกว่าเท่านั้น

ความเหมือนกันเหล่านี้จึงอาจเป็นสิ่งที่ถูกส่งออกมาจากส่วนกลางก็คือเมืองพระนคร ซึ่งอาจเป็นการระบุเป็นระเบียบแบบแผนในการสร้าง รวมไปถึงยังอาจมีการส่งช่างออกมาก่อสร้างให้ด้วยก็เป็นได้

ตัวปราสาทประธานนั้นก่อด้วยวัสดุ 2 อย่างคือ มีทั้งส่วนที่เป็นศิลาทราย และศิลาแลง โดยศิลาแลงที่ใช้ในปราสาทแบบเขมรนั้น จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งผังของปราสาทประธานนั้น จะมีเพียงแค่ส่วนของครรภคฤหะ ที่มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีจุดที่น่าสังเกตก็คือ ที่หน้าบันของมุขที่ยื่นออกมานั้น จะมีช่อง/หลุม รูปสี่เหลี่ยม 4 ช่อง ทำให้มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่สำหรับเสียบเดือยเพื่อต่อคานไม้หลังคามุงกระเบื้อง ออกมาอีก


ช่องสี่เหลี่ยมที่เห็นในรูปนั่นล่ะค่ะ คือจุดที่สันนิษฐานว่าอาจทำไว้สำหรับเสียบเดือยไม้คานของส่วนที่ก่อสร้างเพิ่มยื่นออกมาด้านหน้า

ซึ่งที่ลานด้านหน้าของมุขที่ยื่นออกมาจากส่วนครรภคฤหะนั้น ก็พบหลุมเสาด้วย เป็นการสนับสนุนสมมุติฐานที่ตั้งไว้ โดยส่วนที่คาดว่าจะมีการต่อยื่นเป็นอาคารไม้ออกมานี้ อาจถือได้ว่าเป็นส่วนของมณฑป แล้วส่วนที่เห็นเป็นมุขในปัจจุบันก็อาจกลายเป็นส่วนของอันตราระ

นอกจากนี้ ที่ปราสาทหลังนี้ยังได้พบตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการก่อสร้างหน้าบันของปราสาทเขมรอีกด้วย โดยในส่วนของหน้าบันนั้นจะมีการก่อเรียนหินเว้นเป็นช่องสามเหลี่ยม เพื่อเป็นการถ่ายน้ำหนัก จากส่วนของหลังคาไม่ให้ไปลงที่ทับหลัง ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับคาน แต่ให้ไปลงที่ส่วนของกรอบประตูซึ่งเป็นส่วนที่รับน้ำหนักได้มากกว่าแทน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปราสาทพังลงมานั่นเอง


เห็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆนั่นใช่มั้ยคะ นั่นแหละค่ะ ถ้าเป็นสภาพสมบูรณ์ตรงนั้นจะมีการทำหน้าบันมาปิด แต่จริงๆด้านในจะก่อกลวงเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อถ่ายน้ำหนัก ช่างสมัยโบราณนี่เค้าก็เก่งนะคะ คิดดูว่าทั้งหินทั้งศิลาแลง น้ำหนักมันจะมากขนาดไหน ยังสามารถก่อสร้างจนหลงเหลือมาให้เราได้ศึกษากันได้ ตั้งกี่ร้อยปีมาแล้วล่ะนั่น เหอๆๆ เกือบพันปีแล้วอ่ะ


รูปนี้อยากเอามาให้ดูเฉยๆค่ะ คิดดูขนาดวัสดุที่เป็นศิลาแลงซึ่งไม่เหมาะกับการสลักใดๆทั้งปวง เนื่องจากเนื้อหยาบและมีรูพรุนเยอะ แต่เค้าก็ยังไม่วายขอสลักเป็นลวดลายซักนิดๆหน่อยๆก็ยังดี สุดยอดจริงๆ หุหุหุ





 

Create Date : 30 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2550 17:46:56 น.
Counter : 937 Pageviews.  

ปราสาทตาเมือนธม

ในที่สุดเราก็ได้รายชื่อผู้โชคดี...เอ้ย ไม่ใช่ ชื่อปราสาทหลังต่อไปที่จะมาแนะนำให้รู้จักกันค่ะ จริงๆจะเรียกกว่าหลังเดียวก็ไม่เชิงนะคะ เพราะคราวนี้มาเป็นแบบแพ็คเก็จ 3 หลังค่ะ ชื่อคล้ายๆกัน อยู่ใกล้ๆกัน ก็คือ บริเวณใกล้กับชายแดนเขมร ที่ กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ คือ กลุ่มปราสาทตาเมือนค่ะ

เริ่มกันที่ปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเลยนะคะ

ปราสาทตาเมือนธม กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์



ปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่ในตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยตั้งอยู่บนสันเขาพนมดงรัก ติดกับชายแดนกัมพูชา 555 เริ่มรู้แกวแล้วใช่มั้ยคะ ไม่ว่าปราสาทหลังไหนก็ตามที่ตั้งอยู่ในแนวเส้นแบ่งพรมแดนเนี่ยเกิดปัญหาในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ระหว่างไทย-กัมพูชากันเกือบทุกหลังเลยค่ะ เหมือนกับปราสาทสด๊กก๊อกธม ที่เคยเล่าให้ฟังเลย ซึ่งในกรณีนี้เนี่ยปราสาทตาเมือนธมอยู่ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชามากๆๆๆๆ ขนาดที่ว่าแค่เดินจากตัวปราสาทไปเพียงประมาณ 100 เมตรเท่านั้น ก็จะเข้าสู่เขตประเทศกัมพูชาเลยค่ะ ตอนไปนี่แบบว่าชะโงกหน้าโผล่ไปดูคุณทหารเขมรถือปืนได้ด้วยอ่ะค่ะ ลงบันไดหน้าปราสาทไปหน่อยเดียวก็เข้ากัมพูชาแล้ว โฮะๆๆ

ตอนมีปัญหาอ้างสิทธิ์กันนี่นะคะฝ่ายไทยก็ได้ยกเอาเอกสารของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเอกสารอันเรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่กัมพูชายึดถือตามมาตลอดมาคัดค้าน เพราะในเอกสารของฝรั่งเศสซึ่งได้มีการทำทะเบียนโบราณสถานในไทย เมื่อปี พ.ศ.2444-2445 น่ะ ได้บอกว่าปราสาทในกลุ่มตาเมือน อยู่ในดินแดนของประเทศไทยด้วย โฮะๆๆ เพราะฉะนั้น คดีนี้ไทยเราเลยชนะไปตามระเบียบ พวกเราถึงสามารถเที่ยวเล่นที่ปราสาทนี้ได้สบายๆ โดยไม่ต้องทำเรื่องขอจากกัมพูชาไงคะ (ไม่เหมือนเขาพระวิหาร 555)

สภาพปัจจุบัน(เมื่อปีสองปีที่แล้ว) ปราสาทซึ่งเคยอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น กลับเสียหายและทรุดโทรมลงมาก เพราะอะไรรู้มั้ยคะ ก็เพราะพวกลักลอบค้าของเก่า ที่มาระเบิดและสกัดเพื่อจะเอาส่วนของลวดลายประดับตกแต่งต่างๆไปขายไงคะ

แหม...พูดแล้วแค้น คนเรานะ ช่างทำกันได้ โมโหๆ และที่สำคัญถ้าสกัดไปได้ดีๆก็ยังพอเข้าใจได้(มั้ง) แต่กลับปรากฏว่าที่จริงการทำแบบนี้ ถือว่าเป็นผลเสียกับทั้งสองฝ่าย เพราะปราสาทนี้เนี่ยสร้างด้วยหินทรายทั้งหลัง ทำให้เมื่อถูกระเบิดหรือสกัดหินบางส่วนออกไป หินส่วนที่เหลือก็จะพังตามไปทั้งหมด จึงเป็นอันว่า ฝ่ายลักลอบก็ไม่ได้ของที่ต้องการ แล้วยังเป็นการทำลายตัวปราสาทส่วนอื่นๆอีกด้วย เฮ้อออ พูดแล้วหงุดหงิด ทำไมมันไม่คิดบ้างก่อนทำ สักแต่ว่าระเบิดๆ ทุบๆๆ ฮ่วย!


สภาพโดยรวมของปราสาทค่ะ ถ่ายมามุมเยื้องมาทางด้านหลัง บุคคลทั้งหลายในภาพไม่ใช่นักท่องเที่ยวนะคะ แต่เป็นเพื่อนที่ไปภาคสนามด้วยกันค่ะ น่าแปลกนะคะ ทั้งๆที่ปราสาทนี้ก็เป็นสถานที่ที่น่าสนใจไปเยี่ยมชม แต่ที่ไปมาทั้งหมด 3-4 ครั้ง แทบไม่เจอนักท่องเที่ยวเลยค่ะ เจอแต่หน้าเดิมๆที่เดินทางไปด้วยกันนั่นแหละ 555

พูดเรื่องพวกนี้แล้วหงุดหงิดค่ะ ไม่เอาดีกว่า เรากลับมาที่ปราสาทที่ยังเหลือให้พวกเราดูดีกว่านะคะ

สภาพทั่วไปของปราสาท

ปราสาทตาเมือนธมนี้เป็นปราสาทก่อด้วยหินทรายทั้งหลัง สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย แต่ภายหลังได้ถูกใช้เป็นพุทธสถานด้วย สามารถกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะได้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน โดยตัวปราสาทตั้งอยู่บนสันเขา ดังนั้นจึงมีการก่อศิลาแลงบางส่วนเพื่อกั้นดินไม่ให้ทลายลงมา ก็คือส่วนด้านหน้าของปราสาทนั่นแหละค่ะ จะมีการก่อศิลาแลงซะสูงเชียว

ตัวปราสาทจะหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทอื่นๆที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งห่างจากด้านหน้าของปราสาทออกไปในเขตกัมพูชาก็จะมีสระน้ำ ที่มีถนนซึ่งตัดผ่านมาจากเมืองพระนคร(เมืองเสียมเรียบในกัมพูชาปัจจุบัน)

โดยถนนเส้นนี้เนี่ยได้มีการกล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ ในเมืองพระนครว่าได้ถูกตัดขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1763) เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย ซึ่งการที่ถนนนี้ได้ตัดผ่านมาถึงสระน้ำของปราสาทหลังนี้นั้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้ น่าจะเป็นปราสาทที่มีความสำคัญพอสมควร

ผังของปราสาทหลังนี้เป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงคดล้อมรอบ ตัวปราสาทประธานแบ่งออกเป็นส่วนของ ครรภคฤหะ อันตราระ และมณฑป


จากภาพ ส่วนซ้ายมือที่ยอดสูงที่สุดคือครรภคฤหะนะคะ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของศาสนาสถาน ไว้ประดิษฐานรูปเคารพประธานค่ะ ถัดมาจะมีช่วงรอยต่อเล็กๆที่เหมือนทางเชื่อมน่ะค่ะ ส่วนนั้นเรียกว่าอันตราระ ถัดมาทางขวามือก็คือมณฑป อย่าสับสนกับมณฑปที่เห็นตามวัดในปัจจุบันนะคะ ไม่เหมือนกันค่ะ

ในส่วนของครรภคฤหะนั้น ภายในประดิษฐานสวยัมภูลึงค์ หรือ ศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งนี่เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าปราสาทหลังนี้เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย


ซูมเฉพาะส่วนครรภคฤหะค่ะ


สวยัมภูลึงค์ค่ะ ลักษณะเป็นก้อนหินสันฐานกลมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

โดยอาจเป็นไปได้ว่า มีการพบสวยัมภูลึงค์ที่พื้นที่บริเวณนี้ก่อน แล้วจึงมีการสร้างปราสาทครอบลึงค์ที่พบในภายหลัง ซึ่งเมื่อสังเกตดูจะพบว่า ส่วนฐานของปราสาทประธานนั้น เป็นหินธรรมชาติของภูเขาที่มีการปรับระดับให้ราบเรียบแล้วถึงจะก่อเพิ่มด้วยหินทรายเป็นตัวปราสาท


ลานหินด้านข้างปราสาท เป็นพื้นหินธรรมชาติของภูเขาที่ถูกปรับให้ราบเรียบขึ้นค่ะ รูและกรอบรูปสี่เหลี่ยมที่เห็น เป็นที่สำหรับประดิษฐานรูปเคารพค่ะ

ในส่วนของอันตราระ(เชื่อมระหว่างมณฑป กับครรภคฤหะ) ก็พบประติมากรรมรูปโคนนทิ ซึ่งเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ อยู่ในท่าหมอบ หันหน้าไปทางสวยัมภูลึงค์ในครรภคฤหะ และที่ทางเข้าของปราสาทประธาน ก็พบภาพสลักรูปทวารบาลอยู่ด้วย


โคนนทิค่ะ สลักจากหิน พอจะมองกันออกมั้ยคะ ภาพนี้ถ่ายจากทางด้านหน้า ส่วนหัวหักไปแล้ว แต่ยังพอเห็นร่องรอยของสร้อยคออยู่ ลักษณะเป็นเม็ดๆคล้ายลูกประคำ โคนนทิเป็นพาหนะของพระศิวะค่ะ ในศาสนาสถานของพราหมณ์หลายๆแห่ง ที่มีเทวรูปพระศิวะหรือศิวลึงค์เป็นรูปเคารพประธานก็มักจะพบการทำประติมากรรมโคนนทิเป็นบริวารไว้เสมอค่ะ


ภาพส่วนที่เป็นมณฑป เอามาให้เห็นกันชัดๆ เป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ด้านหน้าครรภคฤหะค่ะ

เนื่องจากปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาถึงขั้นตอนวิธีการก่อสร้างปราสาทในอดีต โดยจะเห็นว่าการสร้างเริ่มที่การก่อศิลาเป็นโครงร่างขึ้นไปก่อน แล้วจึงมีการปรับแต่ง และสลักลวดลายประดับในภายหลัง ดูตัวอย่างได้จากส่วนที่มีแต่โครงร่างศิลาเรียบๆ ยังไม่มีการสลักลายนั่นเองค่ะ

เยื้องจากปราสาทประธานไปทางด้านหลัง ก็มีปราสาทหลังเล็กๆอยู่ 2 หลัง เป็นปราสาทซึ่งก่อด้วยหินทราย และเห็นได้ชัดว่ายังสร้างไม่เสร็จ ดูได้จากการที่ลวดลายสลักตกแต่งยังไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับตัวปราสาทซึ่งก็มีส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จเช่นเดียวกันค่ะ




ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธานนั้น ก็มีบรรณาลัยอยู่ 2 หลัง หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน โดยทั้ง 2 หลังนี้ก่อด้วยศิลาแลง ต่างจากปราสาทประธาน และปราสาทเล็กๆด้านหลัง ซึ่งก็อาจเป็นได้ว่าบรรณาลัยทั้ง 2 หลังนี้ได้ถูกสร้างต่อเติมขึ้นมาในภายหลังก็ได้ค่ะ เพราะวัสดุที่ใช้สร้างไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ที่บริเวณด้านนอกระเบียงคดทางทิศเหนือ ก็มีการขุดเป็นสระน้ำเล็ก 2 สระ ซึ่งในปราสาทเขมรทั่วๆไปมักจะพบว่ามีสระน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้ๆเสมอ คาดว่าคงเป็นเรื่องของการจัดการแหล่งน้ำค่ะ

ต่อไปเรามาดูกันนะคะว่าหลักฐานที่พบที่ปราสาทหลังนี้มีอะไรกันบ้าง

ในปี พ.ศ.2502-2503 ได้มีการสำรวจที่ปราสาทหลังนี้ พบรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเรื่องที่ว่า ในระยะหลังนั้นปราสาทหลังนี้ได้ถูกใช้เป็นพุทธสถาน (น่าจะเป็นในช่วงตั้งแต่สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลงมาเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ศาสนาพุทธมหายานได้รับการนับถือมากในเขมรค่ะ)

นอกจากนี้ยังมีการพบจารึกที่ปราสาทนี้หลายหลักด้วย (มีการพิมพ์เผยแพร่ 5 หลัก) โดยจารึกที่เก่าที่สุด ได้กล่าวไปถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 (พ.ศ.1389-1420) รวมถึงมีจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1(พ.ศ.1545-1593) ซึ่งตรงกับอายุสมัยของปราสาทที่ระบุได้จากรูปแบบศิลปะของตัวปราสาท (นี่แหละค่ะ นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะเค้าใช้วิธีกำหนดอายุกันแบบนี้)

ข้างล่างเป็นรูปของลายตกแต่งและบางมุมของปราสาทนะคะ เอามาให้ดูกันเล่นๆ ชอบมากๆค่ะเวลาเห็นพวกลายสลักเนี่ย สวยจริงๆเลย ยิ่งบางชิ้นนะคะดูใกล้ๆแล้วถึงกับทึ่ง สลักได้อ่อนช้อยสวยงามมากเลยค่ะ ช่างสมัยโบราณนี่เค้าเก่งนะคะ คิดดูว่าสมัยนั้นมีเครื่องมือทันสมัยอย่างเราซะเมื่อไหร่ ยังทำได้ขนาดนี้ สุดยอดดดดดด


เวลาออกภาคสนามนักศึกษาโบราณคดีก็ต้องทำแบบนี้แหละค่ะ ถ่ายรูป และจดบันทึก กล้องกับสมุดโน้ตนี่เรียกได้ว่าต้องถือติดมือตลอดเวลาเลยค่ะ เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด ทั้งที่ฟังจากอาจารย์แล้วก็ที่สังเกตเห็น เพราะว่าโบราณสถานแต่ละแห่งก็ใช่ว่าใกล้ๆ ได้ไปกันบ่อยๆ

อยากให้ดูพวกลายสลักค่ะ สวยงามมากจริงๆ








ลายที่เสาประดับกรอบประตูค่ะ เป็นลายก้านขด สวยเนาะ (แต่ยังมีที่สวยกว่านี้อีกค่ะ เสียดายที่ปราสาทหลังนี้เสียหายไปมากแล้ว ไม่อย่างนั้นคงมีอะไรให้ดูอีกเยอะเลยค่ะ)


ภาพนี้อยากให้ดูกรอบประตู และโครงสร้างการถ่ายน้ำหนักของหลังคาค่ะ ส่วนที่เป็นหลังคามีการก่อหินเรียงซ้อนกันแบบคั่นบันไดเพื่อรับน้ำหนักจากส่วนยอด แล้วถ่ายมาลงที่ทับหลังและเสากรอบประตูทั้งสองข้าง


สองรูปต่อไปไม่มีอะไรค่ะ สภาพด้านนอก แต่อยากเอามาให้ดู ชอบแสงแบบซีเปีย(ถ่ายฟิล์มขาวดำค่ะ แล้วล้างเป็นซีเปีย) ได้อารมณ์ไปอีกแบบนึง หุหุหุ






ภาพสุดท้าย เป็นส่วนยอดของปราสาทที่หักลงมาค่ะ เค้าก็เลยนำมาตั้งไว้ข้างล่าง ลักษณะจะคล้ายๆดอกบัว ที่เห็นน่ะหินตันทั้งก้อนนะคะ หนักทีเดียวเชียวแหละ เหอๆๆ



จบแล้วค่ะ สำหรับการพาทัวร์ปราสาทตาเมือนธมแบบชาวโบราณคดี ไว้โอกาสหน้าจะพาไปปราสาทตาเมือน และปราสาทตาเมือนโต๊ด ซึ่งเป็นปราสาทอีกสองหลังในกลุ่มปราสาทตาเมือนนี้นะคะ

เหมือนเดิม ถ้าอ่านแล้วสงสัยหรือติดใจอะไรตรงไหนโพสมาคุยกันได้ค่ะ หรือถ้าอยากแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงแนะนำอะไรก็เชิญตามสบายเลยนะคะ เดี๋ยวจะมาเช็คมาตอบอยู่เรื่อยๆค่ะ มาคุยๆกันน๊า (เนียนหาเพื่อนคุย 555)




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2550 17:44:34 น.
Counter : 1893 Pageviews.  

ปราสาทสด๊กก๊อกธม

เริ่มกันเลยกับสถานที่แรก
ปราสาทสด๊กก๊อกธม (สล๊อกก๊อก) อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว



ปราสาทนี้จริงๆเราเคยไปหลายครั้ง(ที่แน่ๆไม่ต่ำกว่า2 แต่กี่ครั้งนี่จำไม่ได้) ที่ไปก็เพราะไปออกภาคสนามกับที่คณะน่ะแหละ (อยู่คณะนี้ได้กำไร โฮะๆๆ เที่ยวบ่อย)
รูปที่เอามาให้ดูนี่ถ้าจำไม่ผิดจะประมาณต้นปี47 ช่วงที่อากาศหนาวมาๆน่ะค่ะ
ไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟัง ถึงความหนาวสุดๆในการไปฟิลด์ครั้งนี้ สุดยอดดดดดดด
555 มาเข้าสู่โหมดสาระกันดีกว่า

ปราสาทสด๊กก๊อกธมตั้งอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกของไทย กรุณาอย่าคิดว่าปราสาทหินมีแต่ในภาคอีสานเชียว ในภาคตะวันออกก็มีค่ะ โดยเฉพาะแถวปราจีนกับสระแก้ว หลายแห่งอยู่ ปราสาทนี้อยู่ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชา ซึ่งในอดีตเคยมีข้อพิพาทระหว่าไทย-กัมพูชา ในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของปราสาทหลังนี้มาแล้ว โดยฝ่ายไทยได้ยกเหตุผลว่าตัวปราสาทตั้งอยู่ในบริเวณที่ลึกเข้ามาในประเทศไทยพอสมควร (1.5 กม.) ซึ่งปัญหาในเรื่องการแย่งกรรมสิทธิ์นี้ มักเกิดขึ้นบ่อยๆกับปราสาทที่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-กัมพูชา เนื่องด้วยสาเหตุที่ว่าปราสาทเหล่านี้แม้ว่าจะตั้งอยู่ในดินแดนไทยตามข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตแดนก็ตาม แต่ก็เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมร โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับปราสาทในประเทศกัมพูชาเกือบทุกประการ ซึ่งนี่ก็เป็นข้ออ้างของฝ่ายกัมพูชาในการอ้างกรรมสิทธิ์ โดยนอกจากปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้แล้ว ก็ยังมีปราสาทอื่นอีก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร หรือ ปราสาทตาเมือนธม เป็นต้น

ปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้ เป็นที่รู้จักมากว่า 100 ปีแล้ว โดยถือว่าเป็นปราสาทสำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก เพราะว่า ปราสาทที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมรที่อยู่ในภาคตะวันออกนั้นส่วนใหญ่ได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว เหลือปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ที่ถือว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด แต่อย่างไรก็ตามปราสาทหลังนี้ในปัจจุบันถือได้ว่าอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมค่อนข้างมากแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่บางส่วนก็เป็นผลมาจากการถูกระเบิด เนื่องจากในอดีตปราสาทหลังนี้เคยเป็นที่ตั้งของกองกำลังเขมรแดง และมีการฝังกับระเบิดไว้ด้วย แต่ในปัจจุบันได้ทำการกู้ระเบิดออกไปหมดแล้ว (แต่ขอบอก ตอนเราไปนะ เค้ายังให้เดินกันเป็นกลุ่มอยู่เลย เหอๆๆ อย่าเพ่นพ่านมิเช่นนั้นขาท่านอาจขาดไม่รู้ตัว เอิ๊กกกกส์)

สภาพทั่วไปของปราสาท

ปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้ เป็นศาสนสถานประจำชุมชน โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์สามารถกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะได้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เป็นปราสาทหลังเดียว สร้างด้วยหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นลักษณะที่สามารถพบได้ในศาสนสถานทั่วไป ทางด้านหน้าปราสาทมีทางเดินยาวที่ทอดเชื่อมไปยังบารายขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวปราสาทออกไปประมาณ 400 เมตร ที่สองข้างทางของทางเดินมีเสานางเรียงตั้งอยู่เป็นระยะ แสดงถึงความสำคัญของปราสาทหลังนี้ ซึ่งทางเหนือของบารายก็มีร่องรอยของถนนโบราณที่ทอดยาวเข้าไปในเขตของประเทศกัมพูชาเชื่อมต่อไปยังบารายตะวันตกที่เมืองพระนคร ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าได้ถูกขุดขึ้นในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1593-1609) ซึ่งถนนโบราณนี้นั้นจะเป็นการตัดถนนขึ้นพร้อมกับการสร้างปราสาท หรือตัดขึ้นมาภายหลังนั้น ก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่จากจารึกที่พบ แสดงให้เห็นว่าปราสาทนี้ค่อนข้างมีความสำคัญมาก มาตั้งแต่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 แล้ว จึงเป็นไปได้ว่าถนนที่เห็นอาจเป็นถนนที่ตัดขึ้นเดิมพร้อมกับการสร้างปราสาท เพื่อเป็นการเชื่อมระหว่างปราสาทกับเมืองพระนครก็เป็นได้

ปราสาทหลังนี้มีขอบเขตล้อมรอบด้วยกัน 3 ชั้น ดังนี้

ชั้นนอกสุด เป็น กำแพงซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ที่ซุ้มประตูทางเข้าด้านละ 3 ช่อง ที่ซุ้มทางเข้าช่องกลางทางทิศตะวันออก(ด้านหน้า) มีหน้าบันสลักเป็นรูปศิวะนาฏราช ส่วนทางด้านหลังนั้นสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์

ขอบเขตชั้นที่ 2 นั้น มีการชุดเป็นคูน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน โดยเว้นไว้เฉพาะส่วนที่เป็นถนนซึ่งขนาบด้วยเสานางเรียงซึ่งต่อมาจากด้านหน้าปราสาทเท่านั้น

ขอบเขตชั้นในสุด เป็นแนวกำแพงซึ่งก่อด้วยศิลาทราย มีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ แต่เข้าได้จริงแค่ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเท่านั้น ส่วนซุ้มทางด้านทิศเหนือและใต้ แม้ว่าจะมีการก่อศิลาขึ้นเป็นลักษณะของซุ้มแต่ก็เป็นแต่ซุ้มประตูหลอก ไม่สามารถใช้งานได้จริง ลักษณะพิเศษอีกอย่างของขอบเขตชั้นนี้ก็คือ ซุ้มประตูทางเข้ามีการก่อยอดขึ้นไปให้มีลักษณะคล้ายปราสาท

เมื่อพ้นขอบเขตชั้นในสุดเข้าไป ก็ถึงตัวปราสาทประธาน เป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยศิลาทราย โดยมีลักษณะพิเศษคือ มีเสานางเรียงล้อมรอบตัวปราสาทประธาน ซึ่งโดยปกติแล้วเสานางเรียงมักจะอยู่ที่สองข้างทางของทางเดินเท่านั้น

ที่ด้านหน้าของปราสาทประธาน ยังมีบรรณาลัย อีก 2 หลัง โดยทั้ง 2 หลังได้หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน (ทิศตะวันตก)

ในบริเวณใกล้ๆกันกับบริเวณปราสาท ได้มีการนำทับหลังและหน้าบัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดับอยู่ที่ตัวปราสาท ได้ถูกนำมาวางเรียงเอาไว้บนพื้น โดยได้มีการพยายามจัดตำแหน่งให้ตรงกับที่เคยถูกประดับที่ตัวปราสาท ซึ่งเมื่อสังเกตลักษณะของกรอบหน้าบันบางชิ้น จะเห็นได้ว่าลักษณะของนาคที่อยู่ในส่วนปลายของกรอบหน้าบันนั้น เป็นนาคแบบบาปวนอย่างชัดเจน นั่นคือเป็นนาคหัวโล้น (ยังไม่มีกระบังหน้าเหมือนในสมัยนครวัด)

ในปัจจุบันปราสาทสด๊กก๊อกธมได้ปรักหักพังลงไปค่อนข้างมาก และกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ โดยกรมศิลปากรค่ะ

ต่อไปเรามาดูรูปกันดีกว่า ตอนนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตอลเป็นของตัวเอง แล้วกล้องฟิล์มก็ดันเป็นแมนนวลที่ใส่ฟิล์มขาวดำไว้(เทอมนั้นเรียนถ่ายรูปด้วยเลยถือโอกาสทำงานส่งอาจารย์ไปในตัว 555) ต้องขอบคุณคุณเพื่อน ที่อุทิศกล้องตัวเองให้เป็นเหมือนกล้องสาธารณะ ขอบคุณนะคร๊าบบบบบบ


อันนี้ให้เห็นกันชัดๆ ว่าตอนไปเค้ากำลังซ่อมแซมอยู่ ปัจจุบันได้ข่าวว่าก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ยังมีการขุดค้นอยู่ แต่คิดว่าตัวปราสาทน่าจะบูรณะใกล้จะเสร็จแล้ว


เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างหินเก่า กับแท่งซีเมนต์ใหม่ที่กรมศิลป์เอาไปเสริม(แต่เดี๋ยวเค้าต้องทำให้สีใกล้เคียงกันแหละค่ะ) ตอนไปดูก็แบบ เออตลกดี อะไรจะสีขัดกันได้ขนาดนั้น เรียกได้ว่าเป็นการไปเห็นปราสาทตอนกำลังบูรณะจังๆเป็นครั้งแรก


นี่ค่ะบรรณาลัยที่ว่า นักวิชาการส่วนใหญ่อธิบายว่ามันเป็นคล้ายๆห้องสมุดที่เก็บคัมภีร์น่ะค่ะ พบในปราสาทหินเกือบทุกหลัง


หน้าบันและทับหลังส่วนประดับโคปุระ(ซุ้มประตู) ถ้าสังเกตดีๆลวดลายที่หน้าบันจะเป็นภาพนารายณ์บรรทมศิลป์ค่ะ


ให้ดูทับหลังกันชัดๆ ช่างชาวเขมรนี่เค้าเก่งนะคะ ที่เห็นน่ะหินทรายล้วนๆ สลักกันได้อย่างกับสลักสบู่ นับถือๆ


บริเวณด้านนอกถัดจากตัวปราสาทมาหน่อย เค้าก็จะจัดการเอาพวกทับหลังและหน้าบัน มาวางเรียงกันค่ะ เพราะใช้วิธีบูรณะแบบอนัสติโลซิส ก็คือ จะรื้อและทำสัญลักษณ์ที่หินทุกก้อน แล้วเอามาเรียงต่อกันใหม่แบบต่อจิ๊กซอว์ ในภาพเป็นหน้าบันหนึ่งในหลายๆอัน ที่ถูกยกลงมาเรียงข้างล่างก่อน เพื่อรอคิวกลับไปติดตั้งไว้ในตำแหน่งเดิมค่ะ (บางชิ้นเค้าอาจจะยกไว้ไปที่พิพิธภัณฑ์ด้วย)


รูปสุดท้าย เป็นส่วนปลายหน้าบันค่ะ ถ่ายให้เห็นกันชัดๆว่านาคหัวโล้นน่ะเป็นยังไง (เดี๋ยวนาคแบบมีกระบังจะเป็นอีกแบบหนึ่งค่ะ ถ้ามีโอกาสจะเอามาให้ดูกัน)

จบแล้วสำหรับreview ปราสาทสด๊กก๊อกธมอย่างคร่าวๆ ข้อมูลนำมาลงเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ทำส่งอาจารย์จากการไปฟิลด์คราวนั้น พวกเกร็ดนิดๆหน่อยๆที่สะสมมา ใครเข้ามาดูลองช่วยคอมเมนต์หน่อยก็ดีนะคะ แลกเปลี่ยนความรู้กัน แล้วถ้าสงสัยหรือติดใจตรงไหนก็มาคุยกันได้ค่ะ เป็นมือใหม่ทำบล็อค แต่ก็อยากเอาประสบการณ์ดีๆ ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นบ้าง รบกวนขอคำติชมด้วยนะคะ

แล้วเจอกันคราวหน้าค่ะ ไว้เดี๋ยวขอไปเลือกก่อนว่าจะเอาปราสาทไหนดี ใครอยากฟังเรื่องที่ไหนบอกมาได้นะคะ ถ้าเคยไปจะหามาใส่ให้ค่ะ




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2549    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2549 18:13:52 น.
Counter : 1433 Pageviews.  


+mosminly+
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หลังไมค์ถึงมอสซี่เชิญกดเลยค่ะ
Friends' blogs
[Add +mosminly+'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.