อาถรรพ์เพลงมอญร้องไห้
เรื่องที่ 35

อาถรรพ์เพลงมอญร้องไห้

หลายคนคงจะรู้จักเพลงมอญร้องไห้ บางคนคงได้ฟังมาแล้วจากการได้ไปร่วมงานสวดศพ ทุกคนคงรู้สึกเหมือนกันว่ามันช่างเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองที่น่าขนลุก ยิ่งประกอบกับเสียงคร่ำครวญจากนางร้องไห้หน้าศพแล้วยิ่งเพิ่มความหดหู่จนบางครั้งผู้ร่วมงานถึงกับนั่งน้ำตาซึม

โดยปรกติแล้วผู้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมนำเพลงนี้มาฟังเล่น หรือแม้แต่กระทั่งหาซื้อมาเก็บไว้ในบ้านเพราะความเชื่อที่ว่ามันเป็นเพลงสำหรับงานอวมงคล ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีขายแพร่หลายกันนัก และวงดนตรีที่เล่นเพลงนี้ได้ก็จำกัดแค่วงที่เรียกว่า ปี่พาทย์มอญ

เดี๋ยวนี้โลกได้พัฒนาไปเยอะ มีรายการเกี่ยวกับผี จิตวิญญาณหรือการลองของ ตามรอยผีกันมาก แถมเด็กบางคนยังทำเป็นว่าชื่นชอบที่จะฟังเพลงนี้เสียเหลือเกินซึ่งพี่เองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเขาคิดอะไรกัน

อาจจะรู้สึกตื่นเต้นในการฟังก็ได้

ประสบการณ์ที่พี่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเพลงนี้ก็สบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 ที่จำได้เพราะเคยนำเรื่องนี้ไปเล่าในรายการวิทยุและบันทึกเทปเก็บไว้ ตอนนั้นคุณแม่จะทำบุญบ้านพี่เลยไปหาซื้อเพลงมงคลพวกเพลงมหาฤกษ์อะไรทำนองนี้มาเปิดระหว่างที่พระทำพิธีและฉันท์เพล

เชื่อไหมว่าตอนนั้นเดินอยู่หาอยู่หลายร้าน ตอนนั้นพวกซีดียังไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบเทปคาสเส็ต พี่เดินไปที่ร้านเจ้าประจำแล้วถามว่ามีเพลงมงคลไหมพวกมหาฤกษ์อะไรทำนองนั้นน่ะ ด้วความที่เพลงกลุ่มนี้คนไม่ค่อยซื้อถ้าไม่จำเป็นทำให้ขายยากแลยไม่มีการวางโชว์ เจ้าของร้านบอกว่ามีแต่ต้องหาเอง

เอ้า หาเองก็หาเอง

แกลากลังกระดาษออกมาวางแล้วไปนั่งหน้างอ พี่เลยรีบนั่งคุ้ยหาแล้วดึงออกมาได้สี่ห้าตลับเพราะเห็นหน้าปกเป็นรูปเครื่องดนตรีไทย ตอนหอบไปจ่ายถึงได้สังเกตเห็นคำว่า นางหงส์ ซึ่งเป็นเพลงในกลุ่ม มอญร้องไห้ ตอนนั้นใจหายวาบและฉุกคิดขึ้นมาเองว่า เราต้องเจองานศพแน่

งานบุญบ้านผ่านไปด้วยดีไม่มีอะไรเกิดขึ้น พี่เองก็ลืมไปแล้วด้วยจนกระทั่งสองอาทิตย์หลังจากนั้น พวกพี่ก็ได้รับข่าวที่น่าตกใจว่า น้องคนหนึ่งถูกรถเมล์ทับตาย

น้องคนนี้เป็นหลานของน้ายุเพื่อนแม่ ถึจะดื้อแต่เขาก็รักและเคารพน้ายุมาก เวลาน้ายุไปหาแม่ที่บ้านน้องคนนี้ก็จะคอยตามไปเป็นเพื่อน ความที่ช่างพูดเลยทำให้สนิทกับพวกพี่จนถึงขนาดพูดจาหยอกล้อกันได้

พวกพี่รีบไปหาน้ายุที่บ้าน แกร้องไห้และเล่าให้ฟังว่าวันนั้นน้องขี่มอร์เตอร์ไซด์ออกจากบ้านเพื่อไปเรียนตามปรกติ ถนนที่ใช้เป็นถนนใต้ทางด่วนที่ตอนนั้นยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ พวกรถเมล์ชอบใช้เป็นทางลัดวิ่งออกจากอู่และขับเร็วชนิดฝุ่นตลบลมพัดผ้าบนราวแห้งเลย

คนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามอร์เตอร์ไซด์น้องวิ่งชิดซ้ายนำหน้าไม่เร็วนัก แต่ไม่รู้ว่าคนขับรถเมล์เกิดอาการหมั่นไส้หรืออารมณ์ค้างมาจากไหน เขากดแตรไล่เด็กหลายครั้งและแกล้งเร่งความเร็วจี้จนเด็กต้องเร่งเครื่องหนี คนเล่าบอกตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรเลยหันหน้าไปทางอื่น ตอนนั้นเองที่ได้ยินเสียงดังโครม แกรีบหันไปดูก็เห็นทั้งรถและน้องคนนั้นเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถเมล์แล้ว
เขาก็ร้องเอะอะโวยวาย รถเมล์น่ะเหรอคะ

วิ่งต่อไปหน้าตาเฉยและหายลับไปกับการจราจร

แน่นอนว่ามีการฟ้องร้อง แต่คงเดาได้นะคะว่าคดีความเป็นยังไง ปลาเล็กน่ะไม่มีทางสู้ปลาใหญ่ได้หรอกค่ะ งานนี้ตายฟรี

ข้ามส่วนนี้ไปแล้ววกกลับไปหาช่วงต้นตอนที่พี่ได้ยินข่าวเรื่องน้องคนนี้ก่อน พอได้ฟังจู่ๆก็คิดถึงเรืองเพลงมอญร้องไห้ขึ้นมา หรือนี่จะเป็นลางสังหรณ์ที่เกิดขึ้นตอนซื้อเทป พี่พยายามปัดความคิดนี้ออกไป แต่ต้องสะดุ้งอีกครั้งเมื่อน้ายุบอกว่า อยากได้เพลงนี้ไปเปิดในงานแต่หาซื้อไม่ได้ เพี่เลยเดินไปหยิบมาให้แกแล้วบอกว่า ให้ยืมเฉพาะงานนี้เท่านั้นนะ

ที่พูดแบบนี้เพราะมันเป็นเคล็ดน่ะค่ะ คนโบราณบอกว่าของแบบนี้ห้ามยกให้หรือออกปากชมว่าเพลงนี้ไพเราะน่าฟัง เหมือนที่ห้ามชื่นชมดอกไม้หน้าศพว่าสวยงามถูกใจน่ะแหละค่ะ

ในช่วงงานศพตอนรอเผา เจ้าภาพก็แจกดอกไม้จันทน์ พี่ไปกับแม่ แต่แม่พี่จะไม่ขึ้นไปชงค์หน้าศพ พี่เลยขึ้นไปแทน ตอนบันไดอยู่ๆดอกไม้จันทน์ในมือก็ตกลงพื้น พี่ก้มลงไปเก็บ ตอนนั้นเองที่มีภาพในหัวว่าพี่จะต้องไปงานศพอีกซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่อง อย่าทำดอกไม้จันทน์ร่วง

ตอนจุดเตาเผาพี่ได้ยินเสียงกรีดร้อง ปรากฏว่าแม่ของเด็กที่ชื่อเยาว์เขาร้องไห้จะตามลูกไปให้ได้ ร้องแบบปิ่มว่าจะขาดใจแถมมีการดิ้นทุรนทุรายด้วย ซึ่งญาติๆก็พยายามห้ามแต่แกไม่ยอมฟัง จนกระทั่งแม่พี่ต้องบอกเหตุผลนั่นแหละถึงได้หยุด

แล้วเหตุผลอะไรกันที่ทำให้น้าเยาว์หยุดร้องไห้

แม่เล่าให้พี่ฟังในตอนหลังว่า ตอนกำลังเผาและน้าเยาว์กรีดเสียงร้องไห้โหยหวน ควันที่ลอยออกมาจากปล่องเมรุมันม้วนตัวลงมาด้านล่างและทำท่าจะเข้าไปข้างใน แม่พี่เลยให้ญาติเด็กไปบอกน้าเยาว์ว่าให้หยุดร้องเดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้นวิญญาณของลูกจะไม่สงบ เกิดความอาลัยอาวรณ์ดีไม่ดีอาจจะพาแม่เขาไปด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะขนาดบริเวณวัดมีลมพัดค่อนข้างแรงแต่ควันก็ยังคงลอยต่ำลงมาเรื่อยๆจนเกือบจะถึงบันได้เมรุอยู่แล้ว ดีที่น้าเยาว์ยอมฟังและเงียบเสียงลง เท่านั้นแหละค่ะ ควันที่ลอยลงมาก็ค่อยๆกระจายออกและลอยสูงขึ้นไป

ทุกคนที่เห็นเหตการณ์ในตอนนั้นต่างมองหน้ากันด้วยความรู้สึกทั้งตระหนกและแปลกใจแต่ต่อจากนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกเลย

แต่ผลจากการทำดอกไม้จันทน์ร่วง ทำให้พี่ต้องเจอกับเหตุการณ์ระทึกขวัญในอีกสองสามเดือนต่อมา

*/*/*/*/*








Create Date : 30 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2552 12:19:08 น.
Counter : 21333 Pageviews.

7 comments
  
มอญร้องไห้เป็นประเพณีของ ชาวรามัญเมืองปทุม ธรรมดาการสูญเสียบิดาของบุตร ภรรยาญาติพี่น้องหรือคนที่เรารัก การร้อง ไห้เป็นการแสดงออกถึงความอาลัยรัก ซึ่งอยู่ ในอากการเศร้าโศก แต่ประเพณีมอญร้องไห้นั้น ผู้ร้องอาจไม่รู้จักกับผู้ตายมาก่อน เลยได้ ร้องไห้ต่อหน้าศพร้องคร่ำครวญหวลไห้ สะอีกสะอื้นรำพึงรำพันคุณงามความดี ของผู้ตายด้วยเสียงที่เยือกเย็นวังเวง สะกดจิต ใจผู้มาร่วมงานให้อยู่ในคณะมอญรำ ซึ่งจะรำหน้าศพระหว่างสวดอภิธรรมในวันตั้ง ศพ การร้องไห้ส่วนใหญ่จะร้องในช่วงเคลื่อน ศพลงจากศาลาเพื่อนำไปประชุมเพลิงยิ่งเพิ่ม บรรยากาศช่วงนั้นให้วังเวงโหยไห้มากยิ่งขึ้น ประเพณี การทำศพของชาวรามัญนั้นเมื่อตายอาบน้ำ ศพนุ่งผ้าขาวข้างหน้าโจงกระเบนไปข้างหน้า ผืนหนึ่งและตราสังด้วยดิบ ๔ เปลาะผูกที่หน้า ๑ ผูกที่แขนกับมือถือดอกไม้ธูปเทียน ๑ ผูก ผูกที่เข่า ๑ ผูก แล้วยกขึ้นวาง บนแคร่ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ผ้าขาวคุม มี เพดานผ้าขาวเบื้องบนมีแหวนวงหนึ่งผูกด้วย ด้ายดิบห้อยจากเพดานลงมาตรงกับสะดือ เมื่อเอา ศพไปวัดจะเอาโลงมาคอยรับที่เชิง บันได ประเพณีชาวรามัญห้ามโลงศพขึ้นบนเรือนเป็นอันขาด ถ้าเป็นศพพระสงฆ์หรือสมภารจะเผา ปราสาทที่จัดทำเป็นยอดเดียวหรือห้ายอด เมื่อ ยกศพขึ้นปราสาทคนหลายหมู่บ้านเข้าหามศพ พร้อมกันมากมาย และจุดไฟเผาศพพระด้วยลูกหนู มอญโบราณถือว่าศพพระไม่จุดไฟ ด้วยมือ ประเพณีงานศพของพระชาวรามัญจะมี วงปี่พาทย์มอญบรรเลงในงานศพซึ่งมีเครื่อง ดนตรีประกอบด้วย ปี่พาทย์มอญ รูปร่างคล้ายปี่ชวา ระนาดเอกคล้องวงมีเอกลักษณะโค้งขึ้นทั้งสอง ข้างแกะสลักลวดลายปิดทองประดับกระจกเป็นรูป กินนร จับนก ตะโพนมอญใหญ่กว่าตะโพนไทย เปิงมางคอก มี ๗ ลูก เทียบเสียงสูงต่ำตามลำดับแขวนล้อม ตัวผู้ตี มีเครื่องประกอบจังหวะ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง เสียง และความรู้สึกจากวงปี่พาทย์มอญนั้นฟัง ดูโอดครวญชวนเศร้ายิ่งนัก ประวัติความเป็นมา ของประเพณีมอญร้องไห้มี ปรากฎอยู่ในพงศาวดาร พม่า-มอญ "เรื่องราชาธิราช" ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอน กลศึกแม่น้ำอะลอยความ ว่า "การรบครั้งนั้นพระเจ้าราชาธิราชต้องสูญ เสียสมิงนครอินทร์กับช้างประกายมาศและตัวสมิง พระรามก็ถูกข้าศึกจับไปได้เป็นการพ่ายแพ้ ครั้งใหญ่โหรทำนายว่ากำลังมีเคราะห์ต้องทำพิธี สะเดาะเคราะห์โดยมอบราชสมบัติให้พระยาเกียรตผู้ เป็นราชบุตรขึ้นครองแทนและให้เสด็จไปประทับ ที่เมืองเมาะตะมะสามเดือน และเปลี่ยนพระนาม ใหม่เป็น "พระเจ้าสิทธิโสม" เมื่อสิ้นเคราะห์ แล้วก็ยกทัพไปตั้งที่เมืองเสียงเพื่อวาง แผนการสู้รบต่อไปในขณะนั้น "มัง รายกะยอชวา" แม่ทัพพม่าได้ยกกอง ทัพมาล้อมกรุงหงสาวดีไว้ เป็นผลให้ กำลังทัพและการติดต่อกันระหว่างพระเจ้าราชาธิราช ขัดสนจนพระทัยอยู่นั้นมีนายทหาร คนหนึ่งชื่อ "สมิงอายมนทยา" เข้าอาสา ทูลอุบายให้ทรงทราบโดยยอมเสียสละให้เฆี่ยน ตีหลังตนเองจนแตกแล้วทำเป็นลอบหนี ไปสวามิภักดิ์กับมังรายกะยอชวา ซึ่งตั้งค่าย ล้อมกรุง หงสาวดีอยู่มังรายกะยอชวา หลงกลรับอายมนทยาไว้ หลังจากนั้นอาย มนทยาก็ทำอุบายลอบเข้าไปในเมืองหง สาวดีและได้ทูลเรื่องพระเจ้าราชาธิราชวางแผน สู้รบและตั้งทัพที่เมืองเสียงให้พระยา เกียรติทรงทราบทุกประการ ปัญหาต่อมาก็คือทำ อย่างไรจึงจะเล็ดลอดออกไปเฝ้าพระเจ้า ราชาธิราชเมื่อทราบแผนการรบที่เมืองเสียงได้ เพราะ มังรายกะยอชวานั้นวางกำลังรบไว้เข้ม แข็งนัก ขนาดนกบินออกจากกำแพงเมืองหงสาว ดีก็ให้เอาเกาทัณฑ์ยิงเสีย ด้วยปัญหาและความ กล้าหาญของอายมนทยาได้ออกอุบายอย่างลึก ซึ้งพระยาเกียรได้ฟังก็พอพระทัยตรัส ให้ดำเนิดการตามอุบายนั้นโดยตัดต้นกล้วย มาทำเป็นแพเอาเสื่อปูทับผ้าขาวปู ลาดลง เอาผ้าและเผือกมัดสมิงอายมนทยา ทาด้วยสีผึ้งให้แมลงตอมแกล้งทำให้เป็น ตายข้าง ๆ ตัวเอาปลาเน่าใส่ไว้ให้กลิ่น เหม็นเหมือนศพ เตรียมการเสร็จแล้วก็เปิดประตูเมือง หามสมิงอายมนทยาออกไปให้ผู้หญิงโกน หัวร้องไห้เดินตามไปด้วยเมื่อถึงหน้าค่าย พม่าก็แกล้งทำเป็นมารยาร้องไห้กลิ้งกลอกปาก ก็ร้องพร่ำรำพันต่าง ๆ นานาว่า "ท่านผู้ มีพระคุณเป็นเพื่อนยากตั้งใจจะพาบุตร ภรรยาหนี้ให้พ้นความตาย ยังมิทันจะพ้น ภัยท่านก็ออกไข้ทรพิษลงหน้าศึกจะฝัง พ่อก็มิได้ต้องเอาผีพ่อมาลอยน้ำ เสียฉะนี้เมียเสียใจนักถึงว่าจะหาบุญ ไม่ก็ขอให้ตายเป็นปกติเถิดจะได้เผา ผีแทนพระคุณตามประเพณีโอพ่อเพื่อนยากเมีย ไม่ขออยู่แล้ว พ่อจงกลับมาเด็ดดวงใจ พ่อไปด้วยเถิดจะได้ไปเกิดในเมืองผี ส่วนทหารพม่าเห็นแพหยวกมีกลิ่นเหม็นเน่าก็ นึกว่าศพจริงอีกทั้งกลัวไข้พิษ ก็เอา ถ่อค้ำแพหยวกกล้วยให้ลอยไปพ้นที่ตั้ง กองทัพครั้นพลอยไปไกลเห็นปลอดคนดีสมิง อายมนทยาก็ขึ้นจากแพรีบกราบทูลให้ พระเจ้าราชาธิราชได้ทราบแผนการสู้รบเพื่อเตรียม การสู้รบขั้นตอนหักต่อไป"

ตาม เนื้อเรื่องจากพงศาวดารเรื่องราชาธิราชนั้นจะเห็นได้ว่า เรื่องมอญร้องไห้เศร้าโศกกับคนตายนั้นเป็น ประเพณีมานานแล้ว เมื่อชาวรามัญอพยพโยกย้ายเข้า มาอยู่สามโคกเมืองปทุมก็ได้ปฎิบัติ สืบต่อกันมา ต่อมาภายหลังมีหลายท่าน ได้คิดประดิษฐ์จากทำนองการร้องของประเพณีมอญร้อง ไห้มาเป็นเพลงเรียกกันว่า "เพลงมอญร้องไห้" ใช้ประกอบการแสดงละครเรื่องราชาธิราชซึ่งได้ รับความนิยมกันมาใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศานุ วัตติวงศ์ โดยได้จับความจากพงศาวดารเรื่องราว ราชาธิราช "ตอนสมิงพระรามร้องไห้อำลาเมีย" ซึ่ง เป็นพระราชธิดาเจ้ากรุงอังวะ อยู่กินกัน จนมีลูกชายคนหนึ่งสาเหตุที่ต้องหนีก็ เพราะเจ้ากรุงอังวะ ซึ่งเป็นพ่อตาสมิงพระราม ผิดสัญญาเผลอพระองค์กริ้วพระราชนัดดาซึ่งเป็น ลูกชายสมิงพระรามว่า "เฮ้ยได้ลูกเชลยกล้า คว้าหัวกู" เมื่อผิดสัญญาสมิงพระรามเขียนจด หมายอำลาเมีย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ กรมศิลปากรได้จัดแสดงละครเรื่องราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสาที่โรงละครเก่าบริเวณพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ได้นำวิธีขับ ร้องบทเพลงมอญร้องไห้แบบมีเสียงสะอื้นเข้า ไปประกอบคนดูชอบใจมากจนเป็นเอกลักษณ์ ของเหนี่ยว กับคณะดนตรีดุริยปราณีตจนกลายเป็น เพลงยอดนิยมอยู่ระยะหนึ่งในยุคนั้น

ประเพณี มอญร้องไห้เป็นประเพณีที่ชาวรามัญยึดถือปฎิบัติต่อผู้ตายด้วยความอาลัยรักใน งานปานกิจศพพระสงฆ์สามเณรที่เป็นที่เคารพ นับถือตลอดจนงานของฆราวาสถือเป็นเกียรติแก่ ผู้ตาย เป็นเครื่องเตือนสติผู้มีชีวิตอยู่ให้ ยึดมั่นปฎิบัติอยู่ในสิ่งดีงาม เมื่อ ตายลับดับสูญไปแล้วก็จะมีแต่ผู้ อาลัยรักตลอดไป
โดย: คนมอญจ๊ะ IP: 203.144.144.165 วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:11:45:53 น.
  
ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมามอบให้ผู้อ่านท่านอื่นนะคะ

ระยะหลังมูนนี่เห็นพวกวัยรุ่นบางกลุ่มฟังเพลงมอญร้องไห้แบบ กึ่งลองดีกึ่งท้าทายเลยออกแนวไม่ค่อยชอบใจนัก ประสบการณ์ที่นำมาเล่านี้เพื่อเตือนใจว่า สิ่งเหล่านี้เป็นที่เคารพของชนชาติหนึ่ง อย่าได้นำมาล้อเล่นเห็นเป็นของสนุกค่ะ
โดย: moony (Moony_Lupin ) วันที่: 24 มกราคม 2553 เวลา:10:02:54 น.
  
แก้ไขคับ แก้ไข
พอดีที่โพสต์ไปตอนแรกมีคำผิดหลายคำ เกรงว่าจะอ่านยากคับ ก็เลยแก้ไขให้ใหม่ ...

มอญร้องไห้เป็นประเพณีของชาวรามัญเมืองปทุม ธรรมดาการสูญเสียบิดา มารดา ญาติพี่น้องหรือคนที่เรารัก การร้องไห้เป็นการแสดงออกถึงความอาลัยรัก ซึ่งอยู่ในอาการเศร้าโศก แต่ประเพณีมอญร้องไห้นั้น ผู้ร้องอาจไม่รู้จักกับผู้ตายมาก่อนเลย ได้ร้องไห้ต่อหน้าศพ ร้องคร่ำครวญหวลไห้ สะอีกสะอื้นรำพึงรำพันคุณงามความดี ของผู้ตายด้วยเสียงที่เยือกเย็นวังเวง สะกดจิตใจผู้มาร่วมงานให้อยู่ในคณะมอญรำ ซึ่งจะรำหน้าศพระหว่างสวดอภิธรรมในวันตั้งศพ ผู้ร้องจะใช้ปฏิภาณกวี เนื้อหาที่ร้องนั้นไม่ตายตัว และเป็นภาษามอญทั้งสิ้น การร้องไห้ส่วนใหญ่จะร้องในช่วงเคลื่อนศพลงจากศาลาเพื่อนำไปประชุมเพลิง ยิ่งเพิ่มบรรยากาศช่วงนั้นให้วังเวงโหยไห้มากยิ่งขึ้น ประเพณีการทำศพของชาวรามัญนั้น หลังจากอาบน้ำศพ ศพนุ่งผ้าขาว
ข้างหน้าโจงกระเบนไปข้างหลังผืนหนึ่ง และตราสังด้ายดิบ ๔ เปลาะผูกที่หน้า ๑ ผูก ที่แขนกับมือถือดอกไม้ธูปเทียน ๑ ผูก ผูกที่เข่า ๑ ผูก แล้วยกขึ้นวางบนแคร่ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ผ้าขาวคลุม มีเพดานผ้าขาวเบื้องบนมีแหวนวงหนึ่งผูกด้วยด้ายดิบห้อยจากเพดานลงมาตรงกับสะดือ เมื่อเอาศพไปวัดจะเอาโลงมาคอยรับที่เชิงบันได ประเพณีชาวรามัญห้ามโลงศพขึ้นบนเรือนเป็นอันขาด ถ้าเป็นศพพระสงฆ์หรือสมภารจะเผาบนปราสาทที่จัดทำเป็นยอดเดียวหรือห้ายอด เมื่อยกศพขึ้นปราสาทคนหลายหมู่บ้านเข้าหามศพพร้อมกันมากมาย และจุดไฟเผาศพพระด้วยลูกหนู มอญโบราณถือว่าศพพระไม่จุดไฟด้วยมือ ประเพณีงานศพของพระชาวรามัญจะมีวงปี่พาทย์มอญบรรเลงในงานศพ ซึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบด้วยปี่พาทย์มอญ รูปร่างคล้ายปี่ชวา ระนาดเอก ฆ้องวงมีเอกลักษณะโค้งขึ้นทั้งสองข้าง แกะสลักลวดลายปิดทองประดับกระจกเป็นรูปกินนรจับนก ตะโพนมอญใหญ่กว่าตะโพนไทย เปิงมางคอก มี ๗ ลูก เทียบเสียงสูงต่ำตามลำดับแขวนล้อมตัวผู้ตี มีเครื่องประกอบจังหวะ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง เสียงและความรู้สึกจากวงปี่พาทย์มอญนั้น ฟังดูโอดครวญชวนเศร้ายิ่งนัก
ประวัติความเป็นมาของประเพณีมอญร้องไห้ มีปรากฎอยู่ในพงศาวดาร พม่า-มอญ "เรื่องราชาธิราช" ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอน กลศึกแม่น้ำอะลอย ความว่า "การรบครั้งนั้น พระเจ้าราชาธิราชต้องสูญเสียสมิงนครอินทร์กับช้างประกายมาศ และตัวสมิงพระรามก็ถูกข้าศึกจับไปได้ เป็นการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ โหรทำนายว่ากำลังมีเคราะห์ต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยมอบราชสมบัติให้พระยาเกียร ผู้เป็นราชบุตรขึ้นครองแทน และให้เสด็จไปประทับที่เมืองเมาะตะมะสามเดือน และเปลี่ยนพระนามใหม่เป็น "พระเจ้าสิทธิโสม" เมื่อสิ้นเคราะห์แล้ว ก็ยกทัพไปตั้งที่เมืองเสี่ยงเพื่อวางแผนการสู้รบต่อไป ในขณะนั้น "มังรายกะยอฉะวา" พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง พระชนมายุ ๒๕ พรรษา เสด็จยกกองทัพมาล้องกรุงหงสาวดี สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ซึ่งไปทำพิธสะเดาะเคราะห์ที่เมืองเมาะตะมะ และทรงหมดพระเคราะห์แล้ว ทรงยกทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองเสี่ยง ตรัสปรึกษานายทัพนายกองทั้งปวงว่า เรายกทัพมาครั้งนี้พม่าล้อมเมืองอยู่ ทำไฉนราชบุตรเราซึ่งอยู่ในเมืองจะแจ้งความ จะได้กำหนดออกตีทัพพม่ากระหนาบเอาชัยชำนะให้จงได้
สมิงอายมนทะยา รับอาสาทำกลอุบายจนเข้าไปในเมืองได้ นัดแนะกับพระยาเกียรราชบุตรแล้ว จะนำราชกิจกลับไปแจ้งแก่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช พระยาเกียร จึ่งถามว่า ท่านจะคิดอ่านประการใดจึ่งจะออกไปได้ สมิงอายมนทะยาก็ทูลว่า ข้าพเจ้าคิดกลอุบายจะทำตายลอยน้ำออกไป....
พระยาเกียรราชบุตร จึ่งสั่งให้ตัดต้นกล้วยมาทำแพ แลเอาไม้มาทำเฝือก แล้วให้เอาเสื่อปูผ้าขาวลาดลง ให้เอาปลาเน่ามาใส่เบื้องซ้ายเบื้องขวาที่สมิงอายมนทะยาจะนอนนั้น แล้วให้สมิงอายมนทะยาถือดาบแอบข้างไว้ ทำนอนลงเห็นแนบเนียนดีแล้ว จึ่งให้เอาเฝือกคลุมลงไว้ เอาน้ำผึ้งทาเฝือกให้แมลงวันตอม แหวะเป็นช่องตาไว้หน่อยหนึ่งพอเห็น แล้วจึ่งให้เปิดประตูเมือง หามศพสมิงอายมนทะยาออกไปลอยในแม่น้ำ ทำทีประหนึ่งว่าเป็นไข้ทรพิษตายลงหน้าศึก
หลังจากนั้นก็ให้ผู้หญิงโกนหัวร้องไห้เดินตามไปด้วยเมื่อถึงหน้าค่ายพม่า ก็แกล้งทำเป็นมารยาร้องไห้กลิ้งกลอกปากก็ร้องพร่ำรำพันต่าง ๆ นานาว่า "ท่านผู้มีพระคุณเป็นเพื่อนยาก ตั้งใจจะพาบุตรภรรยาหนี้ให้พ้นความตาย ยังมิทันจะพ้นภัย ท่านก็ออกไข้ทรพิษลงหน้าศึก จะฝังพ่อก็มิได้ต้องเอาผีพ่อมาลอยน้ำเสียฉะนี้ เมียเสียใจนักถึงว่าจะหาบุญไม่ก็ขอให้ตายเป็นปกติเถิดจะได้เผาผีแทนพระคุณตามประเพณี โอพ่อเพื่อนยากเมียไม่ขออยู่แล้ว พ่อจงกลับมาเด็ดดวงใจพ่อไปด้วยเถิด จะได้ไปเกิดในเมืองผี" ส่วนทหารพม่าเห็นแพหยวกมีกลิ่นเหม็นเน่าก็นึกว่าศพจริงอีกทั้งกลัวไข้พิษ ก็เอาถ่อค้ำแพหยวกกล้วยให้ลอยไปพ้นที่ตั้งกองทัพครั้นแพลอยไปไกลเห็นปลอดคนดี สมิงอายมนทะยาก็ขึ้นจากแพรีบกราบทูลให้พระเจ้าราชาธิราชได้ทราบแผนการสู้รบ เพื่อเตรียมการสู้รบขั้นตอนหักต่อไป"
ตามเนื้อเรื่องจากพงศาวดารเรื่องราชาธิราชนั้นจะเห็นได้ว่า เรื่องมอญร้องไห้เศร้าโศกกับคนตายนั้นเป็นประเพณีมานานแล้ว เมื่อชาวรามัญอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่สามโคก เมืองปทุม ก็ได้ปฎิบัติสืบต่อกันมา ต่อมาภายหลังมีหลายท่าน ได้คิดประดิษฐ์จากทำนองการร้องของประเพณีมอญร้องไห้มาเป็นเพลงเรียกกันว่า "เพลงมอญร้องไห้" ใช้ประกอบการแสดงละครเรื่องราชาธิราช ซึ่งได้รับความนิยมกันมากใน พ.ศ.๒๔๓๗ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศานุวัตติวงศ์ โดยได้จับความจากพงศาวดารเรื่องราวราชาธิราช ตอนสมิงพระรามร้องไห้อำลาเมีย ซึ่งเป็นพระราชธิดาเจ้ากรุงอังวะ อยู่กินกันจนมีลูกชายคนหนึ่ง สาเหตุที่ต้องหนีก็เพราะเจ้ากรุงอังวะ ซึ่งเป็นพ่อตาสมิงพระราม ผิดสัญญาเผลอพระองค์กริ้วพระราชนัดดา ซึ่งเป็นลูกชายสมิงพระรามว่า "เฮ้ยได้ลูกเชลยกล้า คว้าหัวกู" เมื่อผิดสัญญาสมิงพระรามเขียนจดหมายอำลาเมีย ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๙๕ กรมศิลปากรได้จัดแสดงละครเรื่องราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา ที่โรงละครเก่าบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ได้นำวิธีขับร้องบทเพลงมอญร้องไห้แบบมีเสียงสะอื้นเข้าไปประกอบ ด้วยการร้องที่สะเทือนอารมณ์ผู้ฟัง และถือเป็นแม่แบบของเพลงมอญร้องไห้มาจนปัจจุบัน เนื้อความมีดังนี้

หยิบกระดาษวาดอักษรชะอ้อนสั่ง
น้ำตาหลั่งไหลหยดรดอักษร
แล้วสอดไว้ใต้เขนยที่เคยนอน
พิศพักตร์ทอดถอนหฤทัย
ค่อยตระโบมโลมลูบจูบสั่งลา
นางจะรู้ก็ยาก็หาไม่
หักจิตออกนอกห้องทันใด
ขึ้นม้าควบหนีไปมิได้ช้า
คนดูชอบใจมากจนเป็นเอกลักษณ์ของครูเหนี่ยว กับคณะดนตรีดุริยปราณีต จนกลายเป็นเพลงยอดนิยมอยู่ระยะหนึ่งในยุคนั้น

ประเพณีมอญร้องไห้ เป็นประเพณีที่ชาวรามัญยึดถือปฎิบัติต่อผู้ตายด้วยความอาลัยรัก ในงานฌาปนกิจศพพระสงฆ์สามเณรที่เป็นที่เคารพนับถือ ตลอดจนงานของฆราวาส ถือเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย เป็นเครื่องเตือนสติผู้มีชีวิตอยู่ให้ยึดมั่นปฎิบัติอยู่ในสิ่งดีงาม เมื่อตายลับดับสูญไปแล้วก็จะมีแต่ผู้อาลัยรักตลอดไป
โดย: คนมอญจ๊ะ IP: 203.144.144.164 วันที่: 24 มกราคม 2553 เวลา:21:02:14 น.
  
น่ากลัว
โดย: เด็กเทพ IP: 125.26.184.200 วันที่: 29 มกราคม 2553 เวลา:20:07:40 น.
  
ขอบพระคุณ สำหรับเรื่องของ "มอญร้องไห้" ครับผม

ขออนุญาต นำข้อมูลไปประกอบการเรียนการสอนนะครับ
โดย: หนุ่ม_นิยมไพร IP: 113.53.78.59 วันที่: 16 สิงหาคม 2553 เวลา:20:04:30 น.
  
ก็ไม่เห็นแปลกนะครับ มฃที่เด็กเดี๋ยวนี้คิดไม่เหมือนพี่

โดย: เอ็ม IP: 124.121.112.251 วันที่: 4 กันยายน 2553 เวลา:17:31:35 น.
  
การตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครหลีกเลี่ยงการตายไปได้ เพราะดี อย่ากลัวเลยต้องตายทุกคนรีบทำความดีรักษาศีลเถิดสุขแน่นอน
โดย: วรธน IP: 171.100.74.225 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2555 เวลา:20:45:47 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กิสึเนะ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



moony ค่ะ เป็นคนชอบสร้างจินตนาการมาตั้งแต่เด็ก เคยวาดการ์ตูนไว้เป็นเล่ม แต่เก็บไว้อ่านเอง นิยายเรื่องแรกที่เขียนเป็นแนวจีนกำลังภายใน ตอนหลังรู้จักเน็ตจึงเริ่มสร้างสรรเรื่องอื่นบ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นแนวแฟนตาซี