http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
Code 46 – เมื่อสิ่งสุดท้ายที่รู้คือ ‘ความจริง’

โดย merveillesxx



(คำเตือน – บทความนี้เปิดเผยส่วนสำคัญของหนัง)

สมมติว่าในโลกอนาคต…อันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้
คุณสามารถกำหนดลักษณะพันธุกรรมของลูกคุณได้
อยากจะได้ผู้หญิงหรือผู้ชาย, เด็กฉลาดขนาดไหน, นิสัยอย่างไร…เราจัดให้
แต่…ก่อนแต่งงานคุณต้องมาตรวจร่างกายก่อน เพื่อให้เราอนุมัติ
ถ้า…ลักษณะพันธุกรรมของคุณทั้งสองใกล้เคียงกันเกินไป คุณไม่มีสิทธิแต่งงานกัน
และ…ถ้าคุณฝ่าฝืน เรามีสิทธิกำจัดลูกในท้องของคุณ
หรือ…แม้กระทั่งลบความทรงจำของคุณทิ้ง!
โลกแบบนี้คุณอยากได้มันไหม?

หันมามองประเทศไทยบ้าง
รัฐบาลไทยมีนโยบายใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดที่รวมข้อมูลทุกอย่างไว้ในบัตรหนึ่งใบ
แล้วรัฐบาลจะใส่ข้อมูลอะไรลงไปบ้าง…แล้วพวกเขาจะนำมันไปใช้อย่างไร
ที่สำคัญ เราจะตรวจสอบการทำงานของรัฐได้อย่างไร?
มีผู้เสนอแนวคิดให้ทำ ‘ชุดข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทย’
แต่ ณ เวลาเดียวกันนั้น เวบไซต์พันทิป.คอม แทบจะเกิดจราจลครั้งใหญ่ เมื่อผู้ใช้บริการต้องใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชนในการสมัครสมาชิก
ถามอีกครั้ง…โลกแบบนี้คุณอยากได้มันจริงหรือ?

คำถามเหล่านี้ปรากฏอยู่ทุกวันทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์, วงการแพทย์ หรือกระทั่งชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็กมัธยม ในขณะที่คำตอบตายตัวแน่นอนยังไม่ปรากฏชัด วงการภาพยนตร์ก็สร้างหนังมากมายที่ตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ผู้กำกับชาวอังกฤษอย่างไมเคิล วินเทอร์บอตทอมก็เช่นกัน เขาทำหนังเรื่อง Code 46 (หนังได้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำ เทศกาลเวนิซปี 2003) ที่เป็นดั่งการกระตุ้นย้ำเตือนเราว่า ‘โลกแบบนั้น’ กำลังใกล้เข้ามาแล้ว เพียงแต่ว่าแทนที่จะทำหนังไซไฟเข้าใจยาก เขาก็ ‘บิด’ แนวหนังให้เป็นไซไฟ-ดราม่าที่หลอมละลายจิตใจคนดู

อาณาเขตของหนัง Code 46 เป็นดั่งโลกสมมติ โลกที่เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง คนหลายชาติพันธุ์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ภาษาหลากหลายถูกใช้ในที่แห่งหนึ่ง แต่น่าแปลกที่หนังกลับพูดถึง ‘ประเทศใหญ่’ อยู่เพียงไม่กี่ประเทศนั่นคือ จีนกับอเมริกา แล้วทำไมเซี่ยงไฮ้ในหนังจึงไม่เหมือนกับที่เราเห็นในทุกวันนี้ ทำไมโลกจึงดูเหมือนกันไปหมด เมืองมีแต่แท่งตึกสูง ดูแห้งแล้งเย็นชาไร้ซึ่งต้นไม้ และนอกเมืองมีแต่ทะเลทราย แล้วทำไมประเทศตะวันออกกลางที่หลงเหลืออยู่จึงดูมีชีวิตชีวามากกว่า ประเทศและเมืองอื่นหายไปไหนหมด…หรือว่านี่จะเป็นโลกหลัง ‘กลียุค’

โลกสมมติของหนังยังมีสิ่งที่พิเศษขึ้นมาคือ ‘บัตร’ และ ‘รหัสประจำตัว’ คุณจะเดินทางไปไหนต้องมีบัตร บัตรคือสิ่งที่แสดงตัวตนของคุณ ถ้าไม่มีบัตรคุณจะเป็น ‘คนนอก’ ที่ไม่สามารถเข้าเมืองได้และต้องอยู่บริเวณทะเลทราย อีกสิ่งก็คือกฎหมาย ‘มาตรา 46’ อันว่าด้วยการห้ามแต่งงานและมีลูกกันระหว่างคนสองคนที่มีระดับพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน และกฎข้อนี้ยังครอบคลุมไปถึงอำนาจการแทรกแซงของหน่วยงานรัฐ

แนวคิดที่ว่าโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกอย่างถูกเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดน ดูเหมือนจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในหนังเรื่องนี้ ยิ่งความก้าวหน้าของมนุษยชาติมีมากเท่าไร เราก็จำเป็นต้องมีกรอบ-เกณฑ์ในการควบคุม นับแต่กฎหมายฉบับแรกของโลกอย่าง ‘ประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี’ (The Hammurabi Code) ไปจนถึงกฎในโลกอนาคตอย่าง ‘มาตรา 46’ ทำให้เกิดคำถามอีกข้อที่ว่า กฎนั้นช่วยให้โลกดำรงอยู่อย่างสงบเรียบร้อย หรือเป็น ‘พันธนาการ’ ที่ยับยั้งความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์กันแน่ (ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เวลาเล่นเน็ตคุณต้องเป็นสมาชิก คุณต้องมีล็อกอิน เวลาคุณโพสต์คุณจะเจอระบบกรองคำหยาบ ฯลฯ) ดูเหมือนว่า ‘เสรีภาพ’ ของเหล่ามนุษย์ยุคอนาคตจะถูกสั่นคลอนครั้งใหญ่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาพกล้องวงจรปิดที่คอยจับตามองเหล่าตัวละครตลอดเวลา (สังเกตให้ดีจะพบว่าโลโก้ที่มุมขวาล่างจะเปลี่ยนไปตามประเทศที่ตัวละครนั้นอยู่ หรือนี่จะเป็นหนึ่งในความเป็นโลกาภิวัตน์?)

แต่ที่แปลกก็คือ แม้จะเป็นโลกอนาคต แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่มีหุ่นยนต์สุดล้ำ หรือจักรกลอัจฉริยะแฝงด้วยปัญญาประดิษฐ์มาเดินขวักไขว่ให้เราเห็น ตัวละครนำของเรื่องยังคงเป็น ‘มนุษย์แท้ๆ’ ที่มีเลือดเนื้อและจิตใจ ดังนั้นพวกเขาทั้งสองจึงเป็นดั่ง ‘ตัวแทน’ ของพวกเราที่จะทำให้เราตอบคำถามที่พรั่งพรูมากมายไว้ข้างต้น

หนังเรื่องนี้เล่าถึง วิลเลี่ยม (ทิม ร็อบบินส์) ชายผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทให้มาจับผู้ร้ายที่ลักลอบ ‘บัตร’ ไปจากโรงงาน พระเอกของเรามีความสามารถพิเศษคืออ่านใจคนได้ (ที่น่าตลกก็คือเขาทำได้เพราะบริษัทฉีดไวรัสอ่านใจคนให้เขา!) เขาได้พบกับ มาเรีย กอนซาเลส (ซาแมนธา มอร์ตัน) หญิงสาวที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตบัตร ผู้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ วิลเลี่ยมรู้แก่ใจว่าเธอเป็นคนทำแต่เขาไม่จับเธอเพราะเขาตกหลุมรักเธอเสียแล้ว (ทั้งๆที่เพิ่งเจอเธอได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง!) ว่าแล้วบทรักแบบตำรวจหนุ่มหลงรักโจรสาวก็เริ่มขึ้น (ใช่แล้ว มันเกิดขึ้นในหนังไซ-ไฟ นี่แหละ)

แม้วิลเลี่ยมจะมีครอบครัวแล้ว แต่เขาก็มีสัมพันธ์ล้ำลึกกับมาเรีย แต่ภายหลังเมื่อกลับมาหาเธอ เธอก็หายตัวไป ต่อมาเขารู้ว่าเธอท้อง! ที่สำคัญลูกในท้องของเธอก็ถูก ‘กำจัด’ ไปแล้ว! (หมอบอกวิลเลี่ยมว่า “เราไม่ได้ฆ่าเด็ก เราแค่จำกัด ‘เซลล์’ ทิ้งไป”) ยิ่งไปกว่านั้นมาเรียถูกลบความทรงจำทั้งหมดที่มีต่อวิลเลี่ยม ทั้งหมดนี้เป็นไปตามอำนาจของมาตรา 46 เพราะเมื่อวิลเลี่ยมนำเส้นผมของเธอไปตรวจดู ผลออกมาว่าระดับพันธุกรรมของทั้งคู่ใกล้เคียงกัน มาเรียมีลักษณะเหมือนแม่ของวิลเลียมมาก…นี่อาจจะหมายความว่าเขามีอะไรกับร่างโคลนของแม่ตัวเอง!

เอาล่ะ…ขอถามคุณอีกข้อหนึ่ง คุณจะทำอย่างไรเมื่อพบว่าหญิงสาวที่คุณนอนด้วยเมื่อคืนอาจจะเป็นร่างโคลนจากแม่ของคุณ?

หนังเปิดเผยให้เราทราบต่อมาว่าโลกในยุคนั้นมีการโคลนนิ่งเกิดขึ้นจริงแล้ว…ลองคิดดูว่าถ้าวิทยาการนี้สามารถใช้ได้จริง ต้นฉบับหรือต้นแบบของมนุษย์ที่สังคมต้องการย่อมเป็นแบบที่ดี แต่จำนวนคนที่จะเป็น ‘แบบ’ ที่เหมาะสมนั้นคงมีน้อยนัก ดังนั้นต้นแบบจึงมีจำนวนไม่มาก จึงไม่น่าแปลกใจถ้าในโลกอนาคต คุณกับเพื่อนจะเกิดมาจากโคลนเดียวกัน หรือกรณีที่วิลเลี่ยมไปเป็นชู้กับโคลนของแม่ตัวเอง จึงน่าจะเกิดขึ้นได้

ผมเคยเขียนไปแล้วครั้งหนึ่งว่ามนุษย์นั้นมีจุดร่วมด้วยกันสองอย่าง คือ ‘ความเป็นหนึ่งเดียว’ (Unity - มนุษย์ทุกคนต้องพบกับการเกิดและตาย) และ ‘ความหลากหลาย’ (Diversity) ซึ่งก็คือ ‘ช่วงกลาง’ ระหว่างชีวิต แต่ทั้งนี้คงต้องขอขยายความว่ากระบวนการของการเกิดของมนุษย์ก็ควรจะมีหลากหลายเช่นกัน ดังนั้นวิทยาการโคลนนิ่งอาจเป็นการลดความหลากหลายของมนุษยชาติก็เป็นได้ เพราะเราทุกคนล้วนมีแบบฉบับมาจากแหล่งเดียวกัน

ตัวอย่างความหลากหลายที่ดีคือการทำหนังของวินเทอร์บอตทอม เขาทำมาแล้วทั้งหนังเพลง หนังสงคราม แล้วก็เอ่อ..หนังเซ็กส์ กระทั่ง Code 46 ก็ยังมีความหลากหลายอยู่ในตัวมันเอง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ผมจะตกหลุมรักมันอย่างง่ายดาย หนังมีองค์ประกอบที่ดีอย่างเด่นชัดคือนักแสดงนำ ผมไม่อยากจะเชื่อว่าทิม ร็อบบินส์จะเล่นบทเป็นผู้ชายหมองเศร้าแต่อบอุ่น ได้ดีขนาดนี้ (ลืมภาพเอ๋อๆของเขาจาก Mystic River ไปเสีย) ส่วนซาแมนธา มอร์ตันนั้นหายห่วง เธอถนัดอยู่แล้วกับบทป่วยๆจิตๆแห้งๆ แบบนี้ (อย่าลืมว่าเธอแจ้งเกิดจากบท ‘อกาธา’ ในหนังเรื่อง Minority Report) และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้แบบเต็มตัวคือ ภาพและสไตล์ที่คล้ายกับหว่องกาไวเหลือเกิน จึงไม่ผิดนักถ้าผมจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่า ‘หนังไซ-ไฟแบบหว่องกาไว’ และผมดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงหนังเรื่อง 2046 (อ่า..อย่าเพิ่งทำหน้าเบื่ออย่างนั้นสิครับ)

มีอยู่ 3 สาเหตุที่ทำให้ผมดู Code 46 แล้วนึกถึง 2046
1. หนังทั้งสองเรื่องมีเลข ‘46’ อยู่เหมือนกัน ในขณะที่ 2046 คือ ปีสุดท้ายที่ฮ่องกงจะไม่เปลี่ยนแปลง ‘มาตรา 46’ ก็คือการกำหนดกรอบเพื่อรักษา ‘เสถียรภาพ’ ของโลกมนุษย์ (ซึ่งก็คือการไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง) แถมกฎข้อนี้มันช่างเหมาะเจาะกับหนังพันธุกรรมตัดต่อเรื่องนี้เหลือเกิน เพราะ 46 คือจำนวนแท่งโครโมโซม

2. หนังทั้งสองบอกเล่าเรื่องราวด้วย ‘รถไฟ’
รถไฟใน 2046 เล่าถึงคนที่มุ่งไปยังอนาคต คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายเขาก็มิอาจก้าวไปข้างหน้าได้เลย ส่วนรถไฟใน Code 46 บอกเล่าถึง ‘คนที่กำลังจะมาในอนาคต’ นางเอกของเรื่องมีความฝันเดิมๆทุกวันเกิดของเธอ เธอฝันเห็นตัวเองไปยังสถานีรถไฟ ในแต่ละปีจำนวนของมันจะลดลงเรื่อยๆ และมีใบหน้าของผู้ชายคนหนึ่งชัดเจนขึ้นมา วันเกิดปีที่สถานีรถไฟในความฝันเหลืออีกแห่งเดียว คือวันที่เธอพบวิลเลี่ยม ดังนั้นทั้งสองจึงเป็นคู่รักแบบ ‘พรหมลิขิตบันดาลชักพา’ เสียเหลือเกิน …อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือมาเรียน่าจะมี ‘ญาณ’ พิเศษที่สัมผัสถึงการมาของวิลเลี่ยมเพราะ ‘สัญชาตญาณความเป็นแม่’ แต่ในโลกแห่งความจริงวิลเลี่ยมกับเป็นเหมือน ‘พ่อ’ ของมาเรียมากกว่า เห็นได้จากเขาตัวสูงกว่ามาเรียมากและเขาอายุมากกว่าเธอ (ความจริงในช่วงนี้มีหนังอีกเรื่องหนึ่งมีบอกเล่าเรื่องราวด้วยรถไฟนั่นก็คือ Cafe Lumiere ซึ่งเปรียบความสัมพันธ์ของคนเหมือนรถไฟ บางวันเธอกับเขาอาจจะอยู่บนรถขบวนเดียวกัน บางวันอาจจะวิ่งสวนกัน แต่ท้ายสุดทั้งสองก็ได้อยู่ ณ ชานชลาเดียวกัน)

3. หนังสองเรื่องนี้พูดเรื่องเดียวกันคือ ‘ความทรงจำ’
จุดเหมือนก็คือ หนังทั้งสองพูดถึงความทรงจำในแง่งามที่หล่อเลี้ยงจิตใจ และความทรงจำที่อาจจะทรมานคนบางคนไปทั้งชีวิต 2046 แบ่งความทรงจำทั้งสองด้วย ‘เวลา’ นั่นคืออดีตกับปัจจุบัน ส่วน Code 46 แบ่งด้วย ‘การจำและการลืม’

ประเด็นส่วนนี้หนังบอกเล่าด้วยการสลับเปลี่ยนบทบาท ‘การลืม’ ถึงสองครั้ง ในครั้งแรกมาเรียถูกลบความทรงจำ แต่เธอก็ยังสามารถ ‘จำ’ วิลเลียมได้ในที่สุด (อย่างที่ว่าไว้เธอน่าจะญาณพิเศษจากความเป็นแม่ แม่ยอมจำลูกได้เสมอไม่ว่าลูกจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม) แต่หลังจากนั้นวิลเลี่ยมเป็นฝ่ายถูกลบความทรงจำบ้าง แต่กลับกันว่าเขาไม่สามารถจำเธอได้ เขา ‘ลืม’ เธอไปแล้ว มีเพียงมาเรียเท่านั้นที่ต้องตกอยู่ในห้วงความทรงจำนั้นอยู่เพียงคนเดียว

มันทำให้ผมคิดได้ว่าการกระทำของเราบางอย่างอาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆของเรา แต่มันจะอาจจะเป็นความทรงจำของคนบางคนไปชั่วชีวิต และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการที่เรา ‘ลืม’ ไปแล้ว แต่เขาคนนั้นยัง ‘จำ’ ได้

หลังจากหนังจบลงแล้ว คำถามในหัวสมองของผมไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย หากแต่มากเท่าทวีคูณ เพียงแต่มันไม่ใช่คำถามเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงสังคมอีกต่อไป มันคือคำถามด้านความรู้สึก

เราจะสามารถคิดถึงใครสักคนที่เรามิอาจจดจำเขาต่อไปแล้วได้หรือไม่?
ช่วงเสี้ยวเวลาเพียงเล็กน้อยที่มีค่า จะถูกลบเลือนให้สลายหายไปตลอดกาลเชียวหรือ?
และ…เราจะทำอย่างไร เมื่อสิ่งสุดท้ายที่เรารู้คือ ‘ความจริง’

หนังเรื่องนี้คล้ายกับหนังอีกเรื่องก็คือ Eternal Sunshine of the Spotless Mind หนังบอกกับเราเหมือนกันว่า ‘ความทรงจำ’ อาจจะลบเลือนไปได้ แต่สิ่งที่มิอาจลบได้และยังคงอยู่คือ ‘ความรู้สึก’

ฉากจบของเรื่องนี้คือ ‘ความจริง’ ที่ทำร้ายจิตใจของผมอย่างเหลือล้น แม้จะตระหนักรู้อยู่แก่ใจว่าหนังจะจบลงเช่นนี้ แต่ฉากจบที่ผมวาดไว้ก็คือ เธอกับเขาอาจจะเดินสวนกัน แต่มิได้ทักทายกัน เพราะเขาไม่รู้จักเธออีกต่อไปแล้ว แต่ความเป็นจริง (ในหนัง) มันยิ่งกว่าที่คาดไว้ ฉากจบของเรื่องมาเรียอยู่กลางทะเลทรายอย่างเดียวดาย เธอเคยบอกว่าเธอเกลียดทะเลทรายเป็นที่สุด แต่เธอก็ยังยิ้มได้เมื่อเธอมีเขา แต่ ณ เวลานี้ไม่มีเขาอีกต่อไปแล้ว ในขณะเดียวกับหนังก็ตัดภาพไปยังวิลเลี่ยมที่กำลังกอดอยู่กับภรรยา…และภาพสุดท้ายของหนังคือการแช่ภาพที่แผ่นหลังของมาเรีย

หนังทั้งเรื่องเป็นเสียงบรรยายเล่าเรื่องโดยมาเรีย เธอเล่าเรื่องราวของเขาและเธอมายาวนาน เพื่อพบความรู้สึกของตัวเอง เพื่อจะพบกับความจริง และทันใดเพลง Warning Sign ของวง Coldplay ก็บรรเลงขึ้นมา เนื้อเพลงร้องย้ำซ้ำไปมาว่า “The truth is I miss you…”

ความจริงที่เธอพบก็คือ ความรู้สึกของเธอยังคงอยู่ แต่มันได้แตกสลายไปแล้ว เพราะเธอไม่มีวันได้พบเขาอีกต่อไป

และ “ฉันคิดถึงคุณเหลือเกิน…”

-------------------------------------------

หมายเหตุ
- บางส่วนของบทความนี้ได้แนวคิดมาจากการเสวนาหลังดูหนังจบของ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และคุณไกรวุฒิ จุลพงศธร
- ขอบคุณ Lakari สำหรับประเด็นการเชื่อมโยงหนังเรื่องนี้กับ Eternal Sunshine of the Spotless Mind

เกร็ดภาพยนตร์
- หนังเรื่องนี้ฉายในโครงการพิเศษของนิตยสาร Bioscope และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อให้ตระหนักถึงความหมายของ ‘ชีวจริยธรรม’ (Bioethics) อ่านในประเด็นนี้ได้ใน Bioscope ฉบับที่ 40 หน้า 33

- ไตเติ้ลของหนังจะขึ้นคำว่า Code และต่อท้ายด้วยตัวเลข ซึ่งไล่จากเลข 1 ไปถึง 46 ลองคิดดูเล่นๆมันอาจจะบอกถึงจำนวนกฎเกณฑ์ที่เพิ่มตามวิทยาการที่ก้าวหน้าก็เป็นได้ นอกจากนั้นฉากเปิดของหนังยังแสดงถึงความเป็นโลกาภิวัตน์ด้วย เพราะมีหลากหลายภาษาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

- พระเอกในเรื่องบอกเล่าว่าเขาเกิดขึ้นมาจากการ ‘โคลน’ น่าสงสัยด้วยว่าลูกของเขาเกิดจากโคลนเช่นกันหรือไม่ จากประโยคหนึ่งที่เขาพูดว่าเขากับภรรยาทำงานด้วยกันจนได้ลูกคนนี้มา อันนี้น่าสงสัยไปถึงว่าเขากับภรรยาแต่งงานกันเพราะรักกันจริงหรือเปล่า

- นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กล่าวว่าหนังเรื่องนี้ ‘มั่ว’ อยู่ตอนหนึ่งคือเรื่องของ ‘เส้นผม’ การจะนำเส้นผมไปตรวจ DNA นั้นต้องใช้ส่วนรากผมด้วย แต่ในหนังพระเอกตัดแค่ปลายผมของนางเอกไป

- คุณไกรวุฒิ จุลพงศธร (Bioscope) ให้ความเห็นว่าโลกในหนังน่าจะเป็นโลกยุค ‘โพสต์กรีนเฮ้าส์เอฟเฟกต์’ นั่นคือโลกที่ผ่านวิกฤตจากภาวะเรือนกระจกมาแล้ว สังเกตจากบรรยากาศในเมือง (ไม่มีต้นไม้, มีฝุ่นควันเยอะ และตัวละครในเรื่องหลบเลี่ยงแสงแดด) อ่านเรื่องของปรากฏการณ์เรือนกระจกได้ที่ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=merveillesxx&group=4&date=25-03-2005&blog=1

- นอกจากนั้นคุณไกรวุฒิยังชี้ถึงสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในหนังดังนี้
1. บริษัทที่นางเอกทำงานในหนังชื่อ ‘สฟิงซ์’ ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานที่เฝ้าหน้าเมืองไม่ให้คนเข้าออก คนที่เข้าออกต้องบอกรหัสผ่าน ซึ่งบริษัทก็ทำหน้าที่นี้ อีกทั้งคำถามของสฟิงซ์ยังเป็นคำถามเชิงชีวะ นั่นคือ ‘อะไรเอ่ย เกิดมามี 4 ขา โตขึ้นมี 2 แก่ๆ มี 3 ขา’ ซึ่งคำตอบก็คือ ‘มนุษย์’ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนังที่ตั้งคำถาม ‘เรื่องมนุษย์’ ต่อมนุษย์เช่นกัน
2. พระเอกของเรื่องคล้ายกับอีดีปุส เพราะในตำนานอีดีปุสเป็นคนเดินผ่านด่านได้เพราะตอบคำถามของสฟิงซ์ได้ ซึ่งเหมือนกับพระเอกที่เดา ‘รหัสผ่าน’ ของคนอื่นได้เสมอ, เขาเข้าบ้านของนางเอกได้ และอีกข้อหนึ่งก็คือ สองคนนี้มีอะไรกับแม่เหมือนกัน

- ขยายความเรื่องการรู้ความจริงของนางเอก: ตอนแรกๆเธอปฏิเสธอนาคต / ความจริง นั่นคือการไม่อยากรู้ว่าความฝันจะเป็นอย่างไร ผู้ชายคนนั้นใครคือ ส่วนตอนหลังนางเอกเหมือนตกอยู่ในฤทธิ์ของไวรัส (ร่างกายเธอต่อต้านที่จะมีเซ็กส์กับพระเอก, ตอนเช้าเธอโทรไปแจ้งว่าตัวเองละเมิดกฎมาตรา 46 และบางทีตอนขับรถที่เธอเล่นพวงมาลัยของพระเอกจนรถคว่ำก็อาจจะเป็นเพราะไวรัสด้วย) ฉากสุดท้ายเธอน่าจะหายจากฤทธิ์ของไวรัสแล้ว (มันจะทำงานเมื่อเธออยู่ใกล้พระเอก-คนที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับเธอ) เธอนั่งอยู่คนเดียว ที่ๆไม่มีใคร เธอปล่อยความคิดและจิตอย่างล่องลอย และสุดท้ายเธอก็พูดว่า “ฉันคิดถึงคุณ”

- เพลงสุดล้ำและเท่ในหนังเรื่องนี้เป็นฝีมือของวง Free Association ซึ่งเป็นการฟอร์มวงระหว่าง เดวิด โฮล์มส์และสตีฟ ฮิลตัน (อ่านเรื่องของเดวิด โฮล์มส์ได้ใน Bioscope ฉบับที่ 40 หน้า 108)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
//www.mgm.com/ua/code46/ (เวบ Official ของหนัง)
//www.imdb.com/title/tt0345061/
//www.amazon.com/exec/obidos/ASIN/B0002IQGQ2/qid=1111510696/sr=2-1/ref=pd_bbs_b_2_1/103-4228010-3186242 (อัลบั้มซาวด์แทร็ก)
//www.allmusic.com/cg/amg.dll?p=amg&sql=10:om5zefrk4gf3 (อัลบั้มซาวด์แทร็ก)



Create Date : 25 มีนาคม 2548
Last Update : 25 มีนาคม 2548 4:17:54 น. 10 comments
Counter : 3243 Pageviews.

 
จาก //www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=16062

[เพลงในภาพ] เพลงตอนท้ายหนัง Code 46 -- Coldplay: Warning Sign

ระหว่างที่ผมดูหนังเรื่องนี้ เพลงในหนังก็ซัดกระหน่ำสมองและใจผมเรื่อยๆ ประหนึ่งคลื่นทะเลที่ถาโถมแรงขึ้นๆ และเพลงในตอนจบก็เปรียบดั่ง 'ซึนามิ' ที่ซัดพังหัวใจผมสลายตายคาเมเจอร์รัชโยธิน โรงที่ 3 (โชคดีที่มวลผมเยอะ เลยไม่ไหลออกไปนอกโรง--ฮา)

เพลงในหนังเพราะมากเลยครับ กิ๊บเก๋ยูเรก้า ชะชะช่ามาก มีกลิ่นอังกริ๊ดอังกริดสุดๆ ซึ่งผมแพ้เพลงทางนี้อยู่แล้ว

โดยเฉพาะตอนสุดท้ายที่เป็นเพลงร้องซ้ำไปมาว่า "ฉันคิดถึงคุณ" นั่นคือเพลง Waring Sign ของ Coldplay เอาเนื้อเพลงมาฝากครับ

**ขอบคุณ Lakari ที่ช่วยแนะทางให้ว่ามันคือเพลงของ coldplay ผมคิดอยู่นานมากๆว่ามันคุ้นๆ พอจะดูชื่อเพลงในเครดิตมันก็ตัวเล็กมาก

Artist: Coldplay
Track: Waring Sign
Album: A Rush of Blood to the Head (ชุดสอง)

A warning sign
I missed the good part then I realised
I started looking and the bubble burst
I started looking for excuses

Come on in
I've got to tell you what a state I'm in
I've got to tell you in my loudest tones
That I started looking for a warning sign

When the truth is
I miss you
Yeah the truth is
That I miss you so

A warning sign
You came back to haunt me and I realised
That you were an island and I passed you by
You were an island to discover

Come on in
I've got to tell you what a state I'm in
I've got to tell you in my loudest tones
That I started looking for a warning sign

And the truth is
I miss you
Yeah the truth is
I miss you so
And I'm tired
I should not have let you go

So I crawl back into your open arms
Yes I crawl back into your open arms
And I crawl back into your open arms
Yes I crawl back into your open arms

-------------------------------

Coldplay เป็นวงที่ผมไม่ได้ชอบมากนัก แต่คอนเสิร์ต Coldplay Live in BKK เป็นไลฟ์ที่ผมประทับใจมากๆ (ผมยืนอยู่แถวที่สองจากข้างหน้า ซึ่งได้เห็นช็อตที่คริส มาร์ตินเล่นเปียโนอย่างเมามันจนน้ำลายไหลด้วย--ฮา) แต่ลองค้นๆดูแล้ว เค้าไม่ได้เล่นเพลงนี้ตอนมาไทยครับ

นี่เป็นเซ็ทลิสต์ตอนที่พวกเค้ามาเล่นบ้านเราครับ (น่าเสียดายผมไม่ได้เขียน LIVE REPORT เอาไว้)

Coldplay Live in Bangkok
29 July 2003
Imapct Arena
Open: 19.00
Show: 20.30

set list
01. Politik
02. God Put A Smile Upon Your Face
03. A Rush Of Blood To The Head
04. Daylight
05. Trouble
06. One I Love (B-side)
07. Don't Panic
08. 1.36 (B-side)
09. Shiver
10. See You Soon (EP)
11. Moses (brand-new song)
12. Everything's Not Lost
13. What A Wonderful World
14. Yellow
15. The Scientist
encore1:
16. Clocks
17. In My Place
encore2:
18. Amsterdam
19. Life Is For Living (hidden track no.11 in A Rush of Blood to the Head)


โดย: merveillesxx วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:4:19:53 น.  

 
Yellow ชอบเพลงนี้ ของ Coldplay

ส่วนเรื่องหนัง ยังไม่เคยดูค่ะ ยังไม่อ่านดีกว่า อิอิ

(^____^)


โดย: . . . (WhaT iT'S W๐l2tH ) วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:4:36:55 น.  

 
มาตามเก็บข้อมูลเหมือนเดิมครับ ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้เลย
เคยอ่าน "อมตะ" รึเปล่าครับ.. มีส่วนคล้ายเรื่องนี้ในแง่ของการโคลนนิ่ง
ถ้ายังลองดูนะครับ


โดย: Mint@da{-"-} วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:8:46:28 น.  

 
ยังไม่ได้ดูเหมือนกันค่ะ


โดย: รักดี วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:10:36:16 น.  

 
ฮั่นแน่ ไปดูมาปุบเขียนเลยนะ
เยังจำเราได้ไหม
ไว้คุยกันอีกนะ มีเรื่องอยากถกเยอะแยะเลย


โดย: LUNATIC SPACE วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:12:30:39 น.  

 
อา มีแต่ อมตะ ของมิลาน คุนเดอร่า ซื้อแล้วก็ตั้งค้างไว้งั้นแหละ


โดย: merveillesxx วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:12:39:14 น.  

 
ยินดีด้วยน๊า
กับบลอกบันเทิงสุดเจ๋ง....จ้า


โดย: prncess วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:18:09:43 น.  

 
มาแสดงความยินดีจ้ะ กับ blog บันเทิงสุดเจ๋ง

เย้ๆๆๆ \\\\(^___^)//


โดย: . . . (WhaT iT'S W๐l2tH ) วันที่: 25 มีนาคม 2548 เวลา:20:27:16 น.  

 
อยากดูเหมือนกันครับ
ติดว่าขี้เกียจถ่อสังขารไปไกล... ;D


โดย: it ซียู วันที่: 31 มีนาคม 2548 เวลา:0:42:51 น.  

 
หนังเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าจัดจำหน่ายในเมืองไทยหรือเปล่าครับ
หรือพอจะหาซื้อได้แถวไหนครับ


โดย: มาแอบอ่าน IP: 124.120.15.105 วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:13:02:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.