มองให้เห็นหลายมุม แต่ไม่ลืมมุมที่มองไม่เห็น
Group Blog
 
All Blogs
 

เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ เริ่มแล้ว !!!!




เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว

น่าเสียดายที่ปีนี้ไม่มีหนังไทยเข้ามาอยู่ในโปรแกรม หรือเข้าชิงรางวัลอะไรเลย ดูจากรายชื่อหนังแบบผ่าน ๆ ก็ยังไม่มีอันไหนโดนซักเรื่อง ไม่เหมือนปีที่แล้ว ที่นอกจากหนังไทยประหลาด ๆ เรื่อง สัตว์ประหลาด ของคุณเจ้ย อภิชาติพงษ์ จะเข้ามาชิงจนได้รางวัล Jury ไปแล้ว ก็ยังมีหนังของเฮียหว่องที่เราคุ้นเคยอย่าง 2046 ข้ามาร่วมด้วย รวมทั้งหนังน่าสนใจ ๆ อีกหลานเรื่อง


แต่ยังไงก็ตาม ปีนี้ตั้งใจว่าจะต้องไปให้ถึงเมืองคานส์ให้ได้ โอกาสใกล้เคียงกว่านี้คงไม่มีอีกแล้ว...


ไม่ได้จะเอาหนังอะไรไปเสนอหรอก... แต่เพราะจากที่อยู่นี่เดินทางไปเมืองคานส์แค่ร้อยกว่ากิโลแค่นั้นเอง ไม่ไปคราวนี้ก็ไม่รู้จะไปคราวไหนแล้ว

แว่ว ๆ ว่า วันอาทิตย์นี้มีรายการพิเศษซะด้วย... เป็นการเปิดตัวหนังที่ในงาน โดยไม่เกี่ยวกับการประกวด แต่ต้องถือว่ายิ่งใหญ่ตลอดกาล... นั่นคือเรื่อง

Stars War III Revenge of the sith

นั่นเอง




งานนี้อาจจะได้ขอลายเซ็นดาร์คเวเดอร์กลับบ้านกันบ้าง... :)



May forces be with you




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2548 16:22:46 น.
Counter : 475 Pageviews.  

ม้าหมุน.... จริง จริ๊ง !!

วันนี้ขอว่ากันด้วยเรื่องของม้าหมุน ขวัญใจของเด็ก ๆ ทั่วโลกกันนะครับ.... แต่จะพาไปดูม้าหมุนแบบบ้าน ๆ ทั่วไปก็กะไรอยู่ เลยจะชวนไปดูม้าหมุนแปลก ๆ ที่ฝรั่งเศสดีกว่า


นี่คือนวตกรรมใหม่แห่งวงการม้าหมุนของโลก (ในจินตนาการเด็ก ๆ) ที่ประกอบไปด้วยสารพัดเครื่องเล่นที่ไม่เหมือนใคร เพราะจะพาเด็ก ๆ เข้าไปสู่โลกแห่งจินตนาการของการ์ตูนได้อย่างแท้จริง

ม้าหมุนแห่งนี้มีชื่อว่า Le Manege d'Andrea



ม้าหมุน เลอมาแนจ ดานเดรียอา นี้ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1999 โดยทีมช่าง "La Machine" ภายใต้การกำกับดูแล และออกแบบศิลป์ โดยศิลปินที่มีชื่อว่า Francois Delaroziere ซึ่งความพิเศษของม้าหมุนแห่งนี้ก็คือเครื่องเล่นหน้าตาประหลาด ๆ ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ที่ไหนอย่างเช่น...

ม้ายูนิคอร์น


หัวรถจักรไอน้ำ (ที่มีควันออกมาได้จริง ๆ)


เครื่องร่อนตีนถีบ ยุคก่อนสองพี่น้องตระกูลไรท์


บอลลูนปลาปักเป้า



ม้าน้ำ... ด้วงกว่าง ....ซาลาแมนเดอร์... กิ้งก่ายักษ์... นกกระจอกเทศ... เรือโจรสลัด... นกกระสา... ปลาน้ำลึก...















หรือแม้แต่กระทั่ง... ผี (ใครจะไปอยากนั่งผี??)




ซึ่งความพิเศษขึ้นไปอีกของม้าหมุนนี้ก็คือ เด็ก ๆ สามารถที่จะบังคับให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ตามใจอีกด้วย ไม่ว่าจะดึงควบให้ตัวด้วงยกตัวขึ้น หรือปั่นจักรยานให้ปีกเครื่องร่อนกระพือได้ หรือช่วยกันปั่นไอน้ำให้ออกมาจากหัวรถจักร เครื่องเล่นบางอัน เล่นคนเดียวก็สนุกดี แต่บางอันได้เล่นกันหลาย ๆ คน ทำงานกันเป็นทีมก็สนุกไปอีกแบบ

ผลก็เลยทำให้ม้าหมุนกลายเป็นของเล่นใหม่ที่เด็ก ๆ ต่างรอกันเป็นขบวน เพื่อต่อคิวเข้าไปเล่น อย่างที่เห็น



แต่ใครจะแย่งตัวไหนกันก็ตาม สาวน้อยคนนี้ขอเลือกเล่นอันนี้... ช่างสมกับตัวเธอจริง ๆ :)



เห็นแล้วก็นึกเสียดาย สมัยเราเด็ก ๆ ทำไมไม่เจอม้าหมุนแปลก ๆ อย่างนี้บ้างน๊า....



ก่อนจาก... พาไปดูม้าหมุนอีกที่นึงดีกว่า.... อันนี้ซิ ถึงจะเรียกว่า "ม้า" หมุน จริง ๆ




(รูปสุดท้าย... มี "ป้า" มาช่วยหมุนด้วย)




 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2548 17:22:10 น.
Counter : 500 Pageviews.  

คิดค้นประดิษฐกรรม และแก้ปัญหาเชิงประดิษฐกรรมด้วย TRIZ

คิดค้นประดิษฐกรรม และแก้ปัญหาเชิงประดิษฐกรรมด้วย TRIZ


ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ประเทศผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปต่าง ๆ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาที่พบ ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง การมองเห็นปัญหา และการหาทางแก้ ก็คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิดค้นออกแบบประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ให้ออกมาใช้งานกันได้ ซึ่งโดยหลักการของ TRIZ แล้ว เชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่สอนกันได้” โดยการนำวิธีการคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ มาทำให้เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ออกแบบสามารถเห็นถึงทางออกที่เป็นไปได้ และสามารถจัดการกับตัวแปรต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

โดยธรรมชาติแล้ว คนเรามักจะคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่ผ่านมาและความถนัดของตนเองเป็นหลัก ซึ่งมักจะทำให้เกิด “ความเฉื่อยทางจิตวิทยา” คือ ไม่สามารถจะออกไปจากรูปแบบที่เคยมีมาได้ และยังคงเกิดปัญหาเดิม ๆ กลับเข้ามาอีก แต่การแก้ปัญหาเชิงประดิษฐกรรม หรือ Inventive Problem Solving จะเป็นการโดยการสร้าง ออกแบบ หรือคิดค้นสิ่งใหม่ เพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ ของปัญหาที่มีอยู่ให้น้อยลง ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากประสบการณ์ หรือความถนัดของผู้ออกแบบ

TRIZ (Theory of Inventive Problem Solving) หรือ “ทฤษฎีการแก้ปัญหาเชิงประดิษฐกรรม” เป็นทฤษฎีจัดการทางด้านความคิดที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน คิดค้นขึ้นโดย Genrich S. Altshuller วิศวกรชาวรัสเซีย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1946) แต่เพิ่งจะเป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง เป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความรุ่งเรืองทางด้านวิศวกรรมของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน เป็นเวลากว่า 50 ปี และยังคงสามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีในการคิดค้นประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ของวันนี้

Genrich S. Altshuller ถือ วิศวกรชาวรัสเซีย ถือกำเนิดที่สหภาพโซเวียต ในปี 1926 เริ่มฉายแววความเป็นนักประดิษฐ์ตั้งแต่อายุ 14 ขวบ ด้วยการประดิษฐ์อุปกรณ์ดำน้ำ Scuba และหลงใหลในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จนได้มาเป็นวิศวกรเครื่องกลในเวลาต่อมา และได้เข้ารับใช้ในกองนาวิกโยธินของโซเวียต ในหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ และเป็นที่ปรึกษในการคิดค้นประดิษฐกรรมให้กับนักประดิษฐ์รายอื่น ๆ ในกองทัพ


TRIZ คืออะไร ?

TRIZ เป็นหลักการในการคิดค้น และออกแบบประดิษฐกรรมสำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบในทางอุตสาหกรรม ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานสูงสุด หรือเพิ่มความเป็นอุดมคติ (Ideality) และลดทรัพยากรที่ต้องใช้ (Resources) ซึ่งจะมีข้อจำกัดของความขัดแย้งกัน (Contradiction) ของตัวแปรต่าง ๆ กล่าวคือ ของสิ่งหนึ่งนั้น เมื่อเราพยายามที่จะเพิ่มคุณสมบัติหนึ่ง ก็มักมีผลในทางตรงกันข้ามกับอีกคุณสมบัติหนึ่ง เช่น ต้องการฝาขวดที่เปิดได้สะดวก แต่ไม่ต้องการให้มันเปิดได้เองง่ายเกินไป ต้องการระบบที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่ให้มีความปลอดภัยต่อการโจรกรรมข้อมูล ต้องการความแข็งแรง แต่ต้องการความเบา ใช้วัสดุน้อยที่สุด หรือต้องการออกแบบกล่องที่ทำให้พิซซ่าร้อนสำหรับลูกค้า แต่เย็นสำหรับเด็กส่งพิซซ่า เป็นต้น

ขณะที่ทำงานเป็นผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรในกองนาวิกโยธิน Altshuller ได้ทำการศึกษารวบรวมปัญหาที่พบ และการแก้ปัญหาที่ได้ทำ จากสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากกว่า 200,000 ฉบับ ฉบับ และรวบรวมมาทำเป็นฐานข้อมูล จนถึงปัจจุบัน มีสิทธิบัตรจากทั่วโลกที่ถูกนำมาวิเคราะห์แล้ว กว่า 1,500,000 ฉบับ โดยจากทั้งหมด มีเพียง 40,000 ชิ้นเท่านั้น ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบ Inventive Problem Solution หรือ การสร้างประดิษฐกรรมใหม่ อย่างแท้จริง นอกนั้นเป็นเพียงแค่การปรับปรุงของเก่าให้ใช้งานดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งเขาจึงได้นำปัญหาต่าง ๆ มาจัดหมวดหมู่ที่เป็นกลาง ไม่เฉพาะเจาะจงตามสายงาน โดยกำหนดเงื่อนไขของการแก้ปัญหาแบบ Inventive Problem Solution ไว้ดังนี้

1. จะต้องมีกระบวนการคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน (Systematic) หรือ Step-by-Step
2. สามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในวงกว้างกับเรื่องอื่น ๆ ได้
3. สามารถทำซ้ำได้ มีความเที่ยงตรง และไม่เกิดจากผลทางด้านจิตวิทยา
4. สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ (Innovative) ได้
5. สร้างความคุ้นเคยให้กับนักประดิษฐ์ ในการหาวิธีการแก้ปัญหาต่อ ๆ ไป



Altshuller พบว่า ในทุกอุตสาหกรรมต่างก็เจอปัญหาในรูปแบบที่คล้าย ๆ กัน และถูกแก้ซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยหลักการเดียวกัน ซึ่งสามารถจะจำแนกแนวทางการแก้ปัญหาทั้งหมดออกได้เป็น 40 หลักการพื้นฐาน (Fundamental inventive principles) กับ 39 ตัวแปร (Parameter) ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งจะช่วยให้นักประดิษฐ์สามารถประหยัดเวลาในการหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เคยมีผู้คิดค้นสำเร็จมาก่อนแล้ว

ระดับชั้นของการแก้ปัญหาเชิงประดิษฐกรรม

ชั้นที่ 1 งานออกแบบทั่วไป (Routine Design) แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยใช้วิธีการที่คุ้นเคย หรือจากประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะทางในสาขานั้น ๆ ซึ่งในระดับนี้ยังไม่เรียกว่าเป็นการสร้างประดิษฐกรรมใหม่

ชั้นที่ 2 ปรับปรุงส่วนปลีกย่อยของระบบเดิม (Minor improvements to an existing system) โดยใช้วิธีที่ใช้ทั่วไป ในอุตสาหกรรมชนิดนั้น ๆ และการ optimization ปัจจัยด้านต่าง ๆ

ชั้นที่ 3 ปรับปรุงโครงสร้างหลัก (Fundamental improvement to an existing system) เป็นการแก้ปัญหาที่จะต้องอาศัยความรู้จากภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาช่วยด้วย

ชั้นที่ 4 สร้างผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ (New generation product หรือ new concept) โดยที่ยังคงความสามารถในการทำฟังก์ชั่นหลักต่าง ๆ ได้เหมือนกับ generation เดิม หรือเป็นการสร้างเทคโนโลยีใหม่ เพื่อมาแทนที่เทคโนโลยีเดิม

ชั้นที่ 5 คิดค้นนวัตกรรมใหม่ (Scientific discovery new phenomena หรือ pioneer invention) สำหรับความต้องการของระบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

หลักการของ TRIZ จะเน้นไปในการแก้ปัญหาในลำดับชั้นที่ 2 3 และ 4 เป็นหลัก ซึ่ง Altshuller กล่าวไว้ว่า 90% ของปัญหาในทางเทคนิคทั้งหลายที่พบ ที่จริงแล้วก็คือปัญหาเดิม ๆ ที่เคยมีผู้แก้ไขสำเร็จแล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่งมาก่อนแล้ว ถ้าหากเราสามารถที่จะดำเนินตามลำดับขั้นของการแก้ปัญหา จากการใช้ประสบการณ์ ความถนัดเฉพาะทางของตน ไปจนถึงความรู้จากแหล่งภายนอก ก็จะพบว่าการแก้ปัญหาส่วนใหญ่สามารถนำมาปรับใช้จากความรู้ที่มีอยู่ภายในองค์กร ภายในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และแม้แต่จากกลุ่มอุตสาหกรรมชนิดอื่นได้เช่นกัน


กฎแห่งความอุดมคติ (Law of Ideality)

กฎแห่งความอุดมคติกล่าวเอาไว้ว่า ทุก ๆ ระบบ (Technical System) จะต้องมีการปรับปรุงตัวเองตลอดช่วงอายุการใช้งาน เพื่อให้เข้าสู่ความเป็นอุดมคติ (Ideality) คือ มีความเที่ยงตรงมากขึ้น (more reliable) ใช้งานได้ง่ายขึ้น (simpler) มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (more effective) รวมไปถึงการลดต้นทุน ลดพลังงาน ลดทรัพยากรที่ใช้ ลดพื้นที่ ฯลฯ เมื่อระบบเข้าสู่ความเป็นอุดมคติที่สุด สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ กลไก (Mechanism) จะหมดไป ในขณะที่ฟังก์ชั่นการทำงานยังคงมีอยู่ หรือเพิ่มขึ้น

การเพิ่มความเป็นอุดมคติสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

- ลดกลไก (mechanism) เช่น การขนส่งเนื้อสัตว์จากทวีปอเมริกาใต้ ต้องการเพิ่มความสามารถในการแช่แข็งเนื้อสัตว์ โดยการบินในระดับความสูงที่ 15,000 – 20,000 feet และให้มีลมเย็น ที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสเข้ามา ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแช่แข็งบนเครื่องบินเลย

- เพิ่มฟังก์ชั่นการทำงาน เช่น วิทยุที่มีเครื่องเล่นเทป CD และเครื่องขยายเสียงต่อไมโครโฟนได้ในเครื่องเดียวกัน หรือเครื่องตัดสายไฟ ที่ทำได้ทั้งตัดสายไฟ ปอกปลอกสายไฟ และงัดกล่องสายไฟได้ในอันเดียวกัน

- เพิ่มขอบเขตของระบบ เช่น ทำให้หน้าต่างเปิดกว้างขึ้น หรือแคบลงตามอุณหภูมิภายนอก โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ที่หน้าต่าง (ระบบใหม่ หรือ supersystem คือ หน้าต่าง + เซ็นเซอร์)


Contradiction

หมายถึงคุณสมบัติ หรือตัวแปร เช่น น้ำหนัก อุณหภูมิ สี ความเร็ว ความแข็งแรง ฯลฯ ของระบบหนึ่ง ๆ ที่เมื่อเราพยายามที่จะเพิ่มคุณสมบัติหนึ่ง ก็มักมีผลในทางตรงกันข้ามกับอีกคุณสมบัติหนึ่ง เช่นถ้าต้องการของที่เบา ก็ต้องเสียความแข็งแรงลงไป ต้องการจะเพิ่มความเร็วของเครื่องบิน โดยการเพิ่มขนาดของเครื่องยนต์ แต่ก็จะทำให้ปีกเครื่องบินต้องรับน้ำหนักมากเกินไปได้ หรือ เครื่องประดาน้ำ ที่จะต้องมีความแข็ง ไม่แตกง่ายในน้ำลึก แต่จะต้องนิ่มสำหรับนักประดาน้ำ เป็นต้น




ขั้นตอนการแก้ปัญหาโดยใช้ TRIZ

Step 1 ค้นหาปัญหาทีมีอยู่
Step 2 มองปัญหาในรูปแบบของ physical contradiction คือ กำหนดตัวแปรที่มีผลต่อผลิตภัณฑ์ในทิศตรงกันข้ามกัน โดยอาศัย 39 ตัวแปรของ Altshuller (The Altshuller's 39 Engineering Parameters)
Step 3 ค้นหาการแก้ปัญหา โดยอาศัย 40 หลักการพื้นฐานในการประดิษฐ์ (40 Fundamental inventive principles)



39 ตัวแปรของ Altshuller (The Altshuller's 39 Engineering Parameters)

1.Weight of moving object
2.Weight of binding object 3.Length of moving object
4.Length of binding object
5.Area of moving object
6.Area of binding object
7.Volume of moving object
8.Volume of binding object
9.Speed
10.Force
11.Tension, pressure
12.Shape
13.Stability of object
14.Strength
15.Durability of moving object
16.Durability of binding object 17.Temperature
18.Brightness
19.Energy spent by moving object
20.Energy spent by binding object
21.Power
22.Waste of energy
23.Waste of substance
24.Loss of information
25.Waste of time
26.Amount of substance
27.Reliability
28.Accuracy of measurement
29.Accuracy of manufacturing
30.Harmful factors acting on object
31.Harmful side effects
32.Manufacturability
33.Convenience of use
34.Repairability
35.Adaptability
36.Complexity of device
37.Complexity of control
38.Level of automation
39.Productivity



40 หลักการพื้นฐานของการสร้างประดิษฐกรรม (40 Fundamental inventive principles)

1. Segmentation เช่น เฟอร์นิเจอร์แยกประกอบ รั้วบ้านที่สามารถประกอบเพิ่มความยาวได้ไม่จำกัด

2. Extraction เช่น การไล่นกออกจากสนามบิน ด้วยการเปิดเทปเสียงที่ทำให้นกตกใจ

3. Local Quality เช่น ดินสอที่มียางลบในแท่งเดียวกัน

4. Asymmetry เช่น ให้หน้ายางด้านนอกทนต่อการเสียดสีได้มากกว่าด้านใน

5. Combining เช่น เครื่องขุดที่พ่นไอน้ำออกมาลดฝุ่น และทำให้พื้นนุ่มลงในเวลาเดียวกัน

6. Universality เช่น โซฟาที่แปลงให้เป็นเตียงนอนได้

7. Nesting เช่น เก้าอี้พลาสติกที่สามารถจับซ้อนกันได้เวลาไม่ใช้งาน ดินสอกดที่เก็บไส้สำรองได้

8. Counterweight เช่น ชดเชยน้ำหนักเรือด้วย Hydrofoil

9. Prior counter-action เช่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ท่อที่เสริมด้วยท่อโลหะหลาย ๆ ท่อพันรอบเป็นเกลียว

10. Prior action เช่น มีดพกที่ประกอบไปด้วยเครื่องมือหลายอย่าง ชิ้นไหนไม่ใช้ก็เก็บได้

11. Cushion in advance เช่น สินค้าในร้านที่ติดแม่เหล็กส่งสัญญาณกันการขโมย

12. Equipotentiality เช่น ทำถังน้ำมันเครื่องรถแข่งให้สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำมันที่สนามได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยก

13. Inversion เช่น การทำความสะอาดโดยใช้ vibration แทนการใช้สารขัดสี

14. Spheroidality เช่น การทำประป๋องน้ำอัดลมให้เป็นทรงกระบอก เพื่อให้เกิดส่วนโค้งที่รับแรงได้ดีกว่า

15. Dynamicity เช่น ไฟฉายที่มีคอที่สามารถดัดได้ตามต้องการ

16. Partial or overdone action เช่น การทาสีภายในถังน้ำมัน โดยใช้วิธีการหมุนถังให้สีทาได้ทั่ว

17. Moving to a new dimension (1D ->2D ->3D) เช่น บ้านประหยัดพลังงานที่ติดกระจกโค้งไว้ทางทิศเหนือของบ้าน เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ให้บ้านสว่างได้ทุกจุดทั้งวัน

18. Mechanical vibration เช่น ใช้ vibration ช่วยในการหล่อ ให้โลหะไหลได้ดีขึ้น

19. Periodic action เช่น ไฟฉุกเฉินจะทำให้กระพริบเป็นจังหวะ ทำให้สังเกตได้ง่ายกว่าไฟที่ไม่กระพริบ

20. Continuity of a useful action เช่น การเจาะโดยใช้ใบมีดที่ทำงานได้ทั้งทิศทางไป และกลับ

21. Rushing through เช่น การตัดผนังพลาสติกแบบไม่ให้เกิดการเปลี่ยนรูป โดยใช้ความเร็วสูง

22. Convert harm into benefit เช่น การ Heat treatment เหล็กด้วยไฟฟ้าความถี่สูง จะทำให้โลหะร้อนเฉพาะผิวหน้าเท่านั้น ดังนั้นนำวิธีนี้มาใช้กับงาน Surface Heat treatment แทน

23. Feedback เช่น pump จะทำงานเฉพาะเมื่อมีระดับน้ำต่ำเกินกำหนด ควบคุมจากแรงดันน้ำในถัง

24. Mediator เช่น ลดการสูญเสียพลังงานจากการผ่านกระแสไฟในโลหะเหลว โดยการใช้ electrode และตัวกลางที่เป็นโลหะเหลวที่มีจุดหลอมเหลวต่ำกว่า

25. Self-service เช่น ป้องกันการสึกหรอในเครื่อง feeder สารขัดถู โดยการใช้วัสดุที่เป็นสารขัดถูเช่นกันที่ผิวนอก

26. Copying เช่น วัดความสูงของวัตถุ โดยการวัดระยะที่เงาของมันเอง

27. Inexpensive, short-lived object for expensive, durable one เช่น ผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง

28. Replacement of a mechanical system เช่น การเพิ่มแรงยึดระหว่างโลหะ กับวัสดุเคลือบที่เป็น thermoplastic โดยการสร้างสนามแม่เหล็ก

29. Pneumatic or hydraulic construction เช่น การขนพัสดุที่แตกง่าย โดยการใช้ถุงลมกันกระแทก

30. Flexible membranes or thin film เช่น ป้องกันการเสียน้ำที่ใบพืช โดยการเคลือบสาร polyethylene ซึ่งมีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้ดี

31. Use of porous material เช่น ใช้วัสดุประเภทฟองน้ำดูดซับสารหล่อเย็นไม่ให้ไหลเข้าเครื่องยนต์ ขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน สารหล่อเย็นก็จะระเหย และทำหน้าที่ในการลดอุณหภูมิ

32. Changing the color เช่น ทำให้ผ้าพันแผลโปร่งใส เพื่อสามารถเห็นบาดแผลได้ โดยไม่ต้องแกะ

33. Homogeneity เช่น การใช้วัสดุพื้นผิวของ feeder เป็นชนิดเดียวกับวัตถุดิบ ในกรณีของสารกัดกร่อน

34. Rejecting and regenerating parts เช่น กระสวยอวกาศที่ถูกปล่อยทิ้งเป็นส่วน ๆ หลังจากที่ส่วนนั้นใช้งานเสร็จ

35. Transformation of the physical and chemical states of an object เช่น ในอุปกรณ์ที่เปราะ แตกง่าย น็อตที่ใช้ก็จะต้องทำจากวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ดี

36. Phase transformation เช่น การป้องกันการขยายตัวของท่อที่มีลักษณะเป็นโครง โดยการใช้น้ำที่แช่จนเป็นน้ำแข็ง

37. Thermal expansion เช่น บ้านประหยัดพลังงานที่เปิดปิดหน้าต่าง ตามอุณหภูมิ ด้วยวัสดุโลหะ 2 ชนิดที่มีคุณสมบัติการขยายตัวตามความร้อนที่ไม่เท่ากัน

38. Use strong oxidizers เช่น การเติม oxygen เพิ่มให้กับคบเพลิง เพื่อทำให้เกิดความร้อนมากกว่าการใช้อากาศปกติ

39. Inert environment เช่น การใช้แก๊ซเฉื่อยในการดับไฟใน warehouse

40. Composite materials เช่น ปีกเครื่องบินที่ทำจากพลาสติกและ carbon fiber เพื่อให้ความแข็งแรงสูง แต่เบา



เนื่องจากหลักการของ TRIZ เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากกว่า 100,000 ฉบับ รวมทั้งหลักการ คู่มือ เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ได้ผลในวงการอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้มีการพัฒนา software เพื่อช่วยในการประยุกต์วิธีการของ TRIZ ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น Innovation Workbench TM (IWB), Ideator, Eliminator (Appetizer) เป็นต้น



ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก จะให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาและวิจัย เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เป็นอย่างมาก กระบวนการคิดในเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังและถ่ายทอดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังอยู่ในฐานะของผู้รับเทคโนโลยี หรือซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เป็นของตนเองและเหมาะสมกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของประเทศได้ การจะผลักดันให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้า ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันของโลกยุคใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเสริมกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ และศึกษาถึงหลักการที่เกี่ยวกับการสร้างทักษะในการคิด เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่ ไม่ใช่เรื่องของบุคลากรที่มีคุณภาพ หากแต่คือการสร้างแนวความคิดในเชิงสร้างสรรค์ ที่จะช่วยให้เราสามารถก้าวขึ้นไปเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้อย่างแท้จริง





Nathawee P. - 2005




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 6 พฤษภาคม 2548 5:58:07 น.
Counter : 9325 Pageviews.  

พลังงานลม

จากบทความที่ลงในเว็บ//thaiaixois.online.fr/etc/ath1.htm




เมื่อพลังงานจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ มีจำกัด และมีราคาสูงถีบตัวขึ้น ๆ ทุกวัน ทั่วโลกต่างก็ตั้งคำถามกันว่า พลังงานฟอสซิลเหล่านี้มีวันจะหมดหรือไม่ และมองหาว่ามีพลังงานในรูปแบบอื่นอีกมั๊ย ที่เราพอจะนำมาทดแทนพลังงานในรูปแบบเดิม ๆ ได้บ้าง เรื่องนี้มีการพูดกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แต่จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ตราบเท่าที่ราคาพลังงานจากน้ำมัน ยังคงถูกกว่าต้นทุนของพลังงานในรูปแบบอื่น ซึ่งวันนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว


พลังงานน้ำมันจะหมดจากโลกเมื่อไหร่ ??
ความจริงแล้ว อาจจะบอกได้ว่าน้ำมันคงจะยังไม่ถึงกับหมดเกลี้ยงไปง่าย ๆ มันยังขุดได้อีกเรื่อย ๆ เกิน 100 ปี ขึ้นกับเทคโนโลยีที่ใช้ และขึ้นกับว่า คุณพร้อมจะ “จ่าย” เท่าไหร่ ซึ่งนอกจากปัญหาในเรื่องการสร้างมลพิษจากการใช้พลังงานเหล่านี้แล้ว “ราคาต้นทุน” ของพลังงานจากน้ำมันนี้นับวันก็จะยิ่งสูงขึ้น จนน่าจะเกินความคุ้มทุนในไม่ช้า วันนี้ ทั่วโลกจึงถามหา “พลังงานทดแทน (Alternative Energy)” ถามหา “พลังงานสีเขียว (Green Energy)” เพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustained Development)”

เมื่อถามว่า ณ วันนี้ พลังงานอะไรที่กำลังฮ็อตที่สุด ได้รับความสนใจมากที่สุด คำตอบกลับไม่ใช่พลังงานแสงอาทิตย์อย่างที่เราเคยรู้กัน แต่เป็น... “พลังงานลม”

ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั๊ยครับ ??


พลังงานลม ที่จริงก็คือส่วนหนึ่งของพลังงานแสงอาทิตย์นั่นเอง

พลังงานลมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

พลังงานลม เกิดจากการที่พื้นที่ต่าง ๆ บนโลก มีความสามารถการดูดกลืนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ไม่เท่ากัน บริเวณที่มีอุณหภมิสูงกว่า อากาศจะขยายตัว ทำให้เบากว่า และลอยขึ้นไปข้างบน จากนั้นอากาศในบริเวณที่เย็นกว่า ซึ่งหนาแน่นกว่า หนักกว่า จะเข้ามาแทนที่ และเกิดเป็นลม ซึ่งด้วยหลักการนี้ เราจึงนำไปประยุกต์ใช้ประดิษฐ์บอลลูน ด้วยการทำให้อากาศข้างในลูกบอลลูนมีความร้อนด้วยไฟจากตะเกียงก๊าซ บอลลูนจะลอยสูงขึ้นเมื่อเราจุดไฟให้อากาศร้อน และจะตกลงเมื่อเราปิดตะเกียง




อนาคตที่สดใสของพลังงานลม

ถ้าเราพูดถึงพลังงานลม เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ต้องบอกว่าดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกล เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ได้พลังงานน้อยมากไม่คุ้มในการที่จะลงทุน แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานของโลก ต่างเริ่มหันมาลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากลมกันอย่างมากมาย

บริษัท General Electric เอง ได้ลงทุนเข้าไปซื้อกิจการด้านพลังงานลมจากบริษัท ENRON เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นมูลค่าของธุรกิจพลังงานลมมีเพียง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก ซึ่งนับว่าน้อยมากไม่มีใครสนใจ แต่ในเวลาต่อมาทุกคนจึงได้รู้ว่า General Electric กลายเป็นผู้ลงทุนที่มีสายตาแหลมคมที่สุด เพราะ 5 ปีมานี้ ธุรกิจพลังงานลมทั่วโลก เติบโตสูงขึ้นถึง 4 เท่า เปิดตัวเป็นคู่แข่งของพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน) อย่างจริงจัง และส่วนหนึ่งจากเทคโนโลยีของ GE นี่เองที่ทำให้กังหันพลังงานลมวันนี้ มีขนาดใบพัดที่ใหญ่ขึ้น แต่เบาลงและติดตั้งเสาที่สูงขึ้นจากเดิมเพียงแค่ไม่เกิน 25 เมตร เป็นถึง 40-50 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่จะรับพลังงานจากลมได้แรงขึ้น ทำให้กังหันลมมีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนก็ถูกลง ซึ่งถือว่าถูกกว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ 8-10 เท่า



ในกลุ่มประเทศยุโรป ต่างก็มีความตื่นตัวในเรื่องของพลังงานลมนี้อย่างมาก ปัจจุบัน เยอรมันสามารถติดตั้งกังหันไฟฟ้าจากพลังงานลมมากที่สุดในโลก และติดตั้งไปแล้วถึง 12,835 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นสเปน และเดนมาร์ก ที่ติดตั้งไปแล้วถึง 5,000 และ 3,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น ขณะนี้ยุโรปสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมถึง 24,904 เมกะวัตต์ และคาดว่าทั้งเดนมาร์ก และเสปน น่าจะมีไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ถึง 20% ของพลังงานทั้งหมดในประเทศภายในปี 2020 ส่วนในสหรัฐอเมริกามีการยกเว้นภาษีให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ได้รับการยกเว้นภาษีถึง 1.8 % ในทุก ๆ 1 กิโลวัตต์ที่ผลิตได้ และตั้งเป้าว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ถึง 6% ของพลังงานทั้งหมดในประเทศ ในปี 2020 เช่นกัน






สำหรับในเอเชีย ประเทศที่มีการลงทุนพัฒนาด้านพลังงานลมก่อนใครเพื่อนได้แก่ประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ถึง 1,500 เมกะวัตต์ ในขณะที่จีนก็เริ่มไหวตัว และผลิตได้ 468 เมกะวัตต์ในปี 2002 ซึ่งจีนตั้งเป้าที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมให้ได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2020 เลยทีเดียว





พลังงานลมในประเทศไทย

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อนจากก๊าซธรรมชาติ ถึง 2 ใน 3 หรือกว่า 12,000 เมกะวัตต์ เป็นไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 2,800 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น เป็นพลังงานในรูปอื่น ๆ เช่น Biogas และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานทั้งในรูปแบบของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมสูงถึง 50 ล้านตันต่อปี ซึ่งบ้านเราก็มีการทดลองใช้พลังงานลมเช่นกันที่สถานีทดลองไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังงานลม จ. ภูเก็ต ด้วยกำลังการผลิตเพียง 200 กิโลวัตต์



จากข้อมูลเก่าที่ว่าความเร็วลมในบ้านเราเฉลี่ยเพียงแค่ 2-3 เมตรต่อวินาที ซึ่งนับว่าน้อยมาก และไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทีมวิจัยด้านพลังงานลมของไทย ได้มีการตรวจวัดพลังงานลมทั่วประเทศ หรือที่เรียกว่าเป็นการทำ Wind map ใหม่อีกครั้ง โดยวัดที่ความสูง 50 เมตร ตามเทคโนโลยีที่กังหันลมสมัยใหม่ทำได้ และพบว่า บริเวณทางใต้ แถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ มีความเร็วลมเฉลี่ยสูงถึง 6.4 เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับในประเทศยุโรป และอินเดียได้เช่นกัน



เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ลงนามอนุมัติโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 500 กิโลวัตต์ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยงบประมาณสูงถึง 195 ล้านบาท เท่ากับว่าเราลงทุนถึง 9,750 ดอลล่าร์สหรัฐต่อกำลังไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เงินลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เพียง 1,000 ดอลล่าร์ต่อกิโลวัตต์เท่านั้น

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่บ้านเรายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของการนำพลังงานลมมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในขณะที่ประเทศยุโรป อเมริกา และแม้กระทั่งจีน กับอินเดีย ได้กระโจนเข้ามาเล่นในเรื่องนี้กันแล้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้ง ๆ ทีเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานลม และกังหันลม เป็นระบบที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และเราน่าจะสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องง้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เหมือนอย่างเช่นอินเดีย และจีนก็เป็นผู้ผลิตกังหันลมด้วยตัวเอง



ในขณะที่ระบบของพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงราคาสูงอยู่ พลังงานลมดูจะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ที่น่าจะทำให้เป็นจริงในเชิงธุรกิจได้มากที่สุดในตอนนี้ และยังน่าจะช่วยให้เราสามารถพึ่งตนเอง ลดการนำเข้าพลังงานให้น้อยได้อีกด้วย











 

Create Date : 15 เมษายน 2548    
Last Update : 15 เมษายน 2548 4:34:20 น.
Counter : 575 Pageviews.  

1  2  

หลายมิติ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




คนเราบางคน เป็นคนหลายคน ได้ในคน ๆ เดียว
คนเราหลายคน กลายเป็นคน ๆ เดียวกันได้กับคนอีกหลายคน
คนเราบางคน เป็นเหมือนคนหลายคน ที่ไม่เหมือนคนอีกหลายคน
Friends' blogs
[Add หลายมิติ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.