MacroArt's Online Business Story by Apisilp Trunganont
Group Blog
 
All Blogs
 

MIS - IT Outsourcing

Outsourcing คือการถ่ายงานที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญขององค์กรไปให้บริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากบริษัทอื่นมีต้นทุนในการทำงานนั้นที่ต่ำกว่า สามารถทำงานได้โดยมีคุณภาพที่ดีกว่า และเพื่อให้องค์กรได้มุ่งเน้นเฉพาะ competencies ของตนเอง

ปัจจุบันนี้มีการ outsource ในหลายส่วนงานขององค์กร เช่น บัญชี กฎหมาย การวิจัย งานด้าน call center รวมถึงงานด้าน IT ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจ IT outsourcing ในหลากหลายสาขา เช่น software development, system maintenance, network management, security audit, IT operations, data analysis เป็นต้น

ข้อดี

  • ช่วยลดต้นทุนขององค์กร งานด้าน IT หลายอย่างมีต้นทุน overhead cost เช่น ค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ค่าซอฟท์แวร์ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าที่องค์กรจะลงทุน แต่บริษัทที่ทำธุรกิจ outsourcing ได้ลงทุนในสิ่งเหล่านี้ไปแล้วเพื่อรองรับลูกค้าจำนวนหลายราย นอกจากนี้บริษัท outsourcing หลายแห่งดำเนินการอยู่ในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ เช่น อินเดีย ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า

  • คุณภาพงานที่ดีกว่า บริษัท outsourcing มักจะมี know-how ที่เกิดจากประสบการณ์ในการให้บริการกับลูกค้าหลายราย และมีบุคคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางในด้าน IT ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพสูงกว่าการที่องค์กรจะทำเอง

  • ช่วยให้องค์กรมุ่งเน้นเฉพาะงานที่เป็นหัวใจสำคัญ การ outsource งานที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญขององค์กรไปให้บริษัทอื่น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนขององค์กรแล้ว ยังช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถลดภาระงานที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญ เพื่อมุ่งเน้นและพัฒนา function ที่เป็นหัวใจหลักขององค์กรให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

  • ความได้เปรียบที่เกิดจาก time zone ที่แตกต่างกัน เช่น การส่งข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาด NYSE หลังจากปิดตลาดแล้วไปยังบริษัท outsourcing ในประเทศอีกซีกโลก เช่น อินเดีย เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลและจัดทำบทวิเคราะห์ข้อมูล ส่งกลับมาให้ผู้บริหารใน New York ในเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ทันที

ข้อด้อย
  • การเปิดเผยความลับขององค์กร การ outsource งานบางประเภททำให้องค์กรจะต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญบางอย่างให้แก่บริษัท outsourcing เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลโครงการในอนาคตของบริษัท หรือข้อมูลทางการเงิน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะหลุดไปถึงบริษัทคู่แข่งได้

  • ผลงานของบริษัท outsourcing ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ องค์กรจะต้องมีการติดต่อประสานงาน (interface) กับบริษัท outsourcing อย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้งานเป็นไปตามที่ต้องการ แต่อาจมีความเสี่ยงที่ผลงานของบริษัท outsourcing จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ทำให้ต้องเสียเวลาในการแก้ไข ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่องานโดยรวมขององค์กรได้ และการที่องค์กรจะเปลี่ยนบริษัท outsourcing เป็นบริษัทอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากมี switching cost ในการโอนถ่ายงานสูง




 

Create Date : 13 เมษายน 2550    
Last Update : 13 เมษายน 2550 18:45:44 น.
Counter : 504 Pageviews.  

MIS - Enterprise Resource Planning (ERP)

ERP คืออะไร?

Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นระบบจัดการข้อมูลที่ integrate และ automate ข้อมูลและกระบวนการทำงานในหน่วยงานส่วนต่างๆ ขององค์กรธุรกิจ เช่น sales, service, supply chain management, finance, accounting, manufacturing, human resources, data analysis, logistics, distribution, inventory, shipping และ invoicing เป็นต้น

ERP เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันแบบ cross functional ได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดถูก centralize อยู่ในที่เดียวกัน และถูก standardize ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเรียกใช้ข้อมูล แก้ไขข้อมูล และทำให้ข้อมูลไหลผ่านจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่งได้ เมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติงานเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด หน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยงานของตนและสามารถวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันนี้บริษัทต่างๆ สามารถ implement ระบบ ERP ได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการใช้ซอฟท์แวร์ของผู้ผลิตซอฟท์แวร์เพียงรายเดียว ซึ่งมีข้อดีคือส่วนต่างๆ ของซอฟท์แวร์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น แต่มีข้อด้อยที่ซอฟท์แวร์จะขาดความยืดหยุ่น ส่วนวิธีที่สองคือการใช้ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในแต่ละส่วนงานจากแต่ละบริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์ โดยมีการ integrate ซอฟท์แวร์ในแต่ละส่วนให้สามารถทำงานร่วมกันและสื่อสารข้อมูลถึงกันได้ วิธีนี้มีข้อดีคือองค์กรสามารถเลือกใช้ซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานได้ มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งซอฟท์แวร์ แต่มีข้อด้อยคือการ integrate ซอฟท์แวร์จากบริษัทต่างๆ ให้เป็นระบบเดียวกันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน

ข้อดีและข้อด้อยของการใช้ ERP

ERP ช่วยให้ทุกหน่วยงานในองค์กรติดต่อสื่อสารกันด้วยข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ทราบได้ว่าสถานะการสั่งซื้อของลูกค้าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ช่วยให้ทราบได้ว่าสินค้ากำลังขาดสต็อกและต้องผลิตเพิ่มทันทีหรือไม่ ช่วยผนวก purchase orders, inventory receipts และ costing เข้าด้วยกัน และมีระบบบัญชีที่คอยควบคุมต้นทุนและกำไรในทุกขั้นตอน

ปัญหาของการใช้ ERP มักเกิดจากการให้ความรู้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอหรือไม่ต่อเนื่อง พนักงานไม่มีประสบการณ์ในการใช้งาน ERP บริษัทลดต้นทุนด้านการฝึกอบรม การออกจากงานของพนักงานที่มีความรู้ทำให้บริษัทมีต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ นอกจากนี้ ERP ยังมีราคาแพง บริษัทจึงต้องมีนโยบายให้พนักงานทราบว่าจะใช้ข้อมูล ERP อย่างไรจึงจะถูกต้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด




 

Create Date : 13 เมษายน 2550    
Last Update : 13 เมษายน 2550 18:43:29 น.
Counter : 387 Pageviews.  

MIS - Customer Relationship Management (CRM)

CRM คืออะไร?

Customer Relationship Management (CRM) เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า เรียนรู้ความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนมากที่สุด กระบวนการทำงานของระบบ CRM มี 4 ขั้นตอนดังนี้

  1. Identify เก็บข้อมูลว่าลูกค้าของบริษัทเป็นใคร เช่น ชื่อลูกค้า ข้อมูลสำหรับติดต่อกับลูกค้า

  2. Differentiate วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน และจัดแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มตามคุณค่าที่ลูกค้ามีต่อบริษัท

  3. Interact มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในระยะยาว

  4. Customize นำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีความเหมาะสมเฉพาะตัวกับลูกค้าแต่ละคน

มีการนำระบบไอทีมาใช้กับ CRM เพื่อช่วยในการจัดการฐานข้อมูลลูกค้า วิเคราะห์ข้อมูล และเป็นช่องทางในการติดต่อกับลูกค้า โดยสถาปัตยกรรมของซอฟท์แวร์ด้าน CRM มักแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

  1. Operational CRM เป็นซอฟท์แวร์ front office ที่ใช้ช่วยจัดการกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น sales, marketing หรือ service เช่น การจัดการข้อมูลติดต่อลูกค้า การเสนอราคา การบริหารฝ่ายขาย การเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า ระบบบริการลูกค้า เป็นต้น

  2. Analytical CRM ระบบวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่รวบรวมได้จากส่วน Operational CRM หรือจากแหล่งอื่นๆ เพื่อแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มและค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการเพิ่มเติมได้

  3. Collaborative CRM ระบบช่วยสนับสนุนในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านทางช่องทางต่างๆ เช่น ติดต่อส่วนตัว จดหมาย แฟกซ์ โทรศัพท์ เว็บไซต์ อีเมล เป็นต้น รวมถึงช่วยจัดการทรัพยากรที่บริษัทมีคือพนักงาน กระบวนการทำงาน และฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้าและช่วยรักษาฐานลูกค้าของบริษัทได้ดีขึ้น

ประโยชน์ของ CRM ต่อธุรกิจของคุณ

CRM ช่วยเพิ่มความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น ใช้เว็บไซต์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า วิธีการใช้สินค้า และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นช่องทางให้ลูกค้าแนะนำติชมต่อบริการของบริษัทได้ง่าย ช่วยให้ลูกค้าสามารถ customize ความต้องการของตนเองได้ทันที เป็นต้น

CRM ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้าให้ดีขึ้น ช่วยให้บริษัทรู้ความสนใจ ความต้องการ และพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ทำให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ และช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าตามที่ลูกค้าต้องการได้ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวจะช่วยเพิ่ม loyalty ที่ลูกค้ามีต่อบริษัท ลดการสูญเสียลูกค้า ลดต้นทุนการตลาด เพิ่มรายได้จากการที่ลูกค้าซื้อซ้ำหรือแนะนำให้คนรู้จักซื้อสินค้าของบริษัท และนั่นหมายถึงกำไรของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้น




 

Create Date : 13 เมษายน 2550    
Last Update : 13 เมษายน 2550 18:42:07 น.
Counter : 673 Pageviews.  

MIS - P2P Technology

P2P คืออะไร? ทำงานอย่างไร?

Peer-to-peer (P2P) เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบ client-client โดยที่ client แต่ละเครื่องมีข้อมูลเก็บอยู่ และสามารถจำลองตนเองเป็น server เพื่อเปิดให้ client เครื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาโหลดข้อมูลจากเครื่องของตนเองได้โดยอาศัยพลังงานและ bandwidth ที่เครื่องตนเองมี ซึ่งจะแตกต่างกับการสื่อสารแบบ client-server ที่มี server เก็บข้อมูลไว้เพียงเครื่องเดียว และเปิดให้ client เครื่องอื่นเข้ามาโหลดข้อมูล


Client-Server (centralized information)

Client-Client (distributed information)

จุดเด่นที่ P2P เหนือกว่า client-server คือการกระจายตัวของข้อมูลที่กระจายอยู่ในเครื่อง client ต่างๆ โดยไม่กระจุกตัวอยู่ที่ server เพียงเครื่องเดียว ทำให้ข้อมูลสามารถแพร่กระจายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดที่จะต้องผูกติดอยู่กับ server เครื่องใดเครื่องหนึ่ง ซึ่งมักจะมีปัญหาความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่ลดลงเมื่อจำนวน client เพิ่มสูงขึ้น และอาจมีปัญหาไม่สามารถกระจายข้อมูลได้ถ้า server เครื่องนั้นมีปัญหาด้านการเปิดให้บริการ เช่น ถูกผู้บุกรุกโจมตี หรือถูกสั่งระงับการให้บริการ เป็นต้น

เราสามารถแบ่งประเภทของ P2P ออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. Pure P2P เครื่อง client แต่ละเครื่องทำหน้าที่เป็นทั้ง client และ server โดยไม่ต้องมี server กลางที่คอยจัดการหรือค้นหาข้อมูล

  2. Hybrid P2P มีเครื่อง server กลางที่ใช้เก็บข้อมูลของ client ว่า client เครื่องใดมีข้อมูลใดที่เปิดให้โหลดได้บ้าง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาได้ว่าข้อมูลที่ตนเองต้องการโหลดถูกเก็บอยู่ที่ client เครื่องใด

  3. Mixed P2P มีคุณสมบัติทั้งแบบ Pure P2P และ Hybrid P2P

อย่างไรก็ตาม P2P มีข้อด้อยด้าน security ที่เครื่อง client ที่จำลองตนเองเป็น server เพื่อเปิดให้คนอื่นเข้ามาโหลดข้อมูลได้ อาจถูกแฮกหรือถูกโจมตีจากผู้บุกรุก และ P2P ยังอาจเป็นเครือข่ายสำหรับกระจายข้อมูลผิดกฎหมายหรือละเมิดลิขสิทธิ์ และข้อมูลที่มีไวรัสแอบแฝงอยู่ได้อย่างดี

ข้อดีและข้อด้อยของเทคโนโลยี P2P ที่มีต่อธุรกิจ

มีการใช้เทคโนโลยี P2P ใน application หลากหลายรูปแบบ เช่น BitTorrent, KaZaA, Napster, Skype เป็นต้น ซึ่งส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อธุรกิจในปัจจุบันดังนี้

ในด้านบวก เทคโนโลยี P2P ช่วยลดต้นทุนด้านการติดต่อสื่อสารของคนในองค์กรหรือระหว่างองค์กรลง ด้วย application ด้านการติดต่อสื่อสารเช่น Skype ช่วยให้สามารถทำ teleconference ข้ามประเทศได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้โทรศัพท์มาก เนื่องจาก Skype ทำให้เราสามารถพูดคุยกับคู่สนทนาที่อยู่คนละประเทศได้โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยที่ข้อมูลเสียงมีคุณภาพอยู่ในระดับสูง และสามารถรับส่งข้อมูลเสียงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากข้อมูลเสียงของผู้พูดจะถูกส่งตรงไปให้ผู้รับโดยที่ไม่ต้องผ่าน server กลางแต่อย่างใด

ในด้านลบ เทคโนโลยี P2P ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ขายข้อมูลดิจิตอลอย่างรุนแรง เช่น ธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจซอฟท์แวร์ เนื่องจากข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์เหล่านี้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนเครือข่าย P2P ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล และเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับเครือข่าย P2P ได้ เนื่องจากข้อมูลถูกกระจายไปเก็บไว้ใน client เครื่องต่างๆ โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับ client ทั้งหมดได้




 

Create Date : 13 เมษายน 2550    
Last Update : 13 เมษายน 2550 18:38:58 น.
Counter : 753 Pageviews.  

MIS - eBay Business Model

eBay เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 ด้วยการใช้โมเดลทางธุรกิจที่แตกต่างจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอื่นๆ กล่าวคือ eBay ทำธุรกิจแบบ C2C โดยเป็นตัวกลางที่เชื่อมผู้ขายกับผู้ซื้อเข้าด้วยกัน ทำให้ eBay ไม่ต้องสต็อกสินค้าและประสบปัญหาต้นทุนสินค้าคงคลังสูงเหมือนที่ Amazon เป็น

eBay ใช้กลยุทธ์ Transaction Advantage ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เช่นเดียวกับที่ห้างสรรพสินค้าเป็น แต่ eBay สามารถลดต้นทุนทั้ง process cost และ transaction cost ของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อได้ต่ำกว่าที่ห้างสรรพสินค้าทำได้

ผู้ขายมีต้นทุนค่าวางขายสินค้าผ่าน eBay ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการวางขายที่ห้างสรรพสินค้า ไม่มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าไปที่ห้าง สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องให้เครดิตเหมือนการขายผ่านห้าง และผู้ขายสามารถควบคุมปริมาณและประเภทสินค้าที่ต้องการขายได้ตลอดเวลา

ด้านผู้ซื้อก็มี transaction cost ที่ต่ำกว่าการซื้อที่ห้าง เช่น ผู้ซื้อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปห้าง ผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ระบบ search ของ eBay ผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าที่มีราคาต่ำที่สุดได้โดยสั่ง sort ตามราคาสินค้า และผู้ซื้อสามารถสอบถามรายละเอียดของสินค้าได้จากผู้ขายโดยตรงผ่าน e-mail

การที่ eBay สามารถเก็บค่าขายสินค้าจากผู้ขายในราคาที่ต่ำกว่าห้างสรรพสินค้าได้ เนื่องจาก eBay ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าค่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้ามาก ถ้าห้างสรรพสินค้าต้องการวางสินค้าจำนวนหนึ่งล้านชิ้น อาจจะต้องใช้พื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล แต่ eBay สามารถวางสินค้าหนึ่งล้านชิ้นได้ในเซิร์ฟเวอร์เพียงเครื่องเดียวที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็กๆ ในการวางเครื่อง

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมีข้อด้อยที่สำคัญคือเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ขายและผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมเดลแบบ C2C ที่ eBay ใช้ ซึ่งผู้ขายและผู้ซื้อต่างไม่รู้จักตัวตนของอีกฝ่าย ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะถูกคู่ค้าของตนโกงหรือไม่ แต่จากปรัชญาธุรกิจของ eBay ที่กล่าวว่า "ธุรกิจของเราเริ่มต้นจากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนดี" ทำให้ eBay พัฒนาระบบ Feedback ที่เป็นเสมือนการการันตีว่าเป็นสมาชิกสุจริต และการจูงใจให้สมาชิกใช้ระบบชำระเงิน PayPal เพื่อป้องกันการทุจริต

ระบบ Feedback เป็นระบบที่ใช้เก็บประวัติการซื้อขายของสมาชิก เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำการซื้อขายกันเสร็จสิ้น โดยผู้ขายได้รับการชำระเงินจากผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้รับสินค้าจากผู้ขายแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะให้คะแนน Positive Feedback และเขียนข้อความชมเชยให้แก่กันเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นสมาชิกที่เชื่อถือได้ ระบบ Feedback จะเก็บคะแนนและข้อความไว้ตลอดกาลเพื่อเป็นประวัติของสมาชิกแต่ละคน และสมาชิกทุกคนสามารถดูคะแนน Feedback ของคนอื่นได้

ระบบชำระเงิน PayPal เป็นระบบที่ eBay แนะนำให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้ โดย PayPal จะเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินจากผู้ซื้อและส่งต่อเงินให้ผู้ขาย ถ้าผู้ซื้อชำระเงินทาง PayPal แล้วแต่ผู้ขายไม่ส่งสินค้าไปให้ ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปที่ PayPal เพื่อขอเงินคืนได้

ระบบ Feedback และระบบชำระเงิน PayPal ทำให้การซื้อขายสินค้าผ่าน eBay ได้รับความน่าเชื่อถือสูงขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าผ่าน eBay เพิ่มมากขึ้น และทำให้ eBay มีรายได้ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีต้นทุนที่ต่ำ ไม่ต้องสต็อกสินค้าเอง ทำให้ eBay เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จและมีกำไรมหาศาล




 

Create Date : 13 เมษายน 2550    
Last Update : 13 เมษายน 2550 18:29:46 น.
Counter : 525 Pageviews.  


MacroArt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add MacroArt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.