ทำความเข้าใจ.. ลูกน้อยร้องเก่ง + ลูกน้อยแพ้นมวัว

ที่มา: //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=narcosis&month=05-2011&date=10&group=3&gblog=32

ขอบคุณคุณบี ม่ามี๊ต่าต๋า(Narcosis) เจ้าของบทความด้วยค่ะ

------------------------------------------------------------

ทารกที่ร้องไห้มากๆ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ดูก่อนว่าน้องซึม เป็นไข้ ไม่กินนมแม่ หรือเปล่า ถ้ากินได้ นอนได้ ไม่เจ็บป่วย เราลองมาหาสาเหตุอื่นๆ กันค่ะ


สาเหตุสำคัญ:

"น้องยังปรับตัว" (เบื่อคำนี้หรือยังคะ)

ขอขยายความเพิ่มเติมว่า น้องอยู่ในท้องที่อบอุ่นและโอบรัดแน่นในท้องแม่มาตลอด พอคลอดออกมา มาเจอหนาวๆ ร้อนๆ ย่อมไม่สบายตัวเหมือนเก่าเป็นธรรมดา การร้องไห้ของทารกคือการสื่อสารของลูกค่ะ ลูกพยายามจะบอกอะไรเรา อยากให้อุ้ม อยากกินนม หนูอึดอัดแน่นท้องหรือหนูเปียกแล้วนะ แต่ละเสียงร้องจะไม่เหมือนกันค่ะ ลองฟังดีๆ


"ติดมือ" << ไม่จริงหรอกค่ะ เป็นธรรมชาติของทารกทุกคนมากกว่าที่อยากให้อุ้ม

อย่างที่บอกว่าทารกอยู่ในท้องมารดาตลอด ๙ เดือนแรก จะแปลกไหมคะที่จะร้องอยากให้แม่โอบกอดเค้า ไม่แปลกเลยค่ะ การอุ้มลูกให้ลูกกินนม นอนให้นม หรือใช้เป้อุ้มเด็ก สามารถช่วยให้ลูกสบายตัวขึ้นได้ ช่วยให้ลูกค่อยๆ ปรับตัวนะคะ ขอให้สบายใจว่าไม่มีเด็กคนไหนที่ร้องให้แม่อุ้มตลอดไปค่ะ แต่ในทางกลับกันการที่เราปล่อยให้ลูกร้องคนเดียว จะทำให้ลูกรู้ว่าการสื่อสารนั้นไม่ได้ผล อาจส่งผลกับนิสัยใจคอของลูก ทำให้ลูกเป็นคนไม่ค่อยพูดไม่ค่อยสื่อสาร เพราะตอนเป็นทารกเราเคยปฏิเสธไม่รับฟังเค้าค่ะ


"นมแม่ไหลช้า"

ที่จริงนมแม่ก็ไหลตามธรรมชาติของมันค่ะ คือประมาณครึ่งนาทีหลังกระตุ้น น้ำนมจึงเริ่มไหล แต่ถ้าใครให้ลูกกินนมจากขวดด้วย ขวดนมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ลูกจะใจร้อนอยากให้นมแม่ไหลเร็วๆ ลูกจะดูดนมแม่ไปบ่นไป หรือไม่ก็ร้องโวยเลย ดังนั้นคุณแม่อย่าเพิ่งให้ลูกกินนมจากขวดนะคะ ถ้าจะฝึกก็ให้ฝึกวันละครั้ง ตอนอายุ ๑.๕ เดือนค่ะ


"นมแม่พุ่งแรง"

หลังจากดูดนมแม่ประมาณครึ่งนาที ต่อมน้ำนมจะเริ่มบีบ น้ำนมของคุณแม่บางคนจะพุ่งแรง น้องอาจไม่ชอบ คุณแม่สามารถบีบน้ำนมออกบ้างเพื่อลดแรงฉีด หรือจะนอนหงายแล้วให้ลูกคว่ำหน้าดูด จะช่วยลดแรงฉีดได้ค่ะ


(สองสาเหตุ นมแม่ไหลช้าและนมแม่พุ่งแรง ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่จะช่วยให้ลูกหัดปรับตัวแก้ปัญหานะคะ เคยได้ยินใช่ไหมว่าเด็กนมแม่ EQ ดี นี่แหล่ะค่ะที่สอนให้เค้ามี EQ โดยไม่รู้ตัว พอน้องหิวก็จะต้องดูด พอน้ำนมเริ่มไหลช้า-เร็ว น้องจะต้องหัดกลืนให้ทัน ไม่ต้องห่วงว่าน้องสำลักจะเป็นอันตราย เพราะนมแม่ไหลช้ากว่านมขวด โอกาสจะสำลักมีน้อยกว่า ดังนั้นคุณแม่ควรหาวิธีช่วยให้ลูกปรับตัวและเรียนรู้ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการให้กินนมจากขวดนะคะ)


อีกสาเหตุที่พวกเรามักไม่ทราบ

"คุณแม่ทานนมวัว หรือผลิตภัณฑ์นมวัว นมถั่ว แป้งสาลี"

ใช่ค่ะ โปรตีนนมวัวและโปรตีนแปลกปลอมสามารถส่งผ่านไปให้ลูกทางน้ำนมแม่ได้ ทำให้ลูกท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องลูกจะตึงเหมือนกลอง คุณแม่ลองเว้นไม่ทานนมวัว โยเกิร์ตซัก ๒-๓ วัน ถ้าสังเกตได้ว่าลูกร้องน้อยลง งั้นก็ใช่เลยค่ะ

------------------------------------------------

จากประสบการณ์จขบ.เอง ที่มีลูกแพ้นมวัว ขอแชร์คร่าวๆ ตามนี้ค่ะ

อาหารเสี่ยง 5 อย่าง ควรหลีกเลี่ยง
- นมวัว(แพ้โปรตีนเคซีนในน้ำนม)
- ถั่วเหลือง
- อาหารทะเล โดยเฉพาะสัตว์มีเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย
- แป้งสาลี (แพ้กลูเตน)
- ไข่แดง ไข่ขาว (ไข่ขาวมีโอกาสแพ้มากกว่า)

** เด็กที่แพ้นมวัว ส่วนใหญ่มักแพ้นมแพะด้วย ความเข้าใจว่าเด็กแพ้นมวัวสามารถกินนมแพะได้ ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะโปรตีนแปลกปลอมในนมวัวและนมแพะ คล้ายกันอย่างมาก

** นอกจากนี้ เด็กยังสามารถแพ้อาหารอื่น ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงด้วย เช่น ผักผลไม้สีแดง เหลือง ส้ม ผักผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว ข้าวเจ้า ฯลฯ

สาเหตุที่แพ้
- พ่่อแม่ หรือคนในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหาร หรือเป็นภูมิแพ้ ถ้าแม่เป็น จะมีโอกาสสูงกว่าพ่อเป็น
- แม่บำรุงร่างกายด้วยนมวัว หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว มากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ ถ้าใครขืนเชื่อตามโฆษณา โหมกินเข้าไปวันละลิตร สองลิตร หวังให้ลูกแข็งแรงโตไว ระวังจะได้แพ้อาหารเป็นของแถมค่ะ

- โปรตีนในนมวัวเป็นโปรตีนแปลกปลอมที่ระบบย่อยอาหารของเด็กยังไม่สามารถย่อยได้ ทำให้มีอาการแพ้ออกทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย

ถ้้าแพ้แ้ล้วจะหายมั้ย?
- เด็กที่แพ้นมวัว ถั่วเหลือง แป้งสาลี 80% จะหายตอน 1 ขวบ แต่แพ้อาหารทะเลมักไม่หาย




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554    
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 17:45:46 น.
Counter : 2526 Pageviews.  

น้ำนมน้อย แก้อย่างไร

ที่มา: //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=narcosis&month=09-2010&date=23&group=3&gblog=30

ขอบคุณคุณบี ม่ามี๊ต่าต๋า(Narcosis) เจ้าของบทความด้วยค่ะ

------------------------------------------------------------

ปัญหาที่ทำให้แม่มือใหม่ ป้ายแดงป้ายขาว กลุ้มอกกลุ้มใจก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง "น้ำนมน้อย" ในโน๊ตนี้บีจะพยายามเรียบเรียงวิธีแก้ปัญหาน้ำนมน้อย ว่าเราควรทำอย่างไร แต่ก่อนอื่นลองดูก่อนว่าเรานมน้อยจริงหรือ ลูกได้รับน้ำนมพอหรือไม่

วิธีดูว่าลูกได้รับน้ำนมพอหรือไม่ ตามนี้เลยค่ะ
1. ใน 24 ชม. ลูกฉี่ไม่ถึง 6-8 ครั้ง (ผ้าอ้อมผ้า) หรือเปลี่ยนแพมเพิร์สไม่ถึง 4-5 แผ่น ถ้าใช่ ลูกได้นมไม่พอค่ะ!!
*** หนึ่งข้อ เท่านั้นเองนะคะ ถ้าลูกฉี่บ่อยๆ เกินกว่านั้นก็แสดงว่ากินเข้าไปเยอะ จริงไหมคะ อาจร้องเพราะสาเหตุอื่นค่ะ ***

แต่อาการของลูกที่ทำให้หลายคนคิดว่า"นมไม่พอ"
- ลูกกินไป หงุดหงิดไป (มักเป็นเพราะติดขวดนะคะ ไหลไม่ทันใจ แก้ด้วยการเลิกขวดเด็ดขาดและหยดน้ำนมที่มุมปากลูก ลดความหงุดหงิดได้ค่ะ)

- ลูกกินแล้วไม่นอน นอนไม่นาน ขอดูดอีก หรือดูดนานเป็นชม.
(เพราะธรรมชาติสร้างให้ลูกอยากดูดนม กระตุ้นเพื่อให้แม่มีนมมากๆ ในช่วง 1-2 เดือนแรก เค้าจะได้ไม่อดตาย แต่เรากลับคิดว่าลูกต้องนอนนานๆ)

- คาดหวังว่าลูกต้องกินตามปริมาณที่ข้างกระป๋องระบุไว้ คือทีเดียว 2-3 ออนซ์
(ทั้งที่ลูกแรกเกิดมีกระเพาะขนาดเท่าลูกแก้วเท่านั้น)

- เห็นน้ำนมใสไม่ข้น(นมแม่ส่วนหน้าจะใส ส่วนหลังจะข้นค่ะ)

- อยากให้ลูกได้สารอาหารมากๆ โตเร็วๆ อ้วนๆ เชื่อโฆษณานมผง
(ทั้งที่นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่นำไปใช้ได้จริง)

- ไม่มั่นใจในนมของตนเอง คิดว่านมสัตว์อื่นๆ ดีกว่า
(หารู้ไม่ว่านมที่เอามาเป็นนมผง มาจากวัวหลายตัว ตกลูกตั้งนานแล้ว เจอร้อนเจอเย็นเพื่อให้น้ำนมเป็นผง สารอาหารจะดีกว่าได้ไงคะ)

หลักๆ ก็ไม่กี่ข้อนี้ที่ทำให้เรากังวลใจ หันไปป้อนนมผง เจ้านี่แหละที่จะทำให้น้ำนมยิ่งน้อยค่ะ! ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่จะทำให้ลูกดูดน้อยลง กระตุ้นน้อยลง นมแม่จึงลดอย่างรวดเร็ว! นอกจากนี้จะยิ่งซำ้ปัญหาโดยทำให้ลูกติดจุกนมที่น้ำนมไหลไวๆ นมแม่ก็ไหลค่ะแต่จะเริ่มไหลช้ากว่า จุ๊บสองทียังไม่ออกก็โวยลั่น ทำให้เราเข้าใจว่า "น้ำนมน้อย" ค่ะ

ดังนั้น (จะสรุปแล้วค่ะ) ใครอยากให้ตนเองมีน้ำนมมากๆ กรุณาทำตามนี้
1. ควรให้ลูกดูดบ่อยๆ ทุกสองชม. นาน 30 นาที - ชม. ยังได้ ลูกจะช่วยกระตุ้นได้อย่างดี

2. นอนให้นมจะได้ไม่เมื่อยนะคะ ไม่ต้องดูเวลาแบบเกาะติด สบายๆ นะคะ

3. ไม่ใช้ขวดใน 1-2 เดือนแรกเพราะลูกจะดูดผิดวิธี จะได้นมน้อย หงุดหงิด

4. ไม่เสริมนม ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ที่ปั๊มออกมา นมคนอื่น นมวัว นมแพะ ฯลฯ เพราะจะไปลดการกระตุ้นทั้งสิ้น

5. ไม่มั่นใจก็จดเลยค่ะ ใน 24 ชม. ฉี่กี่ครั้ง (ไม่ให้น้องกินน้ำนะคะ นมแม่มีน้ำมากพอกับความต้องการค่ะ)

6. พยายามบริหารความเครียด หาคนช่วยอุ้มลูกบ้าง เพราะความเครียดจะไปลดการหลั่งการฮอร์โมนสร้างน้ำนมนะคะ

7. ทานอาหารที่สดสะอาด อาหารเพิ่มน้ำนม เช่นแกงเลียง ผัดขิง ดื่มน้ำอุ่นช่วย ทานโปรตีนที่ไม่ใช่โปรตีนนมวัว เดี๋ยวลูกจะร้องโยเยค่ะ

จริงแล้วเรื่องนี้เป็นคำถามยอดฮิตจริงๆ ใครไม่แน่ใจว่าน้ำนมน้อยหรือไม่ ถามเข้ามาจะได้หายกังวลค่ะ ขอย้ำก่อนจบว่า ร้อยทั้งร้อยที่เสริมนมผง ไม่มีใครน้ำนมมากเลยนะคะ ใจแข็งๆ เอานมผงออกไปจากบ้านได้เลย

ขอเอาใจช่วยคุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ สู้ๆ นะคะ!
ขอบคุณที่ช่วยกด share และช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องค่ะ

บี มามี๊ต่าต๋า

ขอเชิญเพื่อนๆ ที่มี FB เข้ามารวมดูรูปและอ่านข้อมูลที่น่าสนใจได้ที่เพจนมแม่ //www.facebook.com/thaibreastfeeding นะคะ




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554    
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 17:11:06 น.
Counter : 2470 Pageviews.  

ปฏิบัติการนมแม่ ให้สำเร็จ

ที่มา: //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=narcosis&month=01-2009&date=29&group=3&gblog=27

ขอบคุณคุณบี ม่ามี๊ต่าต๋า(Narcosis) เจ้าของบทความด้วยค่ะ

------------------------------------------------------------

อ่านแล้วโดนน่ะค่ะ อยากให้แม่มือใหม่ได้อ่านกันก่อนเจอนมผงจริงๆ นะ

ให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องของแม่คนเดียว/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ความจริงปัญหาเรื่องการให้นมแม่ไม่น่าจะใช่ปัญหาใหญ่ เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาให้เลี้ยงลูกด้วยนมคนอยู่แล้ว ในอดีตพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราก็ให้นมแม่มาโดยตลอด ทุกคนได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตด้วยนมแม่ จนกระทั่งเด็กถึงวัยที่ต้องกินอาหารเสริมชนิดอื่นๆ นมแม่ก็กลายเป็นอาหารรอง

ในช่วงแรกของชีวิต ทารกน้อยจำเป็นจะต้องได้ยอดอาหารจากแม่ ซึ่งก็คือ หัวน้ำนมนั่นเอง น้ำนมส่วนนี้จะมีสารที่ให้ภูมิต้านทานแก่ทารก ถ้าทารกที่ไม่ได้กินหัวน้ำนม ก็อาจทำให้เจ็บป่วยบ่อย หรือร่างกายเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร

ก่อนหน้านี้ เพื่อนๆ ที่คลอดลูกได้ไม่นาน มักจะโทรศัพท์มาหารือเรื่องนมแม่เป็นประจำ ปัญหาหลัก คือ ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน นมแม่ไม่เพียงพอ หรือไม่ก็ลูกไม่ยอมกินนมแม่ ฯลฯ

เรียกว่า ต้องพูดคุยสอบถามรายละเอียดกันพักใหญ่ ก่อนจะถึงบางอ้อว่าเพราะเหตุใดการให้นมแม่ไม่ประสบผลสำเร็จ

สาเหตุที่แม่ไม่ประสบผลสำเร็จในการให้นมแม่มีเหตุผลมากมาย ถ้าไม่นับถึงเรื่องสรีระร่างกาย บางคนน้ำนมน้อย ก็ให้นมกระป๋องควบคู่ไปด้วย พอลูกกินไปกินมาก็ไม่ยอมกินนมแม่ซะงั้น หรือบางคนกลัวลูกไม่อิ่มก็ให้นมกระป๋องควบคู่ไปด้วย พอท้ายสุดน้ำนมของตัวเองก็ค่อยๆ หมดไปโดยปริยาย

ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการให้นมแม่เป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ กรณีที่คู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานได้ไม่นาน และวางแผนที่จะมีลูก ก็ควรที่จะเตรียมตัวร่างกายของตัวเองให้พร้อม

รายงานจากบรรดานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญสาขานมแม่ทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็ระบุตรงกันว่า ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีภาวะโภชนาการดีในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี ส่วนทารกที่เกิดจากแม่ที่ภาวะโภชนาการบกพร่องในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีการเจริญเติบโตหรือมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง หากทารกขาดสารอาหารช่วงอยู่ในครรภ์มารดา เซลล์สมองจะไม่เจริญเติบโต จำนวนเซลล์สมองน้อย เชาว์ปัญญาก็ด้อยตามไปด้วย

เรื่องโภชนาการที่ดี เป็นเรื่องที่ดิฉันเชื่อบนพื้นฐานที่ว่า คนเป็นพ่อแม่น่าจะใส่ใจและรู้ดีกันอยู่แล้ว ยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารมากมายเช่นนี้ เป็นเรื่องที่คนเป็นแม่ต้องเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อลูกน้อยในครรภ์

แต่ก็มีข้อแนะนำที่จะช่วยคนเป็นแม่ในเรื่องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบคร่าวๆ และง่ายๆ และเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก ถือเป็นไฟลต์บังคับที่คนเป็นแม่ต้องสนใจหาข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในการเตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่อทำให้ร่างกายสามารถสร้างน้ำนมได้เพียงพอต่อความต้องการของทารก จะเห็นได้ว่าคนที่เคยให้นมแม่ประสบผลสำเร็จ จะมีน้ำนมจำนวนมาก ถึงขนาดเจ็บปวดเต้านมที่เต่ง ถึงขนาดต้องให้ลูกช่วยดูดนมออกจากเต้าเพื่อคลายความเจ็บปวดของแม่อีกต่างหาก

เรียกว่า เป็นความมหัศจรรย์ของร่างกาย เมื่อร่างกายผลิตน้ำนมจำนวนมาก ก็ต้องให้ลูกดูดนม ในอดีต แม่บางคนมีน้ำนมมาก จนสามารถเผื่อแผ่เอาไปให้ลูกคนอื่นได้อีกด้วยซ้ำ

ส่วนที่สองเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจล้วนๆ เคล็ดลับที่จะทำให้ประสบความสำเร็จคนเป็นแม่ต้องมีความมุ่งมั่น เพราะเมื่อมุ่งมั่นแล้ว พอถึงเวลาประสบปัญหาก็พร้อมที่จะเผชิญ และมีความอดทนที่จะแก้ปัญหานั้นๆ อย่างจริงจัง

ยกตัวอย่าง แม่บางคนหัวนมบอด แต่ได้มีการเตรียมตัวและปรึกษาคุณหมอ ก็จะได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น หรือบางคนที่ไม่สามารถให้นมจากเต้าได้ ก็มีการปั๊มนมเก็บเอาไว้อย่างถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันวิทยาการต่างๆ ก็ก้าวหน้าไปมาก คุณสามารถจัดเก็บน้ำนมแม่ได้โดยไม่สูญเสียคุณภาพและสารอาหารในนมแม่แต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่คนข้างตัว หรือคุณพ่อจะมีส่วนสนับสนุน และให้กำลังใจภรรยา รวมทั้งมีส่วนในการช่วยดูแลเรื่องอาหารการกินของภรรยา เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับอาหารคุณภาพที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ด้วย

ดิฉันเองก็เคยผ่านช่วงเวลาให้นมลูกมาสองคน ผ่านช่วงเวลาที่ต้องดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเอง เพราะเรากินอะไร ลูกก็ได้รับสารอาหารจากเราไปผ่านทางนมแม่ ก็เลยต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ รสชาติเผ็ดเปรี้ยวอันชื่นชอบก็ต้องงดด้วยประการทั้งปวง หรืออาหารบางอย่างไม่เคยกินและไม่ชอบอย่างแกงเลียง ก็สามารถกินได้ทุกวัน คู่กับไก่ผัดขิง แล้วก็ต้องกินน้ำอุ่นทั้งวัน ซึ่งก็เห็นผลเพราะน้ำนมมาแบบถล่มทลาย ต้องให้ลูกช่วยดูดนมแม่ แม้บางครั้งยังไม่ถึงมื้อนม ก็ปวดเต้านมระบมไปหมด ถึงขนาดต้องปลุกเจ้าลูกชายมาช่วยดูดนมแม่ออกไปจากเต้าหน่อยเถอะลูก

และช่วงเวลาขณะนั้นตัวช่วยจากคนใกล้ชิดสำคัญมาก หลายครั้งที่มีปัญหาและทรมานในช่วงแรก ที่ต้องปรับตัวทั้งแม่ลูก ก็ทำให้บางเรื่องง่ายขึ้น บางเรื่องที่ท้อ ก็ได้กำลังใจที่ทำให้ฮึดขึ้นมาได้

เรื่องให้นมแม่ ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องของแม่ แต่ที่จริงแล้ว คนเป็นพ่อก็สำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย สารพัดปัญหาของคนเป็นแม่ที่ให้นมแม่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเข้าใจไปว่าเรื่องการให้นมแม่เป็นเรื่องของแม่เท่านั้น ถ้าแม่ไม่มีน้ำนมก็จบ ซื้อนมกระป๋องให้ละกัน ทั้งที่คนเป็นพ่อ สามารถช่วยเหลือได้

วิธีที่พ่อสามารถช่วยแม่ให้มีนมแม่ได้เพียงพอและไม่ท้อต่ออุปสรรคในการให้นมแม่

1.เป็นกำลังใจ ในทุกสถานการณ์เมื่อมีโอกาส คอยปลอบโยนเมื่อประสบอุปสรรคหรือย่อท้อต่อปัญหา เพราะเรื่องให้นมแม่เป็นเรื่องใหม่ของครอบครัว กำลังใจจากสามี ช่วยทำให้ภรรยามีแรงใจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อย่างที่คุณสามีคาดไม่ถึงเชียว

2.เป็นธุระเรื่องอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น ช่วยทำงานบ้านบางอย่าง หรือดูแลลูกเพื่อให้ภรรยาได้มีช่วงเวลาพักผ่อนบ้าง เชื่อไหมว่า การให้ภรรยาได้มีช่วงเวลาพักเพียงเล็กน้อย จะช่วยทำให้ความเหนื่อยล้าทั้งวันหายเป็นปลิดทิ้ง

3.นวดภรรยา เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย เพราะช่วงเวลาของแม่ลูกที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน เป็นช่วงเวลาที่คนเป็นแม่เครียดไม่น้อยทีเดียว ถ้าสามีช่วยนวดผ่อนคลายนอกจากจะไม่เครียดแล้ว สื่อสัมผัสรักยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก

4.ดูแลเรื่องอาหารการกิน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภรรยารู้สึกว่าได้รับความใส่ใจ และดูแลจากคนที่เรารัก เพราะอาหารที่คนรักกินเข้าไป จะส่งไปถึงลูกน้อย ซึ่งเป็นดวงใจของพ่อแม่อีกด้วย

เรียกว่า กำลังใจดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ความเหนื่อยยาก และปัญหาบางอย่างที่กลุ้มใจ ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก ด้วยสามีที่ดีนั่นแหละ

ส่วนคุณสามีก็ท่องเอาไว้ด้วยว่า

"ให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องของแม่คนเดียว"


ขอขอบคุณคุณสรวงมณฑ์สำหรับบทความดีๆ เสมอมาค่ะ

สรุปง่ายๆ จากประสบการณ์ของบีเองและที่เห็นจากแม่ๆ หลายท่านในเวป
ที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะ
1. ศึกษา ประยุกต์ และทำความเข้าใจ
2. อดทน อดทน และไม่หวั่นไหวกับคำพูดประเภท "เขาเล่าว่า. มีคนบอกว่า"
3. ได้กำลังใจจากสามี ครอบครัวและเพื่อนค่ะ

ทุกวันนี้แม้ว่าต่าต๋าเลิกกินนมแม่ไปแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่ลูกได้กินนมแม่จนอายุ 2 ขวบ 8 เดือน

นมแม่ สิ่งที่ดีที่สุดที่แม่ให้ได้
ชัวร์ ไม่มีเมลามีนค่ะ

-------------------------------------------------

จากประสบการณ์ของจขบ.เอง
- การสนใจศึกษา หาอ่านจากเว็บ หนังสือ เข้าคอร์สอบรมฟรีตามโรงพยาบาลต่างๆ ช่วยได้มาก ถึงเป็นแม่มือใหม่ ไม่เคยมีลูก ไม่มีใครให้คำแนะนำ (เพราะแม่ตัวเองและแม่สามีไม่มีน้ำนม) แต่การที่อ่านมาก รู้มาก จะสร้างความมั่นใจให้ตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่า เราได้ให้สิ่งที่ีดีที่สุดแก่ลูก และเรารู้วิธีที่ถูกต้องในการทำให้มันสำเร็จ

**ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ไม่จำเป็นว่ามันมาจากเว็บดัง หนังสือขายดี คุณหมอมีชื่อเสียง แล้วจะเป็นข้อมูลที่ถูำกต้องเสมอไป บางทีข้อมูลจากประสบการณ์จริงๆของแม่ๆที่ทำได้มาก่อนเรา ก็ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทำได้จริงมากกว่าหนังสือ

- ความมั่นใจจากข้อแรก นำมาใช้กับความอดทน อดทนกับคำ "เขาบอกว่า" "เขาว่ากันว่า" ที่ผิดๆ และถูกฝังหัวกันมาโดยบ.นมผง "นมแม่ไม่มีประโยชน์แล้ว" "เด็กจะติดอุ้ม" "จะเอาแต่แม่ ไม่เอาคนอื่น" "นมผงสารอาหารเยอะแยะ มีประโยชน์กว่า" "กินนมแล้วก็ต้องกินน้ำด้วย" "อาหารเสริม 4 เดืิอนก็กินได้แล้ว" "ให้ลูกกินขวดสิ สบายแม่"

- กำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะสามี สำคัญที่สุด คุณมีส่วนสำคัญในการเลี้ยงลูก ด้วยการให้กำลังใจแม่ และแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนมแม่จากคนรอบข้าง




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554    
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 17:05:37 น.
Counter : 2329 Pageviews.  

รวมเคล็ดลับและความรู้เรื่องนมแม่ 25 ข้อ

ที่มา: //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=narcosis&month=09-2009&date=29&group=3&gblog=28

ขอบคุณคุณบี ม่ามี๊ต่าต๋า(Narcosis) เจ้าของบทความด้วยค่ะ

------------------------------------------------------------

เริ่มตั้งแต่ต่าต๋าโดนเสริมนมผงตอนคลอดและติดจุกมาจากที่โรงพยาบาล กลับบ้านก็ดูดนมแม่ไม่เป็น อีกทั้งร้องไห้เก่ง นอนน้อย ดูดบ่อย บทความนี้บีเขียนจากพื้นฐานและประสบการณ์ของบีเอง เป็นวิธีปฏิบัติการให้นมแม่และความรู้อย่างคร่าวๆ เขียนออกมาเป็นภาษาชาวบ้าน เป็นคำตอบที่เคยได้อ่านจากเว็บไซต์ต่างประเทศ UNICEF และคำแนะนำของคุณหมอและแม่อาสาอาวุโสหลายๆ ท่าน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแม่ๆ อ่านแล้วจะได้รับประโยชน์ ช่วยให้เข้าใจเรื่องนมแม่และเป็นกำลังใจให้แม่ๆ ให้นมลูกกันนานๆ ค่ะ


คลอดที่โรงพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ (จริงๆ)
- นมแม่จะสำเร็จได้ง่าย ถ้าได้การเริ่มต้นที่ถูกต้อง
- รพ.ที่สนับสนุนนมแม่จะให้ลูกและแม่ได้เจอกันหลายครั้งใน 1 วัน เพื่อให้ลูกดูดกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างน้ำนม
- รพ.ที่เสริมนมผงให้ลูกโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ได้สนับสนุนนมแม่อย่างแท้จริง
(ขอให้สอบถามกับโรงพยาบาลก่อนซื้อแพคเกจคลอดบุตรว่า แม่และลูกพบกันเพื่อดูดนมวันละกี่ครั้ง)

เชื่อมั่นในนมแม่และร่างกายของตนเอง
- นมของแม่ทุกคน มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแต่ไม่มีใครโฆษณาให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง คุณแม่ควรศึกษาให้เข้าใจบ้าง และนำเอกสาร/แผ่นพับกลับบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกครอบครัว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

คลอดธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ เพราะร่างกายแม่จะฟื้นตัวเร็ว
แม่ที่ผ่าคลอดก็สามารถให้นมแม่ได้ แต่ควรใช้เทคนิคอุ้มลูกด้วยท่าที่ไม่กดทับแผลผ่าคลอด

3 ด. (ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี) หลังคลอดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเร็ว
- ดูดทันทีหลังคลอดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนม
- ดูดสม่ำเสมอทุกๆ 2 ชม และ
- เมื่อลูกดูด ให้อมลึกถึงลานนม ถ้าดูดถูกวิธี แม่ไม่ต้องทนเจ็บปวด

หัวนมเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ต้องรักษาให้ดี
- ถ้าลูกอมลึกถึงลานนมจะรีดน้ำนมออกได้มาก แม่จะไม่รู้สึกเจ็บ
- หลังให้นมแม่ ใช้นมแม่ทาหัวนมและผึ่งให้แห้ง ช่วยสมานแผลหรือลดความระบมได้

สลับดูด ซ้าย-ขวา ไม่ใช่เฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง
ลูกจะได้หัดดูดทั้งสองข้าง กระตุ้นให้น้ำนมสร้างเท่าๆ กันทั้งสองข้าง
สมมติว่ารอบเช้า เริ่มเต้าขวา ดูดเต้าซ้ายไม่เกลี้ยง ก็ให้บีบข้างซ้ายออก
รอบต่อไปให้ดูดข้างซ้ายให้เกลี้ยง แล้วบีบข้างขวาออก (ใช้ยางรัดผมคล้องที่ข้อมือเตือนความจำ)

หัวนมสั้น ไม่ใช่อุปสรรค
- หากเต้านมคัดตึงและดึงให้หัวนมสั้นลงอีก จะทำให้ลูกงับนมได้ไม่ลึก
- ให้บีบน้ำนมออกโดยให้บีบรอบๆ ลานนม (หรือเครื่องปั๊ม)
- เมื่อหัวนมอ่อนนุ่มและแหลมขึ้น ลูกจะงับได้ง่ายขึ้น

นมแม่ต้องฝึกฝน จะสำเร็จได้ แม่ต้องฝึกอุ้มและสังเกตลูก ส่วนลูกก็ต้องเรียนรู้ในการดูดเต้าแม่

เลือกพบกุมารแพทย์ ที่สนับสนุนนมแม่
หากนมแม่ไม่พอ คุณหมอควรช่วยค้นหาสาเหตุและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอะอะก็เสริมนมผง

ขอความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา ไปคลินิกนมแม่ หรือปรึกษาแม่อาสา

งดใช้ขวดนมในระยะ 2 เดือนแรกโดยเด็ดขาด
- ให้ดูดจากเต้าเท่านั้น เพราะน้ำนมจากขวดที่ไหลเร็ว ทำให้ลูกดูดนมแม่แล้วหงุดหงิด มีโอกาสปฏิเสธเต้าแม่สูงขึ้น
- ทารกที่ได้รับน้ำนมผ่านขวดตั้งแต่ที่รพ.จะได้รับการฝึกดูดเต้าแม่ไม่เพียงพอ เมื่อกลับบ้านอาจมีปัญหาดูดนมแม่
- ทารกที่ชอบดูดนมจากขวด จะไม่อ้าปากกว้างแต่งับตื้นๆ ดูดนมแม่ไม่ลึก แม่จะเจ็บ หัวนมจะแตก
- หากมีความจำเป็นที่ต้องป้อนน้ำนมแม่ตอนแม่ไม่อยู่ ควรใช้ถ้วยใบเล็ก (cup feeding) หรือ ช้อนค่อยๆ ป้อน

น้ำนมเพียงพอหรือไม่ สังเกตุดังนี้
- นับจำนวนผ้าอ้อมเปียก (ผ้าอ้อมผ้า 6-8 ผืนชุ่มใน 24 ชม. หรือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 4-5 ชิ้น)
- ถ่ายเป็นสีเหลืองทองหรือเหลืองนวล นิ่มคล้ายยาสีฟัน บ่อยได้ถึง 10 ครั้งต่อวัน (ในช่วงเดือนแรก ในเดือนที่สองอาจไม่อึหลายวันเพราะลำไส้ทำงานดีขึ้น) อาจดูเหมือนเมล็ดมะเขือ มีมูกยืดบ้าง กลิ่นไม่รุนแรง
- หลังลูกดูดนมเสร็จ เต้านมแม่อ่อนนุ่มลง
- ลูกสงบลง แลดูมีความสุขและพอใจหลังได้ดูดนมแม่ อาจนอนหรือไม่นอนหลับหลังดูดนมก็ได้

ไม่เสริมนมผง หรือนมของแม่คนอื่น
เมื่อลูกอิ่มแล้วจะไม่ดูดกระตุ้นจากที่เต้าของแม่ ทำให้น้ำนมแม่ไม่มากเท่าที่ลูกต้องการ

ลูกหงุดหงิดเมื่อดูดนมแม่ มีไม่กี่สาเหตุหลัก แต่ไม่ใช่นมแม่ไม่พอ
1. ถ้าลูกเคยกินนมจากขวด ลูกอาจเริ่มชินกับน้ำนมที่ไหลเร็วทันใจ งับปุ๊บก็ไหลปั๊บ แต่นมแม่จะไหลหลังดูดประมาณ 1 นาที (กลไกธรรมชาติของการหลั่งน้ำนม) จึงทำให้หงุดหงิดรำคาญ เป็นอาการแรกเริ่มของอาการ"ติดจุก" (กรุณาดูวิธีแก้ในหัวข้อต่อไป)
2. ถ้าลูกไม่เคยกินนมจากขวด ลูกอาจหงุดหงิดเพราะน้ำนมพุ่งแรงเกินไป แม่สามารถบีบน้ำนมออกบ้างเพื่อลดแรงฉีดของน้ำนม
3. สาเหตุอื่นๆ ที่พึงพิจารณาคือ อากาศร้อน ง่วง ไม่สบายตัว เปียกชื้น เสียงดังสภาพแวดล้อมไม่สงบ เป็นต้นค่ะ

ถ้าลูกเริ่มติดจุก ให้ดูดแต่เต้าแม่เท่านั้นและงดขวดโดยเด็ดขาด
เวลาลูกเจอเต้าแม่แล้วหงุดหงิด พองับเต้านมแม่ให้หยดน้ำนมลงที่มุมปากของลูก เพื่อหลอกว่าน้ำนมไหลแล้ว ช่วยลดความหงุดหงิดลงได้ ถ้าลูกแลดูไม่หงุดหงิดแล้วก็ไม่ต้องหยดน้ำนม

แม่เหนื่อยมาก ลูกยังไม่รู้จักกลางวันหรือกลางคืน แม่ควรงีบพักเมื่อลูกนอนหลับ หาผู้ช่วยงานบ้านเมื่อเป็นไปได้ (หรือปล่อยวางบ้างก็ได้) 2-3 เดือนผ่านไป ลูกจะเริ่มปรับเวลากลางวันกลางคืนได้ดีขึ้น

น้ำและอาหารเสริมเป็นของคู่กัน เมื่อลูกอายุ 6 เดือน
นมแม่มีน้ำถึง 88% มากพอสำหรับความต้องการของลูก
ลูกจะพร้อมรับอาหารตามวัยตอน 6 เดือน ให้อาหารเสริมเร็วอาจทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลำไส้ทำงานหนัก

สาเหตุที่ทำให้นมแม่น้อย
1. เสริมนมอื่น ไ่ม่ว่าจะเป็นนมผงหรือนมบริจาค
2. ไม่ให้ลูกดูดบ่อย (ทุก 2-3 ชม.)
3. แม่รับอาหารไม่เพียงพอ อดอาหาร
4. ลูกดูดไม่ถูกวิธี อาจมีผังผืดใต้ลิ้น ฯลฯ แม่รู้สึกเจ็บ
5. ปล่อยให้เต้าคัดนานๆ ไม่บีบออก
6. ความเครียดของแม่ ลดการหลั่งของน้ำนม

ลูกดูดนมทั้งวัน แปลว่านมไม่พอหรือเปล่า?
- ทารกหลายคนที่ "กินเก่ง" ร้องขอดูดทั้งวัน ไม่ใช่เพราะลูกหิว แต่เป็นเพราะธรรมชาติที่สร้างให้ลูกพอใจที่ได้ดูดนมแม่ บางคนร้องขอดูดเป็นชั่วโมง ดูดๆ หลับๆ ก็ต้องดูด นี่คือ suckling reflex ที่ธรรมชาติสร้างให้ลูกดูดกระตุ้นมากๆ น้ำนมแม่จะได้สร้างมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้แม่สร้างอาหารให้ลูกอยู่รอดได้ เมื่อ 3 เดือนอาการนี้จะลดลง
- เมื่อลูกร้องดูดทั้งวัน แม่ควรนอนตะแคงให้ลูกตะแคงดูด เพื่อบรรเทาความอ่อนล้าให้แม่งีบหลับเมื่อลูกหลับ

วิธีเพิ่มน้ำนม
1. ให้ลูกดูดบ่อยๆ (ประมาณ 8 มื้อใน 24 ชม.) ลูกยิ่งดูด น้ำนมยิ่งมาก
2. ไม่เสริมนมอื่นๆ
3. หากลูกนอนยาวเกิน 3-4 ชม. แม่ควรปั๊มน้ำนมออก
4. ปั๊มหลอก (ปั๊มลม/ขโมยปั๊ม) หลังลูกอิ่มแล้ว ร่างกายจะเข้าใจว่าลูกกินเก่งและจะสร้างน้ำนมเพิ่มเพื่อให้พอกับความต้องการของลูก
5. ดูแลร่างกายแม่ด้วยอาหารสดสะอาด 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อย 2 ลิตร งดเครื่องดื่มคาเฟอีนเพื่อให้นอน พักผ่อนมากๆ ทานอาหารเพิ่มน้ำนมเช่นสมุนไพร พีชผักต่างๆ
6. พยายามผ่อนคลายจิตใจให้สบาย บริหารความเครียดด้วยการไม่กังวลกับอะไรที่ยังมาไม่ถึง

สต็อกนม ทำตอนไหนดี
แม่สามารถปั๊ม/บีบออกหลังลูกกินอิ่มแล้ว
ค่อยๆ ปั๊มหรือบีบมือหลังทุกๆ มื้อ เก็บในขวดเดียวกันแล้วเทรวมได้ค่ะ
ในช่วงเดือนแรกหากลูกดูดตลอด บางทีปั๊มด้วยเครื่องจะปั๊มไม่ออก
ก็ให้ลูกดูดไปเพราะจะได้ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมามาก
เดือน 2-3 จะพบว่าน้ำนมเพิ่มขึ้นมาก
ถ้าลาคลอดได้ 3 เดือน เดือนสุดท้ายค่อยทำสต็อกก็ยังทันค่ะ


ที่สำคัญ คอยเติมความมั่นใจในนมแม่ มีคำถามให้หาคำตอบ อย่าเชื่อสื่อโฆษณา
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด และเหมาะที่สุดสำหรับทารก ซึ่งจะไม่มีนมชนิดอื่นมาเทียบเคียงได้ เสมือนความรักของแม่ที่มีแด่ลูก

ขอให้มีความสุขกับการให้นมแม่
- ลูกจะโตและเปลี่ยนแปลงทุกวัน อย่าเพิ่งกังวลว่าจะเหนื่อยเช่นนี้ตลอดไป
- ลูกจะพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น เริ่มนอนนานขึ้น ยิ้มเก่ง คุยอ้อแอ้ แม่ก็จะรู้ใจลูกมากขึ้น ทุกๆ วันจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้กันไป ขออย่าเพิ่งกังวลไปไกล ค่อยๆ ทำทุกวันให้ดี ดูไปทีละมื้อนม ค่อยๆ สังเกตไป เข้าใจลูกว่าลูกพยายามจะสื่อสาร ขอให้นึกเสมอว่าลูกยังไม่ชินกับโลกนอกมดลูก ให้โอบกอดลูกบ่อยๆ ให้นมให้ลูกสบายใจ

อย่าลืมว่า นมแม่ พอแน่ๆ
- ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องและด้วยความเข้าใจ
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ย่อมเหนื่อยบ้าง ขอให้อดทน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าสำหรับลูก ตั้งแต่วันนี้ไปจนลูกโต

บีขอบอก ข้อดี (แบบย่อๆ) ของนมแม่ ก่อนจบนะคะ
สำหรับแม่
มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำหนักลดลงเร็ว สุขภาพดี ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ไม่ต้องลางานเพราะลูกไม่ค่อยป่วย
สำหรับพ่อ
ประหยัด ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์อื่นๆ ไม่ต้องช่วยล้างนึ่งขวดนม
สำหรับลูก
สุขภาพดี ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ค่อยป่วย ถ้าป่วยจะป่วยน้อย หายเร็ว เพราะได้รับภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะลดโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ (-10%)โรคเบาหวาน (-40%)
สำหรับนายจ้าง
ลูกจ้างไม่ต้องลาเพราะลูกป่วย และต้องมีวินัยในการทำงานเพราะต้องเจียดเวลาไปปั๊มนม
สำหรับสังคม
แม่ลูกจำเป็นต้องใกล้ชิด เสริมสร้างสายใยและความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำหรับเศรษฐกิจ
ช่วยรักษาดุลการค้า ไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรเพื่อผลิตนมผง เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนลดลง เศรษฐกิจพอเพียง ประหยัดได้เดือนละ 3,000-4,000 บาทต่อหนึ่งครัวเรือน
สำหรับประเทศ
ประชากรสุขภาพดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประหยัดงบประมาณการรักษาโรคจากความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพราะนมแม่ทำให้สุขภาพดีไปจนโต
สำหรับโลก
ลดโลกร้อน ไม่ต้องใช้เครื่องจักรผลิตนม ช่วยลดขยะ (กระป๋อง ขวด จุกนม ฯลฯ) ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น (ต้มนึ่งขวดนม)


เห็นไหมคะ นมแม่ เป็นได้มากกว่าอาหาร
ขอเอาใจช่วยแม่ๆ ทุกคน และขอให้มีความสุขกับการให้นมแม่ค่ะ
ด้วยความปรารถนาดี

เขียนโดย บี มามี๊ต่าต๋า
ต้องการความช่วยเหลือเรื่องนมแม่ กรุณาติดต่อ j.aimpun (@gmail นะคะ)

เจ้าของบทความอนุญาตให้ผู้อ่านนำไปเผยแพร่ต่อ
ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ขอบคุณค่ะ




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554    
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 16:53:46 น.
Counter : 2374 Pageviews.  

คุณภาพของนมแม่ เกี่ยวกับอาหารที่แม่กินไหม?

ที่มา: //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=narcosis&month=01-2008&date=09&group=3&gblog=18

ขอบคุณคุณบี ม่ามี๊ต่าต๋า(Narcosis) เจ้าของบทความด้วยค่ะ

------------------------------------------------------------


สารอาหารที่ดี เพื่อแม่และลูก

แม่ที่ให้นมบุตรผลิตน้ำนมประมาณ 23-27 ออนซ์ต่อวัน ซึ่งในนมแม่จะมีแคลเซี่ยมและสารอาหารอื่นๆ ที่ลูกต้องการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แม่ได้รับพลังงานเพิ่มอีก 500 แคลลอรี่ต่อวัน เพราะสารอาหารที่แม่รับประทานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่เพียงแต่สำหรับลูก แต่สำคัญมากสำหรับแม่เช่นกัน

ในเชิงคุณค่า (คุณภาพ) นมแม่ดีและมีประโยชน์เสมอเพราะร่างกายจะจัดสรรดึงสารอาหารไปให้ลูก (จะเกิดขึ้นในน้อยรายเท่านั้นที่แม่ขาดสารอาหารอย่างหนัก ทำให้คุณค่าของนมแม่ด้อยลง) แต่ในเชิงปริมาณ สารอาหารที่แม่รับประทานจะมีผลกับปริมาณน้ำนมเป็นอย่างมาก

หมายความว่าแม้แม่ไม่ได้บำรุง คุณภาพของนมแม่จะไม่ด้อยลง แต่ปริมาณที่บีบได้อาจจะลด หลักๆ เป็นเพราะร่างกายของแม่เหนื่อยล้าค่ะ

เพราะสารอาหารต่างๆ ที่แม่รับเข้าไปนั้นจะบำรุงทั้งร่างกายของแม่ที่ยังต้องการการฟื้นฟูหลังคลอดบุตร และยังช่วยในการผลิตน้ำนมเป็นหลัก แม่ให้นมที่ไม่ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อาจมีลูกที่แข็งแรง แต่ร่างกายอาจทรุดโทรมเพราะร่างกายจะเลือกที่จะสร้างน้ำนมให้ลูกก่อน

ดังนั้นหากแม่ทานอาหารไม่ครบหมู่จึงจะทำให้ร่างกายของขาดสารอาหาร ทั้งที่ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน

*****************************************

พื้นฐานการรับประทานอาหารระหว่างให้นมลูก

1. เพิ่มปริมาณน้ำดื่มอีก 1 ลิตรจากเดิม เพราะน้ำจะถูกนำไปช่วยสร้างน้ำนมแม่

2. เพิ่มปริมาณการรับประทานให้ได้ประมาณ 2500 แคลลอรี่ (หรือมากกว่าหากต้องการให้นมลูกระยะเวลาเกิน 3 เดือน) เน้นว่าแคลลอรี่ที่เพิ่มควรได้มาอาหารโปรตีน ไม่ใช่แป้งหรือน้ำตาลค่ะ

3. แบ่งทานอาหาร 5 มื้อต่อวัน (อาหารเช้า เที่ยง ของว่างช่วงบ่าย อาหารเย็น และของว่างช่วงค่ำ) อาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพควรเป็นน้ำดื่ม + เครื่องดื่มที่มีประโยชน์ ผลไม้ เป็นต้น

4. งดสูบบุหรี่หรือสูดควันบุหรี่ เพราะสารนิโคตินสามารถผ่านทางน้ำนมไปหาลูกได้

5. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์สามารถผ่านทางน้ำนมเช่นกัน

6. งดซื้อยาทานเอง ยาสามัญทั่วไปมักปลอดภัยระหว่างการให้นม แต่แม่ที่ให้นมควรปรึกษาแพทย์หรือคลินิกนมแม่ก่อน

7. หลีกเลี่ยงสารพิษต่างๆ เช่นควันบุหรี่ ยาฆ่าแมลงและสารพิษต่างๆ

8. รับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวจากธรรมชาติ ช่วยในการเสริมสร้างสมองของลูกเช่น เมล็ดทานตะวัน ปลาและน้ำมันมะกอก

9. รับประทานโฟเลท (กรดโฟลิค) พบมากในยอดผัก ผักใบเขียว ข้าวโพดและกะหล่ำปลี หากไม่สะดวกสามารถซื้อจากร้านขายยาทั่วไป

ข้อมูลจาก //www.about.com
//womenshealth.about.com/cs/breastfeeding/a/nursingdiet.htm




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554    
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 16:42:20 น.
Counter : 2540 Pageviews.  

1  2  3  
 
 

แมวน้อยสีน้ำตาล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Lilypie - Personal pictureLilypie First Birthday tickers
[Add แมวน้อยสีน้ำตาล's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com