http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
Realism and Formalism in Citizen Kane

by merveillesxx




Note: เป็นการบ้านส่งอาจารย์วิชา Film Theories อ่ะจ้ะ ไปค้นเจอเลยเอามาลงบล็อก


Citizen Kane

ภาพยนตร์คลาสสิกของโลกอย่าง Citizen Kane (1941, Orson Welles) นั้น หากเราพิจารณาในแง่ของทฤษฎีภาพยนตร์แล้วจะพบว่าหนังเรื่องนี้มีลักษณะโน้มเอียงไปในกลุ่ม Realist อย่างไรก็ตาม Citizen Kane เองก็มีลักษณะของ Formalist อยู่ด้วย ซึ่งจะขอจำแนกเป็นประเด็นดังนี้



ลักษณะของ Realist ใน Citizen Kane

แนวคิดของกลุ่ม Realist นั้นเชื่อว่า “art is reality” อันหมายความว่า ภาพยนตร์นั้นคือการบันทึกภาพของ physical reality โดยที่ผู้สร้างไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือบิดเบือนใดๆ ต่อภาพทั้งสิ้น นั่นคือ ผู้สร้างจะต้องทำตัวเป็นกลาง รู้จักถ่อมตน แล้วให้อิสระในการตีความแก่ผู้ชม

ภาพยนตร์ Citizen Kane มีลักษณะที่สอดคล้องกับแนวคิด Realist ดังนี้


1. การถ่ายภาพแบบ deep focus shot

การถ่ายภาพแบบ deep focus shot หรือภาพชัดลึกนั้น หมายถึงการถ่ายภาพที่ประกอบไปด้วยหลากหลายระยะ (ระยะใกล้, ระยะกลาง และระยะไกล) ในภาพเดียวกัน โดยทุกระยะนั้นจะมีความชัดเท่ากันหมด ซึ่งเหมือนกับการมองด้วยสายตามองมนุษย์ ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อาจมีการใช้เทคนิคการ blur หรือ dissolve ภาพ เพื่อขับเน้นบางระยะให้เด่นชัดขึ้นมา ดังเช่นในรูปที่ 1 (หนังเยอรมันเรื่อง My Brother the Vampire) ซึ่งภาพ foreground จะชัด ส่วนภาพ background จะถูก dissolve



รูปที่ 1 การ dissolve ภาพ


รูปที่ 2 ภาพแบบ deep focus shot


Citizen Kane นั้นถ่ายทำแบบ deep focus shot เกือบตลอดทั้งเรื่อง โดย 2 ฉากสำคัญก็คือ

1.1 ฉากโต๊ะกินข้าว ในงานเลี้ยงฉลองระหว่าง Kane, Bernstein, Leland และพนักงานทั้งหมดของ New York Inquirer ภาพของฉากนี้มีทั้งระยะใกล้, กลาง และไกล แต่ทุกระยะก็มีความชัดเท่ากัน

1.2 ฉากแม่ของ Kane ตกลงเซ็นสัญญากับ Thatcher (รูปที่ 2) ในฉากนี้ผู้ชมจะเห็นภาพทุกระยะชัดเท่ากันหมด ไม่ว่าจะภาพ foreground (พ่อ แม่ และ Thatcher) หรือภาพ background (ภาพของ Kane วัยเด็กที่เล่นอยู่นอกบ้าน โดยมองเห็นผ่านหน้าต่าง)

การใช้ภาพแบบ deep focus shot นั้นจะทำให้ผู้ชมรับรู้ภาพได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดกล่าวคือ ทุกวัตถุในภาพจะมีความชัดเท่ากัน ดังนั้นผู้ชมจึงต้องเลือกเอาเองว่าจะโฟกัสไปที่สิ่งใด โดยเฉพาะกรณีที่ฉากนั้นมีวัตถุหรือรายละเอียดมากมาย


2. การใช้ภาพในระดับสายตา (eye-level shot)

ข้อนี้คล้ายกับข้อ 1 ก็คือโดยปกติแล้วในชีวิตประจำวันของเรานั้น เรามักมองสิ่งต่างๆ ด้วยระดับสายตา และหนังเรื่อง Citizen Kane ก็ถ่ายทำด้วยภาพระดับนี้เป็นส่วนใหญ่ (รูปที่ 2 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ภาพแบบนี้) แต่หนังก็มีการใช้ภาพแบบ high หรือ low angle อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อของ Formalist


3. การตัดต่อโดยน้อย

แนวคิด Realist นั้นไม่เห็นด้วยกับการตัดต่อโดยเฉพาะแบบ montage เพราะถือว่าเป็นการบิดเบือนความจริงอย่างรุนแรง โดยหนังเรื่อง Citizen Kane นั้นมีการตัดต่อค่อนข้างน้อย โดยมากแล้วจะเป็นการตัดต่อระหว่าง scene เท่านั้น แต่ไม่ค่อยปรากฏการตัดต่อใน scene เดียวกัน สาเหตุหนึ่งก็เพราะหนังใช้ภาพแบบ deep focus shot เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งภาพแบบนี้มักถ่ายภาพออกมาในมุมกว้าง (wide angle) เพื่อให้ครอบคลุมวัตถุได้หมด และต้องถ่ายค้างฉากนั้นไว้ชั่วเวลาหนึ่ง เพื่อให้ผู้ชมสามรถเก็บรายละเอียดทั้งหมดได้

หนังแนว Realist นั้นจะใช้วิธีการเคลื่อนกล้อง เช่น pan, tilt, track หรือ crane มากกว่าการตัดต่อ ซึ่ง Citizen Kane ก็ใช้เทคนิคเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น ฉากเปิดเรื่องที่กล้องเคลื่อนผ่านรั้วกั้นไป จนเราเห็นภาพคฤหาสน์อันใหญ่โตของ Kane

อย่างไรก็ดี การตัดต่อใน Citizen Kane นั้นจะใช้ในการสื่อความหมายถึง ความแตกต่าง, ความแตกแยก, ความห่างเหิน หรือความบาดหมาง เช่น ฉากสนทนาระหว่าง Susan Alexander กับ Kane ในตอนที่ Susan จะไปจาก Kane ในฉากนี้จะมีการตัดต่อสลับกันระหว่างใบหน้าของ Susan กับ Kane ไปเรื่อยๆ

ส่วนการตัดต่อแบบรวดเร็ว (quick cut) ปรากฏในช่วงต้นเรื่องที่เป็นภาพข่าว News on the March หนังใช้เทคนิคนี้ก็เพื่อบอกเล่าอัตชีวประวัติของ Kane อย่างรวดเร็ว พร้อมกับสะท้อนถึงความรุ่งเรืองและความตกต่ำของชายผู้นี้



ลักษณะของ Formalist ใน Citizen Kane

แนวคิดของ Formalist นั้นจะเชื่อใน “รูปแบบ” เป็นสำคัญ โดยผู้สร้างอยู่ในฐานะของทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้ตีความ ดังนั้นผู้สร้างจึงมีสิทธิที่จะเข้าไปจัดแจง, แทรกแซง หรือกระทั่งบิดเบือน “ภาพ” ได้ ด้วยเทคนิควิธีต่างๆ ซึ่งหนังเรื่อง Citizen Kane ก็มีการใช้เทคนิคทางด้านภาพดังนี้


1. การจัดองค์ประกอบภาพ (Mise-en-scene)

Citizen Kane นั้นขึ้นชื่อมากในความพิถีพิถันในการจัดองค์ประกอบของภาพ ซึ่งนอกจากจะเพื่อความสวยงาม, ความเป็นศิลปะแล้ว มันยังใช้ในการสื่อความหมายด้วย ตัวอย่างฉากสำคัญ ได้แก่

1.1 ฉากโต๊ะกินข้าว (งานเลี้ยง) ฉากนี้ภาพ foreground จะเป็น Kane จะยืนอยู่ที่หัวโต๊ะ จากนั้นภาพในมุมลึกจะเป็นเพื่อนร่วมงานของเขานั่งเรียงรายกันที่โต๊ะ ซึ่งเป็นฉากที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของ Kane ได้สมัยที่เขายังรุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี

1.2 ฉากเซ็นสัญญา (รูปที่ 2) ภาพ foreground ฉากนี้พ่อของ Kane จะยืนอยู่ห่างจาก แม่ของ Kane และ Thatcher อันสื่อความว่าเขานั้นถูกกีดกันออกจากการตัดสินใจในสัญญาฉบับนี้ ส่วน background นั้นเราจะเห็น Kane วัยเด็กเล่นอยู่นอกบ้านผ่าน “กรอบหน้าต่าง” ซึ่งเป็นนัยถึงความไร้อิสรภาพหรือภาวะจำยอมของเขานั่นเอง

1.3 ฉากโต๊ะกินข้าว (Kane และ Emily-ภรรยาคนแรก) (รูปที่ 3)ฉากนี้แสดงความห่างเหินของ Kane กับ Emily ได้อย่างชัดเจน

1.4 ฉากจบ (รูปที่ 4) ในฉากนี้ภาพ foreground ทางด้านซ้ายจะเป็นประตูรั้วบ้านซึ่งมีสัญลักษณ์ตัว K ส่วน background ทางด้านขวาจะเป็นภาพคฤหาสน์ของที่มีควันไฟลอยออกมาอันเกิดจากการเผาข้าวของเครื่องใช้ของ Kane ทิ้ง ดังนั้นฉากนี้จึงค่อนข้างให้อารมณ์แบบขัดแย้งและเสียดสีถึงความล่มสลายของคนที่เคยใหญ่คับฟ้าอย่าง Kane



รูปที่ 3 ฉากโต๊ะกินข้าว


รูปที่ 4 ฉากจบ


2. การใช้กล้องมุมสูง / มุมต่ำ

Citizen Kane นั้นมีการใช้เทคนิคทางมุมกล้องในหลายฉาก ตัวอย่างเช่น

2.1 กล้องมุมสูง (high angle) เช่น ฉากที่ Susan ร้องเพลงโอเปร่าจะภาพถ่ายจากมุมสูง อันแสดงถึงภาวะจำยอมที่เธอถูก Kane บังคับให้ร้องเพลง รวมถึงแรงกดดันจากผู้ชม, สื่อมวลชน และนักวิจารณ์

2.2 กล้องมุมต่ำ (low angle) เช่น ฉากที่ Kane หาเสียง (รูปที่ 5) การถ่ายภาพจากมุมต่ำนี้ทำให้ Kane ดูเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจ



รูปที่ 5 ภาพมุมต่ำ


รูปที่ 6 การจัดแสง


3. การจัดแสง

นอกจากเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพแล้ว ความพิถีพิถันอย่างหนึ่งในหนังเรื่อง Citizen Kane ก็คือ การจัดแสง โดยเช่นเดียวกับเรื่องของ mise-en-scene นั่นคือ การจัดแสงในที่นี้ไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ใช้เพื่อการสื่อความหมายด้วย

ตัวอย่างเช่น ฉากโรงโอเปร่า (รูปที่ 6) แสงที่ส่องลงบนใบหน้า Kane แค่บางส่วนนั้นยิ่งขับเน้นให้ Kane เป็นบุคคลที่น่ากลัว ชั่วร้าย บ้าอำนาจ และอาจดูเสียสติ ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรมของเขาในฉากนี้ โดยหลังจากที่ Susan แสดงจบลง เขาก็ลุกขึ้นปรบมืออย่างบ้าคลั่ง



Create Date : 05 มิถุนายน 2551
Last Update : 5 มิถุนายน 2551 17:18:48 น. 3 comments
Counter : 4601 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลมุมกล้องรู้มุมกล้องเพิ่มอีกเยอะเลย


โดย: หนวดฟู IP: 124.121.195.25 วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:20:58:53 น.  

 
^
^
ถ้าสนใจเรื่องพวกนี้ อ่านในหนังสือ "มาทำหนังกันเถอะ" ของ อ.ประวิทย์ แต่งอักษร ได้นะจ๊ะ


โดย: merveillesxx วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:2:42:05 น.  

 
น่าจะลองเขียนใหม่ดูสักรอบนะครับ ดูสิว่า มุมมองต่อหนังยังเหมือนเดิมไหม


โดย: รถเล็ก IP: 125.26.251.51 วันที่: 16 ตุลาคม 2551 เวลา:9:36:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.