ฉันรักวิชากฎหมาย
 
แพ่ง : เกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย (ตกทอดไปถึงหลังตายได้อีกด้วยแน่ะ) ตอนที่๓

กฎหมายแพ่ง เป็นเรื่องตั้งแต่เกิดจนตาย นับแต่เกิดมา กฎหมายก็มีบทบาทที่จะคุ้มครอง บังคับใช้ ทันที อาจจะเรียกได้ว่า นับแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยก็ว่าได้ เพราะสิทธิต่างๆ ของบุคคลนับย้อนหลังไปถึงขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา หากเด็กนั้นมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยมีสภาพบุคคลต่อมาเมื่อในภายหลังแล้ว

อย่างที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอาจจะส่งผลให้เป็น นิติกรรม หรือ นิติเหตุ ก็ได้

นิติกรรม คือ นิติสัมพันธ์โดยใจสมัครระหว่างคนสองคน และบางกรณีก็มีนิติกรรมฝ่ายเดียวเกิดขึ้นก็ได้เช่นกัน ถ้าเป็นนิติกรรมสองฝ่าย มักจะออกมาในรูปของ สัญญา ที่มีคำเสนอ และ คำสนอง ถูกต้องตรงกัน ใช้บังคับให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ระหว่างกัน

นิติเหตุ ได้แก่ ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และ ลาภมิควรได้

ไม่ว่าจะเป็น นิติกรรม หรือ นิติเหตุ ย่อมก่อให้เกิดพันธกรณีต่อกัน คือ เกิดสิทธิเรียกร้อง และ หน้าที่รับผิด ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ก่อให้เกิดเป็น หนี้ ขึ้นมา

เมื่อมีหนี้ ก็ย่อมมีบุคคลสองฝ่าย คือ เจ้าหนี้ และ ลูกหนี้

เจ้าหนี้ จะมีสิทธิเรียกร้อง ในการทวงถาม เรียกให้ชำระหนี้
ลูกหนี้ จะมีหน้าที่ความรับผิดในบ่อเกิดแห่งหนี้นั้น

บ่อเกิดแห่งหนี้ ได้แก่ การกระทำการ งดเว้นกระทำการ และการส่งมอบทรัพย์สิน

คำว่า หนี้ ในภาษาชาวบ้านธรรมดา ฟังดูแล้วน่ากลัว เพราะนั่นหมายความถึงภาระมากมาย และ ดอกเบี้ย อันเกิดจากการเป็นหนี้นั้น

แต่ในทางกฎหมาย หนี้ เป็นเรื่องธรรมดามากเลย ถ้าใครสักคนตกลงจะทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง โดยมีข้อตกลงบางอย่าง เป็นสัญญาต่างตอบแทน ขึ้นมา

หน้าที่ในสัญญานั้น ย่อมตกเป็นของฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องที่จะทวงถามหาวัตถุแห่งหนี้นั้น

ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน แทบจะเกี่ยวพันกับ หนี้ ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขอยืมเสื้อของเพื่อนมาใช้ในงานราตรี ขอยืมรถจักรยานยนต์มาใช้ไปงานศพ เช่าที่พักอาศัย ให้ขนมแลกกับข้าว ฯลฯ หรือหนี้ที่เกิดจากมูลละเมิด ถ้าเราขับรถไปชนใครบาดเจ็บ เราเกิดหนี้ขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดชำระหนี้ และลูกหนี้ที่ทำละเมิดก็จะเป็นผู้ผิดนัดทันที

หนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ กำหนดการชำระหนี้ ซึ่งกำหนดการนี้อาจจะแจ้งชัดตามเวลาในปฏิทิน หรือ อนุมานเอาได้ว่า จะต้องชำระหนี้เมื่อไหร่ หรืออาจจะเป็นที่สงสัยว่า ชำระหนี้เมื่อไหร่ก็ได้ หรือเมื่อทวงถามก็ได้

เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ แล้วไม่ได้รับการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมผิดนัด ก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เจ้าหนี้อาจจะมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินในครอบครองเอาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนครบ หรือถ้าวัตถุแห่งหนี้นั้นเสื่อมสลายไป ก็ต้องมีการตกลงเรื่องค่าเสื่อมสลายนั้นอีก

อาจจะมีการพ้นวิสัยจริงๆ ที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ เกิดน้ำท่วมทาง หรือ ลูกหนี้ต้องเป็นอันพิการ ไม่สามารถรับจ้างขนข้าวสารขึ้นรถบรรทุกได้ตามที่ตกลงกันไว้ กฎหมายก็บัญญัติทางแก้ไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลผู้ต้องเสียในมูลหนี้ อีกเช่นกัน

ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะขืนใจบังคับให้ชำระหนี้ไม่ได้ แต่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องศาลก็ได้ แต่ถ้าไม่เห็นทางที่จะเปิดช่องให้ฟ้องได้ เจ้าหนี้อาจจะร้องขอต่อศาลให้ศาลออกคำบังคับชำระหนี้นั้นๆ ได้

เจ้าหนี้ก็มีหน้าที่รับชำระหนี้ ถ้าถึงกำหนดชำระหนี้แล้วไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลใดๆ เจ้าหนี้ก็ผิดนัดได้เหมือนกัน

ลูกหนี้บางคน ถึงคราวที่เขาจะทวงหนี้ ก็มีวิธีการหนีหนี้ ที่ทางกฎหมายเรียกวา การฉ้อฉล นับแต่เจ้าหนี้รู้เรื่องการหนีหนี้ภายใน ๑ ปี หรือนับแต่เมื่อมีการหนีหนี้ โยกย้ายทรัพย์สินไปยังที่อื่นๆ ภายในเวลา ๑๐ ปี เจ้าหนี้มีสิทธิเพิกถอนการกระทำเพื่อหนีหนี้นี่ได้ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกผู้เสียค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริต ไม่รู้มูลเหตุแห่งการโยกย้ายทรัพย์สินนั้นๆ

หากไม่สามารถรับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้อง คือ สิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ไปให้บุคคลอื่นได้อีกด้วย แต่ต้องให้ลูกหนี้ยินยอมร่วมด้วย

และหากมีสัญญาพิเศษเกิดขึ้น เช่น สัญญาประกันภัย บุคคลภายนอกคือผู้รับประกันภัยนั้นสามารถรับผิดแทนลูกหนี้ โดยการเข้ารับช่วงสิทธิเท่าที่สัญญานั้นตกลงกันไว้

หนี้ยังตกทอดไปสู่กองมรดกได้เท่าที่ผู้รับมรดกจะได้จากกองมรดกนั้นๆ ด้วยนะ ... คนตายไปแล้วยังสามารถส่งทอดทั้งสิทธิและหน้าที่แห่งหนี้ไปถึงคนรุ่นหลังได้อีกด้วย

หนี้จะระงับไปได้อย่างไร ...
หนี้จะระงับเมื่อ มีการชำระหนี้กันครบถ้วนแล้ว หรือ ถ้าไม่ชำระหนี้ก็มีการหักกลบลบหนี้ บางกรณีก็มีการแปลงหนี้ใหม่ แปลงได้ทั้งวัตถุแห่งหนี้และตัวลูกหนี้ หรืออาจจะระงับลงเมื่อมีการเกลื่อนกลืนกันระหว่างตัวเจ้าหนี้กับลูกหนี้นั้นๆ ด้วย เช่น ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ แล้วต่อมาเจ้าหนี้ตายลง มรดกตกแต่ลูกหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่ต้องชำระหนี้แล้ว เป็นต้น

เรื่องหนี้ เป็นหัวใจของกฎหมาย เราอาจจะเขียนอธิบายเพียงคร่าวๆ ให้เห็นภาพรวม ไว้ถ้าเขียนอธิบายกฎหมายชุดนี้จบแล้ว เราจะค่อยๆ เจาะประเด็นทีละเรื่องแล้วกัน


ถ้าเรียนกฎหมายแล้วท่องตัวบทได้แม่นยำอย่างเดียวแต่ไม่เข้าใจอะไรเลย เราก็คิดว่า คงจะไร้ประโยชน์มากมายทีเดียวแหละ เพราะกฎหมายสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เยอะ กฎหมายคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคน ตัวบทกฎหมายถ้าท่องปาวๆ แล้วจำได้ทุกถ้อยคำ แต่ไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์และเนื้อหา คุณค่าก็จะสู้กับความเข้าใจกฎหมายโดยภาพรวมและเช้าใจแก่นแท้และหัวใจของกฎหมายไม่ได้เลย

ข้อเสียของเราอีกข้อหนึ่งก็คือว่า เราจำตัวบทกฎหมายไม่ค่อยแม่น เพราะภาษากฎหมายเป็นภาษาโบราณ เรียงประโยคแล้วอ่านเข้าใจยาก เราเลือกที่จะจำหลักๆ โดยกว้างๆ แล้วนั่งคิด นั่งนึกภาพตามมากกว่า แต่ผลเสียตรงนี้ก็จะตามมาก็คือ เมื่อเราจะเข้าสอบสนามไหนก็ตาม เราจำได้แต่เนื้อหา แต่เราจำตัวบททั้งหมดไม่ได้ ทำให้เราอาจจะเขียนข้อสอบไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

เราคงต้องไปอ่านตัวบทให้มากๆ กว่าเดิมแล้ว อาศัยแต่ความเข้าใจแล้วจำภาพกว้างๆ นี่ก็คงจะลำบากเหมือนกัน


แต่เป็นเรื่องที่ดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า ความเข้าใจจะทำให้เราจำได้ ... แต่ความจำได้ บางทีอาจจะไม่ได้ทำให้เราเข้าใจ


ไว้เราจะมาเขียนในตอนต่อไปอีกนะ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเข้ามาอ่าน ...


Create Date : 15 ธันวาคม 2551
Last Update : 15 ธันวาคม 2551 14:04:56 น. 3 comments
Counter : 699 Pageviews.  
 
 
 
 
อ่านแล้วนึกถึงสมัยตอนเรียนที่รามฯ
วิชา "หนี้" เป็นหนึ่งในเจ็ดอรหันต์ และเป็นอะไรที่ยากที่สุด
กว่าจะผ่านมาได้ หืดแทบขึ้นคอ
แต่เรื่อง หนี้ๆ เงินๆ ทองๆ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ เน๊าะ
มันวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา
 
 

โดย: Phai_Bart วันที่: 15 ธันวาคม 2551 เวลา:14:37:27 น.  

 
 
 
หนี้ เป็นหนึ่งในความทุกข์
และเป็นอะไรที่ทำใจลำบากที่สุด (ตอนไม่มีจะใช้คืน)


มากกว่ากระมังครับ

ข้อเขียนดีจังครับ เขียนต่อเยอะ ๆ นะ
 
 

โดย: เดะ.บ้านโคก IP: 222.123.235.250 วันที่: 15 ธันวาคม 2551 เวลา:18:07:31 น.  

 
 
 
หนี้ เป็นวิชาที่แก้แล้วแก้อีก อิอิ
 
 

โดย: หนึ่งเดียวในใจ วันที่: 15 ธันวาคม 2551 เวลา:20:37:10 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Law_Magic
 
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Law_Magic's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com