วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 

แบบเรียนสยาม – แบบเรียนในวันเยาว์ (แบบเรียนจินดามณี -แบบเรียนหลวง)


แบบเรียนจินดามณี -แบบเรียนหลวง


                แบบเรียนของสยามบ้านเรานั้น มีใช้กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่แบบเรียน  จิดามณี ของ พระโหราธิบดี กวีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จินดามณีที่ตกทอดเป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน จากต้นฉบับที่ค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ ปรากฏว่ามีหลายฉบับด้วยกัน แต่มีข้อความแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่า สมัยอยุธยายังไม่มีการพิมพ์ ผู้เรียนในสมัยนั้นจึงต้องใช้วิธีการคัดลอก เมื่อคัดลอกต่อๆ กันเป็นทอด ๆ ก็ย่อมมีความคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับเดิมอยู่บ้าง



การเรียนในสมัยก่อนจะอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง และ วัด


                ประเภทของหนังสือจิดนามณี เท่าที่ค้นได้ในหอสมุดแห่งชาติ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีฉบับความพ้อง จินดามณีฉบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  และจินดามณีฉบับหมอบรัดเล



original_Cintamani01-vert.jpg


                ชื่อของจินดามณี มีเขียนไว้หลากหลายชื่อด้วยกัน จินดามณี จินดามนี และจินดามุนี ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์        ได้อธิบายที่มาของชื่อ จินดามณี  ไว้ดังนี้


                ที่เข้าใจว่าชื่อหนังสือนั้น ที่ถูกน่าจะเป็น จินดามณี อย่างเดียวก็เพราะคำว่า จินดามณี นั้น เป็นชื่อของแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าแต่โบราณ ถ้าใครมีอยู่แล้วอาจนึกอะไรได้ผลสำเร็จตามใจนึกของผู้เป็นเจ้าของฉันใด ท่านผู้แต่งตั้งนามของหนังสือนี้ก็ฉันนั้น คือน่าจะตั้งใจให้มีความหมายว่า ถ้ากุลบุตรผู้ใดได้เรียนได้ตามหนังสือนี้แล้วก็จะมีความรู้แตกฉานในอักษรศาสตร์ของสยามได้ เหมือนหนึ่งมีแก้วสารพัดนึกคือจินดามณี


                     การเรียบเรียงหนังสือจินดามณี เน้นหนักในทางฝึกฝนให้เป็นกวี เริ่มต้นเป็นบทร่ายบูชา พระรัตนตรัย เนื้อหาได้แก่ อักษรศัพท์ จำแนกอักษรเป็น ๓ หมู่ แจกลูก ผันอักษร อธิบายวิธีแต่ง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และแสดงตัวอย่างประกอบไว้ด้วย


                  หนังสือจินดามณี จึงนับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก และเป็นแม่บทของแบบเรียนไทยสมัยต่อมา ใช้กันแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ เพิ่งเลิกใช้เป็นแบบเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสือ แบบเรียนหลวง ขึ้นใช้ในโรงเรียนหลวง


                  แบบเรียนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากจะใช้หนังสือจินดามณีแล้ว ยังมีแบบเรียนอื่นที่สำคัญอีก ๒เล่ม คือ ประถม ก กา และ ปถมมาลา หนังสือประถม ก กา ไม่ปรากฏหลักฐานผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด กรมศิลปากรได้อธิบายไว้ดังนี้


               ....ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าผู้ใดแต่ง และแต่งสมัยใด แต่พิจารณาดูข้อความเห็นไม่เก่าไปกว่าหนังสือปฐมมาลาซึ่งพระเทพโฆฬี วัดราชบูรณะแต่ง และเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งสุนทรภู่แต่ง หนังสือ ๒ เล่มที่กล่าวมานี้ เป็นหนังสือเรียนในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นสมัยที่การกวีรุ่งเรืองมาก คงจะได้มีการนำแบบแผนในหนังสือจินดามณีครั้งกรุงเก่ามาแต่งปรังปรุงแก้ไขใหม่ให้ง่ายเข้า และแต่งบทประพันธ์ประกอบเรื่อง เพื่อช่วยให้การอ่านแตกฉาน หนังสือประถม ก กา ก็คงจะแต่งขึ้นในสมัยนี้ด้วย..............


                   ลักษณะการแต่งประถม ก กา เริ่มต้นพยัญชนะไทยทั้ง ๔๔ ตัว การผันพยัญชนะว่าด้วยเรื่องแม่ ก กา แม่กกแม่กง แม่กด แม่กน แม่กบ ไปจนถึงแม่เกย มีกาพย์ สรุปเนื้อความในแต่ละตอน นอกจากนั้นยังมีวิธีการเขียน อ่าน อักษรควบกล้ำ และเครื่องหมายต่าง ๆ เรียกว่า เครื่องประดับสำรับอักษร ซึ่งจำแนกออกเป็นเครื่องหมายที่เขียนบนสระและเครื่องหมายวรรคตอน


                    ตอนที่ว่าด้วย ประถม  ก กา หัดอ่าน แต่งเป็ฯคำประพันธ์แบบกาพย์ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง เริ่มต้นด้วยร่ายบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณบิดามารดา และบูชาครู ต่อจากนั้นจึงเป็นกาพย์ มีเนื้อความว่าด้วย วิธีการศึกษาหาความรู้ และว่าด้วยจริยศึกษา กิจวัตรของศิษย์วัดตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนถึงเข้านอน สิ่งที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่ควรละเว้น ในตอนท้ายเป็นความรู้เกี่ยวกับการนับเลข และนับวัน เดือน ปี



                  หนังสือประถม ก กา ในภายหลังมีปรากฏว่ามีผู้แต่งขึ้นหลายฉบับ หลากหลายสำนวน เป็นต้นว่าฉบับของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์ ณ อยุธยา) แต่งเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ ปกผ้าราคาเล่มละ ๑๙ อัฐ พิมพ์ที่โรงพิมพ์นุกูลกิจ


                 แบบเรียนในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ อีกเล่มหนึ่ง คือ ปถมมาลา ของ พระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบูรณะ กรมศิลปากร ได้ให้คำวินิจฉัย ถึงแบบเรียนดังกล่าวไว้ดังนี้


            .....ผู้แต่งหนังสือปฐมมาลานี้ กล่าวกันว่า เป็นพระภิกษุที่มีนามเดิมว่า ผึ้ง หรือ พึ่ง ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระเทพโมฬี สถิต ณ วัดราชบูรณะ จึงเข้าใจว่าคงแต่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะปรากฏชื่อพระเทพโมฬี ในบรรดากวีฝ่ายสมณะ ๑๑ รูป ผู้แต่จารึกวัดพระเชตุพนฯ คราวทรงปฏิสังขรณ์วัดนั้นเป็นการใหญ่........


            ลักษณะการแต่ง ปถมมาลา แต่งเป็นกาพย์ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มต้นด้วย “คำกลอนในแม่ ก กา” จนถึงแม่เกย ต่อมาว่าด้วย “อักษรที่ใช้ในบาลี” แนะนำสั่งสอนกุลบุตรในการเรียน พระคัมภีร์ พระไตรปิฎก และตอนท้ายว่าด้วยวิธีการแต่งโคลง


                หนังสือปถมมาลา หรือ ปฐมมาลา ซึ่งพระเทพโมลี (ผึ้ง) แต่ง เคยใช้เป็นแบบเรียนหนังสือไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๕


                พระเทพโมลี เป็นกวีที่มีภูมิรู้สูง แต่โคลงกลอนไพเราะ แบบเรียนในสมัยหลังมักนำบทกลอนจากปถมมาลา มากล่าวถึงอยู่เสมอ เพราะผู้แต่งสามารถสรรหาถ้อยคำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมทั้ง ๆ ที่เป็นบทเรียน


                อักษรนิติ เป็นแบบเรียนหนังสือไทย ของ พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ในรัชกาลที่ ๔ วัตถุประสงค์ในการเรียบเรียง “อักษรนิติ” เพื่อให้สานุศิษย์ของท่านใช้เป็นแบบเรียน


                ลักษณะการแต่ง ขึ้นต้นด้วยคำนมัสการ จำแนกพนัญชนะ จำแนกสระ จำแนกอักษร การผันอักษร โคลงตัวอย่างการใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ตัวอย่างคำใช้ ศ. ษ. ส. และว่าด้วยตัวสะกดในแม่ กก กง กด กน กน กบ กม เกย



หนังสือแบบเรียนหลวง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่ง


                แบบเรียนของไทยดังกล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างตน เลิกใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้แต่งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดให้หลวงสารประเสริฐ (ภายหลังเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร) เป็นอาจารย์ใหญ่ หลวงสารประเสริฐ ได้แต่ง แบบเรียนหลวง สำหรับใช้ในโรงเรียนหลวง ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังคโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และ พิศาลการันต์ แบบเรียนหลวงชุดนี้ได้ใช้สอนกุลบุตรธิดา มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๑  จึงเลิกใช้มาใช้แบบเรียนเร็ว ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่ง มีทั้งหมด ๓ เล่มคือ แบบเรียนเร็วเล่ม ๑ แบบเรียนเร็วเล่ม ๒ และแบบเรียนเร็วเล่ม ๓ แบบเรียนเร็วทั้ง ๓ เล่มนี้ ใช้เป็นแบบเรียนมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗



                 หนังสือแบบเรียนเร็ว ๑-๓  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่ง


                    ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ยกฐานกรมธรรมการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ และมีการจัดการศึกษาเป็น ๓ ชั้น เรียกประโยค ๑ ประโยค ๒ และ ประโยค ๓ จึงมีแบบเรียนวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นอันมากและมีวิวัฒนาการเป็นลำดับสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้  โดยจะกล่าวในบทความตอนต่อไป


เอกสารอ้างอิง


กฤษณา สินไชย และ รัตนา ฦาชาฤทธิ์. ความเป็นมาของแบบเรียนไทย.กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๒๐.


จินดามณี เล่ม ๒-๓ กับบันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ.พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๑๒.


นิพนธ์ สุขสวัสดิ์.ว่าด้วยเรื่องแบบเรียนไทย. โครงการตำรามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : พิษณุโลก, ๒๕๒๑


ประถม ก กา ประถม ก กา หัดอ่าน ปฐมมาลา อักษรนิติ แบบเรียน หนังสือไทย.พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๑๓.


นวลจันทร์ รัตนากร และคณะ.ปกิณกะ เรื่องหนังสือในสมัยรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์น์, ๒๕๒๔






Free TextEditor




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2554    
Last Update : 18 มิถุนายน 2554 14:00:17 น.
Counter : 9374 Pageviews.  

จากบัตรอวยพรใบแรกของสยาม - บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา



   


   บัตรอวยพรใบแรก ๆ ของสยาม  เราได้รับธรรมเนียมมาจากฝรั่งชาติตะวันตก เช่นเดียวกับการพิมพ์นามบัตร หรือพิมพ์การ์ดเชิญต่างๆ บัตรอวยพรที่เก่าแก่ที่สุด หรือแบบแรกที่สุด คือ บัตรอวยพรปีใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงทำขึ้นเป็นพระองค์แรก เมื่อ ๑๒๐ กว่าปีก่อน 


       บัตรอวยพรนอกจากนี้ได้แก่ บัตรอวยพรวันคริสต์มาส วันเกิด และ วันมงคลต่างๆ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ติดต่อกับประเทศตะวันตก และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนวิทยาการของชาวตะวันตกหลายๆอย่าง การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน แต่ได้มีสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ( พ.ศ. ๒๔๐๙ ) ของพระองค์ ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ใน น.ส.พ. THE BANGKOK RECORDER ( ฉบับภาษาอังกฤษ ) ของหมอบรัดเลย์ แปลความได้ว่า ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลชาติต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน





     ในยุคแรกๆ บัตรอวยพรมีขนาดเล็กเท่านามบัตร  ปรากฏเฉพาะชื่อของผู้ส่ง  ตำแหน่ง  และปีพุทธศักราช เท่านั้น  มีทั้งตัวพิมพ์และเขียนด้วยลายมือ  ต่อมาบัตรอวยพรมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าโปสการ์ด เป็นภาพวาดสีน้ำ มีสีสันสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกไม้ ผลไม้ และสัตว์ คำอวยพรเป็นร้อยแก้ว หรือบทร้อยกรอง และใช้คำที่แปลกออกไปจากปัจจุบัน เช่น คำว่า “ศุข” แทนคำว่า “สุข”  คำว่า “รฦก” แทนคำว่า “ระลึก” และใช้คำว่า “ถ.ค.ส.”เพื่อถวายความสุขแด่พระมหากษัตริย์ เป็นต้น  และมีข้อความอวยพรเป็นภาษาอังกฤษ ในช่วงที่มีการติดต่อกับต่างประเทศ     บัตรอวยพรชุดที่เด่น เป็นบัตรอวยพรชุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบราชินีนาถและพระราชโอรส  รวมทั้งภาพเหตุการณ์สำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น       


           บัตรอวยพร ที่เก็บรักษาไว้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมบัตรอวยพรตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงยุคปัจจุบัน  ซึ่งเราจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการของบัตรอวยพรปีใหม่ของคนไทยได้เป็นอย่างดี เป็นการส่งมอบความสุขเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยคือ ๑ เมษายน ซึ่งเป็นบัตรอวยพรที่เจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยส่งมาถวายรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗  


 


         แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ไทยแต่โบราณ ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่  ภายหลังทางราชการนิยมใช้ สุริยคติ จึงถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่    ในช่วงสมัยที่มีการส่งบัตรอวยพรปีใหม่  นอกจากบัตรอวยพรปีใหม่แล้ว  ยังปรากฏว่ามีการส่งบัตรอวยพรในวันตรุสฝรั่งหรือวันคริสต์มาสคือ วันที่ ๒๕ ธันวาคมและวันขึ้นปีใหม่สากลคือวันที่ ๑ มกราคม ด้วย



            บัตรอวยพรในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตัวอย่างในหอจดหมายเหตุแห่งชาตินับร้อยๆแผ่น เรียกว่ามากพอสมควร ซึ่งสามารถแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ 4 ประเภท คือ



          ประเภทที่หนึ่ง ใช้นามบัตรแผ่นเล็กๆ เป็น ส.ค.ส. นามบัตรที่ว่านี้จะเล็กกว่าปัจจุบันนี้เล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมีแต่ชื่อไม่มี   สถานที่บางบัตรก็เป็นบัตรที่ใช้พิมพ์ บางบัตรก็ใช้ปากกาเขียนคำว่า ส.ค.ส ปีนั้น ปีนี้ลงไป


           ประเภทที่สอง จะใช้ ส.ค.ส. ที่ฝรั่งพิมพ์ขายอย่างสวยงาม บางแผ่นก็มีหลายชั้น สามารถยืดได้และพับได้


           ประเภทที่สาม ใช้กระดาษเปล่าเขียนคำอวยพร และเซ็นชื่อข้างท้ายคล้ายกับการเขียนจดหมาย เท่าที่พบจะเป็นคำถวายพระพรรัชกาลที่ 5 จากขุนนาง หรือจากเจ้านายชั้นสูง


          ประเภทสุดท้าย จะใช้วิธีการอัดรูป หรือข้อความลงในกระดาษอัดรูป การอัดรูปทำ ส.ค.ส. นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการทำกันในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็เคยนิยมทำกัน


 


             ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างปี  ๒๔๖๓ – ๒๔๖๕ มีบัตรอวยพรชุดที่เด่น คือ ภาพถ่ายที่อัดบนบัตรอวยพร  ชุดภาพการซ้อมรบเสือป่า และแบบที่แปลกตาคือ บัตรอวยพรส่งความสุขเนื่องในวันวิสาขบูชา  สันนิษฐานว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มขึ้นเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวสยามและในฐานะที่เป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา มีลักษณะที่เป็นภาพวาดด้วยสีน้ำ และภาพพิมพ์ เช่น ภาพพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จออกผนวช ฯลฯ และนิยมเขียนคำอวยพรเป็นคาถาในภาษาบาลี


              พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริที่จะให้เป็นประเพณีนิยม ในการส่งบัตรอวยพร "วันวิสาขบูชา" ในหมู่พุทธศาสนิกชน ทรงริเริ่มส่งบัตรอวยพรพระราชทานพรวันวิสาขบูชาแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมเผยแพร่พระพุทธศาสนา บัตรอวยพร เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา ได้รับความนิยมลดน้อยลงและหมดความนิยมลงในปัจจุบัน 


                ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ และ ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากร จัดพิมพ์บัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชาขึ้น  เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีการส่งบัตรอวยพรเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา


             ในวาระโอกาสที่ "วันวิสาขบูชา" ซึ่งตรงกับวันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔  รักสยาม หนังสือเก่า ขออัญเชิญบัตรถวายพระพร วันวิสาขบูชา ที่พระบรมวงศานุวงศ์ขุนนาง และข้าราชการมฝ่ายต่าง ๆ ได้ส่งบัตรถวายพระพรมาจัดแสดง บัตรถวายพระพรเหล่านั้นแต่ละใบแฝงไว้ด้วยความงดงามด้านศิลปกรรม อันทรงคุณค่า และความยึดมั่นศรัทธราในพระพุทธศาสนาที่มีมาช้านานคู่บ้าน คู่เมืองของเรา


                  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีจะทันสมัยไปมากแล้ว  การอวยพรปีใหม่ก็สามารถโทรศัพท์ไปอวยพรได้รวดเร็วทันใจ  แต่ปัจจุบันนี้ เราก็ยังคงนิยมส่งบัตรอวยพรในโอกาสต่าง ๆ ให้ผู้ที่เรานับถือเหมือนเดิมมิเสื่อมคลายไป   


บัตรอวยพร เนื่องในวันวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ ๖  วาดภาพด้วยสีน้ำเกี่ยวกับพุทธประวัติ มีลักษณะเด่นสวยงาม 


Photograph175-1-tileResize.jpg     


 


ข้อมูลอ้างอิง


อเนก นาวิกมูล. “ เนื่องด้วยความศุข ” ผาสุก 17,97 น. 27-30
----------------. สิ่งพิมพ์คลาสสิค. กรุงเทพ : วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์ , 2533


สำนักพระราชวัง.ปกิณกะในรั้ววัง(อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์.


กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง.2549



Free TextEditor




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2554 14:24:23 น.
Counter : 6822 Pageviews.  

100 ปีชาตกาล บุคคลสำคัญของโลก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ก่อนศาลโลกจะตัดสิน ๒ ปีเศษ


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้แต่งกลอนด่าเขมรไว้ว่า


เขมรเป็นโคตรเนรคุณ...                        'สัปดาห์นี้มีเรื่องความเมืองใหญ่
ไทยถูกฟ้องขับไล่ขึ้นโรงศาล                                เคยเป็นเรื่องโต้เถียงกันมานาน
ที่ยอดเขาพระวิหารรู้ทั่วกัน                  กะลาครอบมานานโบราณว่า
พอแลเห็นท้องฟ้าก็หุนหัน                     คิดว่าตนนั้นใหญ่ใครไม่ทัน
ทำกำเริบเสิบสันทุกอย่างไป                                อันคนไทยนั้นสุภาพไม่หยาบหยาม
เห็นใครหย่อนอ่อนความก็ยกให้          ถึงล่วงเกินพลาดพลั้งยังอภัย
ด้วยเห็นใจว่ายังเยาว์เบาความคิด      เขียนบทความด่าตะบึงถึงหัวหู
ไทยก็ยังนิ่งอยู่ไม่ถือผิด                         สั่งถอนทูตเอิกเกริกเลิกเป็นมิตร
แล้วกลับติดตามต่อขอคืนดี                 ไทยก็ยอมตามใจไม่ดึงดื้อ
เพราะไทยถือเขมรผองเหมือนน้องพี่   คิดตกลงปลงกันได้ด้วยไมตรี
ถึงคราวนี้ใจเขมรแลเห็นกัน                  หากไทยจำล้ำเลิกบ้างอ้างขอบเขต
เมืองเขมรทั้งประเทศของใครนั่น?        ใครเล่าตั้งวงศ์กษัตริย์ปัจจุบัน
องค์ด้วงนั้นคือใครที่ไหนมา?                                เป็นเพียงเจ้าไม่มีศาลซมซานวิ่ง
ได้แอบอิงอำนาจไทยจึงใหญ่กล้า       ทัพไทยช่วยปราบศัตรูกู้พารา
สถาปนาจัดระบอบให้ครอบครอง      ได้เดชไทยไปคุ้มกะลาหัว
จึงตั้งตัวขึ้นมาอย่างจองหอง                                เป็นข้าขัณฑสีมาฝ่าละออง
ส่งดอกไม้เงินทองตลอดมา                  ไม่เหลียวดูโภไคไอศวรรย์
ทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นหนักหนา  ฝีมือไทยแน่นักประจักษ์ตา
เพราะทรงพระกรุณาประทานไป        มีพระคุณจุนเจือเหลือประมาณ
ถึงลูกหลานกลับเนรคุณได้                  สมกับคำโบราณท่านว่าไว้
อย่าไว้ใจเขมรเห็นจริงเอย...


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช
หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
18  ตุลาคม 2502


 



 องค์การ ยูเนสโก ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านศาสตราจารย์(พิเศษ) พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” 4 สาขา คือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ  100 ปีชาตกาล พ.ศ. 2554 


        


      อาจารย์ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 เพราะฉะนั้นในวันที่ 20 เมษายน 2554 ท่านจะมีอายุครบ 100ปี เต็ม นับเป็นเกียรติประวัติต่อวงศ์ตระกูลของท่าน และยังเป็นหน้าเป็นตา เพราะสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งสมควรต้องมีการเฉลิมฉลองกันพอสมควร อย่างน้อยที่สุดน่าจะเป็นการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่ออนุชน รุ่นหลังได้รู้จักหรือศึกษาชีวิตของท่าน เพราะในรอบหลายร้อยปีจะมีคนอย่างนี้มาเกิดสักคน


     อาจารย์คึกฤทธิ์ มีคุณูปการต่อแผ่นดิน เป็นอะไรหลายอย่างในประเทศนี้ เป็นผู้ก่อตั้ง “พรรคกิจสังคม” และมีผู้แทนราษฏรเพียง 18 เสียง เมื่อปี พ.ศ. 2518 แต่ท่านอาจารย์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกกลับได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 13  ของประเทศไทย อีกทั้งท่านยังเป็น ปราชญ์ เป็น พหูสูต เป็นเสาหลักประชาธิปไตย แต่ที่สำคัญที่สุด



       ท่านเป็นผู้ที่ไม่เคยคิดคดทรยศโกงกินบ้านเมือง เป็นนักการเมืองที่มือสะอาดบริสุทธิ์ ท่านเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” คนแรก ที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก่อนที่จะเป็นแหลงผลิตบุคลากรในอาชีพนี้ออกสู่สังคมประเทศจำนวนมาก


          ท่านก็เหมือนคนไทยยุคก่อน คือเริ่มงานด้วยการรับราชการ งานแรกเมื่อกลับเมืองไทยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็คือข้าราชการกรมสรรพากร และเลื่อนเป็นเลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ก่อนไปทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง เคยเป็นทหารผ่านศึกเมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยมียศเป็น"นายสิบตรี" และเมื่อนั้นรัฐบาลจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็เข้าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)



ภาพถ่าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช์ ผลงาน รงษ์ วงค์สวรรค์


        ในปี พ.ศ.2531 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนยศเป็น "พลตรี"(ทหารราชองครักษ์พิเศษ) และเลื่อนยศจากพลตรี เป็นพลเอก ในรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ


        นอกจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ระหว่างปี พ.ศ.2485 - 2490 โดยสอนวิชาการธนาคาร ในระดับปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ และวิชาการธนาคารของการศึกษาเพื่อรับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี รวมทั้งสอนที่คณะพาณิชย์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2485 - 2495 และสอนในคณะรัฐศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2491 - 2494


         ที่สำคัญในฐานะอาจารย์ก็คือท่านคือผู้อุปถัมภ์โขนไทยด้วยการตั้ง"โขนธรรมศาสตร์"ขึ้นมา ผลงานด้านการประพันธ์นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้รับการยกย่องมากมายกับงานเขียน โดยเฉพาะงาน"ชิ้นเอก"คือ"สี่แผ่นดิน"ที่ทุกคนได้รู้จัก"แม่พลอย" รวมทั้งผลงานอื่นๆที่ยังคงมีคนหาอ่านกัน เช่น ไผ่แดง, กาเหว่าที่บางเพลง, ซูสีไทเฮา,สามก๊กฉบับนายทุน, ราโชมอน, มอม, เพื่อนนอน, หลายชีวิต, ฉากญี่ปุ่น, ยิว, เจ้าโลก, ฝรั่งศักดินา,  พม่าเสียเมือง, ถกเขมร ฯลฯ จึงไม่แปลกที่ท่านได้รับการยกย่องเป็น "ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์" คนแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2528


          รวมทั้งร่วมกับ"สละ ลิขิตกุล" ก่อตั้ง"หนังสือพิมพ์สยามรัฐ" 


        ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้ชื่อว่าเป็น"เสาหลักประชาธิปไตย"ของเมืองไทย โดยท่านได้ตั้งพรรคก้าวหน้าขึ้นในปี 2488 แต่ก็ได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา ก่อนจะตั้งพรรคใหม่อีกครั้งคือ"พรรคกิจสังคม" เมื่อ พ.ศ. 2517 พร้อมนโยบาย"เราทำได้" และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม  2518 และเป็นเจ้าของนโยบาย"เงินผัน"อันลื่อลั่น



      



  ผลงานเด่นที่สุดในฐานะนายกรัฐมนตรีของท่านก็คือการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน


        วันนี้..ครบ 100 ปีของ"บุคคลสำคัญของโลก"ที่ชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บุคคลที่ 100 ปีมีเพียงหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นทุก"นัก"  ตั้งแต่นักวิชาการ นักประพันธ์ ยันนักการเมือง และยังทำได้ดีทุก"นัก"ที่ท่านเป็น จนหลายคนเรียกท่านว่า"นักปราชญ์"จนโลกยกย่อง


         หนึ่งเดียวนี้คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช






Free TextEditor




 

Create Date : 21 เมษายน 2554    
Last Update : 21 เมษายน 2554 19:36:41 น.
Counter : 2402 Pageviews.  

ฤกษ์ดีปีใหม่ ไหว้พระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน


ฤกษ์ดีปีใหม่ ไหว้พระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน


กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร


 พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร



 


เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรขอเชิญร่วมงาน 'ฤกษ์ดีปีใหม่ ไหว้พระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน' โดยในโอกาสนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณ ๙ องค์ ออกให้ประชาชนได้ร่วมสักการะ เพื่อประชาชนสักการะบูชาอย่างใกล้ชิด ๑ ปี ๑ ครั้ง ณ หอพระวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ (สนามหลวง ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) 


 



 


โดยปกติพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปหลวงพ่อนาก พระพุทธรัตนมหามุนี และพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์แดงทั้งคู่ จะประดิษฐานอยู่ ณ หอพระวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แต่ในคราวนี้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระหายโศก พระไภษัชยคุรุ พระชัยนครราชสีมา และพระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ ออกให้ประชาชนได้ร่วมสักการะครบทั้ง ๙ องค์ อันเป็นวาระที่เป็นมงคลและหาได้ยากยิ่ง


พระพุทธรูปสำคัญที่นำออกให้ได้ร่วมสักการะในครั้งนี้ ได้แก่…


 


๑. พระพุทธสิหิงค์ พระปฏิมาแบบสุโขทัย - ล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นับถือเป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนาน พระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จึงสถิตเป็นมงคลแก่พระนครประจำ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานครได้อัญเชิญออกให้ประชาชนถวายน้ำสงกรานต์เป็นประจำทุกปี นับเป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์และสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง ทุกวันนี้ พระพุทธสิหิงค์องค์จริงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่มีมาแต่โบราณกาล และมีความสง่างามเป็นเลิศ ได้ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สนามหลวง



๒.พระหายโศกพระปฏิมาศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นพระพุทธรูปของหลวงพระราชทานมีนามเป็นมงคลพิเศษ จากจารึกฐานพระพุทธรูปกล่าวว่าส่งมาถึงกรุงเทพฯในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙เดิมคงใช้ในพระราชพิธีหลวง จนกระทั่งกรมพระราชพิธีส่งมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปอำนวยความสุข สวัสดี


                                                                                             


๓. พระไภษัชยคุรุศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ แสดงปางสมาธินาคปรก ทรงเครื่องมีผอบบรรจุพระโอสถอยู่ในพระหัตถ์เป็นพระพุทธปฏิมาที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนับถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าแพทย์ผู้ช่วยสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นทุกข์อันเกิดจากโรคทางกายและโรคทางใจตลอดจนช่วยให้มีชีวิตยืนยาวเนื่องจากทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยอธิษฐานความปราศจากโรคภัยของผู้คนในกาลสมัยของพระองค์เชื่อกันว่าผู้ปฏิบัติบูชาพระไภษัชยคุรุสามารถหายจากอาการเจ็บป่วยทางกายและใจด้วยการสวดบูชาออกพระนาม และสัมผัสรูปพระปฏิมา สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗แห่งกรุงกัมพูชา สร้างพระราชทานเป็นพระปฏิมาประธานในอโรคยาศาลเพื่อผู้ป่วยและประชาชนบูชา เพื่อพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ



                                                
 ๔. พระชัยนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เดิมพระชัยสร้างขึ้นเพื่อเป็นมงคลในการศึกสงคราม เพื่อความมีชัยชนะต่ออริราชศัตรู ต่อมาอัญเชิญไปในการพิธีด้วย เรียกว่าพระชัยพิธี เพื่อให้การพิธีสัมฤทธิ์ผล ปราศจากการเบียดเบียนบีฑาจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ พระชัยนครราชสีมา แสดงปางมารวิชัย คือครั้งพระพุทธองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพระยารามาธิราช พระองค์เบื้องหน้า เบื้องพระปฤษฎางค์(หลัง) พระนลาฏ(หน้าผาก) พระศอ(คอ) พระอังสา(ไหล่) และพระกรทั้งสอง จารึกอักขระขอม ภาษาบาลี อายุอักษรราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ เป็นยันต์และหัวใจพระคาถาต่างๆ เช่น หัวใจพระคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ (นะ โม พุท ธา ยะ) หมายถึง ชัยชำนะ โดยยึดถือคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย



๕. พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ สร้างขึ้นตามคติเรื่องชมพูบดีสูตร หรือพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดี โดยทรงบันดาลพระเวฬุวันวิหารประดุจเมืองสวรรค์ และเนรมิตพระองค์ทรงเครื่องพระจักรพรรดิราช แสดงบุญญานุภาพเหนือพระยามหากษัตริย์ทั้งปวง เพื่อคลายทิฐิมานะแห่งพระยามหาชมพูกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ และทรงแสดงธรรมจนกระทั่งพระยาชมพูสิ้นมานะ ขอบวชเป็นพระสาวกในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิจึงหมายถึงอำนาจ และธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย พระพุทธรูปดังกล่าวนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนับถือเป็นหน่อพุทธางกูร



๖.-๗. พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์แดงทั้งคู่ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ ตามตำนานพระแก่นจันทน์ มีเนื้อความว่าด้วยสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดายังดาวดึงส์สวรรค์เป็นเวลา ๓ เดือน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอนุสรณ์ถึงพระพุทธองค์จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ขึ้นในครั้งนั้น พระแก่นจันทน์จึงเป็นรูปแทนเสมือนองค์พระพุทธเจ้า เพราะสร้างในขณะพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าแผ่นดินและผู้มีอำนาจวาสนาจึงมักสร้างพระพุทธรูปจากไม้จันทร์หอม พระไม้แก่นจันทน์แดงทั้งคู่นี้แสดงปางประทานอภัย มีความหมายถึงการปกป้องภยันตรายทั้งปวง



 
๘.
 พระพุทธรูปหลวงพ่อนาก ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ พระองค์สีนาก เนื่องจากเนื้อสำริดมีส่วนผสมของทองคำมากเป็นพิเศษ พระเนตรฝังนิล ประทับขัดสมาธิเพชร พระบาททั้งสองข้างจำหลักลวดลายมงคล จารึกฐานพระพุทธรูประบุว่า พระยายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยาสร้างเมื่อพ.ศ.๒๐๑๙ เดิมคนร้ายขุดค้นพบในเจดีย์โบราณที่ป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค จังหวัดพะเยา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้พร้อมของกลางที่จังหวัดลำปาง ต่อมาหลวงอดุลยธารปรีชาไวท์ ผู้พิพากษาจังหวัดเชียงรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๖๙ จึงพระราชทานให้เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระพุทธรูปแสดงปางสมาธิ หมายถึงการตรัสรู้ธรรม 



๙. พระพุทธรัตนมหามุนี (พระแก้วน้อย) ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ มีความหมายถึงสวัสดิมงคลและสินทรัพย์ องค์พระพุทธรูปจำหลักจากอัญมณีแก้วสีเขียวอ่อน น้ำแตงกวา พุทธศิลป์ล้านนาสมัยหลัง ทรงเครื่องทองและอัญมณี เดิมพบแตกเป็น ๒ ส่วน เจ้าของเดิมได้มาคนละคราว นำมาต่อเป็นเนื้อเดียวกันได้เป็นอัศจรรย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รับถวายจาก พ.ต.อ.อานนท์ อาขุบุตรและครอบครัว พระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อพ.ศ.๒๕๓๔



ติดต่อสอบถาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


โทร.๐๒-๒๒๔ ๑๓๗๐, ๐๒-๒๒๔ ๑๓๓๓


 






Free TextEditor




 

Create Date : 13 เมษายน 2554    
Last Update : 13 เมษายน 2554 21:39:53 น.
Counter : 3414 Pageviews.  

หนังสือล้ำค่าเรื่อง ตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ (๒)




หนังสือเรื่องตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ ยังประมวลความรู้เกี่ยวกับหินที่ใช้ในการแกะสลักตุ๊กตาจีน ซึ่งมีหลายชนิด เช่น หินภูเขาไฟ หรือศิลาเขียว ซึ่งเป็นหินเนื้อละเอียด ตุ๊กตาจีนส่วนใหญ่ในวัดพระเชตุพนแกะสลักด้วยหินชนิดนี้ เช่น ตุ๊กตาหญิงดีดพิณ (หวังเจาจิน) ตุ๊กตาอำมาตย์ที่ซุ้มประตูพระมหาเจดีย์ ตุ๊กตาฝรั่งที่ประตูกำแพงแก้ว หินอัคนี หรือหินไดออร์ไรต์สวยมากแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ หินแกรนิตสีชมพูใช้แกะสลักเป็นตุ๊กตาหน้าพระวิหารทิศตะวันออก และหินทราย แกะสลักเป็นตุ๊กตาศิลาขนาดย่อม เช่น มารแบกถะ เป็นหินทรายเนื้ออ่อนจากเขาสำเภาลพบุรี



หนังสือเรื่องนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับหินต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในวัดพระเชตุพนฯ ได้แก่ พระวิหารทิศพระโลกนาถ พระวิหารทิศพระปัญจวัคคีย์ พระวิหารทิศพระนาคปรก พระวิหารทิศพระป่าเลไลยก์ พระระเบียงพระอุโบสถชั้นใน ลานพระอุโบสถ พระมหาสถูป พระระเบียงพระอุโบสถชั้นนอก พระเจดีย์รายและพระเจดีย์หย่อม พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระวิหารคด พระมณฑป ศาลาทิศพระมณฑป ศาลาการเปรียบ พระวิหารน้อย หอระฆัง สระจระเข้ สวนมิสกวัน พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เขามอรอบกำแพงวัด ศาลเจ้าพ่อเขาตก ศาลาราย ประตูและกำแพงวัด หินที่ใช้มีหลากหลาย เช่น หินอ่อน หินปูนจากเกาะสีชัง หินโดออไรท์ หินภูเขาไฟสีเขียว หินทรายเนื้ออ่อนและเนื้อหยาบ หินชนวน หินเหล็กไฟ หินสีม่วงแข็ง หินทรายแดงจากราชบุรีและเพชรบุรี หินปูน ศิลาเลี่ยงโผ หรือหินสีแดงจากเมืองเลี่ยงโผหรือเน่งโป หินแกรนิตไนส์จากชลบุรี หินแกรนิตจากลพบุรี หินทรายเนื้ออ่อนจากเขาสำเภาลพบุรี หินสบู่จากนครนายก หินเหล็กไฟ หินทรายแดง หินดินดานสีดำเนื้อแน่นจากสุโขทัย ศิลามอจากสุโขทัย หินฟันม้าจากลพบุรี หินชั้น หิน Tactite หินทรายสีเขียว หินชนวน หินอ่อนสีดำ หินกรวดภูเขาไฟ หินขัด และมีบทคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหินเหล่านี้ เป็นประโยชน์เพิ่มพูนความรู้ที่น่าสนใจแก่ผู้อ่านอย่างมาก


นอกจากความรู้ต่าง ๆ อย่างหลากหลายที่กล่าวมาแล้ว หนังสือตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ยังมีผังบริเวณเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ เป็นภาพสีสวยงามชัดเจน และยังให้ความรู้เกี่ยวกับการเทียบชื่อเฉพาะภาษาจีน โดยจัดทำตารางเทียบอักษรไทย อักษรจีน และอังกฤษไว้ด้วย เช่น กวางโจว (กว่างโจว) Guangzhou จ้วง Zhuang เป็นต้น การเทียบคำนี้มีถึง ๑๘๐ คำ



การศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียบเรียงหนังสือตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ ผู้เรียบเรียงใช้หนังสืออ้างอิงรวม ๒๓ เรื่อง เป็นหนังสืออ้างอิงที่เชื่อถือได้ หรือมีผู้แต่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เช่น พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์อังกฤษไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑-๒ กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๒๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส-โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนฯ. พระนคร คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯจัดพิมพ์, ๒๕๔๗. จดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๖. กาญจนาคพันธ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) ภาพประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๐๕. กาญจนาคพันธ์, ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์, พระนคร : บำรุงสาส์น, ๒๕๑๖. จิตรา ก่อนันทเกียรติ. พระพุทธ พระโพธิสัตว์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีน. พิมพ์ครั้งที่ ๒ พระนคร : สำนักพิมพ์จิตรา, ๒๕๔๒. เจ้าพระยาทิพาวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์. พระนคร : หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๐๖. เป็นต้น



คณะผู้จัดทำหนังสือตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ ประกอบด้วย ที่ปรึกษาพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) จักรพันธุ์ โปษยกฤต วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ผศ.ดร.เสาวณิต วิงวอน บรรณาธิการ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (สุรพล ชิตญาโณ ป.ธ.๙) ผู้เรียบเรียง ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ ผู้ตรวจแก้ ปริวรรต ธรรมาปรีชากร ประพฤทธ์ ศุกลรัตนเมธีผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ ผู้แปล ศ.ดร.สิทธา พินิจภูวดล อำนาจ บุญศิริวิบูลย์ กรกช พรวิศิษฏ์สกุล ผู้ประสานงาน พระมหาวิเชียร สิริวฑฺฒโน ขนิษฐา วงศ์พานิช ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์. ผู้ถ่ายภาพ บรรจบ ไมตรีจิตต์ เกรียงไกร ไวยกิจ สาทิพย์ ทองนาค โดกกรวด นพดล กันบัว ผู้ช่วยถ่ายภาพ จุฑาทิพย์ อังศุสิงห์ เต็มศิริ ภู่จำปา ภุชงค์ ฮงภู่ ปิยนันท์ กันต์ไพเราะ ผู้อัดขยายภาพ บรรจบ ไมตรีจิตต์ ผู้ออกแบบ พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก บรรจบ ไมตรีจิตต์ ธน ภู่อารีย์ ณัติ ศันสนีย สกุล


นอกจากความรู้ต่างๆดังกล่าวแล้วข้างต้น ผู้เรียบเรียงยังยกบทกวีนิพนธ์โคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๘๘ พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กวีนิพนธ์กลอนโต้ตอบระหว่างสุนทรภู่อกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คำกลอนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๓ ของพระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งบทกวีนิพนธ์ได้ให้ความรู้ที่แม่นยำ เช่น ตุ๊กตาศิลาจีนส่วนหนึ่งมาจากประเทศจีน โดยบรรทุกเรือสำเภาที่ไปค้าขายขากลับเป็นอับเฉากันเรือโคลง อีกส่วนหนึ่งทำขึ้นในเมืองไทย โดยมีช่างจีน ทั้งช่างไม้ ช่างปูน ช่างเขียน ช่างสลัก ได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งดำรงชีวิตในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก (เพราะในยุคสมัยนั้น เมืองจีนมีคนยากจนอดอยากกันมาก) ช่างจีนบางส่วนเข้ามาเป็นการชั่วคราว เช่น โคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ กล่าวถึง ศิลาที่ก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรม และตุ๊กตาจีน นำมาจากจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี อ่างศิลา เกาะสีชัง ชลบุรี เช่น บทที่ว่า


“บำนาญท่านจ่ายจ้าง     เจ๊กกระทำ จีนแฮ
แปรเปลี่ยนมารแบกทรง           ทรวดเยื้อง
หินเขาชื่อสำเภา                     พื้นฉลัก รูปฤา
ถะละแปดรูปเพี้ยนเบื้อง           แบบบรรพ์”


และบทกวีนิพนธ์ของพระยาไชยวิชิต (เผือก) กล่าวว่า


“อันวัดวาอาวาสประหลาดสร้าง         ยักย้ายหลายอย่างโบสถ์วิหาร
ช่อฟ้าหางหงส์ทรงบุราณ                           ไม่ทนทานว่ามักจะหักพัง
พระอารามนามราชโอรส                           หน้าบันชั้นลดลายฝรั่ง
กระเบื้องเคลือบสอดสีมีพนัง                      เป็นอย่างนอกออกปลั่งปลาบปลิว
ลางหลังตั้งวงเป็นทรงเก๋ง                          จีนสำเพ็งพวกแซ่แต้จิ๋ว
วิชาช่างจ้างทำเป็นแถวทิว                         แจกติ้วให้ตั๋วตั้งครัวเลี้ยง”


ดังกล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นได้ว่า หนังสือเรื่องตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ เป็นวรรณกรรมสารคดีวิชาการเรื่องสำคัญ ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยศิลป์ ประติมากรรม จิตรกรรม ประวัติศาสตร์ศิลป์ วัฒนธรรม ความเชื่อ พุทธศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ไทย-จีน) ขนบประเพณี วัฒนธรรมแห่งราชสำนักจีน วัฒนธรรมการดำรงชีวิตของชาวจีน และชาวไทย ภาษา วรรณคดี ระบบการปกครองและการบริหารประเทศของจีน ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ และขุนนางฝ่ายต่าง ๆ วิถีแห่งศิลปะในบางยุคสมัยของจีน เช่น ยุคสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ฉิน ยุคสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ยุคสมัยราชวงศ์ซาง ราชวงศ์ซ่ง ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวยุโรปกับประเทศในเอเชีย เรื่องมาร์โคโปโลที่มีประวัติศาสตร์กล่าวว่า เคยเข้ามาอยู่ในราชสำนักจีนนานถึง ๑๗ ปี และนักวิชาการในปัจจุบันตรวจสอบเรื่องนี้ใหม่ และไม่เชื่อว่า มาร์โคโปโลเดินทางมาเมืองจีนจริง และความรู้อื่น ๆ อีกมาก มีบรรจุไว้ในหนังสือเรื่องตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์


หนังสือตุ๊กตาศิลาจีน วัดโพธิ์ นี้ นับได้ว่าเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าสูงมากของวงวิชาการศิลปะในปัจจุบัน เป็นหนังสือที่ผู้ได้ครอบครอง ได้อ่านศึกษาจะได้รับทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน และความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นแหล่งรวมมรดกศิลปะของที่คนไทยทุกคนควรชื่นชม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรังสรรค์สมบัติศิลป์อันล้ำค่าไว้ให้เป็นมรดกแก่อนุชนชาวไทยทุกยุคทุกสมัย และจะเป็นมรดกสมบัติคู่ชาติไทยตราบกาลนาน


ที่มา 


ปถพีรดี.นิตยสารสกุลไทย. ฉบับที่ 2662 ปีที่  51 ประจำวัน  อังคาร ที่  18 ตุลาคม  2548


              นิตยสารสกุลไทย.ฉบับที่ 2663 ปีที่  52 ประจำวัน  อังคาร ที่  1 พฤศจิกายน  2548






Free TextEditor




 

Create Date : 30 มีนาคม 2554    
Last Update : 30 มีนาคม 2554 20:01:50 น.
Counter : 2368 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.