สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับสู่บล็อคทุกเรื่องครับ

ชาทิกวนอิม - หลงฉา 龙茶

ผมคิดว่าชาทิกวนอิม เป็นชาจีนที่คุ้นหูของชาวไทยอันดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ (อาจจะสูสีกับชามะลิ) ก่อนจะดื่มชาเราต้องมาว่ากันถึงตำนานชาทิกวนอิมซะก่อนครับ เพื่ออรรถรสในการดื่มชาครับ สำหรับตำนานเรื่องเล่าของทิกวนอิมนี้จะมีด้วยกันสองตำนานครับ

ตำนาน แรกเล่ากันว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (แต่ยังจำกันได้อยู่) ณ เมืองอานซี มณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) มีศาลเจ้าร้างอยู่หลังหนึ่ง และภายในศาลเจ้า มีรูปหล่อขององค์กวนอิมซึ่งทำด้วยโลหะประดิษฐานอยู่ ในหมู่บ้านนั้น มีชายยากจนคนหนึ่งชื่อนายเว่ย ซึ่งทุกวันที่นายเว่ยของเราจะต้องไปทำงานที่ไร่ชาของตัวเอง เขาจะต้องเดินผ่านศาลเจ้าแห่งนี้ทุกวัน ทุกครั้งที่เหลือบมองเข้าไปในศาลเจ้า เว่ยของเราจะรู้สึกหดหู่ทุกครั้ง เพราะศาลเจ้าเก่าและร้างไร้คนดูแล จะให้นายเว่ยเอาเงินมาทุ่มสร้างวัด ตั้งมูลนิธิ เหมือนนักการเมืองไทยที่จะทำความดีลบล้างความผิด ก็มิอาจกระทำได้ เพราะบ่มีเงินเยอะแยะขนาดนั้น แต่ด้วยจิตใจอันดีงาม เว่ยได้นำไม้กวาดและธูปเทียนจากที่บ้านเข้ามาทำความสะอาดภายในศาลเจ้า และจุดธูปเทียนบูชาองค์กวนอิมในศาลเจ้า พร้อมกับรำพึงในใจว่า "ข้าพเจ้าทำให้ได้แค่นี่แหละครับ อยากจะมีเงินบูรณะให้ใหม่ แต่คนมันจนอะครับ" เว่ยทำแบบนี้ทุกๆวันพระจีน (เดือนละสองครั้ง) เป็นประจำทุกเดือน จนกระทั่งคืนหนึ่ง พระโพธิสัตว์กวนอิมได้มาเข้าฝันเว่ย และบอกว่า "เว่ยเอ๋ย ในถ้ำหลังศาลเจ้าของข้านั้น มีสมบัติล้ำค่าอยู่ ให้เจ้าไปขุดเอามาซะ และให้แบ่งปันกับผู้อื่นด้วยนะ" เช้าตื่นมาเว่ยก็เข้าไปในถ้ำตามความฝัน และพบกับ "ต้นชา" ต้นหนึ่ง จากนั้นเว่ยก็นำเอาชาต้นนั้นมาประคบประหงมปลูกในไร่ของเขา จนเป็นพุ่มใหญ่ และเว่ยก็เริ่มตัดกิ่งและใบชาแจกชาวบ้านในหมู่บ้านให้ช่วยกันปลูก เว่ยเริ่มขายใบชาที่ได้มาจากในถ้ำหลังศาลเจ้า และเรียกใบชานี้ว่า "ทิกวนอิม" (铁观音 - แปลว่ากวนอิมเหล็ก) ตั้งแต่นั้นมาใบชาทิกวนอิมก็ขายดิบขายดีจนนายเว่ยและชาวบ้านมีเงินมาบูรณะ ศาลเจ้ากวนอิมเหล็กจนมีสภาพสวยงาม ทุกครั้งที่เว่ยเดินผ่านศาลเจ้าไปไร่ชาทุกวัน เขาก็รู้สึกสำนึกบุญคุณและภูมิใจไปทุกครั้ง และนี่ก็คือตำนานของชาทิกวนอิมตำนานแรกครับ

อีกตำนานว่ากันว่า มีบัณฑิตนายหนึ่งชื่อมิสเตอร์หวาง ซึ่งพบต้นชาต้นหนึ่งโดยบังเอิญอยู่ใต้ก้อนหินที่เป็นรูปพระโพธิสัตว์กวนอิม ในเมืองซีผิง จึงนำมาเพาะต่อที่บ้าน จากนั้นในปีที่หกของฮ่องเต้เฉียนหลง (เฉียนหลงนี่คือสุดยอดคอชาในยุคนั้นเลย) ราชวงศ์ชิง หวางได้นำใบชานี้ถวายฮ่องเต่เฉียนหลง เมื่อเฉียนหลงได้ดื่มชา ก็รู้ชมชอบในรสชาดและกลิ่นของชานี้มาก และเมื่อถามความเป็นมานี้จากมิสเตอร์หวาง ฮ่องเต้เฉียนหลงเลยเรียกชานี้ว่า "ชากวนอิม" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โม้เรื่องตำนานจบ เรามาว่ากันถึงชนิดของชาครับ ชนิดของชาทิกวนอิมสามารถแบ่งได้ตามชนิดของการหมัก และชนิดของช่วงเวลาในการเก็บใบชาครับ
เราสามารถแบ่งชนิดของใบชาทิกวนอิมตามความเข้มข้นของการหมักชาได้เป็นสามระดับครับคือ

๑. ทิกวนอิมหยก หรือชาคั่วแบบอ่อนครับ ตัวออกไซด์ของเหล็กจะมีไม่มาก จึงทำให้ทิกวนอิมหยกจะมีสีไปค่อนข้างเขียวไปทางชาเขียวมากกว่าไปทางชาอูหลง ปกติ แต่จะทำให้ชาที่ชงมีกลิ่นสดใหม่ กลิ่นประมาณดอกไม้หรือใบไม้นะครับ รสชาดก็จะเบาลงมาหน่อย

๒. ทิกวนอิมแบบเข้ม อันนี้จะคั่ว(หมัก)ชาแบบเข้มข้นครับ ชาที่ได้จะมีสีอำพัน กลิ่นและรสจะซับซ้อนซ่อนเงื่อน ชวนให้ลุ่มหลง แต่กลิ่นสดๆ จะหายไปนะครับ สำหรับการคั่วชาแบบนี้ และชาชนิดนี้ยังเป็นชาที่พบกันมาก และนิยมดื่มกันมากครับ รวมไปถึงตลาดในบ้านเราด้วยครับ

๓. ทิกวนอิมแบบกึ่งหมัก ชาทิกวนอิมแบบนี้ เป็นแบบที่มีการคิดเทคนิกการคั่วขึ้นมาใหม่นะครับ เป็นการทำให้มีความลงตัวพอดีระหว่างกลิ่นรสของแบบ ทิกวนอิมหยกและแบบเข้ม เป็นการรักษาทั้งกลิ่นรสความสด และความเข้มให้มีเท่าๆกันครับ ประมาณว่าสมานฉันท์ ประเทศชาติเราตอนนี้ต้องการชาชนิดนี้มากเลยครับ น่าจะผลิตในคนในชาติเราดื่มกันเยอะๆ (เกี่ยวกันไหมเนี๊ยะ)

ทีนี้ว่ากันตามชนิดช่วงเวลาเก็บใบชา แบ่งเป็น ๔ ชนิดตามฤดูกาลครับ คือ

๑. ทิกวนอิมที่เก็บในฤดูใบไม้ผลิ จะให้รสชาดโดยทั่วไป แบบรวมๆ ถือว่าเป็นชาดีครับ

๒. ทิกวนอิมที่เก็บในฤดูร่วง จะให้รสชาดชาที่อ่อน แต่จะเด่นที่กลิ่นสดใหม่ครับ ความเข้มของชาจะลดลง

๓. ทิกวนอิมที่เก็บในฤดูร้อน ถือว่าเป็นชาที่มีคุณภาพต่ำครับ และยังแบ่งต่อเป็นสองชนิดคือ ช่วงที่เก็บในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม อีกชนิดหนึ่งคือชนิดที่เก็บในช่วงสิงหาคมครับ

๔. ทิกวนอิมที่เก็บในช่วงฤดูหนาว ถือว่าเป็นชาคุณภาพต่ำสุดๆ ครับ ไม่นิยมดื่มกัน

ยัง มีชาทิกวนอิมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า กวนอิมอ๋อง (观音王) แปลว่า ราชากวนอิม ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของชาทิกวนอิมครับ โดยชาที่จะเรียกเป็นกวนอิมอ๋องได้นั้น คือเป็นเกรดชาที่ดีที่สุดของชาที่เก็บในฤดูใบไม้ร่วงครับ และเป็นชาทิกวนอิมหยกครับ ผมเองก็ยังไม่เคยลิ้มลองครับ ไว้ได้ดื่มจะมารีวิวให้อ่านกัน

ตอนนี้มารีวิวชาทิกวนอิมที่ผลิตขึ้น ภายในประเทศของเราเองครับ ชาทิกวนอิมนี้ยี่ห้อ "หลงฉา" (龙茶) แปลว่าชามังกรครับ (จริงๆ คนคิดชื่อยี่ห้อ อาจจะ"ลุ่ม"หลงชา ก็เป็นไปได้นะครับ ฮ่าๆ เลยใช้ชื่อนี้) กล่องที่ผมดื่มนี้เป็นขนาด ๑๐๐กรัม ก็ขนาดพอดีครับ ดื่มคนเดียวก็สักอาทิตย์หนึ่งคงดื่มหมด กล่องดูดีมากครับ ดูหรูดีและปิดผนึกป้องกันความชื้นอย่างดีครับ

ชาทิกวนอิมหลงฉานี่ ทำร้ายผมครั้งแรกด้วยกลิ่นครับ เอากรรไกรตัดซองสุญญากาศปุ๊บ กลิ่นใบชาพุ่งกระแทกจมูกผม จนจิตนาการไปไกลจนถึงไร่ชาแล้วครับ ดีที่ยังพอมีสติเรียกกลับคืนมาฮ่าๆ กลิ่นหอมมากครับ เป็นกลิ่นหอมของชาทิกวนอิมที่เป็นเอกลักษณ์เลย กลิ่นยั่วยวนจนต้มน้ำแทบไม่ทันครับ

สีของน้ำชาดีมากครับ เป็นสีอำพันพุ่งมาพร้อมกลิ่นจนในห้องทำงานผมอบอวลไปด้วยกลิ่นของชา รสชาดของชาไม่แพ้กลิ่นครับ มีรสชาดที่ดีเผลอลืมไปว่ากำลังดื่มชาไต้หวันอยู่ เหลือบดูข้างกล่องอีกที ผลิตในประเทศไทยนี่เองครับ ภูมิใจเล็กๆนะเนี๊ยะ



Package สวยงาม หรูหราดี



แกะฝากล่องจะเห็นซองสุญญากาศข้างในครับ อันนี้ขนาดร้อยกรัม



ดูกันชัดๆ



ใบชาจะขดเป็นเม็ดกลมครับ กลิ่นดีมากเลย



ใบชาเมื่อโดนความร้อนคลี่ใบออกครับ



ให้ดูสีของชา น่าดื่มมากครับ



ใครอยากลองชาทิกวนอิมหลงฉา ลองเข้าไปดูในเวบเขาก็ได้ครับ ที่ //www.longchathaitea.com

ขอให้มีความสุขกับการดื่มชาทิกวนอิมนะครับ




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2552   
Last Update : 9 สิงหาคม 2552 23:36:09 น.   
Counter : 2250 Pageviews.  

ชาต้าหงเผา - 大红袍

ด้วย ความอนุเคราะห์จากคุณพ่อของภรรยาผม (พ่อตานั้นเอง ฮ่าๆ) ผมจึงได้ลิ้มลองชาต้าหงเป่าจากอู่อี๋ซาน (武夷山) เป็นครั้งแรก ซึ่งชานี้มีความพิเศษในเรื่อง "ราคา" ที่จะซื้อทีต้องคิดหลายรอบแล้วนั้น (ชาต้าหงเผา ที่เป็น "ตำนาน" มีการตั้งราคาเปิดประมูลกันถึง สี่พันหยวนต่อหนึ่งขีด หรือประมาณ 20,000 บาท ต่อหนึ่งขีด!) ยังเชื่อว่าเป็นหนึ่งในชาอูหลงที่มีรสชาดดีมากอีกด้วย

กลับมาว่ากัน ที่ "ตำนาน" ที่มีผลกับ "ราคา" ของชาต้าหงเผา จากอู่อี๋ซานครับ ซึ่งว่ากันว่า ในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น พระมารดาของจักรพรรดิหมิง ได้เกิดอาการประชวร แต่หลังที่ได้ดื่มชาจากต้นชาอู่หลงจากเขาอู๋อี๋แล้ว อาการประชวรนั้นก็หายไป ฮ่องเต้หมิงเลยประทานผ้าคาดสีแดงไปโอบต้นชาอูหลงทั้งสี่ต้นบนเขาอู่อี๋ซาน นั้น ประมาณว่าเป็นรางวัลให้ และสามในสี่ต้นนั้นงอกขึ้นจากหินบนเขาอู่อี๋นั้นเอง และเชื่อกันว่า เจ้าสี่ต้นนี้มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งโน้นแหนะ และขอโทษ... เจ้าสามต้นนี้ยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้นะครับ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมราคาของชาจากสามต้นนี้ จึงได้แพงอุจจาระแตกอุจจาระแตน แบบนี้

ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ อุ๊บอิ๊บ เป็นผู้ดูแลชาต้าหงเผาต้นตำนานนี้ และผลผลิตที่ได้จากสี่ต้นเดิมนี้ต่อปี ไม่ถึงหนึ่งกิโลครับ และผลผลิตที่ได้จากออริจินอลนี้ เขาจะใช้เป็นมาตรฐานในการปรับปรุงสายพันธ์ของชาต้าหงเป่าที่แยกมาจากต้นเดิม และจะพยายามทำให้มีรสชาดเหมือนหรือใกล้เคียงต้นเดิมมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่งานง่ายเพราะ รสชาจะต่างกันเนื่องจาก แหล่งปลูก คุณภาพดิน อากาศ และอีกหลายอย่าง

เอาเป็นว่า ถ้าชาต้าหงเผา ต้องมาจากอู่อี๋ซาน "เท่านั้น" จึงจะให้รสชาดที่ใกล้เคียงของเดิม ออริจิ มากที่สุด

อ้าว..โม้เพลินลืมกิน ... เรามาแกะกล่องกันก่อนครับ

กล่องมาเน้นสีแดง ตามชื่อชาและมีคำอธิบายชัดเจน ว่าชาอันนี้มาจากอู่อี๋ซานนะจ๊ะ มิได้น้อมมาจากไหน



ใน กล่องใหญ่จะมีกล่องเล็กๆอีกครับ และในกล่องเล็กจะมีซองฟอยด์อีกสองสอง ซองละสิบกรัม ซึ่งพอดีกับชาขนาดสี่ถึงห้าจอก นอกจากซองฟอยด์แล้ว ผู้ผลิตยังแนบภาพในรับรองว่าของชาของเฮียแกเนี๊ยะ เป็นญาติกับพวกต้นออริจินอล จริงๆนะ และก็ได้รับถ้วยเรื่องคุณภาพชาด้วย ... ก็โม้ไปตามหลักการขาย



อ้าว.. มาลองชงดื่มกัน สีชาจะเข้มประมาณทิกวนอิม ออกแดงๆนิดๆเนื่องจากออกไซด์ของธาตุเหล็กในการหมัก(คั่ว)ชา กลิ่นจะออกซอฟๆ กว่าทิกวนอิม รสชาดดีครับ นุ่มดี แต่ไม่กิ๊กผมมาก คงเป็นเพราะผมชอบชาพวกเกาซานซึ่งหอมกลิ่นเขียวๆ มีออกไซด์น้อยกว่าครับ อันนี้เป็นความชอบส่วนบุคคล แต่ผมว่าถัาใครที่ชอบพวกทิกวนอิมอยู่แล้ว ต้าหงเผานี้จะอร่อยถูกใจท่านสุดๆแน่

พวกชาอ๊อกไซด์มากๆแบบนี้ อย่าไปดื่มก่อนอาหารเชียวนะครับ โดยเฉพาะตอนท้องว่าง เพราะในกระเพาะจะเกิดแก๊สแล้ว อึดอัดมาก (เคยเป็น ทรมานมาก) แนะนำดื่มหลังอาหารจะสุดยอดเลย

ข่าวยังไม่กรอง แจ้งว่าในไทยก็สามารถปลูกต้าหงเผาได้ เดี๋ยวขอเช็คข่าวก่อน แล้วจะมาเฟิมร์ให้ครับ




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2552   
Last Update : 9 สิงหาคม 2552 23:33:53 น.   
Counter : 1207 Pageviews.  

เรื่องที่ไม่ธรรมดา กับป้านชาอี๋ซิง (宜兴 – Yíxīng)

เพราะว่าไม่ธรรมดาจริงๆ สำหรับคอชาจีน ที่จะต้องคัดสรรป้านชาดีดีสักใบ
เพื่อที่จะขับรสชาดของชา(ดีดี) ที่มีอยู่ในคลังสมบัติใบชาของเรา

สำหรับป้านชาจีนนั้น สุดยอดของป้านชาคือ ป้านชาที่ทำจาก ดินอี๋ซิง (宜兴 – Yíxīng) จังหวัดเจียงซู (อยู่
ตอนเหนือของเซี่ยงไฮ้ ขนมปังกรอบ) ว่ากันว่า ดินเหนียวอี๋ซิงนี้
วิเศษนักหนา เอามาทำป้านชาแล้วจะขับรสชาดของชาออกมาอย่างเต็มที่
และไม่ทำให้ชาบูด (ผมก็ไม่เคยลิ้มรสชาบูดว่าเป็นยังงัย)
สามารถใส่ใบชาทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้ามาดื่มใหม่ รสชาดยังหรอยเหมือนเดิม
อีกทั้งกาอี๋ซิงนี้ ยิ่งใช้มากๆ ยิ่งเก่ายิ่งดี ใส่แค่น้ำเดือดเปล่าๆ
เทออกมายังมีรสชาดของชาอีกด้วย น้านนน...น ไม่ธรรมดาแล้วละซิ
เนื่องจากเป็นเพราะคุณสมัติของดินเหนียวอี๋ซิงนี้มีรูพรุนเล็กน้อยครับทำให้
กลิ่นชาเข้าไปนอนพักอยู่ได้ เขาว่ากันอย่างนั้น

กาอี๋ซิงนั้น แบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามลักษณะของดินที่มาใช้ปั้นนะครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

กาจื่อซา (紫砂 – zǐshā) หรือ จื่อหนี (紫泥 - zǐ ní)

แปล
กันตามตัวเลยก็คือ ดินสีม่วงนะครับ แต่จริงๆแล้วกาน้ำชาดินจื่อซานี้
จะออกสีน้ำตาลไหม้ และถ้ากล่าวถึงกาน้ำชาอี๋ซิงแล้ว
กาที่ทำขึ้นจากดินจื่อซา จะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดครับ
ผมเองยังไม่มีกาจื่อซาเลยครับ แต่ได้สั่งซื้อมาจากอี๋ซิงแล้วหนึ่งใบ
เดี๋ยวของมาจะโพสรูปให้ดูกัน

กาจูซา (朱砂 - zhūshā) หรือ จูหนี (朱泥 - zhū ní)

แปล
กันตามตัวคือ ดินสีชาด(แดง)นั้นเองครับ (อย่าหลงกับ หงหนี红泥นะครับ
คนละดินคนละแดงกัน) เป็นเพราะดินจูหนีนั้นมีธาตุเหล็กผสมอยู่มากครับ
จึงทำให้มีสีออกแดงชาด ปัจจุบันมีเหมืองขุดดินจูหนีในเมืองจีนนี้แค่ 10
แห่งเท่านั้นนะครับ ซึ่งทำให้กาจูซานี้ มีจำนวนค่อนข้างจำกัดครับ
แต่ผมเองมีโอกาสได้เป็นเจ้าของกาจูซาสองใบ
ถอยมาจากปักกิ่งและปีนังอย่างละใบครับ เป็นกาใหม่ทั้งสองใบ

กาต้วนหนี (锻泥 - duàn ní)

เป็น
กาที่ได้จากการผสมดินจื่อหนี หรือจูหนี กับพวกหินและแร่ธาตุต่างๆ
ทำให้ได้สีและเนื้อของกาน้ำชาที่มีความแตกต่างกันไป
กาต้วนหนีในท้องตลาดปัจจุบันเราอาจจะพบเห็นได้เป็นสีทราย สีน้ำเงิน
สีเขียว และสีดำครับ



กาจูหนีใบนี้สอยมาจากปีนัง ขนาดหกจอก ในรูปชงดื่มกับชาอูหลง เกาซาน
(ชาไต้หวัน) ดื่มแล้วเหมือนได้ลอยละลิ่วอยู่บนเขาสูง
ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย ผมไม่ค่อยใช้ใบนี้ เพราะกลัวแตก





จูหนีขนาดสี่จอกใบนี้สอยจากปักกิ่ง ค่อนข้างหนากว่าใบก่อนหน้านี้
ใช้ชงชาดื่มทุกวัน เพราะความหนานั้นเอง แต่จริงๆกาอี๋ซิงยิ่งบางยิ่งจ๊าบ
เพราะแสดงถึงฝีมือคนปั้น







การูปทรงนี้ เรียกว่าทรงสุ่ยผิง 水平 หรือทรงระดับน้ำ กาสุ่ยผิงที่ดี ปากพวยกา ฝากา และหูจับ จะต้องเป็นระนาบเส้นตรงเดียวกัน






การทำกาสุ่ยผิง ไม่ง่ายนะครับ เพราะเวลาเอากาดิบเข้าเตาเผา ดินจะหดตัวลง
ช่างปั้นจะต้องมีฝีมือจริงๆ
ในการปั้นจึงจะได้กาที่มีทั้งสามส่วนที่กล่าวมา เป็นระนาบเดียวกัน






Free TextEditor




 

Create Date : 30 มกราคม 2552   
Last Update : 30 มกราคม 2552 12:56:21 น.   
Counter : 755 Pageviews.  

ชาอาลีซาน 阿里山茶

ชาอาลีซาน 阿里山茶

ชา อูหลง อาลีซาน เป็นชนิดของชาอูหลงเกาซาน (ชา-ยอด-ดอย) ที่ปลูกกันที่ภูเขาอาลีซาน ไต้หวัน ยี่ห้อที่ผมรีวิวอยู่นี้ คือ ของบริษัท เทียนเหริน จากไต้หวัน ซึ่งเขาก็บรรยายสรรพคุณข้างกล่องว่า " ชาอาลีซานนี้ได้ทำการคั่วโดยคนทำชาระดับอาจารย์ โดยทำการรักษาคุณสมบัติของชา-ยอด-ดอย เอาไว้ และที่พิเศษคือ ได้รักษากลิ่นหอมของความสดชื่น สดใหม่ ของบรยากาศบนดอยเอาไว้ด้วย และชานี้ได้เก็บรักษาคุณสมบัติความสดชื่น ฉ่ำ นี้ไว้ได้นานมาก"

จาก การลองดื่มชาอาลีซานนี้ดู ผมว่าก็ตรงกับที่เขาช่างบรรยาย เพราะที่เด่นมากๆ คือกลิ่นของความสดชื่น สดใหม่ ของใบชา กลิ่นที่แตะจมูกทำให้นึกถึงบรรยาศบนยอดดอยของไต้หวัน ที่มีอากาศกำลังพอดี ประมาณ 8-12 องศาเซลเซียส กลิ่นชาจะมีกลิ่นของความสด คือกลิ่นเขียวๆของใบชา หอมติดจมูกมาก

รสชาดของชา จะซอฟๆ เบาๆ (ไม่ออกแนวฮาร์ทคอร์ แบบชาทิกวนอิม) ดื่มคล่องคอ และกลิ่นจะอบอวลไปทั่วทั้งช่องปาก

ผมคิดว่าชานี้มีดีที่กลิ่น ที่เด่นมากๆ ของอาลีซานกล่องนี้คือ กลิ่น ครับ อ้าว ชมรูป





Packaging ของไต้หวัน ข้างๆ กล่องจะบอกให้เรียบร้อยว่าต้องชงกับน้ำเดือดที่อุณหภูมิเท่าไหร่ กล่องนี้เป็นขนาด 150Oz. ราคาผมจำไม่ได้ แต่เพคเกจเขาสวยงามจริงๆ




อันนี้คือลักษณะของใบชาที่ยังไม่ชง ใบชาเกรดที่เห็นนี้คือ สามใบแรกในส่วนยอดของต้นชาเท่านั้นนะครับ ที่เหลือไม่เก็บ ไม่เอา





ลักษณะของใบชาที่คลี่ออกมาแล้ว ขณะชงชา จะเห็นถึงความสมบูรณ์ของใบชาได้อย่างชัดเจน






Free TextEditor




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2551   
Last Update : 17 ธันวาคม 2551 14:35:25 น.   
Counter : 2833 Pageviews.  


JooB SurfDude
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับ ว่างๆชอบเขียนบล็อคครับ
ฝึกทักษะการถ่ายทอด และฝึกสมาธิดีนะครับ
[Add JooB SurfDude's blog to your web]