Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลของเกษตรกรไทย



พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลของเกษตรกรไทย


โดย ... สุกัญญา พัวพันธ์ E-mail Agritech71@doae.go.th

ที่มา: //info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05024010552&srcday=&search=no



งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "งานแรกนาขวัญ" จัดขึ้นเป็นงานเฉพาะ เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่กระบวนการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศไทย มุ่งหมายบำรุงขวัญให้กำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ เมื่อย่างเข้าสู่ต้นฤดูกาลเพาะปลูกทุกปี นับตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธี รวมกันคือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา งานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงเป็นพระราชพิธีที่สมบูรณ์พร้อม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งช่วงเวลาเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่นๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น สำหรับในปีนี้งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดจัดขึ้น ในวันที่ 10 และ11 พฤษภาคม 2552

การจัดงานพระราชพิธีฯ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีฯ เป็นวันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีฯ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีฯ ตลอดมา

ในแต่ละปีได้มีการกำหนดไว้ว่าผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา จะต้องเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น นอกจากว่าปลัดกระทรวงติดราชการสำคัญยิ่งอื่นๆ หรือสุขภาพไม่ดี ท่านจึงจะขอพระบรมราชานุญาตมอบหมายให้ผู้อี่นที่เหมาะสมทำหน้าที่แทน สำหรับในปี 2552 นี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ คุณจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นปีที่สอง ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน ซึ่งจะคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการสาวโสด ของกรมต่างๆ ในสังกัด สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีก็ดูที่ความเหมาะสมต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือโสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการคืออายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกันในระหว่างคู่หาบเงินด้วยกัน สำหรับเทพีคู่หาบทองเลื่อนจากผู้ที่เคยทำหน้าที่คู่หาบเงินเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ นางสาวสุภกัญญา กาญจนะคูหะ เศรษฐกร ระดับชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนางสาวรำพึง ปราบหงส์ เจ้าพนักงานพัสดุ ระดับชำนาญงาน กรมชลประทาน ส่วนผู้ทำหน้าที่เทพีคู่หาบเงินในปีนี้ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง ได้แก่ นางสาวณุทนาถ โคตรพรหม นักวิทยาศาสตร์ ระดับปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุนีลา รู้สุกิจกุล เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี ระดับชำนาญงาน สำนักบริหารกองทุน

สำหรับพระโคปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ ตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคใส ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเทิดและพระโคทูน

พันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธีฯ ซึ่งใครๆ ก็สงสัยว่าทันทีที่พระราชพิธีฯ สิ้นสุดลง ผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น ได้มาจากที่ใด ที่มาของพันธุ์ข้าวเหล่านี้ นับตั้งแต่ ปี 2504 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2552 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีฯ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,920 กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 7 พันธุ์ (พันธุ์สุพรรณบุรี 1, ปทุมธานี 80 (กข 31), ขาวดอกมะลิ 105, ปทุมธานี 1, เจ้าพัทลุง, ชัยนาท 80 (กข 29) และพันธุ์ (กข 6) ข้าวไร่ 2 พันธุ์ (พันธุ์ซิวแม่จัน และพันธุ์ดอกพะยอม) ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพระราชพิธีฯ และจัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่างๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาล ปี 2552 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป

การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ แต่ละปีนั้นมีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุม เพื่อให้พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือภายหลังจากการไถหว่าน ซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้ว จะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

และสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในงานพระราชพิธีฯ คือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก และยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

สาขาอาชีพทำนา นายดิเรก พวงภู่ เลขที่ 40 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปรือ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

สาขาอาชีพทำสวน นายสุนทร สมาธิมงคล เลขที่ 5 หมู่ที่ 1 ตำบลมงคลธรรมนิมิตร อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง

สาขาอาชีพทำไร่ นายสมพงษ์ วรรณวินัย เลขที่ 75 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ นายเชาวรัตน์ อ่ำโพธิ์ เลขที่ 301 หมู่ที่ 1 ตำบลลำสมพุง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด นายสุพงษ์ วรวงษ์ เลขที่ 101 หมู่ที่ 12 ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น

สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย นายจิตติ อินทรเจริญ เลขที่ 37/151 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

สาขาอาชีพปลูกสวนป่า นายทวน บุญส่งแท้ เลขที่ 124 หมู่ที่ 5 ตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ นายอธิสรรค์ พุ่มชูศรี เลขที่ 61 หมู่ที่ 11 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

สาขาบัญชีฟาร์ม นางสาวประทุม สุริยา เลขที่ 236 หมู่ที่ 2 ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นายทำนนท์ แซ่ลี้ เลขที่ 241/1 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม นางวาสนา สุขพิงค์ เลขที่ 67 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองปลิง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม นายไม ไกรสุทธิ์ เลขที่ 6 หมู่ที่ 2 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร เด็กหญิงอัญชนา แพงศรี เลขที่ 184 หมู่ที่ 3 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี

ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร นายดง บุราณเดช เลขที่ 46 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเกษตรกรทำนาท้ายตลาด ตำบลท้ายตลาด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

กลุ่มเกษตรกรทำสวน กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

กลุ่มเกษตรกรทำไร่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่

กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

กลุ่มเกษตรกรทำประมง กลุ่มเกษตรกรทำประมงบ้านอ่าวยาง ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มสตรีเพื่อการส่งเสริมอาชีพบ้านโคกไคร ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา

สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนบ้านกันโจรง ตำบลกระหาด อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่นๆ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลหัวนาคำ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ

สหกรณ์การเกษตรทั่วไป สหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ จำกัด ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

สหกรณ์โคนม สหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง จำกัด ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

สหกรณ์นิคม สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่

สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางควนหมากพัฒนา จำกัด ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

สหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี จำกัด แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

สหกรณ์ร้านค้า ร้านสหกรณ์สิงห์บุรี จำกัด ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ทั้งนี้ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นทั้งหมดจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2552 ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง





Create Date : 11 พฤษภาคม 2552
Last Update : 11 พฤษภาคม 2552 15:13:57 น. 0 comments
Counter : 973 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.