Twinkle Beauty Mom
 

~ศิลปินน้อยที่หลงรักการทำงานศิลปะ~

ว่ากันว่างานศิลปะเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกคนต่างก็สามารถเป็นศิลปินได้ เพียงแค่ลงมือทำมันอย่างตั้งใจ
โดย กรุงเทพธุรกิจ



"ฮอลลี เมทแลนด์ สมิธ" (Holly Maitland Smith) เด็กหญิงตัวน้อยวัย 4 ขวบคนนี้ก็คือ 'พยาน' คนสำคัญที่ยืนยันคำกล่าวดังว่า ขณะที่ 'หลักฐาน' ที่ยากจะปฏิเสธเป็นผลงานศิลปะของฮอลลีที่จัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะ 'Every Child is an Artist' โดย Holly Maitland Smith

งานนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของศูนย์ศิลปะฮอฟอาร์ท และ ชลิต อาร์ต โปรเจ็ค แอนด์ แกลเลอรี่ ที่ขอต้อนรับศักราชใหม่ 2553 ด้วยการนำเสนอความสดใส บริสุทธิ์ ที่คนในโลกศิลปะเรียกว่า Pure ของแท้ กับผลงานศิลปะของ "ฮอลลี เมทแลนด์ สมิธ" ศิลปินน้อยที่หลงรักการทำงานศิลปะ

เธอลงมือจับพู่กันละเลงสี ตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบ ระยะเวลาเพียงปีกว่ากับผลงานถึง 200 กว่าชิ้น คือ สิ่งยืนยันหัวใจที่รักในงานศิลปะ และความตั้งใจของเธอได้เป็นอย่างดี

"ฮอลลี เมทแลนด์ สมิธ" หนูน้อยลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วัย 4 ขวบ เธอเกิดที่ภูเก็ต หนูน้อยชอบการวาดภาพ ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดที่ออกจะเป็นแนวนามธรรม ด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบมาตั้งแต่ 3 ขวบ ที่ผ่านมาหนูน้อยคนนี้ได้มอบผลงานหลายชิ้นให้องค์กรการกุศลต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็กและสัตว์ เพื่อนำไปประมูลหารายได้สนับสนุนกิจกรรมการกุศล



ชลิต นาคพะวัน หรือ ชลิต กลิ่นสี แห่งชลิต อาร์ต โปรเจกท์ แอนด์ แกลเลอรี่ คือ ผู้มีส่วนในการออกแรงผลักดันให้เกิดนิทรรศการครั้งนี้

"ก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหาร (Moddy) ของผมเคยแสดงงานศิลปะเด็กของสองพี่น้อง เป็นงานของลูกศิษย์ของผมเอง งานก็สวยมาก แล้วคนก็ชอบมาก ต่อมานิตยสารดิฉันก็เลยมาชวนไปเขียนภาพประกอบ น่าจะเป็นนักเขียนภาพประกอบที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ข่าวนี้ก็รู้ไปถึงคุณแม่ของน้องฮอลลีที่ภูเก็ต ซึ่งเขาก็ชอบศิลปะ มีความฝันอยากเรียนศิลปะ ก็เลยส่งเสริมลูกให้ได้ทำงานศิลปะ พอรู้ว่าเราสอนศิลปะเด็กก็เลยส่งรูปผลงานของน้องฮอลลีมาให้ดู ก็เลยเป็นที่มาของนิทรรศการนี้"

งานนี้ต้องยกความดีให้ครอบครัวที่สนับสนุนให้น้องฮอลลีได้แสดงออกทางศิลปะอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำงานศิลปะไปจนถึงการหาครูศิลปะมาแนะแนว การทำงานศิลปะของน้องฮอลลีจึงเป็นเหมือนการเล่นสนุก ที่แสดงออกอย่างเต็มที่ด้วยพลังของวัยเด็ก กลายเป็นผลงานที่มีความพิเศษทั้งในแง่ของจินตนาการที่แสดงออกและจำนวนผลงาน

"ผมเป็นคนชอบงานศิลปะเด็กอยู่แล้ว เด็กวาดรูปยังไงก็สวย มันมีความบริสุทธิ์ มีความจริงใจอยู่แล้ว เขาคิดอะไรก็ระบายออกมา งานเด็กทุกคนสวยหมด แต่ผลงานของน้องมอลลีจะได้เรื่องของขนาดที่ใหญ่ งานก็สนุกสนานตามวัย เด็ก 4 ขวบ ได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเก่ง เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตเขาจะเป็นอะไร อาจจะไม่ได้เป็นศิลปินอาชีพ เขาจะเป็นอะไรก็ได้แต่มีพื้นเรื่องศิลปะ เรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความอ่อนโยน ก็จะเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคต"

"ที่น่าชม คือ ความเอาใจใส่ของครอบครัวในเรื่องศิลปะ เคสนี้เป็นตัวอย่างสำหรับพ่อแม่ว่าพ่อแม่ที่ดีก็ควรเอาใจใส่ลูกในเรื่องนี้ เพราะศิลปะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้มากมายในอนาคต การให้เด็กได้คิด ได้ฝัน ได้จินตนาการ สมองก็จะได้บรรเจิด แตกหน่อต่อยอดต่อไปจนเขาโตได้" ชลิต กล่าว



นิทรรศการศิลปะ 'Every Child is an Artist' โดย Holly Maitland Smith จัดแสดงทั้งหมด 3 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ คือ HOF Art Gallery -Art-rium @ BACC ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (วันนี้-28 กุมภาพันธ์ 2553), HOF Art Gallery ถนนรัชดาภิเษก ซ.19 (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2553) และที่ร้าน Moddy โดยชลิต อาร์ต โปรเจคท์ แอนด์ แกลเลอรี่ ซอยอารีย์ 4 ถนนพหลโยธิน 7 (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2553) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณจิราวรรณ (เล็ก : HOF Art) โทร.089-926-2196
หรือดู //www.hollymaitlandsmith.com, //www.hof-art.net

ร่วมชมผลงานและเป็นกำลังใจให้ศิลปินตัวน้อยก้าวไปบนวิถีของศิลปะ พร้อมๆ กับร่วมทำบุญกับกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายผลงานของ "ฮอลลี เมทแลนด์ สมิธ" จะมอบให้กับองค์กรหรือชมรมที่สนับสนุนด้านศิลปะของเมืองไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและช่วยเหลือวงการศิลปะต่อไป.




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2553 20:14:25 น.
Counter : 1473 Pageviews.  

~My.Eye. คู่พี่น้องศิลปิน~

My.Eye. มุมมองของฉัน...(ทั้งสอง)
โดย ดิฉัน

ลองลับตาแล้วนึกถึงภาพ...หลอดสีเกลื่อนเต็มบ้าน รอบตัวระเกะระกะ เต็มไปด้วยภาพวาดสีสันร้อนแรงคลอเคล้าไปด้วยเสียงเพลงเด็กจากบาหลีที่มีจังหวะกลองแปลกๆดังลั่นบ้าน มีโต๊ะตัวเล็ก 2 ตัว พร้อมเด็กหญิง 2 คน นั่งวาดรูปเคียงข้างกันอย่างร่าเริง ผู้พี่บุคลิกนิ่ง มาย – ด.ญ. เมลานี และ ผู้น้องสาวน้อยช่างเขิน อาย – ด.ญ. อันนา เติมธนะศักดิ์ ในวัยเพียง 11 และ 8 ขวบ ทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียน arrow International School



พี่มายเริ่มเล่าว่า “หนูวาดรูปมาตั้งแต่ 4 ขวบค่ะ วาดเพราะอยากวาดเอง เริ่มจากวาดใส่กระดาษก่อน ยังไม่ได้ลงสี วาดหลายรูปเลยค่ะ” น้องอายเล่าบ้าง “หนูเริ่มวาดตอนหนูเป็นเด็กเบบี๋ค่ะ 2 – 3 ขวบ แล้วก็เริ่มลงสี ตอนหนูเด็กๆ ใช้สีเพ้นท์เป็นสีขวดๆ แม่เขาไม่ให้ผสมสีค่ะ แม่บอกว่าซื้อสีมาเยอะแล้ว แต่บางครั้งแม่ก็ชอบซื้อสีซ้ำๆมา พอลงกระดาษก็ลงกระดาษแข็งๆแล้วก็ลงเฟรม”

พี่มายเสริมต่อ “ให้วาดรูปกันวันละ 1 ชม. ทุกเย็นพร้อมกันเลยค่ะ วาดมาตั้งแต่ 6 ขวบ บางทีหนูไปบ้านเพื่อน อายก็วาดคนเดียว” คราวนี้ได้ทีน้องสาวเสริม “ไม่มีพี่มาย อายวาดดีกว่า เพราะพี่มายชอบแย่งสีหนูค่ะ(ยิ้ม) หนูวาดรูปได้วันละ 2 เฟรม หรือบางครั้งก็ 1 ค่ะ” ถึงตอนนี้พี่มายเกทับหน้าตาเฉย “หนูบางครั้งก็ 3 ครั้งค่ะ” น้องอายไม่ยอมแพ้เกกลับทันที “บางครั้งถ้าหนูไหว หนูก็จะได้ 3 ครั้งค่ะ”

เมื่อเราให้เลือกรูปที่ชอบและถูกใจของกันและกัน พี่มายเลือกรูปหมาด้วยเหตุผล “เพราะว่ามันสวยดีค่ะ มันสีไบรท์ดี ชอบสีมัน เห็นตอนเขาวาดด้วย เขาก๊อปปี้หนูค่ะ (เสียงมั่นใจ) ตอนแรกหนูวาดปั๊กแล้วเขาก็เริ่มก๊อปปี้ คิดว่าน่าจะขายได้แต่มันเป็นฝีมือหนู ถ้ามีตังค์ก็ไม่ซื้อรูปน้องค่ะ อยากเก็บตังค์เอาไว้ซื้ออย่างอื่น” (ยิ้ม) ส่วนน้องอายเลือกรูปหน้าผู้หญิงของพี่มาย “เลือกเพราะว่ามันมีลายเยอะมากเลย แต่ไม่สวยค่ะ ถ้ามีตังค์ก็ไม่ซื้อค่ะ (หัวเราะ) เลือกเพราะมันแปลกดีค่ะ เขาไม่ก๊อปหนูค่ะ”



การท่องเที่ยวกับคุณแม่เป็นการเปิดหูเปิดตาให้สองสาวมีหัวสร้างสรรค์วาดรูปสวยให้เราได้ชื่นชมกัน โดยพี่สาวเล่าให้ฟังว่า “เวลาไปเที่ยวอย่างอียิปต์ก็กลับมาวาดอูฐ หนูวาดแค่ที่เดียว น้องอายเขาวาด 2 ที่ค่ะ อียิปต์แล้วก็มัลดีฟส์ด้วย” ส่วนรูปคุณแม่ พี่มายบอกว่า “งานนี้หนูวาดคุณแม่ 3 รูปค่ะ อายวาด 4 ค่ะ” น้องอายเล่าว่า “เวลาวดรูป หนูคิดถึงแม่ค่ะ ชุดแม่มีลายเยอะมาก หนูก็เอามาใช้กับรูปหมา เพิ่งวาดรูปแม่อันที่เป็นตัวดำๆน่ะ แม่บอกว่าแม่ชอบคนดำก็เลยวาด แล้วก็วาดที่พี่แท่ง (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) ซื้อไปด้วย แต่รูปแม่หนูไม่ค่อยได้วาดค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้วาดรูปแม่ของ ‘ดิฉัน’ เยอะน่ะค่ะ” (เรียกเสียงฮาได้กองโต เพราะสองศิลปินนี้ เธอวาดภาพประกอบคอลัมน์ ‘แม่และเด็ก’ เป็นเหตุให้ต้องวาดภาพแม่หรือคนท้องอยู่เนืองๆ)

เป็นธรรมดาประสาเด็กเมื่อทำอะไรนานๆ ก็ต้องมีความเบื่อมาเยือน พี่มายเล่าว่า “เวลาไม่อยากวาดรูปก็พัก ดูที.วี. ดูการ์ตูน หนูเคยเล่นเกมคอมพิวเตอร์นานค่ะ แต่ว่าตอนนี้เลิกเล่นแล้ว เล่นนานเกินไปเดี๋ยวตาเสีย” น้อยอายช่วยเสริมต่อ “แม่เขาห้ามแล้ว เราก็ไม่ค่อยอยากเล่นเหมือนกันค่ะ บางครั้งถ้าเราทำหน้าแบบไม่อยากวาดรูป แม่ก็จะถามว่าเราเป็นอะไร แล้วแม่ก็จะส่งเราไปทำอย่างอื่นค่ะ แม่รู้ค่ะ” (ยิ้ม)

งานโทนฮิปปี้ที่มีผลงานจากการแต่งตัวของคุณแม่ในทุกคำพูดก็จะมีแต่ ‘แม่’ เด็กๆจึงขอพูดถึงแม่ว่า “คุณแม่เพี้ยนมากเลย (ยิ้มหวาน) เพราะว่าเขาชอบใส่ชุดที่ไม่เหมือนชาวบ้าน แม่เพี้ยนแต่ก็ชอบ ไม่อยากให้แม่ใส่ชุดแบบชาวบ้าน เพราะมันไม่สวยน่ะ” น้องอายยืนยังในขณะที่พี่มายเห็นด้วย

จากงานอดิเรกที่รักและตั้งใจจนกลายมาเป็นอาชีพ ในวันนี้ทั้ง 2 คน จะมีนิทรรศการเป็นของตัวเองชื่อ My.Eye. ทั้งสองฝากบอกไว้กับเด็กๆว่า “วาดภาพสนุกค่ะ แต่ก็เบื่อค่ะ ก็อยากให้มาวาดรูปอย่างหนู เพราะวาดแล้วมันได้ตังค์” (ยิ้มใสไม่รู้ไม่ชี้ทั้งคู่ แล้วเดินจากไป)

เชื่อว่าสองคนพี่น้องจะค่อยๆจูงมือกันก้าวเดินเข้าสู่แวดวงศิลปะ อย่างมีจังหวะที่ดี...ในหัวใจ




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2553 19:56:56 น.
Counter : 1143 Pageviews.  

~ที่เรียนศิลปะของเด็กน้อย~

ใกล้จะปิดเทอมแล้ว เด็กน้อยๆของพวกเรากำลังจะว่าง พ่อแม่หลายท่านคงให้ลูกเข้าเรียนพิเศษ เพื่อเป็นกิจกรรมพิเศษมากมายเตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้วใช่ไหมค่ะ วันนี้ผกาผกายขอเสนอสถานที่ที่จะทำให้เด็กๆ ได้เล่นสนุก กับสีสรร และจิตนาการ แถมยังได้ฝึกทักษะทางด้านกล้ามเนื้ออีกด้วยค่ะ

นั่นคือ การเรียนศิลปะ ค้า

บังเอิญว่าช่วงนี้ผกาผกายช่างโชคดีที่ได้รู้จักกับพี่ชลิต นาคพะวัน (ชลิต กลิ่นสี) อย่างที่หลายคนเรียกว่า เป็นกูรูเกี่ยวกับศิลปะเด็ก ผกาผกายเลยเริ่มมีความคิดว่าอยากให้น้องพายได้ฝึกเล่นสนุกกับสีต่างๆ (วาดไม่ได้ก็ไม่เป็นไร) ไปฝึกจิตนาการ ต้อนรับปิดเทอมซะหน่อย เลยเอาข้อมูล (จากหลายๆที่) มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้รู้จักโรงเรียนศิลปะที่เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่น ได้จิตนาการกันอย่างเต็มที่ค่ะ

เริ่มจากมารู้จักกูรูท่านนี้ก่อนนะค้า พี่ชลิต นาคพะวัน แล้วจึงตามด้วยเด็กๆที่ผ่านการเรียนรู้และสนับสนุนจิตนาการจากพี่ชลิต (เรียกซะสนิดเล้ย) กันค่ะ


ชลิต นาคพะวัน (ชลิต กลิ่นสี) บอกว่าปิกัสโซ่ ศิลปินก้องโลกเคยบอกไว้ว่าเด็กเป็นศิลปินโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าไม่ได้ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง สัญชาตญาณนี้จะค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น เราจึงควรส่งเสริมให้เด็กอยู่ใกล้กับศิลปะเพื่อสร้างรสนิยม ความละเอียดอ่อน เด็กจะได้มีความละเมียดละไมในชีวิต



Chalit Art Project & Gallery
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล นิตยสารผู้จัดการ

เมื่อสองปีที่ผ่านมา เขามีโอกาสเข้ามาทานอาหารในร้านๆ หนึ่ง ในซอยอรรถวิมล แล้วมาพบบ้านหลังนี้เข้าในสภาพที่รกร้าง ต้นไม้ปกคลุมดูรกรุงรังไปหมด เพราะเจ้าของบ้านทิ้งไว้ไม่ได้เข้ามาดูนานหลายปี แต่ยังเห็นรูปทรงของบ้านเก่าที่มีร่องรอยของความสวยงาม พื้นที่ภายในแต่ละห้องกว้าง โปร่งโล่ง ภายนอกยังมีที่ว่างปลูกต้นไม้ เป็นบ้านเก่าใจกลางเมืองที่การคมนาคมสะดวก และยังสามารถแปรเปลี่ยนทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะเช่าเพื่อทำเป็นโรงเรียน และแกลลอรี่ของตัวเองทันที

ในที่สุด บ้านหลังสีขาวที่มีสนามหญ้าสีเขียวหลังนี้ ก็ถูกปรับปรุงและเปิดเป็น "Chalit Art Project & Gallery" ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จะมีเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนศิลปะ ส่วนวันพุธเป็นวันที่นักเรียนผู้ใหญ่จะแวะเวียนกันมาตามเวลาสะดวก ในขณะที่วันจันทร์ อังคาร เจ้าของบ้านจะให้เวลากับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะใหม่ๆ ของตนเองอย่างเต็มที่

เทคนิคการสอนของชลิต ได้มาจากประสบการณ์ที่ตกผลึกของตนเอง และสรุปออกมาเป็นแนวทางว่า ควรจะมีวิธีการสอนอย่างไร เขาเล่าว่าเมื่อลูกศิษย์เข้ามาสมัครก็จะพูดคุยกันก่อน แล้วค่อยสังเกตและศึกษาว่า คนคนนี้น่าจะชอบงานแบบไหน ในชั่วโมงแรกๆ อาจจะลองให้ทำงานหลายๆ อย่างก่อน เมื่อพบว่าลูกศิษย์ชอบและถนัดงานประเภทไหน ก็เน้นหนักสอนไปทางด้านนั้น

ทำอย่างไรให้คนเรียนชอบ ทำอย่างไรให้คนเรียนมีความสุขที่สุด คือโจทย์ที่เขาคอยหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา และด้วยนิสัยที่ชอบคลุกคลีกับเด็กๆ ชอบดูงานศิลปะเด็กและเรียนรู้เรื่องความคิดของเด็ก ผนวกกับความเป็นคนที่ร่ำรวยอารมณ์ขัน ทำให้เขาเริ่มสนุกกับการสอน จนปัจจุบันมีลูกศิษย์ในวัยเด็กประมาณ 20 คน จนต้องมีครูผู้ช่วยอีก 2 คน



เด็กๆ จะเรียนวันเสาร์ อาทิตย์ ผู้ใหญ่จะมาเรียนวันพุธ หลักสูตรทั้งหมด 30 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ค่าสอนของผู้ใหญ่ 7,500 บาท ต่อ 1 หลักสูตร ค่าสอนของเด็ก 4,500 บาท (ราคาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลองแวะเข้าไปถามพี่ชลิตได้นะคะ)

บ้านหลังนี้ต้องปรับปรุงอีกมาก อาจจะต้องติดแอร์ในห้องทำงานชั้นบน เพื่อเป็นที่ฉายหนัง ฉายสไลด์ ในชั่วโมงทฤษฎีของเด็กๆ แล้วตัวเองย้ายมาทำงานที่ลานบ้านข้างล่าง ทุกวันนี้ชลิตมีลูกศิษย์อายุตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึงวัย 50-60 ปี เป็นชีวิตในวัย 38 ปีอีกแบบหนึ่งที่มีความสุข และน่าจะลงตัว โดยที่ ตัวเองยังมีเวลาทำงานศิลปะ วาดภาพประกอบนิตยสาร และเขียนหนังสืออีกด้วยเขามีจุดมุ่งหมายว่าจะตั้งใจสร้างผลงานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ เพราะเชื่อมั่นในสัจธรรมที่ว่าเมื่อตั้งใจจะทำงานสร้างสรรค์ดีๆ การยอมรับจะได้มาเอง




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2553 19:30:22 น.
Counter : 3926 Pageviews.  

สร้างคนดีเหนือสิ่งใด ที่โรงเรียนสัตยาไส

4 สร้าง ‘คนดี’ เหนือสิ่งอื่นใด ที่ โรงเรียนสัตยาไส
(จากนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง เรื่องโดย ศศิวรรณ)

5.30 น. อาจเป็นเวลาเช้ามืดเกินกว่าที่ใครหลายๆคนจะตื่นมาริเริ่มกิจกรรมใดๆ ทว่าภายในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี กลับมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้ว

นักเรียนชั้น ป.1 – ม.6 ทยอยกันเข้าไปในห้องโถงขนาดใหญ่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘ห้องพระ’ แล้วค่อยๆนั่งลงอย่างเป็นระเบียบ...ไม่นานเสียงสวดมนต์เสนาะหูก็ดังประสานขึ้น จากนั้นก็พลันเงียบลง เมื่อพวกเขาเข้าสู่การปฏิบัติสมาธิ

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา กล่าวคำทักทายเมื่อเด็กๆลืมตา แล้วจึงเริ่มเล่านิทานสอนใจให้พวกเขาฟัง ระหว่างนั้นเด็กเล็กๆบางคนเหลียวมองมายังคุณครูที่อยู่ข้างท้าย ว่าแล้วก็คลานตุบตับๆ มานั่งอิงแอบฟังนิทานอยู่ใกล้ๆ ไม่ใช่การดุด่าว่าทำไมจึงแตกแถว หากเด็กน้อยเหล่านั้น ได้รับการโอบไหล่ลูบหัวอย่างอ่อนโยนเป็นการสนอง

เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มทำหน้าที่ กิจกรรมในห้องพระก็จบลงในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี
เด็กๆลุกขึ้นตั้งแถว บริเวณประตูทางออกพบว่ามีผู้บริหารโรงเรียนยืนรอท่าอยู่แล้ว ดร.อาจองลูบศีรษะพี่โตๆทีละคน ส่วนน้องเล็กๆ แม้จะได้รับการสวมกอดอย่างรักใคร่ แต่ด้วยขนาดของตัวของพวกเขาและขนาดท้องของผู้บริหารที่กำลังส่งยิ้มอย่างใจดี ทำให้เราอยากเรียกสิ่งที่เห็นตรงหน้าว่า ‘การเอาหัวโหม่งพุง’ เสียมากกว่า

“เด็กๆชอบมาจับพุงผม บางคนก็บอกว่า ‘นี่แตงโมๆ’ บางคนก็ถามว่า เมื่อไหร่จะคลอด” ดร.อาจองเล่ายิ้มๆ

ทำไมนักเรียนที่นี่จึงพูดจาสนิทสนมกับผู้บริหารได้ปานนี้ เหตุใดเด็กที่ไม่นั่งอยู่กับที่ขณะทำกิจกรรมจึงไม่ถูกกล่าวว่า ถามคนที่นี่ว่ากฎระเบียบมีบ้างไหม ชาวสัตยาไสทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มีอยู่เพียงข้อเดียว แค่ ‘รักและเมตตา’

ถ้าเดินตาม ดร.อาจองไปทั่วโรงเรียนอาจมีคนแปลกใจว่า ทำไมท่านผู้นี้จึงสวมกอดนักเรียนตัวจ้อยบ่อยนัก “เด็กๆมาอยู่ที่นี่ต้องห่างพ่อแม่ เราก็ต้องคอยให้ความรักเขา แล้วผมก็แก่มากแล้ว ใครจะเข้ามากอดก็ได้ แต่ถ้าเป็นครูหนุ่มๆ เราจะบอกว่าให้กอดได้เฉพาะเด็กเล็กๆ” ดร.อาจองยิ้มขณะอภิบายว่า เหตุใดที่นี่จึงให้ความสำคัญกับการสัมผัสนัก ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวก็ส่งผ่านไปถึงคนรับได้เป็นอย่างดีเสียด้วย

“มาแรกๆก็เหงา ห่างพ่อแม่นิดเดียวก็ร้องไห้” นักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่งเล่าความรู้สึกเมื่อครั้งเข้าเรียนชั้นป.1 ใหม่ๆ “แต่ไม่นานก็หายครับ” เขาว่า “ที่นี่มีทั้งเพื่อน มีทั้งครูที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ คุยกันได้ทุกเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง” เขาบอก และทุกคนอยู่กันเหมือนครอบครัว เมื่อน้องใหม่เข้ามาจึงไม่ต้องกลัว เพราะพี่ๆจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องกินอยู่หลับนอน

แม้แต่น้องๆระดับอนุบาลที่เข้ามาใหม่ก็ยังได้รับการดูแลจากพี่ (อนุบาล) ที่เข้ามาก่อน ภาระหน้าที่เก็บหมอนหลังนอนกลางวัน หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ยากใดเผลอทำเปรอะ จึงแทบจะไม่ตกมาถึงคุณครูแต่อย่างใด

ถามว่าใครสอนให้ทำเช่นนี้ คุณครูชี้แจงว่า เด็กๆก็ซึมซับมาจากรุ่นพี่ก่อนหน้าทำให้พวกเขานั่นแหละ

ถามเด็กๆ ว่า ต้องคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างนี้มีปัญหาบ้างหรือไม่ รุ่นพี่ที่โตหน่อยตอบทันทีว่า ช่องว่างระหว่างวัยของพวกเขามีน้อยมาก “ถ้าอยู่ด้วยความรักและเข้าใจ ปัญหาก็จะไม่เกิด”

นอกจากจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมในห้องพระ สิ่งที่โรงเรียนแห่งนี้แตกต่างไปจากที่อื่นๆ เห็นจะได้แก่ การเริ่มต้นการเรียนการสอนทุกเช้าด้วยวิชา ‘คุณค่าความเป็นมนุษย์’ โดยในคาบเรียนดังกล่าว เด็กๆจะได้สวดมนต์และนั่งสมาธิกันอีกรอบ จากนั้นจึงร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อยกระดับจิตใจและเรียนรู้การทำประโยชน์ให้สังคม โดยในตอนท้ายพวกเขาจะต้องช่วยกันสรุปว่าได้อะไรจากการทำกิจกรรมบ้าง

ดร.อาจองบอกว่า “พอเขาเป็นคนดี จิตใจก็สงบ ทำให้เขาจดจำสิ่งที่ครูสอนได้ง่ายและเรียนหนังสือได้ดี” ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแต่ละกิจกรรมในโรงเรียนนี้จะมีความเก่งกาจด้านวิชาการเป็นเป้าหมายสูงสุด “วิสันทัศน์ของโรงเรียนเราคือ ‘สร้างคนดีเหนือสิ่งใด’ เราไม่สอนคนเก่ง เพราะว่ากว่าคนเก่งจะสร้างประโยชน์ให้โลกได้ก็ใช้เวลานาน ระหว่างนั้นอาจจะทำสิ่งที่ไร้คุณธรรมก็ได้ แต่คนดีจะรู้ว่าสิ่งใดทำแล้วมีประโยชน์”

ผู้ปกครองที่จะนำบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนสัตยาไสจึงต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า อยากให้ลูกเป็นคนเช่นไร “ถ้าอยากให้เป็นคนเก่งคงไม่แนะนำให้มาที่นี่” ดร.อาจองกล่าวอย่างหนักแน่น

อาจารย์ปฐมพงษ์ รินเชื้อ หรือ ครูพงษ์ ของเด็กๆชั้นอนุบาลเล่าว่า “การเรียนการสอนของเด็กเล็กในโรงเรียนนี้ไม่ได้เน้นวิชาการมากนัก โรงเรียนอื่นอาจจะเน้นว่า อนุบาล 1 ต้องได้ ABC หรือต้องเขียน ก ไก่ ข ไข่ เป็น แต่ของเราไม่เน้น การบ้านเราไม่เยอะ แต่จะให้เขาวาดรูประบายสี เน้นศิลปะ ให้เขาได้เล่นสนุกสนาน...พอไม่ต้องเครียดกับการเรียน เขาก็มีความสุข”

พอเข้าช่วงปลายเทอมของชั้นอนุบาล 2 จึงค่อยเร่งเสริมทางด้านวิชาการให้เด็กๆอีกที เพื่อจะได้เตรียมตัวสำหรับการเรียนในชั้นป.1 ต่อไป

“ในช่วงนี้บางทีเด็กๆเป็นคนมาขอการบ้านเราเองด้วยซ้ำ เพราะถ้าพัฒนาการเขาพร้อม เขียนคล่องมือ เขาก็อยากจะเขียน ซึ่งต่างจากบางโรงเรียนที่ไปเร่งเด็กตอนเขาไม่พร้อม ทำให้โตขึ้นมาไม่อยากเขียน”

ไม่ใช่แค่เด็กเล็กที่ถูกเร่งให้เรียนตอนไม่พร้อม บ่อยครั้งเด็กโตก็ถูกบังคับให้เรียนในสิ่งที่ตนไม่ชอบเช่นกัน “พ่อแม่บางคนเคื่ยวเข็นให้ลูกไปเรียนพิเศษ เพื่อจะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ พอเครียดมากๆเด็กก็ไม่มีความสุข ทั้งๆที่เวลาถามว่าอยากให้ลูกมีความสุขไหม พ่อแม่ก็ตอบว่าอยากทั้งนั้น” ดร.อาจองกล่าว

“ว่ากันตามจริง การเข้ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้ยากอะไรเลย แต่บางทีเด็กของเราเลือกที่จะไม่เข้าเอง อย่างเด็กคนหนึ่งสอบเข้าจุฬาฯได้ แต่ใจเขาอยากจะเรียนแพทย์แผนจีน ซึ่งตอนนั้นมีที่เดียวคือ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เขาจึงปฏิเสธจุฬาฯ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเอกชน เขาไม่เลือกที่ตัวมหาวิทยาลัยแต่เลือกวิชาที่อยากจะเรียน”

“ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าต้องสอบตามที่ผู้ปกครองต้องการเสมอไป เราจะคอยแนะแนวให้เขาตัดสินใจให้ดี เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง”

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ //www.sathyasai.ac.th

ชั้นเรียน
อนุบาลแบ่งเป็นอนุบาล 1 และอนุบาล 2 (4 และ 5 ขวบตามลำดับ) เป็นการเรียนแบบไป – กลับ
ป.1 – ม.6 เป็นแบบอยู่ประจำ อนุญาตให้กลับบ้านได้ทุกๆ 2 เดือน

บุคลากร
คุณครู 44 คน ต่อนักเรียน 336 คน

ค่าใช้จ่าย
ไม่มีค่าเล่าเรียน เรียกเก็บเฉพาะค่าอาหาร (กินมังสวิรัติทุกมื้อ) และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ (ไม่รวมค่าเครื่องแต่งกาย หนังสือเรียน ซึ่งผู้ปกครองเป็นผู้จัดหามาให้) คิดเป็นจำนวนเงินคร่าวๆได้ดังนี้
อนุบาล เทอมละ 3,000 บาท
ป.1 – ม.6 เทอมละ 10,000 บาท

การรับเข้าศึกษา
ผู้ปกครองสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ และผู้ปกครองพร้อมเด็กนักเรียนเข้าค่ายร่วมกันเพื่อทดลองใช้ชีวิตแบบเดียวกับที่เด็กนักเรียนจะได้ทำ




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2553 20:44:56 น.
Counter : 1235 Pageviews.  

แสนสนุกที่โรงเรียน ‘แสนสนุกไตรทักษะ’

3 แสนสนุกที่โรงเรียน ‘แสนสนุกไตรทักษะ’

มีใครเริ่มต้นเรียนคณิตศาสตร์จากบทเพลงไพเราะอ่อนหวานของเสียงขลุ่ยบ้าง
เด็กๆที่ ‘โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ’ เริ่มต้นเรียนวิชาเลขของพวกเขาในตอนเช้าวันหนึ่งอย่างนั้น

ต่อด้วยกิจกรรมวงกลมของเด็กๆกับคุณครู ที่เด็กๆต้องเดินหน้า – ถอยหลัง เพื่อบวก – ลบของจำนวนก้าวของตัวเอง โดยต้องระวังไม่ให้ชนเพื่อนๆ และท่องสูตรคูณในขณะที่ต้องโยน – รับลูกบอลสีสันต่างๆ ในทิศทางต่างๆกันไปด้วย แล้วได้แต่นึกว่า “ที่นี่ดูจะไม่มีเวลาให้เด็กๆนั่งเบื่อหน่ายกับการเรียนเลย” แถมการเรียนเลขแบบนี้ ยังได้ทั้งการบริหารร่างกาย บริหารสายตา และฝึกสมาธิไปในตัว

คุณอุษา ถนอมพงษ์พันธ์ ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ ให้เป็นโรงเรียนในแนวคิดแบบ ‘วอลดอร์ฟ’ แห่งที่ 2 ในเมืองไทย (โรงเรียนแรกคือโรงเรียนปัญโญทัย) เล่าว่า

“การเรียนรู้ของโรงเรียนแนววอลดอร์ฟจะเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งต้องประกอบไปด้วย ‘wheeling’ คือการลงมือ ‘felling’ คือความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับสิ่งนั้นๆ เพื่อให้เกิดความจดจำ หรือใส่ใจ ต่อมาถึงจะเป็น ‘thinking’...นั่นคือทุกอย่างต้องมาจากการลงมือทำ แล้วก็ความรู้สึก แล้วถึงจะเป็นความคิดที่จะนำไปสู่การกระทำได้ เพราะถ้าคนเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็จะขาดแรงบันดาลใจ ขาดพลัง หรืออาจจะแค่คิดแต่ไม่ทำ”ครูในโรงเรียนวอลดอร์ฟจึงต้องเป็นผู้ช่วยจัดกระบวนการที่จะทำให้เกิด ‘ไตรทักษะ’ นี้ให้เกิดขึ้นครบในแต่ละบทเรียน

คุณอุษาเล่าว่า “เป้าหมายของการศึกษาแนวนี้อีกอย่างคือ ‘เพื่อฟื้นฟูสังคม’ ซึ่งปัจจุบันถูกบดบังด้วยแนวคิดทางการแข่งขันว่าต้องเหนือกว่า ต้องเก่งกว่า โรงเรียนนี้จึงมีนโยบายรับเด็กพิเศษเข้ามาเรียนร่วมด้วย เพื่อให้เด็กทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน รวมถึงจัดชั้นอนุบาลแบบ ‘คละอายุ’ ให้เด็กอนุบาล 1 – 3 อยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในแบบพี่ดูแลน้อง”

“มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า การเรียนแบบคละชั้นดีอย่างไร เพราะว่าหลายครอบครัวมีลูกคนเดียว แล้วก็ไม่ได้ให้เด็กทำอะไรเลย แล้วเด็กจะเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นจากที่ไหน...แต่การเรียนคละชั้นจะทำให้พี่ได้ดูแลน้อง ได้ช่วยครูแจกผ้ากันเปื้อน ช่วยวางที่นอน จัดจานอาหาร แล้วเขาก็ภาคภูมิใจที่ทำได้ แล้วก็เป็นแบบอย่างให้น้องทำ...แล้วยังปลูกฝังนิสัยแบ่งปัน เอื้ออาทรคนรอบข้างให้งอกงามขึ้นในใจเขาตั้งแต่เด็ก”

โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะยังเป็นโรงเรียนแนวทางเลือกที่เห็นว่า ‘การสอบข้อเขียน’ อย่างเดียว วัดและตัดสินเด็กคนหนึ่งไม่ได้ อย่างที่ครูติ๊ (ครูสุกันยา หนาแน่น) เล่าว่า “ที่นี่ครูประจำชั้นจะอยู่กับเด็กตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.2 และการที่อยู่กับเด็กยาวนาน ครูจะรู้ว่าเด็กคนไหนทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ชอบหรือมีความถนัดทางด้านใด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบมาวัดเด็ก...และเด็กก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู ผู้ช่วยเพื่อนไปในตัว คนไหนทำได้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็จะช่วยอธิบายให้กับเพื่อนที่ยังทำไม่ได้ ยังไม่เข้าใจ เด็กจะรู้ว่าต้องไปด้วยกัน ต้องช่วยกัน”

และที่น่าจะยืนยันได้ว่าเด็กโรงเรียนแสนสนุกอยู่ได้ อยู่เป็นในสังคม เมื่อเด็กชั้น ป.4 ช่วยกันเล่าให้ฟังเรื่อง ‘ที.วี’ ว่า “พวกหนูก็มีเพื่อนข้างบ้านที่ดูที.วี. แต่เราไม่ได้คุยกันเรื่องที.วี. เพราะคุยไปพวกหนูก็ไม่รู้เรื่อง เราก็เลยชวนเขาให้เล่นกีฬา หรือไม่ก็เล่นเกมที่เราเล่นด้วยกันได้แทน”

อีกคนบอกว่า “ถึงไม่ดูที.วี. หนูก็ไม่เคยเหงา เพราะมีอย่างอื่นให้ทำอีกเยอะแยะ อย่างอ่านหนังสือ ถักนิตติ้ง ทำงานที่ครูมอบหมายให้ เลยไม่คิดอยากจะดูที.วี.”
ขณะที่ผู้ใหญ่ในสังคมอีกหลายคน ยังได้แต่ก้าวเดินไปตามกระแสนของสังคม

- เด็กและผู้ปกครอง ภาพสะท้อนของโรงเรียน

คุณพรเทพ ประกฤติเวศย์ (ผู้ปกครอง) “ลูกผมคนโตเคยเรียนที่โรงเรียนอื่นมาก่อน พอย้ายเขามาเรียนที่นี่ ก็รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงราวฟ้ากับเหว...จากเมื่อก่อนที่กลับบ้าน ต้องมานั่งทำการบ้านกับลูก ถึงเวลาสอบก็ต้องนั่งอ่านหนังสือด้วยกัน พอมาถึงที่นี่ทุกอย่างตรงกันข้าม ไม่มีการบ้าน ไม่ต้องสอบด้วย...ผมก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า เอ๊ะ แล้วจะรู้ยังไงว่าเด็กจะรู้ เด็กจะเข้าใจ ผมก็เลยต้องเข้ามาทำความรู้จักกับโรงเรียนจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาเป๋ไป แต่ส่งเขาไปในแนวทางที่ถูกต้อง...แล้วผมเองก็ปิ๊งกับวิธีการนี้ ที่ไม่ได้สอนแค่คุณต้องรู้เพื่อแข่งขัน เพื่อให้เป็นที่หนึ่ง แต่คุณเก่งแล้ว คุณก็ช่วยคนอื่นที่อ่อน มันเป็นการเรียนรู้ที่จะเอื้ออาทรกัน”

คุณทัศนีย์ ปิตรชาต “ครอบครัวพ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างให้กับลูกด้วย อย่างถามว่าทำไมพ่อแม่ต้องมาช่วยกันทำสนามเด็กเล่น เพราะการสอนความเอื้อเฟื้อกับเด็กเล็กด้วยการพูดอย่างเดียวเขาอาจไม่เข้าใจ...แต่การที่เขาได้เห็นเราลงมือทำ ทำที่โรงเรียนด้วยไม่ใช่ที่บ้าน ทำให้เพื่อนๆเขาได้เล่นด้วย เขาก็ได้ช่วยกันขุดดิน ขุดทรายด้วย มันทำให้เขาได้เรียนรู้จักการทำเพื่อคนอื่น”

คุณศุภลักษณ์ ตงศิริ “พ่อแม่ที่จะพาลูกมาโรงเรียนแนวนี้ ควรเป็นพ่อแม่ที่คิดว่า ความสุขของลูกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และอยากให้ลูกเติบโตแบบธรรมชาติ สมวัย ไม่ใช่เอาวิชาการทั้งหมดมารัดเขาไว้ ทั้งแขนขา มันสมอง...และขอให้มั่นคงมุ่นมั่น ตราบเท่าที่อยากเห็นลูกมีความสุข เป็นคนดี เป็นคนเก่ง ในแบบที่เขาอยากเป็น ไม่ใช่คนดี คนเก่งตามความฝันที่ตกค้างของคนเป็นพ่อแม่...เพื่อว่าเขาจะได้เติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่ไม่หลงไปตามกระแสความรวดเร็วในปัจจุบัน”

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ //www.tridhaksa.ac.th

รับเด็กตั้งแต่อายุ 2.5 ขวบ
นักเรียนต่อห้องประมาณ 26 คน
ค่าใช้จ่ายค่าเทอมและอื่น ๆ ประมาณ 25,000 บาท




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2553 21:24:30 น.
Counter : 7764 Pageviews.  

1  2  
 
 

ผกาผกาย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ พี่ๆ ทุกท่านที่เข้ามาชม Blog ของ 'ผกาผกาย' ค่ะ

ผกาผกาย เป็นคุณแม่วัย 30 กว่าๆ
มีลูกชายจอมซน อายุ 2 ขวบ ชื่อ 'น้องพาย'
ชอบแต่งหน้า แต่งตัว เพราะตัวเลขไม่สามารถจำกัดความงามได้ค่ะ

เลยเป็นที่มาของ Twinkle Beauty Mom ใน Blog นี้นี่เองค้า
[Add ผกาผกาย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com