Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 
35 ซีอีโอแนะทางออกประเทศ ดูแลค่าบาท-มุ่งสร้างคนฟื้นศก.ระยะยาว

35 ซีอีโอแนะทางออกประเทศ ดูแลค่าบาท-มุ่งสร้างคนฟื้นศก.ระยะยาว



ระดมสมองผู้นำทางความคิด-ซีอีโอแนะทางออกประเทศไทย "ดร. โกร่ง-ดร.ศุภชัย" ฟันธงเศรษฐกิจโลก-สหรัฐฟื้นช้า ระวังติดกับดักกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะงัดกฎใหม่ "ต้านวัฏจักร" ผนึกนโยบายการรวมตัวของเอเชีย ขจัดคอขวดทุกด้าน อย่าส่งสัญญาณเศรษฐกิจสับสน นายกรัฐมนตรีต้องเป็นมือประสาน แนะมองยาวๆ สร้างคนคุณภาพ


น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้นำทางความคิดและผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ 35 คน ถึงทางออกประเทศไทยภายใต้วิกฤตของประเทศในขณะนี้ โดยรวบรวมข้อคิดดังกล่าวทำเป็นหนังสือเพื่อนำเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในงานสัมมนาของ น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 4 มิถุนายน 2552 และแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในวันดังกล่าว ทั้งนี้ได้นำเสนอแนวคิดบางส่วนดังต่อไปนี้

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังกล่าวถึงทางออกของไทยในวิกฤตเศรษฐกิจโลกว่า
1.เศรษฐกิจของอเมริกาและเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นช้า คาดว่าต้องใช้เวลา 6-7 ปี เป็นขาลงแล้วจึงค่อยๆ ผงกหัวขึ้น ถ้าเราประมาทว่าจะฟื้นเร็วก็อาจจะเป็นการคาดการณ์ที่ผิด และวางนโยบายการวางแผนจะผิดไปด้วย

2.อุปสรรคของการฟื้นตัวเศรษฐกิจคือปัญหาเสถียรภาพของสังคม ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล รวมไปถึงปัญหาความมั่นคงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาความเชื่อถือและความเชื่อมั่นในระบบต่างๆ

3.การดำเนินนโยบายมหภาคต้องคิดให้รอบคอบ รอบด้าน และคิดในระยะยาวด้วย อย่าส่งสัญญาณเศรษฐกิจที่สับสน เป็นต้นว่านโยบายงบประมาณปี 2552 มีเพิ่มงบประมาณรายจ่ายปลายปีกว่าแสนล้านบาท แต่ปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีและตัดงบประมาณรายจ่ายลง เป็นต้น เหมือนกับจะเหยียบคันเร่งรถยนต์ไปพร้อมๆ กับเหยียบเบรก

4.การประสานนโยบายทางด้านมหภาค ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการส่งออก-นำเข้า นโยบายทางด้านรายได้ ฯลฯ รวมทั้งการประสานกับองค์กรภาคเอกชน ยังดูสับสน ไม่เป็นเอกภาพ เป็นภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องเป็นผู้ประสาน

5.ข้าราชการและหน่วยราชการเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดของการผลักดันนโยบายให้ดำเนินไปได้ ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงเป็นอุปสรรคต่อขวัญและกำลังใจข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง

6.ในขณะที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศยังอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ ภาวะการเมืองในประเทศก็เป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ปัญหาการบริหารเศรษฐกิจยังเป็นอย่างนี้ ทางที่ดีการวางแผนทางเศรษฐกิจและการวางนโยบายทางเศรษฐกิจยังไม่ควรหวังผลเลิศจนเกินไป มิฉะนั้นอาจจะพลาดพลั้งกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตได้

งัดนโยบายต้านวัฏจักร

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด กล่าวถึงทางออกของวิกฤตโลกครั้งนี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่ายให้มากขึ้นอาจจะนำไปสู่การวางนโยบายที่ผิดพลาดได้ ทั้งนี้ได้เสนอแนะว่า การดำเนินนโยบายของไทยคงจะไม่สามารถไปต้านกระแสล่มสลายของโลกได้ด้วยตนเอง เพียงผู้เดียว นโยบาย "ต้านวัฏจักร" (countercyclical) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องนำมาปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ในกระบวนการนี้ก็ต้องยึดหลักการใหญ่ๆ เช่น 1.นโยบายการรวมตัวในเอเชียมีความสำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ ทั้งด้านการค้า ความร่วมมือทางการเงิน ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้านตลาดเงินและหนี้สินระยะยาว ความร่วมมือในด้านสินค้าสาธารณะ อาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ต้องมีบทบาทนำอย่างชัดเจน และไทยอาจจะเป็นผู้ช่วยชี้นำแนวทางการรวมตัวเช่นนี้ในเอเชีย 2.นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลดีที่สุดคือ การกำจัดคอขวดและข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเรื่องอัตราผลผลิต การลงทุนในการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง การนำระบบ E-government มาใช้ การพัฒนาเทคโนโลยีระดับหมู่บ้านและชนบท (การใช้ photo voltaic cells ในการชลประทานเพื่อการเกษตร) เป็นต้น

อย่าเดินชนกำแพงเดิมๆ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วย ผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มองว่ากลไกขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตในอดีตที่ผ่านมาคือการพึ่งพาการส่งออก ไม่น่าจะช่วยให้เราเติบโตต่อไปในอนาคตได้มากนัก ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองหารูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตสำคัญๆ เท่าที่ควร

สิ่งหนึ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกก็คือ มาตรการของหลายต่อหลายประเทศมีลักษณะ "จะใช้มาตรการกระตุ้นชั่วคราวในระยะสั้น กลั้นใจรอซักนิด หวังว่าเดี๋ยวความต้องการสินค้าส่งออกจะฟื้นอีกครั้ง แล้วทุกอย่างจะกลับมาดีเอง" มีคำถามว่าถ้าการ ส่งออกไม่ฟื้นอย่างที่หวังเราจะทำอย่างไร

สำหรับรัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญต่อนโยบายที่เน้นการสร้างเสริมประสิทธิภาพมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพของประเทศจะดีได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ เช่น ระดับการแข่งขันที่สูง อัตราภาษีที่ต่ำ และคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ดี และเสนอว่า อย่าแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องมองระยะยาวด้วย โดยมองว่าการปฏิรูปทางการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากนัก เพียงแต่เพิ่มคุณภาพของการศึกษา

ร่วมมือ-สร้าง "คนคุณภาพ"

นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า ภาคธุรกิจจะดำเนินการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ได้ผลดีนั้น ไม่สามารถทำให้ดีได้โดยลำพังแต่เพียง ฝ่ายเดียว หากแต่ยังต้องการการสนับสนุนเกื้อกูลจากภาครัฐ ด้วยบทบาทหน้าที่ของภาครัฐนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ออกกฎหมาย ข้อบังคับ หลักวิธีการปฏิบัติ กรอบการดำเนินงานต่างๆ ออกมา เพื่อให้แน่ใจได้ว่า การดำเนินการต่างๆ นั้นเป็นไปโดยยุติธรรมต่อทุกฝ่าย มีการพัฒนาประเทศอย่างถูกทาง มีการดำเนินการของทุกฝ่ายไปในทางที่เสริมสร้างซึ่งกันและกัน ไม่ขัดกัน ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมายทิศทางในการพัฒนาประเทศ เป็นผู้ดูแลและแก้ปัญหาให้ภาคเอกชน สนับสนุนในกรณีที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ

นางปนัดดา เจณณวาสิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เห็นว่าปัญหาต่างๆ สามารถหาทางออกได้ ถ้า "ฉลาดคิด" และ "คิดเป็น" ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้คนไทย "คิดเป็น" จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งคุณภาพของผู้สอน วิธีการเรียนการสอน วิธีวัดผล ให้ความสำคัญของการศึกษาแต่ละระดับ และรัฐบาลต้องมีนโยบายการศึกษาชนิดเดินให้ถูกทาง และต้องเลือกรัฐมนตรีที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงมารับผิดชอบ เพราะหากผู้กุมบังเหียนไม่ใช่ "คนคุณภาพ"แล้วจะกำหนดนโยบายการศึกษาให้มีคุณภาพเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง

นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด มองว่า สิ่งที่สำคัญคือเราจะพัฒนาบุคลากรของประเทศไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือควรมีการเชื่อมทักษะทางธุรกิจและเทคโนโลยี เพราะตอนนี้เรายังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้เพียงพอทั้งคุณภาพและปริมาณ ดังจะเห็นได้ชัดในเรื่องการขาดบุคลากรด้านไอที ทั้งนี้ปัญหาสำคัญมาจากความด้อยคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานไอทีและทักษะด้านแรงงานของประเทศ อันเนื่องมาจากการขาดการฝึกอบรมและพัฒนา และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ล้าสมัย

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เห็นว่า แม้รัฐบาลพยายามทำหลายโปรเจ็กต์เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแต่ไม่ได้มองภาพรวมทั้งหมด ที่สำคัญยังไม่ได้แก้ปัญหาค่าเงินบาท ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามธรรมชาติ แม้จะเป็นรูปแบบ manage float แต่ไม่แทรกแซง ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลร้ายแรงอย่างมากกับภาวะความร่ำรวยของคนไทยและประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องเชิญ ธปท.มาพูดคุยและวางแผนร่วมกัน มิฉะนั้นแม้รัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกกี่โปรเจ็กต์ แต่หากนโยบายการเงิน ของไทยยังไม่ถูกแก้ไข ทุกอย่างก็ยังคงสภาพเดิม (ทุกอย่างจึงต้องมองเป็นองค์กร ประสานและเดินไปด้วยกัน ที่สำคัญคือความรอบรู้ของบรรดาผู้กำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเมื่อ "ค่าเงินบาท" อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเสียที )

นายปรีชา ประกอบกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ ประเทศไทย มองว่า ถ้าเราต้องการจะสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศของเรา ต้องสร้างบรรยากาศ (atmosphere) ก่อน ต้องทำให้เห็นว่าเมืองไทยสงบ มีบรรยากาศของการลงทุน ไม่มีปัญหาความรุนแรง มีความมั่นคง พร้อมกับสร้างทัศนคติ (attitude) เพื่อให้คนภายนอกมองเข้ามาว่า ประเทศไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด จากนั้นจะเกิดการกระทำ (action) นั่นคือต่างชาติตัดสินใจมาท่องเที่ยว มาลงทุนในประเทศไทย และรัฐควรให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ รวมถึงสร้างแรงจูงใจด้านภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการอิสระมีความเข้มแข็งมากขึ้น จะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว

นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เห็นว่า SMEs มีความสำคัญอย่างยิ่ง เปรียบดังกระดูกสันหลังของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศก็ว่าได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ ดังนั้นผู้นำสูงสุดของประเทศจึงควรให้ความสนใจในการเป็นคนกลางแก้ไขข้อขัดแย้งและความซ้ำซ้อนของการส่งเสริม SMEs ระหว่างกระทรวงต่างๆ ให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสให้มากที่สุด




ที่มา: //www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0101010652&day=2009-06-01§ionid=0201


Create Date : 01 มิถุนายน 2552
Last Update : 1 มิถุนายน 2552 13:04:10 น. 0 comments
Counter : 650 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.