Group Blog
 
All Blogs
 

Citizen Journalism...วารสารศาสตร์พลเมือง (1)

เชื่อไหมครับว่า...ทุกวันนี้ เครดิตของ“นักข่าว”ทั่วโลกกำลังตกต่ำ !?!

คนเสพสื่อจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของนักข่าวที่ส่งผ่านสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นกลาง และให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

ในสหราชอาณาจักร มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่ง เขาไปสอบถามความคิดเห็นของคนอังกฤษเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้คนอาชีพต่างๆ ปรากฏว่าคนอังกฤษเชื่อถืออาชีพนักข่าวว่าพูดความจริงเพียงแค่ร้อยละ 16 เท่านั้น

น้อยกว่าอาชีพนักการเมืองเสียอีกนะครับ

เพราะงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ระบุว่า คนอังกฤษให้ความเชื่อถือว่านักการเมืองพูดความจริงร้อยละ 20

สำหรับเมืองไทย หากใครที่เล่นอินเตอร์เนท แล้วมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมชมกระดานข่าว การเมืองอย่างโต๊ะราชดำเนินแห่งพันทิปดอทคอม คงจะสังเกตเห็นว่า อาชีพที่ถูกสังคมไซเบอร์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไม่แพ้อาชีพนักการเมือง คืออาชีพนักข่าว

ประเภทว่า หากมีใครตั้งกระทู้เกี่ยวกับนักข่าวขึ้นมา มักจะมีผู้ร่วมแจมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

อะไรทำให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ครับ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนในสังคมเริ่มตระหนักว่า การรายงานข่าวของนักข่าวไม่ได้บอกเล่าความจริงอย่างครบถ้วน รอบด้าน อย่างแท้จริง

ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น จำนวนมากไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ

บางครั้งปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างไม่จงใจ หากแต่เกิดจากอุดมการณ์หลัก (The dominant ideology) ที่ครอบงำนักข่าว อาทิ แนวคิดด้านการพัฒนา เรื่องเพศสภาพ เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นผลให้ข้อมูล ข่าวสารบางอย่างถูกเซ็นเซอร์โดยตัวนักข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวเองอย่างอัตโนมัติ (Self censored)

แต่บางครั้งข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นก็ถูกตัดทอน บิดเบือนโดยเจตนา เนื่องจากสื่อถูกควบคุม ครอบงำ ชี้นำโดยองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่

ลักษณะของการสื่อสารเช่นนี้ หากเอาทฤษฏีทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ไปวิเคราะห์จะเห็นได้ว่า การนำเสนอข่าวของนักข่าวมีลักษณะของ “การสื่อสารทางเดียว” (One-way Communication)

โดยนักข่าวจะเป็นผู้ส่งสาร มีอำนาจในการเลือกส่งหรือไม่ส่งข้อมูลข่าวสารใดๆก็ได้ให้กับผู้รับสาร

ส่วนผู้รับสาร ซึ่งในที่นี้ก็คือคนอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ คนฟังข่าวจากสถานีวิทยุ หรือดูจากโทรทัศน์ล้วนอยู่ในสภาพของการถูกกระทำ (Passive) จำต้องรับข่าวสารอย่างจำนน

หากใครไม่เห็นด้วยต้องการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่นำเสนอในข่าว พวกเขาทำได้อย่างมากคือการเขียนจดหมายหรือโทรศัพท์ไปร้องเรียน ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนกองบรรณาธิการข่าวจะตอบสนองต่อข้อร้องเรียนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วข้อร้องเรียนเหล่านั้นมักจะตกหล่นอยู่ในถังขยะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

นั่นคือ วารสารศาสตร์แบบยุค 1.0

ในอดีต...องค์กรภาคประชาชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมเลือกการถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ด้วยการผลิตสื่อทางเลือกของตนเอง (Alternative Media) ทั้งการทำใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ หนังสือ เวบไซด์ ฯลฯ แต่สำหรับปัจเจกชน คนธรรมดาเดินดินทั่วไปดูเหมือนการทำสื่อทางเลือกเพื่อแสดงจุดยืน สะท้อนความคิดเห็น หรือรายงานข้อเท็จจริงที่ตนประสบจะเป็นเรื่องใหญ่โต ยุ่งยาก เกินความสามารถ

จนกระทั่งทุกวันนี้ นวัตกรรมด้านการสื่อสารได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์การสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของคนเมือง อุปกรณ์คู่กายชิ้นนี้ได้พัฒนาเชื่อมรวม(Convergence) ทั้งโทรศัพท์ กล้องถ่ายภาพ ถ่ายคลิปภาพเคลื่อนไหว วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องอัดเสียง ฯลฯ เข้าด้วยกัน

ดังนั้นการเก็บภาพบันทึกเสียงเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างการเกิดระเบิด เกิดภัยพิบัติ หรือแม้กระทั่งการแอบถ่ายการเรียกเก็บส่วยของข้าราชการ จึงกระทำได้โดยง่าย

ส่วนเทคโนโลยีของโลกอินเตอร์เนทก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน เราสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนทความเร็วสูงได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวในโลกไซเบอร์ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการทำ Blog ส่วนตัว เพื่อเป็นกระบอกเสียง หรือเป็นสื่อของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้ Blog ของตนเองสื่อสารแนวคิด ทัศนคติ มุมมองต่อประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายคนใช้เพื่อตอบโต้ ถ่วงดุลกับข้อมูลข่าวสารของนักข่าวในสื่อกระแสหลักต่างๆ

หลายคนได้ใช้ Blog เป็นกระบอกเสียงบอกเล่าถึงข่าวสารความเป็นไปของชุมชนของตนเอง ทั้งชุมชนในรูปแบบของภูมิศาสตร์ และชุมชนในเชิงจิตนาการมากขึ้น

ผู้คนเหล่านี้ละครับ ที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็น

นักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist)

Mark Glaser นักคิด นักเขียน ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อได้ให้คำจำกัดความของ วาสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) ว่าหมายถึง “...ประชาชนทั่วๆไปที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้เป็นนักข่าวมืออาชีพ แต่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีอันทันสมัย รวมถึงการใช้อินเตอร์เนทในการสร้างสรรค์ โต้แย้ง หรือตรวจสอบข้อมูลของสื่อด้วยตัวเอง...”

Mark ได้ยกตัวอย่างว่า นักข่าวพลเมืองสามารถเขียนรายงานข่าวการประชุมสภาชุมชนลงนำเสนอในBlog หรืออาจจะตรวจสอบข่าว ข้อเขียน บทความในสื่อกระแสหลัก แล้วเขียนวิพากษ์วิจารณ์ชี้จุดด้อย ข้อผิดพลาด การเอียงเอน ไม่เป็นกลางของนักข่าว คอลัมนิสต์ลงในBlog หรืออาจจะถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปวีดีโอเกี่ยวกับชุมชนลงนำเสนอในสื่ออินเตอร์เนท อย่างblog หรือแม้แต่ในเวบวีดีโอออนไลน์อย่าง YouTube

ที่ผ่านมา นักข่าวพลเมืองได้สร้างผลงานเฉียบๆหลายต่อหลายเรื่อง ชนิดนักข่าวมืออาชีพยังต้องขอนำข้อมูล ภาพและข่าวสารไปนำเสนอต่อในสื่อกระแสหลักมาแล้ว

อาทิ ภาพระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนเมื่อหลายปีก่อน มีนักข่าวพลเมืองซึ่งอยู่ในเหตุการณ์สามารถจับภาพความโกลาหล กลุ่มควัน และภัยพิบัตินั้นได้

หรือภาพเหตุการณ์ เรื่องราว การประท้วงของพระสงฆ์ในประเทศพม่า อันนำมาซึ่งเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเข่นฆ่าพระสงฆ์และนักข่าวชาวญี่ปุ่นกลางเมือง ถูกถ่ายและนำเสนอโดยนักข่าวพลเมืองเช่นกัน

แม้กระทั่งเหตุการณ์วินาทีที่ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำของอิรักถูกแขวนคอประหารชีวิตก็ถูกนำเสนอออกมาจากนักข่าวพลเมืองนิรนามก่อนสื่อยักษ์จะนำไปถ่ายทอดเผยแพร่ทั่วโลก

นี่ อาจจะเรียกว่าเป็น วารสารศาสตร์ยุคใหม่...ยุค 2.0

เมื่อผู้เสพสื่อ...ผู้รับสาร ไม่ได้ทำหน้าที่แค่นั่งเฉยๆ คอยรอรับข้อมูล ข่าวสารที่ส่งผ่านมาทางสื่ออย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) เพราะผู้เสพสื่อก็กลายสภาพเป็นผู้กระทำ (Active) หรือผู้ส่งสารไปด้วยในตัว

พูดง่ายๆคือ แทนที่คนอ่านข่าวจะนั่งเฉยๆรับข้อมูลฝ่ายเดียว ก็สามารถเขียนหรือนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร กลับไปยังสื่อหรือส่งสารไปถึงนักข่าวอีกด้านหนึ่งได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันการส่งสารดังกล่าวยังเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารไปยังสาธารณชน (Public) หรือชุมชน (Community) ได้ร่วมรับรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอีกด้วย

ลักษณะเด่นอีกประการของ วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) คือ นักข่าวสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อย่างเป็นอิสระ ปลอดจากการควบคุมของภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

ดังนั้นจะเขียน จะนำเสนออะไรก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเซ็นเซอร์ ถูกยุบรายการ หรือถูกตัดความช่วยเหลือด้านเงินทุน

วารสารศาสตร์พลเมืองนี้ละครับ ที่นับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน เมษายน 2551




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2551 9:31:37 น.
Counter : 663 Pageviews.  

คุยกันเรื่อง Blog

เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้เชิญคุณเก่ง “กติกา สายเสนีย์” แห่ง //www.Keng.com กูรูคนหนึ่งในวงการ Blog ของเมืองไทยมาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ “Blog Marketing” ให้กับนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตร์การตลาด ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย //gs.utcc.ac.th/mc/

เพราะผมต้องการให้นักศึกษาปริญญาโทในหลักสูตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักสื่อสารการตลาด นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ คนจัดEvent ฯลฯ รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของสื่อใหม่อย่าง Blog รวมทั้งสามารถประยุกต์นำ Blog มาใช้ทำการตลาด

การบรรยายพิเศษครั้งนั้น ต้องถือว่าคุณเก่ง...กติกา เป็นคนเก่งสมชื่อครับ เพราะเขาสามารถปูพื้นให้นักศึกษาปริญญาโทหลายคนที่ไม่เคยรู้จัก Blog สามารถเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสื่อใหม่ในการทำการตลาด

ผมจึงขออนุญาตหยิบยกบางตอน บางแง่มุมในการบรรยายของคุณเก่งมาเล่า และขยายความต่อ...

คำว่า Blog จัดว่าเป็นคำย่อของ “Web log” หรือ “Weblog” เริ่มใช้ครั้งแรกในปลายปี 1997

คนคิดชื่อนี้คือ John Barger หมายถึง เว็บไซด์ส่วนตัวที่ผู้สร้างหรือที่นิยมเรียกขานกันว่า “Blogger” จัดทำขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ หรือนำเสนอบทความใหม่ๆ

บางคนอาจจะใช้Blogเป็นพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ข่าวสารบ้านเมือง หรือประเด็นทางสังคม หรือประเด็นจิปาถะอื่นๆ

ไล่ตั้งแต่เรื่องหนักๆอย่างปัญหาโลกร้อน จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม ทฤษฏีสมรู้ร่วมคิด ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องเบาๆสบายๆอย่าง การทำอาหาร การแต่งหน้าทาปาก ฯลฯ

เสน่ห์ของ Blog อีกอย่างคือ เปิดโอกาสให้คนอ่าน ผู้เข้ามาเยี่ยมชมBlog สามารถแสดงความคิดเห็นต่อหัวข้อต่างๆของ Blogger

แฟชั่นการเขียนและอ่าน Blog จัดว่าเป็นเทนด์ใหม่ของโลกก็ว่าได้

จากสถิติของ Technorati ซึ่งเป็น Blog Search Engine รวบรวมข้อมูลของ Blog ทั่วโลกระบุว่าทุกวินาทีจะมี Blog เกิดใหม่ 1.4 Blog

แล้วทำไมคนถึงคลั่ง Blog กันทั่วโลกละครับ

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ Blog มีคุณสมบัติแตกต่างจากเว็บไซด์อื่นๆที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในโลกไซเบอร์ตรงที่มีความเป็นกันเองมากกว่า

กล่าวคือ Blogger สามารถเขียนเรื่องแบบชิลล์ ชิลล์ สบายๆ ไม่เป็นทางการ ไม่เคร่งครัด ซีเรียจเรื่องของภาษาอะไรมากนัก

ส่วนใหญ่ Blog ที่ได้รับความนิยมสูงๆมักจะเป็น Blog เขียนด้วยการใช้ภาษาปาก ภาษาพูด เหมือนการพูดคุยกันแบบผองเพื่อน มากกว่าการเขียนแบบทางการ หรือเป็นงานวิชาการเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคชวนปวดหัว

Blogger ยอดฮิตส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องด้วยประสบการณ์จริงของตนเอง หรือเขียนในเรื่องที่ตัวเองรู้จริง ทำให้คนอ่านได้รับสารประโยชน์ แถมยังได้บันเทิงอารมณ์ เศร้า ซึ้ง ลุ้น ระทึก ร่วมไปกับผู้เขียน

นอกจากเนื้อหาและสไตล์การเขียนของ Blog จะโดนใจคนอ่านแล้ว ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยในยุคนี้ทำให้คนธรรมดาสามารถมี Blog ของตัวเองได้อย่างง่ายดายยิ่ง

จำได้ว่า เมื่อก่อนถ้าใครต้องการมีเว็บไซด์ของตนเอง เขาคนนั้นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ หรือจำเป็นต้องใช้โปรแกรมบางอย่างเพื่อเขียนเว็บไซด์

แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถมี Blog ของตนเองได้ทันที โดยเข้าไปสมัครลงทะเบียนกับผู้ให้บริการพื้นที่ Blog หรือที่เรียกกันว่า “Blog Provider”

เพียงกรอกข้อมูลไม่กี่อย่างก็สามารถมี Blog ของตนเองได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที

ที่สำคัญ บริการดังกล่าวยังฟรีอีกด้วยครับ

แถมตอนนี้ยังมี Blog Provider ให้เลือกมากมาย ทั้งของนอก และของไทย

อย่างของไทย //BlogGang.com กับ //Exteen.com ถือว่าเป็น Blog Provider ระดับพี่เบิ้มของวงการ

เอาละครับ...เมื่อ Blog เป็นนวัตกรรมที่สมัครง่าย สมัครฟรี เขียนแล้วอ่านได้เพลินๆ แถมBlogger บางคนยังใส่รูป ใส่คลิปหนัง ใส่เสียงเพลง ทำเป็นรายการวิทยุ ฯลฯ สารพัดเทคนิคจะสรรสร้าง ทำให้นักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์มองเจ้าสื่อใหม่ตัวนี้ตาเป็นมัน

ในหนังสือ “The New Rules of Marketing and PR” ของ David Meerman Scott เขียนไว้ว่า Blog เป็นสื่อใหม่ที่ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาด นักประชาสัมพันธ์สามารถสื่อสารโดยตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อสารมวลชน อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุเหมือนเช่นในอดีต

พูดง่ายๆคือ ไม่ต้องไปเอาใจนักข่าว เพื่อขอลงข่าวประชาสัมพันธ์
ไม่ต้องไปทุ่มเสียเงินซื้อโฆษณา

เพราะการทำเช่นนั้นอาจเป็นการสื่อสารที่สูญเปล่า เนื่องจากบางทีกลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการอาจได้รับสารไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของสินค้าและบริการก็ได้

David ยุให้เจ้าของกิจการ นักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์ใช้ Blog บอกเล่าเรื่องราวแบบจริงใจ ตรงไปตรงมากับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยลีลาเป็นกันเอง แต่ไม่ใช่ลีลาของการโฆษณาชวนเชื่อจนน่าหมั่นไส้

อย่างไรก็ตาม David ไม่ได้ถึงกับเสนอให้ทิ้งสื่อเก่าไปเสียสิ้นเชิง เขาแนะให้ส่งสารชนิดเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมายไปถึงสื่อเก่าด้วย

เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าประเด็นหรือเรื่องราวที่นักการตลาดต้องการจะพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นเรื่องน่าสนใจ มีความแปลกใหม่ เร้าใจ ดีไม่ดี สื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อาจจะเอาไปนำเสนอต่อให้ฟรีๆก็ได้

แต่การจะทำให้ประเด็นนั้นๆกลายเป็นประเด็น“นาครสนนทนา” หรือที่นักการตลาดมักจะเรียกว่า “Viral Marketing” ได้มากน้อยเพียงใด ต้องขึ้นอยู่กับขดในสมองของนักการตลาดหรือนักประชาสัมพันธ์นั้นๆ

นอกจาก Blog จะสามารถนำมาใช้สื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และสร้างกระแสแบบ Viral Marketing แล้ว ด้วยโปรแกรมของ Blog เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ นักการตลาดหัวเสธบางคนจึงใช้ Blog เป็นเครื่องมือรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภค หรือทดสอบผลิตภัณฑ์

โดยนักการตลาดจะเชื้อเชิญ ยั่วยุ หลอกล่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาเขียนเล่าประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของตน

เมื่อได้ความคิดเห็นมาแล้วพวกเขาสามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเองได้อย่างไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

แถมหลายๆความคิดเห็น หรือหลายๆประสบการณ์ยังเหมือนกับโฆษณาชั้นดีให้กับสินค้าและบริการนั้นๆ เพราะเป็นโฆษณาที่เกิดจากประสบการณ์จริง

นักการตลาดบางคนยังใช้ประโยชน์จากการสื่อสาร 2 ทางเช่นนี้ สร้างชุมชนให้กับสินค้าหรือบริการของตนเองได้อีกด้วย

ครับ...นี่เป็นเพียงอิทธิพลบางส่วนของ Blog ที่ส่งผลสะเทือนให้กับแวดวงการตลาด แต่ที่จริง Blog ยังมีผลสะเทือนถึงแวดวงการเมือง และสังคมอีกหลายอย่าง เอาไว้ค่อยมาคุยกันต่อนะครับ

ว่าแต่...อ่านถึงตรงนี้ คุณสนใจจะมี Blog เองหรือยัง

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน มีนาคม 2551





 

Create Date : 27 มีนาคม 2551    
Last Update : 27 มีนาคม 2551 10:13:47 น.
Counter : 376 Pageviews.  

วาทกรรมประชาธิปไตย (2)

ฉบับที่แล้ว ผมเขียนเล่าว่า วาทกรรม (Discourse) คือ ชุดรูปแบบความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีการสร้างขึ้น สั่งสม และถ่ายทอดจนกลายเป็น “พลังอำนาจ” ประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนมากคิดและเชื่อว่าสิ่งนั้นๆคือ “ความจริง”

ในช่วง 2 ทศวรรษหลังนี้ แนวคิดเกี่ยวกับ “วาทกรรม” ได้รับความนิยมจากแวดวงวิชาการสายสังคมศาสตร์ มีนักวิชาการหลากหลายสาขานำไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์และอรรถาธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมมากมาย ทั้งเรื่องของเพศ ภาษา การพัฒนา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นักวิชาการเหล่านี้ถูกจัดว่าเป็นพวกยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) กล่าวคือ เป็นพวกปฏิเสธความเป็นจริงที่เป็นสากล หรือความจริงที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยพวกเขาพยายามรื้อถอนโครงสร้างความจริงที่ผู้คนในสังคมเชื่อถือออกมา

พูดอีกอย่างคือ...พวกเขาพยายามปอกเปลือก “ความจริง” ในความนึกคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมออกมาตีแผ่ให้เห็นกันจะจะคาตา

สำหรับประเด็นทางการเมือง...แนวคิดเรื่อง“ประชาธิปไตย”ก็เป็นเช่นเดียวกันครับ หากวิเคราะห์วาทกรรมแบบมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) จะเห็นชัดว่า วาทกรรมหลักครอบงำสังคมไทยในปัจจุบันคือ

“วาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

หมายถึง ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตัวแทนไปบริหารประเทศเท่านั้น

แล้ววาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีปัญหาตรงไหนละครับ

ปมสำคัญคือ ตัวแทนที่ได้มาจากการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนอันหลากหลายในสังคมอย่างแท้จริง

อาทิ ไม่มีตัวแทนของชาวเขา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวนา คนยากไร้ คนด้อยโอกาสทางสังคม อันเป็นคนชายขอบ...เป็นกลุ่มคนรากหญ้าส่วนใหญ่ของสังคม

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะไม่ได้บังคับให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเหมือนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

แต่ด้วยวัฒนธรรมการเมืองแบบที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำจำกัดความว่าเป็น “อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์” ทำให้คนดี มีความสามารถแต่ถ้ายากไร้ ขัดสน ก็ไม่สามารถผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ใช้ทั้งอำนาจบารมี รวมทั้งเม็ดเงินมหาศาล

ดังนั้นตัวแทนจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดของสังคมไทยจึงมาจากกลุ่มชนชั้นนำ หรือคนมีชื่อเสียงในสังคม ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจการเมือง นักวิชาการ ดารา นักแสดง เป็นต้น

ใช่ครับ...บรรดานักการเมืองผู้ได้รับการเลือกเข้าสู่สภาหินอ่อนย่อมต้องแคร์ ต้องเอาใจผู้มีอิทธิพลมากบารมีในท้องถิ่น เพราะว่าคนพวกนี้คือหัวคะแนนคนสำคัญ รวมทั้งต้องคอยเอียงหูเชื่อฟังนักธุรกิจเจ้าของเม็ดเงินที่หว่านทุ่มเป็นทุนในการหาเสียง

ระบอบการเมืองเช่นนี้ย่อมไม่มีพื้นที่สำหรับคนชายขอบ คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม การเมืองเช่นนี้ย่อมไม่ตอบสนอง ไม่ได้แก้ปัญหา หรือรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการรุ่นใหม่ ไฟแรงได้วิพากษ์ระบอบ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” อย่างแหลมคม ในบทความเรื่อง “พลังของประชาธิปไตยทางตรง”ว่า...

“...หลักการ “1 คน 1 เสียง” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยมักจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนผู้มี “1 เสียง เท่ากัน”นั้น มีฐานะ ความเชื่อ และอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน นักธุรกิจที่มีเงินมากมักสามารถใช้เงินโน้มน้าวนักการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ให้ออกนโยบายที่ปกป้องผล ประโยชน์ของเขา แม้ว่านักธุรกิจจะมีสิทธิออก 1 เสียงเท่ากันกับคนอื่นเวลาไปลงคะแนนเลือกตั้ง

นอกจากนี้ นักธุรกิจใหญ่บางคนที่ไม่ไว้วางใจนักการเมือง ก็อาจตัดสินใจกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองเสียเอง แทนที่จะคอยชี้นำนักการเมืองอยู่ “หลังฉาก” เพียงอย่างเดียว อิทธิพลอันมหาศาลของนักธุรกิจใหญ่และชนชั้นนำอื่นๆ ที่มีต่อภาคการเมือง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจำนวนมากต้องใช้เวลาทำงานด้านบริหาร หรืองานของพรรคที่ตนสังกัดอยู่ จนอาจไม่มีเวลามาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผู้เลือกเขาเข้าสภา แปลว่ารูปแบบของระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก ที่เรารู้จักในชื่อ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” (representative democracy) นั้น อาจไม่ได้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆเท่ากับผลประโยชน์ของ “กลุ่มอำนาจ” ส่วนน้อยที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง...”


วิกฤติของประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่ได้เกิดขึ้นจำเพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นวิกฤติเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างนักอ้างหนาว่าเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่ประสบกับปัญหานี้ทั้งสิ้น

นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคมจึงนำเสนอวาทกรรมคู่ขนานขึ้นมาคัดแย้งประชาธิปไตยแบบตัวแทน เรียกขานกันว่า

“ประชาธิปไตยทางตรง” (Direct Democracy)

อันถือว่าเป็นการเมืองใหม่

เป็นการเมืองภาคประชาชน


มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของประชาชนในการกำหนดทิศทางบริหารประเทศ ทั้งในเรื่องของการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือกฎหมายต่างๆโดยตรง ไม่ต้องรอผ่านตัวแทนของนักการเมือง หรือหน่วยงานราชการต่างๆ

เป็นการสร้างและขยายพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนรากหญ้า คนยากไร้ คนชายขอบ ให้มีสิทธิ มีเสียงนำเสนอและกำหนดแนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ความต้องการ ข้อเรียกร้องของตนเอง

ประชาธิปไตยทางตรงยังเป็นแนวคิดที่ต้องการให้บทบาทเด่นกับภาคประชาชนในการตรวจ สอบ คัดง้างการทำงานของภาครัฐ และกลุ่มทุน

การชุมนุม เรียกร้อง ประท้วง การเมืองบนท้องถนน เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรง

กล่าวโดยสรุป การเมือง...ในมุมมองของประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น

หากแต่คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นของประชาชนในท้องถิ่น


อย่างไรก็ตาม การปลุกให้ประชาชนซึ่งถูกกดทับอยู่กับวาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทนมานานหลายสิบปีให้มีความกระตือรือร้น ตระหนักถึงพลังและความสามารถของตนเองในการกำหนดทิศทาง บริหารประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

เพราะด้านหนึ่งนอกจากจะต้องสร้างความเข้าใจ รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนแล้ว ยังต้องต่อสู้กับวาทกรรมหลักซึ่งยังครอบงำสังคมไทยอยู่

แน่นอนครับว่า...สื่อมวลชนกระแสหลัก (Mainstream media) ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ส่วนใหญ่มักไม่เห็นถึงความสำคัญของการเมืองภาคประชาชน มองว่าการเมืองในรูปลักษณ์นี้มีแต่จะสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

นักข่าว คอลัมนิสต์ หรือนักสื่อสารมวลชนเกระแสหลักมักจะเรียกร้องให้

“การเมืองนิ่ง”

“สมานฉันท์ทางการเมือง”


มองว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการทางรัฐสภา ประชาชนควรกลับเข้าบ้านไปทำมาหากินและมอบภาระบริหารบ้านเมืองให้กับนักการเมือง

พวกเขามองมองพื้นที่ทางการเมืองว่าเป็นของนักการเมือง...นักเลือกตั้ง มากกว่าเป็นพื้นที่ของประชาชนตาดำๆ

เสียงของภาคประชาชนในสื่อเหล่านี้จึงแผ่วเบา รางเลือนและบิดเบี้ยวยิ่ง

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน กุมภาพันธ์ 2551




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2551 14:31:42 น.
Counter : 456 Pageviews.  

วาทกรรมประชาธิปไตย (1)

ขณะเขียนต้นฉบับ...เมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากประเทศผ่านการยึดอำนาจรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ตอนนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน เห็นจะหนีไม่พ้นป้ายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหญ่น้อย เมื่อเปิดสื่อกระแสหลัก (Mainstream media) ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่มีข่าวเลือกตั้ง

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจัดสรรพื้นที่พิเศษให้กับการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างส่งทีมนักข่าวประกบพรรคการเมือง และนักการเมืองชื่อดัง เพื่อหวังนำเสนอเป็นข่าวทุกต้นชั่วโมง

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง...ปริมาณข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมืองยิ่งท่วมทะลัก โพลสำรวจประชามติสารพัดสำนักแย่งกันเปิดเผยตัวเลขอวดโอ่ความแม่นยำในการพยากรณ์ผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง

แน่นอนครับว่าในวันเลือกตั้ง...สื่อทุกค่ายทุกสำนักต้องนำเสนอข่าวการเลือกตั้งประหนึ่งรายการบันเทิงโชว์ประเภทเรียลลิตี้ ถ่ายทอดสดการนับคะแนนเสียง วิเคราะห์ผลคะแนน แทบจะนาทีต่อนาที

เมื่อพ้นวันเลือกตั้ง...มั่นใจได้เลยว่าสื่อกระแสหลักเหล่านี้คงยังเกาะติดกระแสการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด สูตรคณิตศาสตร์การเมืองบวกตัวเลขจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคจะถูกนำเสนอประหนึ่งเลขเด็ดในวันหวยออก

ปรากฏการณ์ของการให้ความสำคัญกับกระบวนการเลือกตั้ง รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลเช่นนี้ กล่าวได้ว่า เป็นการตอกย้ำ...ผลิตซ้ำชุดความคิดหนึ่งที่เรียกกันว่า

“วาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

แล้วเจ้าคำว่า “วาทกรรม” นี่มันคืออะไรละครับ

วาทกรรม (Discourse) ในที่นี้มีความหมายแตกต่างและกว้างไกลกว่าการตีความถ้อยคำตัวอักษร หรือคำพูดในทางภาษาศาสตร์ (Linguistic)

ในหนังสือ “วาทกรรมการการพัฒนา” รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้ถอดความหมายของวาทกรรมจากแนวคิดของมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ว่าหมายถึง

“...ระบบ และกระบวนการในการสร้าง/ผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง นอกจากนี้วาทกรรมยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอดรับของสังคมในวงกว้าง (valorize) กลายสภาพเป็น...”วาทกรรมหลัก” (dominant discourse)...”

กล่าวอีกนัยหนึ่งวาทกรรมคือ ชุดรูปแบบความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีการสร้างขึ้น สั่งสม และถ่ายทอดจนกลายเป็น “พลังอำนาจ” ชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนมากคิดและเชื่อว่าสิ่งนั้นๆคือ “ความจริง”

ดังนั้น วาทกรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงมีระบบความคิด มีองค์ความรู้ในการอธิบายความอย่างมีเหตุมีผล ทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่เชื่อว่าเรื่องนั้นๆคือ “ความจริง”

มิเชล ฟูโก ได้พิสูจน์แนวคิดเรื่อง “วาทกรรม” ของเขาผ่านการอธิบายเรื่อง “ความบ้า”

ฟูโกบอกว่า ความจริงเกี่ยวกับความบ้าในแต่ละยุคสมัยนั้นไม่เหมือนกัน ในสมัยยุโรปยุคกลาง “ความบ้า” ถูกมองว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เป็นเรื่องน่ากลัว ด้วยเหตุนี้คนบ้าในยุคนั้นจึงถูกกีดกันให้ออกจากสังคมโดยจับใส่เรือลอยออกไปในทะเลกว้าง

ต่อมาเมื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ จิตแพทย์ แพทย์ศาสตร์แตกแขนงเป็นวิชาเฉพาะชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้น วาทกรรมเกี่ยวกับความบ้าเดิมจึงถูกท้าทายและถูกลบล้างในที่สุด ทำให้คนบ้ากลายเป็นปัญหาทางจิตแพทย์ที่สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ แต่ต้องถูกจำกัดบริเวณอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลเพื่อควบคุมและบำบัดให้เป็นคนปกติ

เพราะฉะนั้น ความจริงที่เราเห็นกันอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยน เงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรมเปลี่ยน ความจริงนั้นๆอาจจะปรับเปลี่ยนไปก็ได้

อย่างไรก็ตามวาทกรรมหลักชุดใดจะยืนอยู่คงทนในสังคมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับว่า วาทกรรมชุดนั้นมีการใช้อำนาจ (power) ในการสร้างความรู้ (knowledge) อรรถาธิบายเกี่ยวกับความจริงในเรื่องนั้นๆ ได้มีประสิทธิภาพเพียงใด

นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่ว่าวาทกรรมหลักชุดนั้นมีอำนาจในการกีดกัน ห้ามปรามขัดขวาง ควบคุมวาทกรรมอื่นๆอย่างมีประสิทธิผลเพียงใด

ทีนี้ลองมาดูเรื่อง “วาทกรรมประชาธิปไตย” กันบ้างนะครับ

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย...สังคมไทยถูกครอบงำโดยวาทกรรมหลักว่า

ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตัวแทนไปบริหารสังคม บริหารประเทศเท่านั้น

วาทกรรมหลักนี้ถูกสร้าง และถ่ายทอด ด้วยการใช้อำนาจทั้งขู่และปลอบ...ทั้งตบหัวและลูบหลัง

หรือถ้าใช้ภาษาของนักวิชาการหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) คงต้องบอกว่ารัฐมีการใช้ทั้ง “กลไกความรุนแรง” และ”กลไกอุดมการณ์” ในการสร้าง และตอกย้ำวาทกรรมหลักของสังคม

กลไกความรุนแรงของรัฐในการใช้อำนาจเชิงบังคับ ขู่เข็ญ ลงโทษให้ผู้คนในสังคมกลัวและเชื่อถือในเรื่องของการเลือกตั้ง ทำผ่านในรูปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง องค์กรของรัฐอย่างตำรวจ ศาล คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมและดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ

อาทิ การระบุในกฎหมายให้คนไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ

หรือการออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนไม่กล้าล่วงละเมิด เพราะหากทำผิดเช่นฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือใช้งบหาเสียงเกินกำหนดก็จะมีโทษทั้งจำและปรับ

ส่วนกลไกอุดมการณ์ ซึ่งเป็นการสร้างการยอมรับกับชุดความจริงเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเนียนๆนั้น ทำผ่านสถาบันวัฒนธรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันสื่อสารมวลชน ฯลฯ

เชื่อไหมครับว่า วาทกรรมหลักเกี่ยวกับประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งนั้น ถูกถ่ายทอดลงรากลึกไปจนถึงระดับเด็กอนุบาล เด็กประถม

เพราะเมื่อพูดว่าโรงเรียนนี้มีประชาธิปไตยหมายถึงโรงเรียนนี้มีการเลือกตั้งหัวหน้าห้อง มีการเลือกตั้งประธานนักเรียน กรรมการนักเรียนเท่านั้น

เมื่อถึงวาระการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ เหล่านักเรียนตัวน้อยๆจะถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ไปยืนถือป้าย เดินไปบนท้องถนนรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิใช้เสียง เชิญชวนให้ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง

สำหรับองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งนั้น ถูกทำให้เป็น “ความจริง” ผ่านสื่อต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นใน “คู่มือ คนไทยเลือกตั้งส.ส.” ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ที่แจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศระบุไว้อย่างชัดเจนว่า...

“...การปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ การปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่การที่ประชาชนทั้ง 63 ล้านคน จะมาประชุมพิจารณาสร้างกฎกติกาของประเทศ หรือกำหนดว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไร จะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จะเก็บภาษีเท่าใด ฯลฯ นั้น เป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องมีการเลือกตัวแทนให้ทำหน้าที่แทน

การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการทางการเมืองในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อมโดยผ่านตัวแทนที่ตนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตน...”

สื่อมวลชนกระแสหลักก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ ตอกย้ำวาทกรรมหลักนี้แก่ประชาชนไทย

แล้ววาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทน มันมีปัญหาตรงไหนละ

มีวาทกรรมประชาธิปไตยอื่นๆที่เป็นคู่แย้งสำคัญหรือไม่...อย่างไร ประเด็นนี้ผมขอยกไว้คุยกันต่อตอนหน้านะครับ

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน มกราคม 2551




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2551 11:21:43 น.
Counter : 811 Pageviews.  

นักประท้วงแห่งยุคดิจิตอล

เมื่อตอนที่แล้ว ผมเล่าว่า สื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) ส่วนใหญ่ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มักจะเพิกเฉย หรือเห็นต่างกับการประท้วงของคนยากจน...คนด้อยโอกาสทางสังคม รวมทั้งมีทัศนคติด้านลบต่อการคัดค้านใดๆที่ขัดขวางการพัฒนาเพื่อความทันสมัยตามแนวทางตะวันตก...แบบทุนนิยมเสรีนิยม

ประเด็นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทยนะครับ

หากแต่เป็นปรากฏการณ์ของสื่อสารมวลชนทั่วโลก !

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่คุยนักคุยหนาว่ามีเสรีภาพ มีประชาธิปไตยทุกตารางนิ้ว สื่อที่นั่นก็ถูกครอบงำ ควบคุม ชี้นำ ปั่นหัวโดยองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่

เหมือนกับที่ Noam Chomsky และ Edward Herman สองนักวิชาการสื่อดัง ชาวสหรัฐฯ ปอกเปลือกเปลือยสื่อมวลชนสหรัฐไว้อย่างแสบสันในหนังสือ “Manufacturing Consent: The Political Economy of the Mass Media”

Noam Chomsky ได้สรุปภาพของสื่อมวลชนไว้น่าสนใจว่า เรื่องราว ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจำนวนมาก ไม่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน หรือหากนำเสนอก็ผ่านกระบวนการดัดแปลง ตกแต่ง บิดเบือนจนละเลยสาระสำคัญของข่าวสารนั้นๆ

ทั้งนี้เป็นเพราะ สื่อมิใช่ธุรกิจที่ขายข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนผู้บริโภคสื่ออย่างที่คนทั่วๆไปเข้าใจกัน แต่สื่อในทุกวันนี้เป็นธุรกิจที่ขายสินค้า อันได้แก่ “ผู้บริโภคสื่อ” ให้กับองค์กรธุรกิจในการลงโฆษณาสินค้า

จึงไม่แปลกใจเลยว่า ข่าวสารข้อมูลใด หากกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาครัฐที่ถูกครอบงำโดยเหล่าธุรกิจชาติและธุรกิจข้ามชาติ มักจะถูกเซ็นเซอร์โดยตัวของสื่อเองอย่างอัตโนมัติ (Self censored)

สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้องค์กรภาคประชาชน และนักกิจกรรมทางสังคมหันมาผลิตสื่อของตนเองมากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นสื่อทางเลือก (Alternative Media) ถ่วงดุลข้อมูล ข่าวสารจากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่

ในอดีต สื่อทางเลือกของนักกิจกรรมทางสังคมที่ใช้ประท้วงนโยบายรัฐ เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หรือต่อต้านการประกอบธุรกิจอันเป็นไม่เป็นธรรม มักจะออกมาในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง หนังสือ ใบปลิว โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบแถลงการณ์ หรือนำเสนอในรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมผ่านเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือศิลปะอื่นๆ ในนามของ ศิลปะเพื่อชีวิต

แต่ในยุคดิจิตอล...สื่อใหม่ (New Media) หลากหลายรูปแบบได้ถือกำเนิดขึ้นเนื่องด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี

ส่งผลให้การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำได้อย่างง่ายดาย

อาทิเช่น...สามารถส่งอีเมล์แนบไฟล์ข้อมูลเอกสาร ภาพและเสียงได้ชั่วพริบตา หรือส่งถ้อยความขนาดสั้นๆ (SMS) ผ่านโทรศัพท์มือถือถึงกลุ่มคนนับร้อย นับพันได้เพียงแค่กดปุ่มปลายนิ้ว ฯลฯ

กอปรกับจำนวนผู้ใช้สื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เนทพุ่งทะยานขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ด้วยเงื่อนไขของราคาค่าบริการและคุณภาพของการเข้าถึงสื่ออินเทอร์เนทความเร็วสูงที่ถูก ง่าย และสะดวก สบายกว่าเดิม

นักกิจกรรมทางสังคม...หรือบางคนอาจมองว่าเป็นนักประท้วงทางสังคม ได้เล็งเห็นความ สำคัญของสื่อใหม่ในการใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร เผยแพร่แนวคิด ข้อมูลข่าวสารให้กับสาธารณชน รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการณรงค์ทางสังคมอีกด้วย

ปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดฉากศตวรรษใหม่ของเหล่านักประท้วงยุคดิจิตอลคือการประท้วงต่อต้านการประชุมขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 1999 หรือ พ.ศ. 2542

ครั้งนั้น...นักเคลื่อนไหวทางสังคมได้ใช้สื่ออินเตอร์เนทแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานงาน ระดมผู้คนมาร่วมชุมนุมต่อต้านการประชุม WTO ชนิดมืดฟ้ามัวดิน
พลังของการประท้วงทำให้ตัวแทนประเทศสมาชิกของ WTO จำต้องยุติการประชุม

การแสดงพลังที่ซีแอตเติลกล่าวได้ว่า เป็นก้าวสำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

นับจากนั้นเป็นต้นมา องค์กรภาคประชาชนและนักกิจกรรมทางสังคมของไทยเริ่มหันมาสนใจใช้สื่อใหม่ในการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมกันมากขึ้น

รูปธรรมที่ชัดเจนในการใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือการประท้วงทางสังคมของไทยคือ การขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใช้สื่อใหม่อย่างเวบไซด์ของเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (www.manager.co.th) โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ประสานกับเครือข่ายเคเบิลท้องถิ่น และการแพร่กระจายของแผ่นวีซีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเป็นกระบอกเสียงแสดงจุดยืน เปิดโปงข้อมูลลับ โจมตีรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณก่อกระแสทางสังคม

แล้วเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) รัฐประหารรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักเคลื่อนไหวทางสังคมบางกลุ่มได้ใช้สื่อใหม่อย่างเวบไซด์ และบล็อก (Blog) เป็นเครื่องมือสื่อสารแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร

แม้ว่าคณะรัฐประหารซึ่งต่อมาได้แปลงโฉมเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้นและทำลายเวบไซด์ที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐประหาร

แต่นักเคลื่อนไหวทางสังคมยังพยายามเรียกร้องต่อสู้ แสดงจุดยืนทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ

นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มใช้คลิปภาพวีดีโอตัดต่อ ผสมเสียงเพลง ผนวกเสียงบรรยายแสดงท่าทีทางการเมืองสื่อสารต่อสาธารณะโดยการส่งผ่านเวบแลกเปลี่ยนไฟล์คลิปวีดีโอฮิตระดับโลกอย่าง youtube, metacafe หรือส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งส่งผ่านอีเมล์ ฯลฯ

กลุ่มการเมืองบางพวก โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงแอบอยู่กับขั้วอำนาจเก่า ใช้วิธีเปิดเวบไซด์ใหม่เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง บางส่วนยังใช้วิธีโจมตีผ่านเวบบอร์ดทางการเมืองต่างๆ

นี่ถือว่าเป็นพวกนักประท้วงในโลกดิจิตอลแบบฮาร์ดคอร์

แต่ยังมีนักประท้วงแบบชิวๆ ขำๆอีกประเภทหนึ่ง นิยมก่อม็อบฝูงชนผ่านสื่ออินเตอร์เนท พวกนี้จะใช้เครือข่ายนิวมีเดีย ทั้งอีเมล์ เวบไซด์ SMS ฯลฯ เรียกระดมพลผู้คนจากหลากหลายสถานที่เพื่อทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน แค่แป๊บๆ เสร็จแล้วต่างแยกย้ายหายหน้าปะปนไปตามฝูงชนที่สัญจรไปมา

เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า Flash mob

กิจกรรมของ Flash mob มีตั้งแต่ดีกรีเข้าขั้นป่วนเมือง อย่างนัดหมายกันแต่งตัวเป็นผีดิบ ออกมาเดินเพ่นพ่านกลางถนน หรือนัดหมายกันเต้นรำกันเต็มสถานีรถไฟ หรือนัดหมายกันเอาหมอนมาไล่ตีกันผู้คนเป็นที่สนุกสนานเฮฮา ฯลฯ

แต่บาง Flash mob ก็มีนัยทางการเมืองเข้มข้น เช่น กรณีชาวจีนนัดหมายผ่านสื่อใหม่ออกมาชุมนุมบนท้องถนน แล้วตะโกนแสดงความรักชาติ ต่อต้านญี่ปุ่นที่ปฏิเสธความรับผิดชอบในการก่อเหตุโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หรืออย่าง Flash mob ของไทยที่จัดขึ้นโดยกลุ่มเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นวันสันติภาพโลก

วันนั้น...ใครผ่านไปมาแถวหน้าสยามสแควร์จะเห็นคนกลุ่มหนึ่งสวมผ้าปิดปากแบบหมอรักษาคนไข้ นั่งนิ่งๆอยู่บนบันไดสยาม ไม่มีการตะโกนไฮปาร์คเหมือนการประท้วงอื่นๆ

มีแต่ป้ายผ้าระบุคำว่า “ไร้เสรีภาพ ไร้ประชาธิปไตย ไร้สันติ”

พวกเขานั่งนิ่งๆสักพักก็แยกย้ายกันกลับบ้าน สร้างความมึนงงให้กับยามรักษาความปลอดภัย และผู้คนที่สัญจรไปมา

ครับ...นั่นแหละ คือการประท้วงรูปแบบใหม่ ในโลกดิจิตอล

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน ธันวาคม 2550





 

Create Date : 25 ธันวาคม 2550    
Last Update : 25 ธันวาคม 2550 10:19:27 น.
Counter : 494 Pageviews.  

1  2  3  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.