The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

รู้แล้ว

ในฐานะที่เราไม่ใช่ "คนวงใน" ( ในหลาย ๆ วง )

และเป็นคนน้ำแข็งหนาพอสมควร ( น่าอายจัง ) จนไม่ใช่จะได้ข่าวเรื่องใน ๆ จากใครได้ง่าย ๆ

เราจึงเรียนรู้เรื่องของนักเขียนหลายคนเพียงจากเรื่องที่เขาเขียน

เรื่องอื่นนอกจากนั้นเราไม่รู้ และบางครั้งก็ไม่ได้คิดจะรู้ เพราะเราคิดว่านักเขียนแทบทุกคนพยายามจะเอาส่วนที่เขาสบายใจที่สุด และคิดว่าดีที่สุดออกมาแสดงอยู่แล้ว ( ดีที่สุดไม่ได้หมายถึง persentable ที่สุด แต่อาจจะหมายถึง proud to present ที่สุด )

ด้วยเหตุนี้ อะไรที่นักเขียนไม่บอก เราก็ไม่รู้

แต่เราคิดว่าบางครั้ง ในงานบางงาน เราก็ "อ่าน" ได้

เราอ่านสารคดีท่องเที่ยวน้อยมาก ในความทรงจำอันเลือนรางตั้งแต่เด็ก ๆ มาจนเมื่อเร็ว ๆ นี้ แทบไม่มีหนังสือท่องเที่ยวอยู่เลย ชั่วแวบที่คิดออกก็อาจจะมีเรื่อง "ฉากญี่ปุ่น" หรือหลาย ๆ เรื่องของ ส.พลายน้อย ( แต่ส.พลายน้อยไปเที่ยวจริงหรือเปล่านะ ) ทว่าที่จำหนังสือพวกนี้ได้ ก็เป็นเพราะจำอยู่ในเซ็ตภายใต้ชื่อคนเขียน ( อ้อ นึกออกอีกคนนึงแล้ว เป็นนักเขียนของต่วยตูนที่ตลกมากเรียนจบมาจากอินเดีย แกน่ารักมาก แต่ตอนนี้เรานึกชื่อแกไม่ออก - -'' )

เราซื้อ "โตเกียวไม่มีขา" ไปเมื่อปีก่อน ซื้อเพราะอยู่ในอารมณ์อยากซื้อ และอาจจะเพราะรูปเล่มที่ให้อารมณ์กึ่ม ๆ ดีด้วย

แต่เราไม่ "ประทับใจ" โตเกียวไม่มีขา

เราคิดอยู่หลายพักว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะแกไปแหล่งขายบริการหรือ ก็เปล่า เพราะนักเขียนต่วยตูนคนนั้นก็ไปเหมือนกัน ( แอ่วสาวทุกเมืองที่ผ่านเลย ) และเราก็ไม่ว่าอะไรถ้าแกจะไปแอ่ว ไอ้ของที่มีมาบอกไม่มีมันหลอกตัวเอง

เราเพิ่งมารู้ว่าทำไมเมื่อคืน ตอนที่เราอ่านเรื่อง "จากโปสการ์ดถึงอีเมล์" ของภาณุ มณีวัฒนกุล

มันเป็นเรื่องของ "ประสบการณ์"

มีอยู่หลายบทหลายตอนที่คุณภาณุพูดด้วยอารมณ์รุนแรงถึงสิ่งเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความโง่เขลาและอ่อนแอของมนุษย์ มีอยู่บทหนึ่งที่แกพูดถึงอดีต สมัยที่ทำสารคดี และถูกขับไล่ ต้นสังกัดถูกฟ้องหลายครั้งหลายหน เพราะแกทำสารคดีเปิดโปงอะไรหลายอย่างที่น่าทุเรศและไม่ถูกต้อง

แต่เวลาที่อ่านอีกเรื่องของแก อย่างเช่น คือคนในความทรงจำ และ อารมณ์กาแฟ แกไม่ได้พูดถึงเรื่องอย่างนี้ และเราก็ไม่รู้ว่าแกเคยทำอะไรมาในอดีต เรารู้แต่ว่าลุงคนนี้เป็นผู้ใหญ่ ฉลาดช่างคิด อ่อนโยน บางทีก็อ่อนไหว

ในที่สุดเราก็รู้ว่าแกมี "ประสบการณ์" มา ผ่านอะไรหลายอย่างที่เจ็บปวด สู้กับอะไรหลายสิ่งซึ่งยากจะสู้ได้ พบคนหลายคนที่งดงามที่น่าเกลียดน่าชัง

ความจริงเหล่านั้นทำให้แกมีความเสถียรหลายอย่างในตัว แกไม่ตื่นเต้นทั้งกับความดีและความเลวอีกต่อไป ไม่ยกประสบการณ์บางอย่างจนสูงเด่นประหนึ่งเป็นไฮไลท์อันควรเอาไว้บนแท่น ไม่ชื่นชมอะไรจนเกินเหตุ แกเพียงแต่แสดงสิ่งที่มันเป็นเพราะมันเป็นเช่นนั้น

แกให้ความสำคัญและจดจำกับคนที่ดีด้วยเสมอ แต่ก็ไม่เคยบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งดีพร้อม ยิ้มด้วยมุมปาก ( และบางทีก็ยิ้มแหย ๆ ) ให้กับความประหลาดและพิลึกของคนบางคน โกรธเกรี้ยวความไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ชังโลก ( ยิ่งงานเล่มหลัง ๆ ยิ่งมีอารมณ์อย่างนี้ชัดเจน )

นั่นคือสิ่งที่เราชอบ

จำได้เลา ๆ ว่าคนที่เขียน "ต้นส้มแสนรัก" เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ว่าจะเป็นนักเขียนก็ต้องมีประสบการณ์เยอะ ๆ ไปเจอคนให้มาก ๆ ทำอะไรให้มาก ๆ

เรานึกถึงดอกไม้สด เราไม่คิดว่าดอกไม้สดจะสามารถ "ออกไปหาประสบการณ์มาก ๆ" ได้ ในฐานะลูกสาวตระกูลผู้ดีในสมัยก่อนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย และด้วยสุขภาพอย่างนั้น

ด้วยเหตุนี้ เรื่องของดอกไม้สดจึงอยู่ในปริมณฑลของสังคมแบบหนึ่ง และส่วนใหญ่เป็นเรื่องในครอบครัว

แต่สายตาของดอกไม้สดช่างแหลมคม คำบรรยายชัดเจน และความรู้สึกที่ได้ก็แทบจะเหมือนเห็นด้วยตาตัวเอง แม้กระทั่งตอนที่อายุมากขึ้น และเรื่องหลัง ๆ แสดงความร่วงโรยบางอย่าง แต่เรื่องเหล่านั้นก็พัฒนาการไปในรูปแบบที่ช้าลง โครงเรื่องเลือนหาย ความเป็นมนุษย์ชัดจนคนอ่านเกือบจะอึดอัด ( อารมณ์พาฝันหายไปแล้ว ) ที่จริงคือมันเฉียบมากขึ้นในหลาย ๆ แง่ทีเดียว

ไม่ใช่ว่าเราจะชอบแต่เรื่องของคนมีอายุ แต่บางที เราอาจจะคาดหมายว่าจะได้เรียนรู้ และ "เห็น" อะไรบางอย่างมากขึ้นหน่อย ด้วยการอ่านเรื่องของคนอื่น

มันอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว

แต่ในที่สุดแล้ว กาลเวลาก็คงจะเปลี่ยนแปลงเรา เช่นเดียวกับที่เปลี่ยนแปลงคนอื่น ๆ

บางทีมันอาจจะทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น และเลิกเรียกร้องบางอย่าง เพื่อจะหันมายอมรับบางอย่างเพียงด้วยสิ่งที่มันเป็นก็ได้




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:45:12 น.
Counter : 584 Pageviews.  

พิราบ: Patrick Suskind



ผู้แต่ง : พัททริค ซึสคินท์
ผู้แปล : ชลิต ดุรงค์พันธุ์
ราคาปก 80.00 บาท
สำนักพิมพ์คบไฟ

###

มีใครจำเรื่อง "น้ำหอม" ได้ไหมหนอ เรื่องน้ำหอมหรืออีกชื่อว่า "กลิ่น" แปลโดยคุณสีมน ( ไม่แน่ใจว่าคนแปลสองคนหรือมันมีสองชื่อ แต่ถ้ามันมีแปลสองเวอร์ชั่น เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนแปลเวอร์ชั่น "กลิ่น" )

มันเป็นเรื่องโปรดของเรา ตลอดเวลาตั้งแต่ได้มาไว้ในครอบครอง เราอ่านรอบแล้วรอบเล่าจนกระทั่งเล่มแรกเปื่อยแทบขาด ในที่สุดก็เลยตัดสินใจซื้อสำหรับเก็บอีกเล่มเมื่อมีการพิมพ์ครั้งใหม่

เราไม่เคยเข้าใจ ( พูดให้ถูกคือไม่เคย "คิด" ) เลยว่าน้ำหอมมีความหมายยังไง มีอะไรซ่อนอยู่ บอกอะไรเสียดสีอะไร ทำไมมันถึงได้รุนแรงโหดร้าย ทำไมมันถึงได้ให้รายละเอียดของน้ำหอมได้มากและน่าสนใจขนาดนั้น เพราะในที่สุดแล้ว เราก็บอกตัวเองว่าเราชอบน้ำหอมเพราะมันเป็นน้ำหอมมากกว่าเหตุผลอื่น ๆ

เรื่อง "พิราบ" เล่มนี้ คนเขียนคนเดียวกับ "น้ำหอม" เขียนหลังจากน้ำหอมไม่นานแต่เพิ่งจะมีการแปลออกมาเป็นภาษาไทย เล่มบาง ๆ มีเนื้อหาจริง ๆ ประมาณแค่หกสิบหน้า

มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนนึงซึ่งจงใจขังตัวเองให้อยู่ในโลกของตัวเอง เขาเกลียดความยุ่งยากวุ่นวาย เกลียดความไม่แน่นอนทุกชนิด ด้วยเหตุนี้ เกือบตลอดชีวิตของเขาจึงมีแค่การไปทำงานเป็นยามที่ธนาคาร จากนั้นก็กลับมาอยู่ในห้องของตัวเอง เขาแต่งห้องของตัวเองอย่างหรูและดีมาก เพราะรู้สึกว่ามันเป็น "เปลือก" ที่ปกป้องเขาจากโลกภายนอก

แต่แล้ววันหนึ่ง ชายคนนั้นก็ถูกคุกคามด้วยการปรากฏตัวของเจ้านกพิราบ ซึ่งทำให้ความมั่นคงในโลกของเขาหมดไป การปรากฏตัวของเจ้านกพิราบทำให้เขากลัว ไม่แน่ใจ และนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายในชีวิตอีกมากมาย

###

มันเป็น...เรื่องที่จะบอกว่า "มีสาระ" ก็ได้

หรือจะบอกว่ามันไม่มีสาระอะไรเลยก็ได้

มันอาจจะเป็นแบบเดียวกับเรื่อง "คนนอก" ของอัลแบร์ การ์มู

หรือบางทีคนเขียนก็อาจจะแค่อยากเขียนเรื่องแบบนี้เท่านั้น

เราคิดว่าเราจับมู้ดบางอย่างที่คล้ายคลึงกับ "น้ำหอม" ได้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะโมถีบที่เกี่ยวกับการซุกซ่อนตัวอยู่ในเปลือกอันปลอดภัยของตัวเอง เราจำได้ว่าในเรื่องน้ำหอม ตัวเอกคือเกรอนุยได้ไปอาศัยอยู่ในถ้ำกันดารบนยอดเขาคนเดียว ใช้ชีวิตด่ำดิ่งลึกลงไปในจินตนาการของตัวเอง

คนแปลเขาบอกว่าคนเขียนเองก็เป็น "พวกเก็บตัว" เหมือนกัน แกเป็นคนลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครรู้ประวัติชีวิต และแม้กระทั่งได้รับรางวัลทางวรรณกรรมบานตะเกียงก็ไม่ยอมโผล่ออกมาเอา ( เจ๋งดีแฮะ ) เพราะอย่างนั้น เราคิดว่าบางทีแกอาจจะเขียนถึงตัวเอง และโลกที่แกสร้างขึ้นก็ได้

บางทีเราก็เซนส์บางอย่างในการเก็บตัวของเกรอนุย และโยนาธาน โนเอล ตัวเอกของนกพิราบได้ เพราะเราเองก็เป็นพวกติดบ้านและชอบอยู่ในห้องของตัวเองมากเหมือนกัน ( แต่ก็ไม่ถึงขนาดคิดจะไปอยู่คนเดียว ดื่มด่ำกันจินตนาการของตัวกลางเขาหรอกนะ )

เรื่องพิราบต่างจากเรื่องน้ำหอมอยู่อย่างหนึ่ง ( ถ้าไม่นับเรื่องความละเอียดซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่น่าทึ่งของน้ำหอม ) คือพออ่านเรื่องนี้แล้ว เราอยากจะตีความเป็นบ้า

เราอ่านที่คนแปลตีความไว้ท้ายเล่มแล้ว รู้สึกไม่เห็นด้วยหลายที่ แกพูดถึงว่าพระเอกจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า หรือจะกลับไปอยู่ในเปลือกของตัวเองตามเดิม และแกก็แสดงความเห็นว่าไม่ว่าทางไหนก็ "สิ้นหวัง" ทั้งนั้น

แต่ที่จริงเราไม่ค่อยคิดว่าคุณโยนาธาน โนเอล แกจะ "สิ้นหวัง" ที่จริงคือเราไม่คิดว่าการตัดสินใจฆ่าตัวตายของแกมันจะจริงจังขนาดนั้น เราว่าเรื่องนี้วางระบบสัญลักษณ์อะไรเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งถ้ามีเวลาน่าจะมาถอดดู มันน่าจะถอดออกมาได้มากเลยละ

###

ถ้ามีคนถามว่าจะเรคคอมเมนต์เล่มนี้ต่อมั้ย เราก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่คนที่จะมาฟังเราเรคคอมเมนต์ เพราะโดยส่วนตัวเราว่ามันก็เป็นเรื่องที่แปลกดี และคนเขียนแกก็เป็นคนเล่านิทานสนุก ( ตามแบบของแก ) เรื่องนี้อาจจะไม่เท่าน้ำหอม คือจัดอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจพอสมควร

ถึงอย่างนั้น เรื่องแบบนี้คนชอบก็ชอบ ส่วนคนเกลียดก็เกลียดไปเลยเหมือนกัน

ป.ล. เรื่องของสนพ.คบไฟนี่ต้องมีการให้คนแปลมาเขียนตีความสั้น ๆ ให้ตอนท้ายทุกเรื่องเลยหรือเปล่าน่ะ เหมือนจะเห็นมาสองสามเรื่องแล้ว - -''

ป.ป.ล. มาเติมคำวิจารณ์จากอเมซอน

//www.amazon.com/gp/product/customer-reviews/0394563158/ref=cm_cr_dp_pt/102-4742692-5632132?%5Fencoding=UTF8&n=283155&s=books




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:37:39 น.
Counter : 1002 Pageviews.  

ในที่สุด...

วานนี้ เจ้าของบล็อคได้ไปเจอหนังสือเรื่อง "คือคนในความทรงจำ" โดยบังเอิญ ขณะเดินโต๋เต๋รอห้องสมุดเปิด

เจ้าของบล็อคซื้อมาเพราะเจ้าของบล็อคชอบรู้เรื่องชาวบ้าน แต่คุยไม่ค่อยเก่ง ชอบฟังคนอื่นคุยมากกว่า

เจ้าของบล็อคพบว่าตัวเองตกหลุมรักคนเขียนคือคุณภาณุ มณีวัฒนกุล อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะเจ้าของบล็อคหาหนังสือที่ให้ "มู้ด" แบบนี้มานานแล้ว แต่หาไม่เจอสักที

เจ้าของบล็อครู้สึกเหมือนในที่สุดก็เจอคนที่รอคอยมานาน

เจ้าของบล็อคเห็นลางร้ายว่าเจ้าของบล็อคจะต้องไปเก็บกวาดงานของแกมาด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาให้จงได้ ( แต่เจ้าของบล็อคกำลังค่อนข้างกรอบ )

เจ้าของบล็อคยังเห็นลางต่อไปว่าเจ้าของบล็อคเป็นคนสุดท้ายที่ได้รู้จักคนเขียนน่ารักคนนี้ เพราะรู้สึกว่าแกจะเก๋าและเขียนมานานมากแล้ว นอกจากนั้นแกยังเป็นคนแปลเรื่อง "โรสแมรี่และต้นส้ม" ที่เจ้าของบล็อคอ่านไปจนจบตั้งนานแล้วโดยไม่สนใจชื่อคนแปลเลยอีกต่างหาก

ดังนั้นเจ้าของบล็อคจึงเอาชื่อแกไปป่าวประกาศให้เพื่อนพ้องรู้จักต่อ เพื่อที่เจ้าของบล็อคจะได้พ้นภัยแห่งการเป็นคนสุดท้ายที่รู้จักแก

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
จขบ.

ป.ล. ตอนนี้มี "คือคนในความทรงจำ" กับ "อารมณ์กาแฟ" อยู่ในครอบครอง แต่นอกจากนั้นพิมพ์มาหลายปีแล้ว กำลังตรองอยู่ว่าจะไปเดินเจเจหรือจะสั่งเว็บเอา




 

Create Date : 28 เมษายน 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 1:41:43 น.
Counter : 582 Pageviews.  

Nobody Nowhere เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้



( หารูปใหญ่กว่านี้ไม่ได้... )

รายละเอียดเล่มอ่านได้ในนี้ //www.pantip.com/cafe/library/bookcase/preview/1444.html

###


นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับออทิสติก ที่คนเป็นออทิสติกเขียนเอง เล่าเรื่องของตัวเองตั้งแต่สามขวบจนสักยี่สิบปลาย ๆ

มันเป็นเรื่องออทิสติกที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เราเคยอ่านมา บรรยายถึงความรู้สึก และโลกที่คนเป็นออทิสติกมองเห็นได้อย่างที่เราเองก็แทบจะสัมผัสได้

และมันก็เป็นเรื่องของคนเป็นออทิสติกที่เจ็บปวดที่สุดที่เราเคยอ่าน สังคมที่ไม่สามารถช่วยเหลือคนทุกคนได้อย่างทั่วถึง การมีชีวิตอยู่ในโลกอันแปลกแยก ความพยายามที่จะวิ่งไล่ตามคนอื่นเพราะอยากจะเป็น "คนธรรมดา" บ้าง ระบบความคิดที่ทำให้ต้องเจออะไรที่ไม่อยากเจอ ( และไม่เจออะไรที่อยากเจอ )

บางทีอาจจะเพราะปัญหาในครอบครัวของคนเขียน และความผิดปรกติของเธอ ซึ่งอยู่ระดับใกล้เคียงกับคนปรกติมาก รวมทั้งระดับไอคิวซึ่งสูงตามแบบคนออทิสติกทั่วไป จึงทำให้ภาพที่เห็นมันคมชัดขนาดนี้

และอาจจะเพราะสำเนียงการเขียนซึ่งซื่อตรง สะท้อนภาพอย่างที่มันเป็น ตัดสินอะไรน้อยมาก จึงทำให้เรื่องมีพลังรุนแรง ถึงแม้ว่าสิ่งที่สื่อออกมาจะไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเราคุ้นเคย แต่เรากลับ "เข้าใจ" ได้เป็นอย่างดี

ที่จริงก็ "เข้าใจ" จนเราสงสัยด้วยซ้ำว่าขีดเส้นแบ่งของความปรกติและไม่ปรกตินั้นมันอยู่ตรงไหนกัน

###


อันนี้ไม่เกี่ยวอะไร แต่บ่น ๆ ไปเท่านั้นเอง

เรานึกถึงการ์ตูนดิสนีย์เรื่องโปรดของเรา คือ The Sheepish Lion Lambert ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าสิงโตที่ถูกแกะเลี้ยงมา มันเลยนึกว่าตัวเองเป็น "แกะประหลาดใช้การไม่ได้"

เรื่องนั้นทำให้เราคิดว่า บางทีคนที่นึกว่าตัวเอง "ไม่ถูก" "ไม่สมประกอบ" "ไม่สมบูรณ์" จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นสิงโต แต่เพราะไม่รู้ เลยคิดว่าตัวเองเป็นแค่ "แกะประหลาดใช้การไม่ได้"

เราชอบเรื่องนี้มาก ดูตั้งหลายครั้งหลายหน เคยค้นข้อมูลและพบคนที่แปลกใจว่าทำไม The Sheepish Lion Lambert ถึงได้เป็นที่นิยมพอตัว มีคนถามถึงอยู่เรื่อย ๆ และมีคนรีวิวมากเป็นอันดับต้น ๆ ในจำนวนการ์ตูนเรื่องขนาดสั้นของดีสนีย์ ทั้ง ๆ ที่เนื้อเรื่องและการสร้างก็ค่อนข้างธรรมดา

ที่จริงมันน่าสงสัยขนาดนั้นจริงหรือ ในเมื่อพวกเราส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างชอบ "ลูกเป็ดขี้เหร่" กันพอสมควรทีเดียว ( แต่เราชอบแลมเบิร์ตมากกว่าลูกเป็ดขี้เหร่ )

แต่เอาเข้าจริง บางทีพวกเราก็อาจจะเล่นบทเป็น "ลูกเป็ดอื่น ๆ ที่รุมจิกลูกเป็ดขี้เหร่" อยู่ก็ได้ เพราะเจ้าลูกเป็ดขี้เหร่ที่แหกบรรทัดฐานทั่วไป เช่นเป็นออทิสติก มันช่างแปลกแยกจนเราไม่แน่ใจว่าเราจะ "ปลอดภัย" ไหม เมื่อมีมันอยู่ใกล้ ๆ

ช่วงหลัง ๆ มีคนพูดถึงการที่ดิสนีย์ "ทำลาย" เรื่องพื้นบ้านของชาติอื่นและทำให้มันกลายเป็น "ค่านิยมอเมริกัน" ไปหมด

แต่สำหรับเราแล้ว เราไม่เห็นว่าค่านิยมแบบนั้นจะเสียหายตรงไหน ถ้ามันให้กำลังใจ ถ้ามันบอกว่าบางทีเธออาจจะเป็นสิงโตก็ได้ แทนที่จะเป็นแกะประหลาด ถ้ามันบอกว่าถ้าเธอมีกินเหลือเฟือแล้วก็อย่าไปยิงกวางเลย นึกถึงใจลูกมันบ้าง ถ้ามันถามถึงว่าจริง ๆ แล้วทำไมหมาจิ้งจอกกับหมาล่าเนื้อต้องเกลียดกัน

เอาเป็นว่าถึงใครจะว่ายังไง เราก็ยังชอบลุงดิสนีย์อยู่เหมือนเดิมใช่ไหมนี่




 

Create Date : 17 เมษายน 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:28:26 น.
Counter : 1392 Pageviews.  

The Giver Trilogy ( spoiled เห็น ๆ )

ป่วยอีกแล้ว เพิ่งคลานกระดึ้บขึ้นมาจากนรกได้สำเร็จ

ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย อยากกินอาหารญี่ปุ่น...

บล็อคนี้เดี๋ยวจะมาเล่าไอ้สามเล่มข้างล่างที่ทิ้งไว้แน่ ๆ ค่ะ

ปะไว้ก่อนนะ

##

มาต่อแล้ว

ที่เราซื้อ The Giver มานั้น ต้องยอมรับตั้งแต่แรกเลยเป็นเพราะ "มันดัง" เปล่าหรอก...มันไม่ได้ดังในเมืองไทย บางทีก็อาจจะไม่ได้ดังในวงการหนังสือฝรั่ง "ถึงขนาดนั้น" ด้วย

แต่มันดังใน "วงวิชาการหนังสือเด็ก"

ว่ากันจริง ๆ เลยคือไม่ว่าอ่านหนังสือ บทความ หรือชิ้นงานวิจัยประกอบกี่ชิ้น ๆ ไม่มากก็น้อยก็จะต้องมีเรื่องนี้แพล็มชื่อมาให้เห็น ( ยกเว้นแต่พวกเล่มที่แทร็คประวัติเก่า ๆ อันนั้นก็ต้องมีพวกวอร์เดอร์เบบี้ ฯลฯ ) พออ่านรีวิวมั่ง วิจารณ์มั่ง ตีความมั่ง ไปสักพัก เราก็เกิดประสาทเสียว่า "มันเป็นยังไงกันแน่ (วะ)" ( อิทธิพลของการโฆษณาหรือเปล่านี่... ) ร่ำ ๆ จะซื้อหลายหนแล้ว

แต่โชคดีมากที่ไม่ได้ซื้อ เพราะในที่สุดเราก็ไปได้มือสองในงานหนังสือคราวที่แล้ว ในราคาสี่สิบบาท สภาพเกือบนิ้งเลย ( ถึงไม่นิ้งมาก แต่อ่านได้ก็ไม่ถือหรอก )

สิ่งที่น่าแปลกคือพอได้มาแล้ว เรากลับไม่อ่านเสียอย่างนั้น ทิ้งมันไว้นาน จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ อ่านหนังสือประกอบ ( อีกแล้ว ) และได้ความว่ามันเป็นไทรโลจี้ เราถึงได้นึกถึงมันขึ้นมา แล้วก็เลยไปแกะมาอ่าน

แปลกไหม ถึงจะอ่านบทความวิจารณ์ ตีความ แกะเปลือก ประกอบทฤษฎีเกี่ยวกับมันมาเท่าไหร่

เวลาอ่านกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย

###

The Giver เป็น Dystopia แปลว่าเรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ "เลวร้าย" ( ซึ่งตรงข้ามกับยูโทเปีย หรือดินแดนในอุดมคติ ) นอกจากเป็นดิสโทเปียแล้ว มันยังเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ระดับอ่อน ๆ ซึ่งเตือนใจให้นึกถึงนิยายไซไฟสมัยแนวดิสโทเปียเฟื่องฟูหลายเรื่อง เช่น 1984 Brave New World

บางทีส่วนหนึ่งที่เราไม่ได้อ่านกีฟเวอร์ตั้งแต่แรก อาจจะเพราะเราคาดหมายว่าจะได้อ่านอะไรที่หนักพอ ๆ กับ 1984 ( ซึ่งทำให้เราหลอนไปหลายวัน )

แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงแล้ว กีฟเวอร์กลับยังรักษาโทนบางอย่างของหนังสือ "วรรณกรรมเยาวชน" เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ในสังคมโลกอนาคตข้างหน้า มนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนจะเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคนจะเป็น "เหมือนกัน" ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนกระทั่งถึงความคิดเห็นโดยรวม ๆ คนที่แตกต่าง คนที่เข้ากับระบบนี้ไม่ได้ ก็จะถูกส่งไป "ที่อื่น"

มนุษย์ทุกคนมีชีวิตอยู่โดยทราบล่วงหน้าเสมอว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร หนึ่งขวบเข้าพิธีส่งมอบให้พ่อแม่ ( ผู้ชายกับผู้หญิงที่สังคมจัดสรรให้มาอยู่ด้วยกัน โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศ ) เก้าขวบได้รถจักรยาน สิบสองขวบจะได้รับการกำหนด "งาน" ซึ่งต่อไปนี้ต้องฝึกทำ พอไปอีกสักพักก็ออกมามี "ครอบครัว" ของตัวเอง ได้เด็กที่สังคมจัดสรรให้สองคน เลี้ยงจนโต แล้วก็ไปอยู่กับ "ผู้ใหญ่ที่ไม่มีลูก" คนอื่น ๆ จนกระทั่งแก่เข้าบ้านพักคนชรา

แล้วก็ "ถูกส่งไปที่อื่น" ในที่สุด

ทุกคนอยู่อย่างสงบสุข ภายใต้ชีวิตที่วางไว้แล้ว

แต่พระเอกชื่อโจนาส กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

วันที่อายุสิบสองขวบ และถูกกำหนดงานที่ต้องรับผิดชอบในอนาคต โจนาสถูกแต่งตั้งให้ receiver ( ผู้รับ ) คนใหม่

ในสังคมนี้ ถ้าหากมีปัญหาที่ไม่รู้จะทำอย่างไรจริง ๆ ผู้มีอำนาจในสังคมจะต้องไปถามเอากับคนที่มีตำแหน่งรีซีฟเวอร์ แต่ไม่มีใครรู้วาทำไมคนคนหนึ่งถึงต้องเป็นรีซีฟเวอร์ และเป็นได้อย่างไร

โจนาสก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาไปหารีซีฟเวอร์คนเก่า ( ซึ่งสำหรับโจนาสก็เป็นกีฟเวอร์ไปแล้ว เพราะเป็นคนที่จะ "ให้" ข้อมูลกับโจนาส ) พอไปหาแล้ว กีฟเวอร์ก็ถ่ายทอด "ความทรงจำ" ให้กับโจนาส เพราะว่าการที่เก็บรักษา "ความทรงจำ" เหล่านี้ไว้นั่นเอง คือหน้าที่ของรีซีฟเวอร์

ความจริงก็คือ มนุษยชาติได้ละทิ้ง "ความทรงจำ" จำนวนมาก เพื่อแลกมาซึ่งสังคมสงบสุข ไม่มีใครจำความเจ็บปวด "แท้จริง" ไม่มีใครรู้สึกถึงความสุข "แท้จริง" ไม่มีใครเข้าใจว่า "ความรัก" จริง ๆ เป็นอย่างไร

ไม่มีใครเห็นสี ได้ยินเสียงดนตรี ไม่มีใครรู้จักความทารุณที่แท้ของสงคราม

รีซีฟเวอร์เป็นตำแหน่งแพะรับบาปของสังคม มีขึ้นเพื่อจะ "จดจำ" เรื่องราวทุกอย่างที่สังคมละทิ้งไว้ เพื่อที่เมื่อถึงเวลาจำเป็น สังคมจะได้อาศัยสติปัญญาจากความทรงจำนั้นได้ โดยที่ตัวเองไม่ต้องเปรอะเปื้อนความเจ็บปวด ความรัก ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับความหวาดกลัว

และเพราะว่าเป็นอย่างนี้ การเป็นรีซีฟเวอร์ถึงทุกข์ทรมาน ยิ่งโจนาสได้รับ "ความทรงจำ" มากขึ้นเท่าไร เขาก็ยิ่งแตกต่างออกไปจากคนอื่น ๆ มากขึ้นทุกที เขายิ่ง "เข้าใจ" ว่าสิ่งธรรมดาที่เห็นอยู่ทุกวันนั้นความจริงมันไม่ "ธรรมดา" ความจริงมันจอมปลอม มันหลอกลวง

###

สำหรับเล่มสอง Gathering Blue ก็เป็นสังคมดิสโทเปียเหมือนกัน แต่เป็นดิสโทเปียอีกแบบหนึ่ง คือแทนที่จะเป็นสังคมที่ดูก้าวหน้าแบบของโจนาส กลับเป็นสังคมที่ล้าหลังป่าเถื่อน ฆ่าก่อนจะถูกฆ่า ไม่มีที่ให้กับความอ่อนโยนหรือความเมตตา

ตัวเอกของเรื่องนี้คือคิรา ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงขาเสีย แต่มีพรสวรรค์ในการปักผ้าและเย็บถักร้อย คิราเกือบจะถูก "จัดการให้ตาย" เพราะความพิการทำให้เธอไม่มีประโยชน์กับชุมชน แต่ปรากฏว่าสภาผู้เฒ่าที่ปกครองหมู่บ้านกลับช่วยเธอไว้ และให้ฐานะใหม่กับเธอ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมของคิราก็ยังซ่อนความลึกลับน่าเกลียดแบบเดียวกับที่สังคมของโจนาสซ่อนไว้เหมือนกัน

###

เรายังไม่ได้อ่านเล่มสาม แต่จากการเสิร์ชข้อมูล เราเข้าใจว่าเล่มสามเป็นการเชื่อมหนึ่งกับสองเข้าด้วยกัน แต่จะเชื่อมอย่างไรนั้น เราคิดว่าเราสปอยไม่ลง - -'' ดังนั้นเราควรจะปล่อยมันเอาไว้แบบนั้น

ที่จริง เราคิดว่าเรื่องชุดนี้ไม่ควรจะเป็นไทรโลจี้ และไม่ควรจะมีเล่มสองกับเล่มสามออกมาด้วยซ้ำ เพราะเล่มหนึ่งนั้นเป็นเล่มที่มีพลังรุนแรงมาก โดยเฉพาะตอนจบที่คลุมเครือซึ่งทำให้เรื่อง "แปลก" จนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ( ไม่ใช่แปลกแบบตื้น ๆ ประมาณตัวร้ายตายหรือเปล่า เขาจะได้อยู่อย่างสงบสุขไหม แต่เป็นความแปลกที่กินไปถึงเชิงโครงสร้าง และนำไปสู่การตีความที่หลากหลาย )

พอมี "เล่มสอง" กับ "เล่มสาม" ออกมา ความแปลกและการถกเถียงทั้งหมดก็กลายเป็น "สูญเปล่า"

ที่จริงความสูญเปล่านั้นก็ไม่ใช่ปัญหาหรอก ถ้าเรื่องที่ต่อมาจะไต่บันไดขึ้น และทำให้เกิดความน่าสนใจอื่น ๆ ในเรื่อง แต่ปัญหาก็คือ เรื่องไม่ได้ไต่บันไดขึ้น แต่ "ย้าย" เป้าหมายออกไป เรื่องไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่โจนาสหนีมา ปัญหาเกี่ยวกับการจำและการลืม การแก้ไข และความพยายามที่จะแก้ไข ก็ถูกหลงลืมไป

บางทีเราก็คิดว่า...นี่หรือเปล่าหนอ "ปัญหา" ของ "วรรณกรรมเยาวชน"

###

บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำพูดทำนองว่า ไม่โตเลยอ่านแต่หนังสือเด็ก หรือเพราะอายุสมองไม่โตไง ( พูดเล่น ) เลยอ่านหนังสือเด็ก

ที่จริงเราคิดว่าการพูดแบบนั้นเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงมาก และเป็นการดูถูกตัวเอง

เราคิดว่าคนเราไม่เป็นเด็กตลอดไปหรอก และการอ่านหนังสือแต่ละครั้ง ในแต่ละช่วงชีวิต ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิด "ความเข้าใจ" เดียวกันเสมอไป หนังสือบางเล่มอ่านตอนนี้ก็สนุก อ่านสิบปีข้างหน้าก็สนุก แต่ "ความสนุก" ที่ได้รับมันไม่เหมือนกัน

แต่เรื่องนี้คงต้องพูดยาวเลื่อนเปื้อนไปอีกไกล เพราะงั้นก็เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน




 

Create Date : 21 มีนาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:29:06 น.
Counter : 5089 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.