Ieri, oggi, e domani, c'e sempre e solo l'inter

Vitamin B12

วิทามินบี 12 (Cyanocobalamine) มีหน้าที่ช่วยให้เซลประสาทและเซลเม็ดเลือดแดงมีความแข็งแรง และยังใช้ในการสร้าง DNA อีกด้วย

ในอาหาร วิทามินบี 12 จะจับอยู่กับส่วนของโปรทีน ดังนั้น อาหารที่มีโปรทีนมาก ก็จะมีวิทามินนี้อยู่มาก เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม

ในร่างกาย เราสามารถเก็บวิทามินนี้ได้เป็นปี โอกาสที่จะเกิดการขาดค่อนข้างน้อย กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการขาดคือ ผู้ที่กินมังสวิรัติ เพราะในผักจะไม่ค่อยพบวิทามินนี้
นอกจากนี้ ในผู้ที่มีอาการบางอย่าง เช่น ไม่สามารถดูดซึมวิทามินบี 12 (Pernicious anemia) ก็อาจเกิดการขาดวิทามินได้เช่นกัน

อาการที่รักษาด้วยวิทามินบี 12 ได้
1. ภาวะขาดวิทามินบี 12 อาจเกิดความผิดปกติทางด้านระบบประสาทและด้านจิตใจหลายๆอย่าง เช่น สั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความดันลด มองเห็นไม่ชัด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
2. โลหิตจางที่เกิดจากการขาดวิทามินบี 12 (Megaloblastic anemia) เซลเม็ดเลือดแดงจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีนิวเคลียสที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ปล. Megaloblastic anemia อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ด้วย เช่น การขาด folate และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ
3. Pernicious anemia มักเกิดจากการขาด Intrinsic factor ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้เกิดการดูดซึมวิทามินบี 12 เข้าสู่ร่างกาย ทำให้วิทามินบี 12 ไม่สามารถถูกนำไปใช้ได้

ปริมารที่ควรได้รับต่อวัน
ประมาณ 2-3 ไมโครกรัมต่อวัน
ในผู้สูงอายุ จะมีความสามารถในการดูดซึมวิทามินบี 12 ลดลง อาจให้ได้ถึงวันละ 25-100 ไมโครกรัม
ในผู้ที่ขาดวิทามิน อาจให้ได้ถึง 1-10 มิลลิกรัม

ผลข้างเคียง
ในคนที่แพ้ cobalamine หรือ cobalt อาจเกิดอาการแพ้ได้, ในผู้ที่ทำการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดแข็งตัวได้, เส้นเลือดอุดตัน, หัวใจเต้นเร็ว, Hypothyroid




 

Create Date : 07 ธันวาคม 2548   
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 6:52:38 น.   
Counter : 5123 Pageviews.  

Vitamin B6

วิทามินบี 6 (Pyridoxine) ใช้ในการสร้างสารสื่อประสาท (Serotonin และ Norepinephrine) และในการสร้างเยื่อหุ้มเส้นประสาท

การขาดวิทามินบี 6 ในผู้ใหญ่ จะส่งผลถึงระบบประสาทส่วนปลาย, ผิวหนัง, ระบบการสร้างเม็ดเลือดแดง ส่วนในเด็ก อาจส่งผลถึงระบบประสาทส่วนกลางด้วย

การขาดวิทามินนี้ อาจเกิดในผู้ที่มีภาวะ uremia (เช่น ไตวาย), ตับแข็ง, Hyperthyroid, ระบบดูดซึมอาหารบกพร่อง, โรคหัวใจบวมคั่งน้ำ (CHF)

แหล่งอาหารที่มีวิทามินบี 6 มาก ได้แก่ เมล็ดพืช ผัก ถั่ว มะเขือเทศ นม เนย ไข่ ปลา ตับ เนื้อ

อาการที่วิทามินบี 6 ช่วยรักษาได้
1. โลหิตจางชนิด hereditary sideroblastic anemia
2. ใช้ลดอาการข้างเคียงเมื่อใช้ยา Cycloserine (Seromycin) เพราะยานี้จะทำให้เกิดโลหิตจางและปลายประสาทอักเสบได้ (ตัวยามีฤทธิ์ต้านวิทามินบี 6)
3. ปลายประสาทอักเสบจากการขาดวิทามินบี 6
ซึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือการได้รับยาบางชนิด (เช่น Isoniazid/INH, Penicillamine)
4. การชักที่เกิดจากการขาดวิทามินบี 6 ในเด็กแรกเกิด
ซึ่งมักเกิดจากการที่แม่เด็กได้รับวิทามินบี 6 มากเกินไปขณะตั้งครรภ์ ลูกที่เกิดมาจะมีอาการชักที่เกิดจากความต้องการวิทามินบี 6 ในระดับสูงได้

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
ประมาณ 1.5-2 มิลลิกรัม
ในผู้ที่ต้องการรักษาอาการต่างๆข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
ในผู้ที่ตั้งครรภ์ ไม่ควรได้รับเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน

ผลข้างเคียงของวิทามินบี 6
อาการแพ้ทั่วไป (เช่น เกิดสิว ผื่นตามผิวหนัง แพ้แสง), เอนไซม์ตับสูงขึ้น, เพิ่มความเสี่ยงต่อลำไส้อักเสบ, เส้นประสาทเสื่อม โดยเฉพาะนิ้วมือ นิ้วเท้า ซึ่งมักเกิดจากการกินวิทามินบี 6 ในขนาดสูงกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อวัน นานเกิน 1 เดือน (อาการจะหายไปหลังจากหยุดกิน)
ปล. ในคนที่แพ้วิทามินบี 6 อาจเกิดอาการได้แม้จะได้รับวิทามินในระดับน้อยๆ




 

Create Date : 07 ธันวาคม 2548   
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 6:56:28 น.   
Counter : 2876 Pageviews.  

Vitamin B2

Vitamin B2 (Riboflavine) มีบทบาทสำคัญในระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย, การเจริญเติบโตของเซลและการสร้างพลังงานของร่างกาย

เราสามารถพบ vitamin b2 ได้ในเนื้อเยื่อพืชและสัตว์แทบทุกชนิด แหล่งอาหารที่มีวิทามินนี้มากคือ นม ไข่ เมล็ดพืช เนื้อ ตับและผัก
ดังนั้น ในคนปกติ หากสามารถกินอาหารได้ ไม่ว่าจะกินแต่ผักหรือจะกินแต่เนื้อ ก็ไม่น่าจะเกิดการขาดวิทามินนี้แต่อย่างใด (โปรดสังเกตุว่า ในยาเม็ดวิทามินบีที่กินกัน จะเป็นวิทามินบี 1+6+12 แต่จะไม่มี บี2 อยู่ด้วย)

อาการขาดวิทามินบี2 (Ariboflavinosis) ที่พบบ่อยคือ การเกิดแผลที่มุมปาก (บางคนเรียกปากนกกระจอก/cheilosis) อาการอื่นๆ เช่น อ่อนแรง เจ็บคอ คอบวม ลิ้นแห้ง
โดยมากแล้ว อาการดังกล่าว จะเกิดเมื่อได้รับปริมาณ วิทามินบี 2 น้อยกว่า 0.5-0.6 มิลลิกรัมต่อวัน

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
ประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อวัน
ในคนที่มีอาการขาดวิทามิน อาจกินได้ถึง 50-500 มิลลิกรัม

ผลข้างเคียงของวิทามินบี2
โดยปกติ ร่างกายเราจะมีขีดจำกัดในการดูดซึมวิทามินบี2 ถึงแม้ว่าเรากินเข้าไปมาก ก็ไม่ค่อยจะมีรายงานที่จะเกิดพิษของมัน ซึ่งอาจมีอาการคัน ซึม ความดันโลหิตลดลง และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆคือ ปัสสาวะมีสีเหลือง

สรุปแล้ว การกินวิทามินบี2 ในรูปแบบยาหรืออาหารเสริม ไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าไรนัก ในคนที่สามารถกินอาหารได้ และถึงแม้จะกินเข้าไปมากๆ ก็จะถูกขับถ่ายออกไปจากร่างกายอยู่ดี




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2548   
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 6:56:15 น.   
Counter : 1650 Pageviews.  

Vitamin B1

วิทามินบี1 (Thiamine) มีหน้าที่หลายอย่างในร่างกาย ที่สำคัญคือ ช่วยในการทำงานของเอนไซม์หลายตัว และการทำงานของระบบประสาท

ในร่างกายเรา จะสะสมวิทามินบี1 ไว้ไม่มาก หากขาดวิทามินนี้เกิน 14 วัน อาจทำให้เกิดอาการขาดวิทามินได้

อาการที่พบบ่อยคือ โรคเหน็บชา (Beriberi) ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบคือ
1. Dry Beriberi มีอาการชาโดยไม่บวม มักชาปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อของแขนและขาไม่มีกำลัง
2. Wet Beriberi นอกจากปลายมือปลายเท้าแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการบวมด้วย มีน้ำคั่งใน ช่องท้องและช่องปอด บางรายจะมีอาการหอบเหนื่อย หัวใจโตและเต้นเร็ว อาจเกิดหัวใจล้มเหลว
3. Cerebral Beriberiเป็นอาการทางสมอง 3 อย่างคือ การเคลื่อนไหวของลูกตาทำได้น้อยหรือไม่ได้เลย เดินเซ และมีความผิดปกติทางจิตใจ

การขาดวิทามินบี1 อาจเกิดจากหลายกรณี เช่น
1. ได้รับไม่เพียงพอเช่น กินอาหารไม่ครบหมู่
2. เกิดจากสภาวะที่ร่างกายมีการใช้วิทามินบี1 มากขึ้นเช่น เป็นไข้ ติดเชื้อ ตั้งครรภ์ เป็นโรคตับขั้นรุนแรง
3. เกิดจากสภาวะที่สูญเสียวิทามินบี1 มากขึ้นเช่น ผู้ที่ฟอกไต หรือกินยาขับปัสสาวะ
4. กินอาหารหรือได้รับสารที่มีฤทธิต้านวิทามินบี1 เช่น ชา กาแฟ วิทามินซี ปลาบางชนิด

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
ผู้ใหญ่ปกติ ประมาณ 1-1.2 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้ที่มีอาการขาดวิทามินบี1 เล็กน้อย อาจกินได้ถึงวันละ 5-30 มิลลิกรัมต่อวัน
ในผู้ที่มีอาการขาดวิทามินบี1 มากๆ อาจใช้ได้ถึง 1000 มิลลิกรัม (ขึ้นกับอาการ)

ผลข้างเคียงของวิทามินบี1
โดยรวมแล้วค่อนข้างปลอดภัยแม้จะใช้ในปริมาณสูง ซึ่งโดยปกติ ปริมาณวิทามินบี1 ที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย จะถูกขับถ่ายออกไปทางปัสสาวะในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง (ดังนั้นการกินวิทามินในระดับสูงๆ อาจไม่เกิดประโยชน์เท่าไรนัก)
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความปลอดภัยถึงการใช้วิทามินในปริมาณสูงเป็นเวลานานๆ อาการที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ ความดันสูง เกิดอาการแพ้

แหล่งของวิทามินบี1
ไข่ ตับ เนื้อต่างๆ ถั่ว ข้าวซ้อมมือ
เนื่องจากวิทามินบี1 สลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน การประกอบอาหารที่ต้องใช้ความร้อนมากๆ เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ปริมาณวิทามินในอาหารสูญเสียไปได้ 25-80%




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2548   
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 6:55:58 น.   
Counter : 2761 Pageviews.  

ยาที่ใช้ในการเลิกบุหรี่

ปัจจัยที่ทำให้คนเสพติดบุหรี่
1. ภาวะเสพติดทางจิตใจ ได้แก่ความเชื่อ ความรู้สึกที่มีต่อการสูบบุหรี่ เช่น เชื่อว่าการสูบบุหรี่สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกระวนกระวายใจ มีชีวิตชีวา
2. ภาวะเสพติดทางสังคมหรือนิสัยความเคยชิน ผู้สูบบุหรี่จะสูบจนติดเป็นนิสัย ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าสูบไปทำไม เช่น สูบบุหรี่ตอนเข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่หลังจากรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ หรือ ดื่มเหล้า
3. ภาวะเสพติดนิโคติน เนื่องจากสารนิโคตินมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองหลายตัวที่สำคัญ ทำให้เกิดการตื่นตัว มีพลัง ลดความรู้สึกซึมเศร้า เกิดความสุข

แต่เมื่อหยุดสูบจะทำให้ปริมาณสารสื่อประสาทเหล่านี้ลดลง มีผลทำให้ความสุขของผู้สูบหายไปและเกิดอาการถอนนิโคตินขึ้นมา ดังนั้นผู้ติดบุหรี่จึงต้องการสูบต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะบรรเทาอาการถอนนิโคติน สมองจึงเกิดอาการเคยชินและเกิดการเสพติดในที่สุด

กลไกการติดนิโคติน

ในระบบประสาทส่วนกลางมีส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเป็นสุข มีชื่อเรียกว่า Brain reward circuit ,สารเสพติดส่วนใหญ่จะมีผลต่อ Brain reward circuit รวมทั้งนิโคติน แต่กลไกอาจแตกต่างกัน สำหรับนิโคตินหลังผ่านเข้าสู่สมองแล้วจะเข้าจับกับตัวรับ คือ Nicotinic receptor ใน Brain reward circuit เป็นผลให้มีการหลั่งสารสื่อประสาท ซึ่งทำให้ผู้เสพเกิดความพึงพอใจ

ในทางตรงกันข้ามเมื่อหยุดสูบบุหรี่จะทำให้ระดับนิโคตินในสมองรวมทั้งที่ส่วนอื่นๆของร่างกายลดลง ทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวเพื่อให้ได้รับนิโคตินเพิ่มมากขึ้น การปรับตัวนี้จะแสดงออกมาในรูปของอาการถอนนิโคตินซึ่งทำให้เกิดอารมณ์เศร้า หงุดหงิดและวิตกกังวล เป็นต้น ทำให้ผู้ที่พยายามหยุดสูบบุหรี่ทนไม่ได้และต้องการบุหรี่มาสูบเพื่อบรรเทาอาการถอนนิโคติน

ดังนั้นความต้องการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องจึงเกิดจากปัจจัยทั้งสองด้านรวมกัน คือ ต้องการนิโคตินเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและเพื่อป้องกันอาการถอนนิโคตินจึงทำให้ผู้เสพเกิดการติดบุหรี่ในที่สุดและทั้งสองปัจจัยนี้ยังเป็นเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมในผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันมานานแล้วหยุดสูบบุหรี่ทันทีจึงเกิดอาการอยากสูบบุหรี่อย่างมาก

ยาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
ยาที่ให้นิโคตินทดแทน (Nicotine-replacement therapy ; NRT)
สำหรับการให้ยานิโคตินทดแทนมีข้อดี คือ
1) สามารถบรรเทาหรือระงับหรือป้องกันอาการถอนนิโคตินทำให้เกิดความทรมานน้อยกว่าการเลิกสูบบุหรี่โดยอาศัยกำลังใจเพียงอย่างเดียว (หักดิบ)
2) การใช้ NRT ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่
3) NRT จะให้นิโคตินในระดับต่ำๆแก่ร่างกายทำให้การเปลี่ยนแปลงระดับนิโคตินในเลือดไม่แปรผันมากเท่ากับการสูบบุหรี่ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงความพอใจหรือความสุขซึ่งจะช่วยลดภาวะเสพติดทางจิตใจ

ข้อบ่งใช้สำหรับนิโคตินทดแทน
ใช้ในการบรรเทาหรือระงับหรือป้องกันอาการถอนนิโคตินที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยลดความทรมานทางกายและสามารถทุ่มเทกำลังใจในการต่อสู้กับการเสพติดทางจิตใจหรือเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่และพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่

ข้อห้ามใช้สำหรับนิโคตินทดแทน
1. ห้ามสูบบุหรี่หรือใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบเพราะอาจทำให้เกิดพิษได้
2. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับ
3. ห้ามใช้ยานิโคตินทดแทนในหญิงมีครรภ์
4. ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดเค้นอกอย่างรุนแรง
5. ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายภายใน 2 สัปดาห์
6. ห้ามใช้หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคตินในผู้ที่มีภาวะ Active temporomandibular joint disease

ในประเทศไทยมียานิโคตินจำหน่าย 2 รูปแบบคือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน และ แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน
1. หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน (Nicotine chewing gum) มีจำหน่าย 2 ขนาด คือ 2 มิลลิกรัม และ 4 มิลลิกรัม ส่วนประกอบที่สำคัญคือ Nicotine polacrilex ซึ่งเป็น Nicotine resin complex เวลาเคี้ยวจะค่อยๆปลดปล่อยนิโคตินออกมา

โดยขนาดยาสำหรับคนที่สูบ 1-24 มวน/วัน ใช้หมากฝรั่งขนาด 2 มก. หากสูบมากกว่านี้ใช้หมากฝรั่งขนาด 4 มก.

วิธีใช้ เคี้ยวหมากฝรั่งอย่างช้าๆจนได้รสเผ็ดซ่า อมหมากฝรั่งไว้ระหว่างกระพุ้งแก้มกับเหงือก รอจนรสหายไปจึงเคี้ยวใหม่สลับกับการอม ทำอย่างนี้ประมาณ 30 นาที ต่อหมากฝรั่ง 1 ชิ้น ใช้ทุก 1-2 ชม. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ จากนั้นใช้ทุก 2-4 ชม.เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นใช้ทุก 4-8 ชม. เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยเปลี่ยนบริเวณที่อมหมากฝรั่งเพื่อลดการระคายเคืองเยื่อบุช่องปาก

หมากฝรั่งขนาด 2 มิลลิกรัม ใช้ไม่เกิน 30 ชิ้นต่อวัน ส่วนขนาด 4 มิลลิกรัม ใช้ไม่เกิน 20 ชิ้นต่อวัน และใช้ไม่เกิน 3 เดือน อย่างไรก็ตามในบางรายอาจต้องใช้ยานานถึง 6 เดือน

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย เช่น บาดเจ็บช่องปากและฟัน, ปวดกราม, ปวดแสบยอดอก,คลื่นไส้,ระคายคอ,เรอ,สะอึก

2. แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน (Nicotine patch) มีจำหน่าย 3 ขนาด คือขนาด 30, 20 และ 10 ตารางเซนติเมตร มีปริมาณ nicotine 52.5, 35 และ 17.5 มก. ตามลำดับ

หากสูบน้อยกว่า 20มวนต่อวัน ใช้แผ่นปิดผิวหนัง ขนาด 20 cm2 1 ชิ้น เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นใช้ขนาด 10 cm2 1 ชิ้น เป็นเวลา 4 สัปดาห์
หากสูบมากกว่า 20มวนต่อวัน ใช้แผ่นปิดผิวหนังขนาด 30 cm2 1 ชิ้นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นใช้ขนาด 20 cm2 1 ชิ้น เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นใช้ขนาด 10 cm2 1 ชิ้น เป็นเวลา 4 สัปดาห์

วิธีใช้ ปิดแผ่นยาลงบนผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน เช่นตั้งแต่ต้นแขน คอจนถึงสะโพกและควรเปลี่ยนบริเวณที่ปิดแผ่นยาทุกวันโดยควรรอประมาณ 1 สัปดาห์จึงกลับมาปิดซ้ำที่เดิมเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิวหนัง

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย เช่น ผิวหนังระคายเคือง (ผื่นคัน, ผื่นบวมแดงอักเสบ) , นอนไม่หลับและฝันร้าย

Bupropion SR
ยา Bupropion HCl หรือ Amfebutamone มีจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้า Quomem

ยานี้ใช้ในการช่วยเลิกสูบบุหรี่สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในผู้ที่มีประวัติซึมเศร้าและในผู้ที่กลัวน้ำหนักตัวเพิ่มหลังจากเลิกสูบบุหรี่

วิธีใช้ รับประทาน150 มก.วันละ 1 ครั้งในตอนเช้า เป็นเวลา 3 วันจากนั้นให้ในขนาด 150 มก.วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นโดยให้ห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (ขนาดยาสูงสุด 300 มก./วัน) แนะนำผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ในวันที่ 8 ของการใช้ยา

ข้อห้ามใช้ของยา Bupropion SR
1. ห้ามใช้ยาในผู้มีประวัติเป็นโรคลมชัก
2. ห้ามใช้ยาในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น eating disorder เช่น bulimia หรือ anorexia nervosa
3. ห้ามใช้ยาในผู้ที่มีประวัติ brain trauma, brain injury หรือ stroke
4. ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติการใช้ยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitor (MAOI) ภายใน 14 วัน

คำแนะนำการใช้ยา Bupropion SR
1. แนะนำผู้ป่วยให้เลิกสูบบุหรี่ในสัปดาห์ที่สองของการรักษาเนื่องจากต้องรอให้ระดับยา Bupropion สูงขึ้นพอที่จะยับยั้งอาการถอนนิโคตินและอาการหิวบุหรี่ได้
2. รับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน โดยรับประทานยามื้อแรกทันทีหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า ส่วนยามื้อที่สองให้รับประทานห่างจากมื้อแรกอย่างน้อย 8 ชั่วโมงโดยไม่ควรรับประทานหลังเวลา 18.00 น. เนื่องจากอาจทำให้นอนไม่หลับ
3. หากลืมรับประทานยาในมื้อใด ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่าในมื้อถัดไป เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการชักซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ขึ้นกับขนาดยา
4. กลืนยาทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำ ห้ามหักแบ่งหรือบดหรือเคี้ยวเม็ดยา
5. ระวังการเกิดอาการชักในผู้ที่ใช้ยาร่วมกับยา Bupropion ร่วมกับยาหรือสารที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการชัก เช่น antipsychotics, antidepressants, antimalarials, theophylline, systemic steroids, tramadol, quinolones, sedating histamines หรือหยุดการใช้ยากลุ่ม benzodiazepine อย่างกะทันหัน รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับยาลดน้ำตาลในเลือดรวมถึงยาฉีดอินซูลิน ผู้ที่ติดเหล้าหรือกำลังเลิกเหล้า และในผู้ที่เสพติดสารในกลุ่ม opioids

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย เช่น นอนไม่หลับ, ปากแห้ง คอแห้ง, ปวดศีรษะ, (กรณีที่มีผื่นขึ้นหรือมีอาการมือสั่นให้หยุดใช้ยา)

ชาหญ้าดอกขาว
ปัจจุบันมีการสมุนไพรที่มีชื่อว่า “หญ้าดอกขาว” (Vemonia cinerea) มาใช้ในการบำบัดผู้ติดบุหรี่ ซึ่งหญ้าดอกขาวมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น หมอน้อย หญ้าละออง ก้านธูป ถั่วแฮะดิน ฝรั่งโคก เสือสามขา หญ้าสามวัน เป็นต้น

ในต้น ใบ และรากของหญ้าดอกขาวมีสารสำคัญ Potassium nitrate ทำให้ลิ้นชา ช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่
ปัจจุบันมีจำหน่ายจะอยู่ในรูปบรรจุซอง ขนาดซองละ 5 กรัม ใน 1 ซอง ประกอบด้วย หญ้าดอกขาว 3.75 กรัม ดอกเก็กฮวย 0.71 กรัม และใบเตย 0.71 กรัม
จากการศึกษาในผู้ติดบุหรี่พบว่าหลังการรักษา 4 เดือน พบอัตราการเลิกสูบบุหรี่ร้อยละ 69.35 โดยเหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่หลังจากการใช้ชาหญ้าดอกขาว คือ ชาลิ้น กินอาหารไม่อร่อย ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ เมื่อสูบบุหรี่แล้วรู้สึกอยากอาเจียน
ส่วนในผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ให้เหตุผลว่า ดื่มชาหญ้าดอกขาวเหมือนดื่มน้ำธรรมดาไม่มีอาการใดๆ ถึงแม้ว่าการใช้หญ้าดอกขาวเพื่อช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ยังขาดข้อมูลทางคลินิกอีกมาก แต่ก็นับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่เนื่องจากมีราคาถูกและเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย อย่างไรก็ตามต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายหรือไตวายร่วมด้วย

น้ำยาอมอดบุหรี่
น้ำยาอมอดบุหรี่ เป็นน้ำยามีสีฟ้า ซึ่งไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดเป็นเภสัชตำรับของโรงพยาบาลสารสำคัญที่เป็นตัวออกฤทธิ์ คือ Sodium nitrate ใช้อมเฉพาะเวลาที่อยากสูบบุหรี่แล้วบ้วนทิ้ง สามารถใช้ร่วมยาชนิดอื่นได้
สำหรับฤทธิ์ของยาที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ คือ ทำให้รสชาดของบุหรี่เปลี่ยนไป (ผู้ที่ใช้ยาจะบอกว่าสูบบุหรี่ไม่อร่อย) อย่างไรก็ตามยังขาดข้อมูลยืนยันถึงประสิทธิภาพของการใช้ยารวมทั้งข้อมูลทางคลินิกอื่นๆ สำหรับขนาดยา

หลักในการเลือกใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่
หลักในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ระดับการติดนิโคตินในผู้ป่วยแต่ละคน โดยอาจพิจารณาจากความรุนแรงของอาการถอนนิโคตินตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ APA (DSM-IV) หรือแบบประเมินระดับการติดสารนิโคติน (FTND) (นิยมใช้มากกว่า) ประวัติการเลิกสูบบุหรี่ในอดีตทั้งด้านระยะเวลาที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ความเร็วของการกลับมาสูบบุหรี่ใหม่และการใช้ยาเลิกบุหรี่ โรคของผู้ป่วยและยาที่ใช้ร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความพอใจของผู้ป่วยที่จะใช้ยาและยอมรับอาการข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้น ประสิทธิภาพของยานั้นเมื่อใช้ตามลำพังหรือใช้ยาหลายตัวร่วมกันรวมทั้งมีการปรับขนาดยาและระยะเวลาการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ในผู้ที่เคยเลิกสูบบุหรี่โดยการใช้ยาตัวเดียวแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ครั้งใหม่อาจต้องพิจารณาเพิ่มขนาดยาหรือใช้ยาหลายตัวร่วมกัน
สำหรับระยะเวลาในการรักษาโดยการใช้ยาโดยทั่วไปไม่เกิน 6 เดือน อย่างไรก็ตามขึ้นกับความต้องการผู้ป่วยแต่ละรายด้วย เนื่องจากมีผู้ป่วยบางรายที่ยังมีอาการถอนนิโคตินติดต่อเป็นเวลานาน (Prolonged withdrawal symptoms) ก็อาจใช้ยามากกว่า 6 เดือนเพื่อป้องกันการกลับมาสูบบุหรี่ใหม่

สำหรับการประเมินผลการรักษานั้น โดยทั่วไปหากผู้ป่วยยังคงสูบบุหรี่หลังจากใช้ยาไปแล้ว 2 สัปดาห์ ควรมีการประเมินการใช้ยาและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม รวมทั้งประเมินความตั้งใจของผู้ป่วยในการเลิกสูบบุหรี่ใหม่ ถ้าหากผู้ป่วยยังไม่เลิกสูบบุหรี่หลังจากใช้ยามา 1 เดือน แสดงว่าการเลิกสูบบุหรี่ครั้งนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะไม่ประสบผลสำเร็จควรหยุดใช้ยาและทบทวนโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือ

ดัดแปลงจาก :แนวทางการรักษาและให้คำแนะนำผู้ติดบุหรี่ โดย ภญ.ฐิติพร นาคทวน ภญ.รศ.เรวดี ธรรมอุปกรณ์ และ ภก.อ.ดร.ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2548   
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 14:40:37 น.   
Counter : 14430 Pageviews.  

1  2  3  4  

Marquez
Location :
Milano Italy

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




A te che sei il mio grande amore Ed il mio amore grande
A te che hai preso la mia vita E ne hai fatto molto di più
A te che hai dato senso al tempo Senza misurarlo
A te che sei il mio amore grande Ed il mio grande amore

[Add Marquez's blog to your web]