Group Blog
 
All Blogs
 

อำนาจเสียง

เสียงนั้นมีอำนาจจริงหรือ

แน่นอนคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ
บางครั้งเสียงเป็นมลภาวะทางหู ทำให้คนชอกช้ำระกำใจ
เสียใจ น้อยใจ ถึงกับทำร้ายตนเองและคนอื่นให้วอดวายลงไปก็ได้

เพียงเสียงของแม่ว่าหน่อยเดียว ทำให้ลูกไปผูกคอตายก็มี
โดยเฉพาะเสียงที่ออกมาจากปากของคนที่เรารัก เช่น บุตร สามี ภรรยา
เพื่อนที่เรารัก มาว่าเราได้ เราหรือออกจะแสนดีต่อเขา
ช่างไม่เข้าใจเราเลย

เมื่อความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นในจิตใจ
ความเสียใจ ความน้อยใจก็ประดังเข้ามา
เราหักห้ามใจไว้อยู่ก็ไม่เป็นไร
ถ้าหักใจไว้ไม่ได้ ก็ต้องเกิดอะไรต่อมิอะไรอย่างแน่นอน

ทั้งๆ ที่เสียงอันเป็นรูปธรรม เป็นความสั่นสะเทือนของอากาศ
กระทบโสตประสาทแล้วก็ดับไปเป็นอารมณ์ทางหู (สัทธารมณ์)

แล้วทำไมเล่า เราจึงเก็บมารัก มาโกรธ เคียดแค้นชิงชัง
ทำร้ายใจเราเองให้หม่นหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
อยากที่จะทำลายสิ่งต่างๆ ที่ขวางหน้าให้มันวอดวายสิ้นสลายไปให้หมด

ลืมตนลืมตัวว่าเราเป็นใคร
ด้วยอำนาจของความโกรธทำให้ขาดสติ
ขาดความยับยั้งช่างใจเพราะอำนาจของความหลง
ความไม่รู้ความเป็นจริงว่า “เสียงก็สักแต่ว่าเสียง”
เป็นเพียงอารมณ์ทางหูเท่านั้น
สิ้น “เสียง” หมดไปแล้ว
โลกทั้งโลกก็ดับหมด (สูญญตะโลโก)

เสียงบางครั้งก็มีอำนาจและประโยชน์มากมายเหลือเกิน
ให้ความสุข ให้ความสบายใจแก่เราก็ได้
เช่น เสียงดนตรีที่เราชอบ เสียงนกร้อง เสียงคลื่นลมทะเล
เสียงใบไผ่สีกัน ตลอดจนเสียงของคนที่เรารัก ปลุกปลอบใจเรา
ให้กำลังใจ และให้ความหวังแก่เรา
ทำให้ชีวิตของเราที่กำลัง สิ้นหวัง กลับมาความหวังขึ้นมาใหม่
ผจญทุกข์ภัยต่อไปข้างหน้าได้อีกโดยไม่หวั่นไหว

ดังนั้น เราจึงต้องพึ่งคนอื่นอยู่เสมอ
บางครั้งก็ต้องปลุกปลอบใจของเราเอง ให้มีกำลังใจขึ้นมาอีก
จากความเสียอกเสียใจของเราให้เกิดความเข้มแข็ง แกล้วกล้า ขึ้นมาใหม่

ชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ
จะไปจริงจังอะไรกันมากมายนักจนเกินไป
คนเราจึงต้อง “ปลงสู้” ไม่ใช่ “ปลงหนี”
ทำชีวิตของเราให้มีชีวิตชีวา
อย่ามัวท้อแท้เสียใจในเรื่องราวทั้งหลายในอดีตอีกเลย
ทุกข์ของเมื่อวานนี้ ก็ควรจะพอแล้วสำหรับเมื่อวานนี้
เพราะมันเป็น “ทุกข์ของเมื่อวาน”
ไยต้องนำมาทำให้ใจเราต้องกระสับกระส่ายไปทำไมอีกเล่า
ทำชีวิตของเราที่เหลืออันน้อยนิด ให้มีชีวิตชีวาดีกว่าเป็นไหนๆ

คนที่เรารัก มักทำให้ช้ำใจ เจ็บใจไปแสนนาน

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้รู้ว่า ความทุกข์โทมนัสใจนี้
มาจากเหตุ 2 ประการคือ
1. ต้องอยู่ร่วมกับคนที่เรารัก
2. อยู่ร่วมกับคนที่เราเกลียด

แต่ปกติ เรามักต้องการและดิ้นรนแสวงหาคนที่มารักเราอยู่เสมอ
และต้องรักนานๆ ด้วย มาใช้เสียงไม่ดีกับเราก็ไม่ได้
เราจะเสียใจ น้อยใจ ถ้ามาว่าเรา
ดังนั้น ถ้าไม่อยากทุกข์ใจ ก็ต้องละที่เหตุ
คือ ต้องอยู่ร่วมกับผู้ที่เราไม่รัก และไม่เกลียดด้วย

ขอให้ท่านพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกัน
อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าจะเห็นจริงในสัจธรรมข้อนี้
พิจาณาดูง่ายๆ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถ้ามีสิ่งที่เรารัก
ความหวั่นไหว ความกลัวว่าสิ่งที่เรารักนั้น จะพลัดพรากจากเราไป
ทั้งโภคทรัพย์ และทรัพย์ที่มีวิญญาณ ที่เราครองอยู่
ที่เรายึดไว้ว่า จะต้องเป็นทรัพย์สมบัติของเราตลอดไป
ไม่มีวันที่จะต้องพรากจากเราไป

แท้ที่จริงนั้น มันหาเป็นเช่นนั้นไม่
มีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภ
มีเกียรติยศก็ต้องมีอัปยศ
มีมืดก็ต้องมีสว่าง
มีความเป็น ต้องต้องมีความตาย เป็นของคู่กันอยู่เสมอ
ดังนั้นจึงต้องควรพิจารณาใคร่ครวญทบทวนดูให้ดี
อย่าไปติหรือไปชมใครง่ายๆ โดยขาดจากการพิจารณาทบทวนเสียก่อน

เราไม่เคยรู้เลยว่า ทรัพย์ทั้งมีวิญญาณ และโภคทรัพย์
ล้วนต้องจากเราไปเป็นธรรดา
หรือไม่ เขาก็ต้องทำให้เราต้องจากเขาไปเป็นธรรมดา
อย่ามัวพะวงหน้าห่วงหลังกับสิ่งเหล่านี้ให้แรมใจไปเปล่าๆ
ซึ่งบางครั้ง อาจเป็นเครื่องทรมานใจของเราเองไปตลอดชีวิตทีเดียว

การใช้เสียงให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ซึ่งพระบรมศาสดาได้สอนไว้ว่า
วจีสุจริต หรือสัมมาวาจา นั้น เป็นคุณธรรมอันไม่มีโทษ
ซึ่งพุทธศสนิกชนทุกท่านควรรู้ ควรเข้าใจ ควรต้องปฏิบัติ
เพราะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของคุณภาพชีวิตที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
ให้เป็นไปด้วยดีได้และเป็นสุขด้วย

สัมมาวาจาหรือวาจาที่ชอบนั้นเป็นอย่างไร
แม้แต่เรางดเว้นไม่กล่าวถ้อยคำ ก็เป็นวิรัติสัมมาวาจา
ในขณะนั้น ศีลก็ตั้งอยู่ได้ กายย่อมสุจริต มโน (ใจ) ก็ย่อมสุจริตไปด้วย

ถ้าเราเข้าใจในเรื่องของเสียง หรือวจีสุจริต
ที่ทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์และเสียความสุขไป เพราะเสียงของเราเป็นต้นเหตุ
เพราะบางเรื่องบางอย่างนั้น แม้เป็นความจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์
หรือกาลไม่ให้ ก็ไม่ควรกล่าว ก็งดเสีย (วิรัติสัมมาวาจา)
แต่ถ้าเรื่องที่จะพูดนั้น มี “ประโยชน์” เป็น “ความจริง” ด้วย
“กาล” นั้นสมควรด้วย ก็ต้องพูดออกไป
ด้วยคำพูดที่ไพเราะ และใจที่เอ็นดู (ครบองค์ 5)
อันนี้เป็น สัมมาวาจา เรียกว่า “เจตตนาสัมมาวาจา”

เขาจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม จะโกรธ หรือพอใจก็ตาม ไม่สำคัญ
แต่เราต้องพูด แม้ไม่เป็นประโยชน์เวลานี้
แต่ข้างหน้าอาจจะมีประโยชน์สำหรับเขาก็ได้
เป็นการฝึกเขา และฝึกตัวเองไปด้วย
นี่เป็นการเว้นจากการกล่าว วจีทุจริต ทั้ง 4 (พูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ) ไปด้วยในตัว

ดังนั้น เสียงหรือวาจาการกล่าวถ้อยคำ จึงเป็น ธรรมะ อย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็น ธรรมชาติ ย่อมเป็นทั้งคุณและโทษได้อยู่เสมอ
จึงต้องควรพิจารณาใคร่ครวญทบทวนดูให้ดี ก่อนจะใช้เสียงเราเปล่งออกไป

ความจริงของเสียง (สัจจะวาจา) ที่ทรงแสดงไว้ตลอด
ตลอดจนวิธีการถาม การตอบคำถามว่า ควรจะต้องถามอย่างไร
คำถามที่เราจะถูกถามนั้นมีอะไรบ้าง และเราควรตอบอย่างไร
เมื่อใดควรจะต้องตอบโดยตรง และเมื่อใดควรจะเฉยๆ ไว้
หรือโต้คำถามกลับไป เพื่อให้ผู้ถามได้คิดได้ตอบเอง
หรือคำถามใด ที่จะต้องตอบโดยใช้ข้อเปรียบเทียบ (อุปมา)
เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้น

เรื่องต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นความจริงของเสียง (จริงวาจา)
ที่ได้ทรงแสดงไว้ในคำภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ล้วนมีเหตุผลอันน่าเลื่อมใสและจับใจ มีความประทับใจอย่างยิ่ง
น่าเรียนรู้ น่าปฏิบัติสมดั่งที่ท่าน พระมหาธรรมปาละ กล่าวไว้ในมหาฏีกาว่า
คำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำค้างใบหญ้า
ภูเขาทะเลลึก จะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม
จะพ้นจากสัจจะและเหตุผลนั้นหามีไม่

“ความทุกข์ของวันไหน ก็ควรพอแล้วสำหรับวันนั้น
เพราะมันเป็นความทุกข์ของวันนั้นๆ
ไยต้องนำมาทำให้ใจเราต้องกระสับกระส่ายในวันนี้อีกเล่า”



ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2548 10:22:17 น.
Counter : 508 Pageviews.  


ลุงแอ็ด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลุงแอ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.