http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
Neorealism: The Bicycle Thief + La Strada

โดย merveillesxx

Note: เป็นการบ้านส่งอาจารย์วิชา Film Theories อ่ะจ้ะ ไปค้นเจอเลยเอามาลงบล็อก







ลักษณะ Neorealism ใน The Bicycle Thief และ La Strada

Neorealism (สัจนิยมใหม่) นั้นเกิดขึ้นในประเทศอิตาลีช่วงยุคทศวรรษ 40 ด้วยเหตุที่ว่าอิตาลีนั้นเป็นประเทศที่พ่ายแพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลให้สังคมเศรษฐกิจของอิตาลีตกต่ำอย่างถึงที่สุด และประชาชนก็มีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้น ด้วยสภาพดังกล่าว ภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาในช่วงนั้นจึงมีเนื้อหาสะท้อนความลำบากของผู้คนในสังคม และมีการใช้เทคนิคแต่น้อย (ส่วนหนึ่งก็เพราะเครื่องมือด้านภาพยนตร์เสียหายไปหมดจากสงคราม) ซึ่งลักษณะของ Neorealism ก็ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ในหนังอิหร่าน, หนังเรื่อง Not One Less ของจางอี้โหมว, หนังของพี่น้องดาร์เดน (Rosetta, The Son, The Child) หรือหนังของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในยุคแรก เป็นต้น

ทั้งนี้สามารถแยกลักษณะของ Neorealism ในภาพยนตร์เรื่อง The Bicycle Thief (1948, Vittorio De Sica) และ La Strada (1954, Federico Fellini) ออกเป็นประเด็นดังนี้

1. การเน้นความสมจริง : หนังทั้งสองเรื่องมีการใช้เทคนิคภาพยนตร์คล้ายกับหนังกลุ่ม Realism กล่าวคือ ไม่เน้นการตัดต่อ โดยใช้การถ่ายแบบ long take, การถ่ายภาพโดยใช้ระยะไกลและระยะปานกลางมากกว่าการถ่ายภาพแบบระยะใกล้, การใช้ภาพแบบชัดลึก (deep focus) และการไม่เน้นการจัดแสง แต่ใช้แสงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่

2. ถ่ายทำในสถานที่จริง : เน้นการถ่ายทำนอกสตูดิโอ และไม่จัดองค์ประกอบภาพมากนัก (ปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่แล้ว) โดยสถานที่ใน The Bicycle Thief ก็คือ สภาพบ้านเมืองของอิตาลีที่ดูแห้งแล้ง ไร้ความหวัง ส่วนใน La Strada ก็ถ่ายทำในสถานที่ที่ตัวละครเอกของเรื่องร่อนเร่พเนจรไป

3. ใช้นักแสดงหน้าใหม่ : Neorealism นั้นจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้นักแสดงมืออาชีพ เพราะกลัวว่าผู้ชมจะติดภาพของนักแสดงจนไม่เชื่อในตัวละครที่เขาสวมบทบาท โดย Lamberto Maggiorani พระเอกเรื่อง The Bicycle Thief นั้นไม่เคยเล่นหนังมาก่อน และเขายังเป็นกรรมกรจริงๆ เหมือนในเรื่องด้วย ส่วน Enzo Staiola ผู้รับบทลูกนั้นก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่เช่นกัน ในขณะที่ La Strada อาจเป็นข้อยกเว้นในกรณีนี้ เพราะ Anthony Quinn พระเอกของเรื่องนั้นเป็นดาราชื่อดัง

4. สะท้อนภาพชีวิตของชนชั้นล่าง : จุดที่ทำให้ Neorealism ต่างจาก Realism ก็คือข้อนี้ เพราะหนังแบบ Realism นั้นอาจมุ่งเน้นไปที่ชั้นสูง (เช่น Citizen Kane) หรือชนชั้นกลางได้ แต่ Neorealism จะมุ่งไปที่ชนชั้นล่างเท่านั้น เช่น พระเอกผู้ทำงานใช้แรงงานใน The Bicycle Thief หรือ คณะละครเร่ใน La Strada โดยทั้งนี้จะเน้นนำเสนอ “ภาพชีวิตประจำวัน” ของชนชั้นล่าง อย่างเช่น ภาพการออกไปทำงานในตอนเช้าของครอบครัวของริชชี่ เป็นต้น




สาระสำคัญของ The Bicycle Thief

The Bicycle Thief นำเสนอความยากลำบากในช่วงหลังสงครามผ่านตัวละคร ริชชี่ เขาต้องรอคอยอยู่นานกว่าที่จะได้งานทำ และเมื่องานที่ทำต้องใช้จักรยาน ริชชี่ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้มันมา (กระทั่งการเอาผ้าปูที่นอนไปจำนำ) ส่วนด้านบรูโน่ (ลูกชายของริชชี่) แม้จะยังเป็นเพียงเด็ก เขาก็ต้องทำงานด้วย

หนังยังสะท้อนภาพสังคมในอีกหลายฉาก ทั้งภาพรถเมล์ที่แน่นขนัด, ผ้าปูที่นอนกองพะเนินในโรงรับจำนำ หรือการที่ผู้คนแห่กันไปหาหมอดูก็สะท้อนภาวะ Escapism ของคนที่ต้องการหนีจากโลกความเป็นจริงอันโหดร้ายได้เป็นอย่างดี (เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านพากันดูละครน้ำเน่าในช่วงพฤษภาทมิฬในหนังเรื่อง “สยิว”)

สำหรับริชชี่แล้ว จักรยานแทบจะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเขา และเมื่อมันถูกขโมยไป เขาก็ตามหามันอย่างเอาเป็นเอาตาย ในฉากที่ริชชี่ไปหาเพื่อนของเขา บริเวณนั้นมีการชุมนุมเรื่องสหภาพแรงงานกันอยู่ แต่เราจะเห็นว่าริชชี่ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านั้นเลย เพราะในตอนนั้นสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่เรื่องของสิทธิ แต่เขาต้องการแค่จักรยานเท่านั้น (หรือฉากที่ริชชี่แปะโปสเตอร์ที่เป็นรูปดาราดังอย่าง Rita Hayworth เขาก็ไม่ได้สนใจภาพในโปสเตอร์เลย เพราะเขาต้องดั้นด้นหาเงินเลี้ยงครอบครัวจนไม่มีเวลาสนใจเรื่องพวกนี้)

ริชชี่มุ่งมั่นกับการตามหาจักรยานจนลืมใส่ใจบรูโน่ ปล่อยครั้งเขาเดินลิ่วไปข้างหน้า โดยไม่ได้เหลียวหลังไปมองลูก, ปล่อยให้ลูกต้องตากฝนจนเปียกไปทั้งตัว ไปจนถึงตบหน้าลูกด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่ในฉากที่มีเด็กจมน้ำ ริชชี่ก็รู้ตัวว่าเขาใส่ใจลูกน้อยเกินไป และเขาก็กลับมาห่วงใยลูกอีกครั้ง
ฉากต่อจากนั้นหนังใส่อารมณ์เสียดสีเป็นระยะ ตั้งแต่ฉากในร้านอาหารที่โต๊ะข้างๆ เป็นพวกคนรวยที่กินอาหารชั้นดีกว่าพวกริชชี่หลายเท่า (แสดงช่องว่างระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง) ต่อมาริชชี่ต้องกลับไปหาหมอดูที่ตัวเองเคยดูแคลนเพื่อถามหาจักยานของตนเอง จนถึงฉากไคลแม็กซ์ที่เขากลายเป็น “โจรขโมยจักรยาน” เสียเอง (ดังนั้นหนังจึงควรมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bicycle Thieves มากกว่า เพราะไม่ได้มีโจรแค่คนเดียว) โดยที่ บรูโน่ได้แต่มองพฤติกรรมของพ่อด้วยความฉงน

ในช่วงท้ายเรื่องที่บรูโน่เข้ามาปกป้องริชชี่ที่กำลังถูกลากไปส่งตำรวจ ทำให้ริชชี่ได้ตระหนักอีกครั้งว่ามีสิ่งที่สำคัญกว่าจักรยานหลายเท่านัก นั่นก็คือ ลูกชายของเขา แต่ถึงหนังจะจบด้วยภาพริชชี่เดินจับมือไปกับลูกชาย มันก็เจือด้วยอารมณ์เศร้าด้วยเมื่อริชชี่ร้องไห้ออกมา โดยที่เรารู้ว่าเขาไม่ได้เสียใจเรื่องจักรยานอีกต่อไปแล้ว แต่เขาเสียใจที่ทำให้ลูกได้เห็นถึงความเลวร้ายที่สุด...จากตัวของเขาเอง




สาระสำคัญของ La Strada

เฉกเช่นเดียวกับ The Bicycle Thief เนื้อหาส่วนหนึ่งของ La Strada ก็คือการสะท้อนภาพของชนชั้นล่างเช่นกัน Zampano และ Gelsomina ตัวเอกทั้งสองของเรื่องเป็นคณะการแสดงที่ต้องร่อนเร่พเนจรไปตามเมืองต่างๆ ด้วยรถมอเตอร์ไซค์กระจอกๆ คันหนึ่ง สภาพเมืองแต่ละแห่งก็ดูทรุดโทรม แห้งแล้ง ไร้ความหวัง (ถึงขนาดที่แม่ของ Gelsomina ต้องขายลูกสาวตัวเองเพื่อความอยู่รอด) นอกจากนั้นการที่ผู้คนชอบดูการแสดงประหลาด, โชว์พิสดาร, ละครสัตว์ก็ยังแสดงถึงภาวะ escapism ได้เช่นกัน

La Strada ยังพูดเรื่องเดียวกับ The Bicycle Thief คือเรื่องของ “คนใกล้ตัว” ในขณะที่ริชชี่สนใจจักรยานจนลืมลูกชายของตัวเอง Zampano ก็สนใจในบางอย่างจนลืม Gelsomina เช่นกัน และบางอย่างที่ว่าก็คือ “ตัวเอง” เพราะ Zampano เป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ นอกจากนั้นยังกักขฬะ หยาบคาย เพราะเขาใช้ความรุนแรงกับ Gelsomina อยู่บ่อยๆ (ลักษณะความรุนแรงของเขาก็ถูกถ่ายทอดผ่านโชว์ “มนุษย์จอมพลัง” ที่เขาภูมิใจนักหนา)

Zampano เห็น Gelsomina เป็นเพียงคนตีกลองแต๊กและทาสรับใช้ เขาไม่เคยปฏิบัติดีๆ กับเธอสักครั้ง แม้ว่าเธอจะเอารถมารอรับเขาในตอนที่ถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก หรือตอนที่ Gelsomina ถามว่า “ถ้าฉันตายไปคุณจะรู้สึกอะไรบ้างมั้ย” เขาก็ไม่ใส่ใจที่จะตอบและไล่ให้เธอไปนอน

ตัวตลก (The Fool) เป็นตัวละครสำคัญในหนัง เขาเป็นคนทำให้ Gelsomina ตัดสินใจอยู่กับ Zampano ต่อไป ด้วยประโยคที่ว่า “ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ (purpose) บางอย่าง แม้จะเป็นเพียงก้อนหินก้อนเล็กๆ มันก็มีค่าในตัวมันเอง” เขายังพูดด้วยว่าบางที Gelsomina ก็คงเกิดมาเพื่ออยู่กับ Zampano นั่นเอง

แต่น่าเสียดายที่ Zampano ได้ทำสิ่งที่เลวร้ายเหลือทนลงไป เขาพลั้งมือฆ่าตัวตลกโดยไม่ได้ตั้งใจ จนทำให้ Gelsomina เสียสติ และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจทิ้งเธอไป โดยทิ้งไว้แต่ทรัมเป็ตเก่าๆโทรมๆ ตัวหนึ่ง

หลายปีผ่านไป เมื่อ Zampano ได้รู้โดยบังเอิญว่า Gelsomina นั้นตายไปแล้ว เขาก็ไปกินเหล้า เมาอาละวาด และหนังก็จบด้วยฉากที่แสนจะทรงพลัง นั่นคือภาพของ Zampano ร้องไห้ที่ชายหาดอย่างเจ็บปวด

แม้หนังจะจบไปแล้วเราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า Zampano รู้สึกอย่างไรกับ Gelsomina ไม่รู้ว่าเขารักเธอบ้างหรือเปล่า แต่อย่างน้อยที่สุดตาม -ประโยคที่ตัวตลกได้พูดไว้- หญิงสาวอย่าง Gelsomina ก็เกิดมาบนโลกอย่างมีจุดประสงค์ นั่นคือ ทำให้คนอย่าง Zampano รู้จักคำว่า “เสียใจ”



Create Date : 05 มิถุนายน 2551
Last Update : 5 มิถุนายน 2551 17:25:09 น. 4 comments
Counter : 3028 Pageviews.

 
เราเพิ่งดูเรื่องนี้วันนี้เองต่อ
ซาบซึ้งดีแท้
เด็กที่เล่นเป็นบรูโน เล่นได้ดีมาก หรือจะเรียกว่าไม่ได้เล่นอะไรเลย ได้อารมณ์และเป็นธรรมชาติมากๆ

อีกอย่างอ่านบทวิจารณ์นี้แล้วก็เห็นด้วยในหลายๆประเด็น

รวมๆแล้วชอบหนังเรื่องนี้ และประทับใจมากๆ


โดย: จิรัด(ji-boon) IP: 58.64.107.153 วันที่: 22 กันยายน 2551 เวลา:21:25:02 น.  

 
สุโค่ยมาก
REAL


โดย: musashi IP: 158.108.158.173 วันที่: 23 ธันวาคม 2551 เวลา:12:22:29 น.  

 
หาแผ่นที่ไหนดูได้มั่งอ่ะครับ ช่วยบอกทีครับ


โดย: สุ IP: 58.8.184.26 วันที่: 29 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:05:22 น.  

 
ขอบคุณที่เอามาลง เราต้องทำเรื่องbicycle thief ส่งพอดี
วิเคราะห์ละเอียดดีจัง
อยากให้ช่วยแนะนำการวิเคราะห์ภาพยนตร์ของ Garry Marshellบ้างจัง


โดย: เฟริน IP: 10.51.106.192, 202.28.182.12 วันที่: 14 มกราคม 2554 เวลา:20:00:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.