The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

ผู้ที่ต้องการหาหนังสือของข้าพเจ้าในงานหนังสือ

ไมรอนปกใหม่ - สถาพร, จิตจักรวาล

ไมรอนปกเก่า - จิตจักรวาล (ติดต่อมาก่อนว่าจะไปเอาวันไหนจะดีมาก เพราะจะได้เตรียมไว้)

ผู้เสกทราย - จิตจักรวาล, นายอินทร์, แจ่มใส

เซรีญา - นายอินทร์, จิตจักรวาล

มาโอทั้งสองเล่ม - จิตจักรวาล

อันเซลมา - จิตจักรวาล

สตอรี่เทลเลอร์ - เห็นที่บูธบุ๊คสไมล์ แพลนนารี F13 เหลือเล่มละ 99 บาท

ปวงเทพผู้นิราศ - นวนิตา

DD - ไม่มีขาย แต่ถ้าอยากได้จริง ๆ ให้บอกไว้ล่วงหน้าก่อนไปงาน จะหาไปทิ้งไว้ให้ที่จิตจักรวาล (อนึ่งของมีจำกัด ถ้าสั่งเยอะจะไม่มีเน้อ)

ทิ้งออเดอร์ไว้ที่นี่หรือเมล์ หรือหลังไมค์ก็ได้




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:08:19 น.
Counter : 2893 Pageviews.  

ข้าพเจ้าในงานหนังสือ

จขบ.มีหนังสือออกสองเล่ม คือ ไมรอน (ปกใหม่) กับผู้เสกทรายเล่มหนึ่ง

จขบ.จะลงไปกรุงเทพวันที่ 17-18 กับ 23-25 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเสาร์อาทิตย์ทั้งคู่

วันที่ 17 ไปหาตัวจขบ.ได้ในงานของสถาพร (love fiction and fantasy world) ห้องอะไรยังไม่แน่ใจ แต่คงเป็นห้องมีตติ้งสักห้อง จะอยู่แถวนั้นตั้งแต่สิบเอ็ดโมง และคิดว่าคงต้องขึ้นเวทีเพื่อสัมภาษณ์เกี่ยวกับไมรอนตอนบ่าย (ใครว่างช่วยไปดูด้วยนะ จขบ.กลัวแป้ก T-T)

วันที่ 18 มีกินกลางวันกับเพื่อนมัธยม นอกนั้นว่าง คงเตร็ดเตร่ไปมา เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีศาลอยู่หรือเปล่า ถ้าอยากหาตัวลองไปดูแถว ๆ จิตจักรวาลหรือนวนิตา

วันที่ 23-25 ยังไม่รู้จะได้เข้างานวันไหนบ้าง ถ้าใครอยากเจอวันไหนก็บอกและนัดได้

ดังนี้แล




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:08:52 น.
Counter : 1290 Pageviews.  

สัมภาษณ์เกี่ยวกับผู้เสกทราย ที่เว็บเอนเธอร์บุ๊คส์

//www.enter-books.com/front/index.php?mod=news&act=view¶m=16

###

สำนักพิมพ์ Enter Books ขอแนะนำหนังสือเรื่องใหม่แกะกล่อง “ผู้เสกทราย” ที่ตอนนี้กำลังได้รับการตอบรับที่ดีจากบรรดานักอ่านอย่างล้นหลาม ด้วยเนื้อหาที่น่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง มีการวางโครงสร้างได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อได้อ่านแล้วต้องพลิกอ่านหน้าต่อไปอย่างหยุดไม่ได้

“สงครามและการสูญเสียนำมาซึ่งการเดินทางครั้งสำคัญของเด็กชายกำพร้าผู้กลายเป็นเจ้าของพลังอันยิ่งใหญ่” ดังคำโปรยที่เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ พบการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของเด็กผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งและร่วมผจญภัยไปพร้อมกับเขาได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้ผ่านบทสัมภาษณ์จาก นักเขียนสาว “ลวิตร์” ผู้มากประสบการณ์และฝีมือ ทั้งยังได้รับรางวัลด้านงานเขียนมาอย่างมากมาย

Q : สวัสดีครับ ก่อนอื่นแนะนำตัวให้นักอ่านได้รู้จักกันก่อนดีกว่าครับ

A : สวัสดีค่ะ ตอนนี้ใช้นามปากกาว่า “ลวิตร์” ค่ะ เป็นชื่อที่ใช้ในอินเตอร์เน็ตด้วย ถ้าเปิดพจนานุกรมก็จะเจอความหมายแปลว่า “เครื่องตัด, เครื่องเกี่ยว, เคียว” เพราะอย่างนั้นเลยมีหลายคนเรียกว่า “เคียว” เหมือนกลายเป็นชื่อเล่นไป

ชื่อจริง ๆ ชื่อ พัณณิดา ภูมิวัฒน์ และชื่อเล่นจริง ๆ ชื่อ ปันปัน เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ทำงานอยู่เชียงใหม่ ชอบอ่านหนังสือทุกอย่าง ชอบวาดรูป (แต่ไม่ค่อยสวย) ชอบเดิน ชอบอาหารญี่ปุ่น ชอบสัตว์ทุกชนิดโดยเฉพาะแมวเอามาก ๆ เลยละค่ะ

Q : แล้วก่อนหน้านี้เคยมีผลงานมาก่อนมั้ย หรือว่าเขียนลงเว็บไหนมาก่อนหรือเปล่าครับ

A : ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานมาก่อน ออกในชื่อจริงคือ “พัณณิดา ภูมิวัฒน์” ผลงานที่ตีพิมพ์แล้วตามรายชื่อนี้ และมีเรื่องที่ยังเขียนไม่จบ อยู่ที่เว็บถนนนักเขียนอีกสามเรื่อง ปรกติจะเขียนแนวแฟนตาซีกับนิยายวิทยาศาสตร์ค่ะ

แฟนตาซี
- มาโอ ภาค 1 - 2
- เซรีญา (สามเล่มจบ) + อันเซลมา (ตอนพิเศษของเซรีญา)
- ไมรอน
- Dragon Delivery (ปัจจุบันมี 4 เล่ม)

นิยายวิทยาศาสตร์
- ฯพณฯ แห่งกาลเวลา
- เดอะสตอรี่เทลเลอร์
อื่น ๆ
- นิทานรางวัลมูลนิธิเด็กสองเรื่อง คือ “ภาษาหัวใจ” และ “กรรไกรสีแดงกับกระดาษสีขาว”
- ปวงเทพผู้นิราศ ปกรณัมเคลติก - ติวตันนิก เล่าเรื่องตำนานเทพเจ้าของฝรั่งโบราณ

Q : เรื่องผู้เสกทรายได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรเอ่ย

A : เรื่องผู้เสกทรายได้แรงบันดาลใจมาจากหลายที่ เริ่มแรกเลยน่าจะมาจากหนังสือเรื่อง “ประคำลูกโอ๊ค” ซึ่งเป็นเรื่องบันทึกการทำค่ายให้เด็กพิการ อีกเรื่องที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ คือเรื่อง Sans Famille ซึ่งเป็นเรื่องฝรั่งเศส มีแปลไทยสองเวอร์ชั่น ชื่อ “หนูน้อยจอมทรนง” กับ “ไร้ญาติ” เป็นเรื่องของเด็กชายที่ถูก “ขาย” ให้กับนักดนตรีพเนจรคนหนึ่ง เพราะพ่อเลี้ยงของเด็กคนนั้นเป็นคนไม่ดี ไม่อยากเลี้ยงเด็กต่อแล้ว และนักดนตรีพเนจรก็ซื้อเด็กมาเพราะสงสาร แกก็สอนอะไรให้เด็กหลายอย่าง เป็นเรื่องน่ารักอ่อนโยน อ่านแล้วบางทีก็มีความสุขมาก ๆ แต่บางทีก็ร้องไห้เหมือนกัน

ทั้งสองเรื่องพูดถึงการเลี้ยงเด็ก และความขัดแย้งบางอย่างในสังคม พูดถึงว่าความแตกต่างคืออะไร และที่จริงแล้ว ความแตกต่างมีอยู่จริงแค่ไหน บางทีการเขียนเรื่องผู้เสกทรายคงเป็นการพยายามหาคำตอบว่าทำอย่างไรคนเราจะ อยู่ร่วมกันโดยสันติและดีต่อกัน ทั้งที่มีความแตกต่างกันได้

นอกจากนั้นก็มีประเด็นอื่น ๆ อีกหลายประเด็น เช่นตัวเองชอบเรื่องศิลปะงานฝีมือ ในเรื่องจึงพูดถึงช่างฝีมือ และคนที่สร้างสิ่งสวยงาม

Q : ทำไมต้องเป็นผู้เสกทราย เสกผืนดิน เสกน้ำ เสกอากาศไม่ได้เหรอครับ

A : อ๊ะ บอกนี่สปอยล์เลยนา จะให้สปอยล์จริง ๆ เหรอเน้อ ^^’’

Q : อะไรคือความพิเศษของผู้เสกทราย

A : อืม ที่จริงแล้ว คิดว่าบางทีคนอ่านกับคนเขียนอาจจะมองไม่เหมือนกัน แต่ส่วนตัวคิดว่าผู้เสกทรายพิเศษสำหรับตัวเองในแง่ที่เอาเรื่องหลายเรื่อง ที่ตัวเองติดใจสงสัยเอง เช่น เรื่องการเลี้ยงเด็ก เรื่องการแบ่งแยก เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความพิการ มาเขียนเป็นเรื่องแฟนตาซี และพยายามจะทำความเข้าใจกับปัญหาพวกนี้ ซึ่งบางปัญหาในบางแง่ก็เป็นปัญหาโลกแตก ไม่สามารถให้คำตอบอย่างขาวกับดำ ดีกับชั่วได้ จึงต้องใช้เวลาคิดมากพอสมควร

อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกพิเศษกับผู้เสกทราย คือความรู้สึกอ่อนโยนตอนที่เขียน การเขียนถึงการเติบโตขึ้นของตัวละครเอก สิ่งที่เขาได้พบหรือผ่าน ก็ทำให้รู้สึกว่า ตัวละครเอกเรื่องนี้เป็นเด็กที่พยายามเข้าใจ และต้องสู้กับอะไรหลายอย่าง แต่ก็ยังผ่านเรื่องต่าง ๆ ไปได้โดยที่ไม่กลายเป็นคนแข็งกระด้างไป

บางทีความพิเศษอีกอย่างของผู้เสกทราย อาจจะเป็นโลกในเรื่อง โลกของช่างฝีมือ ของคนเร่ร่อน ของงานเทศกาล โลกของคนที่เดินทางไปตามแม่น้ำ และอาศัยบนเรือ คือมันเหมือนกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซี ตอนเขียนก็ให้ความรู้สึกแตกต่างจากการเขียนเรื่องแฟนตาซีล้วน ๆ เหมือนมันอาจจะไม่มีสีสันฉูดฉาดเท่า แต่ก็ให้ความรู้สึกขลัง น่าค้นหา น่าตื่นเต้นไปด้วย

Q : เสน่ห์ของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ที่ทำให้เรา "ต้อง" อ่านแบบพลาดไม่ได้

A : คิดว่าคนแต่ละคนก็คงมองโลกไม่เหมือนกัน และเห็นเสน่ห์ในอะไรไม่เหมือนกัน จึงบอกไม่ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่โดยส่วนตัวแล้ว ชอบเรื่องผู้เสกทรายเพราะเป็นเรื่องของคนที่พยายามจะเข้าใจโลก พยายามจะเติบโตขึ้น ท่วงทำนองเวลาเขียนเรื่องนี้ ก็เขียนเหมือนตั้งใจจะชวนเพื่อน ให้ไปดูของสวย ๆ งาม ๆ ด้วยกัน ให้ตั้งคำถามบางอย่างด้วยกัน ให้สนุกด้วยกัน เป็นเรื่องที่ถึงตัวละครเอกจะผ่านอะไรมากแค่ไหน ก็ยังให้ความรู้สึกอบอุ่น ให้ความรู้สึกว่าไม่เป็นไรค่ะ

Q : โดยส่วนตัวคุณปันชอบฉากไหนมากที่สุด และคิดว่าคนอ่านอ่านแล้วน่าจะประทับใจเหมือนกัน

A : ส่วนตัวชอบฉากที่ฟิลันทำงานฝีมือทุกฉาก และฉากที่ชอบมากอีกฉากอยู่ที่บทร้อยแควน้ำ ตอนที่ 1 เป็นตอนที่เคอร์รันเข้าใจว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญ และอะไรที่นึกว่าสำคัญ แต่ที่จริงแล้วไม่ได้สำคัญอย่างที่คิดเลย คิดว่าตรงนี้เองที่เป็นความหมายของ “ทราย” ในเรื่องจริง ๆ

Q : ถามเรื่องฉากไปแล้ว ขอถามถึงตัวละครบ้างดีกว่าครับ ว่าชอบตัวละครตัวไหนเป็นพิเศษ หรือตัวละครตัวไหนที่รู้สึกประทับใจมากที่สุด และถ้าหากเลือกได้คุณปันอยากเป็นตัวละครตัวไหนในเรื่องครับ

A : ตัวละครเรื่องนี้ตั้งใจเขียนมาก ๆ เพราะอย่างนั้นคงต้องบอกว่าชอบตัวละครทุกตัว ในคนละแง่ และแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง มีวิธีคิดของตัวเอง

แต่ถ้าต้องเลือกจริง ๆ ว่าจะต้องเป็นตัวไหน คงเป็นฟิลัน เขาเป็นช่างฝีมือ เป็นคนมีความสุข อ่อนโยน ชอบสนุก มีอารมณ์ขัน ชอบเดินทาง ไม่ได้ผูกมัดกับสถาบันหรือความรู้สึกว่ายิ่งใหญ่อะไรเลย ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะต้องเป็นคนสำคัญหรือมีชื่อเสียงเลย แต่เพราะเป็นคนอย่างนี้ จึงทำให้คนอื่นมีความสุขได้ ปันอยากเห็นโลกผ่านสายตาของฟิลัน คิดว่ามันคงจะสวยดี

Q : เห็นว่าเล่มนี้เป็นภาค 1 แบบนี้แสดงว่าต้องมีภาค 2 ต่อใช่มั้ยครับ แล้วแบบนี้คนอ่านจะต้องรอกันอีกนานหรือเปล่าถึงจะมีภาค 2 ออกมาให้ได้ติดตามกัน

A : ค่ะ เรื่องนี้จะมีสองภาค ตอนนี้เขียนจบแล้วเหลือแต่บทส่งท้าย แต่ว่าอยากจะเก็บไว้พักหนึ่งแล้วจึงรีไรท์และเติมบทส่งท้ายน่ะค่ะ รับรองไม่นานเกินรอแน่ ๆ เน้อ

Q : คิดว่าเรื่องผู้เสกทรายจะเหมาะกับนักอ่านแนวไหนครับ

A : เอ ไม่เคยคิดถึงแนวมาก่อนเลย แต่คิดว่าถ้าชอบอ่านเรื่องแฟนตาซี ชอบวรรณกรรมเยาวชนพวกต้นส้มแสนรัก โต๊ะโตะจัง และวรรณกรรมแนวชวนให้คิดอย่างของ Paolo Coelho (11 นาที, เมืองทดสอบบาป, ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน ฯลฯ) น่าจะชอบเล่มนี้นะ

Q : สุดท้ายนี้อยากให้ฝากอะไรถึงคนอ่านเกี่ยวกับเรื่องผู้เสกทรายสักนิดนึงครับ

A : คงต้องบอกว่าขอฝากผู้เสกทรายด้วยนะคะ (โค้ง ๆ) แต่ที่จริงแล้ว ก็อยากขอบคุณคนอ่านทุกคน ทั้งคนที่เคยติดตามมาก่อนและคนที่จะอ่านต่อไปในอนาคต เพราะว่าการมีคนอ่าน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีคนเขียนขึ้นมาได้ค่ะ

ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของนักเขียนสาวนามปากกา “ลวิตร์” กันแล้ว เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนักเขียนไทยที่มีผลงานออกมาอย่างมากมาย ทั้งยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เห็นอย่างนี้กันแล้วก็ต้องติดตามอ่านผลงานของเธอคนนี้กันต่อนะครับ บอกได้คำเดียวว่าต้องติดตามครับ




 

Create Date : 17 กันยายน 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:09:50 น.
Counter : 1274 Pageviews.  

สัมภาษณ์ข้อย

จากเว็บประพันธ์สาส์นจ้ะ

//www.praphansarn.com/new/c_talk/detail.asp?id=250

###

สวัสดีค่ะวันนี้คอลัมน์คุยนอกรอบของเรายัง คงสนใจที่จะคุยกับนักเขียนแนวแฟนตาซี ที่น้อง ๆ หนู ๆ หรือกระทั่ง พี่ ๆ ทั้งหลายติดอกติดใจกันงอมแงม กับโลกจิตนาการเหล่านี้ แต่นักเขียนของเราวันนี้ไม่ใช่นักเขียนจากสำนักพิมพ์เรนโบว์ ในเครือประพันธ์สาส์นหรอกค่ะ แต่เป็นนักเขียนแนวแฟนตาซีเจ้าของผลงานที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีกับเรื่อง “ไมรอน” และนอกจากนี้เธอก็ยังมีผลงานอื่น ๆ อีกหลายต่อหลายเล่มด้วยกัน ฉะนั้นอย่ารอช้า เราไปทำความรู้จักกับเจ้าของนามปากกา ลวิตร์ ที่ฮิต ๆ ติดตามาจากโลกออนไลน์กันดีกว่าค่ะ

- แนะนำตัวและผลงานที่ผ่านมาสักนิดค่ะ

ชื่อจริงคือ พัณณิดา ภูมิวัฒน์ และเป็นชื่อที่ใช้เขียนหนังสือด้วย ชื่อเล่นจริง ๆ ชื่อ ปันปัน คนชอบคิดว่าเป็นภาษาอิตาลี เพราะชื่อเหมือนร้านอาหารอิตาลี แต่จริง ๆ แล้ว เขียนเป็นภาษาอังกฤษไม่เหมือนชื่อร้านอาหาร (เขียนว่า PunPun ร้านอาหารเขียน PanPan) และ ไม่ได้เป็นภาษาอิตาลี แต่เป็นภาษาไทย แปลว่า แบ่งปัน ส่วนชื่อในเน็ตมีหลายชื่อ ชื่อแรกที่ใช้ในเน็ตคือ ลวิตร์ แปลว่า เคียวเกี่ยวข้าว ทำให้บางคนเรียกว่า “เคียว”

ส่วนใหญ่แล้วจะเขียนเรื่องแฟนตาซี และนิยายวิทยาศาสตร์ มีงานออกกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เช่น แพรวเยาวชน สถาพรบุ๊คส์ นวนิตา ส่วนตัวแล้วชอบนิทานและตำนานโบราณ คนอ่านมักจะบอกว่าต่อให้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ก็จะมีกลิ่นอายของตำนาน


- ก้าวแรกสู่การเป็นนักเขียนเริ่มต้นอย่างไร

คิดว่าคงเริ่มที่คุณแม่ คุณแม่เป็นคนอ่านหนังสือมาก และชอบเล่าเรื่องที่อ่านให้ลูกฟัง เมื่อเด็ก ๆ คุณแม่ชอบพาไปวัดพระแก้ว ไปดูระเบียงเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องที่คุณแม่เล่ามีทุกชาติ คุณแม่ชอบเรื่องแปลก ๆ ชอบแฟนตาซีและนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องอย่าง Lord of the Rings หรือสามก๊ก หรือมหาภารตะ คุณแม่ก็เล่าให้ฟังเมื่อเด็ก ๆ ทั้งนั้น ที่จริงรู้สึกว่าคุณแม่จะประสบความสำเร็จมาก เพราะไป ๆ มา ๆ น้องชายก็เขียนหนังสือเหมือนกัน

- มีงานเขียนมาทั้งหมดกี่เล่มแล้วคะ อะไรบ้าง

แฟนตาซี
- มาโอ ภาค ๑-๒
- เซรีญา (สามเล่มจบ) + อันเซลมา (ตอนพิเศษของเซรีญา)
- ไมรอน
- Dragon Delivery (ปัจจุบันมี ๔ เล่ม)

นิยายวิทยาศาสตร์
-ฯพณฯแห่งกาลเวลา
-เดอะสตอรี่เทลเลอร์

อื่น ๆ
- นิทานรางวัลมูลนิธิเด็กสองเรื่อง คือ “ภาษาหัวใจ” และ “กรรไกรสีแดงกับกระดาษสีขาว”
- ปวงเทพผู้นิราศ ปกรณัมเคลติก-ติวตันนิก เล่าเรื่องตำนานเทพเจ้าของฝรั่งโบราณ


- การเขียนวรรณกรรมสำหรับเยาวชนมีความยากง่ายอย่างไรและต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ตั้งแต่แรกมา ไม่เคยคิดว่าตัวเองเขียนวรรณกรรมเยาวชน และไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าคนอ่านจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก เพียงแต่เขียนสิ่งที่ตัวเองอยากเขียนและอยากอ่าน แต่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ ต่อมาภายหลังเมื่อมีคนพูดว่าตัวเองเขียนวรรณกรรมเยาวชนมาก ๆ เข้า จึงได้มาพยายามทำความเข้าใจว่าเพราะอะไร และเข้าใจว่าเป็นเพราะ

1. เนื่องจากเรื่องแฟนตาซีเป็นเรื่องมหัศจรรย์คล้ายนิทาน คนที่ไม่ได้ติดตามอ่านแฟนตาซีอย่างใกล้ชิดจึงนำไปปะปนกับนิทาน และเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำหรับเด็กอ่าน

2. ตัวเองชอบเขียนเรื่องที่ตัวเอกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องทำความเข้าใจตัวเอง และทำความเข้าใจโลก ซึ่งตรงกับแนวที่ฝรั่งเรียกว่า coming of age หรือ Bildungsroman ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ตัวละครมักจะเป็นเด็กที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องเด็ก ซึ่ง คิดว่าคงเป็นเหตุเดียวกับที่เรื่องอย่าง โอลิเวอร์ ทวิสต์ หรือ เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ ของชาร์ลส์ ดิกเคนส์ มักจะกลายเป็นหนังสือเด็ก ทั้ง ๆ ที่คนเขียนไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เด็กอ่านตั้งแต่แรก

แต่ถ้าถามว่า เขียนหนังสือต้องคิดถึงอะไรบ้าง จากประสบการณ์ของตัวเอง เงื่อนไขในการเขียนเรื่องจริง ๆ มีอยู่สองข้อเท่านั้น คือ ถ้าตัวเองไม่สนุกก่อน คนอ่านก็จะไม่สนุกด้วย และถ้าตัวเองไม่ขัดเกลาตัวเองให้ดีก่อน งานที่เขียนก็จะไม่ดีด้วย การเขียนหนังสือเป็นเรื่องที่จำเพาะตัวบุคคลมาก แข่งกับคนอื่นไม่ได้ ต้องแข่งกับตัวเอง

- ผลงานที่คิดว่าทำให้พี่เป็นที่รู้จักที่สุดคือเรื่องอะไร

คนอ่านมักจะเลือกอ่านเรื่องต่างกันค่ะ เลยตอบไม่ค่อยถูก แต่คิดว่ากลุ่มที่อ่านเรื่องเบาหน่อยคงรู้จักจากเรื่องมาโอ และ Dragon Delivery ส่วนกลุ่มที่อ่านเรื่องหนักหน่อยคงรู้จักจากเรื่องไมรอน

- เรื่องไหนเขียนยากที่สุดเท่าที่ผ่านมา เพราะอะไร

เรื่องที่เขียนยากที่สุดเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ออกวางตลาด ชื่อเรื่องผู้เสกทราย เหตุที่เขียนยากเพราะมีจุดหนึ่งที่เขียนไปแล้ว ไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวละครได้ เพราะเป็นเรื่องที่เขียนถึงความไม่ยุติธรรมในสังคม การแบ่งแยก การเหยียดหยามคนที่แตกต่างจากตน ซึ่งถ้ามองในแง่หนึ่งก็เป็นปัญหาโลกแตก ตอนนั้นพอเขียนถึงจุดหนึ่งแล้วก็นึกคำตอบให้กับปัญหานี้ไม่ได้จริง ๆ ไม่อยากเขียนเรื่องที่มองโลกดีสวยงามจนเหมือนมองข้ามความจริง แต่ก็ไม่อยากเขียนเรื่องที่เอาแต่เศร้าเสียใจโดยไม่สามารถมองเห็นแง่งามของชีวิตได้ จึงทำให้เขียนช้ามาก ต้องใช้เวลานาน ผ่านอะไรหลายอย่างเป็นเวลาหลายปี จึงทำให้ค่อย ๆ เข้าใจขึ้นมา และเขียนต่อได้ในที่สุด

- มีเทคนิคอะไร ในการคิดพล็อตนิยายและการร้อยเรียงเรื่องราวออกมาบ้างไหมคะ

เรื่องพล็อตนิยายเป็นของที่มีอยู่รอบตัว ถ้ามองดี ๆ แล้วก็จะเห็นเป็นพล็อตไปหมดได้ ถ้าสังเกตและตั้งคำถามกับโลกรอบตัวมาก ๆ หน่อย ทุกอย่างก็มีเรื่องราวของมันเองแฝงอยู่ทั้งนั้น

ส่วนเรื่องเทคนิคการเขียนเรื่อง เคยคุยกับน้องคนหนึ่ง ว่าในที่สุดแล้ว อยากให้ตัวเองไม่เหลือเทคนิคอะไรเลย คืนสู่สามัญที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเขียนเรื่องอย่างจริงใจที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออกแนววะบิซะบิ ไม่ต้องมีอะไรมาประดับให้รุงรังทั้งนั้น แต่น้องคนนั้นบอกว่า ต่อให้เป็นอย่างนั้นจริง ก็ไม่ใช่ว่าเทคนิคหายไป แต่เทคนิคนั้นฝังในเนื้อในตัวแล้ว เลยใช้ออกไปโดยไม่รู้ตัวมากกว่า แต่เอาเข้าจริง ตอนนี้ก็ยังตอบไม่ถูกว่าเทคนิคการเขียนคืออะไร ได้แต่บอกว่า สิ่งที่ช่วยให้เขียนได้ดีที่สุดก็คือ ความรู้สึกสนุก ความ รู้สึกเข้าใจตัวละครจนกระทั่งเข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์ถึงได้เป็นอย่างนี้ จากมุมมองของตัวละครจริง ๆ เมื่อไรที่สามารถเข้าใจทั้งหมดนี้ได้แล้ว ท่วงทำนองการเขียนเรื่องก็จะเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืดเฝือและไม่สวิงสวายจนดูเหมือนเล่าเรื่องอย่างไม่จริงใจ หรือพยายามบังคับผลักดันให้เรื่องเป็นไป ทั้ง ๆ ที่จังหวะเรื่องไม่อำนวย

- มองวงการวรรณกรรมบ้านเราทุกวันนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้างคะ(โดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชน)

รู้สึกว่ามีต้นฉบับแปลค่อนข้างมาก และมีหลาย genre ที่ไม่มีต้นฉบับไทยเลย มีแต่ต้นฉบับแปล แต่ก็เห็นว่าค่อย ๆ มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีมาก

ส่วนเรื่องวรรณกรรมเยาวชน มีคำถามว่า วรรณกรรมเยาวชนคืออะไร เรามักคิดว่าวรรณกรรมเยาวชนคือเรื่องที่เด็กอ่าน แต่เรื่องบางเรื่องเด็กไม่ได้อ่าน คนอ่านกลับเป็นผู้ใหญ่ ตัวเองก็ชอบเรื่องเด็ก เมื่อเด็ก ๆ จำได้ว่ามีหนังสือเล่มหนึ่ง แปลจากภาษารัสเซีย เป็นเรื่องเด็กผู้ชายรัสเซียธรรมดา เรื่องนั้นเมื่อเด็กอ่านแล้วไม่ชอบเลย แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่กลับชอบ เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้หวนระลึกถึงสภาพจิตใจเมื่อยังเป็นเด็ก ให้เห็นความไร้เดียงสาของเด็ก ทำให้เกิดคำถามว่า เรื่องแบบที่เขียนถึงเด็ก แต่เด็กไม่ชอบ ผู้ใหญ่กลับชอบเพราะทำให้เกิด nostalgic feeling หวนระลึกถึงวัยเยาว์ของตัวเองแบบนี้ จะเรียกว่าวรรณกรรมเยาวชนได้หรือเปล่า

ทุกวันนี้มีทางเลือกมาก ถ้าหากหนังสือที่เราคิดว่า “ดี” ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเด็กในฐานะเด็กจริง ๆ เด็กก็ย่อมจะหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกับเขามากกว่าแทน ดังนั้นการตัดสินใจคัดเลือก ตีพิมพ์ ตลอดจนการดูแลวรรณกรรมที่เด็กจะอ่านจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหลาย ๆ ฝ่ายน่าจะให้ความสนใจใกล้ชิดมากขึ้น

- คิดว่าการโพสต์นิยายในเว็บบอร์ดมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง

ก่อนนี้เมื่อตัวเองเริ่มเขียนนิยายเป็นชิ้นเป็นอันใหม่ ๆ นั้น ไม่มีความหวังเลยว่าจะได้พิมพ์ เพราะตลาดหนังสือไทยยังแคบกว่านี้ และยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องช่องว่างทางการตลาดหลาย ๆ ช่อง ตอนนั้นเป็นสมัยที่มีบอร์ดนักเขียนบอร์ดแรก ๆ ในอินเตอร์เน็ต คือบอร์ดถนนนักเขียนของพันทิป ปันคิดว่าการที่ปันตัดสินใจโพสต์เรื่องลงในบอร์ดพันทิปในตอนนั้น เป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ปันสามารถเขียนต่อมาจนถึงตอนนี้ได้ ตอนนั้นถ้าหากไม่โพสต์ ก็ไม่เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านอื่น ๆ ไม่ทราบว่าจะมีคนอ่านเรื่องอย่างนี้หรือไม่ ไม่ทราบว่านิยายของเราดีหรือไม่ดี การโพสต์ทำให้เราสามารถมีตัวตนในโลกของการเขียนได้ แม้ว่าจะไม่ได้ตีพิมพ์ ก็ยังไม่ต้องเก็บไว้อ่านเอง ปันคิดว่าสมัยก่อนจะมีอินเตอร์เน็ต คงมีคนหลายคนที่ปล่อยให้ความอยากเขียนของตัวเองตายไป เพราะไม่รู้ว่าจะแสดงมันออกมาให้คนอื่นเห็นได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่งก็คือ เว็บบอร์ดเป็นที่ที่ให้อิสระเกือบเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกลัวการทดลอง คงคล้าย ๆ กล้องดิจิตอลที่ทำให้คนถ่ายรูปมากขึ้น จนถึงเดี๋ยวนี้ ปันก็ยังใช้บอร์ดเป็นที่ทดลองทำอะไรเล่นใหม่ ๆ เพื่อจะดูว่าคนอ่านจะว่าอย่างไรเสมอ

ปันคิดว่าอินเตอร์เน็ตมีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดหนังสือโตขึ้น คงมีคนไม่น้อยบ่นเรื่องตลาดหนังสือทุกวันนี้ แต่ปันคิดว่าเราควรจะมองดี ๆ และมองยาว ๆ ไม่มีอะไรที่จะหยุดอยู่กับที่ได้ และไม่มีอะไรที่จะอยู่ถาวรตลอดไป แต่อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็แสดงว่ามันคงทนอยู่กับที่ไม่ได้ เมื่อมันคงทนอยู่ที่ไม่ได้ เราก็ควรจะมองมันอย่างฉลาด มองด้วยความเข้าใจให้ถึงแก่น ไม่ใช่หวาดกลัวจึงไม่กล้ามอง มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งคุกคามต้องติเตียนไว้ก่อน หรือมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะหน้าอย่างเดียว ปันเชื่อว่าไม่ว่าเป็นสถานการณ์อะไร หรืออยู่ที่ไหน ทุกคนจะได้ผลดีร่วมกันหมด ถ้าหากเรามองอะไรยาว ๆ

ส่วนถามว่าข้อเสียมีอย่างไร เท่าที่เห็นมา ก็มีหลายกรณี ถามใคร ๆ ก็ตอบได้ อินเตอร์เน็ตทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่ว” (chaos) อย่างยิ่งขึ้นมา เป็นพื้นที่ที่ควบคุมได้ยาก จนชวนให้คนงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และทำให้เกิดพฤติกรรมทั้งดีทั้งเลวขึ้นมาปะปนกันไปหมด แต่ปันคิดว่า การให้อิสระก็ดีกว่าการบังคับไว้จนไม่มีอะไรโตเลย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย อินเตอร์เน็ตก็เป็นช่องทางหนึ่งเท่านั้น การทำให้เกิดดีและเสีย เป็นเรื่องของคน การดูแลกันให้ดีหรือไม่ดี เป็นเรื่องของการดูแลคนที่รากฐาน ไม่ใช่การจำกัดสิทธิ์หรือออกฎอย่างเดียวจะแก้ไขได้

- กิจกรรมยามว่างของพี่คืออะไรบ้างคะ

อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ วาดรูป เดิน

- แนะนำผลงานล่าสุดหน่อยคะ หรือกำลังมีผลงานอะไรต่อไป

เรื่องต่อไปที่จะออกน่าจะเป็นเรื่องผู้เสกทราย ถ้าให้แนะนำคร่าว ๆ คงต้องบอกว่า เป็นเรื่องการผจญภัยของเด็กชายพิการคนหนึ่ง เป็นการพยายามหาคำตอบว่าทำอย่างไรคนเราจะอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ แง่ ระหว่างที่เดินทาง ตัวเอกของเรื่องก็จะค่อย ๆ พบแง่มุมต่าง ๆ ของความแตกต่าง ของการแบ่งแยกหรือไม่แบ่งแยก ของเรื่องที่ใคร ๆ อาจจะบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก คอขาดบาดตาย แต่ที่จริงอาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนั้นก็ได้ และที่จริงแล้ว ความแตกต่างอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องเกลียดกัน หรืออยู่ร่วมกันไม่ได้ก็ได้

- อยากให้แนะนำน้องๆ ที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน

เคยแนะนำไว้อย่างนี้ ก็จะยืนยันคำแนะนำเดิมค่ะ:

เรียนรู้เยอะ ๆ และเป็นตัวของตัวเอง

เรียนรู้เยอะ ๆ เพราะการเขียนหนังสือคือการสะท้อนโลกที่เราเห็น ถ้าเห็นแคบ โลกที่สะท้อนออกมาก็แคบและไม่มีมิติ

เป็นตัวของตัวเอง เพราะว่าเราเรียนรู้จากคนอื่นได้ แต่เราเป็นเขาไม่ได้ ของจริงแท้แน่นอนที่จะเป็นของเราตลอดไปจึงมีแต่สไตล์ของตัวเอง รูปแบบของตัวเอง ประสบการณ์ของตัวเอง ความเข้าใจของตัวเอง

และวิธีที่ทำให้การเป็นตัวของตัวเองพัฒนาขึ้นมาได้ ก็คือเรียนรู้เยอะ ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ อย่างเดียว แต่หมายถึงพยายามสังเกตอะไรเยอะ ๆ เรียนจากคนที่รู้เยอะ ๆ และใช้ความคิดเยอะ ๆ ด้วย




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:04:55 น.
Counter : 509 Pageviews.  

ความคิบหน้าเรื่องปกไมรอน

ตามสถานการณ์ในบล็อคนี้

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=lawit&date=23-07-2009&group=25&gblog=42

ก็ได้ปกนี้มา



วาดโดยแมวแป้งจ้า

ขอบคุณทุก ๆ คนที่ช่วยมาก ๆ นะคะ T-T




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:04:24 น.
Counter : 1444 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.