In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
การเลือกซื้อบ้านมือสอง (ตอนที่ 2)

การเลือกซื้อบ้านมือสอง เมื่อพิจารณาทำเลที่ตั้ง ขอแบบก่อสร้างจากเจ้าของอาคารแล้ว ต้องตรวจดูสภาพทั่วไปของบ้าน เช่น สภาพพื้นดินและทางเดินโดยรอบบ้านว่ามีการยุบตัวบ้างหรือไม่ รั้วบ้านบิดหรือล้มจากแนวดิ่งหรือเปล่า รวมถึงดูรูปทรงของบ้านว่าทรุดเอียงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับงานซ่อมแซมไว้ด้วย

โดยเฉพาะกับบ้านที่ทรุดเอียง แม้ว่าจะแก้ไขด้วยการยกให้ตั้งตรงใหม่ได้ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก ตอนเลือกซื้อบ้านจึงควรตรวจดูให้ดี หากไม่มั่นใจควรให้วิศวกรทำการตรวจสอบก่อน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่ควรตรวจดูในการเลือกซื้อบ้าน ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงบ้านที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเท่านั้น ส่วนที่ต้องตรวจดูแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนโครงสร้าง ส่วนงานระบบ และส่วนประกอบอื่นๆ

- ส่วนโครงสร้าง มีวิธีดูง่ายๆ สำหรับท่านที่ไม่มีความรู้ด้านช่าง ดังนี้

พื้นชั้นล่าง เมื่อเดินเข้าสำรวจในบ้าน ให้สังเกตพื้นชั้นล่างว่าแอ่นตัวหรือบุ๋มลง หรือไม่ ถ้าไม่เห็นการแอ่นตัวชัดเจน ให้เดินสำรวจหารอยร้าวตามขอบของพื้นว่ามีหรือไม่ หากพบว่ามีรอยร้าวที่ขอบของพื้นวิ่งเป็นทางยาวขนานกับคานหรือผนังแสดงว่าพื้นเกิดการแอ่นตัว ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าพื้นชั้นล่างนี้ถูกออกแบบมาให้วางบนดินไม่ใช่วางบนคานเหมือนพื้นชั้นบน เมื่อดินข้างใต้ยุบตัวพื้นจะยุบตามลงด้วย

แต่เนื่องจากบริเวณขอบพื้นอาจมีการผูกเหล็กหรือเทคอนกรีตเข้ากับคานจึงทำให้ยุบตัวน้อยกว่า พื้นจึงยุบแอ่นเป็นลักษณะแบบท้องกระทะ เมื่อพบเห็นเช่นนี้ควร ตรวจดูในแบบแปลนก่อสร้างประกอบว่าพื้นชั้นล่างเป็นแบบชนิดวางบนดินหรือไม่ หากไม่มีแบบแปลนก่อสร้างก็ควรให้วิศวกร มาตรวจสอบ แต่ที่แน่ๆ ควรเผื่อเงินไว้ซ่อมแซมในส่วนนี้ด้วย

พื้นชั้นบน เดินสำรวจตามขอบพื้นว่ามีรอยร้าวที่แตกยาวขนานแนวคานหรือผนังหรือไม่ หากพบว่ามีให้ดูว่าพื้นนั้นเป็นพื้นคอนกรีตชนิดหล่อในที่หรือเป็นพื้นสำเร็จรูป หากเป็นพื้นสำเร็จรูปรอยร้าวที่พบนั้นอยู่ช่วงปลายแผ่นพื้นที่วางพาดบนคานหรือเป็นรอยที่ขนานกับความยาวแผ่นพื้น ถ้าเป็นรอยร้าวที่เกิดช่วงปลายแผ่นพื้นต้องแก้ไขด้วยการเสริมเหล็กขนาด 6–9 มม. ยาวประมาณ 0.50 ม. วางตั้งฉากกับรอยร้าวให้มีช่วงห่างประมาณ 0.25–0.30 ม. ตลอดแนวช่วงบนของพื้น

แต่ถ้ารอยร้าวเกิดขนานแผ่นพื้นสำเร็จรูป การแก้ไขทำได้โดยกะเทาะรอยแตก แล้วอัดฉีดน้ำปูนแล้วฉาบใหม่ จะเห็นได้ว่ารอยแตกแต่ละทิศทางจะมีวิธีแก้ไขต่างกัน การแก้ไขรอยร้าวที่เกิดตรงปลายของแผ่นพื้นสำเร็จรูปจะยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่ารอยแตกร้าวที่ขอบพื้นทั้งชนิดที่เป็นพื้นสำเร็จรูปและพื้นคอนกรีตหล่อในที่ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากพื้นไม่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ใช่หรือไม่ หากเกิดจากแบกรับน้ำหนักบรรทุกไม่ไหวต้องแก้ไขด้วยการเสริมกำลังให้พื้น หรือทุบทิ้งทำใหม่ ต้องเผื่อค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

หากต้องการทราบแน่ชัดว่ารอยร้าวที่พบเห็นนั้นเป็นผลจากพื้นรับน้ำหนักไม่ไหวหรือไม่นั้นควรตรวจสอบและทดสอบตามหลักวิชาการ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสภาพการแอ่นตัวของพื้นอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นบาท และการทดสอบหากำลังรับน้ำหนักบรรทุกของพื้นประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อพื้น 1 ผืน ค่าใช้จ่ายนี้อาจ สูงเกินไปสำหรับอาคารพักอาศัยทั่วไปที่มี น้ำหนักบรรทุกใช้งานไม่มาก แต่สำหรับอาคารสำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมนับว่าคุ้มค่ามาก

นอกเหนือจากดูพื้นทั้งชั้นบนและชั้นล่างตามที่กล่าวแล้ว ส่วนโครงสร้างที่ต้องดูเป็นลำดับต่อไปคือ เสาและคาน ซึ่งขอกล่าวในตอนหน้านะครับ

โดย...ธเนศ วีระศิริ อ.พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
//www.posttoday.com/บ้าน-คอนโด/บ้านมือสอง/7017/การเลือกซื้อบ้านมือสอง-ตอนที่-2-



Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2553 18:58:26 น. 0 comments
Counter : 474 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.