Group Blog
 
All Blogs
 



ป่าบุ่งป่าทามลุ่มน้ำสงคราม "ตู้กับข้าว" ที่เรากำลังทุบทิ้งด้วยมือของเราเอง(1)

ป่าบุ่งป่าทามลุ่มน้ำสงคราม
"ตู้กับข้าว"
ที่เรากำลังทุบทิ้งด้วยมือของเราเอง

       

        

                          ลำน้ำสงครามปัจจุบัน  แม้เป็นหน้าฝนแต่น้ำก็ยังแห้งขอด

     ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่บกและพื้นที่น้ำ  ซึ่งภาษาวิชาการเรียกกันว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์  ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโดยรอบ  หรือแม้แต่ชุมชนที่อยู่ไกลออกไปมากๆก็ตามที  ป่าบุ่งป่าทามเป็นพื้นที่หาอยากหากินของชาวบ้าน  ที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกันมาช้านานแล้ว  โดยเฉพาะชุมชนอีสานซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและต้องพึ่งพิงอาศัยป่าทุกประเภทในการเป็นแหล่งอาหาร ไม้ใช้สอย  และแหล่งที่เป็นรายได้เสริม  

          ทางภาคอีสานจะพบป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง เช่น บริเวณลุ่มน้ำมูล-ชี และลุ่มน้ำสงคราม

          ในช่วงฤดูแล้งป่าบุ่ง ป่าทามจะมีนิเวศเป็นป่าบกทนแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากป่าบุ่งป่าทามก็จะถูกน้ำท่วมขังกินระยะเวลา 3-4 เดือน ลักษณะเด่นของพืชพรรณในป่าชนิดนี้คือมีไม้พุ่มขนาดเล็ก  พืชเหล่านี้จะมีความทนทานต่อการท่วมขังของน้ำเป็นเวลานานมาก นอกจากไม้ขนาดเล็กแล้วก็ยังมีไม้ขนาดใหญ่ขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ กัน

                          

                                  พื้นที่นาปรังของชาวบ้านรอบๆลำน้ำสงคราม

ลำน้ำสงครามเป็นลำน้ำสำคัญอีกสายหนึ่งในเขตอีสานตอนเหนือ(ตั้งอยู่บริเวณแอ่งสกลนคร)  ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่เส้นสุดท้ายก็ว่าได้  ที่ยังไม่บอบช้ำมากนักจากการพัฒนาของหน่วยงานรัฐ  หรือบอบช้ำจากการบุกรุกของประชาชน  เพื่อช่วงชิงพื้นที่ทำมาหากิน 

          พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด  ๒๘ อำเภอ  ๔ จังหวัด  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานในเขตจังหวัดสกลนคร ไหลผ่านจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านตาลปากน้ำ(ปากน้ำไชยบุรี-แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันเกิดเป็นน้ำสองสี)  ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๔๒๐ กิโลเมตร 

     

                                                 ตุ้มปลาซิว(คิดค้นโดยชาวบ้าน)

          ลำน้ำสงครามแบ่งออกเป็นสองตอนโดยอาศัยความแตกต่างทางลักษณะนิเวศ  คือลุ่มน้ำตอนบนและตอนล่าง 

          ลุ่มน้ำสงครามตอนบนจะเริ่มจาก รอยต่อระหว่าง อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี  เรื่อยมาถึง  อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร มีสภาพเป็นภูเขาและเนินเขาบนแนวเทือกเขาภูพาน โดยจะมีลำห้วยน้อยใหญ่มากมายไหลลงสู่ลำน้ำหลักคือลำน้ำสงคราม ช่วงนี้จะมีลำห้วยขนาดเล็กมากมาย เหมือนเส้นเลือดฝอยคอยเติมปริมาณน้ำให้เส้นเลือดใหญ่  คือลำน้ำสงครามให้มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี  สภาพภูมิประเทศลักษณะเช่นนี้จะปากฎมาจนถึงเขต อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย

          ลุ่มน้ำตอนล่างเริ่มจากใต้อำเภอโซ่พิสัยลงมา  จนถึงปากน้ำไชยบุรีมีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร

          ป่าบุ่ง ป่าทามบริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนล่างถือว่าเป็นป่าผื่นใหญ่อีกผืนหนึ่ง  ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ในฤดูฝนน้ำจะค่อยๆ ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะกลายสภาพเป็นผืนทะเลสาบน้ำจืดกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า ๕๐๐,๐๐๐ไร่ กินเวลาประมาณ ๓-๔ เดือน น้ำหลากนี้เป็นอิทธิพลมาจากน้ำเหนือจากเทือกเขาภูพานไหลลงมาและน้ำจากแม่น้ำโขงที่เอ่อหนุนไหลย้อนเข้ามาตามลำน้ำสงครามและลำน้ำสาขาย่อย  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโตนเลสาบหรือทะเลสาบเขมร

          ผมได้ทราบข่าวจากสื่อต่างๆว่ามีงานวิจัยที่ทำการสำรวจข้อมูล  โดยชาวบ้านที่ใช้ชื่อว่า เครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม ๔ หมู่บ้าน  คือ บ้านปากยาม(อำเภออากาศอำนวย) บ้านยางงอย บ้านอ้วน และบ้านท่าบ่อ(อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม)  พบว่า บริเวณป่าบุ่งป่าทามในเขตลุ่มน้ำสงคราม(ตอนล่าง)มีระบบนิเวศย่อย ถึง ๒๘ ระบบ  เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ขยายพันธุ์ของปลามากกว่า ๑๒๔ ชนิด  มีไม้ใช้สอย  พืชที่สามารถเป็นอาหารคน-สัตว์  มีจำนวนโดยประมาณถึง ๒๐๘ ชนิด             

      

                                         ปลากดจากลุ่มน้ำสงคราม

          การทำประมงเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของประชาชนในเขตนี้  อาจเรียกได้ว่าเป็นอาชีพหลักเลยก็ว่าได้  มีการเก็บตัวเลขประมาณการเอาไว้คร่าวๆว่าเมื่อปี ๒๕๓๘  มีปลาที่จับได้จากลำน้ำสายนี้ได้ถึง ๒.๓ ล้านกิโลกรัม  คิดเป็นตัวเงินในขณะนั้น ๕๗.๕ ล้านบาท 

          จึงไม่แปลกที่ผลิตภัณฑ์ปลาจากลุ่มน้ำสงครามจะมีชื่อเสียงมาก  ไม่ว่าจะเป็นปลาสด  หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา  เช่น  ปลาแดก  ปลาส้ม  ปลากแห้ง  แจ่วบอง(ลาบปลาแดก)  โดยเฉพาะบ้านท่าบ่อ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม  เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการแปรรูปปลาเป็นอาหารประเภทต่างๆ 

          มาเยี่ยมยามคนลุ่มน้ำสงคราม  ไม่ได้ปลาแดก ปลาส้ม บ้านท่าบ่อติดมือกลับไปด้วย  ถือว่ามาไม่ถึงครับลุ่มน้ำสงคราม

         

      

                                                กิน-อยู่ แบบไทบ้าน

Create Date : 11 กรกฎาคม 2553
Last Update : 11 กรกฎาคม 2553 1:15:45 น. 0 comments
Counter : 795 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

boyberm
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




boyberm
Friends' blogs
[Add boyberm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.